Saturday, 18 May 2024
ใบปริญญา

‘สิงคโปร์’ เผยคนรุ่นใหม่ ไม่สนใจใบปริญญา ขอแค่ ‘เรา’ เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตคู่

ค่านิยมเดิม ๆ ของชาวเอเชียส่วนใหญ่ ที่ผู้ชายมักนิยมเลือกภรรยาที่ระดับการศึกษาน้อยกว่าตัวเอง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า หรือ ผู้หญิงที่มักเลือกผู้ชายที่มีการศึกษาสูง ๆ โดยคาดหวังว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวได้ดี กำลังจะเปลี่ยนไปใน ‘สิงคโปร์’

จากการศึกษาข้อมูลสถิติของการสมรส และ หย่าร้างในสิงคโปร์ประจำปี 2021 ที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสกับผู้ชายที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่าตัวเองมีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 17.5% เป็น 18.2% ในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว 

และในขณะเดียวกัน ผู้ชายที่เลือกแต่งงานกับผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่าตนเองกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก16.3% เหลือเพียง 12.3% เท่านั้นในปีนี้ 

ค่าสถิตินี้ กำลังชี้ให้เห็นว่า หนุ่ม-สาว ชาวสิงคโปร์ มักเลือกคู่ครองที่มีระดับการศึกษาเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันฝั่งผู้ชายก็ไม่ติดใจหากฝ่ายหญิงจะมีการศึกษาที่สูงกว่า หรือมีหน้าที่การงานที่ไปได้ไกลกว่าด้วยความสามารถของพวกเธอ เช่นเดียวกันกับฝ่ายหญิงที่เริ่มไม่ได้เน้นว่าฝ่ายชายต้องมีการศึกษาดีกว่าตนเสมอไป ถึงจะเป็นผู้นำครอบครัวได้

Tan Ern Ser นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยยะสำคัญทางสังคมอย่างมาก เพราะนั่นกำลังสะท้อนให้เห็นว่า คุณวุฒิการศึกษา จะไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องชี้วัดถึงรายได้ของตัวบุคคล หรือความสำเร็จในอาชีพเสมอไป แม้จะปฏิเสธได้ยากว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังคงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกคู่ครองก็ตาม

ด้าน Shailey Hingorani หัวหน้าฝ่ายวิจัย สมาคมสตรีเพื่อการวิจัยและปฏิบัติมองว่า ค่านิยมแบบดั้งเดิมมักวางให้ผู้ชายต้องรับหน้าที่ผู้นำครอบครัว และการที่ฝ่ายชายมีการศึกษาที่สูง มักช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพมากกว่า จนกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจสำหรับฝ่ายหญิงในการเลือกใครเป็นสามี แต่ค่านิยมนี้ก็ได้ลดโอกาสทางสังคมของผู้หญิง ที่ถูกวางตำแหน่งให้เป็นแม่บ้าน ต้องพึ่งพาสามี และมีหน้าที่ดูแลครอบครัวเป็นหลัก

‘ตลาดแรงงานมาเลฯ’ ให้ความสำคัญทักษะด้านภาษา มากกว่าใบปริญญา ยิ่งสื่อสาร ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น-อารบิก’ ได้ดี ยิ่งมีโอกาสหางานได้มากกว่า

ตลาดแรงงานมาเลฯ เริ่มมองหา ‘คนทำงานรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะ ขยันเรียนรู้ มากกว่าใบเกรด และหากยิ่งรู้ภาษาจีน ก็ยิ่งได้เปรียบ

สมัยก่อน อาจจะกล่าวได้ว่า มีใบปริญญา สามารถการันตีโอกาสในการหางานที่ดีกว่าได้ ยิ่งเป็นใบปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น 

แต่ในยุคสมัยใหม่ที่กระแสค่านิยมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก จนความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อนายจ้างเริ่มพิจารณาคนทำงานที่มีคุณสมบัติอื่น ๆ มากกว่า โดยเฉพาะ ทักษะประสบการณ์ทำงานจริง, ความรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน 

วิค สิทธสนาน ผู้อำนวยการของ Jobstreet by Seek Malaysia แสดงความเห็นว่า การพัฒนาด้านอาชีพกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้ยกรายงานจาก Hiring Compensation and Benefits Report for 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีนายจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เน้นคัดเลือกบุคลากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ หรือ หลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามทักษะที่นายจ้างต้องการ มากกว่าใบปริญญาแล้ว 

แม้การพิจารณาคัดเลือกพนักงานจากวุฒิการศึกษายังคงมีอยู่ แต่ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อนายจ้างยุคใหม่ต้องการคนที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางที่ตรงกับสายงานมากกว่า และจำเป็นต้องนำมาใช้งานได้จริงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเว็บไซท์ที่ให้บริการรับสมัคร, จัดหางานอันดับ 1 ในมาเลเซีย ยังเน้นอีกว่า ‘ภาษาอังกฤษ’ มีความสำคัญ แต่ยังไม่พอ 

เนื่องจากมาเลเซียมีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทางจีนอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนจึงพุ่งสูงขึ้นในตลาดแรงงานมาเลเซีย โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ที่หลายบริษัทระบุเลยว่าต้องการผู้ที่พูดภาษาจีน หรือสามารถพูดได้หลายภาษา

ความเห็นของผู้บริหาร Jobstreet สอดคล้องกับ ดาตุ๊ก ดร.ซาอีด ฮัซเซน ซาอีด ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ที่ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นายจ้างสนใจผู้สมัครที่จบวุฒิสายอาชีพ (TVET) มากกว่า เพราะมีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ในการทำงานจริงได้โดยตรง โดยนายจ้างก็มีแนวโน้มประเมินผู้สมัครแบบองค์รวมมากขึ้น

และถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษยังอยู่ในห้าอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ดร.ซาอีด ฮัซเซนเห็นเช่นเดียวกับ วิค สิทธสนาน ว่าทักษะภาษาจีนกลางเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน 

ซึ่งนอกจากภาษาจีนแล้ว ผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อารบิก ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จึงมองหาบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมี ‘ความรู้’ แบบใดมาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการมองหาคือ ‘ทักษะ’ ที่หมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านงานช่าง งานเทคนิค ฯลฯ รวมถึงเข้าใจในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาจากใบปริญญาได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองที่หน้างานเท่านั้น 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง 
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

แค่ปริญญา ไม่พอจริง ๆ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top