Tuesday, 7 May 2024
ฮาลาลไทย

'บิ๊กตู่' ผลักดันนโยบาย 'อาหารไทย อาหารโลก' เน้น!! การขยายตลาดอาหารไทยไปยังตลาดโลก คู่กับ 'ส่งเสริม' สินค้าฮาลาล อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 66 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พร้อมด้วย...

- ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
- พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 
- นายสามารถ มะลูลีม กรรมการอำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
- นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี 
- นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 
- คณะผู้บริหารศวฮ.และเจ้าหน้าที่

ให้การต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะในการเยือนศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิธีเปิดเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับ โดยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การกล่าวสรุปกิจการฮาลาลประเทศไทย โดยพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

จากนั้น รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์ฯ บรรยายสรุปพันธกิจและ กิจกรรมของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ดังนี้...

1. ประวัติและผลงานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ
2. โครงสร้างการบริหารกิจการฮาลาลประเทศไทย
3. บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ณ ชั้น 11 – 13 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

'นายกฯ' ปลื้ม!! มาตรฐาน 'ฮาลาลไทย' นานาชาติไว้ใจ พร้อมหนุน บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(16 พ.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และเป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ 

โดยอาหารฮาลาลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าขึ้นร้อยละ 3 ภายในปี 2566 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เชื่อมั่นในศักยภาพ การผลิต และส่งออกสินค้าฮาลาลมาโดยตลอด พร้อมสนับสนุน และยกระดับธุรกิจฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงตลาดประชากรมุสลิมจำนวนหลายพันล้านคน 

นายอนุชา กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น เวชภัณฑ์ และการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal tourism) ถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันกระแสความต้องการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมใน Global Muslim Travel Index ปี 2565 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมงาน Arabian Travel Market (ATM) 2023 งานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำเอกลักษณ์และความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และ Soft Power ของไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สุดตลาดหนี่งของประเทศไทย ทั้งทางรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมาไทยกว่า 3 แสนคน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 220 ดอลลาร์สหรัฐ และมีวันพักค้างเฉลี่ย 11.14 วันในปี 2562

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพ ชื่อเสียงของไทย และการทำงานสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้าและการลงทุน ผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งมั่นใจว่าด้วยระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และชื่อเสียง คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับมายาวนานของผลิตภัณฑ์ไทยที่ผ่านการรับรองฮาลาล ส่งผลให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะเติบโตในระดับสากลได้อีกมาก” นายอนุชากล่าว

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

'พิมพ์ภัทรา' เดินหน้า!! เร่งก่อตั้ง 'กรมอุตสาหกรรมฮาลาล' หลังนายกฯ ไฟเขียว เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากล

(8 พ.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เชิญตนเข้าร่วมหารือ โดยมีประเด็นข้อหารือสำคัญคือ การเร่งยกระดับอุตสาหกรรม 'ฮาลาล' ที่จะเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ 'กรม' ซึ่งจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่างๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง, แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง

"มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม ตามแนวบัญชาการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีการสั่งการไปแล้ว และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกระดับหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

‘นายกฯ’ พร้อมตั้ง ‘สำนักงานส่งเสริมอาหารฮาลาล’ รองรับการพัฒนา-ส่งออกฮาลาลไทย กระตุ้น ศก. ปี 67

(5 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า… “ไทยมีศักยภาพสูง และพร้อมส่งออกอาหารฮาลาล โดยรมว.อุตสาหกรรม, เลขาธิการ BOI, รองผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นำเสนอแผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยปี 67 โดยตั้งสำนักงานส่งเสริมอาหารฮาลาล (องค์กรมหาชน) เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และพัฒนาด้านอาหารฮาลาลอย่างจริงจัง”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “จากนั้นพูดคุยถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงอุตสาหกรรมเล่าถึงความคืบหน้าเรื่องการปลูก และการแปรรูปโกโก้ ที่ผมได้สั่งการไป เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก กระทรวงฯ ได้เริ่มโครงการนี้แล้วที่ จ.สระแก้ว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดต่าง ๆ”

'รมว.ปุ้ย' กางผลลัพธ์ส่งออก 'ฮาลาลไทย' แตะ 216,698 ล้านบาท โต 2.6% เชื่อ!! ยังไปได้อีกไกล หลัง 'ก.อุตฯ' เปิดฉากรุกตลาดกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง

(27 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร, นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร, นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยแก่คณะรัฐมนตรี ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาลหวังส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรม ฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก

ทั้งนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยพร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล และมุ่งหวังการส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยรูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยการจัดคูหาเพื่อแสดงตัวอย่างแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องนุ่งหุ่ม, เสื้อผ้ามุสลิม, การจัดแสดงสาธิตการทำอาหาร 'เนื้อไทยแองกัสสิชล ฮาลาล ย่างซอสคั่วกลิ้งและใบเหลียงผัดกระเทียม' โดยเชฟชุมพล (นายชุมพล แจ้งไพร) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การจัดแสดงอาหารบนเครื่องบินจาก TG Inflight Catering Halal Food Center โดย ครัวการบิน การบินไทย รวมถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center)

'รัดเกล้า' เผย!! รัฐปั้น 'ฮาลาลไทย' สู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571  ตั้งเป้า!! 5 ปี 'จีดีพีอุตฯ แตะ 55,000 ลบ.-จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคนต่อปี'

‘รัดเกล้า’ ย้ำรัฐบาลลุยส่งเสริม ฮาลาลไทย สู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 ตั้งเป้า ภายใน 5 ปี จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคนต่อปี จัดงาน Kick off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย มีนาคม 2567 นี้

(4 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค หรือ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล  เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับในผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทยผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลให้ยังคงมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเพื่อเป็น กลไกขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ของไทยไปในตัว ควบคู่กับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู้การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมลดข้อจำกัดและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรครวมทั้งบูรณาการทำงานหน่วยงานต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ฮาลาล โดยผลิตภัณฑ์และบริการ อาหารฮาลาล เป้าหมายในระยะแรกที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามประกอบด้วยอาหารฮาลาลเช่นเนื้อสัตว์อาหารทะเลอาหารแปรรูปอาหารพร้อมรับประทานอาหารฮาร้านโดยธรรมชาติอาหารมุสลิมรุ่นใหม่เช่น Snack bar / แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง / ยาสมุนไพรและเครื่องสำอางฮาลาล / โกโก้ฮาลาล สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง / บริการและท่องเที่ยวฮาลาล

ในระยะยาว เราตั้งเป้าว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาทภายใน 5 ปีในขณะเดียวกันแรงงานในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวน 100,000 คนต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 2571 และในแผนระยะสั้นนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะจัดงานเปิดตัว Kick off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย วางแผนไว้ว่าจะจัดในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งจะมีการเชิญหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เอกอัครราชทูตหรือผู้แทนทางการทูตของประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพเข้าร่วมงานด้วย  ขอให้ประชาชนให้กำลังใจคนทำงานและจับตาดูงานที่สำคัญงานนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top