Tuesday, 22 April 2025
TODAY SPECIAL

วันนี้เมื่อราว 71 ปีก่อน เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยต่างรอคอย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทย พร้อมด้วยพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร (พระนาม ณ ขณะนั้น) โดยเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาสู่พระนคร

โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดระยะเวลานั้น ทรงเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2488 พร้อมกับพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระทั่งในปี พ.ศ. 2493 จึงเสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง ร่วมกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น โดยการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระคู่หมั้น เสด็จออกจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าเรือวิลล์ฟรังซ์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประทับเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย ออกจากฝรั่งเศส ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลัดคลองสุเอซ สู่มหาสมุทรอินเดีย จนมาถึงสิงคโปร์

เมื่อเรือซีแลนเดียเทียบท่าที่ท่าเรือเกาะสีชัง จึงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ เพื่อเสด็จฯ มายังป้อมพระจุลจอมเกล้า แล้วประทับเรือหลวงศรีอยุธยา เทียบที่ท่าราชวรดิฐ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย กรุงเทพมหานคร

การเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งนั้น ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามลำดับ


ที่มา:

https://www.hii.or.th/wiki84/

https://www.blockdit.com/posts/5ea770bcb0cefd12268089e7

http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/TheNationalArchives/index.php/exhibitions-narama9/34-building3/floor2.html

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และถูกบันทึกกันมากว่า 115 ปี โดยเป็นวันที่ชาติฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาคืน ‘จังหวัดตราด’ รวมทั้งเกาะต่าง ๆ ในอาณาบริเวณ ให้กับประเทศไทย หลังจากที่ยึดไว้ในการครอบครองกว่า 3 ปี

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน โดยครอบครองญวนและเขมรส่วนนอกไว้ทั้งหมด พร้อมทั้งอ้างสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดิม ว่าเป็นของญวนและเขมร ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงมีสิทธิครองครองดินแดนส่วนนี้ด้วย ซึ่งในเวลานั้น พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในการครอบครองของอาณาจักรสยาม

จึงเป็นที่มาของการการปะทะกันของกำลังทหารไทยและฝรั่งเศส กระทั่งไทยยอมทำสัญญาสงบศึกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 โดยถอนทหารจากชายแดนทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส และให้ยอมรับว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ เป็นของฝรั่งเศส ประการที่สำคัญ รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ยึดครองจังหวัดจันทบุรีไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนอีกด้วย

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันท์เอาไว้ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 รัฐบาลไทยจึงได้ทำสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกเมืองตราดและเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปถึงเกาะกูด ตลอดจนถึงเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝ่ายฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจังหวัดจันทบุรี จนต่อมาภายหลัง ฝรั่งเศสยินยอม และเข้าปกครองดินแดนตราดและเกาะกง ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นมา

แต่แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยก็ได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองตราดคืนมา โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการให้กับประเทศไทยตามเดิม รวมเวลาที่จังหวัดตราดตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 7 วัน

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ จนในที่สุด ฝรั่งเศสยอมทำสัญญายกเมืองตราดคืนให้แก่ประเทศไทย จึงตั้งให้วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันตราดรำลึก’ ทั้งนี้เพื่อน้อมถวาย และระลึกถึงวันสู่อิสรภาพของเมืองสำคัญแห่งนี้


ที่มา: http://www.trat.go.th/trat100/trat_100/trat50.htm, http://oknation.nationtv.tv/blog/buraphadialysis/2008/07/19/entry-1

วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ถูกบันทึกว่าเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธีอัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วันพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นครั้งแรก

กล่าวถึงพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของประเทศไทย ถูกจารึกว่าปรากฎเมื่อราวปี พ.ศ.1977 และได้ถูกอัญเชิญไปยังดินแดนต่าง ๆ มากมาย โดยในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเป็นแม่ทัพตีได้เมืองเวียงจันทน์ และได้เชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดอรุณราชวราราม และมีพิธีสมโพช 3 วัน

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 จึงได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี เมื่อพระอุโบสถสร้างเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ที่ประดิษฐานอยู่วัดอรุณฯ ในเวลานั้น มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2327

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย และมีความสำคัญ โดยเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระแก้วมรกตว่า ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ ซึ่งแปลโดยย่อได้ว่า เป็น ‘เมืองเทวดาที่มีพระแก้วมรกตเป็นหลักชัย’

นอกจากนี้ ที่มาของคำว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดจากคำว่า รัตน์+โกสินทร์ โดย รัตนะ แปลว่า แก้ว ส่วน โกสินทร์ แปลว่า สีเขียว กรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือ กรุงแก้วสีเขียว ซึ่งก็คือ เมืองแห่งพระแก้วมรกต นั่นเอง

กว่า 237 ปี นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ยังคงประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทยมายาวนาน เสมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ที่คนไทยทุกหมู่เหล่า เดินทางมากราบไหว้สักการะกันอยู่เสมอ


ที่มา: https://lanpothai.blogspot.com/2019/03/blog-post.html

วันนี้เป็นพิเศษของผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิด ครบรอบ 67 ปี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเมืองไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือในชื่อเล่นที่คนไทยคุ้นเคยว่า ‘ตู่’ เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่มาเรียนหนังสือในระดับประถมศึกษาที่จังหวัดลพบุรี กระทั่งเมื่อเข้าสู่ชั้นมัธยม จึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร

ในวัยเยาว์ พลเอกประยุทธ์เป็นนักเรียนเรียนดี จนเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เจ้าตัวจึงได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 ในเวลาต่อมา

พลเอกประยุทธ์เข้ารับราชการทหารที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม ต่อมาจึงได้ย้ายไปอยู่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนจะได้รับการเลื่อนขั้นดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น และได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.2553

พลเอกประยุทธ์ เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557

ต่อมาได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา มีการนำเสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้พลเอกประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

จากอดีตนักเรียนวิทยาศาสตร์การเรียนดี สู่การเป็นนายทหารมากความสามารถ วันนี้ ‘บิ๊กตู่’ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ในวัย 67 ปีบริบูรณ์ ขอให้สุขภาพแข็งแรง และทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเต็มความสามารถตลอดไป


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/ประยุทธ์_จันทร์โอชา,

https://siamrath.co.th/n/83202

กลุ่ม อสม. หรือ อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่เป็นหน่วยหน้าในการเข้าไปพบปะดูแล ให้ความรู้เรื่องอาการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ของคนไทยในชนบท ซึ่งในวันนี้ก็มีการยกให้เป็นวันสำคัญของพวกเขา นั่นคือ วันอสม. หรือวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอสม.แห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และส่งเสริมให้อสม.ได้รวมพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประขาชนชาวไทย โดยได้ดำเนินการจัดงานเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

กล่าวถึง อสม.เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2520 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีประหยัด ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาวะการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท จึงได้เปิดรับมัครผู้ที่มีความสมัครใจในการทำงานเพื่อส่วนรวม โดยเป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้ใจ และมีที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อมาร่วมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ในระยะแรกเริ่ม มีการทดลองใน 20 จังหวัด โดยอสม.จะยึดหลักการทำงานที่ว่า ‘แก้ข่าวร้าย กระจ่ายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี’ จนต่อมาได้ขยายจำนวนของอสม. มากขึ้น กระจายไปทุก ๆ จังหวัดของประเทศไทย

กระทั่งในปัจจุบัน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน และส่งเสริมชักชวนให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันโรค

โดยเฉพาะในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติโควิด -19 ระบาด กลุ่มอสม. ถือเป็นกองทัพมดงาน ที่กระจายกำลังลงไปในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 11 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคระบาดชนิดนี้ รวมทั้งยังช่วยเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข ส่งกลับมาให้หน่วยงานใหญ่ หรือภาครัฐ ได้ใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญอีกด้วย

ไม่ผิดไปนัก หากจะบอกว่า อสม. คือ ผู้ปิดทองหลังพระ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้ และในวันนี้ที่เป็นวันพิเศษของพวกเขา เราจึงขอร่วมชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้ทำหน้าที่เพื่อสังคมประเทศชาติต่อไปให้ดีที่สุด


ที่มา: https://hrdo.org/อสม-มดงานในระบบสุขภาพไท/

โดยนอกเหนือจากห้องสมุดของคนปกติทั่วไป ห้องสมุดเฉพาะทาง อย่างห้องสมุดคนตาบอด ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ ที่เป็นแหล่งความรู้ให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งในวันนี้เมื่อ 44 ปีก่อน เมืองไทยได้เปิดห้องสมุดสำหรับคนตาบอดเป็นครั้งแรก มีชื่อว่า ห้องสมุดคอลฟิลด์

ห้องสมุดคอลฟิลด์ เป็นหน่วยงานหนึ่งของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยที่มาของชื่อ คอลฟิลด์ มาจากชื่อของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สุภาพสตรีชาวต่างชาติ ที่เข้ามาบุกเบิกช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในเมืองไทย

โดยห้องสมุดคอลฟิลด์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในด้านการศึกษา และสาระบันเทิงต่าง ๆ สำหรับคนตาบอด เปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2520 ได้รับการสนับสนุน และร่วมบริจาคจากสมาคมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

เช่น สมาคมคนตาบอดสวีเดน ได้บริจาคโรงพิมพ์เก่า อันประกอบด้วยแท่นพิมพ์ อุปกรณ์สำหรับพิมพ์หนังสือเบรลล์ และมอบอุปกรณ์การผลิตหนังสือเทป ต่อมา ประเทศเยอรมนี ได้สร้างห้องบันทึกเสียงสำหรับผลิตหนังสือเทปอย่างดี ทำให้การผลิตหนังสือเพื่อป้อนห้องสมุดคนตาบอด เริ่มมีคุณภาพและผลงานมากขึ้น

กระทั่งย่างเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอด ก็ยิ่งมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คนตาบอดสามารถอ่านหนังสือจากคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง รวมทั้งสามารถเข้าถึง Internet ได้อย่างง่ายดาย ห้องสมุดคอลฟิลด์จึงถูกขยายกลายเป็นศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อคนตาบอดในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน ห้องสมุดคอลฟิลด์ ยังคงให้บริการ ทั้งการผลิตหนังสือเบรลล์ การผลิตหนังสือเทป และการบริการห้องสมุด ซึ่งเปิดให้บริการให้กับสมาชิกทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนตาบอด และเป็นการเพิ่มทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

ห้องสมุดคอลฟิลด์ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ตั้งอยู่ บนถนนติวานนท์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โทร.0-2583-6518


ที่มา: http://www.blind.or.th/centre/about_show/3, http://tabgroup.tab.or.th/node/30

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนา พรรณวดี มีอายุครบ 36 ปีบริบูรณ์

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สิริกิติยา_เจนเซน

วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวหมัดมวย เนื่องจากวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันนายขนมต้ม’ สุดยอดนักมวยไทยเลื่องชื่อที่ถูกเล่าขานกันมาหลายร้อยปี

นายขนมต้ม เป็นนักมวยที่มีฝีไม้ลายมืออันเก่งกาจ เขาเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธา ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยเด็ก ๆ นายขนมต้มอาศัยอยู่ในวัด ได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีความสามารถในศิลปะป้องกันตัวชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ต่อมา พ่อแม่และพี่สาวของนายขนมต้มถูกฆ่าตายในสงคราม เหลือเพียงแต่นายขนมต้มที่รอดชีวิต แต่เจ้าตัวก็ถูกจับมาเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 นายขนมต้มได้มีโอกาสขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า และสามารถเอาชนะนักมวยพม่าได้ถึง 10 คน

พระเจ้ามังระจึงปูนบำเหน็จให้เป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มปฏิเสธ และได้ขอเปลี่ยนให้เป็นการปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมด ในที่สุดนายขนมต้มจึงได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิด ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งการตอสู้ในครั้งนั้น ทำให้ชื่อของนายขนมต้ม เป็นที่เลื่องลือ และศิลปะแม่ไม้มวยก็ได้รับการยกย่อง

เมื่อเวลาผ่านไป อนุชนคนรุ่นกลัง จึงได้ยกให้วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี ให้เป็นวันนายขนมต้ม หรือ วันมวยไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูบรมครูมวยไทยคนนี้ รวมทั้งยังเป็นการให้เกียรติเหล่านักมวยไทย ที่สืบสานศิลปะป้องกันตัวของชาติให้คงอยู่สืบไป


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/นายขนมต้ม

https://www.thairath.co.th/news/881791

หลายคนคุ้นเคยกับอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด หรือบริการอาหารจานด่วน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไป วันนี้เมื่อ 36 ปีที่แล้ว เมืองไทยมีแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมาเปิดสาขาเป็นครั้งแรก นั่นคือ แมคโดนัลด์

ร้านแมคโดนัลด์ เปิดบริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย สาขาแรกที่อาคารอมรินทร์พลาซา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยการนำเข้ามาของ เดช บุลสุข นักธุรกิจ อดีตผู้ก่อตั้ง บริษัท แมคไทย จำกัด และเป็นผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ในยุคแรกเริ่ม

แมคโดนัลด์ ถือเป็นร้านอาหารสาขาข้ามชาติในยุคแรก ๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ก่อนที่จะมีร้านในลักษณะแฟรนไชส์เกิดขึ้นในประเทศอีกมากมาย และทำให้กระแสการบริโภคอาหารประเภทบริการจานด่วน หรือ ฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นที่นิยม และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการบริโภคของคนไทยมาโดยตลอด

สำหรับแบรนด์ แมคโดนัลด์ ต้นกำเนิด ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1948 (หรือ พ.ศ. 2491) เป็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีจุดขายคือการนำระบบการบริการที่รวดเร็วเข้ามาใช้ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน แมคโดนัลด์ มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา ใน 121 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสาขาแรกในประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่ 35 ของโลก และถึงวันนี้ มีสาขาแมคโดนัลด์ที่เปิดทำการในประเทศไทยอยู่กว่า 245 สาขา และยังคงครองใจคนรักแฮมเบอร์เกอร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา:

https://www.mcdonalds.co.th/aboutUs?lang=th,

https://th.wikipedia.org/wiki/แมคโดนัลด์

วันนี้เมื่อกว่า 163 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชกำเนิด ‘หนังสือราชกิจจานุเบกษา’ สิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า มีความสำคัญ และอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

หนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือลงประกาศใช้กฎหมายและข่าวสำคัญต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง เริ่มจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศข่าวสาร และป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตามพระราชปรารภ โดยจัดตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ ของหมอบรัดเลย์

ปัจจุบันหนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังถูกตีพิมพ์ติดต่อกันมาโดยตลอด ถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีอายุยาวนานที่สุดของประเทศไทย โดยมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดพิมพ์ และเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์

ทั้งนี้เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ การบอกข้อราชการ และข่าวต่าง ๆ ส่วนประเภทที่สอง คือ แจ้งความ ประกาศ พระราชบัญญัติ และกฎหมายต่าง ๆ โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติ สามารถสมัครเป็นสมาชิกรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาได้ตั้งแต่ เดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน ของทุกปี

ผ่านมาจนถึงวันนี้ กว่า 163 ปีมาแล้ว ที่หนังสือราชกิจจานุเบกษา ยังคงตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารสำคัญ นอกจากจะเป็นสิ่งพิมพ์ฉบับสำคัญของประเทศ ยังเป็นเสมือนบทบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งเรื่องการเมือง การปกครอง ขนบประเพณี ตลอดจนวิวัฒนาการทางภาษา และการพิมพ์ ที่คนรุ่นหลัง สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความแม่นยำเป็นอย่างมากอีกด้วย


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878787


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top