Friday, 10 May 2024
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ – รวมพลังคนจิตอาสา เก็บขยะแหลมโนนวิเศษ ปลูกจิตสำนึกนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะคนจิตอาสารวมพลังรณรงค์จัดเก็บขยะบริเวณแหลมโนนวิเศษ และสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาวแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกินแล้วอย่าทิ้งขยะ พร้อมมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติรักษาทัศนียภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่บริเวณแหลมโนนวิเศษ และบริเวณสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว  ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี พร้อมด้วยประชาชนจิตอาสากลุ่มรสนิยม กู้ภัยกุดหว้าจิตอาสา และประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะ พลาสติก เศษวัสดุ ของมีคม เพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ในการปลูกจิตสำนึกรักษาความสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 2 แหล่ง โดยเฉพาะบริเวณแหลมโนนวิเศษ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลมรกตอีสาน และสะพานเทพสุดา ซึ่งสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและอีกหลายด้าน ช่วงที่ผ่านมาซึ่งประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวซบเซาไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศปลดล็อกร้านค้า ร้านอาหาร ให้สามารถนั่งรับประทานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการค้าขายและต้อนรับลูกค้า โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว

นายวิรัช กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศดังกล่าวออกมา เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และสร้างความตระหนักในการช่วยกันรักษาความสะอาด ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลโนนบุรี ประชาชน และกู้ภัยจิตอาสา ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้า ร่วมกันจัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณแหลมโนนวิเศษ ใกล้สะพานเทพสุดา เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึก ร่วมกันรณรงค์รักษาความสะอาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ในช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง  โดยมีการจัดเก็บขยะ เศษวัสดุ ของมีคม และขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ที่นำอาหารมานั่งทาน ให้นำถุงใส่อาหาร กล่องโฟม กลับไปด้วย  ทั้งนี้เพื่อช่วยกันรักษาความสะอาดดังกล่าว

ด้านนายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ในพื้นที่ตำบลโนนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัดสักวันภูกุ้มข้าว จุดชมวิวภูสิงห์ วัดพุทธนิมิตภูค่าว เป็นต้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตลอดปี

นายบุญมีกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมการรับนักท่องเที่ยว ในช่วงนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ก็จะได้ตระเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน เช่น การจัดการเก็บขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล การจัดระเบียบร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการมีวินัย ใส่ใจความสะอาด ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว และประชาชน เพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และกลับมาท่องเที่ยวอีก

สุรินทร์ - จัดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” รุกฉีดวัคซีน ผู้ป่วยติดเตียง

วันที่ 2 กันยายน 2564 เวลา 15.00 น. ณ คลินิกหมอครอบครัวสระโบราณ นายสุวพงศ์  กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ในนามของคลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวรายงาน จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 12,157 ราย และในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 734 ราย ซึ่งกักตัวที่ชุมชนหรือที่บ้าน 249 ราย โรงพยาบาลสนามศูนย์ปฏิบัติธรรมบ้านอาเลาะ 116 ราย โรงพยาบาลสนามอุทธยานธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สำราญนิเวศน์ จำนวน 199 ราย และโรงพยาบาลสุรินทร์ 170 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการน้อยและปานกลาง 695 ราย อาการหนัก 39 ราย และเสียชีวิต 36 ราย

ด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและป้องกันโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสุรินทร์ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามวัคซีน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลดความรุนแรง และอัตราตายของโรค ให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ณ อาคาร 44 ตึกคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 73,392 โดส แบ่งเป็น Sinovac 37,853 โดส Astrazeneca 30,890 โดส Pfizer 4,649 โดส โดยจัดบริการฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 15,907 โดส เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 2,761 โดส  บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7,662 โดส ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 35,134 โดส ประชาชนทั่วไป 11,858 โดส เพื่อให้การดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เกิดความครอบคลุมและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ 

จึงจัดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ในวันนี้ ณ คลินิกหมอครอบครัวสระโบราณ โดยมี นายแพทย์สันติชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ นายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์  นางสาวสมธิดา จะเกรง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์  สาธารณสุขอำเภอเมืองสุรินทร์  คณะแพทย์และคณะเจ้าหน้าที่คลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลสุรินทร์ ร่วมพิธี


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ - 50 ปี ที่รอคอย บ้านคำคารับสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย ชาวบ้านเฮ! หลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ชาวตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  ได้เฮหลังต้องต่อสู้เรียกร้อง ยาวนานกว่า 50 ปี  เพื่อเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ฝันเป็นจริงหลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่ศาลาประชาคมบ้านคำคา ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ โดยมีนายอุดร สีลาพันธ์ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์  นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมพิธีรับมอบ ท่ามกลางความยินดีของผู้ร่วมกิจกรรม โดยได้มอบให้กับตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และด้วยความห่วงใยจากสถานการณ์โควิด-19 ยังได้นำเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยมอบให้แก่ชุมชน กิจกรรมธนารักษ์ประชารัฐ จัดขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมสูงสุดป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน จำกัดเวลาดำเนินกิจกรรมไม่เกิน 30 นาที  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ อสม.

นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ได้มอบเอกสารเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส.584 บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตำบลโนนศิลา  อำเภอสหัสขันธ์ จำนวน 1,163 ราย และ อำเภอสามชัย 1,475 ราย รวมทั้งหมด  2,638  ราย ตามโครงการธนารักษ์ประชารัฐ  สนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ดึงเข้าระบบอย่างถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ถูกกฎหมาย แม้จะไม่สามารถทำการซื้อขายได้ แต่นำไปเป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ รวมถึงการเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ

นายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า จากในอดีตได้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นกลุ่มคนผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นผู้เสียสละพื้นที่ให้มีการสร้างเขื่อนลำปาว บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนลำปาว อำเภอสหัสขันธ์ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปที่ตำบลโนนบุรี  เพื่อสร้างอำเภอแห่งใหม่ ขณะที่อำเภอเก่าน้ำจากเขื่อนลำปาว ได้เอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้าง ในปี พ.ศ.2510 ถนนถูกตัดขาด ไม่มีถนนเข้าหมู่บ้านก็ต้องระดมเงินทำถนนกันเอง จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 54 ปี เป็นระยะเวลาได้ต่อสู้ เรียกร้อง จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้หลุดพ้นหมู่บ้านชายขอบ ผิดกฎหมาย ผู้บุกรุก และตัดขาดซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ ได้เข้าถึง และทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามระบบ เป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ขอขอบคุณกรมธนารักษ์  และที่สำคัญคือท่านนายกประยุทธ์ฯ ที่ช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์เสียที


(เสียง กำนันราชัน คุณาประถม)

 

สุรินทร์ - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน แด่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย

วันที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 13:30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายนราธร  ศรประสิทธิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์/กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

โดยนำสิ่งของพระราชทานมาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินสำรองจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีอยู่ทางจังหวัด ให้แก่ครอบครัว นายสวัสดิ์  สุระ อายุ 80 ปี ผู้ประสบอัคคีภัย บ้านเลขที่ 62 หมู่ที่ 4 บ้านสามแยก ตำบลตาคง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 11.20 น. ได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านพักอาศัยของ นายสวัสดิ์ สุระ ได้รับความเสียหายทั้งหลัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของอัคคีภัย ในการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตภัยครั้งนี้ไปด้วยดี สร้างความปลาบปลื้มให้กับ ครอบครัว นายสวัสดิ์ สุระ ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยอย่างหาที่สุดมิได้

โดยมีหน่วยงานร่วมให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัย ประกอบไปด้วย สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ อำเภอสังขะ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์  วิทยาลัยการอาชีพสังขะ องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชนจิตอาสาตำบลตาคง สำหรับการช่วยเหลือในระยะต่อไป องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการต่อไป โดยมี นายธาตรี  สิริรุ่งวานิช นายอำเภอสังขะ กล่าวรายงาน


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า  

สุรินทร์ - กองกำลังสุรนารี และศูนย์ดูแลโควิดชุมชน โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน รับมอบถุงรอยส์ยิ้ม และชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) ให้กับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่จังหวัดสุรินทร์ พลตรีอดุลย์  บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี,เป็นตัวแทนรับมอบ ถุงรอยส์ยิ้ม จำนวน 500 ชุด และ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) จำนวน 300 ตัว จากบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด โดย ดร.ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ นายคณิน  อารีวานิช กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด และคณะ ได้เดินทางเข้ามอบถุงรอยส์ยิ้ม จำนวน 500 ชุด และ ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) จำนวน 300 ตัว  ให้กับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) มณฑลทหารบกที่ 25 (กองกำลังสุรนารี) และศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน

โดยมี พันเอกสงราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธินเป็นผู้รับมอบ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้นำกลับไปใช้ หลังจากที่หายป่วยแล้ว โดยภายในถุงรอยส์ยิ้มประกอบด้วย สเปรย์แอลกอฮอร์ หน้ากากอนามัย น้ำยาถูพื้นรอยส์ และเจลแอลกอฮอล์ และชุดป้องกันโรค (PPE) ไว้สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ ใช้ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) มณฑลทหารบกที่ 25 (กองกำลังสุรนารี) ได้จัดตั้งมา ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยรับผู้ป่วยเพศชาย จำนวน  30 เตียง  ยังคงรักษาตัวอยู่ จำนวน 25 ราย

ในส่วนของศูนย์ดูแลโควิดชุมชน (Community Isolation) โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน นั้น ได้ดำเนินการใช้เป็นศูนย์ดูแลโควิดย์ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยใช้รับผู้ป่วยเพศชาย มีจำนวน 60 เตียง จากนั้นจากบริษัท รอยส์ เซอร์วิส จำกัด และคณะได้เดินทางเข้ามอบถุงรอยส์ยิ้ม น้ำยาถูพื้นรอยส์ และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับพันเอกวีระยุทธ์ รักศิลป์ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ณ ศูนย์พัฒนาทักษะและฝึกอาชีพคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดสุรินทร์ มูลนิธิเพื่อช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เพื่อส่งต่อให้กับผู้นำชุมชนชาวบ้านไปใช้กับผู้กักตัวของชุมชนชาว ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายประภาส  ศรีจันทร์เวียง นายอำเภอปราสาท ร่วมเป็นเกียรติรับมอบ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ - มูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมโสมพะมิตร ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 4 ซึ่งวันนี้มีการประชุมประจำเดือนของส่วนราชการ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นตัวแทนพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก มอบทุนการศึกษากับนักเรียนจำนวน 25 ราย ทุนละ 5,000 บาท ตามโครงการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีฐานะยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นเกียรติในการร่วมมอบทุนการศึกษา

พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยพล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมด้วยกรรมการมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันจัดหาทุนและจัดโครงการมอบทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีฐานะยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พล.ต.ต.มนตรี กล่าวอีกว่า ในการมอบทุนทางมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ได้ประสานงานกับนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และได้ให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกนักเรียน นักศึกษาที่มีความเหมาะสมจำนวน 20 ทุน และทางตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์คัดเลือกเพิ่มอีก 5 ทุน รวมเป็น 25 ทุน ซึ่งมอบทุนละ 5,000 บาท โดยเป็นทุนให้เปล่าไม่มีข้อผูกพัน เพื่อเป็นกำลังใจและส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียน นำไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านนายพรมนัส ผลิผล นักชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามชัย อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และตระหนักในความเดือดร้อนของพ่อ แม่ ผู้ปกครองนักเรียน ในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ซึ่งตนจะนำทุนการศึกษาที่ได้รับ ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และนอกจากนี้ ยังจะปฏิบัติตนและบอกผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน และชุมชน ในการร่วมกันรณรงค์จัดเก็บขยะ มีการคัดแยก ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทางของมูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น - มข. คลอดมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา ลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ในสถานการณ์ โควิด-19

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยความคืบหน้า มาตรการช่วยเหลือนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสถานการณ์ COVID-19 ภายหลังจากที่นักศึกษาได้เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์

จากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดมาตรการในการช่วยเหลือนักศึกษาในสถานการณ์ COVID-19 ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2564 คือลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 1/2564 ร้อยละ 50 (ต้องยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ์) โดย ส่วนลดจากรัฐ (สูงสุด 30 %) ส่วนลดจากมหาวิทยาลัย(สูงสุด 20 %)ผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา ดังนี้

1. ผลัดชำระค่าธรรมนียมการศึกษาได้ใน 6 เดือน และหากมีความจำเป็นสามารถขอขยายเวลาเพิ่มได้อีก 6 เดือน รวมเป็น 1 ปี

2. ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาได้เป็น 3 งวด เพิ่มทุนการศึกษา(ทุนให้เปล่า) เป็นเงิน 75 ล้านบาท (ของมข. 45 ล้านบาท + ของคณะ 30 ล้านบาท) เพิ่มทุนจ้างงานนักศึกษาเป็นเงิน 25 ล้านบาท (ของมข. 15 ล้านบาท + ของคณะ 10 ล้านบาท)ให้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือแบบ Top-Up Unlimited 4 เดือน ลดค่าธรรมเนียมหอพักนักศึกษาส่วนกลางของมหาวิทยาลัย 20 %ติดตั้ง High Speed Internet เพิ่มในหอพักนักศึกษาส่วนกลางของมหาวิทยาลัย (ขยาย FTTx ในหอพักอีก 1,000 ห้อง)

ขอความร่วมมือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในประเทศให้เพิ่มบริการการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่นักศึกษาทุกคนในราคาที่ถูกลง จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต ให้นักศึกษายืมเป็นเงิน 40 ล้านบาท (ของมข. 20 ล้านบาท+ของคณะ 20 ล้านบาท) (ขยายโครงการจากปีก่อน +50%)

ประกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับนักศึกษาให้มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจำนวน 50,000 บาท และเป็นค่าสินไหมทดแทนหากเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจำนวน 500,000 บาทจัดคูปองอาหารกลางวันสำหรับนักศึกษาโดยมีการเปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนขอใช้สิทธิลดค่าธรรมเนียมการศึกษาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แจ้งความคืบหน้า ภายหลังจากที่นักศึกษาได้เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ จนถึงวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ความว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ประกาศให้นักศึกษาลงทะเบียนขอใช้สิทธิลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 นักศึกษาทุกระดับได้เริ่มมีการทะเบียนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับในส่วนลด 20% ของมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขอคืนรอบแรก (สำหรับนักศึกษาที่ชำระเงินครบ) โดยมหาวิทยาลัยได้โอนเงินเข้าบัญชีของนักศึกษาแต่ละคนไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 จำนวน 24,150 คน เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 95,609,286.50 บาท (เก้าสิบห้าล้านหกแสนเก้าพันสองร้อยแปดสิบหกบาทห้าสิบสตางค์) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดนี้รวมนักศึกษาต่างชาติจำนวน135 คนด้วย โดยนักศึกษาที่เหลือมหาวิทยาลัยจะดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ในรอบถัดไป

สุรินทร์ - ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ มอบเครื่องวัดปริมาณ ออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว ตามโครงการ “หอการค้าเพื่อคนสุรินทร์ไม่ทิ้งกัน”

นายวีรศักดิ์  พิษณุวงษ์  ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และคณะฯ นำเครื่องวัดปริมาณ ออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว จำนวน 480 เครื่อง มอบให้แก่สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ เพื่อนำไปใช้กับ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตามโครงการ “หอการค้าเพื่อคนสุรินทร์ไม่ทิ้งกัน”  โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ และ YEC สุรินทร์  โดยมี นางจันทร์เพ็ญ กิติภัทย์พิบูลย์  นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับมอบ  หลังจากนั้น นายวีรศักดิ์  พิษณุวงษ์  ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ คณะครูโรงเรียนวาณิชย์นุกูลสุรินทร์ใช้เวลาว่างที่ต้องหยุดการสอน ทำอาหาร มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจจากครู สู่ นักรบชุดขาว

โรงเรียนวาณิชย์นุกูล นำโดยนางเพ็ญศรี เงางาม ผู้อำนวยการโรงเรียนวาณิชย์นุกูลร่วมกับคณะครู ใช้เวลาว่างจากการปิดโรงเรียน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ร่วมกันลงมือทำอาหารกล่อง จำนวนกว่า 600 กล่อง ต่อสัปดาห์ โดยได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมอบของใช้ประจำตัวสำหรับผู้ป่วยเช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แป้งฝุ่น และน้ำดื่ม ให้กับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยผู้ป่วยที่ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลวงปู่ดุลย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  โดยโรงพยาบาลสนามปฏิบัติธรรมหลวงปู่ดุลย์ เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยหญิง เขตอำเภอเมือง มีจำนวนเตียง 290 เตียง 

ขณะนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้วจำนวน 210 เตียง ยังคงว่างอีกเพียง 80 เตียง อย่างไรก็ตามทางทีมแพทย์เตรียมขยายเตียงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับหากมีผู้ป่วยมากขึ้นกว่านี้ นายวรากร โรจน์จรัสไพศาล นายกสมาคมศิษย์เก่า โรงเรียนวาณิชย์นุกูล กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนวาวาณิชย์นุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ของคนสุรินทร์ ที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี ทางสมาคมศิษย์เก่าจึงได้มีมติ ต้องการช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่จังหวัดสุรินทร์ได้เกิดคัตร์สเตอร์ตลาดสดเทศบาล และยังคงกระจายไปเกือบทั่วพื้นที่ อำเภอเมือง ทั้งนี้อาหารกล่องเป็นฝีมือการทำอาหารของคณะครูและบุคลากรโรงเรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งน้ำใจของคุณครู ที่ต้องการเป็นกำลังใจให้กับด่านหน้าและผู้ป่วย ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

สุรินทร์ - มณฑลทหารบกที่ 25 บูรณาการ เปิดการฝึกซักซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ 2564

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ สโมสรค่ายวีรวัฒน์โยธิน พลตรีสาธิต  เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานในพิธีเปิดการซักซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมี พันเอกรุจหาญ รุจธารจรูญ หัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 25 กล่าวรายงาน ซึ่งกองทัพบกได้อนุมัติให้หน่วยดำเนินการฝึกซ้อมบรรเทาสาธารณภัยและการช่วยเหลือประชาชน ระดับมณฑลทหารบก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มศักยภาพกำลังพล ให้เข้าใจระบบการควบคุมบังคับบัญชา ขอบเขตความรับผิดชอบ มีความรู้ความสามารถในการประเมินสถานการณ์ แนวโน้มทิศทางและระดับความรุนแรง พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 25 จึงจัดให้มีการฝึกซักซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564

โดยจัดกำลังพลเข้ารับการฝึกจากหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งทหาร พลเรือนและภาคประชาชน จำนวน 60 นาย ประกอบไปด้วย มณฑลทหารบกที่ 25  โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลนอกเมือง ทำการฝึก 3 ส่วนหลักได้แก่ ส่วนบังคับบัญชา ส่วนปฏิบัติการ และส่วนสนับสนุน ด้วยวิธีการแก้ปัญหาบนโต๊ะหรือในที่บังคับการ การฝึก 3 สถานีได้แก่ สถานีหลักการช่วยฟื้นคืนชีพพื้นฐาน(CPR) สถานีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นและการดับเพลิง และสถานีปฏิบัติการพายเรือ การใช้เครื่องยนต์ การช่วยเหลือคนจมน้ำ และจัดให้มีการตรวจความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือและการฝึกบรรเทาสาธารณภัยในสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

ขอนแก่น - ขยะติดเชื้อจากเหตุโควิด ทะลักกว่าวันละ 1,000 กก. เทศบาลฯ รับบทหนักจัดเก็บและกำจัดตามาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด "ธีระศักดิ์" ระบุคนงานของเทศบาลไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บ แต่ทุกคนพร้อมทำหน้าที่เพื่อก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์ไปด้วยกัน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 24 ส.ค.2564 นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า เทศบาลฯดำเนินการจัดเก็บขยะติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดเฉลี่ยวันละ ประมาณ 300 กิโลกรัม และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ปัจจุบันมี ขยะติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสนาม ที่มีขยะที่จะต้องดำเนินการกำจัด เฉลี่ยประมาณวันละ 1,000 กิโลกรัม ขณะที่รถจัดเก็บขยะยังมีอยู่เท่าเดิม คือ 1 คัน

"ด้วยศักยภาพของเทศบาลในปัจจุบัน ก็ยังพอรับมือได้ แต่หากมีการขยายโรงพยาบาลสนามมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะเกินขีดความสามารถเพราะทางเทศบาลกำลังดำเนินการประสานหาบริษัทเอกชนมาจัดเก็บขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้ได้รับคำตอบว่า บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่ติดต่อไป ต่างก็มีงานล้นมือ ทำให้ในตอนนี้เทศบาลจึงแก้ปัญหาโดยการปรึกษากับทางกรมอนามัยว่า วิธีการที่เทศบาลใช้รถขยะทั่วไปจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งทางกรมอนามัยก็มาดำเนินการและมาพูดคุยกันแล้วและบอกวิธีการให้ทราบ โดยวิธีการคือใช้รถขยะ ที่มีระบบฝาปิดมิดชิด เนื่องจากว่ารถขยะทั่วไปไม่มีระบบห้องเย็น แต่ความจริงขยะตามครัวเรือน หรือโรงพยาบาลสนาม ขยะติดเชื้อก็จะต่างจากขยะติดเชื้อ ของโรงพยาบาลทั่วไปที่จำเป็นจะต้องมีห้องเย็นเพราะมีจำพวก ชิ้นเนื้อ หรือเลือด ทำให้ต้องมีระบบห้องเย็นเพื่อที่จะได้รักษาอุณหภูมิไม่ให้เน่าเสียมากจนเกินไป"

นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่น สำหรับขยะติดเชื้อของครัวเรือน และ โรงพยาบาลสนามที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไม่ได้เป็นลักษณะดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกที่ใช้แล้ว ก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อ ดังนั้นก็สามารถใช้รถขยะทั่วไปให้ดำเนินการได้ แต่ขอให้มีระบบมิดชิด และเมื่อเก็บใส่ถุงแล้วก็ให้พ่นฉีดฆ่าเชื้อ ใส่ถุงแล้วก็นำขึ้นไปในรถนำไปที่ห้องเย็นที่บ้านคำบอนแล้วก็จะมีบริษัทมารับไปกำจัด ซึ่งเป็นสถานที่แยกกำจัดขยะติดเชื้อ จะไม่รวมกับขยะทั่วไป  และปัญหาที่พบขณะนี้คือ จำนวนคนเก็บขยะไม่เพียงพอในการจัดเก็บขยะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ขยะจากบ้านเรือนที่เป็น โฮมไอโซเลชั่นซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนโรงแรมที่ปรับมาเป็นโรงพยาบาลสนาม

ซึ่งในส่วนนี้ก็มีการประสานว่าการรวบรวมขยะติดเชื้อที่ถูกต้องควรจะดำเนินการอย่างไรตามมาตรฐานด้านอนามัย ซึ่งทางโรงพยาบาลสนามทุกแห่งก็รู้วิธีการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่เป็นปัญหามากก็สามารถดำเนินการได้ สำหรับแนวทางในการป้องกันเจ้าหน้าที่ที่ต้องเก็บขยะทุกวันนั้น ทางเทศบาล ได้มีการมอบชุดรวมถึงถุงมือ และมีมาตรการวิธีการดำเนินการ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกก็คือพนักงานที่เก็บขยะทั่วไปก็มีวิธีการอธิบายและให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ขณะนี้พบว่าคนงานของเทศบาลซึ่งเป็นพนักงานจัดเก็บขยะเฉลี่ยต่อคนจะต้องเก็บขยะต่อคนโดยเฉลี่ย 1.8 ตันต่อคน  ซึ่งจะมีปัญหาหากใส่ชุดพีพีอี เก็บขยะ วันละ 1.8 ตัน แต่ปกติถ้าไม่สามารถใส่ได้ก็ต้องมีถุงมือมีรองเท้า ซึ่งทางเทศบาลก็สนับสนุนเต็มที่โดยเฉพาะมาตรฐานตรงนี้ทางหัวหน้างานหัวหน้าฝ่ายก็มีการดูแลอย่างเข้มงวด

"สำหรับขยะติดเชื้อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ทางเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ หากเป็นแต่ก่อนขยะติดเชื้อจากสถานประกอบการทั่วไป ก็คิดค่าใช้จ่ายกับสถานประกอบการ แต่พอมีกรณีของโรงพยาบาลสนามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเทศบาลก็ต้องรับผิดชอบไป  โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งวัน จากเดิมวันละ 300 กิโลกรัมก็เพิ่มเป็นวันละ 1,000 กิโลกรัม จะมีค่ากำจัดเพิ่มขึ้นเทศบาลก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นการดูแลซึ่งกันและกันจึงไม่สามารถที่จะไปเรียกร้องกับใครได้"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top