Monday, 6 May 2024
แก้วสรรอติโพธิ

'แก้วสรร' ถาม 'แจกเงินดิจิทัล สินบนเลือกตั้ง’ หรือเป็น ‘นโยบายงี่เง่า’ โดยสุจริตเท่านั้น

'แก้วสรร' ออกบทความด่วน แจกเงินดิจิทัล: สินบนเลือกตั้ง? ตั้งคำถาม กกต. น่าจะไต่สวนให้ละเอียดว่า โครงการเป็นสินบนเลือกตั้ง หรือนโยบายงี่เง่าโดยสุจริตเท่านั้น
.
(12 เม.ย.66) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ ออกบทความเรื่อง ‘แจก ‘เงินดิจิทัล’ : สินบนเลือกตั้ง???’ ในรูปแบบถาม-ตอบ มีเนื้อหาว่า...

ถาม: ‘เงินดิจิทัล’ หนึ่งหมื่นบาท ที่เพื่อไทยประกาศจะแจกให้ทุกคนนั้น มัน เป็น ‘นโยบาย’ หรือ ‘สินบนเลือกตั้ง’?
ตอบ: ตามความเข้าใจของผมนั้น ‘เงินดิจิทัล’ ของเพื่อไทย ก็คล้ายกับคูปอง ที่เราต้องซื้อเวลาไปศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า ซื้อมาแล้วก็ใช้ได้ แต่ซื้ออาหารในศูนย์นั้นเท่านั้น...เงินดิจิทัลที่เพื่อไทยจะแจกก็เหมือนกัน คือ แจกให้ทุกคนที่อยู่ในเขตชุมชนรัศมี 4 กิโล ให้ได้คูปองไปซื้อหาสินค้าในวงสี่กิโลเมตรนี้ได้ โดยเขาอ้างว่า นี่คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสี่กิโลเมตร ใครขายของได้เงินดิจิทัลหรือคูปองนี้มา ก็เอามาขึ้นเงินจากงบประมาณแผ่นดินได้ในที่สุด โดยทั้งหมดนี้ต้องยุติใน 6 เดือน

ถาม: โครงการทั้งแผ่นดิน ให้สิทธิผู้คนถึง 55 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านอย่างนี้ บริหารจัดการได้อย่างไร?
ตอบ: ก็ทำได้โดยอาศัยระบบออนไลน์ ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะนั่นแหละครับ

ถาม: มันต่างจากเงินที่ได้เปล่าอื่นๆ สมัย นายกฯ ตู่อย่างไร?
ตอบ: มันมุ่งจ่ายเมื่อมีธุรกรรมซื้อขายเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่จ่ายคนละครึ่ง เขาจ่ายให้หมดเลย แล้วของเพื่อไทยนั้นจ่ายโดยไม่มีเหตุเศรษฐกิจซบเซา ในช่วงโควิด หรือช่วยคนจนเลย อยู่ดีๆ ก็จ่ายให้ไปซื้อของ อ้างว่ามุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ผู้คนจะรวยหรือจนก็ได้เงินหมด ขอให้เอาไปจับจ่ายในรัศมีสี่กิโลเมตรก็พอแล้ว...ข้อที่มุ่งกระตุ้น ‘การจับจ่ายในพื้นที่’ นี่แหละครับ ที่ทำให้แจกดะทุกคน ทุกหนแห่งเลย

ถาม: ถ้าผมไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แล้วประกาศว่า ชนะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ห้างเดอะมอลล์จะแจกคูปองอาหารให้พี่น้อง 6 เดือนเลย อย่างนี้ผมผิดกฎหมายเลือกตั้งฐานสัญญาว่าจะให้ไหม?
ตอบ: ผิดครับ คุณจะให้เองหรือเดอะมอลล์ให้ ก็ผิดเหมือนกัน

ถาม: ถ้าผิด อย่างนั้นสัญญาว่าชนะเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลให้ทุกคน อย่างนี้ก็ต้องผิดเหมือนกันใช่ไหม?
ตอบ: เขาต้องยกข้อต่อสู้ว่า นี่คือเงินรัฐที่จ่ายตามนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่สินบนซื้อเสียง

'อ.แก้วสรร' ถอดรหัส 'เศรษฐกิจอธิปไตยเพื่อมาตุภูมิ' ขจัดวังวน 'นักปลุกระดม-หลอกชาวชนบท-ปั่นหัวเยาวชน'

(4 พ.ค.66) นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง 'คำตอบจากรัสเซีย' มีเนื้อหาดังนี้

เลือกตั้งคราวนี้ โจทย์หลักยังเป็นเหมือนเดิมว่า 'จะเกลียดใครดี' ถ้าเกลียดอำมาตย์ เกลียดทหาร  ก็เลือกส้มหรือแดง เกลียดส้มหรือแดง ก็เลือกลุง พอยุพอหาเสียงให้เกลียดกันหนัก ๆ เข้า เลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่พ้นลงถนนกันอีกแน่ๆ  

หีบเลือกตั้งวันที่ ๑๔ นี้ จึงมีไฟโหมในหีบเห็นอยู่ชัดๆ หลังเลือกตั้งแล้ว ก็ลุกลามกระพือเป็นความจงเกลียดจงชังเผาผลาญบ้านเมืองได้อีกครั้งไม่ยากเลย

วงจรอุบาทว์นี้ เกิดขึ้นอย่างไร ? นี่คือคำถามที่ผมหมกมุ่นหาคำตอบมาตลอด จนวันนี้หลังจากติดตามขบคิดกับเพื่อนสำนักคิดรัสเซียในวิกฤตยูเครนมาปีกว่า ก็พอจะเห็นวิธีคิดวิธีทำจากการปฏิรูปรัสเซีย โดยการนำของปูตินว่า น่าจะช่วยชี้แนะได้มากทีเดียว ดังจะขอรายงานไปโดยลำดับ ดังนี้

'เศรษฐกิจอธิปไตย'

ถาม 'เศรษฐกิจอธิปไตย' ของปูตินคือ ไม่ยอมใช้ดอลลาร์อย่างนั้นหรือ

ตอบ คือเศรษฐกิจที่ปลดแอกจากโลกาภิวัตน์ตะวันตกแล้ว เพราะรัสเซียเขาไม่ยอมเป็นแค่แหล่งน้ำมันและแร่ธาตุราคาถูกให้เศรษฐกิจตะวันตกดูดกินอีกต่อไป  เขาจึงร่วมมือกับพันธมิตร สร้างโลกการค้าใหม่ที่เสมอภาคและยุติธรรมขึ้นมาให้ได้

'เศรษฐกิจอธิปไตยเพื่อมาตุภูมิ'

ถาม ทำไมความนิยมปูตินในหมู่ชาวบ้าน จึงมั่นคงไม่ต่ำกว่า 80%  มาตลอด

ตอบ 23 ปีที่ครองตำแหน่งมา นอกจากความเชื่อถือในตัวบุคคลแล้ว ก็คือแนวคิดมาตุภูมิที่ปูตินยึดมั่นร่วมกับชาวรัสเซียอย่างเหนียวแน่น เสาเอกหนึ่งของแนวคิดนี้คือการมีอนาคตที่ดีของคนรัสเซียทุกคน ที่ปูตินอธิบายว่า

“อนาคตของตนที่ทุกคนเห็นได้” จะไม่ทำให้คนชั้นล่างและเยาวชนหงุดหงิดจนเป็นโอกาสให้ความโกรธเกลียดเข้าสิงสู่ได้ง่าย มาตุภูมิก็จะสงบสุข

ถาม ถ้าไทยเราทำ 'อนาคต' นี้ได้จริง พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล คงแลนด์สไลด์ไม่ได้แน่ๆ

ตอบ ถูกต้องครับ สองพรรคนี้หากินจากความหงุดหงิดนี้ทั้งคู่ ปูตินมองออกว่า 'มาตุภูมิ' นั้น จะมีแต่ต้นทุนทางประวัติศาสตร์เท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความสุข ร่วมกันด้วย   

ถาม ปูติน จัดการอย่างไรให้ 'อนาคตที่เห็นได้ทุกคน' นี้เกิดขึ้น

ตอบ ผมขอตอบเป็นรายงานข่าวจาก วงรัสเซียเลยดีกว่า ลองขบคิดตามดูนะครับว่าเขาคิดเขาลงมือปฏิรูปกันอย่างไร มันเกี่ยวอะไรกับเลือกตั้งผู้ว่าทั้งประเทศ อย่างที่ธนาธรเสนอหรือไม่

“วันนี้ในด้านความคิดความรู้นั้น รัสเซียกำลังอธิบาย 'เศรษฐกิจอธิปไตย' ในประสบการณ์และความคิดของตนไปยังสำนักคิดต่าง ๆ ในฟากพันธมิตรอย่างเข้มข้นว่า

รัสเซียถือเป็นหลักก่อนว่า ทุกรัฐต้องวางเป้าของอำนาจเพื่อมวลชน มีเสาเอกสำคัญอยู่ที่ “การอยู่กินของประชาชน” เริ่มจากการสำรวจตามวิธีวิจัยและการปรึกษาหารือกับชาวบ้านที่ครอบคลุมทั่วถึง  จนสรุปได้ว่า เงินเดือนที่ชาวบ้านเขาอยู่ได้คือเท่าใด ในครอบครัวลูกสองคน ซึ่งรัสเซียวันนี้ได้คำตอบแล้วว่า อยู่ที่ ๓๐๐๐๐ – ๙๐๐๐๐ บาท

‘แก้วสรร’ ชี้ ‘ก้าวไกล’ ใช้สิทธิโดยไม่ชอบ กรณีมติขับ ‘หมออ๋อง’ ยัน!! ขัดข้อบังคับพรรค แนะ 2 ช่องทางส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย

(30 ก.ย. 66) อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ถาม ทำไม หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงยังไม่ได้เป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’
ตอบ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ประธานวันนอร์ก็นำชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูล ให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งได้แล้ว เพราะบัญญัติระบุแต่เพียงว่า ‘ฝ่ายค้าน’ คือพรรคที่ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น แต่มารัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเติมเงื่อนไขจุกจิกขึ้นมาอีก

ถาม เติมอะไรเข้าไปอีกครับ
ตอบ เติมมาว่า ‘พรรคฝ่ายค้าน’ นอกจากจะต้องไม่มีใครไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องไม่มีใครไปเป็น ประธานสภาหรือรองประธานสภาด้วย พอบัญญัติอย่างนี้ พรรคก้าวไกล ก็เลยยังไม่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ เพราะมี สส.ในพรรค คือคุณปดิพัทธ์ หรือ ‘รองอ๋อง’ เป็นรองประธานสภาอยู่

วันนี้ก็เลยมีแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ และให้หัวหน้า ปชป.ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งก็ไม่สมควรเพราะจำนวน สส.น้อยเกินไป

ถาม ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องทำอย่างไร?
ตอบ ก็ต้องทำทางใดทางหนึ่ง คือให้ ‘รองอ๋อง’ ลาออกจากรองประธานสภา หรือให้รองอ๋องออกจากพรรคก้าวไกลไปซะ จากนั้นประธานวันนอร์ถึงจะนำชื่อหัวหน้าก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูลเป็น ผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งวันนี้เขาก็เลือกแล้วว่า ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคก้าวไกล

ถาม แล้วทำไมเขาใช้วิธีให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรค ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกับ สส. ครับ ให้ รองอ๋องยื่นใบลาออกจากพรรคเลยไม่ได้หรือ?
ตอบ ถ้าใช้วิธียื่นใบลาออก รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ‘รองอ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพ สส.ทันที เพราะเรากำหนดให้ สส.ต้องสังกัดพรรค พรรคเป็นผู้เสนอชื่อให้ประชาชนเลือกมาแต่แรก ถ้าได้เป็น สส.แล้ว จะลาออกไม่ได้ เพราะนี่เป็นพันธะที่มีต่อประชาชน แต่ถ้าเป็นมติพรรคให้ออกจากพรรค เช่นนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ไม่ขาดจาก สส. แต่ต้องไปหาพรรคใหม่มาสังกัด

ถ้าทำได้อย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ได้ทำหน้าที่ รองประธานสภาต่อไป ข้างพรรคก้าวไกลก็ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไป

ถาม แล้วอาจารย์ไปว่าก้าวไกล ‘ก้าวถอยหลัง’ ทำไม?
ตอบ มันเป็น ‘การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต’ ครับ การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆ ง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้ พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้

ทำอย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ เองก็ยังเป็นคนก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคอื่นทับลงไปบนเสื้อก้าวไกล อีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง

ถาม ก้าวไกลเดินมาทางนี้ แล้วมันทำลายหลักกฎหมายที่ตรงไหน?
ตอบ หลักรัฐธรรมนูญให้ สส.สังกัดพรรคการเมือง ก็กลายเป็นเรื่องตลก หลักห้ามเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค ก็เป็นแค่กระดาษ หลักนิติธรรมให้ใช้สิทธิโดยสุจริตก็เลื่อนเปื้อนไปอีก ทั้งหมดกลายเป็นหลักที่เขียนไว้ให้อ่านเล่นบนประตูส้วม ระหว่างขับถ่ายเท่านั้น

ถาม ‘รองอ๋อง’ เขาว่า เขาต้องการปฏิรูปสำนักงานสภา ตามพันธะกิจที่สัญญาไว้ นี่ครับ จะให้เขาลาออกได้อย่างไร?
ตอบ ชาวบ้านเขาเลือกให้คุณเป็น สส.ก้าวไกล นั่นคือพันธะที่สำคัญที่สุด ทั้งกรรมการบริหารและ สส. จะต้องยึดตรงนี้ จะเอากฎหมายมาเล่นลวงเป็นลิเกอย่างนี้ไม่ได้

ถาม ถ้าเล่นลวงโลกกันอย่างนี้ ใครจะจัดการให้ถูกต้องได้บ้าง?
ตอบ กลุ่มแรกคือ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า ‘สส.อ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติการณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ

ถาม กลุ่มสองคือใคร ครับ?
ตอบ คือ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.อ๋องได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่

ถาม แล้วปล่อยให้ กราบทูลเสนอหัวหน้าก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปก่อนหรือ?
ตอบ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ด้วยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจปฏิเสธไม่รับรู้รับรองมติก้าวไกล ที่ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคโดยไม่มีเหตุขัดแย้งใดๆ ได้ เพราะตรงนี้ขัดข้อบังคับชัดแจ้ง แล้วก็รายงานประธานวันนอร์ให้ทราบ ทำแค่นี้การกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่เกิดขึ้น ประโยชน์จากการทำผิดก็ไม่บรรลุ ส่วนในที่สุด สส.อ๋องจะสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ ก็รอศาลตัดสินอีกที

ถาม เรื่องนี้แท้ที่จริงมันผิดกันทั้งพรรค ทั้งคณะกรรมการบริหาร และ สส.เลยนะครับ
ตอบ น่าจะทำความชัดเจนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกภาพ สส.อ๋อง ก่อน ถ้าเห็นเป็นความผิดชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันอีกทีดีกว่าครับ ราตรียังอีกยาวนานนัก

ขณะเดียวกัน ‘รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร’ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…

“ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า พรรคก้าวไกลไม่กล้าทำ นั่นคือลงมติขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ ‘หมออ๋อง’ ออกจากพรรคเพื่อไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งรองประธานสภาฯ มาจากพรรคเดียวกัน

ความจริงนายปดิพัทธ์มีทางเลือกอีก 2 ทาง หนึ่งคือยอมสละโดยลาออกจากตำแหน่งประธานสภาเสียเอง อีกทางเลือกหนึ่งคือลาออกจากพรรคก้าวไกล แต่ทั้งสองทางเลือกนี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของหมออ๋องเพราะคงไม่ต้องการสละตำแหน่งรองประธานสภาฯ และพรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องการเสียตำแหน่งรองประธานสภาฯไปเช่นกัน และการที่หมออ๋องลาออกจากพรรคเองก็ไม่สามารถจะไปเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้

ดังนั้น เพื่อให้สมประโยชน์ทั้งสำหรับตัวหมออ๋องและพรรคก้าวไกล จึงมีทางเดียวคือต้องขับออกจากพรรคก้าวไกลเสีย วิธีนี้รัฐธรรมนูญเปิดให้ไปสมัครเข้าพรรคใหม่ได้ และก็จะเป็นพรรคอื่นไปไม่ได้นอกจากพรรคเป็นธรรม ซึ่งจะอยู่พรรคก้าวไกลหรือพรรคเป็นธรรมในทางปฏิบัติก็ไม่แตกต่างกัน

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกล เห็นชัดๆ ว่าใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกลทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้นำฝ่ายค้านมีอิทธิพลต่อประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่วายออกแถลงการณ์แบบหล่อๆ ความว่า…

นายปดิพัทธ์ต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ต่อไป เพื่อผลักดันให้สภามีประสิทธิภาพโปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ที่ประชุมร่วมเห็นว่า ภารกิจของนายปดิพัทธ์จะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ยังคงยืนยันการเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากนายปดิพัทธ์ยังคงดำรงสถานะเดิมในฐานะรองประธานสภา จากพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้นายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์

อยากได้ทั้ง 2 ตำแหน่งให้เป็นของพรรคก้าวไกล ถึงกับกล้าทำในสิ่งที่ใครๆบอกว่าเป็นการเมืองน้ำเน่า นี่ถ้าเป็นพรรคอื่นที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทำแบบเดียวกัน พรรคก้าวไกลคงดาหน้าออกมาประณามกันแบบไม่ยั้ง แต่นี่เป็นพรรคก้าวไกลทำเอง จึงกลายเป็นการทำเพื่อยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และเพื่อจะได้เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน

ความจริงหากฝากให้นายปดิพัทธ์ให้อยู่พรรคอื่นๆเช่นพรรคภูมิใจไทย นายปดิพัทธ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภา และพรรคก้าวไกลก็ยังเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ได้ไม่ใช่หรือ ทำไมต้องให้ไปอยู่พรรคเป็นธรรม

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกลเช่นเดิม กล่าวคือการพูดมักสวนทางกับการกระทำเสมอ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top