Monday, 24 June 2024
อานันท์ปันยารชุน

10 มิถุนายน พ.ศ.2535 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในช่วงปี พ.ศ.2535 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน นายอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่สอง หลังเหตุการณ์คลี่คลายลง

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง ‘พฤษภาทมิฬ’ ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ทำให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมเสียงข้างมาก ณ ขณะนั้น ได้ร่วมกันสนับสนุนให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้น ได้ตัดสินใจเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทน

นายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 ทั้งนี้นายอานันท์ยังได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อน ในสมัยที่นายอานันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

'อานันท์' ชี้!! ตอนนี้ 'สังคมไทย' อยู่ในสภาพที่ไม่ปกติที่สุด ยกกรณี 'สว.' โหวตนายกฯ

(31 ก.ค. 66) จากเพจ ‘Gong Paramet Bhuto’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

คุณอานันท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ก็ล้วนแต่มาจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติของสังคมไทย เพราะถ้าเหตุการณ์ปกติ คุณอานันท์ ก็จะไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกปี 2534 ได้เป็นเพราะคณะรัฐประหารไม่กี่คน เห็นว่าท่านภาพลักษณ์ดี ตั้งมาเป็นนายกฯ คงช่วยเรื่องการยอมรับจากสังคม

ครั้งที่ 2 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็มาแบบไม่ปกติอีก เพราะคนจากพรรคเสียงข้างมาก แต่งชุดขาวรอประกาศ แต่สุดท้ายกลายเป็นชื่อ ‘นายอานันท์’ แทน ซึ่งกระแสตอนนั้น ก็ไม่มีใครว่าคุณอานันท์ ออกจะดีใจด้วยซ้ำไป ซึ่งมองอีกมุมคุณอานันท์ก็ได้พิสูจน์ว่า นายกฯ มาจากไหนไม่สำคัญ สำคัญว่ามาแล้วได้ทำประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองบ้าง ซึ่งคนแบบคุณอานันท์คงไม่มีทางได้เป็นนายกฯ ในสถานการณ์ที่ปกติได้ เพราะท่านไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง

และหากจะว่าไปแล้ว การรัฐประหารเมื่อปี 34 มีเหตุผลและความชอบธรรมน้อยกว่า การรัฐประหารเมื่อปี 57 มาก เพราะปี 34 หยิบยกข้ออ้างเรื่องนักการเมืองคอรัปชั่น เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหลัก ไม่ได้มีสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง มีการสูญเสียชีวิตประชาชน และมีแนวโน้มสู่สภาวะมิคสัญญี เหมือนปี 57 แม้แต่น้อย

แต่ท่านก็ยินยอมพร้อมใจรับตำแหน่งนายกฯ บนวิถีทางไม่ปกติทั้ง 2 ครั้ง ความจริงแล้วหลายคนคาดหวังว่า ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ และการผ่านโลกมาเกือบจะศตวรรษของท่าน น่าจะเข้าใจเหตุปัจจัยและบริบททางการเมืองของไทยที่เป็นจริงมากกว่าพวกนักท่องตำราที่มีอยู่ดาษดื่นในสังคม

ย้อนฟังคำสัมภาษณ์ ‘อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน’ เผยความจริงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันฯ

จากคลิปเมื่อนานมาแล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 18 ของไทย ได้ออกมาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านรายการ ‘สยามวาระ’ ตอน ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ เมื่อวันพุธที่ 12 ธ.ค.2555 ทางไทยพีบีเอส โดยระบุว่า…

“ผมมองว่าพระองค์ท่านนั้น ทรงเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ นะครับ แต่ท่านมีขอบจํากัด อย่าไปนึกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา หรือพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ท่านเป็นชนชาวไทย แต่ท่านขาดสิทธิมากมาย สิทธิอันหนึ่งที่ท่านทั้งสามพระองค์ทรงขาดไปอย่างมาก คือท่านไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้เลยครับ สมมติท่านรู้ดีว่า นายกฯ รัฐมนตรี หรืออธิบดีคนนั้นคนนี้ก็ดี หรือเหล่านักธุรกิจ เวลาเขาพูดไม่จริง ท่านก็ออกมาบอกไม่ได้ หรือถ้าเขาดีท่านก็ชมไม่ได้อีก เพื่อรักษาความเป็นกลาง”

“เพราะฉะนั้น การเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นเจ้านายอื่นๆ นั้นมีข้อจํากัดมาก ท่านไม่สามารถใช้สิทธิตามสิทธิมนุษยชน เยี่ยงปวงชนชาวไทยได้เลยนะครับ เพราะท่านมีหน้าที่ที่ท่านต้องทำ ปัจจุบันท่านอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ท่านไม่มีพระราชอํานาจอะไรจริงจัง ส่วนพระราชอํานาจลงนามแต่งตั้งอธิบดีคนนั้น นายพลคนนี้ เป็นอํานาจซึ่งมาจากการเสนอของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระองค์ท่านลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว ก็จะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภา หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่รับมอบหมายเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ สืบมาว่าผู้รับสนองนั้น คือผู้รับผิดชอบโดยตรง”

“ซึ่งในสังคมไทยยังคงมีความสับสนกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของเมืองไทยนั้นมีพระราชอํานาจมาก แต่พระราชอํานาจจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญนั้น ท่านไม่มีเลย แต่ที่ท่านดูมีพระราชอํานาจมากนั้น เป็นเพราะท่านมีบารมีมาก เพราะท่านปกครองประเทศชาติมาตั้ง 60-70 ปี ท่านทําดีไว้มาก และท่านยังเข้าถึงประชาชน อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคนก็เทิดทูนท่าน รักท่านมาก จนอาจจะทำให้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบท่าน ก็ไม่ใช่เป็นของแปลกอะไร

แต่หากเราดูดีๆ ว่าเมืองไทยมีพลเมืองมากกว่า 70 ล้านคน ถ้าไปเปรียบเทียบกับพลเมืองของประเทศอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ที่เขามีพระมหากษัตริย์เหมือนกัน ความจงรักภักดีที่ราษฎรถวายให้กับพระมหากษัตริย์ของแต่ละประเทศนั้น ผมว่าเมืองไทยสูงสุดนะครับ แต่สิ่งที่สําคัญคือ พระองค์ท่านมีพระบารมีมากและตลอดเวลาที่ท่านทรงทํางานมานั้น ท่านนึกถึงแต่ทุกข์สุขของประชาชนคนไทยอย่างเดียว”

“เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1950 ท่านก็มีพระบรมราชโองการที่ทรงตรัสมาอย่างแน่ชัดว่า…

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ดังนั้น คนไทยต้องถามตัวเองว่าตลอดกว่า 60-70 ปี ที่ท่านครองราชย์มานั้น ท่านทรงทําตามสิ่งที่ท่านตรัสไว้หรือเปล่า ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเห็นว่า ท่านแน่วแน่ในคําสัญญาที่ท่านให้ไว้กับประชาชนชาวไทย แต่หากจะถามต่อว่า ทุกอย่างที่ท่านทํานั้นสําเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะตัวพระองค์ท่านเองก็ทรงเคยบอก

แต่ทุกอย่างที่ท่านทรงทํานั้น ก็เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม และเพื่อความเป็นธรรม ความถูกต้อง อันนี้เราไม่สามารถหาข้อโต้แย้งได้ และจากเหตุผลเหล่านี้ก็ทำให้มีคนที่รักท่านมาก และคนที่ไม่ชอบท่านก็คงจะมี แต่ผมคิดว่ามีส่วนน้อยมาก”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top