Friday, 10 May 2024
อีสานไทม์

กาฬสินธุ์ - สืบสานผ้าพื้นถิ่น ประมูลผ้าลายขอ – ผ้าไหมแพรวา ส่งเสริมผ้าไทยใส่ให้สนุก เดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดประมูลผ้าทอลายขอ ผ้าไหมแพรวา อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมกิจกรรมผ้าไทยใส่ให้สนุก เดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ ห้องเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์  

สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ จัดกิจกรรมโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในเดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2564 เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายอันล้ำค่าภูมิปัญญาของชาวกาฬสินธุ์ ส่งเสริมผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ด้านการผลิต การตลาด และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีนายสนั่น  พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน และมีนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ ประชาชน ได้ร่วมประมูลผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้า  ผ้าไหมแพรวา ผ้าทอพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของจ.กาฬสินธุ์  โดยมีผู้ประมูลผ้าไหมแพรวาลายน้ำหยาด ราคาสูงสุด ที่ 68,000 บาท ผ้าซิ่นแพรวาลายขอเจ้าฟ้า ลำดับที่ 2 ประมูลได้ที่ 20,000 บาท  ผ้าซิ่นแพรวาลายขอเจ้าฟ้าฯ ลำดับที่ 3 ประมูลได้ที่ 15,000 บาท ซึ่งมีผู้ประมูลผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าลายขอเจ้าฟ้า และ ผ้าพื้นถิ่นในครั้งนี้ จำนวน 20 ผืน รวมมูลค่า จำนวน 167,500 บาท

นอกจากนี้ จ.กาฬสินธุ์ยังได้สร้างแรงจูงใจผู้แต่งกายผ้าไทยที่โดดเด่นประกวดในเพจ จังหวัดกาฬสินธุ์โอทอปเซ็นเตอร์ เพื่อให้ประชาชนร่วมโหวต ซุปเปอร์โมเดล ผู้ที่แต่งชุดผ้าไทยรับรางวัลในระดับจังหวัด และมีกิจกรรมเดินแบบ "ผ้าไทยใส่ให้สนุกในเดือนมหามงคล"

อย่างไรก็ตาม จ.กาฬสินธุ์ มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายจำนวน 1,148 กลุ่ม/ราย มีผลิตภัณฑ์จำนวน 1,524 ผลิตภัณฑ์ ผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า ในภาพรวมสามารถจำหน่ายได้ 109,692,676 บาท ผลการจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าจำนวน 6,375,000 บาท


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

มุกดาหาร - เปิดพิภพแห่งที่ 2 งาน "มหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ" ณ จุดชมวิว สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 เวลา 09.45 น. นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในพิธีเปิดพิภพแห่งที่ 2 พญาอนันตนาคราช พิภพน้ำ งาน"มหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ" ณ จุดชมวิว สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) อำเภอเมืองมุกดาหาร ซึ่งจังหวัดมุกดาหาร โดยภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกับสำนักงาน ททท. สำนักงานนครพนม กำหนดจัดขึ้น ในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างเดือน กรกฎาคม - ตุลาคม 2564  

โดยการบูชาพญานาค 3 พิภพ ได้แก่ พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช (พญานาคดิน) หรือ พิภพดิน  ณ แก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่  พญาอนันตนคราช (พญานาคน้ำ) หรือพิภพน้ำ ณ ลานกิจกรรมสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) อำเภอเมืองมุกดาหาร  และ พญาศรีมุกตามหามุนีนิลปาลนาคราช (พญานาคฟ้า) หรือพิภพฟ้า ณ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

โดยพิธี ประกอบด้วย การบวงสรวงองค์ปู่พญานาคราช อนันตนาคราช  พราหมณ์อ่านองค์การบูชาฤกษ์ โองการเทวดาประจำทิศ พิธีโปรยข้าวดอกดอกไม้และขอพรพญาอนันตนาคราช  การรำถวายและรำบวงสรวง  และการแจกจ่ายเครื่องบวงสรวงให้แก่ผู้ร่วมในพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล การแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครือข่ายศิลปินพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร  และการเสวนา มหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ โดยเครือข่ายมุกดาหาร 3 ธรรม

ทั้งนี้เพื่อ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เคารพ ศรัทธา  ประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยว ตามความเชื่อ ความศรัทธา ในพญานาคและสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ ตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง และมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพญานาคและแม่น้ำโขงมาอย่างช้านาน  ตลอดจนเพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก จังหวัดสกลนคร นครพนม และจังหวัดมุกดาหาร โดยมี พระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร นายบุญช่วย น้อยสันเทียะ นายบุญเรือง เมฆฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนที่เลื่อมใส ศรัทธาในองค์ปู่พญาอนัตนาคราช ร่วมในพิธีรวม ประมาณ 50 คน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาตโรคโควิด-19 และมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (SHA)

นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม จังหวัดมุกดาหารได้จัดพิธี" บวงสรวงพญาศรีภุชงค์มุกตานาคราช (พญานาคดิน)และตั้งกองกฐิน  ณ แก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ และสำหรับครั้งต่อไป ในเดือนกันยายน 2564 จัดให้มีพิธีบวงสรวงพญาศรีมุกตามหามุนีนิลปาลนาคราช (พญานาคฟ้า) และตั้งองค์กฐินฟ้า ณ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ก่อนจุดเทียนขึ้นภูบูชาพระใหญ่ วัดรอยพระพุทธบาท ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ในเดือนตุลาคม และการตั้งองค์กฐินทั้ง 3 องค์ ( ดิน น้ำ ฟ้า) สวดพุทธมนต์เมือง และทอดกฐินทางน้ำบนแพขนานยนต์ในแม่น้ำโขง ณ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ซึ่งเชื่อว่าที่บริเวณดังกล่าวมีถ้ำพญานาค ในช่วงออกพรรษาและจังหวัดมุกดาหาร จะส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีของจังหวัดสืบไป


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์/พวงเพชร-เดวิท โชคชัย จ.มุกดาหาร

ขอนแก่น - “ธีระศักดิ์” ผุดไอเดียขอนแก่นโมเดล เร่งฉีดวัคซีนทางเลือกและวัคซีนจัดสรร มั่นใจคนขอนแก่นร่วมมือกันและกลับสู่ภาวะปกติได้สำเร็จ

เร่งฉีดวัคซีนทางเลือกและวัคซีนจัดสรร ให้ได้ร้อยละ 70 เสนอจังหวัดขอเปิดเทอมและผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด มั่นใจคนขอนแก่นร่วมมือกันและกลับสู่ภาวะปกติแบบนิวนอมอลได้สำเร็จ พร้อมระบุจุดฉีดวัคซีนทางเลือกมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและกำกับทุกขั้นตอน ไม่มีคุณยายรับวัคซีน 2 เข็มแบบบางจังหวัดอย่างแน่นอน

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 18 ส.ค.2564 ที่หน่วยบริการฉีดวัคซีน รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า จ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นำคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาฯ รวมทั้งผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจคณะทำงานด้านวัคซีนของ รพ.ศรีนครินทร์ และ คณะทำงานของเทศบาลนครขอนแก่น รวมทั้งพบปะประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ที่ทยอยเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนทางเลือกชิโนฟาร์ม ตามแผนการฉีดวัคซีนทางเลือกชิโนฟาร์ม วันนี้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ของรอบแรกในการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย 17,000 คน โดยมีประชาชนที่ได้รับการยืนยันการฉีดวัคซีนทางเลือกชิโนฟาร์มตามที่เทศบาลนครขอนแก่นได้ทำการจัดหาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่กำหนดการฉีดรอบแรกสัปดาห์แรกระหว่างวันที่ 14-19 ส.ค.ทยอยเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนตามรอบเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่องท่ามกลางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า วันที่ 3 ของการให้บริการวัคซีนทางเลือกตามที่เทศบาลฯได้จัดหามานั้นในภาพรวมยังคงเป็นไปอย่างเรียบร้อย ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด คือรอบแรก 17,000 คน ที่มีกำหนดการฉีดวัคซีน 2 ช่วงเวลาคือ 16-19 ส.ค. และ 23-25 ส.ค.ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. จำกัดวันละ 15 รอบ แยกเป็นรอบช้า 6 รอบ และรอบบ่าย 9 รอบ รอบละ 350 คน ซึ่งหน่วยฉีดวัคซีนจุดนี้จะสามารถให้บริการได้วันละ 2,650 คน ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่ไม่มาฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณวันละ 10% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่สะดวกเดินทางมา รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเทศบาลฯกำหนดแผนที่จะให้บริการเชิงรุกแบบถึงบ้าน รวมไปถึงการจัดลำดับสำรองที่เตรียมไว้ทุกกลุ่มหากมีคนสละสิทธิ์การรับวัคซีนชิโนฟาร์ม ก็จะเลือกลำดับสำรองมาเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันที่ 24-25 ส.ค.เป็นลำดับต่อไป ขณะเดียวกันการบริหารจัดการพื้นที่ ที่มีการกำหนดช่อฉีดวัคซีนมากถึง 25 ช่อง ซึ่งแสดงถึงการเว้นระยะห่างและการให้บริการที่รวดเร็ว ลดการรวมตัวและกำหนดในเรื่องของการเว้นระยะห่างได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกประจำจุดต่างๆ ทุกจุดอย่างรัดกุมและรอบคอบดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นในบางจังหวัดที่คุณยายได้รับวัคซีน 2 เข็ม จะไม่มีเกิดขึ้นที่ขอนแก่นอย่างแน่นอน

“ประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแกน มีประมาณ 110,000 คน ซึ่งวัคซีนทางเลือกชิโรฟาร์มที่เทศบาลฯได้รับการจัดสรรตามที่เทศบาลฯได้ดำเนินการจัดซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งได้รับรอบแรก 17,000  คนและ รอบที่ 38,000 คน ซึ่งหากได้รับครบทุกคนจะทำให้เขตเทศบาลฯของเรานั้นมีประชากรได้รับวัคซีนถึง 55,000 คนหรืออยู่ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในเขตเทศบาลฯ และในเดือน ต.ค.หากนับรวมวัคซีนที่รัฐจัดสรรและทำให้เขตเทศบาลฯมีประชากรได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 70  ก็จะมีการพิจารณารูปแบบการผ่อนคลายมาตรการหรือการเปิดเมือง ซึ่งคงไม่ถึงการเป็นขอนแกนแซนบอค แต่จะมีการหารือและแนวทางการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการด้านธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ทุกองค์กร ที่จะเดินต่อไปถึงแผนการฟื้นฟูเมืองในภาพรวม ที่ทุกคนจะร่วมมือกันและเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยในระดับประเทศจากหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะมาตรวจและประเมินเมือง ดังนั้นในเดือน ต.ค.จะมีการประเมินอีกว่าเมื่อเขตเทศบาลฯได้รับวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 70 การเปิดเมืองนั้นจะออกมาในรูปแบบใด รวมไปถึงการเปิดเรียนในส่วนของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ ที่จะมีการหารือกันว่าเมื่อคณะครู บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน และผู้ปกครองได้รับวัคซีนครบกว่า 70% แล้ว โรงเรียนในสังกัดเทศบาล 11 แห่งจะสามารถเปิดเรียนในเทอมที่ 2 แบบนิวนอมอลได้หรือไม่”

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่าในการให้บริการวัคซีนทางเลือกชิโนฟาร์ม ในรอบที่ 2 รวม 38,000 คน ที่จะกำหนดฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. ต่อเนื่องไปจนถึง กลางเดือน ก.ย. โดยขณะนี้เทศบาลฯได้กำหนดจุดฉีดวัคซีน  5 จุด ประกอบด้วย รพ.ศรีนครินทร์ จุดฉีดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแห่งนี้ รวมทั้ง รพ.ขอนแก่น,ศุนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น,รพ.ราชพฤกษ์ และ รพ.กรุงเทพขอนแก่น ที่จะร่วมมือกันระดมการฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมายและจำนวนที่กำหนด ควบคู่กับการให้บริการเชิงรุกแบบฉีดถึงบ้านในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วนติดเตียง และการตามหากลุ่มคนเร่ร่อนในเขตเมืองอีกกว่า 100 คน อย่างไรก็ตามในรอบที่ 2 ที่กำหนดฉีดอีก 38,000 คนนั้น จะมีการจัดทำรูปแบบของครอบครัว คือนอกจากบุคคลที่ได้รับการยืนยันการฉีดวัคซีนจากเทศบาลฯแล้ว หากครอบครัวประสงค์ที่จะฉีดและพาคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย มารับบริการการฉีดวัคซีน เทศบาลจะกำหนดให้คนในครอบครัวได้รับวัคซีนชิโนฟาร์มตามที่เทศบาลฯได้จัดหามานั้นฉีดให้กับคนในครอบครัวด้วยเพราะถือเป็นครอบครัวที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะมีการประเมินกันอีกครั้ง

นครพนม - สภาสังคมสงเคราะห์ ร่วมกับ จ.นครพนม มอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยโควิดนครพนม ถวายเป็นพระราชกุศล “น้ำพระทัยพระราชทานส่วนภูมิภาค”

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางฉวีวรรณ ธรรมชาติ ประธานชมรมแม่ดีเด่นแห่งชาติประจำจังหวัดนครพนม ตลอดจนคณะหัวหน้าส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 98 ชุดให้กับผู้นำชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ตกงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในจังหวัดนครพนม

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ภายใต้กิจกรรมโครงการน้ำพระทัยพระราชทานส่วนภูมิภาค สภาสังคมสงเคราะห์ฯ 76 จังหวัด ประจำปี 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดนครพนม จัดขึ้น โดยการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล

โดยกิจกรรมในครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ในขณะนั้นนำคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์ฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายดอกมะลิงานวันแม่แห่งชาติ จำนวน 2 ล้านบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้สภาสังคมสงเคราะห์ฯ พร้อมทั้งได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งกองทุนอาหารกลางวันเลี้ยงผู้ตกยาก ผู้ประสบทุกข์ยากเดือดร้อน รวมทั้งครอบครัวในภาวะวิกฤต โดยสภาสังคมสงเคราะห์ได้น้อมเกล้าฯ รับพระราชเสาวนีย์มาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ จำนวนกว่า 15 ล้านบาท สนับสนุนโครงการและทรงพระกรุณาให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ เยี่ยมเยียนโครงการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ยังได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้โครงการตลอดมาเช่นกัน โดยปีนี้เป็นปีที่ 23 ที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ทุกคนได้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

สุรินทร์ - รองแม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่สุรินทร์ ติดตามการปฎิบัติงาน ตามแผน กอ.รมน.ภาค 2

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 10.30 น. พลตรี สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2(3) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชุมและติดตามการปฎิบัติงานตามแผน ณ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้กำชับในเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 

โดยมี พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนย่อย 2 พันเอกกิติพงษ์ พุทธิมณี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ พันเอกชินวิช  เจริญพิบูลย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พันเอกอัครสิทธิ์ ปะกิระตา หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายและแผนฯ พันเอกหญิงพรพรรณ ทัศนศร ครูฝีก/วิทยากร(อพป.) และข้าราชการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ – ผุดธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเขาวง ข้าวอินทรีย์ GI อันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่แปลงนานางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ กิจกรรมหลักปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย กิจกรรมย่อยจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อบาดาลเสริมระบบแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ

นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งตามข้อมูลสถิติในปี 2557 พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์ของจังหวัดค่าหัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

นายอัครพงษ์กล่าวอีกว่า ข้าวเขาวง ซึ่งได้รับมาตรฐาน  GI เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับทาง จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการกรีนมาร์เก็ต มุ่งเน้นผลผลิตจากภาคเกษตร อาหารปลอดภัย และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้เลือกพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวเขาวงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ เป็นจุดนำร่องของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดินฯ ดังกล่าว โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ เข้าร่วมโครงการ 60 ราย 

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวเขาวง ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของชลประทาน การทำเกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมาย สำรวจความต้องการของเกษตรกร จากนั้นทำความเข้าใจและลงนามความร่วมมือ  เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ เพื่อรองรับน้ำตามหลักการส่งน้ำจากฟ้าสู่ใต้ดิน และมีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งการดำเนินการได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เป็นการขุดและวางระบบน้ำให้ฟรี เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่อย่างใด

ขณะที่นางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำนา 13 ไร่ โดยที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวเขาวง บางปีที่ฝนทิ้งช่วง ประสบภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ขณะที่ในปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ก.ก.ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมโครงการดังกล่าว ตนและเพื่อเกษตรกรมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่นำโครงการดี ๆ มาถึงเกษตรกร สำหรับตนมั่นใจว่าต่อไปนี้จะไม่ประสบภัยแล้ง เพราะจะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดปี และได้ผลผลิตข้าวเขาวงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะสามารถกระจายน้ำไปสู่ที่นาของเพื่อนเกษตรและปลูกพืชผสมผสานชนิดอื่นได้ตลอดปีอีกด้วย

ขอนแก่น - รพ.ศรีนครินทร์ มข. เพิ่มเตียงผู้ป่วยโควิด รับมือทุกกลุ่มอาการเป็น 400 เตียง รับขอนแก่นกลับบ้าน ปรับหอผู้ป่วยหลัก 3 จุดเป็นหอผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ขณะที่ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น เร่งจับตาคลัสเตอร์ใหม่เชื่อมโยงตลาดศรีเมือทอง

เมื่อเวลา  09.00 น.วันที่ 11 ส.ค.2564  ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.อภิชาติ  จิระวุฒิพงศ์ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. และ รศ.นพ.ทรงศักดิ์  เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ตรวจติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงอาคารรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามกรอบความร่วมมือร่วมระหว่าง สสจ.ขอนแก่น และ มข. ในการให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ

รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คณะแพทยศาสตร์ มข. จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วย 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย หอผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือ AE 1,2,3 หอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือ Burn Unit และ ICU ศัลยกรรม มาเป็นหอผู้ป่วยรวมสำหรับการให้บริการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีการแยกส่วนเฉพาะหอผู้ป่วยดังกล่าวชั้น 2 ของ รพ. เป็นเขตพื้นที่ควบคุม ดูแลรับผู้ป่วยโควิด ในโซนตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น เพื่อแบ่งเบาภาระของ รพ.ขอนแก่น ในการดูแลผู้ป่วยที่จะต้องรับส่งต่อซึ่งจากแผนการปรับปรุงดังกล่าวหากนับรวม รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 ที่หอพัก 26 ที่ดำเนินการอยู่จะให้ศักยภาพของ รพ.ศรีนครินทร์จะสามารถให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากถึง 300 เตียง

“แผนการดำเนินงานดังกล่าวขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยคาดว่ายในเดือน ส.ค.นี้การรับหอผู้ป่วยเดิมเป็นหอผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะจะสามารถดำเนินการได้ทั้งระบบ ตามสัดส่วนการบริหารจัดการเหตุการณ์ในความรับผิดชอบของ รพ.ศรีนครินทร์ ประกอบด้วย ที่ รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 หอพัก 26 มข. ที่รองรับการรักษาได้ 256 เตียง , ที่ รพ.ศรีนครินทร์ จะรองรับผู้ป่วยในกลุ่มอาการสีเขียว เป็น 100 เตียง,สีเหลือ 30 เตียง ,สีส้ม 16 เตียงและสีแดง 22 เตียง โดยได้ประสานการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการรับผู้ป่วยในเขตอำเภอทางตะวันตกและกลุ่มผู้ป่วยในเขต อ.เมือง ตามแผนการดำเนินงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่ได้กำหนดไว้”

ขณะที่ นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นยแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการรายงานยืนยันล่าสุดวันนี้ อยู่ที่ 264 รายในจำนวนนี้แยกเป็นกลุ่มคลัสเตอร์เรือนจำ 145 ราย ที่เหลือคือกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดที่เข้ารับการรักษาตัวตามระบบการส่งต่อทางการแพทย์ ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมของจังหวัดอยู่ที่ 6,680 ราย กำลังรักษา 5,480 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 25 ราย ขณะที่การเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยตามบริหารจัดการทางการแพทย์ ซึ่งวันนี้ข่าวดีจาก รพศรีนครินทร์ ที่มีความคืบหน้าในการสร้างหอพักผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะซึ่งแม้ว่า รพ.ศรีนครินทร์ จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีภารกิจหลัก คือ การเรียนการสอน แต่ในสภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจ จนนำมาสู่การดำเนินงานของ รพ.ฯและการจัดระบบรับส่งต่อจากรพ. ชุมแพ, ภูผาม่าน ,สีชมพู, เวียงเก่า, หนองนาคำ ,ภูเวียง ,หนองเรือ  และ อ.บ้านฝาง  ซึ่งแม้จะไม่สามารถรับได้ทั้งหมด แต่ได้เปิดรับในการให้การดูแล และให้คำปรึกษา ในการสร้างความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็ง ในระบบบริการสาธารณสุข ได้อย่างดีเยี่ยม

อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อยังได้จับตาคลัสเตอร์ตลาดหนองหม่น เขต ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น ที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดศรีเมืองทอง หลังพบพ่อค้า-แม่ค้า ป่วยติดเชื้อแล้ว 12 รายและมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมารายงานตัวแล้กว่า 800 ราย ทำให้การตรวจคัดกรองเชิงรุกจึงดำเนินการต่อเนื่องทุกวันควบคู่กับการควบคุมสถานการณ์ของตลาดดังกล่าวไว้ในวงที่จำกัดอย่างรวดเร็ว

กาฬสินธุ์ – นำจิตอาสาร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ทำความดี ด้วยหัวใจ ร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านโจด หมู่ที่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ของนางอุไลย์ ทบวัน  ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ 'โคก หนอง นา โมเดล'

โดยจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูลแบ่ง อันเป็นวัฒนธรรมอันที่ทรงคุณค่าและดีงามของประเทศไทย โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รอบแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และเยี่ยมชมแปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีพื้นที่ 15 ไร่ ได้ทำการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา พร้อมทั้งเตรียมเพาะปลูกพืชบนคันนา เป็นคันนาทองคำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเยี่ยมชมแปลงเพาะต้นกล้าสมุนไพร ประกอบด้วย  ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ว่านไฟ และพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล บ้านโจด มีประชาชน ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสอบถามเกี่ยวกับการทำโคก หนอง นา โมเดล อย่างต่อเนื่อง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุรินทร์ - มทบ.25 จัดกิจกรรมวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิด โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบรอบปีที่ 134

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสโมสรนายทหารค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พลตรีสาธิต  เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 เป็นประธานอันเชิญพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 ขึ้นประดิษฐาน ณ แท่นประดิษฐาน ก่อนนำข้าราชการทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 25,กองกำลังสุรนารี,กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุรินทร์,กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดศรีสะเกษ,หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา,โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน,กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 และหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมวางพานพุ่ม ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมร่วมกล่าวคำปฏิญาน ประกาศ เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมรับใช้ชาติ ประชาชน และสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ 

โดยในช่วงเช้า พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พร้อมด้วย พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้นำข้าราชการทหาร ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ร่วมทำบุญตักบาตร และทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปีที่ 134 ต่อมา เวลา 10.00 น. พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 นำข้าราชการทหารและศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ร่วมมอบอุปกรณ์พัฒนา ให้กับโรงเรียนโสตศึกษา ตำบลเชื่อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายวิจิตร พิมพกรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู ให้การต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

นครพนม - เตรียมพัฒนาศักยภาพ อสม. เสริมกำลังแพทย์คัดกรองผู้ป่วยโควิด พร้อมเสริมความรู้ให้ประชาชน

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม และท้องถิ่นจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานระดับอำเภอ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

โดยในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทางอำเภอนาแกได้ชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลากรทางการแพทย์เริ่มมีความเหนื่อยล้า ดังนั้นจึงได้มีการปรับแผนการบริหารบุคคลากร โดยการพัฒนากลุ่มคนไข้ผู้ป่วยโควิดที่มีความเข้าใจในด้าน social และเทคโนโลยีที่ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้อื่นและตนเองได้ตามปกติให้เข้าใจในการตรวจวัดอุณหภูมิ การวัดออกซิเจนในเลือดของแต่ละคนว่าควรมีค่าเท่าไหร่อย่างไร และสอนวิธีการส่งข้อมูลเพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดสังเกตอาการ เพื่อให้คนไข้ได้ช่วยดูแลซึ่งกันและกันได้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ป่วยด้วยเพราะเมื่อมีความสงสัยอะไร จะสามารถวัดได้ทันทีตลอดเวลาเนื่องจากเครื่องอยู่ในพื้นที่ของผู้ป่วยอยู่แล้ว รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์เนื่องจากความอ่อนล้าในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งข้อมูลยังเป็นแบบเรียลไทม์ตลอดเวลานั่นหมายถึงผู้ป่วยทุกคนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันในระหว่างพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ก็ได้มีการเสนอให้ทางพื้นที่เตรียมการเพิ่มศักยภาพให้กับ อสม. เพื่อมาเป็นอีกกำลังหนึ่งในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลประชาชนในชุมชนและในศูนย์พักคอย (Community Isolation :CI) เพราะปัจจุบันยังใช้บุคลากรทางสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้จะมีการการเตรียมแผนพัฒนา ให้ อสม. มีความรู้ในเรื่องของการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย Antigen test kit ซึ่งเป็นทักษะขั้นสูงขึ้นสำหรับ อสม.ทุกคน เพราะการเก็บเชื้อตัวอย่าง ต้องมีความแม่นยำ ถูกต้อง ก่อนที่จะนำมาทดสอบกับน้ำยา ซึ่งถ้า อสม. ในพื้นที่ได้สามารถทำได้ก็จะทำให้แต่ละชุมชนสามารถดูแลกันได้เลยในเบื้องต้น เพราะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในแต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้เสนอแผนการอบรมให้ความรู้ประชาชนในเรื่องของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เรื่องของโรค สถานการณ์ของโรค การป้องกันตนเอง การดูแลสุขภาพจิตใจทั้งในกรณีที่เป็นผู้ป่วยและกรณีของคนในชุมชนที่ป่วยแล้วกลับมา จะมีการดูแลกันอย่างไรให้ถูกต้องและไม่เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งในส่วนนี้แต่ละท้องถิ่นจะนำเงินกองทุนตำบลมาใช้ในการอบรมพัฒนาความรู้ให้กับประชาชนและมีแผนงานโครงการอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาในการอบรมเนื่องจากไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้เกิน 50 คน ดังนั้นในส่วนนี้จึงได้หาทางออกด้วยกัน โดยได้เตรียมการอบรมในลักษณะออนไลน์ที่ให้แต่ละตำบลหมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้ พร้อมกับการเชื่อมต่อโปรเจคเตอร์ของแต่ละแห่งฉายกระจายความรู้ให้ประชาชนในชุมชนได้ดูพร้อม ๆ กัน


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส นครพนม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top