Monday, 29 April 2024
โครงสร้างพื้นฐาน

‘นายกฯ’ เร่ง ปูทางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ปี66 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วอน ฝ่ายค้านร่วมมือช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับก้าวสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเร่งเดินหน้าบริหารประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทั้งระบบ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคขนส่ง ทางถนน ราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในโครงการสำคัญ 40 โครงการ 
.
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยภาคการขนส่งทางถนน ภายในปี 2566 คาดว่าจะเปิดใช้ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์)ระหว่างภูมิภาค เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางปะอิน-โคราช  ระยะทาง 196 กิโลเมตร  ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร ซึ่งถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับระบบราง ลดการเวนคืนที่ดิน และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ส่วนการขนส่งทางอากาศ ระหว่างปี 2564-2567ได้ปรับสนามบินรองรับนักเดินทาง-การขนส่ง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิจะมีการก่อสร้างอาคาร-สร้างรันเวย์เพิ่มขึ้น รองรับเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวต่อชม. และภายในปี 2570 สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารและโครงสร้างอื่น เพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่อีอีซี

เพจดัง ไขข้อเท็จจริงเวนคืนที่ทำรถไฟความเร็วสูง หลังมีคนปั่นกระแสค้านเวนคืนที่สร้างสถานีโคราช

เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีมีการปั่นกระแสคัดค้านการเวนคืนที่ดินบริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สถานีนครราชสีมา โดยระบุว่า 

ขอบเขตการเวนคืน ที่คุณอาจจะเข้าใจผิด!!!

ขอบเขตการเวนคืน มีไว้เพื่อสำรวจพื้นที่ ก่อนการเวนคืนจริง!!! ไม่ใช่เวนคืนทั้งหมด!!! อย่าพึ่งตีตนไปก่อนไข้!!!

โดยแอดมินเพจ ระว่า บอกตามตรง ว่าผมเห็น Content จากทางโคราช (ขอไม่อ้างถึงเพจ) มาหลายวัน แล้วเหนื่อยใจจากความไม่เข้าใจ (หรือตั้งใจปั่นกระแสคัดค้านก็ไม่ทราบ) 

โดยการเอาภาพแผนผังขอบเขตการเวนคืนเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทาบกับ ภาพถ่ายดาวเทียม จาก Google Map แล้วมาให้ดูว่ามีการเวนคืนกว้างถึง 800 เมตร 

ซึ่งมีการทาบไปบนพื้นที่ในเขตพื้นที่หนาแน่น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีการตกใจ และทักมาหาผม ถามว่าบ้านเค้าจะโดนเวนคืนมั้ย?? ทำไมต้องเวนคืนมากขนาดนั้น?? และก็ด่าโครงการรถไฟความเร็วสูง มากมาย บางคนลามไปถึงจะเตรียมประท้วงคัดค้านการเวนคืนกันแล้ว

ผมเลยขอมาให้ข้อมูลที่ “แท้จริง” กับทุกคนก่อนว่า อันนี้เป็นแนวเขตเพื่อ “สำรวจ” ไม่ใช่เวนคืนทั้งหมด การที่ต้องออกพื้นที่มามากกว่าการใช้งานจริงๆ เพื่อไม่ต้องให้ขอมติครม. และ ออก พรฏ. บ่อยๆ (ซึ่งออกยากมาก) ดังนั้นต้องทำให้กว้าง เพื่อความสะดวกในการปรับแก้ไข หรือเวนคืนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของโครงการ เท่านั้น!!!!

มาดูรายละเอียดพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา (โคราช) “จริงๆ” ตามแบบกันก่อนครับ

ตำแหน่งสถานีใช้พื้นที่สถานีเดิม และเขตพื้นที่ของการรถไฟเดิม โดยสร้างเป็นสถานี 3 ชั้น

ซึ่งสถานีนครราชสีมา จะมีลักษณะคล้ายกับสถานีบางซื่อรวมรถไฟทั้ง 2 ระบบ คือรถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง โดยจะมี 3 ชั้น 

ชั้นที่ 1 โถงพักรอคอย และทางเข้าอาคาร

ชั้นที่ 2 ชั้นจำหน่ายตั๋ว และชานชลารถไฟทางไกล

ชั้นที่ 3 ชานชลารถไฟความเร็วสูง

สถานที่ตั้งสถานีใหม่อยู่บริเวณย่านสถานีรถไฟนครราชสีมาในปัจจุบัน (ขยับไปทางชุมทางถนนจิระประมาณ 160เมตร) และมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเล็กน้อย

ภาพ Render ของสถานีนครราชสีมา
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/629142004190949/?d=n

ซึ่งในภาพผมก็ได้เอาผังสถานีที่จะมีการใช้งานจริง รวมถึงการเวนคืน มาให้อ่านแล้วลองพิจารณาดูครับ ว่าเค้าจะเวนคืนเต็ม 800 เมตร ตามเอกสารจริง ๆ มั้ย???

ไปดูแผนผังจริงได้ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา (โคราช)

รายละเอียดการเวนคืน ตาม พรฏ. เวนคืน

โดยตาม พรฏ. เวนคืนเล่มนี้ก็ได้เขียนจุดประสงค์ การเวนคืนไว้

มาตราที่ 3 “ที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้าง ทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา)”

มาตราที่ 6 ให้เริ่มต้นเข้า”สำรวจ” ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดิน ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตราที่ 7 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน

หมายเหตุ ท้าย พรฏ. เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็ว แก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค “สมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน”ในท้องที่ดังกล่าว “เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทาการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์” ที่ต้องได้มา โดยแน่ชัด

BOI ไฟเขียว!! ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 5 หมื่นล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานด้าน ‘พลังงาน-ดิจิทัล’ ไทย

(20 มี.ค.66) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน วันนี้ โดยที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 56,615 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานของประเทศ เช่น โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าเงินลงทุน 32,710 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 5,005 ล้านบาท 

รวมทั้งยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและจะใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลด Carbon Footprint ด้วย เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริการด้านการจัดการและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8,500 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งพลังงาน และดิจิทัล 

รัฐบาลประยุทธ์ 'สร้างชาติ' ชำระหนี้มากที่สุดและลงทุนเพื่ออนาคตมากที่สุด

#จดหมายเหตุลุงตู่ #8ปีที่เปลี่ยนไป #ยุบสภา

รัฐบาลประยุทธ์ 'สร้างชาติ' ชำระหนี้มากที่สุดและลงทุนเพื่ออนาคตมากที่สุด

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ไทย’ พัฒนาแซงทิ้งห่าง ‘มาเลเซีย’ ส่วน 'สายสีเหลือง' หลังเปิดตัว ดันระยะทางรวมแซง ‘สิงคโปร์’ แล้ว

จากช่อง Youtube 'Up Comment' ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับโครสร้างพื้นฐานและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ของประเทศไทย ซึ่งได้ติดอันดับโลก และขึ้นแซงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเนื้อหาในคลิปนั้น มีใจความว่า ...

โครงสร้างพื้นฐานไทย แซงทิ้งห่างมาเลเซีย ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดันระบบรถไฟฟ้าไทย แซงสิงคโปร์ ธนาคารโลกมีการจัดอันดับ โครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเทศในโลก ประจำปี 2023 โดยอันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทย อยู่ในอันดับที่ 25 โดยอันดับดังกล่าว เป็นอันดับที่เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย อีกหนึ่งประเทศที่เป็นคู่แข่ง ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการแซงมาเลเซียด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นครั้งแรก ได้เกิดขึ้นในปี 2018 โดยปีนั้นประเทศไทยได้อันดับที่ 32 ซึ่งเป็นการขยับอันดับขึ้นมาจากปี 2016 ที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 45 ซึ่งในปี 2018 ก็เป็นปีแรกที่ไทยมีอันดับทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย และดูเหมือนว่าอันดับจะทิ้งห่างออกมาอีกในปี 2023 นี้

โดยการจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นรายงานจาก Logistics Performance Index (LPI) 2023 ในหมวดโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารโลก โดยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ได้คะแนนอยู่ที่ 3.7 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 25 ของโลก จาก 139 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้านับเฉพาะประเทศในอาเซียน ประเทศไทยตามหลังเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น (สิงคโปร์มีอันดับทางด้านโลจิสติกส์ เป็นอันดับที่ 1 ของโลก)

สำหรับในส่วนของอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียนนั้น มีการจัดลำดับได้ดังนี้...

- อันดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์ 4.6 คะแนน 
- อันดับที่ 2 ประเทศไทย (อยู่ที่อันดับ 25 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.7 คะแนน 
- อันดับที่ 3 ประเทศมาเลเซีย 3.6 คะแนน 
- อันดับที่ 4 ประเทศฟิลิปปินส์ (อันดับ 47 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.2 คะแนน
- อันดับที่ 5 ประเทศเวียดนาม ด้วยคะแนน 3.2 (เท่ากับประเทศฟิลิปปินส์)
- อันดับที่ 6 ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยคะแนน 2.9 คะแนน 
- อันดับที่ 7 ประเทศลาว (อันดับที่ 108 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.3 คะแนน 
- และอันดับที่ 8 ประเทศกัมพูชา (อันดับ 125 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.1 คะแนน โดยการจัดอันดับดังกล่าว ไม่มีข้อมูลของประเทศบรูไนและประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ หากพูดถึงการเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของไทยที่ผ่านมา ทำให้ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระยะทางรวมแซงประเทศสิงคโปร์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยข้อมูลของเพจ City Walker ได้มีการรายงานถึง ระยะทางของรถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง ณ เวลานี้มีการเปิดทำการอยู่ 6 สาย ซึ่งเป็นระบบ LRT ทั้งหมด 4 สาย รวมระยะทางทั้งหมด 228 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เผยว่าระยะทางของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ณ เวลานี้ จะอยู่ที่ 242.34 กิโลเมตร (ยังไม่นับรวมโครงการที่กำลังก่อสร้าง ทั้งของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์)

ฉะนั้น จากข้อมูลนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าระยะทางรวมรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความยาวรวมแซงประเทศสิงคโปร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าทางประเทศสิงคโปร์ จะยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ ซึ่งนั่นก็คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (สิงคโปร์) แต่ถ้าเทียบไทยที่ยังคงมีโครงการก่อสร้าง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และมีแผนจะก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู และยังมีแผนแม่บทรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 ซึ่งก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปในอนาคตอีกมากมายนั้น ก็ดูเหมือนไทยจะเริ่มแซงหน้าสิงคโปร์ในส่วนของระยะทางไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ระยะทางรถไฟฟ้า ระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์นั้น ประเทศไหนจะครองแชมป์ในอาเซียนในอนาคตต่อไป

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังเพิ่มความร่วมมือ BRI กับจีน ปั้น ‘โครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสีเขียว’ ดึงทุนใหญ่เข้าไทย

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว เผยบทสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ระบุว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ส่งเสริมการร่วมสร้างการเชื่อมต่อระดับชาติ และไทยมุ่งหวังเสริมสร้างความร่วมมือกับจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสีเขียว รวมถึงขยับขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะสัมภาษณ์พิเศษก่อนเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา แผนริเริ่มฯ ได้พัฒนาการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และไทยหวังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล้าหลังของประเทศผ่านความร่วมมือตามแผนริเริ่มฯ

“ถ้าไม่มีวิธีการขนส่งที่ทันสมัย ย่อมไม่สามารถหมุนเวียนสินค้าได้ดี” นายเศรษฐากล่าว โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว เศรษฐาได้เดินทางเยือนจังหวัดหนองคายเพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และเผยว่าสถานะจุดเปลี่ยนผ่านของหนองคายบนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย จะส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมาก

นายกฯ ให้สัมภาษณ์อีกว่า ไทยจะขยับขยายการเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟภายในประเทศกับทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับเดินหน้าการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ยกระดับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมและกระตุ้นการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงปรับปรุงท่าอากาศยานและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอำนวยความสะดวกอื่นๆ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำให้สำเร็จอยู่อีกมาก” นายเศรษฐา กล่าว

ขณะเดียวกันการร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายเศรษฐาสำทับว่าไทยหวังยกระดับการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดึงดูดการลงทุนระดับสูงเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวภายใต้แผนริเริ่มฯ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังเติบโต นายเศรษฐากล่าวว่า มีบริษัทจีนเข้าลงทุนและก่อสร้างโรงงานในไทยไม่น้อย ทำให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างงานในไทย รวมถึงยกระดับการผลิตและการส่งมอบยานยนต์

นอกจากนั้น นายเศรษฐา ยังแสดงความหวังว่าไทยและจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยชี้ว่าการจัดตั้งโรงงานในไทย บริษัทจีนย่อมต้องนำทีมวิศวกรชั้นนำมาด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ความก้าวหน้าของจีน ขณะเดียวกันหวังว่าบุคลากรของไทยจะมีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรมที่จีนด้วย

ส่วนการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นระยะเวลา 5 เดือน นายเศรษฐากล่าวว่า จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของไทย การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าจะเกื้อหนุนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทย รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ วางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือเพิ่มเติม

เมื่อเอ่ยถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน นายเศรษฐา เผยว่า ไทย-จีน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและหนึ่งในแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งเขาจะนำคณะผู้แทนชุดใหญ่ที่ร่วมเยือนจีนครั้งนี้เข้าหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเกษตร การค้า การลงทุน และอื่นๆ

“ผมตั้งตารอการเดินทางเยือนครั้งนี้อย่างมาก” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top