Thursday, 23 May 2024
ECONBIZ

“จุรินทร์” จัดทัพลุยจีน เน้นไห่หนานเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ หลังจีนฟื้นตัวจากโควิด "สั่งงาน" พาณิชย์ จับมือ สมาคมการค้าไทย - ไห่หนาน เดินหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง

31 มีนาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาคมการค้าไทย-ไห่หนาน จัดกิจกรรมการบุกตลาดจีน “พาณิชย์บุกตลาดจีน เชื่อมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย - ไห่หนาน)” ภายใต้โครงการผลักดันการค้าระหว่างประเทศพันธมิตร (Strategic Partnership) ในตลาดจีน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกไปตลาดจีน เน้นธุรกิจอาหารและบริการ หลังเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มสดใส ฟื้นตัวจากโควิด หวังใช้ มินิเอฟทีเอ (Mini - FTA) เชื่อมจีนรายมณฑล 

งานนี้มีนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน นายนที เมฆรุ่งโรจน์ นายกสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมการค้าไทยไหหลำและคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมทีห้องสัมมนา 4 (Auditorium) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถนนรัชดาภิเษก)พร้อมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประจำประเทศจีนและพาณิชย์จังหวัดเป้าหมายเข้าร่วม ผ่านระบบออนไลน์

นายจุรินทร์ เปิดงานและกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “นโยบายการค้าสู่ตลาดจีน ในยุค New Normal” ในงานกิจกรรมการบุกตลาดจีนฯ “พาณิชย์บุกตลาดจีน เช่ือมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย - ไห่หนาน) หลังจากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่าสำหรับมินิเอฟทีเอระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานหรือไหหลำของจีน มีการดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียดระหว่างไทยกับจีน ฝ่ายไทยนั้นเสร็จสิ้นแล้วรอฝ่ายจีนซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบรายละเอียดในระดับประเทศและระดับมณฑลคาดว่าปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีการลงนามได้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการค้าหรือประเทศที่เรามีมินิเอฟทีเอเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไหหลำมากขึ้น 

ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าไทยส่งออกไปไหหลำประมาณ 7,000 ล้านบาท เชื่อว่าตัวเลขจะมากขึ้นเพราะไหหลำจะได้รับการพัฒนาเป็นฟรีพอร์ต เป็นฮ่องกง 2 ถือเป็นโอกาสดีที่สุดและเรามองเห็นตั้งแต่ท่านสีจิ้นผิง ประกาศนโยบายแล้ว เราถึงเข้าไปทำมินิเอฟทีเอด้วยกัน และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งสมาคมการค้าไทยไหหลำก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมูลค่าการค้าปีที่แล้วระหว่างไทยกับจีน บวก 4.4% คาดว่าปี 64 จะมากกว่านั้นเพราะเศรษฐกิจจีนถือว่าฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลกและไทยมีความสำคัญทางการค้าที่ดีกับจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว

" นอกจากไทย - ไห่หนานแล้วจะยังมีมินิเอฟทีเอ ไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย รัฐนี้เป็นรัฐที่จะมีการพัฒนาไปเป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์ มีเฟอร์นิเจอร์ปาร์ค เกิดขึ้นที่ไฮเดอราบัด เป็นโอกาสทองของการส่งออกไม้ยางไทยที่จะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือส่งออกไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป และจะทำกับเมืองไทฟูของญี่ปุ่นที่เป็นเมืองอัญมณี หวังว่าจะช่วยให้การส่งอัญมณีเครื่องประดับของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และเมืองคย็องกีของเกาหลี ซึ่งมีกลุ่มชาวเอเชียอยู่จำนวนมากหวังว่าจะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกอาหารด้วย เชื่อว่าปีนี้น่าจะจบได้ทั้งหมด ผมคิดว่าเอฟทีเอในภาพรวมอย่างเดียวไม่พอ เราต้องลงลึกในระดับมณฑลในระดับรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรัฐขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.5 - 4% และมีความเป็นได้เป็นไปได้ที่จะถึงเป้าหรือเกินเป้าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วและวัคซีนกระจายไปได้เร็วทั้งโลกในภาพรวม" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

​รายงานข่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเจรจารายมณฑล/รัฐ/เมือง กับประเทศพันธมิตรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มีแผนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าเพื่อขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (Joint Economic and Trade Committee : JETCO) ​จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 (ค.ศ. 2013)  ประกอบกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละมณฑลมีความแข็งแกร่ง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละมณฑล โดยเฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์

​ไห่หนาน เป็นมณฑลที่เล็กที่สุด ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) และเชื่อมโยงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงภูมิภาคตามเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ปัจจุบัน ไห่หนานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งในการพัฒนาให้ก้าวสู่เขตการค้าเสรีระดับโลกในปี 2593 ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานจะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

ด้วยศักยภาพและความสำคัญของมณฑลไห่หนาน การเร่งสร้างความร่วมมือทางการค้าในเวทีระดับมณฑลระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับมณฑลไห่หนานจึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐในการส่งเสริมโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจกับจีนผ่านมณฑลไห่หนาน ควบคู่กับการใช้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในเชิงชาติพันธุ์ของภาคเอกชน สำหรับโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดไห่หนาน ได้แก่ สินค้าเกษตร / เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารสำเร็จรูป ของใช้ตกแต่งบ้าน สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนธุรกิจบริการด้านการเงิน เป็นต้น

การค้าระหว่างไทย – จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.21 ของการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยปี 2563 ไทย – จีนมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท (79,606 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทยส่งออกไปยังจีนมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท (29,530 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านบาท (49,852 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นายกฯ หารือเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานฯ กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการค้า การลงทุน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี (H.E. Mr. Issa Abdullah Jaber Al-Alawi) เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับและยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิด ครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 40 ปี เมื่อปี 2563 พร้อมเชื่อมั่นว่าเอกอัครราชทูตฯ จะสามารถสืบสานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ตลอดจนผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสาขาที่ไทยกับโอมานมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ด้านยางพารา ด้านอาหารฮาลาล ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านสาธารณสุข โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่ทราบว่า เอกอัครราชทูตฯ มีประสบการณ์การทำงานด้านสาธารณสุขจึงหวังว่าจะเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น 

ด้านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานฯ กล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย พร้อมยืนยันที่จะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ไทยและโอมานมีร่วมกันในทุกมิติ ทั้งนี้ ไทยและโอมานเป็นมิตรประเทศที่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายมีพลวัต และครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ หวังว่าไทยและโอมานจะใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีร่วมกันนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงทางด้านสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งสองฝ่าย หารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างเห็นพ้องว่า ไทยและโอมานต่างเป็นพันธมิตรด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญของกันและกัน จึงควรใช้ความสัมพันธ์อันดีนี้ ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทำเลที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยและโอมาน ซึ่งมีชายฝั่งติดกับอ่าวอาหรับและมหาสมุทรอินเดีย เป็นช่องทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างมากขึ้น ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้โอมานเข้ามาลงทุนในสาขาต่าง ๆ ที่มีความสนใจ ทั้งทางด้านเกษตรกรรมประมง 

รวมถึงการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ด้านเอกอัครราชทูตฯ ยินดีส่งเสริมให้นักลงทุนโอมานเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเช่นกัน พร้อมกันนี้ได้หารือเรื่องการจัดตั้งตลาดที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของไทยในโอมาน เนื่องจากชาวโอมานจำนวนมากชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของไทย และจะเป็นช่องทางเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายให้มากยิ่งขึ้น สำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยเป็นเป้าหมายที่สำคัญของชาวโอมานในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยกำลังพิจารณาปรับลดจำนวนวันในการกักตัวจากเดิม 14 วัน เหลือ 10 วัน และผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศสำหรับบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จึงพร้อมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวโอมานเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ด้านเอกอัครราชทูตฯ ยินดีกระชับความร่ววมือทางด้านการท่องเที่ยวกับไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ซีพี ออลล์ ผุดปั๊มชาร์จไฟฟ้า 100 แห่งในสาขาร้าน 7-ELEVEN เสริมแรงแนวคิด Green Building ตามแนวทางนโยบาย 7 Go Greenในปี 64

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนผลักดันการติดตั้งโครงการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าข้างร้านสะดวกซื้อ7-ELEVEN ให้ได้ถึง 100 สาขาภายในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Green Building ตามแนวทางนโยบาย ‘7 Go Green’

โดยแนวทางดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย 7 Go Green ของปี 64 นี้ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ Green Building, Green Store, Green Logistic และ Green Living เพื่อลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนี้รวม 128,426 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tC02e) หรือเปรียบเทียบการปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวน 347,648 ต้น จากปีก่อนสามารถลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 120,031 ตัน หรือเทียบกับการปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวน 332,681 ต้น

Green Building เป็นการออกแบบและบริหารจัดการร้านอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะมุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในร้าน 7-ELEVEN ภายใต้กลยุทธ์ร้านเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพคอยล์เย็นสำหรับตู้แช่เย็นขนาดใหญ่, ใช้เครื่องปรับอากาศประเภท Inverter, ใช้หลอดไฟ LED, สำรวจและติดตามสภาพอากาศภายในร้านฯ, ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, ปรับปรุงระบบทำความเย็นของตู้แสดงสินค้าชนิดไร้บานประตูเป็นแบบรวมศูนย์, Knockdown Store นำวัสดุเปลือกอาคารกลับมาใช้ใหม่ ขยายการติดตั้งปีละ 200 สาขา

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า CPALL ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนได้ 82,987,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ 40,248 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tC02e) หรือเปรียบเทียงการปลูกไม่ยืนตันจำนวน 111,554 ต้น

Green Store เป็นโครงการด้านการจัดการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หวังลดปริมาณขยะพลาสติกผ่านแนวคิด “ลด และ ทดแทน” โดยพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์คำนึงถึงทุกกระบวนการในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การหาวัสดุจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือนำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable)

ได้แก่ การจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยได้เริ่มใช้ฝายกดื่มไม่พึ่งหลอด ตั้งแต่เดือน เม.ย.63 ในร้าน AI Cafe จำนวน 8,492 สาขาทั่วประเทศ และใช้แก้วรักษ์โลก หรือ กระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สำหรับเครื่องดื่มร้อน -เย็น ในร้าน7-ELEVEN ทั่วประเทศ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี ธ.ค.62 ปัจจุบันใช้แก้วรักษ์โลกในร้านสาขาพื้นที่เกาะ สถานศึกษา และ สำนักงาน รวมกว่า 874 สาขา

โครงการการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) โดยการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งและใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติทดแทน ได้แก่ ไม้คนกาแฟ ถุงกระดาษ และ กระดาษหุ้มหลอด เป็นตัน, การขับเคลื่อนโครงการ 7 Go Green ในพื้นที่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รณรงค์ให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ นำไปสู่การสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เกิดแนวคิดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, โครงการเสื้อพนักงานที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล โดยการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเสื้อ และโครงการใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษีเต็มรูป แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรณรงค์ในการลดใช้กระดาษ เป็นตัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 64 CPALL ตั้งเป้าการลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 10,813 ตัน, ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก 80,921 ตันคาร์บอนไดออกไชด์เทียบเท่า (tc02e) หรือเปรียบเทียบการปลูกไม้ยืนต้น จำนวน 224,283 ต้น

Green Logistic CPALL ได้ดำเนินงานด้านการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊ซเรือนกระจก ภายใต้กลยุทธ์ ‘โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม’

CPALL ได้นำหลักเกณฑ์สำหรับการประเมินอาคารสีเขียว (Leadership in Energy & Environmental Design: LEED) เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้การพัฒนาและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 แห่งใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ติดตั้งแผง Solar Cell เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ อีกก็อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนารถขนส่งไฟฟ้า ร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำมาใช้ขนส่งสินค้าให้กับร้าน7-ELEVEN เพื่อลดการใช้พลังงาน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากปัจจุบันมีรถขนส่งรวมทั้งสิ้น 7,000 คัน และมีการขนส่ง 2 เที่ยวต่อวัน

โดยในปี 64 CPALL ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนได้ 8,786,280 กิโลวัตต์ ชั่วโมง (kWh), ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ 4,261 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tc02e) หรือเปรียบเทียบการปลูกไม้ยืนต้นจำนวน 11,810 ต้น

Green Living CPALL ได้สานต่อโครงการ ‘ลดและทดแทน’ ภายใต้แนวคิด ‘ปลูกจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม’ โดยการรณรงค์และเชิญชวนลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนแนวคิดหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยล่าสุดจัดให้มีโครงการ ‘ถังคัดแยกขยะ’ เพื่อรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างยั่งยืน

สำหรับในส่วนของการขยายปั๊มชาร์จรถไฟฟ้าในสาขา 7-ELEVENนั้น หากพิจารณาจากจำนวนสาขาในไทยที่มีอยู่มากกว่า 12,000 สาขา ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากหากซีพี ออลล์ คิดทำให้สถานีชาร์จรถไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในสาขาอื่นๆ ที่มีพื้นที่รองรับได้พอสัก 10-20% รวมถึงหากใช้โมเดลธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพี ก็ยังมี ‘แม็คโคร’ และ ‘โลตัส’ เสริมอีกทาง ก็น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเมืองไทยเติบโตได้อีกไม่น้อย

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2021/74406


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

สิทธิ ‘คนละครึ่ง’ ใครยังเหลือ รีบใช้ผ่านแอป ‘เป๋าตัง’ ด่วน ก่อนหมดระยะเวลา ภายในวันนี้ 31 มีนาคม 2564 รอลุ้นเฟส 3 หลังสิ้นสุดมาตรการรัฐเดือน พ.ค.64

จากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ ‘คนละครึ่ง’ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,500 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งดำเนินโครงการมาแล้ว 2 เฟส

ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งจะสามารถใช้จ่ายได้จนถึงวันนี้ (31 มีนาคม 2564) เวลา 06.00 - 23.00 น. ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังมีวงเงินเหลือรักษาสิทธิ์ของท่านโดยการเร่งใช้จ่ายให้ครบ 3,500 บาท ภายในกำหนด 

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาล มีแผนที่จะสานต่อโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนต่อไป คาดว่าโครงการดังกล่าวจะออกได้หลังจากโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน สิ้นสุดช่วงเดือนพฤษภาคมนี้


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

เปิดราคา “รถยนต์ไฟฟ้า” ในงานมอเตอร์โชว์ 2021 ส่องแบรนด์ไหนใช่ ไทยพร้อมแค่ไหน | BizMAX EP.32

จากเนื้อหา “เมื่อ Eco-Friendly กลายเป็นกระแสหลักของโลก

 

Link เนื้อหา : https://thestatestimes.com/post/2021032807

 

จากเนื้อหาพูดถึงข้อดีของรถยนต์ EV หากจำแนกออกมานั้นมีความน่าสนใจหลายเรื่อง เริ่มต้นจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงเพราะใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนจาก Battery ไปสู่ Motor เมื่อพลังงานหมดก็สามารถชาร์ทใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมาสนใจกับความผันผวนของราคาน้ำมัน เพราะค่าไฟฟ้านั้นค่อนข้างคงที่ รถยนต์ EV ก็มีข้อสังเกตอีกพอสมควรว่ามันเหมาะที่จะใช้ในชีวิตประจำวันจริงหรือ ? เริ่มต้นด้วยราคาของรถ EV ที่ยังค่อนข้างสูงหากเทียบกับรถที่ใช้ทั่วไปจำนวนเท่าไหร่ วันนี้มาร่วมหาคำตอบกันกับ หยก THE STATES TIMES

.

.

.


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ครม.เคาะงบ 2,936 ล้าน ดันประกันภัยข้าวนาปี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 64 พื้นที่ประกันภัย รวม 46 ล้านไร่ ภายใต้วงเงิน 2,936 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง ซึ่งการดำเนินงานส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกันกับปี 63 โดยปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ลดลง 1 บาท จาก 97 บาท/ไร่ เหลือ 96 บาท/ไร่ และปรับอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ซื้อประกันภัยเพิ่มและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ ลดลง 3 บาท จาก 58 บาท/ไร่ เหลือ 55 บาท/ไร่ มีพื้นที่เป้าหมายประกันภัย รวม 46 ล้านไร่

สำหรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัย กำหนดให้ กรณีค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานกลุ่มแรก กำหนดตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกร รวม 45 ล้านไร่ แบ่งเป็น ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย ค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ รวม 28 ล้านไร่ โดยรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 58 บาทต่อไร่ และ ธกส. อุดหนนุนให้ 38 บาทต่อไร่ เกษตรกรทั่วไป และลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ซื้อเพิ่ม ค่าเบี้ยประกันภัยในพื้นที่เสี่ยงต่ำ 55 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 210 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 230 บาทต่อไร่ รวม 17 ล้านไร่ รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 55 บาทต่อไร่ โดยคุ้มครองความเสี่ยงจาก 7 ภัยธรรมชาติ ไร่ละ 1,260 บาท คือ น้ำท่วมหรือ ฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็งลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดไร่ละ 630 บาท

ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจกลุ่ม 2 กำหนดตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกร จำนวน 1 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเป็นผู้ชำระเอง แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำ 24 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 101 บาทต่อไร่ โดยคุ้มครองความเสี่ยงจาก 7 ภัยธรรมชาติ ไร่ละ 240 บาท และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดไร่ละ 120 บาท

รมว.สุชาติ เผย ม33เรารักกัน โอนเงินงวดสองแล้ววันนี้ ผ่านมา 1 สัปดาห์กระตุ้นเศรษฐกิจใช้จ่ายสะสมกว่า 4,603 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ม33เรารักกัน ได้มีการโอนเงินงวดสอง ผ่านแอพพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' แล้วอีกจำนวน 1,000 บาท โดยภาพรวมการใช้จ่าย ม33เรารักกัน วันที่ 22 -28 มีนาคม 2564 ใช้จ่ายสะสมแล้วจำนวน 4,603,989,005.52 บาท สำหรับกลุ่มทบทวนสิทธิและไม่มีสมาร์ทโฟน ครบกำหนดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 มีผู้ลงทะเบียนรวมจำนวนทั้งสิ้น 742,017 คน 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการม33เรารักกันว่า ตามที่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการโอนเงินงวดที่ 2 จำนวน 1,000 บาท ผ่านแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิในโครงการ ม33เรารักกัน แล้ว โดยเหลืออีก 2 งวด คือ งวดที่ 3 จะโอนในวันที่ 5 เมษายน 2564 และงวดที่ 4 โอนในวันที่ 12 เมษายน 2564 ภาพรวมการใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาล โครงการ ม33เรารักกัน ผลปรากฏว่า วันที่ 22 – 28 มีนาคม 2564 มียอดใช้จ่ายสะสม จำนวน 4,603,989,005.52 บาท

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มทบทวนสิทธิและกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ในโครงการ ม33เรารักกัน 
ซึ่งครบกำหนดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 พบว่า กลุ่มทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com มีจำนวน 709,190 คน กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ได้มาลงทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จสะสมแล้ว จำนวน 32,827 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 742,017 คน ซึ่งจะประกาศผลยื่นทบทวนสิทธิในวันที่ 5 เมษายน 2564 โดยกลุ่มทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ สามารถตรวจสอบผลได้เว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และจะโอนเงินเข้าแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ให้กับกลุ่มดังกล่าว จำนวน 4,000 บาท ในวันที่ 12 เมษายน 2564 ส่วนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น สำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลและวิธีรับเงินให้ทราบต่อไป 

“ทั้งนี้ โครงการนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกันตนใช้จ่ายเงินภายในวันดังกล่าว และแจ้งเตือนไปยังผู้ได้รับสิทธิอย่าทำผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ อย่าหลงเชื่อผู้ให้ผลประโยชน์เป็นเงินสด โดยไม่มีการซื้อสินค้าอย่างถูกต้อง ร้านค้าต้องไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและต้องแสดงตั้งป้ายราคาสินค้าให้ชัดเจน หากพบจะแจ้งให้กรมการค้าภายในดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด" รมว.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

คลัง ชี้! เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีสัญญาณดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ไม่รวมทองคำกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากยอดขายสินค้าเกษตรและอาหาร การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้ง โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน  อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมา จากมาตรการของรัฐ โดยอยู่ที่ระดับ 49.4 จากระดับ 47.8 ในเดือนก่อน มีสาเหตุมาจากไวรัสโควิด -19  ระลอกใหม่ เริ่มคลี่คลายลง และการฉีดวัคซีนโควิดภายในประเทศเริ่มกระจายหลายพื้นที่มากขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร มีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัว 18.6% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น โดยยอดขายปูนซีเมนต์ขยายตัว 0.9% ต่อปี เพราะความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัว 2.9% ต่อปี

ส่วนยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก โดยการส่งออกทองคำและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงลดลง นอกจากนี้ในด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนก.พ.มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจจำนวน 5,741 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และจีน

ด่วน! เรือ Ever Given เริ่มขยับแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ระดมช่วยให้หลุดเกยตื้นในคลองสุเอซตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบขณะนี้มีเรือสินค้ากว่า 450 ลำ รอสัญจร

บริษัทอินช์เคป (Inchcape) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางทะเล ได้ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เรือ Ever Given ซึ่งเป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่เกยตื้นจนกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซ ขณะนี้กลับมาลอยได้อีกครั้งแล้ว และกำลังได้รับการช่วยกู้เพิ่มเติมโดยทีมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

อินช์เคปเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เรือ Ever Given ได้รับการกู้จนกลับมาลอยอีกครั้งได้สำเร็จ ณ เวลา 04.30 น.ของวันที่ 29 มี.ค. 2564 ขณะนี้กำลังมีการช่วยกู้อย่างต่อเนื่อง และจะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องแผนดำเนินการขั้นต่อไปเมื่อทราบแน่นอนแล้ว”

อินช์เคป ระบุว่า ทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภารกิจกู้เรือครั้งนี้ได้สำเร็จโดยใช้เวลาเกือบ 1 สัปดาห์หลังจากเรือขนส่งสินค้าขนาดยักษ์ดังกล่าวประสบเหตุเกยตื้นจนกีดขวางเส้นทางสัญจรในคลองสุเอซ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดในโลก

โดยความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังทีมปฏิบัติการขุดลอกคลองได้ขุดทรายออกมาแล้ว 2.7 หมื่นลูกบาศก์เมตรจากการขุดสองฝั่งของคลองสุเอซเข้าไปเป็นระยะทางลึก

อย่างไรก็ดี ถึงแม้เรือ Ever Given จะกลับมาลอยได้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าคลองสุเอซจะสามารถเปิดเส้นทางให้สัญจรได้อีกครั้งเมื่อใด หรือจะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการจัดการลำเลียงเรือจำนวนกว่า 450 ลำที่ยังคงติดค้าง รอสัญจร หรืออยู่ระหว่างการเดินทางมายังคลองสุเอซในขณะนี้

.

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/73997


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

สศอ. ชูโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model หลังรัฐประกาศวาระแห่งชาติ สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว พร้อมชูแนวคิดดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model หลังรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ชูแนวคิดดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อเพิ่มมูลค่าเน้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล พร้อมทั้งพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลได้ประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ มุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ...

1.) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่

2.) สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม

3.) สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย

และ 4.) ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนให้ความสำคัญ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับสากลและวาระแห่งชาติเรื่อง BCG Economy Model จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero Waste) เน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ

ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ปรับกระบวนการผลิตและการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยนำของเสีย/วัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียน และการสร้าง Circular Startup

นายทองชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว สศอ. ยังได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา (Cross-cutting Measures) ครอบคลุมทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศน์ (Eco-system) ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาระบบการมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนการนำขยะ/ของเสียไปใช้เป็นทรัพยากรในการผลิต มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

โดย สศอ.ได้ผลักดันข้อเสนอมาตรการเหล่านี้ผ่านกลไกขับเคลื่อน BCG Model ในระดับประเทศ ควบคู่กับการผลักดันการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา สศอ. มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแก่ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนำร่องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งกำหนดรูปแบบความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานและโมเดลต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้าแชมป์อันดับ 1 ผู้นำการให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร จากผลการประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 2563 สาขาสาธารณูปการ ด้วยคะแนน 4.4221

ลั่นเดินหน้าพัฒนาองค์กรและสร้างบุคลากรทุกระดับ เน้นสร้างมิติใหม่ให้กับงานบริการที่เป็นเลิศผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย!

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ได้พัฒนาต่อยอดระบบประเมินผลสำหรับใช้ประเมินในทุกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประกอบด้วย

1.) การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

และ 2) ผลการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Result) และงานตามภารกิจหลัก (Core Business Enablers) ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่

- การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร

- การวางแผนเชิงกลยุทธ์

- การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

- การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า

- การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล

- การบริหารทุนมนุษย์

- การจัดการความรู้และนวัตกรรม

- และการตรวจสอบภายใน

โดย กนอ.อยู่ในกลุ่มของรัฐวิสาหกิจ สาขาสาธารณูปการ จากทั้งหมด 9 สาขา ประกอบด้วย สาขาขนส่ง / สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม / สาขาสาธารณูปการ / สาขาสังคมและเทคโนโลยี / สาขาสถาบันการเงิน / สาขาเกษตร / สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สาขาสื่อสาร และสาขาพลังงาน ซึ่งคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2563 (ณ วันที่ 24 ก.พ.2564) ปรากฏว่า กนอ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ในสาขาสาธารณูปการ โดยได้คะแนน 4.4221 หากเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่น โดยพิจารณาจากคะแนนรวม กนอ. จัดอยู่ในอันดับที่ 3

“การดำเนินงานของ กนอ.มุ่งมั่นพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานตามภารกิจและความต้องการของผู้ใช้บริการในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ภายใต้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนอ.บรรลุเป้าหมายของการเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ” นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของ กนอ.ในการพัฒนาองค์กรและสร้างบุคลากรทุกระดับ เน้นสร้างมิติใหม่ให้กับงานบริการที่เป็นเลิศผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเป้าหมายหลักของ กนอ.คือการก้าวสู่องค์กรและนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบดิจิทัล (Digital) เต็มรูปแบบ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า คู่ค้า รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการให้บริการสู่สากลทั้งการให้บริการระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทุกกลุ่ม

“การนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของ กนอ.ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปยังทุกภาคส่วน และนอกจากเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแล้ว ยังสร้างความมั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม และสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ด้วย” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ตั้งเป้า 2 ปี ดันประเทศไทยติด 1 ใน 10 “ดูอิ้ง บิสเนส”

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับทุกส่วนราชการเพื่อรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (ดูอิ้ง บิสเนส) โดยได้ตั้งเป้าหมายการทำงานภายในปี 65 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องติด 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่ได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการจัดตั้งธุรกิจตามการจัดอันดับของธนาคารโลกให้ได้ จากปัจจุบันไทยอยู่อันดับที่ 21 จากการจัดอันดับประเทศสมาชิกของธนาคารโลก ทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก  

“ได้สั่งการในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ในส่วนที่เป็นเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์ ที่ได้วางระบบไว้แล้วของทุกส่วนให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้จริงภายในเดือน กันยายนนี้ เพื่อให้ขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง มีความรวดเร็วมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ เช่นระบบศุลกากร ที่จะต้องขับเคลื่อน โดยจากการรับทราบข้อมูลก็มีเรื่องที่ต้องทำอีกหลายเรื่อง จึงได้มีการเร่งรัดงานทุกด้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย”

สำหรับการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เป็นการปฏิรูปการทำงานในเรื่องของการทำธุรกิจในประเทศไทย แบ่งเป็น 11 ด้าน คือ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง ด้านการขอใช้ไฟฟ้ายกเลิกการเรียกเก็บหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ด้านการได้รับสินเชื่อ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงโดยเพิ่มช่องทางการเข้าซื้อทรัพย์ของกรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดหรือสาขา ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย และด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ KMITL ผนึกต่างชาติ เปิดตัว ‘42 บางกอก’ (42 Bangkok) สถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย และแห่งที่ 3 ของเอเชีย ใต้แนวคิดเก๋ ‘ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม’

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันนโยบาย ‘ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์’ (Coding) ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม (Digital Disruption) ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อีกทั้งสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานยุคดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ สู่การมีทักษะสำคัญอย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ ทักษะการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีหลักการ 
.
โดย สจล. ถือเป็นต้นสถาบันการศึกษาแห่งอนาคตของไทย ที่มีหัวคิดทันสมัยและปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความร่วมมือของ ‘เอกอล 42’ (Ecole42) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับโลก เพื่อพัฒนาคนคุณภาพด้านโปรแกรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล อันสอดรับกับนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม 
.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสของการมี ‘ซุปเปอร์โปรแกรมเมอร์’ เนื่องจากอาชีพดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาชีพที่เป็นที่ต้องการจากทุกองค์กรทั่วโลก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัล 
.
ดังนั้น การจัดตั้ง ‘42 บางกอก’ (42 Bangkok) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิ แห่งแรกอาเซียน และที่ 3 ของเอเชีย ถือเป็นสนามปั้นสุดยอดโปรแกรมเมอร์ ระดับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ภายใต้มาตรฐานการสอนเดียวกับสถาบันต้นกำเนิดจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ฉีกทุกกฎการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด ‘ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม’ นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกของการศึกษาไทย ที่เปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดโลกการทำงานระดับสากล ภายใต้เครือข่ายเอกอล 42 ทั่วโลก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะรูปแบบการสอนเดิมเท่านั้น แต่สามารถก้าวสู่โลกการทำงานสายดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพ ตอกย้ำการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Change Maker) ของ สจล. อย่างแท้จริง
.
ด้าน ผศ.ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ Executive Director of 42 Bangkok กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘42 บางกอก’ มีการเรียนการสอนในรูปแบบ Project Based Learning ที่เน้นการเรียนรู้จริงปฏิบัติเป็น และแก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ผ่านการฝึกคิดแก้โจทย์จริงจากภาคธุรกิจชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์-เทคโนโลยี แบบเป็นขั้นตอน ซึ่งจะไต่ระดับจากง่ายไปยากใน 21 ระดับ โดยการเรียนในระยะแรก ผู้เรียนจะต้องเรียนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และเมื่อเลื่อนขั้นแล้ว ผู้เรียนจะสามารถเลือกทำโปรเจกตามความสนใจ ซึ่งในบางระดับต้องไปฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในสนามจริง
.
ทั้งนี้ เมื่อทำโปรเจกต์สำเร็จในแต่ละระดับ จะมีคะแนนสะสมเพื่อขอเลื่อนขั้นในระดับต่อไปได้ จนกระทั่งจบการศึกษาภายในระยะเวลา 2-4 ปี เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานจริง โดยจะปูพื้นฐานด้วยภาษา C และ C++ พร้อมเพิ่มพูนทักษะด้วย Python Javascript เพื่อสร้างเว็บไซต์ หรือกระทั่งทำงานออกแบบเว็บไซต์ (Design) ให้มีฟังก์ชันที่รองรับการงานรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
“เพราะการเรียนที่ 42 บางกอก เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีอาจารย์สอน ไม่กำหนดเวลาเรียน ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกผู้เรียนจึงมีการทดสอบแบบเข้มข้นใน 3 ด่านสำคัญ คือ ทดสอบออนไลน์ (Online Test) เพื่อวัดว่ามีตรรกะด้านการเขียนโปรแกรม ยืนยันสิทธิ์ (Check In) และ ด่านสุดท้าย ทำค่ายโปรเจก เวิร์คชอป (Piscine) การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบ 24/ 7 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่าการเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี ในคณะสายคอมพิวเตอร์ สำหรับในรอบนี้จะคัดเลือกในแต่ละกลุ่มเพียง 150 คน เพื่อเป็นนักศึกษาตัวจริงที่จะได้เรียนใน 42 บางกอก” ผศ.ดร.ชัยยันต์ กล่าว
.
สำหรับคุณสมบัติของผู้เรียนค่อนข้างเปิดกว้าง โดยเป็นบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเพศ มีอายุอย่างน้อย 18 ปี ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาหรือเคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน ขณะเดียวกัน คนที่กำลังศึกษาด้านอื่นหรือทำงานอยู่ก็สามารถเรียนควบคู่ไปได้ และเมื่อเข้ามาเรียนได้ก็สามารถกำหนดรูปแบบการเรียนด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน 42 บางกอก อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เรียนเข้าศึกษาต่อในเทอมแรก ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1,600 คน ครอบคลุม 81 ประเทศ โดยจะเริ่มเรียนในเดือน กรกฎาคม 2564 
.
ใครสนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ www.42bangkok.com หรือติดต่อ สำนักงานกิจการต่างประเทศ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8140 เว็บไซต์ https://oia.kmitl.ac.th, www.kmitl.ac.th หรือ https://m.facebook.com/42Bangkok/
.
ที่มา: https://techsauce.co/news/kmitl-open-42-bangkok-thailand-first-programmer-institute?fbclid=IwAR0Iig2VvOpjYrLGfj5OKuolswfdisBuBGnkcU2apg_CFDDqdC-hLcnfSr0


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ใบไม้แลกเงิน เชียงใหม่ผุดไอเดียขายใบไม้โลละ 2 บาท นำร่อง 34 หมู่บ้าน หวังช่วงลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

สมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้น ทางศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปันหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ได้หาทางจัดการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชิงเผา การบริหารจัดการเชื้อเพลิง การเฝ้าระวังและจัดเจ้าหน้าที่เข้าดับไฟป่า แต่ในปีนี้ มีไฮไลท์สำคัญ เพราะนอกเหนือจากการเฝ้าระวังไฟป่าแล้ว ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นเงินได้จริ

ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วทั้งหมด 34 หมู่บ้าน ในอำเภอต่าง ๆ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใบไม้ที่นำมานั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นใบไม้ที่มาจากพื้นที่ป่า แต่เป็นใบไม้ที่ถูกจัดเก็บมาจากพื้นที่การเกษตรก็ได้ เช่น สวนลำไย นาข้าวและอื่น ๆ เมื่อได้ใบไม้มาเป็นจำนวนมากตามที่ต้องการ ก็เข้าสู่กระบวนการอัดให้เป็นก้อน ขึ้นอยู่กับจำนวนใบไม้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็นำไปจำหน่ายที่จุดรับซื้อ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บัญชาการฯ หมายเลขโทรศัพท์ 053-112808

สำหรับใบไม้ที่นำมาจำหน่ายจะมีมูลค่ากิโลกรัมละ 2 บาท โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 15 - 24 มีนาคม 2564 ขณะนี้ได้ใบไม้อัดแท่งแล้วจำนวน 16.69 ตัน และมีความต้องการของบริษัทฯ ผู้รับซื้อสูงถึงจำนวน 50 ตัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนใบไม้ที่หาได้ ซึ่งการรับซื้อใบไม้ดังกล่าว ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ และยังเป็นการลดเชื้อเพลิงที่จะถูกเผาในพื้นที่ป่า ลดเชื้อเพลิงจากพื้นที่การเกษตร และจากการเผาของชาวบ้านในแหล่งชุมชน ที่จะส่งผลทำให้เกิดมลพิษในอากาศ เมื่อสะสมจำนวนมากก็จะทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานด้วย

ทั้งนี้หากในอำเภออื่น ๆ นอกเหนือจาก 34 หมู่บ้าน ต้องการดำเนินการรับซื้อขายใบไม้ก็สามารถทำได้ โดยสามารถอัดให้เป็นก้อนและนำมาจำหน่ายได้เช่นกัน หรือหากใครไม่มีเครื่องอัดใบไม้ ก็ให้นำใบไม้ใส่ไว้ในกระสอบ ใส่ถุง หรือบรรทุกด้านหลังรถยนต์กระบะ แล้วเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตามจุดต่าง ๆ โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีเครื่องอัดใบไม้ให้บริการจำนวน 2 เครื่อง และจะหมุนเวียนไปตามแต่ละอำเภอ เพื่อให้บริการกับพี่น้องประชาชน เมื่อบีบอัดใบไม้และมีการชั่งน้ำหนักที่จุดดังกล่าวแล้ว ก็จะได้รับเงินตามจำนวนใบไม้ที่นำมา

.

ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/local/462015?fbclid=IwAR2DDbOkrwDZev4V4lPkZfGRyYzC33AMRiLfU2EiKmJsr_UfvtZRFZyUveQ


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ศบศ. ไฟเขียวเปิดประเทศเร็วขึ้น นำร่องภูเก็ต จังหวัดแรก ให้เปิดรับต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 1 เม.ย.นี้ ระบุ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้ท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดช่วง 7 วันแรก คาดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยราว 1 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบศ.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ

โดยจะเริ่มนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่จังหวัดภูเก็ตก่อน โดยไม่ต้องกักตัว แต่ให้ท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดไว้ 7 วัน จากนั้นจึงเดินทางออกไปเที่ยวได้ทั่วประเทศ เบื้องต้นประเมินว่า จะทำมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยได้ประมาณ 1 แสนคน

ทั้งนี้ที่ประชุม ศบศ. ได้มอบหมายให้ ททท.ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจน เช่นเดียวกับแผนการกระจายวัคซีน เพื่อให้เกิดความแน่ใจให้กับประชาชนและบุคลากรในพื้นที่

รวมไปถึงการยกระดับภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จากนั้นจึงนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน ภายใน 1 เดือน จากนั้นจึงเสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า "ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดีที่สุดสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดมานานกว่า 1 ปี ซึ่งการเปิดประเทศได้เร็ว จะทำให้อย่างน้อยประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่งขั้นตอนจากนี้ สทท. จะไปหารือกับสมาชิก เพื่อหาทางขับเคลื่อนการทำงานต่อไป"


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top