Sunday, 19 May 2024
เศรษฐกิจสีเขียว

'พิธา' แนะ!! รับมือโลกร้อนต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ปรับพฤติกรรมอย่างเดียว ไม่พอ!!

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า... 

เศรษฐกิจสีเขียว: การรับมือสภาวะโลกร้อนต้องใช้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเท่านั้น

ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมาที่ผมได้ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมได้เห็นกับตาตัวเองถึงผลกระทบของความผันผวนในสภาพภูมิอากาศต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในภาคการเกษตร และพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 

ปี 2563 เป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรติดลบ 6% และ GDP ภาคเกษตรติดลบ 1.5% ในปี 2564 ที่จังหวัดชัยภูมิซึ่งผมเดินทางไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เพิ่งประสบภัยน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปี เหตุการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาในระดับโลก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายุโรปก็เพิ่งเผชิญกับน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 400 ปี และในเดือนกันยายนที่ผ่านมานครนิวยอร์กก็เพิ่งเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมฉับพลันครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างที่ผมกำลังเดินทางลงพื้นที่ติดตามปัญหา ที่ดิน การเกษตร และน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมในหัวข้อ Green Economic Recovery หรือการพลิกฟื้นและพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักการความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR - ASEAN Parliamentarians for Human Rights)

ผมได้ย้ำต่อที่ประชุมว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดบนฐานของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทยในปี 2563 GDP ของเราติดลบจากโควิด 6% แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับภาวะโลกร้อน วิกฤติเศรษฐกิจที่จะตามมาจะเลวร้ายกว่าในปัจจุบันอีกมาก 

จากการประเมินของบริษัท Swiss Reinsurance Company บริษัทประกันภัยต่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก การปล่อยให้โลกร้อนขึ้นบนเส้นทางของการร้อนขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสในปี 2643 GDP ของประเทศไทยจะติดลบสะสม 48% ในปี พ.ศ. 2591 ซึ่งจะเป็นความพังพินาศทางเศรษฐกิจที่มากมายมหาศาลกว่าวิกฤติโควิดมาก แต่ถ้าโลกสามารถจำกัดภาวะโลกร้อนได้ต่ำกว่า 2 องศาตามเป้าหมายของ Paris Agreement แล้ว GDP ของไทยจะติดลบสะสมจากโลกร้อนเพียง 5% ในปี พ.ศ. 2591

แล้วในตอนนี้ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางไหนในการรับมือภาวะโลกร้อน? จากการประเมินของ Climate Action Tracker ซึ่งเป็น Consortium ระหว่าง 3 สถาบันวิจัยระดับโลกด้านภูมิอากาศนั้น นโยบายของประเทศไทยในด้านภาวะโลกร้อนอยู่ในระดับ “ไม่เพียงพออย่างร้ายแรง” (Critically insufficient) และจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในระดับ 4 องศา 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือวิกฤติโควิดในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออย่างยิ่งต่อการรับมือกับสภาวะโลกร้อน การล็อกดาวน์จากโควิดนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนอย่างสุดขั้วให้คนเดินทางไปไหนไม่ได้เลยแล้วก็เป็นการลดการบริโภคของประชาชนจน GDP โลกตกอย่างมหาศาล ถึงกระนั้นทั้งโลกก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 6% เท่านั้นจากวิกฤติโควิด

การจะทำได้ตามเป้าหมายของ Paris Agreement ที่จำกัดสภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 - 2 องศา นั้น ทั้งโลกต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2573 และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากระบบเศรษฐกิจให้เหลือศูนย์ หรือเป้าหมาย “Net-Zero Emission” ให้ได้ภายในปี 2593 

'รัฐบาล' ปลื้ม!! โมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปไกล หลังวงประชุม UNCTAD หนุนนักธุรกิจ-นักวิจัยผู้หญิง

(5 เม.ย.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ ว่า ผู้แทนรัฐบาลไทย โดย น.ส.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สกสว. ได้เข้าร่วมการประชุม Commission on Science and Technology for Development (CSTD) ครั้งที่ 26 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อระหว่างวันที่ 26-30 มี.ค.ที่ผ่านมา  

โดยร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวให้กับนักธุรกิจและนักวิจัยหญิง จากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 15 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ ผ่านโครงการ STI Capacity Building Programs on Female Researchers and Entrepreneurs to promote Bio – Circular – Green Economic (BCG) MODEL 

‘ภาครัฐ’ กระตุ้น SMEs รับมือทิศทางการค้าโลก เร่งปรับตัวเข้าสู่ทิศทางแห่งเศรษฐกิจสีเขียว 

(18 ม.ค.67) นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 10% ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608 

ขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต 

ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต 

"ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด"

นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับ ส.อ.ท. โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า

โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหภาค 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top