Monday, 6 May 2024
อาวุธนิวเคลียร์

'ปูติน' ระงับสนธิสัญญานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หลังพบสหรัฐฯ เริ่มพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์แบบใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุระหว่างแถลงนโยบายประจำปีเมื่อวันอังคารว่า เขาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสนธิสัญญาลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียทำไว้กับสหรัฐอเมริกา และกล่าวหาชาติตะวันตกว่าทำให้ความขัดแย้งในยูเครนเลวร้ายลง

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงนโยบายประจำปีในกรุงมอสโก เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อสมาชิกรัฐสภาและนายทหารระดับสูงของรัสเซีย ก่อนหน้าไม่กี่วันที่จะครบรอบ 1 ปี ที่ทหารรัสเซียเริ่มบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

ปูตินกล่าวหามหาอำนาจชาติตะวันตกว่าต้องการจำกัดรัสเซียให้หมดสิ้น และรัสเซียถูกบังคับให้ระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา 'นิวสตาร์ต' ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจำกัดการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีข้อตกลงไว้กับสหรัฐ แต่บอกว่าจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงทั้งหมด

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า บางคนในกรุงวอชิงตันกำลังคิดเรื่องกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ดังนั้นกระทรวงกลาโหมของรัสเซียและบริษัทนิวเคลียร์ของรัสเซียควรที่จะพร้อมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียถ้ามีความจำเป็น

ปูตินระบุแน่นอนว่าเราจะไม่เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่ถ้าสหรัฐอเมริกาดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เราจะทำเช่นกัน ไม่ควรมีภาพลวงตาที่อันตรายที่ว่าความเสมอภาคทางยุทธศาสตร์ของโลกสามารถถูกทำลายได้

ชาวเกาหลีใต้ 56% หนุนเกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อใช้ต้านภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ 

(24 เม.ย.66) สำนักสำรวจเรียลมิเตอร์สอบถามความเห็นชาวเกาหลีใต้วัยผู้ใหญ่จำนวน 1,008 คนเมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ตอบ 56.5% สนับสนุนให้เกาหลีใต้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง และเห็นว่าควรต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือในโอกาสที่

ประธานาธิบดี ยุน ซ็อกยอล จะเดินทางไปประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ขณะที่ผู้ตอบ 40.8% คัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ข้อถามถึงเหตุผลที่สนับสนุนให้เกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ผู้ตอบ 45.2% ชี้ว่า เกาหลีใต้ควรต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ และต่อข้อถามถึงเหตุผลที่คัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ผู้ตอบ 44.2% ชี้ว่า จะทำให้เกาหลีใต้ถูกนานาชาติคว่ำบาตร 

ประธานาธิบดียุนจะเยือนสหรัฐฯ ในฐานะประมุขของรัฐเป็นเวลา 6 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน เนื่องในวาระครบ 70 ปีที่ 2 ประเทศเป็นพันธมิตรกัน คาดว่าประเด็นภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ จะเป็นหัวข้อหลักของการสนทนากับผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาวในวันที่ 26 เมษายนหลังจากพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ

‘ญี่ปุ่น’ จัดพิธีรำลึก 78 ปี สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา พร้อมสนับสนุนให้โลกปราศจากภัยคุกคาม-อาวุธนิวเคลียร์

(6 ส.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดพิธีครบรอบ 78 ปี เหตุการณ์ที่สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา ซึ่งเป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยนายคาซึมิ มัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมาได้กล่าววิงวอนให้มีการยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวโจมตีภัยคุกคามจากรัสเซียถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์

‘ระฆังสันติภาพ’ ถูกตีในพิธีที่ถูกจัดขึ้น ณ สวนสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา เมื่อเวลา 08.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อ ‘ลิตเติ้ลบอย’ ที่ฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.4 แสนราย โดยในพิธีรำลึกดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมถึง 5 หมื่นราย หลายคนเป็นผู้รอดชีวิต ครอบครัวของเหยื่อ และผู้แทนต่างชาติจาก 111 ประเทศ ต่างมารวมตัวกัน เพื่อสวดมนต์ไว้อาลัยแก่ทุกชีวิตที่ดับสูญไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ประเทศรัสเซียและเบลารุสไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันเนื่องจากวิกฤตสงครามในประเทศยูเครน นายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่นซึ่งครอบครัวของเขามาจากเมืองฮิโรชิมา ขึ้นกล่าวในพิธีว่า “ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ถูกทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงสงคราม ประเทศญี่ปุ่นจะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์”

คิชิดะกล่าวอีกว่า ถึงกระนั้นก็ตามเส้นทางข้างหน้าที่จะนำไปสู่จุดนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความแตกแยกที่มากขึ้นในหมู่ประชาคมโลก เกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์และภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากรัสเซีย ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่าคือ การทำให้แรงผลักดันของโลกนำไปสู่โลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และการทำลายล้างจากอาวุธนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากินั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำ

ขณะที่นายมัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา ขึ้นกล่าวในพิธีว่า “ผู้นำประเทศทั่วโลกต้องยอมรับกับความจริงที่ว่า ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ในขณะนี้ ที่ถูกพูดถึงโดยผู้กำหนดนโยบายบางคนนั้น เผยให้เห็นความโง่เขลาของทฤษฎีการป้องปรามทางนิวเคลียร์”

ด้านนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกถ้อยแถลงเนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปีเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา เรียกร้องให้ประชาคมโลกส่งเสียงออกมาเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากบางประเทศในโลก ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

หลังจากการทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาเพียง 3 วัน สหรัฐก็ได้ทำการทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อ แฟตแมน ที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7.4 หมื่นราย ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945

‘ซาอุฯ’ กร้าว!! หาก ‘อิหร่าน’ มี ‘อาวุธนิวเคลียร์’ ซาอุฯ ก็จำเป็นต้องหามาประดับกองทัพเช่นกัน

หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง เมื่อนั้น ซาอุดีอาระเบียก็จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน จากคำเตือนของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ ซึ่งบางช่วงบางตอนได้มีการเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ประเทศใดก็ตามที่กำลังมีอาวุธนิวเคลียร์ มันเป็นความเคลื่อนไหวที่แย่ๆ" มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียกล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ริยาดจะตอบโต้อย่างไร หากว่า เตหะรานกลายเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ 

"ถ้าหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศใดที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังทำสงครามกับที่เหลือของโลกใบนี้"

เจ้าชายกล่าวต่อว่า “เหล่ามหาอำนาจโลกจะมาพร้อมกับมาตรการตอบโต้ร่วมกัน เพราะว่าโลกไม่อาจเห็นอีกหนึ่งฮิโรชิมา ถ้าว่าโลกเห็นประชาชน 100,000 คนต้องตาย คุณจะทำสงครามกับทั้งโลก” 

ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย อ้างถึงกรณีสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 ใน 2 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นห่างกัน 4 วัน และจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นแค่การใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียวของโลกในความขัดแย้งหนึ่ง ๆ

ผู้สื่อข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ขอคำตอบตรงกว่านี้จากเจ้าชาย โดยถามว่า “ถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แล้วท่านล่ะ?” ซึ่งในเรื่องนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตอบว่า “ถ้าพวกเขามี เราก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน”

อิหร่านซึ่งยังคงอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขา ปฏิเสธซ้ำ ๆ ต่อคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ อิสราเอลและประเทศอื่น ๆ ว่าพวกเขากำลังหาทางพัฒนาอาวุธปรมาณู

ระหว่างปราศรัยกับสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี แห่งอิหร่าน เน้นย้ำว่าเตหะรานจะไม่มีวันสละสิทธิในการมี ‘พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ’ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ในหลักการด้านการป้องกันตนเองและหลักการทางทหารของอิหร่านแต่อย่างใด

ไรซี บอกด้วยว่าประเทศของเขากระตือรือร้นในการคืนสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หรือ แผนปฏิบัติการร่วมที่ครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan for Action หรือ JCPOA) ซึ่งเสนอยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแลกกับการที่เตหะรานจำกัดกิจกรรมทางนิวเคลียร์ พร้อมเน้นย้ำว่าการถอนตัวฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนี้ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่อิหร่านได้ทำตามพันธสัญญาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งในข้อตกลง JCPOA ทุกประการ

เสียงเตือนของมกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน มีขึ้นแม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน 2 ชาติที่เป็นคู่อริกันมานาน ปรับท่าทีเข้าหากัน และได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตัดขาดกันไปนานกว่า 7 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผ่านการมีจีนเป็นคนกลาง

‘Apollo-Plumbat’ 2 ปฏิบัติการลับของหน่วย ‘MOSSAD’ แห่งอิสราเอล ในการโจรกรรม ‘แร่ยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง’ ซึ่งใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์

‘Apollo’ และ ‘Plumbat’ ปฏิบัติการโจรกรรมยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง 
โดยอิสราเอล

‘อิสราเอล’ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และเชื่อกันว่า อิสราเอลมีความสามารถในการปล่อยหัวรบนิวเคลียร์ได้มากมายหลายวิธีจากอากาศยาน ขีปนาวุธร่อนที่ปล่อยจากเรือดำน้ำ และขีปนาวุธพิสัยกลางถึงข้ามทวีปแบบ ‘Jericho’ ซึ่ง Revital ‘Tally’ Gotliv สส.หญิงอิสราเอล เรียกร้องให้นำมาใช้ถล่มฉนวน Gaza หวังให้กลายเป็น ‘วันโลกาวินาศ’ (Doomsday) ของชาวปาเลสไตน์ https://thestatestimes.com/post/2023101214

โดยคาดว่า อิสราเอลเมื่อเริ่มแรกที่มีอาวุธนิวเคลียร์พร้อมใช้งานได้นั้น น่าจะเป็นในช่วงปลายปีของ ค.ศ. 1966 หรือต้นปี ค.ศ. 1967 และทำให้อิสราเอลกลายเป็นชาติที่ 6 ของโลกที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลรักษานโยบาย ‘จงใจคลุมเครือ’ โดยไม่เคยปฏิเสธหรือยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ย้ำตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า “อิสราเอลจะไม่ใช่ประเทศแรกที่จะเปิดฉากใช้อาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง”

นอกจากนี้ อิสราเอลยังปฏิเสธที่จะลงนามใน ‘สนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์’ (the Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons : NPT) แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากนานาชาติให้ลงนามก็ตาม โดยกล่าวว่าการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวจะขัดต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ

‘กองทัพอากาศอิสราเอล’ เปิดฉากทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรัก
ใน ‘ปฏิบัติการ Opera’ ในปี ค.ศ. 1981

นอกจากนี้ อิสราเอลยังได้พัฒนาหลักการเริ่มต้นในการต่อต้านด้วยการชิงโจมตี โดยปฏิเสธไม่ให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สามารถซื้อหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองได้ กองทัพอากาศอิสราเอลเปิดฉากทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิรัก ใน ‘ปฏิบัติการ Opera’ ในปี ค.ศ. 1981 และซีเรีย ใน ‘ปฏิบัติการ Orchard’ ในปี พ.ศ. 2007 ตามลำดับ และการใช้มัลแวร์ ‘Stuxnet’ ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านในปี พ.ศ. 2010 ซึ่งเชื่อว่าได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ในปี ค.ศ. 2019

อีกทั้ง อิสราเอลยังคงเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่เชื่อว่าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยกำหนดให้แผน Samson เป็นกลยุทธ์การป้องกันในการตอบโต้ครั้งใหญ่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในฐานะ ‘ทางเลือกสุดท้าย’ ต่อประเทศที่ส่งกองทัพมารุกราน และ/หรือ ทำลายอิสราเอล

‘Mordechai Vanunu’ ช่างเทคนิคผู้ที่เปิดเผยรายละเอียดของโครงการอาวุธนิวเคลียร์

อิสราเอลเริ่มโครงการนิวเคลียร์ไม่นานหลังจากประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1948 และด้วยความร่วมมือของฝรั่งเศส โดยอิสราเอลได้เริ่มสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ‘Negev’ อย่างลับ ๆ ซึ่งเป็นโรงงานใกล้ ๆ กับเมือง Dimona ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงงานปรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องในปลายทศวรรษ 1950 ก่อนจะถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1986 โดย ‘Mordechai Vanunu’ ช่างเทคนิคที่เคยทำงานในศูนย์แห่งนี้และอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ไม่นานหลังจากนั้น Mordechai Vanunu ก็ถูกเจ้าหน้าที่ MOSSAD ลักพาตัวและถูกนำตัวกลับมาที่อิสราเอล ซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุก 18 ปีในข้อหากบฏและจารกรรม

บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) 
เมือง Apollo และเมือง Parks Township

แต่สิ่งสำคัญที่อิสราเอลไม่สามารถหาได้เลย คือ วัตถุดิบหลักในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ ‘ยูเรเนียม’ ที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จึงเป็นที่มาของ 2 ปฏิบัติการโจรกรรมยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง โดย ‘หน่วย MOSSAD’ ของอิสราเอล

‘ปฏิบัติการ Apollo’ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1965 โดยบริษัทของสหรัฐอเมริกา บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) เมือง Apollo และเมือง Parks Township เขตชานเมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย ถูกสอบสวนในข้อหาสูญเสียสารยูเรเนียมที่มีสมรรถนะสูงไปราว 200–600 ปอนด์ (91–272 กิโลกรัม) โดยสงสัยว่าได้มีการยักย้ายเข้าสู่โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล

‘Dr. Zalman Shapiro’ ประธานฯ บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ถึง พ.ศ. 1980 สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ได้ทำการสอบสวน Dr. Zalman Shapiro ประธานบริษัทฯ ในเรื่องการสูญหายของยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จำนวน 206 ปอนด์ (93 กิโลกรัม) Shapiro เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจและการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอิสราเอล รวมถึงได้รับสัญญาที่จะสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้อิสราเอลด้วย คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู, สำนักข่าวกรองกลาง (CIA), หน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ และผู้สื่อข่าวที่สอบสวนได้ดำเนินการสืบสวนในลักษณะเดียวกันนี้ แต่ก็ไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ เลย

การศึกษาของสำนักงานบัญชีทั่วไปเกี่ยวกับการสืบสวนที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไป ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ระบุว่า “เราเชื่อว่าความพยายามร่วมกันอย่างทันท่วงที ในส่วนของหน่วยงานทั้ง 3 นี้ จะช่วยได้อย่างมาก และอาจช่วยแก้ปัญหาการเบี่ยงเบนความสนใจของ NUMEC ได้ หากพวกเขาต้องการทำเช่นนั้น”

บริษัท Nuclear Materials and Equipment Corporation (NUMEC) 
เมือง Apollo และเมือง Parks Township

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ‘CIA’ ได้บรรยายสรุปแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ (NRC) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า CIA เชื่อว่ายูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูงที่หายไปนั้น ถูกส่งไปยังอิสราเอล เมื่อ NRC แจ้งต่อทำเนียบขาว ส่งผลทำให้ประธานาธิบดี ‘Jimmy Carter’ เมื่อได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสอบสวน จึงสั่งให้ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติประเมินผล ซึ่งผลสรุปว่า “ข้อสรุปของ CIA มีความเป็นไปได้ แม้ว่าจะไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม” บางคนยังคงเชื่อว่า อิสราเอลได้รับยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง จำนวน 206 ปอนด์ (93 กิโลกรัม) หรือมากกว่าจาก NUMEC โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับหลังการมาเยือนของ ‘Rafi Eitan’ ซึ่งถูกเปิดเผยในภายหลัง ว่าเป็นสายลับอิสราเอลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘Jonathan Pollard’ ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1986 นักวิเคราะห์ ‘Anthony Cordesman’ บอกกับสำนักข่าว United Press International (UPI) ว่า “ไม่มีเหตุผลที่เป็นไปได้ใด ๆ สำหรับ Eitan ที่จะไปยังโรงงาน Apollo นอกจากไปเพื่อวัสดุนิวเคลียร์” การสอบสวนในภายหลังได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ (ต่อจาก AEC) เกี่ยวกับยูเรเนียมจำนวน 198 ปอนด์ (90 กิโลกรัม) ซึ่งพบว่าหายไประหว่างปี ค.ศ. 1974 ถึง ค.ศ. 1976 หลังจากที่บริษัท Babcock & Wilcox และ Dr. Shapiro ได้ซื้อโรงงานดังกล่าว การสืบสวนพบว่า ยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะสูง น้ำหนักมากกว่า 110 ปอนด์ (50 กิโลกรัม) อาจถูกเรียกว่า ‘กลไกการสูญเสียที่ไม่สามารถระบุได้ และไม่มีเอกสารก่อนหน้านี้’ รวมถึง ‘การปนเปื้อนของเสื้อผ้าของคนงาน การสูญเสียจากระบบขัดพื้น วัสดุที่ฝังอยู่ในพื้น และคราบตกค้างในอุปกรณ์แปรรูป’ โดยอีกหนึ่งในผู้สืบสวนหลัก ‘Carl Duckett’ ได้กล่าวว่า “ผมไม่พบอะไรเลยที่บ่งชี้ว่า Shapiro มีความผิด”

‘ปฏิบัติการ Plumbat’ เชื่อกันว่าเป็น ‘ปฏิบัติการลับ’ ของอิสราเอลในปี ค.ศ. 1968 เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘Yellowcake’ (แร่ยูเรเนียมแปรรูป) เพื่อนำมาใช้สนับสนุนในความพยายามด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล สาเหตุมาจากการที่ฝรั่งเศสหยุดจัดหาเชื้อเพลิงยูเรเนียมให้กับอิสราเอล สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Dimona หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ในปี ค.ศ. 1967 แหล่งข่าวจำนวนมากเชื่อว่าในปี ค.ศ. 1968 อิสราเอลได้รับ Yellowcake (แร่ยูเรเนียมแปรรูป) ราว 200 ตันจาก ‘Union Minière’ บริษัทเหมืองแร่ของเบลเยียม และจัดส่งยูเรเนียมแปรรูปที่ขุดในคองโก จากเมืองแอนต์เวิร์ปไปยังเมืองเจนัว ให้กับบริษัทแนวหน้าของยุโรป โดยทำการขนถ่ายย้ายแร่ไปยังเรือลำอื่นกลางทะเล

ปฏิบัติการลับของ MOSSAD นี้ เป็นการละเมิดมาตรการควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ของ ‘Euratom’ (The European Atomic Energy Community) โดยสมบูรณ์ ชื่อของปฏิบัติการ Plumbat มาจากภาษาละตินว่า ‘plumbum’ ซึ่งหมายถึง ‘ตะกั่ว’ อันเป็นวัสดุไม่อันตรายในการขนส่ง Yellowcake โดยสายลับของ MOSSAD ได้จัดตั้งบริษัทสมมติชื่อ ‘Biscayne Trader's Shipping Corporation’ ในไลบีเรีย เพื่อซื้อเรือขนส่งสินค้าทางทะเล จากเมือง Scheersberg A. (เมืองทางตอนเหนือของเยอรมนี ใกล้ชายแดนติดกับเดนมาร์ก) ด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ผู้เป็นมิตรของบริษัทปิโตรเคมีของเยอรมนี มีการจ่ายเงิน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ Union Minière เพื่อซื้อ Yellowcake จำนวน 200 ตัน Yellowcake เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังจากยูเรเนียมที่ขุดได้จาก Shinkolobwe ใน Katanga ตอนบน โดยบรรทุก Yellowcake นี้ลงบนเรือบรรทุกสินค้าที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ และมีการทำสัญญากับบริษัทสีสัญชาติอิตาลี เพื่อดำเนินการผลิต Yellowcake

‘Yellowcake’ (แร่ยูเรเนียมแปรรูป)

‘Yellowcake’ ถูกบรรทุกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1968 ในถังที่มีเครื่องหมาย ‘PLUMBAT’ (ผลิตภัณฑ์ตะกั่วที่ไม่เป็นอันตราย) ลูกเรือชาวสเปนถูกแทนที่ด้วยกะลาสีเรือที่ MOSSAD เตรียมไว้ และได้รับหนังสือเดินทางปลอมที่จัดเตรียมไว้ให้ เรือสินค้าลำนี้แล่นไปยังเมืองเจนัว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 หลังจากเดินทางได้ประมาณ 7 วัน เรือก็พบกับเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอิสราเอล ภายใต้ความมืดบริเวณที่ใดที่หนึ่งทางตะวันออกของเกาะครีต สินค้าถูกขนถ่ายไปอย่างเงียบ ๆ ขณะที่เรือรบของอิสราเอลคอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ หลังจากบรรทุก Yellowcake แล้ว ก็ออกเดินทางสู่เมืองท่าไฮฟา และในที่สุดก็ถึงอุโมงค์ซึ่งเป็นโรงงานเคมีอัตโนมัติระดับ 6 เพื่อทำการแปรรูปให้เป็น ‘พลูโตเนียม’ ที่เมือง Dimona เมื่อเรือ Scheersberg A. เข้าเทียบท่าที่ตุรกี 8 วันต่อมา โดยไม่มีการขนส่งสินค้าใด ๆ สัญญากับบริษัทสีสัญชาติอิตาลีจึงถูกยกเลิก บันทึกของเรือหายไปหลายหน้าโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ บริษัทสีอิตาลีสันนิษฐานว่า สินค้าสูญหายเนื่องจากการปล้น

คำสารภาพของฝ่ายปฏิบัติการ MOSSAD ในปี ค.ศ. 1973 ‘Dan Ert’ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ Mossad ถูกจับกุมในนอร์เวย์ โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบสังหารผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง ที่สังหารนักกีฬาอิสราเอล 11 คน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1972 ที่นครมิวนิก ซึ่งได้เล่าเรื่องราวขณะถูกคุมขังเพื่อพิสูจน์ให้ชาวนอร์เวย์เห็นว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของ MOSSAD เรื่องราวดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อตรวจสอบพบว่า Ert ได้รับเลือกให้เป็นประธานของบริษัทขนส่งในไลบีเรียที่เคยซื้อเรือ Scheersberg A. ในปี 1977 เรื่อง Plumbat Affair ถูกเปิดเผยโดย ‘Paul Leventhal’ อดีตนิติกรของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ในการประชุมลดอาวุธ เขากล่าวว่า “การขนส่ง Yellowcake ที่ถูกขโมยมานั้น เพียงพอที่จะเดินเครื่องปฏิกรณ์เช่นที่ Dimona ได้นานถึง 10 ปี”

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่อิสราเอลนิ่งเงียบเมื่อมีการสอบสวน จากนั้น จึงออกมาปฏิเสธทุกแง่มุมในเรื่องราวที่อิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับ Yellowcake ที่ถูกขโมย ปัจจุบันประมาณการว่า คลังอาวุธของอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ระหว่าง 80 ถึง 400 หัว

‘สหรัฐฯ’ ผุดแผนสร้างระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงกว่าเดิม 24 เท่า!! เติมเต็มแสนยานุภาพให้กองทัพ เสริมแกร่งหลักประกันความสงบสุขของโลก

(1 พ.ย. 66) ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา’ ชงแผนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา รุนแรงกว่ารุ่นที่เคยใช้ถล่มญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 24 เท่า รอเพียงไฟเขียวจากสภาคองเกรซเท่านั้น ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

โดยระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ มีชื่อว่า ‘B61-13 Gravity Bomb’ ที่มีน้ำหนักมากถึง 360 กิโลตัน มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ที่มีน้ำหนัก 15 กิโลตัน หรือ ‘Fat Man’ ที่ทิ้งลงในเมืองนางาซากิหลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็มีน้ำหนักเพียง 24 กิโลตัน แต่ถึงกระนั้น แรงของระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกในครั้งนั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และทำให้มีพลเมืองชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 แสนคน

ส่วนงบประมาณในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยคาดว่าจะผลิตในปริมาณจำกัดไม่เกิน 50 ลูก และจะนำมาใช้แทนหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า ‘B61-7’ ที่ผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อให้โควตาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

การใช้งานระเบิด B61-13 Gravity Bomb ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือจะต้องบรรจุระเบิดในเครื่องบินขับไล่พาไปสู่เป้าหมาย และทิ้งลงกลางเป้าโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก แทนการบรรจุลงในขีปนาวุธแล้วยิงออกสู่เป้าหมายในการโจมตี

‘จอห์น พลัมบ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธของสหรัฐฯ ในวันนี้ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภัยคุกคามจากศัตรูในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการประเมินศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในการยับยั้งภัยคุกคาม และตอบสนองต่อการโจมตีทางยุทธศาสตร์เมื่อจำเป็น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งระเบิดรุ่นใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ฝ่ายทำเนียบขาว ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

แต่เมื่อมีผู้สนับสนุน ก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง โดย ‘เมลิสซา พาร์ก’ ผู้อำนวยการบริหารของการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของเพนตากอน ว่าเป็น ‘การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการพัฒนา Gravity Bomb โดยทันที เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสังหารเป้าหมายโดยไม่เลือกหน้า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมทางสงคราม

แต่ข้อเรียกร้องนี้ คงไม่อาจหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้ เพราะล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินในรัฐเนวาดา หลังจากเกิดเหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส และอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ไม่นานนี้

เพราะในมุมมองของสหรัฐฯ การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน เป็นหนทางที่จะรักษาความสงบสุขของโลกได้นั่นเอง

'รัสเซีย' ซัด!! 'อิสราเอล' หลุดปากสารภาพครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ถาม!! องค์กรนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งหลายมัวทำอะไรอยู่ 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุมีคำถามมากมายผุดขึ้นมา หลังรัฐมนตรีรายหนึ่งของอิสราเอลเสนอทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฉนวนกาซา ดูเหมือนเป็นการรับสารภาพว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แล้วองค์กรนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งหลายมัวทำอะไรอยู่

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ย.) สั่งพักงาน อามิไช เอลิยาฮู รัฐมนตรีกระทรวงมรดกอิสราเอล ไม่ให้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม หลังแสดงความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่น แนะนำให้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฉนวนกาซา

เอลิยาฮู ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุท้องถิ่น บอกว่าเขาไม่พอใจกับภาพรวมของขอบเขตการแก้แค้นของอิสราเอล และครั้งที่ถูกผู้สัมภาษณ์สอบถามว่าเขาสนับสนุนให้ทิ้งบอมบ์ "ระเบิดปรมาณูบางอย่าง" ใส่ฉนวนกาซา เพื่อเข่นฆ่าทุก ๆ คนหรือไม่ ทาง เอลิยาฮู ตอบว่า "มันเป็นทางเลือกหนึ่ง"

ในเรื่องนี้สำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซีย อ้างคำกล่าวของ มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันอังคาร (7 พ.ย.) ระบุว่า "มันก่อคำถามต่าง ๆ มากมาย" พร้อมชี้ว่าประเด็นหลักก็คือ มันดูเหมือนว่าอิสราเอลยอมรับสารภาพว่าพวกเขามีนิวเคลียร์ในครอบครอง

อิสราเอลไม่เคยยอมรับต่อสาธารณะว่าพวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่ทางสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน คาดการณ์ว่าอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ราว 90 หัวรบ

"คำถามหมายเลข 1 สิ่งที่ปรากฏออกมาก็คือ ดูเหมือนเรากำลังได้ยินถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์" ชาคาโรวา ระบุ "ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและคณะตรวจสอบนิวเคลียร์นานาชาติอยู่ที่ไหน มัวทำอะไรอยู่?"

ความเห็นของ เอลิยาฮู เรียกเสียงประณามอย่างกว้างขวางทั่วโลกอาหรับ ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ามันเป็นถ้อยคำโวหารแห่งความเกลียดชัง ซึ่งรังแต่จะโหมกระพือความตึงเครียดเพิ่มเติม ส่วนอิหร่านเรียกร้องให้นานาชาติตอบสนองเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน

"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและทบวงพลังงานปรมาณูสากล ต้องดำเนินการในทันทีและอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดอาวุธรัฐบาลที่ป่าเถื่อนและแบ่งแยกเชื้อชาติแห่งนี้ พรุ่งนี้อาจสายเกินไป" ฮอสเซน อามีร์อับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันจันทร์ (6 พ.ย.)

‘คิม จองอึน’ กร้าว!! หากศัตรูยั่วยุ “พร้อมเปิดศึกบุกอย่างไม่ลังเล” ขู่!! กองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ระวังจะเป็น ‘เป้าหมายแรก’

(21 ธ.ค. 66) เอเอฟพี รายงานว่า นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ เตือนว่า เกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะเปิดฉากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หากถูกยั่วยุด้วยนิวเคลียร์

ความคิดเห็นของนายคิมเกิดขึ้นหลังจากเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาหารือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ

พร้อมย้ำว่า การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จะส่งผลให้ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือสิ้นสุดลง แต่นายคิมสั่งการกับหน่วยงานด้านขีปนาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือว่า “อย่าลังเลเลยที่จะ (ยิง) นิวเคลียร์เมื่อศัตรูยั่วยุด้วยนิวเคลียร์”

ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาโดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือ “หยุดดำเนินการยั่วยุเพิ่มเติม และยอมรับข้อเรียกร้องของเราให้มีส่วนร่วมในการเจรจาที่สำคัญโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 3 ประเทศได้เพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหม หลังจากเกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง และเมื่อวันอังคารที่ 19 ธ.ค.ผ่านมา ได้เปิดใช้งานระบบแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ฮวาซอง-18 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ จอดเทียบท่าเรือในเมืองปูซานของเกาหลีใต้ ภายหลังสหรัฐฯ เพิ่งส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปร่วมฝึกซ้อมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ส่งผลให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและย้ำว่า คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะสงครามตามกฎหมาย และกล่าวว่า กองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้จะเป็นเป้าหมายแรกของการทำลายล้าง

‘Vasily Arkhipov’ ทหารเรือชาวโซเวียตแห่งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ผู้ใช้สติยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ และช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากวันสิ้นโลก

‘Vasily Arkhipov’ ผู้ที่ช่วยให้โลกใบนี้รอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์

‘มนุษย์’ หรือ ‘Homo sapiens’ ดำรงอยู่เผ่าพันธุ์บนโลกมาประมาณ 300,000 ปี หรือมากกว่า 109 ล้านวัน แต่วันที่อันตรายที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์น่าจะเข้าใกล้ความหายนะยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ชนิดที่เรียกว่า ‘เกือบล้างโลก’ นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 61 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 และบุคคลที่น่าจะทำหน้าที่ช่วยโลกให้รอดพ้นจากหายนะมากกว่าใคร ๆ ก็คือ ‘Vasily Aleksandrovich Arkhipov’ นายทหารเรือโซเวียตผู้ที่มีชีวิตอย่างเงียบสงบและเรียบง่าย

Arkhipov เกิดในครอบครัวชาวนาในเมือง Staraya Kupavna ใกล้กับกรุงมอสโก เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Pacific Higher’ และเข้าร่วมสงครามโซเวียต–ญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 โดยปฏิบัติหน้าที่บนเรือกวาดทุ่นระเบิด จากนั้นเขาไปเรียนที่โรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Azerbaijan’ และสำเร็จการศึกษาในปี 1947

รัศมีการยิงของขีปนาวุธสหภาพโซเวียตจากคิวบา

ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ชายผู้นี้เป็นผู้หยุดยั้งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาไม่ให้กลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ อันที่จริงแล้ว Vasily Arkhipov น่าจะเป็น ‘บุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่’ เขาเป็นต้นเรือ (Executive officer) แห่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของโซเวียต (Hotel-class ballistic missile submarine K-19) ปฏิเสธที่จะเห็นชอบกับคำสั่งของกัปตันที่ให้ยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ใส่เรือรบสหรัฐฯ อันจะเป็นการจุดชนวนสิ่งที่อาจก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจได้

ในวันนั้น Arkhipov ต้นเรือประจำเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียตแล่นอยู่ในน่านน้ำสากลใกล้คิวบา ในช่วงที่ความตึงเครียดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาถึงจุดสูงสุด ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถ่ายภาพหลักฐานการสร้างฐานขีปนาวุธขึ้นใหม่ในคิวบา ปรากฏว่า ที่ปรึกษาทางทหารโซเวียตกำลังช่วยสร้างฐานยิงดังกล่าว ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปยังแผ่นดินสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 ไมล์ได้อย่างง่ายดาย และสหรัฐฯ อาจไม่สามารถป้องกันได้

เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียต

นั่นจึงนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ร้ายแรงที่สุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นเวลา 13 วันแห่งความเสี่ยงสูงระหว่าง 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์ ที่ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นก้าวที่ย่างพลาด

เริ่มต้นจาก ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ออกคำสั่งในสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การปิดล้อมคิวบา’ โดยตั้งกองเรือรบนอกชายฝั่งของเกาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือสินค้าโซเวียต ซึ่งบรรทุกขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปยังคิวบา และเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธที่ติดตั้งในคิวบา

ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 เรือดำน้ำ B-59 ของโซเวียตซึ่งดำอยู่ใต้น้ำมาหลายวัน ถูกไล่ต้อนโดยเรือพิฆาตสหรัฐฯ 11 ลำ และ ‘USS Randolph’ เรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเรือรบของสหรัฐฯ ได้เริ่มทิ้งระเบิดน้ำลึกรอบ ๆ เรือดำน้ำ

จุดจบในกรณีนี้ ไม่ใช่แค่ชะตากรรมของเรือดำน้ำและลูกเรือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกทั้งใบด้วย ด้วยพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จึงขาดการติดต่อทางวิทยุกับมอสโก ตัวเรือถูกกระแทกด้วยแรงอัดจากการระเบิดของระเบิดน้ำลึก เครื่องปรับอากาศพังเสียหาย อุณหภูมิและระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของเรือที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำเรือดำน้ำ B-59 ก็คือ ‘สงครามโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว’ แต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่รู้ คือ เรือดำน้ำ B-59 มีอาวุธ คือ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ขนาด 10 กิโลตัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือได้รับอนุญาตจากมอสโกให้ยิงมันได้โดยไม่ต้องได้รับการยืนยัน

เรือรบสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดน้ำลึกใกล้เรือดำน้ำ B-59 เพื่อพยายามบังคับให้มันขึ้นสู่ผิวน้ำ และนายทหารระดับสูงของเรือ 2 คน ตกลงตัดสินใจที่จะใช้ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ทำลายเรือรบสหรัฐฯ แต่ Arkhipov ต้นเรือปฏิเสธที่จะเห็นด้วยกับคำสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมเป็นเอกฉันท์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำเรือ 3 คน แม้ว่าเหตุผลทุกประการที่เชื่อได้ว่า เรือรบสหรัฐฯ กำลังพยายามจะจมพวกเขา

“พวกเราต่างพากันคิดว่า จุดจบมันก็คงแค่นี้แหละ” ‘Vadim Orov’ ลูกเรือของเรือดำน้ำ B-59 ให้สัมภาษณ์กับทาง ‘National Geographic’ ในปี 2016 “เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในถังโลหะซึ่งมีคนใช้ค้อนทุบอยู่ตลอดเวลา”

แม้กระทั่ง ‘Valentin Savitsky’ กัปตันเรือ ซึ่งตามรายงานจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกว่า เขาพูดออกมาว่า “เราจะต้องระเบิดพวกมันเดี๋ยวนี้!! ไม่งั้นเราจะตาย แต่เราจะจมพวกมันทั้งหมด เราจะไม่ยอมกลายเป็นความอับอายของกองทัพเรือแห่งสหภาพโซเวียต”

เรือดำน้ำ B-59 กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ มุ่งหน้าออกจากคิวบา และแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

โชคดีที่ไม่ใช่เพียงแค่ดุลยพินิจของกัปตันแต่เพียงผู้เดียว ในการยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำเรือดำน้ำทั้ง 3 คน ต้องเห็นด้วยทั้งหมด และ Vasily Arkhipov ต้นเรือวัย 36 ปี ได้ปฏิเสธที่จะให้ความยินยอม เขาโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือดำน้ำอีก 2 คนว่า แท้จริงแล้วการทิ้งระเบิดน้ำลึกของเรือรบสหรัฐฯ เป็นการกระทำเพื่อส่งสัญญาณให้เรือดำน้ำ B-59 ขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะเรือรบของสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะติดต่อสื่อสารกับเรือดำน้ำโซเวียตได้

ดังนั้น หากพวกเขายิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ จะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่สุด ในที่สุดแล้วเรือดำน้ำ B-59 ต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำและเดินทางมุ่งหน้าออกจากคิวบา เพื่อแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ เป็นผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในวิกฤติครั้งนั้น

ความกล้าหาญด้วยความเยือกเย็นของ Arkhipov ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ในวันเดียวกันนั้นเอง นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ ก็ถูกยิงตกและเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือคิวบา Anderson เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกและรายเดียวในวิกฤติอันเป็นเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ หากประธานาธิบดี Kennedy ไม่ได้สรุปว่า ‘Nikita Sergeyevich Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ยิงเครื่องบิน U-2 ของสหรัฐฯ

‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ‘Nikita Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต

การติดต่อพูดคุยอย่างใกล้ชิดครั้งนั้น ทำให้ผู้นำทั้ง 2 ต่างสงบสติอารมณ์ลง พวกเขาเปิดการเจรจาแบบ Backchannel ซึ่งท้ายที่สุด จึงนำไปสู่การถอนขีปนาวุธในคิวบาของสหภาพโซเวียต และการถอนขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในตุรกีในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการตอบแทน และถือเป็นการสิ้นสุดของการเข้าใกล้จุดจบของโลก ด้วยสงครามนิวเคลียร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงทุกวันนี้

การกระทำของ Arkhipov สมควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เพราะ Arkhipov ติดอยู่ในเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซล ซึ่งอยู่ห่างจากมาตุภูมิหลายพันไมล์ เขาถูกแรงกระแทกจากระเบิดลึกซึ่งอาจทำให้ลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมดได้ หากเขายอมรับการตัดสินใจยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ ก็อาจจะทำให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กลายเป็นจุล และคร่าชีวิตลูกเรืออเมริกันอีกหลายพันคน ซึ่งนั่นอาจทำให้ประธานาธิบดี Kennedy และนายกรัฐมนตรี Khrushchev ไม่สามารถถอยออกจากขอบเหวแห่งหายนะนี้ได้ และวันที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของ มนุษยชาติ อาจเป็นวันสุดท้ายของพวกเราทุกคน

‘Elena’ ผู้เป็นลูกสาว และ ‘Sergei’ หลานชายของ Vasily Arkhipov กับรางวัล ‘The Future of Life Award’

สำหรับความกล้าหาญของเขา จึงทำให้ในปี 2017 Arkhipov เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘Future of Life’ จาก ‘Future of Life Institute’ (FLI) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเคมบริดจ์ โดย Arkhipov เสียชีวิตลงเมื่อปี 2008 ก่อนที่จะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวการกระทำของเขา จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ซึ่ง ‘Max Tegmark’ ประธาน FLI กล่าวในพิธีมอบรางวัลนี้ ว่า “Vasily Arkhipov อาจเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่”

ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945

นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ก็ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามอีกเลย แต่ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามในยูเครน จนเริ่มมีการนำประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมากล่าวถึง

มนุษยชาติจะต้องตระหนักรู้ถึงพลังอันน่าสะพรึงกลัวของ ‘วันสิ้นโลก’ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากอาวุธเหล่านี้ให้ดี ดังเช่น ‘Vasily Arkhipov’ ผู้ซึ่งในช่วงเวลาของการตัดสินใจ ในความเป็นและความตายนั้น เขาตัดสินใจเลือกให้มนุษยชาติ มีชีวิตอยู่มากกว่าการสูญสลายไปจนหมดสิ้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘สหรัฐฯ’ วอน ‘จีน-รัสเซีย’ เร่งประกาศเจตนารมณ์ “การใช้นิวเคลียร์ต้องตัดสินใจโดยมนุษย์ ไม่ใช่ AI”

(2 พ.ค.67) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้จีนและรัสเซียประกาศเจตนารมณ์ในลักษณะเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจโดยมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

นายพอล ดีน รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประจำสำนักควบคุม ป้องปราม และเสถียรภาพอาวุธ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ว่า รัฐบาลสหรัฐได้ให้คำมั่นอย่างชัดเจนและเด็ดขาดว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยฝรั่งเศสและอังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในทำนองเดียวกัน

“เราหวังว่าจีนและสหพันธรัฐรัสเซียจะออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน” นายดีนกล่าวและว่า “เราเชื่อว่านี่เป็นบรรทัดฐานสำคัญอย่างยิ่งของพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ และจะเป็นที่ยินดีอย่างยิ่งในบริบทของ P5” 

ทั้งนี้คำกล่าวของ นายดีน ยังหมายรวมถึง 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเห็นของนายดีนมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามที่จะมีการหารือกับจีนอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องนโยบายอาวุธนิวเคลียร์และการเติบโตของ AI

ประเด็นการแพร่กระจายเทคโนโลยี AI ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย.

นายบลิงเกนกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมทวิภาคีเกี่ยวกับ AI เป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะแลกเปลี่ยนมุมมองกันว่าจะบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ในฐานะส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูการสื่อสารทางทหารให้กลับสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนได้กลับมาหารือเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าจะยังไม่มีการเจรจาควบคุมอาวุธอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top