Sunday, 25 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘เพย์ โซลูชั่น’ ผนึก ‘GHL Thailand’ ยกระดับเครื่อง EDC All-in-One เสิร์ฟผ่อน 0% แก่ 9 บัตร 6 ธนาคาร ผ่านเครื่องรูดบัตรเครื่องเดียว

ไม่นานมานี้ 'เพย์ โซลูชั่น' ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่ง จับมือพันธมิตร 'จีเอชแอล ประเทศไทย' ผู้นำในการให้บริการรับชำระเงินผ่านเครื่องรูดบัตร ชูนวัตกรรมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ แบ่งชำระ 0% ให้ผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดในไทยจาก 6 ธนาคารหลักผ่านเครื่องรูดบัตร All-in-One เพียงเครื่องเดียว หวังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าทั่วประเทศ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด (Pay Solutions) ผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลของเพย์โซลูชั่น พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคนับจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น มีการชะลอการซื้อสินค้าและนิยมการจ่ายเงินแบบผ่อนชำระเป็นหลัก เห็นได้จากสัดส่วนที่เติบโตมากขึ้นถึง 84% 

อย่างไรก็ตามสำหรับร้านค้าที่ต้องรับการเปิดระบบผ่อนชำระบัตรเครดิต ต้องดำเนินการทีละธนาคาร ซึ่งสิ้นเปลืองการนำเข้าเครื่องรูดบัตรต่างประเทศมาเป็นจำนวนมาก 

นายภาวุธ กล่าวอีกว่า เมื่อต้นปี 2566 เป็นต้นมา พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เริ่มปรับคืนสู่วิถีออฟไลน์ คนไทยเริ่มออกไปจับจ่ายซื้อของด้วยตนเองตามหน้าร้านค้าต่างๆ เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อมมีความผ่อนคลาย รวมทั้งมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 

โดยผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดเป็นส่วนใหญ่ เห็นได้จากข้อมูลการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) ที่ร้านค้า ดังนี้...

ปี 2565 มีสัดส่วนปริมาณ Offline 73.6% Online 26.4% / จำนวนการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน ณ จุดขายมี 53,323,000 รายการ มูลค่า 139,000,000 ล้านบาท 

ปี 2566 มีสัดส่วนปริมาณ Offline 79.6% Online 20.4% / จำนวนการใช้บัตรฯ 56,118,000 รายการ มูลค่า 151,000,000 บาท 

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ 'เพย์โซลูชั่น' ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินออนไลน์ เชื่อมต่อได้ทั้งหน้าเว็บไซต์แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดีย ครอบคลุมการรับชำระเงินทุกช่องทางแบบ Omni Channel จึงได้ร่วมมือกับบริษัท จีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด นำนวัตกรรมบริการผ่อนชำระช่องทางออนไลน์มาให้บริการผ่านเครื่อง EDC All-in-One ของจีเอชแอล ซึ่งรองรับได้ถึง 6 ธนาคารหลัก จำนวน 9 บัตรเครดิต ได้แก่...

ธนาคารกสิกรไทย / ธนาคารกรุงเทพ / ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต / กรุงไทย / คาร์ดเอกซ์ / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / เทสโกมันนี่ / กรุงศรีเซ็นทรัลเดอะวัน เเละกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ 

"การที่ลูกค้ามีทางเลือกในการจ่ายเงินที่ตอบสนองความต้องการ ก็จะเพิ่มการตัดสินใจซื้อได้ดีกว่า เป็นโอกาสช่วยเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าทั่วประเทศ โดยกลุ่มประเภทสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยม ได้แก่ คลินิกและสถานเสริมความงาม, สินค้าไอที อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, สินค้าตกแต่งบ้าน, โรงแรมและที่พัก, ร้านอาหาร เเละสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องรูดบัตรได้ดีขึ้น ลดความยุ่งยาก ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายค่าเครื่อง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต" นายภาวุธ กล่าว

ด้าน นายปริญญา จินันทุยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ว่า GHL เป็นผู้นำในการให้บริการรับชำระเงินในภูมิภาคอาเซียน ได้เปิดดำเนินการธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี โดยให้บริการผ่านเครื่อง EDC แบบครบวงจร ให้บริการรับชำระเงินทุกรูปแบบทั้งบัตรเดบิต/เครดิต, QR พร้อมเพย์ และ e-wallets ทั้งในและต่างประเทศไว้ใน EDC All-in-One เพียงเครื่องเดียว 

โดยในปัจจุบันมีจุดให้บริการรวมกว่า 15,000 จุด อาทิ กลุ่มร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มโรงแรมและการบริการต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการยกระดับเครื่อง EDC All-in-One จึงได้ร่วมมือกับ Pay Solutions ในการพัฒนาการบริการ Multi-Bank Installment เพื่อตอบโจทย์ร้านค้าในการรับผ่อนชำระได้มากยิ่งขึ้น 

"จากเดิมที่ต้องสมัครขอใช้บริการกับแต่ละธนาคารโดยตรงหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ต้องวาง EDC หลายเครื่อง และแต่ละเครื่องก็ใช้งานต่างกัน แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปด้วย EDC All-in-One ของ GHL เพียงเครื่องเดียว ที่สามารถให้แบ่งจ่าย 0% ด้วยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดของธนาคารหลักในประเทศไทยได้ถึง 6 ธนาคาร และในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อรองรับบัตรของธนาคารอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้านอกจากการรับชำระเงินแบบเต็มจำนวน ประหยัดเวลาดำเนินการ ประหยัดพื้นที่ในการวางเครื่อง และตรวจสอบรายการได้ง่าย" นายปริญญา กล่าวเสริม

ปัจจุบัน EDC All-in-One ของ GHL ได้เริ่มให้บริการที่กลุ่มร้านค้า อาทิ วินเซนต์คลีนิก, โฮมพลัส เฟอร์นิเจอร์ มอลล์, และศูนย์จำหน่ายสินค้าแม่และเด็กมัมแอนด์มีสโตร์ เป็นต้น และคาดว่าจะขยายการให้บริการมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

ด้าน นพ.พงษ์ธีระ เศรษฐ์ธนาวรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วินเซนต์คลินิก ศูนย์ศัลยกรรมความงามและดูแลผิวหนังครบวงจร ที่มีสาขาเปิดให้บริการ 7 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นร้านค้าผู้ใช้งานเครื่องรูดบัตร EDC All-in-One ได้สะท้อนถึงบริการดังกล่าวไว้ด้วย ว่า...

"วิสัยทัศน์ของบริษัทฯ คือ Innovation VINCENT ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีด้านศัลยกรรมใหม่ๆ มาให้บริการลูกค้า นอกจากนั้นก็ยังได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงานเเละดำเนินธุรกิจ ตอกย้ำการก้าวสู่คลินิกศัลยกรรมอันดับ 1 ในด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง" สอดคล้องกับ พญ.ปราณปริยา อึ้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ที่ได้กล่าวเสริมถึงบริการผ่อนชำระแบบ Multi-Bank Installment ด้วยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดผ่านเครื่อง EDC ว่า "การมีตัวช่วยทางการเงิน การให้ทางเลือกชำระเงินที่มีความยืดหยุ่น จะเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าได้ดูเเลตัวเองตามที่ต้องการ โดยเชื่อมั่นว่าภาพลักษณ์เเละบุคลิกภาพที่ดีจะช่วยเสริมความมั่นใจ เสริมดวงชะตาตามหลักความเชื่อ เเละส่งเสริมการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น"

สำหรับโดยผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.paysolutions.asia หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ www.facebook.com/paysolutionsdotasia โทรศัพท์ 0 2821 6163, 081 145 5996, 081 752 8722 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ชู THAItertainment ต่อยอดความสนุกหน้าเตาแก่ทุกชนชาติ เดินหน้าดัน 'GON กระทะ รวมดาวบันเทิงรส' ชิงใจนักท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี

(21 ต.ค.66) ปัจจุบันเมื่อพูดถึง ‘หมูกระทะ’ มีหลากหลายแบรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาและกลายเป็นที่นิยมมากทั้งในหมู่ลูกค้าไทยและลูกค้าต่างชาติ เมื่อมาเยือนประเทศไทย จนนับได้ว่าเป็นหนึ่งสิ่งที่กลายเป็น Soft Power สำหรับชาวไทย

เฉกเช่นเดียวกันกับ ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ปิ้งย่างเจ้าดัง ที่ได้นำส่วนผสมและความบันเทิงต่างๆ ของหมูกระทะมาถ่ายทอดในแบบฉบับของตนเองในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดกับเป็น ‘GON กระทะ รวมดาวบันเทิงรส’ ชุดอาหารใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ THAItertainment ความสนุกแบบไทยๆ ให้บันเทิงทุกสัมผัส โดยเปิดตัวทีเซอร์ไปก่อนหน้านี้ ที่เจ้า GON พาสำรวจลงพื้นที่ตามแหล่งหมูกระทะต่างๆ และการทำโฆษณาแบบดั้งเดิมตามฉบับคนไทยที่แปะประกาศขายตรงตามเสาไฟฟ้าริมถนน

รัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า หมูกระทะคือ รสชาติที่คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบมาโดยตลอด ประกอบกับความสนุกหน้าเตา เมื่อได้กินของอร่อยที่ถูกปาก และใช้เวลาอยู่กับคนตรงหน้าที่ถูกใจ ซึ่งตรงกับสิ่งที่แบรนด์พยายามจะสื่อสารมาตลอด และอีกเป้าหมายที่สำคัญ ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์คนไทย เราจึงอยากยกระดับอาหารไทยให้เป็น Soft Power ผนวกความเป็นไทยเข้าไว้ด้วย คือ คนไทยรักความสนุก สุขง่ายๆ ไม่ต้องไว้เชิงกัน หรือ THAItertainment 

ดังนั้น แคมเปญนี้ จึงมัดรวมความสนุก ตั้งแต่โมเมนต์การกินให้ลูกค้าบันเทิงรสไปกับประสบการณ์ใหม่ของหมูกระทะ ที่มาพร้อมกับ 2 น้ำจิ้มสูตรเด็ดสไตล์ไทย บันเทิงลิ้นไปกับกิจกรรม Challenge ที่ดึงเอาความขี้เล่นของคนไทยจากหลายๆ ภาคมาไว้ด้วยกัน และการบันเทิงเสิร์ฟจากพนักงานที่มีใจรักบริการ พร้อมส่งมอบความสุขผ่านมื้ออาหาร 

สุดท้ายนี้ เราคาดหวังว่าความสนุกระดับประเทศครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ส่งไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี รวมถึงขยายผลต่อไปยังภาคเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายด้วย

‘สนบ.เชียงใหม่’ ดีเดย์ 1 พ.ย.นี้ ให้บริการ 24 ชม. ประเดิมเส้นทางโอซาก้าเที่ยวบินแรก

(21 ต.ค.66) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะเริ่มเปิดให้บริการสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายไว้ และข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ขอมา ซึ่งทอท.ได้เปิดสล็อตการบินรองรับไว้แล้ว ถ้าสายการบินต้องการ ส่วนที่ต้องการบินไฟลต์ดึก จะเป็นสายการบินที่บินตรงเชียงใหม่-ยุโรป, เชียงใหม่-ญี่ปุ่น, เชียงใหม่- จีน เพราะจะไปถึงประเทศจุดหมายปลายทางในช่วงเช้าพอดี โดยวันแรกเป็นเที่ยวบินที่จองไว้มีเชียงใหม่-โอซาก้า เป็นสายการบินไทยเวียตเจ็ท หลังจากนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการเปิดประตูการเดินทาง

นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจะทำตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กำหนดไว้เมื่อปี 2548 จะไม่ส่งผลกระทบอย่างที่ประชาชนกังวล โดยมีเที่ยวบินในช่วงเวลากลางคืนในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. ในสัดส่วนไม่เกิน 6% หรือ 12 เที่ยวบิน ของเที่ยวบินที่ทำการบินรวมตลอดทั้งวัน และการให้บริการจะทำการบินไม่เกินเวลา 01.00 น.

“การเปิด 24 ชั่วโมง คือ การเปิดบริการสนามบิน ซึ่งเที่ยวบินสุดท้ายจะสิ้นสุดตี 1 การให้บริการสนามบินจะสิ้นสุดเวลาตี 3 ถ้าเที่ยวบินเข้าตั้งแต่ 6 โมงเช้า สนามบินจะเปิดบริการตั้งแต่ตี 4 เท่ากับสนามบินไม่ปิด แต่เที่ยวบินถึงแค่ตี 1 เท่านั้นเอง จะมีค่าใช้เกิดขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับมีไฟล์ตชั่วโมงละ 2 ไฟล์ตก็คุ้มแล้ว” นายกีรติกล่าว

‘เปิด 3 ประเด็น’ ศาล ปค.เพชรบุรี เบรกประกาศ ‘กกพ.’ รับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม หลัง บ.ย่อย ‘EA’ ค้าน เกณฑ์คัดเลือกไม่โปร่งใส หวั่นทำชาติเสียหายยาว 25 ปี

(21 ต.ค.66) สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 ของ กกพ. หลังจาก 'เทพสถิต วินด์ฟาร์ม' บริษัทย่อย EA ยื่นเรื่องฟ้อง กกพ.ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความโปร่งใส และยุติธรรม เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ กกพ.ทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนดคุณสมบัติ โดยระบุไม่ต้องรีบทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดภายในเดือน ต.ค.นี้ หวั่นจะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้านั้น

ล่าสุด จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย (ไม่ออกนาม) เผยถึง 3 ประเด็นที่ทำให้ศาลมีคำสั่งทุเลาฯ ซึ่งคาดน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้...

1. การดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับพลังงานลม พ.ศ.2565 ในเบื้องต้น น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

2. การดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าวที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย จากการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฯ จึงทำให้บริษัทฯ หรือผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามประกาศของสำนักงาน กกพ. ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566

และ 3. สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การคัดเลือกดังกล่าวของ กกพ. ไม่ได้มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนน เกณฑ์การให้คะแนนเทคนิคขั้นต่ำผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) หรือเกณฑ์คะแนนคุณภาพ การให้น้ำหนักคะแนนมาก-น้อย ที่ใช้ในการคัดเลือก จึงอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีความโปร่งใสและยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้และจะผูกพันไปตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า โดยไม่อาจจะแก้ไขอย่างใดได้อีกตลอดระยะเวลา 25 ปี อันเป็นความเสียหายที่มิอาจเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง

'บางกอก เชน ฮอสปิทอล' โชว์กำไร 3 ปีโกยหมื่นล้าน รับ!! ธุรกิจโรงพยาบาลแบบกลุ่มสร้างแต้มต่อกว่าแบบเดี่ยว

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช ถึงสถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนและสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชน มีลักษณะธุรกิจที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ เหตุผลก็คือ การรักษาพยาบาล เป็นปัจจัยสี่เรื่องความเจ็บป่วย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยป่วยเป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) กันเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นธุรกิจ Healthcare จึงเติบโต โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เปิดประเทศแล้ว ซึ่งในรอบ 6 เดือน มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติเป็นผู้ป่วยทางยุโรปและเอเชีย

เมื่อถามถึงแนวโน้มการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน นพ.เฉลิม กล่าวว่า "คนไทยป่วยมากขึ้น อาจเป็นเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีโอกาสในการดูแลตัวเองมากนัก ประกอบกันมีโรคแปลกๆ มากขึ้น หรือโรคที่หายไปนานแล้วกลับมาเป็นกันใหม่ในปัจจุบันอย่างเช่น โรควัณโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองตลอด คนป่วยไม่ได้ลดลง ส่วนชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ ส่วนใหญ่จะมาใช้บริการศูนย์รักษาเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันและหลอดเลือด โรคไต โรคหัวใจ ซึ่งเหตุผลที่ต่างชาติเลือกรักษากับเรา เนื่องจากมั่นใจในคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง"

เมื่อถามถึงผลประกอบการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) นพ.เฉลิม เผยว่า "เมื่อปี พ.ศ. 2564 เราสามารถทำกำไรสุทธิไปมากถึง 6,800 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2565 ทำกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นี้ น่าจะเป็นปีที่ทางบริษัทฯ ทำกำไรได้สูงสุด"

ส่วนความท้าทายของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน นพ.เฉลิม มองว่า "ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย และ 2.โรงพยาบาลเดี่ยว โดยกลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายมีแนวโน้มที่เพิ่มกำลังขยายได้มากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทำให้มองเห็นตลาดได้กว้างกว่า โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ส่วนโรงพยาบาลเดี่ยวที่เข้ามาในตลาดความแข็งแรงของธุรกิจอาจสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะรุนแรงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วกลุ่มโรงพยาบาลจะได้เปรียบมากกว่าโรงพยาบาลเดี่ยว"

ส่วนอุปสรรคในการบริหารโรงพยาบาล คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็นสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเคยมีข้อเสนอจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ยินดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้แพทย์เรียนจนจบ จะไม่ได้เกิดปัญหาว่าแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน 

"เรายินดีสนับสนุน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะไม่รับแพทย์จบใหม่ แต่จะรับแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันนี้วงการสาธารณสุขไทยไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะแพทย์ ยังขาดแคลนพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าขาดแคลนเกือบทั้งหมด" นพ.เฉลิม กล่าว

‘Impact’ มั่น!! ‘สายสีชมพู-เมืองทอง’ พร้อมเปิดปี 68 พ่วง Sky Entrance 195 ล้าน เชื่อม ‘อิมแพ็ค-สีชมพู’

(20 ต.ค. 66) นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ‘อิมแพ็ค เมืองทองธานี’ กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ปัจจุบันดำเนินงานก่อสร้างไปแล้วเกือบ 30%

โดยรายละเอียดโครงการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 จากสถานีเมืองทองธานี บริเวณห้างแม็คโคร ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อเข้ามายังเมืองทองธานี ช่วงที่ 2 งานก่อสร้างสถานี MT-01 บริเวณวงเวียนหน้าอิมแพ็ค และช่วงที่ 3 ระหว่างสถานี MT-01 ถึง MT-02 บริเวณลานริมทะเลสาบเมืองทองธานี โดยภาพรวมงานก่อสร้างยังคงตรงตามกำหนดระยะเวลา และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการได้ในปี 2568

นอกจากงานโครงสร้าง 2 สถานีหลักแล้ว ทางอิมแพ็คได้เตรียมแผนงานก่อสร้าง ‘Sky Entrance’ เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า MT-01 (สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี) และอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท หรือ ‘IMPACT’ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการ Sky Entrance มีการเข้าทำบันทึกข้อตกลง เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ซึ่งมีแนวเส้นทางโครงการเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และเส้นทางของรถไฟฟ้าสายดังกล่าวจะเป็นเส้นทางขนานทางด่วนอุดรรัถยา ผ่านบริเวณด้านข้างอาคาร อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสิ้นสุดโครงการที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี

สำหรับโครงการ Sky Entrance จะใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 195 ล้านบาท เป็นการดำเนินงานก่อสร้างสะพานทางเชื่อม และพื้นที่ล็อบบี้ด้านข้างอาคารชาเลนเจอร์เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการ Sky Entrance ทางกองทรัสต์ฯ มีความจำเป็นต้องให้การสนับสนุนการก่อสร้างเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานี MT-01 กับอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินหลักที่กองทรัสต์เข้าลงทุน สามารถต่อยอดธุรกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ทั้งนี้ ตามประกาศรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลักแคราย-มีนบุรี จะเปิดบริการช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ทาง อิมแพ็ค ได้เตรียมรถรับส่งจากสถานีศรีรัช เข้าสู่ศูนย์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าเบื้องต้นจนกว่าสถานีส่วนต่อขยายจะเปิดบริการ

นายวัชระ จันทระโสภา หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการ Sky Entrance เป็นการดำเนินงานก่อสร้างโดยทีมอิมแพ็ค ค่าใช้จ่ายเป็นงบประมาณในส่วนของ อิมแพ็ค โกรท รีท ถือเป็นโครงการต่อเนื่องในการสร้างสะพานทางเชื่อม (Link Bridge) รอบศูนย์ฯ โดยเป็นการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเมืองทองธานี สถานี MT-01 (อิมแพ็ค เมืองทองธานี) ตรงวงเวียนหน้าอิมแพ็ค ไปยังอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ระยะทางรวม 230 เมตร พร้อมพื้นที่ล็อบบี้เชื่อมอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ 1 และจะติดตั้งจอ LED ขนาดใหญ่ภายนอก สามารถมองเห็นได้จากรถไฟฟ้า และทางด่วน อีกทั้งติดตั้งจอทันสมัยภายในล็อบบี้ด้วย

อาคารนี้ถูกออกแบบมาให้มีรูปลักษณ์ทันสมัยเป็นอาคารแห่งอนาคต พร้อมนวัตกรรมที่ก้าวล้ำโดดเด่นเรื่องของความยั่งยืน ทั้งการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม และทางพลังงาน โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 14 เดือน แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2568 รอเปิดบริการรองรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานีแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างงานก่อสร้างโครงการทั้งหมด ทีมวิศวกรของอิมแพ็คจะเข้มงวดทำหน้าที่ตรวจสอบสัญญาจ้าง ประสานงานบริษัทก่อสร้างเพื่อดูแลผลกระทบ เช่น การจราจร ทัศนียภาพ ความสะดวก และความปลอดภัยในพื้นที่จนกว่าจะเสร็จสิ้นส่งมอบโครงการทั้งหมดราวเดือนกรกฎาคม 2568

‘ILINK’ พร้อมลากสายเคเบิ้ลใต้น้ำ เชื่อม ‘เกาะพะงัน-เกาะเต่า’ ช่วยให้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ส่งเสริมเป็นที่ท่องเที่ยวระดับโลก

(20 ต.ค. 66) ภายหลังจากกลุ่ม INTERLINK Consortium ได้เซ็นต์สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 33 เควี ไปยังเกาะเต่า มูลค่าโครงการ 1,786 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือนนั้น

ล่าสุด INTERLINK ได้มีการอัปเดตความคืบหน้าโดยเปิดเผยว่า พร้อมแล้วที่จะเริ่มลากสาย Submarine Cable จาก เกาะพงันไปยังเกาะเต่า และจะให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อที่จะช่วยให้เกาะเต่ามีไฟฟ้าใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกาะเต่า เป็นที่ท่องเที่ยวระดับโลกเหมือนเกาะสมุยและเกาะพงัน และเป็นเพชรเม็ดงามของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

‘เศรษฐา’ ชูศักยภาพไทย หยอด ‘จีน’ ร่วมลงทุน ยาหอม!! จีนมหามิตร ไทยพร้อมชิดเชื่อม BRI

(20 ต.ค.66) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ที่โรงแรมเคอร์รี่ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน และขอให้เชื่อมั่น ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยือน และการเดินทางมาจีนครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด ที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งบกและทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน รัฐบาลไทยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“เป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการค้าและการลงทุน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในระดับภูมิภาคจีนและไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิ ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

‘ชนินทร์’ มั่นใจ EEC ‘ยุคเศรษฐา’ เกิดแน่ จ่อใช้ กม.เปิดทางลงทุนจริง 2.5 แสนล้าน

(20 ต.ค. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีมติอนุมัติแผน 99 วัน หรือ Quick Wins 8 ด้าน เพื่อผลักดันงานโดยเร่งด่วนตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในแผนงานที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเตรียมจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC One Stop Service ภายในสิ้นปี เพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่มีความพร้อมจะลงทุนแต่ติดขัดเรื่องระเบียบและการขออนุญาตที่วุ่นวาย หลายขั้นตอน และต้องดำเนินการหลากหลายที่ ดังที่ปรากฏว่าในอดีตมีการอนุมัติแผนการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แต่การลงทุนจริงเพื่อประกอบธุรกิจจริงเกิดน้อยมาก

นายชนินทร์ กล่าวว่า EEC One Stop Service อาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จำนวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฎหมาย ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, การควบคุมอาคาร, การจดทะเบียนเครื่องจักร, การจดทะเบียนพาณิชย์, โรงงาน, การสาธารณสุข, คนเข้าเมือง และการจัดสรรที่ดินไว้ในที่เดียว โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรด้วย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลกที่แข่งขันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ อีอีซี ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นต้นแบบของรัฐบาลดิจิทัล ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“EEC One Stop Service จะทำให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษได้รับความสะดวกในการขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบการบริการภาครัฐแบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จครบวงจรได้ ณ จุดเดียว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ร่นระยะเวลาดำเนินการ ของผู้ประกอบกิจการได้ เพื่อให้ภาครัฐได้ผลประโยชน์จากการเริ่มลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีที่เร็วขึ้น โดยอีอีซีคาดหวังการลงทุนจริงในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้” นายชนินทร์ กล่าว

‘คมนาคม’ ดันเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง ‘รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์’ ชง ครม. เคาะ 24 ต.ค.นี้

(20 ต.ค. 66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่าได้เร่งรัดการดำเนินการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสีแดง) ส่วนต่อขยาย ซึ่งขณะนี้ได้เสนอช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รอบรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะพิจารณาในการประชุมวันที่ 24 ต.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตามส่วนอีก 2 เส้นทาง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา จะเสนอ สลค. ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบทางวาจามาแล้ว คาดว่าจะเสนอ สลค. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ประมาณเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคา (ประมูล) ทั้ง 3 เส้นทางได้ในต้นปี 67 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ โดยเฉพาะสายสีแดงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีระบบฟีดเดอร์ที่ดีป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้มอบให้ ขร. และกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) หารือร่วมกันในการจัดฟีดเดอร์เข้าถึงทุกสถานีโดยเร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นมี 2 แนวทาง 

1.ปรับปรุงเส้นทางเดิม โดยเป็นแนวทางที่ทำได้เร็วที่สุด 
2.กำหนดเส้นทางใหม่ คาดว่าหากทำได้จะช่วยดึงดูดผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง คาดว่าจะเสนอกลับไปยัง ครม. พิจารณาได้ภายในปี 66 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 67 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้กับประชาชนมากขึ้น และช่วยคุ้มครองผู้โดยสาร อาทิ กรณีที่รถไฟฟ้าล่าช้า หรือรถไฟขัดข้อง ซึ่งจะกำหนดมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม 

ทั้งนี้จะช่วยทำให้ค่าโดยสารมีความเป็นธรรม และราคาถูกลงด้วย เพราะกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามทุกระบบเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนไม่ว่าจะเป็นของผู้ประกอบการรายใดก็ตาม รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น อาทิ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะกฎหมายจะเขียนชัดเจนว่า ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยต้องเสนอมายังคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อกำหนดกลไกเยียวยาผู้ประกอบการต่อไป 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เน้นการพัฒนาระบบรางเชื่อมโลกทั้งหมด จึงได้สั่งการให้ติดตาม และเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่สายต่างๆ รวมทั้งเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้จบภายในสิ้นปี 66 โดยเฉพาะสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ที่ยังติดประเด็นเรื่องการดำเนินงานกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตลอดจนสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ที่ยังรอความชัดเจนเรื่องการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งในประเด็นนี้ตนจะเป็นผู้เจรจากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยด้วยตัวเอง เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกแน่นอน และยืนยันว่าต้องสร้างสถานีอยุธยา 

“ในการเจรจาจะนำทุกสิ่งวางขึ้นบนโต๊ะทั้งหมด ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ และผลเสีย มั่นใจว่าสถานีอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชน เมืองเก่าได้ และอาจเป็นสถานีที่สวยที่สุด เป็นแลนด์มาร์กดึงดูดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมก็ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการรถไฟไฮสปีดเฟสที่ 1 มีความคืบหน้าประมาณ 27% ซึ่งตามแผนต้องแล้วเสร็จภายในปี 70 โดยปัญหาต่าง ๆ ของ 2 สัญญานี้มีทางออกแล้ว 90%” นายสุรพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการมอบนโยบาย ขร. วันนี้ นายสุรพงษ์ ได้เร่งรัดให้การก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2570


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top