Friday, 3 May 2024
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วงเสวนา ย้ำ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดผลกระทบทางสังคม ยกงานวิจัยเปรียบเทียบก่อนและหลังบังคับใช้กฎหมาย นักดื่มลดลง 2% เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แก้กฎหมายเรื่องตราเสมือน ห้ามใช้สัญลักษณ์เดียวกัน

ส่วนการให้โฆษณาได้ยังเห็นต่าง หวั่นส่งผลให้คนดื่มมากขึ้น สื่อมวลชนเสนอห้ามข้าราชการเกษียณที่ทำงานด้านกำกับและจัดเก็บภาษีเป็นเจ้าหน้าที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ เท่าพิภพย้ำ พร้อมผลักดันการแก้กฎหมายในสภา

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมเอเซีย พญาไท มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ได้มีการจัดประชุมเสวนาระดมความเห็นเรื่อง “มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีนักวิชาการ ภาคีภาคประชาสังคมและนักการเมืองรวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลัง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคแอลกอฮอล์ในปี 2550 อยู่ที่ 30.0% ส่วนปี 2564 อยู่ที่ 28.0% ลดลง 2% โดยเพศชายลดจาก 52.3% เหลือ 46.4% หรือลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.7% เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดื่มลดลง ส่วนกลุ่มอายุ 20-49 ปี มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักคือน้อยกว่า 1% ในขณะที่ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เช่นเมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดลงจาก 37.8% ในปี 2551 เหลือ 25.6% ในปี 2565 หรือลดลง 12.2% ส่วนเมาแล้วขับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงจาก 35.5% ในปี 2551 เหลือ 26.0% ในปี 2565 หรือลดลง 9.5%

นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรากล่าวต่อว่าการมีกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงและยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมาแล้วขับด้วย  ทั้งนี้ในการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่จำหน่ายถึง 94.5% จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย 93.1% และจำกัดการโฆษณา 91% มีเพียง 5.5% ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการจำกัดสถานที่จำหน่าย อีก 6.9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเวลาจำหน่าย และ 9% ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการโฆษณา อย่างไรก็ตามควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันมีการเติบโตของโซเชียลมีเดียและการเกิดขึ้นของทุนขนาดเล็ก ซึ่งควรให้โอกาสได้เติมโต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการในการควบคุมทุนแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ให้มากขึ้น

ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แม้จะมีกลุ่มทุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่เคลื่อนไหวคัดค้านการออกพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ภาคประชาชน รวมถึงประชาชนกว่า 13 ล้านคน ได้ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2551 เจตนารมณ์สำคัญคือการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม สาระสำคัญนอกจากมีกลไกรับผิดชอบระดับนโยบายและปฏิบัติรวมทั้งมีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วกฎหมายได้กำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้  การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย การควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุราด้วย ส่งผลให้ลดจำนวนนักดื่มและจำกัดการดื่มให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการจำกัดการเข้าถึงทำให้เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ตามนายธีรภัทร์ ยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมาแม้กฎหมายจะมีข้อดีหลายอย่างแต่ก็พบปัญหาในทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายต้องหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่นเช่นน้ำดื่ม โซดาหรือที่เรียกกันว่าตราเสมือน ทำให้คนนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี  การขาดแนวปฏิบัติหรือเกณฑ์พิจารณาลักษณะผู้ซื้อที่เข้าข่ายเมาครองสติไม่ได้ การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ รวมทั้งการเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดสุรายังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงรักษาเจตนารมณ์เดิมไว้อย่างเคร่งครัดไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดันพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด การจัดการเรื่องตราเสมือนซึ่งเป็นความฉ้อฉลที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ รวมทั้งการอบรมผู้ขายให้มีทักษะมากขึ้น
 

‘ธนากร’ เผย กลุ่มธุรกิจขายเหล้า-เบียร์ ยอดขายกระเตื้อง จ่อผลักดัน ‘ยกเลิกห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ บ่าย 2-5 โมง

(31 มี.ค.66) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.66 นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ความต้องการและกำลังซื้อฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ขึ้นปี 2566 ภาพรวมแต่ละเดือนพบว่ายอดขายขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ขณะนี้ยิ่งเห็นความชัดเจนของยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งเบียร์และสุราขยายตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยะสำคัญ

นายธนากรกล่าว เชื่อว่าปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศจากการมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาต่อเนื่องกัน ได้แก่ ปลดล็อกมาตรการทั้งหมดที่ใช้คุมเข้มการระบาดของโควิด เปิดประเทศเกิดการเดินทางและท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอัตราเร่งตัวหลังจากอั้นมานานหลายปีเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณและแย่งชิงฐานผู้บริโภค วันหยุดยาวต่อเนื่อง จึงเห็นถึงบรรยากาศสังสรรค์ งานเลี้ยงและพบปะ หนาแน่นขึ้นในหลายพื้นที่

“ยิ่งใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผนวกกับบรรยากาศหาเสียงของพรรคการเมือง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เกิดการพบปะสังสรรค์ จัดเลี้ยงในวงเล็กวงใหญ่ เป็นตัวแปรสำคัญและมีนัยะต่อความต้องการและสั่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากเฉลี่ยไตรมาสแรกโตไม่ต่ำกว่า 20% ในไตรมาส 2 ปีนี้ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน โดยเดือนเมษายนนี้น่าจะคึกคักมากที่สุด จากความพอดีที่มีทั้งเทศกาลเที่ยวและดื่มกินในช่วงสงกรานต์ และจัดเลี้ยงก่อนการเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าจะมีการชนแก้ว ร่วมยินดีและฉลองกันต่อเนื่อง” นายธนากรกล่าว

‘ชลน่าน’ เล็งดึงแนวคิด ‘ภาษีบาป’ ตั้ง ‘กองทุนเยียวยาเหยื่อ’ หวังช่วยเหลือปชช.ที่ได้รับผลกระทบจากคนเมาแล้วขับ

(14 พ.ย.66) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะขยายเวลาเปิดสถานบริการจากปิดตี 2 เป็นตี 4 ว่า นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการให้เมืองท่องเที่ยว ในพื้นที่จำเพาะ หรือโซนนิ่ง เรื่องนี้ในมุมของ สธ.ให้ความสำคัญมาก เพราะนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับสุขภาพด้วย อย่างน้อยต้องคงเดิม หรือไม่มากกว่าเดิม หรือเรามีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจจะดีกว่าเดิม ดังนั้น จึงให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ เราคงไม่คัดค้านหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แต่หน้าที่เราจะทำอย่างไรเมื่อขยายเวลาจากตี 2 เป็นตี 4 ช่วงเวลาที่เขาขยายจะไม่ส่งผลกระทบต่อมิติสุขภาพ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกฎกระทรวงออกมารองรับ ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดที่จะเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลายมาตราที่ให้อำนาจ เช่น การกำหนดพื้นที่จำหน่าย ระยะเวลาจำหน่าย สภาพบุคคลที่จำหน่าย

“ยกตัวอย่างมาตรการที่คุยในคณะกรรมการที่จะเสนอ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือ ทำอย่างไรมาตรการควบคุมอย่างเข้ม ให้มีเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยเรื่องนี้เยอะ คนที่จะออกจากร้านไปขับรถ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกคนจะต้องตรวจระดับแอลกอฮอล์ หากมีปริมาณเกินก็ต้องมีมาตรการ เช่น ทางร้านหรือคนที่ควบคุมต้องไม่ให้ขับรถ ต้องมีรถสาธารณะมารองรับ หรือแม้กระทั่งระหว่างที่ดื่มกินก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ว่าห้ามจำหน่ายให้คนที่มีอาการมึนเมา เราก็แปลงมาว่าจะบังคับอย่างไร จะตรวจวัดอย่างไร ให้รู้ว่าคนคนนี้เข้าข่ายจะซื้อ จะขายตามกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเขาเขียนไว้ 2 ลักษณะ คือ ร้านจำหน่ายให้จำหน่ายถึงเวลาที่ปิดสถานบริการ เพราะฉะนั้น เมื่อปิดตี 4 ก็ขายถึงตี 4 เมื่อขยายตรงนี้ มาตรการควบคุมก็ต้องเข้ม” นพ.ชลน่าน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีการคุยกันถึงเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ขณะนี้ถูกนิยามเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานและมีราคาสูง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งแยกประเภท เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในส่วนที่ใช้ทางการแพทย์ก็ให้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ส่วนที่ใช้ในการตรวจวัดเป็นการทั่วไป เป็นลักษณะการค้นหา ก็ให้เป็นเครื่องมือทั่วไปหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนสามารถพกติดตัว สามารถตรวจสอบตัวเองได้ หากทุกคนมีวินัยก็จะไม่มีผลต่อการขยายเวลาเปิดผับ บาร์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายธนกฤต พานิชวิทย์ หรือว่าน นักร้องชื่อดังไลฟ์สดดื่ม กิน ก่อนจะขับรถไปเกิดอุบัติเหตุชนพนักงานเก็บขยะ จะเป็นเหตุให้ต้องเสนอให้ผ่านให้ได้เรื่องการบังคับตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้าน และห้ามขับรถโดยเด็ดขาดหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นเหตุผลชัดเจนเลย นับว่าเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราต้องตระหนัก และเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พึงมีกฎมาควบคุมชัดเจน

“นักร้องคนนี้ผิดกฎหมายหลายมาตรา ซึ่งในส่วนที่เขาไปกำกับดูแลก็ว่ากันไป เช่น การดื่มเมาแล้วขับก็ผิดอยู่แล้ว เป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบ ทำในสิ่งที่กฎหมายต้องห้ามไว้ สธ.ในฐานะเป็นผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมาย ก็จะดูมาตรการป้องกันทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ สธ.จะรณรงค์โดยใช้คำว่า ‘ดื่มไม่ขับ’ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘เมาไม่ขับ’ ดังนั้นต่อไปต้องปรับมาตรการรณรงค์ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เข้มเลย หมายความว่า คำว่าดื่มไม่ขับ อาจจะน้อยไปแล้ว จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าดื่มในสถานบันเทิง ดังนั้น ต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุกต้องสนุกบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อตนเอง และของคนอื่นด้วย

เมื่อถามต่อไปว่า มีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้คนที่อยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแนวทาง เป็นวิธีคิดที่คล้ายกับการเก็บภาษีบาป ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารมึนเมา เพื่อนำเงินนี้มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้นก็อาจจะมีแนวคิดอย่างนั้นได้ ต้องดูในรายละเอียดว่า สามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วนำมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อได้หรือไม่

เมื่อถามย้ำว่า จะเสนอเรื่องการตั้งกองทุนนี้เข้าไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี ก็กำลังพิจารณา

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ให้ดำเนินการเรื่องเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรียบร้อยแล้ว หาก สมอ.มีการออกประกาศกำหนดมาตรฐานให้ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ อย.ก็พร้อมที่จะออกประกาศให้เครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top