Tuesday, 14 May 2024
เครื่องบินรบ

‘จีน’ ส่งฝูงบินรบโฉบใกล้ ‘ไต้หวัน‘ ฉุนสมาชิกสภาสหรัฐฯ เยือนไทเป

ปักกิ่ง/ไทเป (รอยเตอร์ส/ซีซีทีวี/เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์) - จีนส่งฝูงบินรบ 6 ลำเข้าใกล้ไต้หวันอีก พร้อมประณามการเยือนไต้หวันของคณะสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ที่เดินทางถึงไต้หวันด้วยเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ

กองทัพจีนเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า ได้ส่งฝูงบินรบลาดตระเวนแบบเตรียมพร้อมรบ ที่บริเวณช่องแคบไต้หวัน หลังจีนระบุว่า สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันด้วยเครื่องบินรบจากกองทัพสหรัฐฯ ด้านกระทรวงกลาโหมจีนประณามการเยือนไต้หวันของคณะสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ที่เดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ และจีนขอคัดค้านการกระทำดังกล่าวอย่างหนักแน่น และระบุว่า การลาดตระเวนของฝูงบินรบจีนดังกล่าว เพื่อตอบโต้พฤติกรรมและถ้อยคำที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง จากหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน รวมทั้งเพื่อตอบโต้การกระทำของกลุ่มสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวันด้วย

ขณะที่กระทรวงกลาโหมไต้หวันยืนยันว่า เครื่องบินรบของกองทัพจีนจำนวน 6 ลำ ได้เข้าสู่เขตป้องกันภัยทางอากาศซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน โดย 4 ลำ เป็นเครื่องบินขับไล่แบบ J-16 ส่วนอีก 2 ลำ เป็นเครื่องบินสอดแนมของกองทัพจีน ส่วน จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลย ที่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จะเดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ และการเยือนไต้หวันของคณะสมาชิกคองเกรสเมื่อวานนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วในปีนี้ แต่ไม่ยอมเปิดเผยจำนวนของคณะสมาชิกคองเกรสที่เยือนไต้หวันครั้งนี้ และไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับการเยือนดังกล่าว

'บิ๊กตู่' แจง!! เครื่องบินรบเมียนมาตีวงล้ำน่านฟ้าไทย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ย้ำ!! สัมพันธ์ 2 ประเทศดีเหมือนเดิม

‘บิ๊กตู่’ เผยเคลียร์เมียนมาแล้ว ชี้!! เครื่องบินรบตีวงเลี้ยวล้ำน่านฟ้าไทย ยันไม่ใช่เรื่องใหญ่ความสัมพันธ์ดีอยู่แล้ว ขอมั่นใจสมรรถนะป้องกันอธิปไตยได้

(1 ก.ค. 65) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดตัวงาน 'สูงวัยใจสมาร์ต' ถึงกรณีกองทัพอากาศตรวจพบอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บินล้ำแดนบริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก โจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยบริเวณแนวชายแดนและบินล้ำแดนเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทย ว่า ได้มีการประสานไปยังเมียนมาแล้ว ซึ่งเขายอมรับแล้วว่ารุกล้ำ พร้อมมีการขอโทษมาแล้วและระบุว่าไม่ได้ตั้งใจจะมีปัญหา แต่เขาต้องตีวงเลี้ยวจึงล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทยเล็กน้อย ขณะที่เครื่องบินของเราก็ได้ทำการขึ้นบินเผื่อผลักดัน ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามมาตรฐาน

‘ผบ.ทอ.’ วอน กมธ.งบฯ ผ่านงบซื้อ F-35 ย้ำจัดซื้อโปร่งใส - มีไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ

‘ผบ.ทอ.’ วอน กมธ.งบฯ ผ่านงบ F-35 จำนวน 2 ลำ ย้ำจัดซื้อ โปร่งใส ไม่มีนอก-มีใน ยอมรับ ผ่าน ‘คองเกรส’ ไม่ง่าย แต่มีโอกาสลุ้น เผย ทอ.สหรัฐฯ หนุนเต็มที่

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 2 ส.ค.ที่กองบิน 41 กองทัพอากาศ จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อจัดหาโครงการเครื่องบิน F-35 หลังถูกคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ตัดออกจากงบงบประมาณประจำปี 2566 และได้ยื่นเรื่องอุทรณ์ซึ่งจะเข้า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวันนี้ว่า 

ประชาชนมุ่งหวังเห็นสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ 
1. กองทัพซื้อของดีมีประสิทธิภาพใช้งานได้นาน คุ้มค่า คุ้มราคากับภาษีของประชาชน 
2. การซื้อต้องไม่มีการคอร์รัปชัน หมายถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผู้นำเหล่าทัพไม่มีผลประโยชน์ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องใช้อย่างคุ้มค่ากับโครงการเท่านั้น 
และ 3. การจัดซื้อจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างเต็มที่ทั้งทางตรง ก่อให้เกิดความมั่นคงของชาติ และทางอ้อมคือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน พัฒนาองค์ ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ 

ทั้งนี้โครงการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A ที่กองทัพอากาศเสนอ ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ เพราะถูกตัดงบประมาณ และเครื่องบิน F-35 A ถือเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลก สามารถใช้กับอาวุธได้หลายอย่าง รวมถึงอาวุธที่กองทัพอากาศมีใช้ในปัจจุบัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้ออาวุธเพิ่มเติม อีกทั้งการซื้อเครื่องบินก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณ และในอนาคตหากมีอาวุธใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพก็สามารถสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ โดย F-35 ถูกออกแบบมาให้รองรับกับอาวุธใหม่ ๆ

พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวต่อว่า กองทัพอากาศจัดซื้อโดยแบบวิธีความช่วยเหลือทางการทหาร ( FMS) ซึ่งเป็นการจัดซื้อเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล จึงมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น นับว่าเป็นกระบวนการจัดซื้อที่เป็นแบบอย่างที่ประชาชนต้องการ ทั้งนี้ การไปเจรจา รัฐบาลไม่สามารถไปแบบมือเปล่าได้จะต้องมีความพร้อมเรื่องงบประมาณและแผนการดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ขายเห็นความพร้อม

‘พูดง่าย ๆ เราไม่สามารถเดินตัวเปล่าเข้าไปซื้อ ได้และกองทัพอากาศ เคยจัดซื้อในรูปแบบดังกล่าวมาแล้ว คือเครื่องบิน F-16 ซึ่งอยู่ยงคงกระพันใช้งานมาเกือบ 40 ปี และเป็นเครื่องบินรบหลักของกองทัพอากาศ ดังนั้นหากเครื่องบิน F-35 A ผ่านการอนุมัติ เราใช้งานไปอีก 35-40 ปีเช่นเดียวกัน ย้ำว่า  F-35 A เป็นเครื่องบินล้ำสมัย เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่เราไม่เคยมีมาก่อน ก็จะเกิดการศึกษาเรียนรู้ การถ่ายโอนเทคโนโลยีเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคนและงาน รวมถึงความมั่นคงของชาติด้วย ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จะเล็งเห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่ได้กล่าวมา และกรุณาสนับสนุนโครงการสำคัญนี้ของกองทัพอากาศด้วย ย้ำว่าขอให้ประชาชนมีความเชื่อใจ ในความซื่อสัตย์และซื่อตรงและกองทัพอากาศ ได้ทำตามภาระหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ‘พล.อ.อ.นภาเดช  กล่าว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีใน ฐานะรมว.กลาโหม ได้เห็นชอบในการจัดซื้อ F-35 อย่างไรบ้าง พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวว่า เรามีผู้บังคับบัญชาที่ดีมาก ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ในสภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า แต่กองทัพอากาศได้ใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดซื้อไม่ได้ขอเพิ่ม จากที่รัฐบาลได้ตั้งกรอบเอาไว้ให้ ส่วนที่จัดซื้อเพียง 2 เครื่อง และจะทยอยซื้อในระยะที่ 2 และ 3 เพิ่มเติมโดยใช้เวลา 10 ปี ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ในปี 2575 กองทัพอากาศจะมีเครื่องบิน F-35 ประจำการจำนวน 12 เครื่อง และพร้อมที่จะปฏิบัติการรบในปี 2576 ภายหลังเตรียมการในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่มองกันว่าการจัดซื้อเพียง 2 เครื่องน้อยเกินไปนั้น เราได้ศึกษา จากกองทัพอากาศต่างประเทศ ซึ่งทยอยจัดซื้อเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือปานกลาง ก็มีวิธีการจัดซื้อที่แตกต่างกันไป บางประเทศซื้อเพียง 1 เครื่อง หรือ 2 เครื่องหรือ 4 เครื่อง และที่จัดซื้อครั้งเดียวครบฝูงมีน้อยมาก 

เมื่อถามว่าหากผ่านขั้นตอนทางสภาของไทยแล้วแนวโน้มที่จะผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมากน้อยเพียงใด 

‘ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยาก และโอกาสที่เราจะได้นั้น ก็อยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส เรายังมีโอกาส แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราได้รับการสนับสนุน เห็นพ้องต้องกัน เป็นหนึ่งเดียว เพราะโครงการนี้มีประโยชน์ ไม่มีสิ่งที่เป็นโทษ ไม่มีการทุจริต และไม่ได้ซื้อของไม่ดี และเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชน ผมก็เชื่อว่าเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จจะมีสูงอย่างมาก ‘

‘ไต้หวัน’ โวย!! พบเครื่องบิน 28 ลำของกองทัพจีน บินเข้ามาในเขตป้องกันทางอากาศของไต้หวัน

(14 ก.ย. 66) กระทรวงกลาโหมไต้หวัน แถลงว่า พบเครื่องบิน 28 ลำของกองทัพอากาศจีน อยู่ในเขตป้องกันทางอากาศของไต้หวันเมื่อเช้าวันที่ (13 กันยายน) ซึ่งเครื่องบินเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจีน เพื่อก่อกวนไต้หวัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไต้หวันออกมาระบุว่า จีนยกระดับการทำกิจกรรมทางทหารใกล้เกาะไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และจีนแสวงหาการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันมาตลอด แม้ไต้หวันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่จีนมองว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่

กระทรวงกลาโหมไต้หวัน ระบุต่อไปว่า เมื่อเวลาประมาณ 06.00 ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบินรบจีนหลายสิบลำ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ เจ-10 ได้บินเข้ามาทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเขตป้องกันทางอากาศของไต้หวัน

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินรบบางลำของจีน บินข้ามช่องแคบบาชิ เพื่อปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกับเรือบรรทุกเครื่องบินซานตงในมหาสมุทรแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม กองกำลังไต้หวัน เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงส่งเครื่องบินขับไล่ปกป้องน่านฟ้า ซึ่งไต้หวันมักใช้วิธีส่งเครื่องบินขับไล่พิทักษ์น่านฟ้า เพื่อตอบโต้ที่เครื่องบินรบจีนรุกล้ำน่านฟ้า 
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ (11 กันยายน) กระทรวงกลาโหมไต้หวัน เปิดเผยว่า กองเรือรบจีนนำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินซานตง ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อซ้อมรบ

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top