Wednesday, 9 July 2025
ฮามาส

‘เยอรมนี’ เปลี่ยนท่าทีถอยห่าง ‘อิสราเอล’ วอน!! ให้ปกป้องชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์

(13 ธ.ค.66) ‘เยอรมนี’ หวังว่า ‘อิสราเอล’ จะปรับยุทธวิธีทางทหาร หาทางป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนปาเลสไตน์ได้ดีกว่าเดิม” ความเห็นจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ‘อันนาเลนา แบร์บ็อค’ (Annalena Charlotte Alma Baerbock) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 

คำพูดดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีเล็กน้อยของเบอร์ลิน จากเดิมจุดยืนที่ผ่านมา เยอรมนี ออกมาปกป้องอย่างหนักแน่นต่อสิทธิของอิสราเอล ในการป้องกันตนเอง นับตั้งแต่ถูกพวกนักรบฮามาสโจมตีนองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยเน้นย้ำว่า พวกเขามีหน้าที่ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล เพื่อไถ่โทษต่อกรณีกระทำผิดในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ซึ่งพบเห็นชาวยิวมากกว่า 6 ล้านคนถูกสังหารโดยนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนภายหลังรัฐบาลเยอรมนีก็ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา ซึ่งในนั้นรวมถึงพลเรือนชาวยิวคนดังที่พำนักอยู่ในเยอรมนีเอง ต่อกรณีให้สัญญาณผิดๆ เปิดทางให้อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ ซึ่งก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในกาซาด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเยอรมนี ต่างหันมาส่งเสียงเน้นย้ำดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงความจำเป็นที่อิสราเอลต้องยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ ในการตอบโต้การโจมตีของพวกฮามาส แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาต่อพฤติกรรมต่างๆ นานาของอิสราเอลในฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์

โดยท่าทีที่ว่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว “เราคาดหมายอิสราเอล จะเปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนเหนือ เพื่อรับประกันว่าปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา จะเจาะจงเป้าหมายมากกว่าเดิมและก่อความสูญเสียแก่พลเรือนน้อยลง" รัฐมนตรีเยอรมนีรายนี้กล่าวระหว่างแถลงข่าวในดูไบ รอบนอกการประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติ

ทั้งนี้ พลเรือนส่วนใหญ่จากประชากรทั้งหมด 2.3 ล้านคนของกาซา ต้องหลบหนีออกจากบ้านพักอาศัย และพวกชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะหาที่หลบภัยในฉนวน ที่มีพลเรือนพลุกพล่านแห่งนี้ ในขณะที่ความขัดแย้งหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ได้สังหารผู้คนในกาซาไปแล้วกว่า 18,000 ราย

ขณะที่ด้าน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเรียกร้องให้ อิสราเอล เปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เข้าสู่กาซาเพิ่มเติม และประณามการใช้ความรุนแรงของพวกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงก์ ในนั้นรวมถึงระหว่างที่เขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับ เบนจามิน เนทันยาฮู เมื่อวันเสาร์ (9ธ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แสดงความยินดีในกรณีที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรพวกผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอลจำนวนหนึ่ง ต่อเหตุโจมตีชาวปาเลสไตน์ ในดินแดนยึดครองเวสต์แบงก์ และเรียกร้องให้อียู ทำการพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกัน

สงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ อีกหนึ่งความขัดแย้งที่สะเทือนโลกทั้งใบ

ปี 2566 กำลังจะจบลง แต่สิ่งที่คงยังไม่จบลงง่าย ๆ เห็นจะเป็นความขัดแย้งอันละเอียดอ่อน ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนตะวันออกกลางให้สั่นคลอน นั่นคือ สงครามระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ที่ได้เริ่มเปิดฉากโจมตีใส่กัน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด

อีกทั้ง ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังตกเป็นเหยื่อที่ต้องทนทุกข์จากพิษของสงคราม โดยชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์จำนวนมากยังคงติดอยู่ในประเทศ และเผชิญกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภค

โดยเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มต้นมาจากการที่กลุ่มนักรบปาเลสไตน์ หรือ ‘ฮามาส’ ได้เปิดฉากระดมยิงจรวดหลายพันลูกจากฉนวนกาซา โจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.ผ่านมา พร้อมทั้งส่งกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคน แทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล พร้อมจับตัวประกันไว้หลายคน ซึ่งมีแรงงานไทยด้วยจำนวนหนึ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ออกมาประกาศว่า เวลานี้ประเทศอิสราเอลอยู่ใน ‘ภาวะสงคราม’ อย่างเต็มรูปแบบ และยังได้ระดมทหารกองหนุนเพื่อมาร่วมต่อสู้แล้ว โดยเขาประกาศว่า นี่จะเป็นการแก้แค้นครั้งใหญ่ให้กับคนหนุ่มสาวทุกคนที่เสียชีวิต และจะเปลี่ยนฉนวนกาซาให้เป็น ‘เกาะร้าง’

กลุ่มฮามาสได้ออกมาอ้างเหตุผลว่า การโจมตีครั้งนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อความโหดร้ายทั้งหมด ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญจากอิสราเอลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการกระทำของกองกำลังอิสราเอลที่บุก ‘มัสยิดอัล-อักซอ’ (Al-Aqsa) ในนครเยรูซาเล็ม อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอล

การปะทะกันระหว่างฮามาสกับกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของ 2 ฝั่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักรบ และพลเรือนผู้บริสุทธิ์ พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังถือเป็นวิกฤติตัวประกันครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย

โดยยอดผู้เสียชีวิตทางฝั่งของชาวปาเลสไตน์ ล่าสุดสูงถึง 20,000 คน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 66) นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทิ้งระเบิดเพื่อตอบโต้การโจมตี ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรจำนวน 2.2 ล้านคนในพื้นที่ฉนวนกาซา ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4,100 คน หมายความว่า มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 1 คนในทุก 10 นาที (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66)

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของทางฝั่งอิสราเอล ซึ่งมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย จากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลอย่างละเอียดของทางการอิสราเอล ได้ทำการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแล้ว 1,159 ราย พบว่า เป็นพลเรือน 828 ราย และเด็ก 31 ราย (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66) อย่างไรก็ดี ระบบป้องกันภัยทางอากาศ (Iron Dome) ของอิสราเอล สามารถป้องกันความเสียหายร้ายแรง หรือการบาดเจ็บล้มตายเอาไว้ได้

ต่อมา ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ได้ออกมาเผยว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาส จะหยุดยิงเป็นเวลา 4 วัน และตัวประกันชุดแรก 13 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก จะถูกปล่อยตัวออกมาฉนวนกาซา ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน และได้มามีการขยายเวลาหยุดยิงเพิ่มขึ้นอีก รวมเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน โดยมีประเทศกาตาร์ เป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลง เพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ให้ได้รับอิสระ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายประกาศชัดเจนว่า จะกลับมาสู้รบกันอีกครั้ง หลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวสิ้นสุดลง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีฉนวนกาซาอีกครั้งในรอบสัปดาห์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนข้อตกลงสิ้นสุด จึงถือเป็นการสิ้นสุดข้อตกลงหยุดยิงของทั้ง 2 ฝ่าย และเดินหน้าสู้รบกันต่ออีกครั้ง

การสู้รบกันระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ รอบล่าสุดนี้ ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และกลายเป็นการทำสงครามข้ามปี ตามรอย ‘รัสเซีย-ยูเครน’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

'ฮามาส' ขานรับ!! ข้อเสนอใหม่ 'ไบเดน' หยุดยิงใน 'กาซา' ภายใต้ท่าที 'อิสราเอล' ที่ยังอยากกำราบศักยภาพฮามาส

(1 มิ.ย.67) พวกฮามาสขานรับในทางบวก หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯเปิดเผยในวันศุกร์ (31พ.ค.) ว่าอิสราเอลเสนอโร้ดแมปใหม่ที่มุ่งหน้าสู่สันติภาพอย่างถาวรในกาซา พร้อมเรียกร้องนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้ให้ตอบรับข้อตกลงที่น่าประหลาดใจดังกล่าว ระบุ ‘ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติสงครามนี้’

ในการกล่าวแบบจริงจังเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับโร้ดแมปล่าสุดที่ถูกเสนอให้เป็นทางออกของความขัดแย้ง ไบเดนระบุว่าข้อเสนอ 3 ขั้นพร้อมด้วยการหยุดยิงโดยสิ้นเชิงใน 6 สัปดาห์ จะพบเห็นอิสราเอลถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยทั้งหมดของกาซา

ถึงเวลาแล้วที่สงครามนี้ต้องยุติลง 'ไบเดน' กล่าวปราศรัยผ่านโทรทัศน์จากทำเนียบขาว อิสราเอลเสนอข้อเสนอใหม่อย่างครอบคลุม มันคือโร้ดแมปสำหรับการหยุดยิงที่ยาวนานและปล่อยตัวประกันทั้งหมด

ไบเดน วัย 81 ปีจากพรรคเดโมแครต ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในสหรัฐฯ ให้หาทางยุติสงครามกาซา ก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ที่เขาต้องต่อสู้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ท่ามกลางการประท้วงตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศและเสียงขุ่นเคืองภายในพรรคของเขาเอง

ประธานาธิบดีรายนี้บอกว่าภาระหน้าที่สำหรับสันติภาพจะตกอยู่บนบ่าของพวกนักรบปาเลสไตน์ฮามาส ซึ่งเปิดฉากจู่โจมอิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีก่อน จุดชนวนความขัดแย้งทำลายล้างในกาซา ‘ฮามาสจำเป็นต้องรับข้อตกลง’

อย่างไรก็ตาม ไบเดน เปิดเผยว่าเขาได้เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และผู้นำอิสราเอลคนอื่น ๆ เช่นกัน ว่าอย่าปล่อยให้เวลานี้สูญเสียไป โดยบอกว่าปฏิบัติการรุกรานของอิสราเอลกัดเซาะศักยภาพของพวกฮามาสลงไปได้อย่างมากแล้ว ‘ฮามาส ไม่มีศักยภาพการโจมตีแบบเดียวกับ 7 ตุลาคม อีกแล้ว’ ผู้นำสหรัฐฯระบุ พร้อมบ่งชี้ว่าเขาเชื่อว่าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายสงคราม และควรลดระดับปฏิบัติการดังกล่าวได้แล้ว

เกี่ยวกับข้อเสนอโร้ดแมป ไบเดน กล่าวว่าในช่วง 6 สัปดาห์ จะรวมไปถึงการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์และโดยสิ้นเชิง ถอนกำลังทหารอิสราเอลออกจากพื้นที่ประชากรทั้งหมดของกาซา ปล่อยตัวประกันจำนวนหนึ่ง ในนั้นรวมถึงพวกผู้หญิง คนชรา ผู้ได้รับบาดเจ็บ แลกกับการปล่อยนักโทษปาเลสไตน์หลายร้อยคน

"จากนั้นอิสราเอลและฮามาสจะใช้เวลา 6 สัปดาห์เหล่านี้ เจรจาหาทางบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืน แต่การหยุดยิงเบื้องต้นจะถูกขยายออกไปหากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปและยังคงเดินหน้าต่อไป" ไบเดนกล่าว "ตราบใดที่พวกฮามาสทำตามคำมั่นสัญญาของพวกเขา ตามถ้อยคำในข้อเสนอของอิสราเอล การหยุดยิงชั่วคราว จะกลายมาเป็นการยุติความเป็นปรปักษ์อย่างถาวร" ไบเดนกล่าว

สำหรับขั้นที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูที่สนับสนุนโดยนานาชาติ ซึ่งจะใช้เวลานานหลายปี

ฮามาสระบุในวันศุกร์ (31พ.ค.) ว่าพวกเขา มองในแง่บวก ต่อโร้ดแมปของอิสราเอลในการมุ่งหน้าสู่ข้อตกลงหยุดยิง ที่แถลงโดยประธานาธิบดีไบเดน หลังสงครามในกาซาลากยาวมานานเกือบ 8 เดือน

ถ้อยแถลงของนักรบปาเลสไตน์ระบุว่า ฮามาสพิจารณาในทางบวก ต่อบริบทในคำปราศรัยของไบเดน ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ ในเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงถาวร การถอนกองกำลังอิสราเอลออกจากกาซา การบูรณะฟื้นฟูและแลกเปลี่ยนนักโทษ

คำแถลงของไบเดน มีขึ้นหลังจากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในการยุติสงครามต้องมีอันหยุดชะงักลง และมีสัญญาณว่าข้อตกลงอาจดับสนิทตั้งแต่ยื่นให้พิจารณา

เนทันยาฮู กล่าวหลังคำปราศรัยของไบเดน ว่าสงครามในกาซาจะไม่ยุติจนกว่าจะสามารถกำจัดศักยภาพในการปกครองและทำสงครามของพวกฮามาส ขณะที่พวกฮามาส ซึ่งได้รับข้อเสนอในวันพุธ (29พ.ค.) ผ่านคนกลางอย่างกาตาร์ ยืนยันว่าข้อตกลงหยุดยิงใด ๆ ควรเป็นข้อตกลงถาวร

ทางกลุ่มบอกก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (31 พ.ค.) ว่าได้แจ้งกับพวกคนกลางว่าพวกเขาจะเห็นชอบข้อตกลงหยุดยิงอย่างครอบคลุม ในนั้นรวมถึงแลกเปลี่ยนตัวประกัน หากอิสราเอลระงับปฏิบัติการรุกราน ขณะที่อิสมาอิล ฮานิเยห์ แกนนำฝ่ายการเมืองของฮามาส ที่พำนักอยู่ในกาตาร์ เน้นย้ำว่าข้อเรียกร้องหลักของทางกลุ่ม ในนั้นรวมถึงการหยุดยิงถาวรและอิสราเอลถอนกำลังออกไปทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่อาจเจรจาต่อรองได้

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ บอกว่าข้อเสนอใหม่ของอิสราเอล แทบจะเหมือนกับที่ ฮามาส เสนอมาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่ยอมรับว่ายังคงมีข้อเห็นต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ

ไบเดน ไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการจู่โจมของอิสราเอล เล่นงานเมืองราฟาห์ ทางใต้ของกาซา ที่ทางกองทัพอิสราเอลเปิดเผยในวันศุกร์ (31 พ.ค.) ว่าได้เดินหน้าเข้าสู่ใจกลางเมืองแล้ว แม้มีเสียงคัดค้านจากนานาชาติ แต่ ไบเดน ยอมรับว่าชาวปาเลสไตน์ เหมือนตกอยู่ในขุมนรกอย่างแท้จริง

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติ ต่อกรณีที่พวกให้การสนับสนุนอิสราเอล นับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีนองเลือดในกาซา ทำค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดไปด้วยผู้คน เกิดไฟลุกไหม้ในวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 รายและบาดเจ็บ 250 คน

กระนั้นทำเนียบขาวบอกในช่วงกลางสัปดาห์ ว่าแม้การโจมตีของอิสราเอลได้ก่อการทำลายล้าง แต่ไม่ถือว่าละเมิดเส้นตายของไบเดน ที่ขีดไว้สำหรับระงับการส่งมอบอาวุธแก่พันธมิตรหลักของสหรัฐฯแห่งนี้

ลูกชายผู้นำฮามาส ชี้!! พ่อถูกฆ่าด้วยขีปนาวุธนำวิถีแกะรอยโทรศัพท์มือถือ แง้ม!! ไม่ใช่เหตุลอบวางระเบิด เพราะบุคคลอื่นที่ห่าง 2-3 เมตร ปลอดภัย

เมื่อวานนี้ (18 ส.ค. 67) เว็บไซต์เยรูซาเล็มโพสต์รายงานว่า ตามที่เคยรายงานข่าว ‘นายฮานิเยห์’ เสียชีวิตในกรุงเตหะรานของอิหร่านเมื่อวันที่ 31 ก.ค.  รายงานข่าวจากนิวยอร์กไทม์สยืนยันโดยเยรูซาเล็มโพสต์ระบุว่า ระเบิดถูกฝังไว้ในห้องของเขาหลายเดือนก่อนเจ้าตัวถูกปลิดชีพ

ตามรายงานข่าวและข้อมูลจากแหล่งข่าวเผยว่า ระเบิดถูกซ่อนอยู่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. สั่งการด้วยเทคโนโลยีทางกลไกล้ำสมัยที่เคยใช้ในการสังหารนายโมห์เซน ฟาริซาเดห์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่าน

แต่ล่าสุดบุตรชายของนายฮานิเยห์กล่าวกับอัล อารบิยาว่า ไม่ได้เป็นแบบนั้น

“ผมคิดว่าเรื่องระเบิดไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด มีบอดี้การ์ดและที่ปรึกษาอื่น ๆ อีกมากมายในห้องที่ห่างจากห้องเขาออกไปแค่ 2-3 เมตร ชัดเจนว่าถ้ามีระเบิดก็ต้องระเบิดกันทั้งหมด”

“มันคือขีปนาวุธนำวิธีแกะรอยจากโทรศัพท์มือถือของเขา ที่เขาวางไว้ในห้องตอนกลางคืนใกล้กับศรีษะซึ่งถูกโจมตีโดยตรง”

บุตรชายกล่าวและว่า บิดาของตนใช้โทรศัพท์ต่อเนื่อง ในคืนนั้นก็ใช้ในเวลา 22.15 น.

“พ่อผมไปร่วมงานพิธีการ เขาต้องนำโทรศัพท์มือถือไปด้วยปฏิบัติการจึงทำได้ไม่ซับซ้อน” บุตรชายอธิบายเหตุผลว่าทำไมบิดาของตนถึงตกเป็นเป้าอย่างง่ายดาย

“เขาอยู่ในประเทศหนึ่งเพื่อร่วมพิธีสาบานตนประธานาธิบดี (มาซุด เปเซชคิอัน) ร่วมกับตัวแทนคนอื่น ๆ มาตรการรักษาความปลอดภัยจึงเทียบกันไม่ได้กับในพื้นที่ซ่อนตัวที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ”

ตอนแรกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) รายงานว่า ผู้นำฮามาสถูกปลิดชีพจากจรวดพิสัยใกล้บรรทุกวัตถุระเบิดราว 7 กิโลกรัมที่ยิงมาจากด้านนอกอาคาร ซึ่งฮานิเยห์ผู้ลูกจบการสัมภาษณ์ด้วยข้อสรุป เขาเชื่อว่าการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ดำเนินการด้วยความคุ้มครองของสหรัฐ

ทั้งนี้ อิหร่านกล่าวโทษว่าเป็นฝีมืออิสราเอลและประกาศตอบโต้ โดยที่อิสราเอลไม่เคยพูดว่าเป็นฝีมือของตน สหรัฐก็ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารครั้งนี้

‘อิสราเอล’ ยืนยันแล้วสังหาร ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ ผู้นำกลุ่มฮามาส จับตา! อนาคตความขัดแย้ง-ตัวประกันในพื้นที่ตะวันออกกลาง

(18 ต.ค. 67) ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นผู้วางแผนการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ที่จุดชนวนให้เกิดสงครามกาซา ถูกกองกำลังอิสราเอลสังหารในดินแดนปาเลสไตน์ โดยอิสราเอลเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี

การสังหารเขาถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของอิสราเอล และเป็นเหตุการณ์สำคัญในความขัดแย้งที่กินเวลานานหนึ่งปี ผู้นำชาติตะวันตกกล่าวว่าการเสียชีวิตของเขาเป็นโอกาสให้สงครามยุติลง แต่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลกล่าวว่าสงครามจะดำเนินต่อไป

กองทัพอิสราเอลกล่าวว่าได้สังหารซินวาร์ในปฏิบัติการทางตอนใต้ของฉนวนกาซาเมื่อวันพุธ

“หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการระบุตัวตนของศพแล้ว สามารถยืนยันได้ว่ายาห์ยา ซินวาร์ถูกกำจัดแล้ว” กองทัพอิสราเอลระบุ

ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นใด ๆ จากกลุ่มฮามาส แต่แหล่งข่าวในกลุ่มก่อการร้ายกล่าวว่าสัญญาณจากฉนวนกาซาบ่งชี้ว่าซินวาร์ถูกสังหารในปฏิบัติการของอิสราเอล ในอิสราเอล ครอบครัวของตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสควบคุมตัวในฉนวนกาซา กล่าวว่าพวกเขาหวังว่าจะมีการหยุดยิงเพื่อนำตัวประกันกลับบ้าน แต่ก็กลัวว่าคนที่พวกเขารักจะตกอยู่ในอันตรายที่ร้ายแรงกว่า

ในฉนวนกาซา ซึ่งถูกกองกำลังอิสราเอลโจมตีอย่างไม่ลดละเป็นเวลาหนึ่งปี ชาวเมืองกล่าวว่าพวกเขาเชื่อว่าสงครามจะดำเนินต่อไป แต่พวกเขายังคงยึดมั่นในความหวังที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง

ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งได้โทรศัพท์แสดงความยินดีกับเนทันยาฮู รวมถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส กล่าวว่าการเสียชีวิตของซินวาร์เป็นโอกาสให้ความขัดแย้งในฉนวนกาซาที่กินเวลานานกว่าหนึ่งปีสิ้นสุดลงในที่สุด และเพื่อให้ตัวประกันชาวอิสราเอลได้กลับบ้าน

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ต้องการเริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับข้อเสนอที่จะบรรลุการหยุดยิงและการปล่อยตัวตัวประกัน โดยเรียกซินวาร์ว่าเป็น "อุปสรรคหลัก" ต่อการยุติสงคราม “อุปสรรคนั้นได้ถูกขจัดออกไปอย่างชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครก็ตามที่เข้ามาแทนที่ (ซินวาร์) จะตกลงหยุดยิง แต่การหยุดยิงนั้นได้ขจัดอุปสรรคสำคัญในการหยุดยิงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา” เขากล่าว มิลเลอร์กล่าวว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซินวาร์ปฏิเสธที่จะเจรจาเลย

เนทันยาฮูกล่าวที่กรุงเยรูซาเล็มทันทีหลังจากการเสียชีวิตได้รับการยืนยันว่า การเสียชีวิตของซินวาร์เป็นโอกาสให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง แต่เขาเตือนว่าสงครามในฉนวนกาซายังไม่สิ้นสุด และอิสราเอลจะดำเนินต่อไปจนกว่าตัวประกันจะถูกส่งตัวกลับ

เนทันยาฮูกล่าวในแถลงการณ์ที่บันทึกวิดีโอไว้ว่า “วันนี้เราได้สะสางเรื่องทั้งหมดแล้ว วันนี้ความชั่วร้ายได้รับการโจมตี แต่ภารกิจของเรายังไม่เสร็จสิ้น” “ถึงครอบครัวตัวประกันที่รัก ฉันขอกล่าวว่า นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญของสงคราม เราจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าคนที่คุณรัก คนที่เรารัก จะกลับบ้าน”

อิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลกล่าวว่า “นี่คือความสำเร็จทางทหารและศีลธรรมอันยิ่งใหญ่สำหรับอิสราเอล” เขาเรียกซินวาร์ว่าเป็น "ฆาตกรหมู่ที่รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่และความโหดร้ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม" - การโจมตีอิสราเอลที่นำโดยกลุ่มฮามาสที่จุดชนวนให้เกิดการโจมตีในฉนวนกาซา

พลโทเฮอร์ซี ฮาเลวี ผู้บัญชาการทหารอิสราเอล กล่าวว่า การที่อิสราเอลไล่ล่าซินวาร์ในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้เขา "ทำตัวเหมือนผู้หลบหนี ทำให้เขาต้องเปลี่ยนสถานที่หลายครั้ง"

เขากล่าวว่า ทหารพบซินวาร์ระหว่างปฏิบัติการปกติโดยไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่นั่น ซึ่งแตกต่างจากปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ต่อต้านผู้นำกลุ่มก่อการร้ายโดยอาศัยข้อมูลข่าวกรองที่ครอบคลุม

การสังหารดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการภาคพื้นดินในเมืองราฟาห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ซึ่งกองทัพอิสราเอลสังหารนักรบ 3 คนและนำศพของพวกเขาไป สถานีวิทยุกองทัพอิสราเอลรายงาน

ซินวาร์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้นำโดยรวมของกลุ่มฮามาสหลังจากการลอบสังหารอิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองในกรุงเตหะรานเมื่อเดือนกรกฎาคม เชื่อกันว่าซ่อนตัวอยู่ในอุโมงค์ที่กลุ่มฮามาสสร้างขึ้นภายใต้ฉนวนกาซาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าชาติตะวันตกต่างหวังว่าจะมีการหยุดยิง แต่การเสียชีวิตของเขาอาจทำให้เกิดการสู้รบในตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะขยายวงกว้างขึ้น อิสราเอลได้เริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินในเลบานอนเมื่อเดือนที่แล้ว และขณะนี้กำลังวางแผนตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยอิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์แห่งเลบานอนเป็นผู้ลงมือ

แต่การเสียชีวิตของชายผู้วางแผนการโจมตีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนักรบได้สังหารผู้คนในอิสราเอลไป 1,200 คน และจับตัวประกันไปมากกว่า 250 คน ตามการนับของอิสราเอล อาจช่วยผลักดันความพยายามในการยุติสงครามที่หยุดชะงักซึ่งอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วกว่า 42,000 คน ตามข้อมูลของทางการด้านสาธารณสุขของกาซา

ซินวาร์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 2505 เคยได้รับมอบหมายให้ลงโทษชาวปาเลสไตน์ที่ต้องสงสัยว่าให้ข้อมูลแก่อิสราเอล ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะหัวหน้าเรือนจำ เขากลายเป็นฮีโร่บนท้องถนนในฉนวนกาซาหลังจากรับโทษจำคุกในเรือนจำของอิสราเอลนานกว่า 20 ปีในข้อหาวางแผนการลักพาตัวและสังหารทหารอิสราเอล 2 นายและชาวปาเลสไตน์ 4 นาย

เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2011 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษกว่า 1,000 คนกับทหารอิสราเอล 1 นายที่ถูกลักพาตัวไปซึ่งถูกคุมขังในฉนวนกาซา จากนั้น Sinwar ก็ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในกลุ่มฮามาสอย่างรวดเร็ว เขาอุทิศตนเพื่อกำจัดอิสราเอล

อิสราเอลสังหารผู้บัญชาการของกลุ่มฮามาสหลายคนในฉนวนกาซา รวมถึงบุคคลสำคัญของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่านในเลบานอน ส่งผลให้ศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายชะตากรรมของตัวประกัน

การสังหารครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของตัวประกัน และอนาคตของความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง

อิสราเอล-ฮามาส ตกลงหยุดยิงปล่อยตัวประกันแล้ว จ่อยุติสงครามที่ดำเนินมานาน 15 เดือน

(16 ม.ค.68) นายกรัฐมนตรีชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล ทานี ของกาตาร์ ได้ประกาศว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคมนี้ พร้อมการปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดกลับสู่ครอบครัว  

นายอัล ทานี ระบุว่า กาตาร์จะทำงานร่วมกับอียิปต์และสหรัฐอเมริกา เพื่อประกันว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว พร้อมแสดงความหวังว่านี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามในฉนวนกาซา  

ด้าน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันความสำเร็จของการเจรจาที่อียิปต์และกาตาร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยยุติการสู้รบ เปิดเส้นทางสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ และส่งตัวประกันกลับบ้าน  

ในระยะเริ่มต้นของการหยุดยิง ชาวปาเลสไตน์จะสามารถกลับไปยังบ้านเรือนของพวกเขาได้ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาจะเพิ่มขึ้น  

ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการเจรจาเพิ่มเติมในเฟสที่ 2 ของการหยุดยิง ซึ่งอาจเป็นก้าวสำคัญสู่การสิ้นสุดความขัดแย้งอย่างถาวร หากการพูดคุยนี้ยืดเยื้อเกิน 6 สัปดาห์ ระยะเวลาการหยุดยิงจะขยายออกไปอีก  

ในเฟสที่ 3 ฮามาสจะปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมด ขณะที่แผนการฟื้นฟูฉนวนกาซาจะเริ่มต้นขึ้น  

ตลอด 15 เดือนของความขัดแย้งที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงและนักรบจำนวนมากของฮามาสเสียชีวิต ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวอ่อนแอลงในเชิงปฏิบัติ ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ  

ไบเดนยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้คนในอิสราเอลได้กลับมาพบกับบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ยังช่วยให้ฉนวนกาซาได้รับการฟื้นฟู โดยไม่มีกลุ่มฮามาสเข้ามาเกี่ยวข้อง  

การหยุดยิงระยะเวลา 6 สัปดาห์ จะเริ่มในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม โดยฮามาสจะปล่อยตัวประกัน 33 คน ในขณะที่อิสราเอลจะถอนทหารออกจากพื้นที่พลเรือนในฉนวนกาซา พร้อมปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคน

อิสราเอลฉะฮามาส ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ขู่ไม่ลงนามจนกว่าทุกเงื่อนไขจะครบ

(17 ม.ค.68) ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกแถลงการณ์ในวันนี้ ระบุว่ากลุ่มฮามาสได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงบางส่วน ที่ทำไว้ร่วมกับตัวแทนการเจรจาและอิสราเอล

แถลงการณ์ยังระบุเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีอิสราเอลจะยังไม่ประชุมเพื่อให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าว จนกว่าตัวแทนการเจรจาจะแจ้งให้อิสราเอลทราบว่าฮามาสได้ยอมรับเงื่อนไขทุกข้อในข้อตกลง อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าฮามาสละเมิดข้อตกลงในส่วนใด

ด้านกาตาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนการเจรจา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า อิสราเอลและฮามาสได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา โดยจะเริ่มมีผลในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม ตามข้อตกลง ฮามาสจะปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล แลกกับการที่อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากคณะรัฐมนตรีและศาลฎีกาของอิสราเอล

ด้านสำนักข่าว NBC News รายงานว่า นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กำลังนำข้อตกลงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก่อนจะส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ หากผ่านการอนุมัติ จะส่งต่อไปยังศาลฎีกาเพื่อรับรองภายใน 24 ชั่วโมง

ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาสแบ่งเป็น 3 ระยะคือ
ระยะแรกหยุดยิงเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ฮามาสปล่อยตัวประกันอิสราเอล 33 คน ซึ่งรวมถึงเด็ก ผู้หญิง ผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และทหารหญิงบางคน อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ประมาณ 2,000 คน

ระยะที่สองฮามาสปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมด และอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์เพิ่มเติม

ระยะสุดท้ายฮามาสส่งคืนร่างของตัวประกันที่เสียชีวิต อิสราเอลดำเนินแผนฟื้นฟูฉนวนกาซาเป็นเวลา 3-5 ปี ภายใต้การดูแลของนานาชาติ

ผลกระทบเพิ่มเติม

ข้อตกลงยังระบุว่า อิสราเอลจะถอนกำลังทหารออกจากระเบียงฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างชายแดนฉนวนกาซาและอียิปต์ พร้อมทั้งอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บออกไปรักษาพยาบาล และส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา

รายงานเพิ่มเติมเผยว่า ในบรรดาตัวประกัน 33 คน อาจรวมถึงชาวอเมริกัน 2 คน ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ฮามาสจ่อปล่อยตัวคนไทย 5 ชีวิตหลุดฉนวนกาซา พร้อมชาวอิสราเอล หลังถูกจับกว่า 3 เดือน

(30 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่อิสราเอลเผยว่า กลุ่มฮามาสมีแผนจะปล่อยตัวประกันชาวไทย 5 คน และชาวอิสราเอลอีก 3 คน จากฉนวนกาซาในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคมนี้ โดยชาวอิสราเอลที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ อาร์เบล เยฮุด (Arbel Yehud) หญิงวัย 29 ปี, อากัม เบอร์เกอร์ (Agam Berger) นักสังเกตการณ์ทางทหารอายุ 20 ปี และ กาดี โมเสส (Gadi Moses) ชายวัย 80 ปี

การปล่อยตัวประกันครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนตัวประกันระลอกที่ 3 ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยการแลกเปลี่ยนนี้จะมีการปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ 110 คนจากเรือนจำของอิสราเอล

สำหรับตัวประกันชาวไทยที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่ออย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าเป็นแรงงานภาคเกษตรที่ถูกลักพาตัวไปจากคิบบุตซ์ในอิสราเอล ก่อนหน้านี้ทางการไทยได้เปิดเผยรายชื่อพลเมืองไทย 6 คนที่ยังคงถูกกักตัวในฉนวนกาซา ได้แก่ วัชระ ศรีอ้วน, บรรณวัชร แซ่ท้าว, เสถียร สุวรรณคำ, ณัฐพงษ์ ปินตา, พงษ์ศักดิ์ แทนนา และ สุรศักดิ์ ลำเนา นอกจากนี้ยังมีตัวประกันชาวไทยอีก 2 คนที่เสียชีวิตแล้ว ได้แก่ สนธยา อัครศรี และ สุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2023

ด้านอิสราเอลคาดการณ์ว่าจะมีการปล่อยตัวประกันครั้งที่ 4 ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยจะเป็นการปล่อยตัวประกันชาย 3 คน

ทั้งนี้ การปล่อยตัวประกันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงหยุดยิงที่เกิดขึ้นหลังจากการโจมตีข้ามพรมแดนของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 คน และมีตัวประกัน 251 คนถูกพาตัวไปยังฉนวนกาซา นับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้วกว่า 47,310 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ก่อนหน้านี้ ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงระลอกแรก ตัวประกันชาวอิสราเอล 3 คน ได้แก่ โรมี โกเนน, โดรอน สไตน์เบรเชอร์ และ เอมิลี ดามารี ได้รับการปล่อยตัวและกลับไปพบกับครอบครัวแล้ว อิสราเอลระบุว่าก่อนบรรลุข้อตกลงหยุดยิง มีตัวประกัน 94 คนที่ยังสูญหาย และเชื่อว่ามีเพียง 60 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

รู้จัก ‘ฉนวนกาซา’ ความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ สู่การเรียนรู้!! ผลลัพธ์อันเหี้ยมโหดของสงคราม

(29 มิ.ย. 68) ใดๆdigest ep.นี้ พามารู้จักกับหนึ่งในพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และการสู้รบที่ทำให้เกิดความสูญเสียกับทุกฝ่ายมาอย่างยาวนานครับ 

ดินแดนที่เรียกกันว่า "ฉนวนกาซา" มีขนาดความยาวเหนือจรดใต้ 41 กิโลเมตร ขณะที่มีความกว้างเพียง 10 กิโลเมตร ขนาบข้างพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกด้วยเขตแดนของอิสราเอล ชายแดนทางใต้ติดกับอียิปต์ ส่วนชายทะเลด้านตะวันตกเป็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 360 ตร.กม.เล็กกว่า จ.สมุทรสงคราม ของประเทศไทย ที่มีขนาด 416.7 ตร.กม. เพียงเล็กน้อย 

"กาซา"เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์มีผู้คนอาศัยอยู่ในฉนวนกาซากว่า 2.3 ล้านคนโดยประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กถึงร้อยละ 75 และเป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังช่วง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรกในปี 1948  และถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สาเหตุที่ถูกเรียกว่า "ฉนวนกาซา" เนื่องจากเขตแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรก เมื่อปี 1948 ให้เป็นคล้ายกับเขตกันชนระหว่าง 2 ฝ่าย ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า กว่า 80% ของผู้ที่อาศัยในฉนวนกาซาต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากนานาชาติ และประมาณ 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน

หลังปี 1948 ฉนวนกาซ่าถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในปี 1967 ทำให้ฉนวนกาซ่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซ่า

ต่อมาในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิวที่ผิดกฏหมาย ออกจากฉนวนกาซ่าทั้งหมด จากนั้น เมื่อกลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2006 ฉนวนกาซ่าจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กลุ่มฮามาสมีจุดยืนแข็งกร้าวไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอลอย่างเด็ดขาดและมักก่อเหตุโจมตีอิสราเอลทั้งการส่งมือปืนและมือระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในอิสราเอลบ่อยครั้ง การบุกจู่โจมอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว  กลุ่มฮามาสนี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งนับถือนิกายชีอะห์และสืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ช่วงทศวรรษ 1920

ลักษณะทางกายภาพของฉนวนกาซานั้นเป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ที่ไม่มีงานทำ เสียเป็นส่วนใหญ่  สภาพอย่างนี้ โดยปกติชาวกาซ่าก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบากอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีหลังนับตั้งแต่ 2007 อิสราเอลยังใช้มาตรการปิดล้อมกาซ่า จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ใน ‘คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีคนตายจำนวนมากในกาซ่าอันเกิดจากมาตรการปิดล้อมดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต หรือการตายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษา โรคเพียงพอ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็กปาเลสไตน์กว่าครึ่งในฉนวนกาซ่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปิดล้อมกาซ่าของอิสราเอลตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้ควบคุมน่านฟ้าเหนือเขตกาซา รวมถึงตลอดแนวชายฝั่งทะเลของกาซาด้วย โดยจำกัดผู้คนและสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกตามแนวพรมแดน เช่นเดียวกับอียิปต์ที่ควบคุมการเข้าออกของผู้คนบริเวณพรมแดนที่ติดกับกาซา โดยอิสราเอลและอียิปต์ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง

สถานการณ์ดูเหมือนจะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อทางการอิสราเอลประกาศที่จะยึดครองเขตฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลที่เกิดขึ้นหลายครั้ง  ซึ่งนั่นหมายถึงการตัดขาดการลำเลียงอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิงเข้าไปยังเขตกาซาด้วย

มาตรการปิดล้อมกาซ่ามีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ ต้องการโดดเดี่ยวกาซ่าภายใต้การปกครองของกลุ่มฮามาส อิสราเอลตั้งใจให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าเจอปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากนโยบายปิดล้อม และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกอิสราเอลโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าลุกฮือต่อต้านกลุ่มฮามาส แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับตรงข้าม นับวันฮามาสยิ่งมีคะแนนนิยมมากขึ้น บ้านเมืองในฉนวนกาซ่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยากจากการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจก็ตาม ที่สำคัญคือ กองกำลังฮามาสมีความเข้มแข็งและถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น 

จุดยืนที่ชัดเจนของ "กลุ่มฮามาส" คือ ไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอล และมักใช้วิธีการรุนแรงโจมตีอิสราเอล จนทำให้นานาชาติทั้ง อิสราเอล สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา ประกาศขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาสเป็น "องค์กรก่อการร้าย" แต่ขณะเดียวกันฮามาสก็มีพันธมิตรที่คอยหนุนหลัง ได้แก่ อิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิม นิกายชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งในระยะหลังกลุ่มฮามาสกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาท และใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อิสราเอลต้องใช้กำลังเข้ามาโจมตีกาซ่าอย่างที่เราเห็นกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน แม้อิสราเอลเคยบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับอียิปต์และจอร์แดน แต่อิสราเอลและปาเลสไตน์ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้ ความไม่ไว้วางใจระหว่างสองฝ่ายยังคงลึกซึ้งนำไปสู่การสู้รบที่ยังคงคุกกรุ่นอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซามาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง 

ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส จะสิ้นสุดเมื่อใด ดูตามปัจจัยหลายข้อจากสถานการณ์ความรุนแรงระดับภูมิภาคนี้ ความขัดแย้งนี้มีรากฐานจากความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์ในภูมิภาค การเจรจาสันติภาพในอดีตก็มักล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน 

ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่มีอำนาจ ก็ได้พยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในกาซา แต่การเจรจาเหล่านี้มักเผชิญกับความล้มเหลวเนื่องจากข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน เช่น ฮามาสเรียกร้องให้มีการยุติการปิดล้อมกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนกรานว่าต้องมีการหยุดการโจมตีจากฮามาสอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงทางทหารก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ และผู้ที่รับผลจากการสู้รบที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั่นเอง 

สิ่งที่เราทุกคนควรเรียนรู้จากเรื่องความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ และการสู้รบในฉนวนกาซานี้ก็คือ สงครามไม่เคยเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืนให้กับฝ่ายใดได้เลย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายมีแต่จะฝังรากลึกลงไปในจิตใจของผู้สูญเสียและเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังให้เจริญเติบโตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ทุกร่างที่ทิ้งตัวลงทับถมบนแผ่นดินเปื้อนเลือดและถูกพรากเอาชีวิตไปล้วนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนของใครสักคนเสมอ ลูกที่สูญเสียพ่อไปจากความเกลียดชังก็จะโตขึ้นไปพรากเอาชีวิตของพ่อใครซักคนไปด้วยความเกลียดชังเป็นวังวนต่อไปอีกหากมนุษย์ไม่เรียนรู้ที่จะให้อภัยและไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน 

ใดๆdigest หวังว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจภัยร้ายแรงของสงคราม และปรารถนาการแก้ไขทุกความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในทุกกรณีโดยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ในตัวของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกันและแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในทุกๆความขัดแย้งเป็นสำคัญครับ 

ขอไว้อาลัยและแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณทุกดวงที่จาก ไป และขอให้สันติสุขบังเกิดขึ้นโดยเร็ว

‘เยเมน-กาซา’ กระหน่ำยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอล สหรัฐฯ ขู่ใช้ B-2 ทิ้งบอมบ์เยเมน ตอบโต้กลุ่มฮูตี

(2 ก.ค. 68) อิสราเอลสกัดขีปนาวุธที่ยิงจากเยเมนได้สำเร็จ พร้อมประกาศตอบโต้ทันที ขณะที่ไมค์ ฮักคาบี (Mike Huckabee) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล แถลงว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 ไปโจมตีเยเมน เช่นเดียวกับที่เคยใช้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดวของอิหร่านเมื่อไม่นานนี้

เสียงไซเรนแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศดังทั่วเทลอาวีฟ เยรูซาเลม และภาคกลางของอิสราเอล ประชาชนพากันหลบในที่ปลอดภัย ท่ามกลางความตื่นตระหนก ด้านรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัทซ์ (Israel Katz) กล่าวอย่างแข็งกร้าวว่า “เยเมนจะพบจุดจบเช่นเดียวกับเตหะราน” พร้อมระบุว่า “ใครยกมือทำร้ายอิสราเอล มือคนนั้นจะถูกตัดทิ้ง”

รายงานจากสถานีวิทยุกองทัพอิสราเอลระบุว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธ Arrow ของอิสราเอลสามารถยิงสกัดขีปนาวุธจากเยเมนได้สำเร็จในอากาศ นอกจากนี้ ทางการได้สั่งปิดน่านฟ้าบางส่วนเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย โดยนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการถล่มกาซาอีกครั้ง กลุ่มอันซารุลเลาะห์ในเยเมนได้ยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลแล้ว 53 ลูก

ขณะเดียวกัน ทางภาคใต้ของอิสราเอล กองทัพประกาศว่าสามารถสกัดจรวด 2 ลูกที่ยิงจากฉนวนกาซาได้สำเร็จ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยมีรายงานเสียงไซเรนดังในหลายจุดใกล้ชายแดนกาซา ขณะที่กลุ่มอัลกอซซามของฮามาสอ้างความรับผิดชอบ พร้อมระบุว่าได้ยิงจรวด Q20 จากพื้นที่ทางเหนือของคานยูนิสใส่เป้าหมายของอิสราเอลที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top