Monday, 13 May 2024
ฮามาส

‘กระทรวงพลังงาน’ เกาะติดสถานการณ์สู้รบ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ หวั่นดันราคาพลังงานโลกพุ่ง ย้ำ ปริมาณสำรองของไทยยังมีพร้อม

(9 ต.ค. 66) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ได้มีการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

เนื่องจากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 57 และในส่วนของแอลเอ็นจีนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 33 จากหลากหลายแหล่ง

ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน

โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก ซึ่ง sentiment หรือสภาวะอารมณ์ของตลาดอาจจะมีผลทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้ แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ๆ แต่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด”

นายประเสริฐกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

'ฮามาส' บุก 'อิสราเอล' ยุทธการของ 'เบี้ยสละทิ้ง' แบบหน่วยกล้าตาย  ภายใต้ 'สงครามใหญ่' ระหว่างค่ายตะวันตกกับค่ายตะวันออก

(12 ต.ค. 66) นายวรพจน์ ตั้งพันธุ์เพียร ได้เผยแพร่บทความในหัวข้อ 'เมื่อฮามาสบุกอิสราเอล แบบ Suicide mission' (ภารกิจฆ่าตัวตาย) ระบุว่า...

เกือบทศวรรษที่ไม่มีข่าวกองกำลังฮามาสสู้รบกับอิสราเอลเต็มรูปแบบ จนโลกทั้งโลกแทบจะลืมปัญหา ปาเลสไตน์-อิสราเอล กันไปแล้ว แม้แต่โลกอิสลามเอง ก็ยังมีบางส่วนหันไปญาติดี เริ่มเปิดความสัมพันธ์กับอิสราเอล อย่างบาร์เรน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ซาอุฯ

นั่นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่ฮามาส ในฐานะตัวแทนของปาเลสไตน์ จะรู้สึกว่าถูกโลกอิสลามทอดทิ้งให้ไร้อนาคต โดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์ 5 ล้านคนต้องอยู่กับการปิดล้อมในพื้นที่เล็กๆ อย่าง กาซา และเวสต์แบงค์ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อนที่อิสราเอลจะเข้ามาแทนที่ และทำการขับไล่ รวมทั้งตีกรอบ จนพวกเขาไม่มีความหวังที่จะได้ตั้งประเทศปาเลสไตน์อย่างที่เคยมีข้อตกลงกันไว้ที่ แคมป์เดวิด สหรัฐฯ (ในขณะที่ชาวอิสราเอลมีจำนวน 7 ล้านคน คุมพื้นที่กว่า 80% และยังมีท่าทีจะรุกคืบเพิ่มเรื่อยๆ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฮามาสก็ย่อมรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไป และได้ดำเนินการบุกอิสราเอล ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Al-Aqsa Flood โดยเลือกเอาวันสำคัญทางศาสนายิว ซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) ในการยิงขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกจากกาซาไปยังอิสราเอล ในวันเดียว และส่งนักรบข้ามแดนไปด้วยการขุดดิน บินข้ามกำแพง รวมทั้งทางน้ำ เพื่อทำการยิงสังหารแบบไม่เลือกเป้าหมาย และจับตัวประกันกลับเข้าไปในกาซา (ล่าสุดอิสราเอลตายเกือบพันคน และส่งเครื่องบินเข้ายิงถล่มกาซา จนประเมินว่ามีปาเลสไตน์เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน)

ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้โลกตะลึง และทำให้อิสราเอลเสียศูนย์ เพราะหน่วยสืบราชการลับมอสสาด ที่ว่าข่าวกรองดีที่สุดในโลกไม่ได้ระแคะระคายมาก่อนเลย - อียิปต์ได้เตือนอิสราเอลแล้วว่าอาจมีเหตุรุนแรง แต่อิสราเอลไม่คิดว่าจะเกิดในช่วงวันสำคัญทางศาสนา เพราะฮามาสไม่เคยบุกในวันสำคัญเลย รวมทั้งที่ผ่านก็เชื่อมั่นว่า นโยบายให้ชาวปาเลสไตน์เข้ามาทำงานและได้รับค่าจ้างสูงกว่าในกาซาสิบเท่า น่าจะช่วยให้ชาวปาเลสไตน์เลิกคิดเรื่องการทำสงคราม

ประเด็นก็คือ นายกฯ เนทันยาฮู ของอิสราเอลที่เป็นสายเหยี่ยวตกขอบ ได้ประกาศระดมกำลัง 3 แสนนายเพื่อจะเดินเท้าบุกเข้าเคลียร์กองกำลังฮามาสในกาซา โดยไม่เกรงใจบรรดาประเทศมุสลิมอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อโลกตะวันตกแถลงว่า อิสราเอลมีสิทธิ์ป้องกันตนเอง และพร้อมสนับสนุนอาวุธ ในขณะที่ประเทศอิสลามสายกลาง พยายามขอให้มีการหยุดยิง และเจรจา โดยเริ่มที่การแลกตัวประกันชาวอิสราเอลกับ นักโทษปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัวไว้นานแล้ว

ฮามาสเลือกที่จะบุกทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะโดนสวนกลับอย่างรุนแรง จนถึงขั้นล่มสลาย นั่นก็เพื่อส่งสัญญานไปยังโลกมุสลิมว่า การที่ UAE และซาอุในฐานะพี่ใหญ่โลกอิสลามไปจับมือกับอิสราเอล ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ดังนั้น การบุกอิสราเอลเต็มรูปแบบ จะเป็นการวัดใจว่า ถ้ากาซาถูกอิสราเอลบุกกลับมาถล่มยับ บรรดาประเทศมุสลิมตะวันออกกลางจะยืนนิ่งเฉย ปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ในฐานะพี่น้องมุสลิมถูกกวาดล้างโดยอิสราเอลหรือไม่? หรือจะเข้ามาปกป้อง และกดดันอิสราเอล ให้มีการตั้งประเทศปาเลสไตน์อย่างจริงจังเสียที?

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า ภารกิจฮามาสครั้งนี้ คือภารกิจฆ่าตัวตายโดยแท้

แม้การวัดใจโลกมุสลิมครั้งนี้ ถือเป็นการทุ่มสุดตัวของฮามาส แต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มุสลิมสายกลางจะตัดสินใจอย่างไร? เนื่องจาก ฮามาสถูกระบุว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่รัฐประเทศ รวมทั้งครั้งนี้มีพฤติกรรมบุกก่อน และสังหารแบบไม่เลือกเป้าหมาย แม้แต่อิหร่านที่เป็นแบ็คอัพใหญ่ให้ฮามาส ก็ยังอ้อมๆ แอ้มๆ ไม่ออกมาประกาศชัดเจน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าก็ส่งเสบียงให้กับฮามาสมาโดยตลอด

ในกรณี โลกอิสลามสายกลางตัดสินใจนิ่งเฉย ปล่อยให้อิสราเอลถล่มกาซาตามอำเภอใจ ฮามาสก็จะถูกกวาดล้างอย่างหนักจนอาจไม่มีความสามารถในการตอบโต้ไปอีกนาน และอิสราเอลคงบุกเข้าเวสแบงค์ด้วยอีกที่ ในการนี้จะส่งผลให้มีการสอดส่องครับคุมดูแลชาวปาเลสไตน์ที่เข้มงวดมากกว่าเดิม และสงครามจะไม่น่ายืดเยื้อนาน แม้จะมีประเทศอิสลามสายแข็งให้การสนับสนุนฮามาสก็ตาม

แต่หากโลกอิสลามสายกลางตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล และส่งความช่วยเหลือให้ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งก็มีท่าทีว่าจะขยายวงขึ้นทันที ขึ้นกับว่าจะมีประเทศมุสลิมใดช่วยเหลือปาเลสไตน์บ้าง หากหันมาช่วยกันหมดเหมือนสมัยสันนิบาตอาหรับ กับสงคราม 6 วัน อิสราเอลจะกลายเป็นแนวรบตะวันออกกลาง ลักษณะสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่าง ตะวันตกที่ถือหางอิสราเอล กับ ตะวันออก (มุสลิม + จีน + รัสเซีย) ทันที

ซึ่งน่าจะยืดเยื้อไม่แพ้ สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่เป็นสมรภูมิแนวรบในยุโรป ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกเข้าไปอีกขั้น เพราะรู้ๆ กันว่า ตะวันออกกลางคือแหล่งน้ำมันโลก ในขณะที่ยูเครนและรัสเซียเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ และปุ๋ยโลก

หากเกิดแบบกรณีหลัง คงได้เดือดร้อนทั้งโลกแน่นอน และถ้าเหตุการณ์บานปลาย ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ไม่ยาก

ทั้งหมดนี้ มีเพียงสิ่งเดียวจะช่วยให้อุณหภูมิการเมืองโลกไม่เดือด นั่นคือการเปลี่ยนใจนายกฯ เนทันยาฮู ให้เลิกล้มแผนบุกกาซา และหันมาปัดฝุ่นข้อตกลงแคมป์เดวิด ที่จะตั้งประเทศปาเลสไตน์ และกำหนดเขตแดนระหว่างกันอย่างชัดเจน รวมทั้งยอมให้กองกำลัง UN เข้าไปควบคุมสันติภาพในกาซา และเวสแบงค์ ซึ่งดูแล้วคงเป็นเรื่องระดับปาฏิหารย์หากจะเกิดขึ้นได้

ในฐานะชาวโลก ก็คงต้องพยายามทำใจ และอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองโลกให้ได้ และคงต้องนั่งลุ้นกันต่อไปว่า ฝ่ายตะวันตกจะเปิดแนวรบทะเลจีนใต้ ที่มีไต้หวันเป็นชนวน อีกแนวรบหรือไม่?

อาจจะเพราะหลังการล่มสลายของโซเวียต โลกเราสงบสุขมานานเกินไป จนทำให้ชาวโลกลืมไปว่าก่อนหน้านั้น เราก็มีความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่บ่อยๆ มีสงครามกันเนืองๆ ในภูมิภาคต่างๆ ไม่หยุดหย่อน

เพียงแต่ยุคนั้น แต่ละฝ่าย ยังไม่มีระเบิดนิวเคลียร์อยู่ในมือกันมากมายขนาดทุกวันนี้เท่านั้นเอง

โลกนี้แม้จะใหญ่พอที่จะแบ่งปันให้มนุษยชาติทุกคน

แต่กลับใหญ่ไม่พอให้กับมนุษย์ที่โลภและบ้าอำนาจเพียงคนเดียว

ขณะที่ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสริมมุมมองบทความดังกล่าวด้วย ว่า...

แนวโน้มคงเกิดเป็นกรณีหลัง และจะบานปลายเป็นสงครามใหญ่ค่อนข้างแน่ ... เพราะมันเป็นบทที่เขียนไว้แล้ว

ถ้าเราอ่านสถานการณ์สงครามฮามาส-อิสราเอลครั้งนี้ จากมุมมองของนักยุทธศาสตร์ เราจะรู้ทันทีว่าฝ่ายฮามาสจะต้องมี 'หมากตามหลัง' มาแน่นอน 

เพราะฮามาสเป็นแค่ 'เบี้ยสละทิ้ง' แบบหน่วยกล้าตาย ใน 'สงครามใหญ่' ระหว่างค่ายตะวันตก กับค่ายตะวันออกเท่านั้น

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ วิเคราะห์!! ‘อิสราเอล-ฮามาส’ เนื้อเรื่องต่อจากนี้เข้มข้น ต่างฝ่ายต่างมีแรงหนุน

(12 ต.ค.66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nantiwat Samart’ ระบุว่า... 

จบยังไง 

การโจมตีอิสราเอลของฮามาสจบ ?
ฮามาสหมดของเล่นแล้วหรือยัง
จรวดยังมีเหลืออีกหรือไม่
จะมีประเทศใดร่วมมือกับฮามาสไหม
มีแต่คำถาม มีแต่ความสงสัย

ความเคลื่อนไหวสำคัญของอิสราเอล
คือ การจัดตั้งรัฐบาลในภาวะฉุกเฉิน

ร่วมกับฝ่ายค้านตั้งคณะรัฐมนตรีสงคราม
ไม่มีฝ่ายค้าน ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว
ใช้มติ ครม.ในการทำงาน เพื่อความฉับไว
รับมือกับสงครามการก่อการร้าย
ไม่ต้องออกกฎหมาย
อิสราเอลเรียกระดมพลทหารกองหนุน
เพิ่มเป็นสามแสนคนจากเดิมเพียงหนึ่งแสน
เตรียมรับมือกับสงครามใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น
สั่งขายเงินตราต่างประเทศสามหมื่นล้านเหรียญ
และสำรองไว้อีกหมื่นห้าพันล้านเหรียญ
เพื่อเตรียมความพร้อมทำสงคราม

อเมริกาและตะวันตกประกาศเข้าข้างอิสราเอล
ส่วนประเทศอิสลามประกาศสนับสนุนฮามาส

จะมีใครช่วยรบตีขนาบอิสราเอลหรือไม่
มีการยิงปืนใหญ่ออกมาจากซีเรีย เลบานอน
นี่คือการสะกิดสะเกา ไม่ได้สร้างความบอบช้ำ
อิสราเอลตีโต้กลับรุนแรงมากกว่าหลายเท่า

การชุมนุมของมุสลิมทั่วโลกออกมาสนับสนุนฮามาส
สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลเข้าร่วมกับฮามาสหรือไม่
หรือเพียงสะท้อนความไม่พอใจ

ที่น่าสนใจคือการพบกันของปูตินกับสีจื้นผิง
และผู้นำอาหรับกับปูติน
จะมีอะไรมากกว่าคุยประเมินสถานการณ์เฉยๆ
หรือจะมีอะไรมากกว่านั้น ?

ตอนนี้ก็มีแต่ข่าวลือ
กลุ่มฮิสบอเราะห์และกองกำลังวากเนอร์
เตรียมเข้าร่วมรบกับฮามาส

ที่สำคัญคือชีวิตของตัวประกันที่ถูกจับไป มีคนไทยรวมอยู่ด้วยสิบกว่าคน
ต้องปลอดภัยและได้รับการปล่อยตัว
ฮามาสขู่ว่า หากอิสราเอลโจมตีทางอากาศ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า
ทุกการโจมตีจะสังหารตัวประกันหนึ่งคน

อิสราเอลขอให้อียิปต์เป็นตัวกลาง
ในการเจรจาให้ปล่อยตัวประกัน
ในอดีตชีวิตตัวประกันชาวยิวหนึ่งคน
ต้องแลกด้วยนักโทษฮามาสถึงพันคน
ครั้งนี้ การปล่อยตัวต้องแลกด้วยอะไร
ยังไม่มีคำตอบ

จบเถอะ อย่าให้ยืดเยื้อ
เซเลนสกีเรียกร้อง อย่าลืมยูเครน 

‘X’ สั่งลบบัญชี ‘เครือข่ายฮามาส’ นับร้อย หลังก่อเหตุโจมตีอิสราเอล ตอบรับข้อเรียกร้อง EU ขอให้จัดการเนื้อหาเท็จออกจากแพลตฟอร์ม

(12 ต.ค.66) นางลินดา ยัคคารีโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์ ระบุในวันนี้ว่า เอ็กซ์ได้ทำการลบบัญชีเครือข่ายกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์หลายร้อยบัญชี และได้ดำเนินการเพื่อลบหรือติดตราคอนเทนต์หลายหมื่นชิ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเธียร์รี เบรตง คณะกรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายในภูมิภาค ได้ส่งจดหมายถึงนายอีลอน มัสก์ ประธานบริษัทเอ็กซ์เพื่อเรียกร้องให้ลบข้อมูลที่บิดเบือนต่าง ๆ ออกจากแพลตฟอร์มในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส 

‘ชาวปาเลสไตน์’ หลายหมื่นคนในฉนวนกาซาแห่อพยพลงใต้ หลัง ‘อิสราเอล’ ขีดเส้น 24 ชม.ให้หนี ก่อนบุกโจมตีฮามาส

(14 ต.ค.66) ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนแห่อพยพลงไปยังพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซาในวันนี้ หลังกำหนดเส้นตายที่อิสราเอลเตือนให้อพยพภายใน 24 ชั่วโมงเริ่มใกล้เข้ามา ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอลเพื่อแก้แค้นต่อกลุ่มฮามาสน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลเตือนว่า การทิ้งบอมบ์ถล่มทางอากาศต่อฉนวนกาซาตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ‘เป็นแค่จุดเริ่มต้น’ ของปฏิบัติการเช็กบิลกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งบุกจู่โจมพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และคร่าชีวิตพลเมืองอิสราเอลไปแล้วกว่า 1,300 คน

ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอลยืนยันว่าได้มีการส่งทหารราบบุกเข้าไปตรวจค้นพื้นที่บางจุดของฉนวนกาซาในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ‘เพื่อกำจัดพวกผู้ก่อการร้ายและคลังอาวุธ’ รวมถึงติดตามหาตัวประกันที่ยังคงสูญหายด้วย

ผู้ที่ถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการบุกแบบสายฟ้าแลบของกลุ่มฮามาสส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะที่บางคนเปรียบเทียบเหตุโจมตีอิสราเอลครั้งนี้ว่าเลวร้ายและน่าตกตะลึงพอๆ กับเหตุวินาศกรรม 9/11

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุว่ากำลังมีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลในภูมิภาคเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา เนื่องจากมีชาวปาเลสไตน์นับล้านๆ คน ที่ต้องติดอยู่ในพื้นที่ในสภาพถูกตัดน้ำไฟ และขาดแคลนอาหาร หลังจากที่อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อมแบบเบ็ดเสร็จ

ชาวปาเลสไตน์กว่า 1.1 ล้านคนทางตอนเหนือของฉนวนกาซาได้รับคำเตือนเมื่อวันศุกร์ (13) ให้รีบอพยพลงใต้ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนที่อิสราเอลจะเริ่มต้นปฏิบัติการภาคพื้นดิน ขณะที่กลุ่มฮามาสประกาศกร้าวว่าจะขอสู้ ‘จนเลือดหยดสุดท้าย’ และเรียกร้องให้ประชาชนอย่าละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน

พล.ร.ต.แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า ทหารราบซึ่งมีหน่วยรถถังให้การสนับสนุนได้บุกเข้าไปในบางพื้นที่ของฉนวนกาซาเพื่อโจมตีกองกำลังจรวดของฝ่ายปาเลสไตน์ และหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวประกันที่ถูกจับไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลออกมายืนยันว่ามีการส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปยังฉนวนกาซา นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น

“เราได้โจมตีพวกศัตรูด้วยพลังที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน” เนทันยาฮู แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์วานนี้ (13 ต.ค.) “ผมขอย้ำว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น”

ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนตัดสินใจอพยพหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัยหลังได้รับคำเตือนจากอิสราเอล ขณะที่อีกหลายคนประกาศว่าจะไม่ไปไหน

“ตายเสียยังดีกว่าทิ้งที่นี่ไป” โมฮัมหมัด วัย 20 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ด้านนอกอาคารหลังหนึ่งที่ถูกอิสราเอลทิ้งระเบิดถล่มจนพังราบ

มัสยิดหลายแห่งในกาซาได้ออกประกาศเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ “รักษาบ้านเรือน รักษาดินแดนของพวกท่านไว้”

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และอีกหลายหน่วยงานออกมาเตือนความเสี่ยงเกิด ‘หายนะ’ ครั้งใหญ่ หากพลเรือนนับล้านๆ ถูกบังคับให้ต้องอพยพหนีตายภายในระยะเวลาอันสั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการปิดล้อมกาซาเพื่อเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือเข้าไป

“เราจำเป็นต้องส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปให้ถึงทุกพื้นที่ในกาซาทันที เพื่อให้ประชาชนที่นั่นได้มีเชื้อเพลิง น้ำ และอาหาร แม้แต่สงครามก็ต้องมีกฎเกณฑ์ด้วย” อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงวานนี้ (13 ต.ค.)

ประธานาธิบดี ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับอิสราเอล อียิปต์ จอร์แดน รัฐบาลอาหรับชาติอื่นๆ รวมถึงยูเอ็น เพื่อแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซา พร้อมย้ำว่า “ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับพวกฮามาสและการโจมตีอันโหดเหี้ยมป่าเถื่อน พวกเขาเองก็ทุกข์ทรมานจากผลของสงครามเช่นกัน”

สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกยูเอ็น เตือนว่า “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่จะให้ชาวปาเลสไตน์ทางตอนเหนือของกาซาอพยพลงใต้ภายใน 24 ชั่วโมงตามคำสั่งของอิสราเอล โดยที่ไม่เกิด “ผลลัพธ์ร้ายแรงด้านมนุษยธรรม” ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้รัฐบาลเทลอาวีฟออกมาแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้ยูเอ็นหันมาประณามฮามาส และสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอลจะดีกว่า

ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ผู้นำองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) บอกกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จอร์แดนว่า การบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพครั้งนี้ไม่ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1948 ที่คนปาเลสไตน์หลายแสนต้องหนีตายหรือถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เรียกว่า ‘อิสราเอล’ ในปัจจุบัน และพลเรือนกาซาส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานของผู้ที่ต้องลี้ภัยในวันนั้น

ฉนวนกาซาได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และถูกปิดล้อมเอาไว้ทุกด้าน ซึ่งนอกจากมาตรการปิดล้อมของอิสราเอลแล้ว รัฐบาลอียิปต์ก็ไม่เต็มใจที่จะทำตามเสียงเรียกร้องให้เปิดพรมแดนฝั่งกาซาเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ด้วย

ในเขตเวสต์แบงก์ กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนกาซาได้ยิงปะทะกับกองกำลังความมั่นคงอิสราเอลจนเสียชีวิตไป 16 คน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามขยายวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนตอนเหนือของอิสราเอลฝั่งที่ติดกับเลบานอนซึ่งเกิดการปะทะอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าขีปนาวุธที่อิสราเอลยิงข้ามเข้าไปยังตอนใต้ของเลบานอนเมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) ส่งผลให้ อิสซาม อับดัลลาห์ (Issam Abdallah) ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ เสียชีวิต และยังมีนักข่าวคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บอีก 6 คน

‘พี่แจ๋ม’ ยอมเสี่ยง!! ขับรถฝ่าแนวทหารในอิสราเอล ช่วยแรงงานไทยหลายชีวิตที่ติดอยู่ในแคมป์คนงาน

(16 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์การสู้รบในประเทศอิสราเอล หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตี ทำให้แรงงานไทยหลายพันชีวิตได้รับความเดือดร้อน ซึ่งล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 29 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 18 คน ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนได้รับการช่วยเหลือ อพยพไปในที่ปลอดภัยรวมทั้งเดินทางกลับประเทศไทยบ้างแล้ว

ขณะเดียวกัน สมาชิก TikTok @daphan383 ได้เผยแพร่คลิปของหญิง 2 รายที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิสราเอล ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในแคมป์ต่าง ๆ คือพี่แจ๋มและพี่น้อง โดยมีคลิปของทั้ง 2 คน ขับรถฝ่าแนวของทหารเข้าไปช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในแคมป์ไม่สามารถออกมาได้

โดยในคลิปพี่แจ๋มและพี่น้องอยู่ในอาการตื่นตระหนก ขณะกำลังขับรถเข้าไปในแคมป์ที่มีแรงงานไทยอยู่เพื่อช่วยเหลือออกมา และมีรถถังและกลุ่มทหารของอิสราเอลเฝ้าประจำการอยู่ ซึ่งทั้งคู่นั้นได้รับการประสานจากแรงงานไทยและญาติให้เข้าไปช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยถูกระเบิดและถูกยิงได้รับบาดเจ็บแต่กลับถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ก่อนเข้าไปช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย และยังมีคลิปที่พี่แจ๋มประสานทางการช่วยพาคนไทยจำนวน 32 คนออกมาจากแคมป์แล้วพาไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะที่ชาวเน็ตหลังเห็นวีรกรรมความกล้าของทั้ง 2 คน ต่างก็ยกย่องให้เป็นวีรสตรี เพราะยอมเสี่ยงตายช่วยเหลือพี่น้องคนชาติเดียวกัน โดยไม่กลัวว่าตัวเองจะได้รับอันตรายแต่อย่างใด และพากันชื่นชมในความกล้า โดยล่าสุดพบว่าพี่แจ๋มได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว

สื่อนอก เผย ‘บอดี้การ์ดเทย์เลอร์ สวิฟต์’ ทิ้งเงินเดือน 18 ลบ./ปี เดินทางกลับบ้านเกิด เข้าร่วมกองทัพอิสราเอลสู้รบกลุ่มฮามาส

(17 ต.ค. 66) สื่ออิสราเอลรายงานว่า โซเชียลเตรียมเมลท์ดาวน์ได้เลย..เพราะหนึ่งในบอดี้การ์ดของนักร้องชื่อดัง ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ในทัวร์คอนเสิร์ต Eras Tour ที่โด่งดังและราคาบัตรเข้าชมสุดแพงเดินทางจากสหรัฐฯ กลับเข้าบ้านเกิดอิสราเอลร่วมกับกองกำลังทหาร IDF สู้กับฮามาส และทิ้งเงินเดือน 18 ล้านบาท/ปีไว้ข้างหลัง

สกายนิวส์ของอังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) ว่า นักร้องอเมริกันขวัญใจคนทั้งโลก เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ต้องสูญเสียบอดี้การ์ดคนสำคัญไปหนึ่งคนอย่างช่วยไม่ได้

บิสซิเนสอินไซเดอร์เคยรายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ราคาเฉลี่ยของบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต Eras Tour ที่ถูกนำกลับมาขายต่ออยู่ที่ราว 3,801 ดอลลาร์ หรือราว 137,913 บาท

สื่ออิสราเอลรายงานว่า หนึ่งในบอดี้การ์ดของนักร้องชื่อดังในทัวร์คอนเสิร์ต Eras Tour ที่มากรอบและบัตรค่าเข้าชมสุดแพงและหายากยอมตัดใจสละเงินเดือนสูงถึง 500,000 ดอลลาร์/ปี หรือ 18,127,000 บาท/ปี (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 16 ต.ค.66 สำหรับ 1 ดอลลาร์ต่อ 36.25 บาท) เดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับไปอิสราเอลบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังทหาร IDF สู้รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส

บอดี้การ์ดที่ไม่เปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์กับสื่ออิสราเอล Hayom ว่า “ผมมีชีวิตที่ดีมากในสหรัฐฯ งานในฝัน เพื่อนที่ดีมาก และบ้านที่มีความสะดวกสบาย”

และเสริมต่อว่า “ผมไม่จำเป็นต้องมาที่นี่ แต่ผมไม่สามารถอยู่เฉยในขณะที่ครอบครัวกำลังโดนสังหารหรือถูกเผาทั้งเป็นในบ้านของคนเหล่านั้น”

บอดี้การ์ดเทย์เลอร์ สวิฟต์ กล่าวอีกว่า “อย่าอยู่เฉยแต่ไม่ทำอะไร อย่างยืนผิดข้างของประวัติศาสตร์”

ทั้งนี้พระแรบไบยิว ชมูเอล ไรช์มาน (Shmuel Reichman) ได้โพสต์ภาพของบอดี้การ์ดและได้เปิดเผยว่า พ่อหนุ่มรายนี้ยอมตัดใจทิ้งเงินค่าตอบแทนก้อนโตถึง 500,000 ดอลลาร์/ปีทิ้งไป ยังไม่รวมถึงการได้พบกับนักร้องสาวชื่อดังอย่างใกล้ชิดแบบตัวเป็น ๆ

ไรช์มานกล่าวว่า บอดี้การ์ดปัจจุบันได้อยู่ในหน่วยของกองกำลัง IDF และกำลังฝึกฝนเพื่อจัดการกับปิศาจฮามาสที่ชั่วร้าย

‘UNSC’ ตีตกข้อเสนอ ‘รัสเซีย’ ไม่ผ่านมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม หลังเรียกร้องให้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน-อพยพ ปชช.

(17 ต.ค. 66) จากกรณีที่รัสเซียยื่นร่างข้อเสนอ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกัน การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือนที่ต้องการอย่างปลอดภัย ในพื้นที่ฉนวนกาซา ระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นั้น ล่าสุด มติดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม

รายงานข่าว Russia push for UN Security Council action on Israel, Gaza fails จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา มติซึ่งต้องการคะแนนเสียงขั้นต่ำ 9 จากกลุ่มสมาชิก 15 ชาติ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

ระเบิด 'โรงพยาบาลฉนวนกาซา' ดับครึ่งพัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก 'ฮามาส' ชี้!! นี่คืออาชญากรรมสงคราม ฟากอิสราเอลปัดเอี่ยว

(18 ต.ค. 66) เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซาซึ่งเต็มไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ที่หาพี่พักพิงเพื่อหลบหนีความรุนแรง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขกาซา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย

เหตุระเบิดโรงพยาบาลที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงครั้งนี้ เกิดขึ้นที่อัล-อะห์ลี ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ในฉนวนกาซาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งพากันลี้ภัยไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยหวังว่าพวกเขาจะรอดพ้นจากการทิ้งระเบิด หลังจากอิสราเอลได้สั่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมดรวมถึงพื้นที่โดยรอบทางตอนเหนืออพยพลงไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ภาพวิดีโอที่ได้รับการยืนยันว่า มาจากโรงพยาบาลที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นเพลิงไหม้ลุกท่วมอาคาร ขณะที่บริเวณโรงพยาบาลเต็มไปด้วยศพผู้คนที่ฉีกขาดจากแรงระเบิด ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพียงเด็กเล็ก ซึ่งรอบศพของพวกเขาที่อยู่บนพื้นหญ้ามีผ้าห่ม เป้สะพายหลังของโรงเรียน และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ กระจัดกระจายอยู่

หลังเกิดเหตุระเบิดทั้งรถพยาบาลและรถยนต์ส่วนตัวได้เร่งนำผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 350 คนไปยังโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักในฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากการโจมตีจากที่อื่นๆ อยู่แล้ว โดยสภาพภายในโรงพยาบาลผู้บาดเจ็บต่างนอนจมกองเลือดบนพื้นและกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด

ด้าน อิสราเอลและปาเลสไตน์ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายยิงจรวดใส่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยฮามาสอ้างว่าเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสังหารหมู่ที่น่าสยดสยอง

ขณะที่ กองทัพอิสราเอล ก็กล่าวโทษว่าโรงพยาบาลถูกโจมตีจากจรวดที่ยิงพลาดเป้าของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตล์ ที่ได้ทำการยิงจรวดจำนวนมากใกล้กับโรงพยาบาลในขณะนั้น โดยอ้างข่าวกรองจากหลายแหล่งที่อิสราเอลมีในมือซึ่งบ่งชี้ว่า กลุ่มญิฮาดอิสลามเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงจรวดที่ล้มเหลวครั้งนี้

ในเวลาต่อมาฝ่ายสื่อของรัฐบาลฮามาสได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตนเอง และขณะนี้มีเหยื่อหลายร้อยคนยังคงติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของโรงพยาบาลดังกล่าว

ขณะที่โฆษกของกองทัพอิสราเอลไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น หรือไม่โดยบอกเพียงว่ากำลังตรวจสอบอยู่

นอกจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลแล้ว องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยสำหรับขาวปาเลสไตน์ของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า รถถังของอิสราเอลได้ยิงจรวดโจมตีโรงเรียนของยูเอ็นในตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์ลี้ภัยอยู่ราว 4,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของยูเอ็นในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างน้อย 24 แห่งที่ถูกโจมตีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 14 ราย

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ประกาศหนุน ‘กลุ่มฮามาส-ชาวปาเลสไตน์’ ลั่น!! พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาทุกข์เหยื่อสงคราม

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศตัวชัดเจน ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา และเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีอย่างเป็นทางการของตนในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ X หรือทวิตเตอร์เดิม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาทันที และจัดตั้งเขตปลอดภัยจากการสู้รบที่เมืองราฟาห์ ซึ่งมีจุดผ่านแดน ‘ด่านราฟาห์’ จากกาซาไปอียิปต์ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์
.
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) เขาโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายอิสมาอิล ฮานิเยะห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ของมาเลเซียต่อชาวปาเลสไตน์

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในฉนวนกาซา ผมจึงขอเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดทันที พร้อมจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) (เขตปลอดภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือน) นอกพื้นที่สู้รบ ที่เมืองราฟาห์” นายอันวาร์ กล่าว

นายกฯ อันวาร์ยังเรียกร้องให้อิสราเอลละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการแย่งชิง (Politics of Dispossession) และดำเนินการตามสันติวิธีเพื่อยุติความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ นายอันวาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาหาร และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อจากการสู้รบนี้

ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ออกมาประณามการบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งนายกฯ อันวาร์ ก็ได้กล่าววานนี้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกดดันจากชาติตะวันตก อีกทั้งมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาตั้งนานแล้ว และประเทศจะคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป

ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส และให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งมาเลเซียก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top