Thursday, 16 May 2024
แพกซ์โลวิด

“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายก” ปลื้ม ฉีดวัคซีนแตะ 80 ล้านโดส โว รั้งอันดับ 18 จาก 184 ประเทศทั่วโลก ชี้ สธ.เร่งซื้อ ”แพกซ์โลวิด- โมลนูพิราเวียร์”รักษาโควิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พอใจการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ในไทย มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอยู่ที่หลักพันและยอดผู้เสียชีวิตต่ำกว่าร้อยรายติดต่อหลายสัปดาห์ ขณะที่ผู้รักษาหายป่วยกลับบ้านมากกว่ายอดผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน  แสดงถึงศักยภาพของสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ การปรับมาตรการควบคุมโรคที่ได้ผลและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในปฏิบัติตามมาตรการ 

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์บลูมเบิร์ก  เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ระบุความคืบหน้าการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของ184 ประเทศทั่วโลก พบว่าฉีดวัคซีนได้มากกว่า 7,200 ล้านโดส โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุดได้แก่ จีน  อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินโดนีเซีย ซึ่งการฉีดวัคซีนสะสมของไทยจนถึงวันที่7 พ.ย. กว่า 80 ล้านโดส เข็มที่ 1 สะสม 43,978,814 โดส เข็มที่ 2 สะสม 33,950,925 โดส เข็มที่ 3 สะสม 2,551,969 โดส และเข็มที่ 4 สะสม 2,719 โดส รวม 80,484,427 โดส คิดเป็น 65.44 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยอัตราการฉีดต่อวันประมาณ 6-8 แสนโดสต่อวัน ทำให้บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าหากไทยฉีดด้วยความเร็วระดับนี้ต่อไป จะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสให้ครอบคลุมประชากร 75% ได้ภายใน 1 เดือน สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับคนทุกกลุ่มในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอาการติดเชื้อรุนแรงและป่วยหนักและลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว นายกฯ ยังได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดติดตามเจรจาเพื่อสั่งซื้อยารักษาโควิด-19 ทั้ง "แพกซ์โลวิด (Paxlovid)" ของบริษัทไฟเซอร์ และ “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์ค ที่ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ให้เร็วที่สุดเพื่อให้ประเทศไทยได้รับยารักษาโควิด-19 ที่มีการพัฒนาเป็นคิวแรกๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนไทยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและทำมาหากินได้อย่างปกติสุขโดยเร็วแบบ New Normal และร่วมเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่อไป

‘อนุทิน’ แจงไทยจัดหาแพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์ ใช้เป็นยาเสริมรักษาโควิด มั่นใจ ทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชน ไม่มีช้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทย ไม่อยู่ใน 95 ประเทศ ที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัท ไฟเซอร์ ว่า การที่จะจัดว่าประเทศไหนจะได้รับสิทธิบัตรการผลิตยา ทางบริษัทฯ มีเกณฑ์การตัดสินใจอยู่แล้ว เราทำอะไรไม่ได้ แต่ให้ความมั่นใจว่า สธ. มีแผนจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันดูแลรักษาโรคโควิด-19 มีการวางแผนสำรอง เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่เราเตรียมไว้แล้ว ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เรามีอยู่ก็มีสรรพคุณดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อแรก ๆ จะใช้เวลาการรักษาที่สั้นลง

“การที่เรามีแผนจัดหายาแพกซ์โลวิด หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ก็เป็นการอะเลิร์ท (Alert) ต่อสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอามาเป็นยาหลัก แต่เอามาเสริมความมั่นทางยา เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่ายาที่เรามีอยู่ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ยา 2 ตัวนี้เป็นอีกแนวหนึ่ง” นายอนุทิน กล่าวและว่า ขณะนี้ยาแพกซ์โลวิด ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตกำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนกับทางสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นกัน

สหรัฐฯ อนุมัติ 'ยาเม็ดต้านโควิด' ของไฟเซอร์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้รักษาที่บ้านได้

สหรัฐฯ อนุมัติยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดของไฟเซอร์ สำหรับบุคคลกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำให้ยาสูตรนี้เป็นยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้รับประทานและใช้รักษาอาการที่บ้านได้สูตรแรก 

แพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดต้านไวรัสของไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพเกือบ 90% ในการป้องกันคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ตามข้อมูลการทดลองทางคลินิกของบริษัท ขณะที่ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเมื่อเร็วๆ นี้ บ่งชี้ว่ายาตัวนี้ยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันตัวกลายพันธุ์โอมิครอนด้วยเช่นกัน

ไฟเซอร์ปรับเพิ่มประมาณการกำลังผลิตปี 2022 เป็น 120 ล้านคอร์สรักษา จากเดิม 80 ล้านคอร์ส และบอกว่าทางบริษัทพร้อมส่งมอบในสหรัฐฯ ในทันที โดยยาชุดนี้ของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาสองตัว คือยาสูตรใหม่และยาสูตรเดิมคือริโทนาเวียร์ (ritonavir)

อเมช อดัลจา นักวิชาการอาวุโสของสถาบันความมั่นคงทางสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ระบุว่า การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดเป็นก้าวย่างสำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น "อย่างไรก็ตาม ยาสูตรนี้มี 2 ประเด็นสำคัญที่ยังค้างคาอยู่ นั่นก็คือมันอาจขาดแคลนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเรายังเผชิญความท้าทายในการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึงอยู่"

ไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทมีคอร์สรักษา 180,000 คอร์สที่พร้อมส่งมอบในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อยานี้จำนวน 10 ล้านคอร์ส ในราคา 530 ดอลลาร์ต่อคอร์ส (ประมาณ 17,900บาท)

การตัดสินใจอนุมัติใช้รักษาในกรณีฉุกเฉินของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่อเมริกากำลังต่อสู้กับเคสผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยมีตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ กระตุ้นให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประกาศมาตรการใหม่ในการต่อสู้การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดส่งชุดตรวจให้ประชาชน 500 ล้านครัวเรือนฟรีตั้งแต่เดือนมกราคม ส่งแพทย์และพยาบาล 1,000 คนของกองทัพไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบางพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก จัดส่งสิ่งของจำเป็นให้รัฐที่มีการระบาดรุนแรง เพิ่มศูนย์ตรวจโควิดฟรีและศูนย์ฉีดวัคซีน

"ยาเม็ดนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างการรักษาที่ถูกเปิดแผลโดยตัวกลายพันธุ์โอมิครอน" วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำแห่งโรงเรียนการแพทย์แวนเดอร์บิลต์กล่าว ที่ผ่านมาวิธีการรักษาโควิด-19 ที่ใช้ในวงกว้างที่สุดคือการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนตีบอดี แต่มันพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์และมีอุปทานค่อนข้างจำกัด

ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน ก่อนแผ่ลามไปทั่วโลกและตอนนี้มันมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของเคสผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในสหรัฐฯ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ในผลการศึกษาต่างๆพบว่าการเคยติดเชื้อมาแล้วและการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโอมิครอนได้เพียงบางส่วน แต่เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน

สธ. เซ็นจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด 5 หมื่นคอร์ส เผย ลดเสี่ยงป่วยหนัก - ตาย จากโควิดได้ถึง 88%

24 มี.ค. 65 - นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อโควิด-19 มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโควิด-19 จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการจัดหายารักษาโควิด-19 ที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top