Tuesday, 22 April 2025
TODAY SPECIAL

13 เมษายน ถูกยกให้เป็น ‘วันสงกรานต์’ และรวมทั้งยังเป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ โดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งประเพณีนี้ยังแผ่ขยายไปยังประเทศลาว กัมพูชา และพม่าอีกด้วยเช่นกัน

‘สงกรานต์’ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้าย ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ หมายถึง พระอาทิตย์ที่ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ ในช่วงเดือนเมษายน โดยยกให้การเคลื่อนของพระอาทิตย์นี้ เป็นวันตั้งต้นสู่ปีใหม่ ตามการคำนวนทางโหราศาสตร์

แต่เดิมประเทศไทยใช้ประเพณีตรุษสงกรานต์ เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน จนเมื่อปี พ.ศ. 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแทน และต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 คณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ตามสากลทั่วโลก และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีวันสงกรานต์แต่เดิม ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก โดยใช้รดให้แก่กัน เพื่อความชุ่มชื่น รวมถึงใช้สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีที่ผู้คนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง เพื่อกลับไปหาครอบครัว ไหว้ขอพรจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

ด้วยเหตุนี้เอง ต่อมาวันสงกรานต์จึงถูกระบุให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุ’ ร่วมด้วย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 หลังองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้เป็นปีที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ รัฐบาลไทยในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงมีมติกำหนดให้ ทุก ๆ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุด้วยอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการระลึกและให้ความสำคัญกับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่อบรมบ่มวิชามาตั้งแต่วัยเยาว์

แม้ปีนี้จะงดเว้นการรดน้ำให้แก่กัน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ทางการยังอนุญาตให้มีการรดน้ำขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ได้ ในโอกาสนี้ จึงขอให้คนไทยได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามเอาไว้ พร้อมทั้งปฏิบัติอย่างเหมาะสมและปลอดภัย


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์

https://www.sanook.com/campus/948044/

https://www.thaihealth.or.th/Content/23793

วันนี้เป็นสำคัญของ ‘เมืองเชียงใหม่’ โดยเป็นวาระการครบรอบ 725 ปี ของการสถาปนาเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา โดยมีพ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง ทรงร่วมกันสร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นมา

ในอดีต เชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนครรัฐอิสระ ชื่อว่าอาณาจักรล้านนา ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มังราย ยาวนานประมาณ 261 ปี โดยพ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง ทรงร่วมกันก่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ขึ้น ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา และทรงขนานนามว่า ‘นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่’

ในปี พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ได้เสียเมืองให้แก่พม่า และอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำสงครามขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองรัตตนติงสาอภินวปุรี

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี ปกครองนครเชียงใหม่ และสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน กระทั่งเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง โดยให้เรียกว่า มณฑลพายัพ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ยกฐานะเมืองเชียงใหม่ ขึ้นเป็น ‘จังหวัดเชียงใหม่’ มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีประชากรราว 1.76 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือรากเหง้าทางประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนา ที่ยังฝังแน่นไม่เสื่อมคลาย จนถูกประกาศให้ว่า เป็นเมืองสร้างสรรค์ของโลกทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2560 และกำลังพิจารณาสมัครเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโกอีกด้วย

วันนี้ถือเป็นวันครบรอบการสถาปนา 725 ปีของเมือง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด เชียงใหม่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ไม่เปลี่ยนแปลง

หนึ่งในซีรีส์จีนที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นกันอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า ในโลกความจริง ตัวละครอย่าง ‘เปาบุ้นจิ้น’ นั้น ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ และวันนี้ถูกบันทึกว่า เป็นวันเกิดของตำนานแห่งความยุติธรรมคนนี้

เปาบุ้นจิ้น หรือในภาษาจีนมาตรฐานเรียกว่า เปา เจิ่ง ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เปาจิ้น เกิดเมื่อ 11 เมษายน ราวปี ค.ศ. 999 เขาเป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจง แห่งราชวงศ์ซ่ง เมื่ตอนอายุ 29 ปี เจ้าตัวสอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ

เปา เจิ่ง หรือ เปาบุ้นจิ้น เริ่มต้นชีวิตข้าราชการจากการเป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1040 จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตวันโจว โดยในเวลานั้น เจ้าตัวมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในความเถรตรง ครั้งหนึ่ง ในช่วงที่เป็นผู้ว่าการตวันโจว มีการตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีด ‘จานฝนหมึก’ จำนวนมากจากราษฎร ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่เปาบุ้นจิ้นว่าราชการอยู่ที่นั่น เจ้าตัวจึงขอใช้จานฝนหมึกแค่เพียงอันเดียว เพื่อเป็นการชดใช้ และแสดงให้เห็นถึงความตรงไปตรงมา

กระทั่งในปี ค.ศ. 1044 เปาบุ้นจิ้นก็ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ ซึ่งที่นี่เอง ที่ทำให้ชื่อเสียงของเปาบุ้นจิ้น ถูกพูดถึงไปในวงกว้าง ด้วยสาเหตุของการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำทุจริตของเหล่าขุนนาง และเจ้าหน้าที่มากมาย

เปาบุ้นจิ้นมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต และขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวด และไม่อดทนต่อความอยุติธรรม จนชื่อของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า ‘ตงฉิน’ หรือความซื่อตรง และแม้จะมีตำแหน่งสูงในแวดวงราชการ แต่เปาบุ้นจิ้นกลับใช้ชีวิตเรียบง่าย มีบุคลิกภาพสุขุม จนเป็นที่เคารพของผู้คนมากมาย

เปาบุ้นจิ้นถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองไคเฟิง ในปี ค.ศ. 1062 โดยจักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า ‘เซี่ยวซู่’ ซึ่งแปลว่า กตัญญูปูชนีย์

ชื่อเสียงของเปาบุ้นจิ้นนั้น ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ก็ยังได้รับการกล่าวขานถึงมาโดยตลอด สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความซื่อตรง ที่ตัวเขาได้ทำเอาไว้ ไม่ว่าตัวจะจากไปนานเท่าไร แต่ความดีและความซื่อสัตย์จะคงอยู่ตลอดไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เปาบุ้นจิ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน เรียกได้ว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเป็นปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จากผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า นปช.

การชุมนุมเรียกร้องครั้งนั้น เกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่รวมตัวกันเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง

การชุมนุมเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 การเรียกร้องผ่านมาหนึ่งเดือน กระทั่งวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรก โดยใช้คำว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ยาวไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลาล่วงเข้าสู่คืนของวันที่ 10 เมษายน เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกคอกวัวและถนนดินสอ ที่มีการใช้อาวุธปืนบรรจุกระสุนจริง เข้าปะทะสู้กัน พร้อมกันนี้ยังมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่ภายหลังถูกเรียกว่า ‘กลุ่มชายชุดดำ’ นำกำลังติดอาวุธ เข้าก่อเหตุให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

เสียงปืนดังเป็นระยะตลอดค่ำคืนดังกล่าว ประชาชนที่มีบ้านเรือนบริเวณนั้นต่างพากันขวัญผวากันทั้งคืน สุดท้ายมีผู้เสียชีวิตกว่า 24 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ ที่ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ความเลวร้ายยังไม่ยุติเพียงแค่นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้เข้าสลายการชุมนุม และขอคืนพื้นที่จากกลุ่มนปช. ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ส่งผลให้แกนนำประกาศยุติการชุมนุม แต่หลังจากนั้น กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีความพยายามก่อความรุนแรง บุกทุบทำลายห้างสรรพสินค้า รวมทั้งวางเพลิงห้างฯ และสถานที่ทางราชการหลายแห่ง นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ ตลอดจนเป็นบาดแผลที่ยังฝังอยู่ในความรู้สึกของคนไทยหมู่มาก มาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553, https://www.khaosod.co.th/politics/news_2400891

วันนี้เป็นวันพิเศษของหน่วยงานกองทัพไทย โดยเป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ ที่เวียนมาบรรจบครบรอบกว่า 84 ปี ทั้งนี้กิจการบินของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 6

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2454 ได้มีนักบินชาวเบลเยี่ยมชื่อ ชาลส์ แวน เด็น บอร์น นำเครื่องบินมาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งแผนกการบินขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 คน เพื่อไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2457 แผนกการบินได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองการบินทหารบก พร้อมกับได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ กระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2461 กองบินทหารบกจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2478 กรมอากาศยานทหารบกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมทหารอากาศ’ และในอีก 2 ปีถัดมา กรมทหารอากาศ ก็ได้รับการยกระดับฐานะขึ้นเป็น ‘กองทัพอากาศ’ ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 โดยมียศและเครื่องแต่งกายเป็นของตนเอง และมี นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้สร้างผลงานและยุทธเวหาครั้งสำคัญ ๆ เอาไว้มากมาย อาทิ เคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอินโดจีน โดยปัจจุบัน กองทัพอากาศมีกำลังทางอากาศทั้งสิ้น 11 กองบิน กับ 1 โรงเรียนการบิน รวมทั้งมีอากาศยานรวมกว่า 320 ลำ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ที่ได้รับการยกฐานะให้เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ทำให้ในวันที่ 9 เมษายนของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันกองทัพอากาศไทย’ เพื่อเป็นการยกย่องถวายพระเกียรติจอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย รวมทั้งยังเป็นการยกย่องนายทหารทั้ง 3 ท่านที่ไปเรียนวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถนำความรู้มาเผยแพร่และพัฒนา ให้กองทัพอากาศก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/กองทัพอากาศไทย

วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ประเทศไทยมีการสร้างโบราณสถานชิ้นสำคัญ นั่นคือ เสาชิงช้า โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้พระครูสิทธิชัย สร้างเสาชิงช้าขึ้น ณ บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าที่ทำด้วยไม้สัก ทาสีแดง สูงประมาณ 21 เมตร มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน บริเวณฐานก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง

เหตุของการสร้างเสาชิงช้านั้น เพื่อใช้ในพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย โดยความเชื่อแต่โบราณ เป็นการต้อนรับพระอิศวร ที่เสด็จลงมาสู่โลกในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ ทั้งนี้จึงจัดให้มีการโล้ชิงช้า และมีการแห่พระเป็นเจ้า ไปถวายพระพรแก่พระเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีดังกล่าว ถูกยกเลิกเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 7 แต่ยังคงเสาชิงช้าเอาไว้เพื่อให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยที่ผ่านมา เสาชิงช้าได้ถูกบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้า ให้เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของชาติ

และนับถึงวันนี้ เสาชิงช้ามีอายุมากว่า 237 ปีแล้ว รวมทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สะท้อนความเป็นเมืองหลวงกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เสาชิงช้า

7 เมษายน พ.ศ. 2535 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งวันที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนับเป็นผู้นำสูงสุดทางการเมืองลำดับที่ 19 ของประเทศไทย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น

ต่อมา หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร โดยทั้งหมดประกาศสนับสนุนให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่า นายณรงค์ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีกรณีพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย จนส่งผลให้ทั้ง 5 พรรค เปลี่ยนการนำเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพลเอก สุจินดา คราประยูร แทน

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 จึงมีพระบรมราชโองการให้พลเอก สุจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พร้อมกับการเอ่ยประโยคสำคัญของเจ้าตัวที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เนื่องจากก่อนหน้านั้น พลเอก สุจินดา ปฏิเสธจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ หลังจากคืนอำนาจการบริหารประเทศให้กับนักการเมืองอีกครั้ง

ในเวลาต่อมา จึงมีกระแสคัดค้านในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของพลเอก สุจินดา จากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา ลาออก กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือ ‘พฤษภาทมิฬ’ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ต่อมา พลเอก สุจินดา จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง และยุติบทบาททางการเมืองอย่างถาวร รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 47 วัน


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/พฤษภาทมิฬ,

https://www.prachachat.net/politics/news-618844,

https://sites.google.com/site/doqfiqht/home/phl-xek-su-cinda-khra-prayur

วันนี้เป็นวันครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยถือเป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตลอดจนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้นำในการรวมตัวกันของนักการเมือง วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งพรรคในครั้งนั้น เพื่อเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก 6 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2518, 2519 (2 ครั้ง), 2535, 2540 และ 2551 รวมทั้งได้เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลอีก 4 ครั้ง และเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกรวมทั้งหมด 16 ครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ยังถือเป็นพรรคแรกที่มีการหาเสียงด้วยวิธีการปราศรัย โดยเริ่มใช้ในการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ยังเป็นที่รับรู้กันว่า พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงที่กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์สร้างสรรค์บุคลากรทางการเมืองออกมาทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย และหลายคนก็ได้ก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกด้วย

วันนี้ในวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งพรรค ชื่อ ‘ประชาธิปัตย์’ ยังคงอยู่ในเวทีการเมืองไทยเช่นเดิม และยังคงทำหน้าที่เป็นสถาบันการเมืองหลักของชาติ รวมทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคประชาธิปัตย์

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชันษาครบ 70 ปี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และลาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา

นอกจากนี้ยังทรงมีโครงการที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นั่นคือ โครงการ TO BE NUMBER ONE ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ มุ่งหมายให้เยาวชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรม อันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ โดยปัจจุบัน โครงการ TO BE NUMBER ONE ยังคงดำเนินงานต่อไป และกลายเป็นแม่แบบในการรณรงค์แก้ปัญหายาเสพติด ให้กับหลายประเทศได้นำไปใช้

ด้วยพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระที่เป็นวันคล้ายวันประสูติครบ 70 ปี ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา_สิริวัฒนาพรรณวดี

วันนี้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งถือเป็นข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนให้ความสนใจในอดีต รวมทั้งยังเป็นความพยายามของนักอนุรักษ์ฯ ในยุคแรก ๆ ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคมได้

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความพยายามในการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย คือการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2532 ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวจะถูกสร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาโครงการดังกล่าว ถูกฝ่ายนักอนุรักษ์ฯ อาทิ สืบ นาคะเสถียร, นพ.บุญส่ง เลขะกุล ทำการคัดค้าน เนื่องจากการสร้างเขื่อนนี้ จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150,000 ไร่ นั่นหมายถึง ระบบนิเวศ ตลอดจนชีวิตสัตว์ป่าที่ต้องสูญเสียไปมากมาย

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่นำโดย สืบ นาคะเสถียร จึงได้มีความพยายามรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ และอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คน ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน โดยมุ่งชี้ความสำคัญว่า พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ มีสัตว์ป่าหายาก และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ผลจากการรณรงค์ให้ผู้คนรู้จักกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น ตลอดจนความพยายามนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ จึงนำมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531

ในเวลาต่อมา ‘ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ ที่ได้ชื่อว่า เป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่มีความสำคัญ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป


ที่มา: https://www.sarakadee.com/2017/09/01/เขื่อนน้ำโจน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top