Sunday, 26 May 2024
อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ

‘อภิสิทธิ์’ อดีตนายกฯ ปาฐกถาพิเศษ “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี...”   เสนอแนวคิด 5 ข้อ “ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อก้าวทันโลก”

 กระทรวง พม. /  การจัดงานสถาปนากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี “20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม ที่กระทรวง พม.  

โดยในวันนี้ (1 ตุลาคม)  เป็นการจัดงานวันที่  3  พอช. และเครือข่ายองค์กรชุมชนได้จัดเวที “พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสวัสดิการชุมชน”  ที่ห้องประชุมประชาบดี  มีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี  ปาฐกถาพิเศษ  หัวข้อ  “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยพลังชุมชนและเครือข่ายภาคีพัฒนา”  โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม.  พอช.  และผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ย้อนจุดกำเนิด พอช.

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีการครบรอบ 20 ปีกระทรวง พม. และ 22 ปี พอช.   ส่วนที่มาของ พอช.นั้น  ในช่วงปี 2540 – 2544   ในสมัยนั้นประเทศไทยประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง  ถ้าเราย้อนกลับไปก็จะทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9  มีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ในขณะที่คนไทยเดือดร้อนมาก  
ต้นเหตุของวิกฤตคือความไม่พอเพียงของการกู้ยืมเงินในระบบทุน  ไม่สามารถสร้างรายได้  สูญเสียความเชื่อมั่น  วิกฤตเงินทุนสำรอง  สถาบันการเงิน  ฯลฯ   และมีกระแสราชดำรัส  ทำให้เราย้อนมาดูตนเอง  การสร้างหลักประกัน  ความมั่นคง  มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเร่งรัดการเจริญเติบโต   เริ่มจากใกล้ตัวเราในชุมชน  จากทรัพยากร   สินทรัพย์ต่างๆ  บางครั้งมองข้ามเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว

 “ท่านนายกฯ ชวน  (หลีกภัย) ให้ความสำคัญเรื่องสังคม  ทำอย่างไร  ไม่ให้วิฤตเศรษฐกิจลุกลาม  วิกฤตทางสังคมในหลายประเทศลุกลาม  แย่งชิงอาหาร  ท่านให้ความสำคัญกับสังคม   รัฐมนตรีที่มีบทบาท  คือคุณหญิงสุพัตรา  มาศดิตถ์   และตนได้รับมอบหมายให้ผลักดันการสร้างหน่วยงานรัฐรูปแบบใหม่  คือ ‘องค์การมหาชน’  ซึ่ง พอช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มาจากแนวคิดตรงนี้   ที่ท้าวความเพื่อย้ำเตือนว่า  งานที่พวกเราทำทั้งหลายยืนอยู่บนหลักคิด  หลักการที่สำคัญที่ต้องไม่ลืม  คือ ท่ามกลางความผันผวนของโลก  ซึ่งเรามีบทเรียนจากปี  2540  เราต้องมีระบบส่งเสริมกิจกรรม  เพื่อให้เกิดอาชีพรายได้  คือความมั่นคงของมนุษย์”  อดีตนายกฯ กล่าว

 จากแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง   หลักเศรษฐศาสตร์   การเตรียมความพร้อม  การออมเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม   งานสวัสดิการชุมชนที่เกิดขึ้น  เกิดจากธรรมชาติของชุมชนต่างๆ  ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’  นำเสนอใน  ครม.สังคม  ทำให้ราชการเริ่มขยับเข้ามา  เริ่มจากกองทุนผู้สูงอายุก่อน   ต่อมาในสมัยที่ตนดำเรงตำแหน่งนายกฯ  จึงขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการชุมชนอย่างจริงจัง  

อดีตนายกฯ กล่าวว่า  รัฐบาลทุกยุคมาทำงาน  มีโครงการไม่ให้คนเป็นหนี้   แต่มีน้อยที่ส่งเสริมเรื่องการออม   งานที่เริ่มจากปี 2540 อยู่บนหลักคิดที่สำคัญ  คือ  งานด้านนี้แม้ระบบราชการมีบทบาทสำคัญ  แต่ต้องพึ่งพลังชุมชน  พึ่งพาการทำงานของประชาชนเอง  ต้องอิงกับแนวคิดการกระจายอำนาจ  ทำอย่างไรให้เกิดระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการด้วย ฯลฯ  อย่างไรก็ตาม  ความต้องการของประชาชน ยังไม่ได้รับการตอบสนอง   ยังติดขัดกฎหมาย  ระเบียบ  อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข 
“เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน   ผมบอกว่าตอนทำไม่ได้คิดว่ารัฐสมทบแค่  3 ปี   คิดว่าสมทบตราบเท่าที่ประชาชนยังออมเงินอยู่   อยากเห็นท้องถิ่นเข้ามาสมทบอย่างเต็มรูปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์  อยากให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วม  และเขาได้รับประโยชน์บางอย่างได้หรือไม่”   

อดีตนายกฯ ยกตัวอย่างเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งขณะนี้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเสนอให้รัฐสมทบเงินเข้ากองทุนมากกว่า 3 ปี  นอกจากนี้ยังมีเรื่องโฉนดชุมชนที่ประชาชนเรียกร้องแต่ขาดความต่อเนื่องเพราะเปลี่ยนรัฐบาล  และเรื่องบ้านมั่นคงที่ยังติดระเบียบ  ข้อกฎหมายต่างๆ

ความผันผวนของโลกที่สังคมไทยต้องรับมือ

อดีตนายกฯ  กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่สังคมไทยต้องเผชิญ  โดยกล่าวว่า  จะต้องประเมินอนาคตข้างหน้า  โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี   ความมั่นคงของมนุษย์  งานด้านเศรษฐกิจฐานราก  เศรษฐกิจสร้างสรรค์   ล้วนแต่จะมีความสำคัญมากขึ้น 

 ยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้างประชากร  ที่เห็นได้ชัดขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย  และจะเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบด้านปัญหาเศรษฐกิจ  การขาดแคลนแรงงาน  โดยส่วนหนึ่งมีการทดแทนแรงงานโดยหุ่นยนต์  เครื่องจักร    และแรงงานต่างด้าวจะมีบทบาทสูง   เราต้องดูแลคนที่มาทำงานในประเทศไทย  ถ้าหากเขาไม่ได้รับการดูแล สุขภาพ  การศึกษาลูกหลานของเขา  จะเป็นปัญหาของสังคมเรา  

 แนวคิดเรื่องแรงงานต่างด้าว   จะต้องมีการรื้อครั้งใหญ่  แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  เพราะทุกคนบอกว่าจะเป็นปัญหาของความมั่นคง  แต่ตนคิดว่าหากมีปรับเปลี่ยนแนวคิด  ดูแลแรงงานต่างด้าวเหมือนกับที่คนไทยไปแสวงหาโอกาสในการทำงานต่างประเทศ  จะทำให้คนเหล่านี้ผูกพันกับประเทศของเรา  แต่หากไม่ทำ  เขาก็มาทำงานเพื่อหาเงินอย่างเดียว
 นอกจากนี้ที่เห็นชัดเจนคือ  เรื่องความไม่แน่นอน  ความผันผวน  ความแปรปรวนในโลก  ปัจจุบัน  3 ปีทีผ่านมา    ใครจะคิดว่าโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีจะเกิดขึ้นอีก  ทั้งที่โลกเรามีเทคโนโลยีถอดรหัสยีนได้  แต่โควิดก็ยังไม่หายไป   แสดงว่าเรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน   ส่วนหนึ่งมาจากภาะโลกร้อน  มาเปลี่ยนแปลงการผลิต  อุตสาหกรรมบริการ  การเดินทางได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
“ความผันผวนเหล่านี้แปลว่า  คนไทยต้องแสวงหาความมั่นคง   เสียงเรียกร้องที่สำคัญคือ  การมีสวัสดิการถ้วนหน้า คาดว่าปีหน้าพรรการเมืองต่างๆ  มีการแข่งขันเรื่องนี้สูง  ทั้งที่ยังไม่เห็นว่ามีข้อเสนอในการระดมทรัพยากรมาสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร ?”  อดีตนายกฯ กล่าว

'อภิสิทธิ์' ห่วง สมาชิกพรรค ปชป.ลาออก พร้อมแจงร่วมโต๊ะ 'เสี่ยหนู' ไม่มีนัยการเมือง

(29 พ.ย. 65) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ว่า ตอนนี้ทุกคนรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจน บนเวทีทุกคนก็เห็นตรงกันว่าตอนนี้มีปัญหา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทำไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดปัญหา แต่ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ศาลก็จะเป็นผู้กำหนดทางออก ถ้าศาลวินิจฉัยว่ามีปัญหาและขัดกันในเรื่องของกฎหมายลูก คงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายใหม่ แต่ถ้าชี้ว่าไม่ขัด มาตราที่มีการผูกติดกับระบบเดิมก็ไม่ต้องใช้ ค้างไว้เช่นนั้น ทั้งนี้ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรเลวร้ายถึงขั้นที่ต้องลงถนน ทุกอย่างอย่างยังคงต้องอยู่ในกติกา ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าภายในปีหน้าต้องมีการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าการจัดการเลือกตั้งจะจัดให้ราบรื่นได้อย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดที่อาจมีปัญหาในข้อกฎหมาย ที่อาจจะไม่ทันแต่เชื่อว่าจะไม่มีอะไรที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้

'ก้าวไกล' กว่าที่เป็น หาก 'พรรคก้าวไกล' ได้แม่ทัพใหม่ที่ชื่อ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' 'คนรุ่นใหม่-การเมืองสร้างสรรค์' แท้จริง อาจบังเกิด!!

เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจาก นายเถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก (แต่ล่าสุดก็ได้ลบไปแล้ว) ว่า...

แว่วข่าวมานับเดือนแล้วว่า…คุณบุญยอด สุขถิ่นไทย จะอำลาประชาธิปัตย์…รวมทั้ง คุณจุติ ไกรฤกษ์ ด้วยอีกคน

วันก่อนคุณบุญยอด ประกาศอำลาประชาธิปัตย์ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ

ส่วนคุณจุติ ยังอยู่กับพรรค…คาดกันว่า อีกวันสองวันคงชัดเจนตามข่าวที่ร่ำลือกันมา

เหลือเพียงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ…ที่ยังนั่งรอเทียบเชิญจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยบอกว่าจะมาชวนไปช่วยงานเลือกตั้ง

เพื่อนๆ หรือชาวคณะท่องเที่ยวที่เคยฟังผมพูดบนรถทัวร์ระหว่างไปเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อสิงหาคม 2565…คงจะจำกันได้บ้างว่า ผมเคยพูดเล่นๆ ว่า ใจผมนั้นอยากให้คุณอภิสิทธิ์ลาออกจากประชาธิปัตย์ไปเป็นสมาชิกพรรค 'ก้าวไกล'

ผมพูดเล่นๆ แบบนี้กับเพื่อนๆ ใกล้ตัวหลายครั้ง…

เพราะผมเชื่อว่า คุณอภิสิทธิ์จะยังไม่สามารถกลับเข้ามามีบทบาทนำในพรรคประชาธิปัตย์ได้อีกหลายปี

แต่คุณอภิสิทธิ์เป็นคนมีความสามารถ และมีแนวความคิดที่เหมาะสมจะมาอยู่ร่วมกับ 'พรรคก้าวไกล'

คุณอภิสิทธิ์จะสามารถปรับทิศทางการเมืองของคนในพรรคก้าวไกลให้เดินไปในแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าที่เคยเป็นมา

คือลดเลิกความคิดรุนแรงสุดโต่งที่รังแต่จะนำคนรุ่นใหม่ไปสู่เส้นทางผิดๆ และทำลายล้างความคิดดีๆ

ผมเชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับพรรคที่เป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่พรรคนี้ให้มาในแนวทางที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อการพัฒนาสังคม

แทนที่จะปลุกระดมให้หมกมุ่นอยู่กับแนวคิดทางการเมืองสุดโต่งที่ก่อเกิดการแตกแยกมากกว่ามุ่งหน้าพัฒนาประเทศ

‘มาร์ค’ ประเดิมปราศรัย ‘ปชป.’ ช่วยผู้สมัคร ส.ส.กรงุเทพฯ พร้อมวลี “กรีดเลือดก็เป็นสีฟ้า”  ขอให้ปชช. มั่นใจในพรรค

(29 มี.ค.66) - ที่สวนสาธารณะใต้สะพานพระรามแปด ฝั่งธนบุรี นายชนินทร์ รุ่งแสง ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตบางกอกน้อย บางพลัด พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดนโยบายช่วยเศรษฐกิจฐานราก โดยในครั้งนี้มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป. มาช่วยหาเสียงด้วยซึ่งถือเป็นการปราศรัยครั้งแรกนับตั้งแต่มีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตหลักสี่-จตุจักร นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และน.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง ร่วมเวทีปราศรัยด้วย

ทั้งนี้ ยังมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล และอดีตส.ส.กทม. พร้อมว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตต่างๆในกทม. มาร่วมเป็นกำลังใจและฟังการปราศรัย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก

โดยในช่วงต้นของการหาเสียงครั้งนี้ พล.ต.ต.วิชัย ย้ำชัดเจนว่าประชาธิปัตย์ไม่เอากัญชาเสรี ไม่เอายาเสพติด และจะปราบทุจริตซึ่งเป็นวิกฤตของชาติ ส่วนนายสุชัชวีร์ เน้นในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรก และพรรคเดียวที่เสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จให้กับคนกรุงเทพ และไม่มีพรรคใดแก้ไขเรื่องนี้เลย แสดงว่าเขาไม่ได้ฟังชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5

ด้านนายชนินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์คิดนโยบายจากการไปฟังความคิดเห็นจากประชาชน จึงมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของคนรากหญ้า ที่เดือดร้อนมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด พรรคมุ่งมั่นที่จะทำให้ความรวยกระจาย ไม่กระจุก และตั้งใจเสริมสร้างกองทัพมดให้เข้มแข็ง ก่อนหน้านี้ได้ประกาศไปแล้วถึงนโยบายธนาคารชุมชน ชุมชนละ 2 ล้านบาท ลดค่าไรเดอร์เหลือไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ลดหย่อนภาษีให้แก่ร้านค้าชุมชน กองทุนไอเดีย เพื่อช่วยคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ในการทำธุรกิจ วันนี้ขอนำเสนอนโยบายใหม่เพิ่มเติม คืออาสาสมัครพารวยทุกชุมชน ที่จะทำหน้าที่ช่วยดูแลให้คำปรึกษาในทุกเรื่องแก่ผู้ที่จะประกอบอาชีพทำธุรกิจในชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจไปประสบความสำเร็จคือ รวยแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังขอเสนอนโยบายจัดโซนนิ่งปลอดร้านสะดวกซื้อ เพื่อร้านขายของชำในชุมชนจะต้องสามารถดำเนินการค้าขายไปได้ไม่แพ้ร้านค้าที่มาจากนายทุนใหญ่ด้วย

“พรรคไม่มีนโยบายใช้เงินประชาชนล่อซื้อเสียงประชาชน ด้วยนโยบาย แจก3 พัน 5พัน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจหรือพรรคที่มีวาระซ่อนเร้น ผมมั่นใจว่าผมเป็นทางเลือกที่พิสูจน์แล้วว่าทำงานให้กับพี่น้องคนทุกรุ่นได้ เรามีทีมงาน สก.ที่จะทำงานควบคู่ไปกับส.ส.เขต ผมและทีมงานทุกคนใส่ใจและรู้งานในพื้นที่จริง โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันเราเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโควิด แต่ยังไม่หลุดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ผมทำงานมาตลอดแม้จะมีตำแหน่งหรือไม่ตำแหน่ง เกือบ 30 ปีทางการเมืองของผมอยู่กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ผมพร้อมมาดูแลพี่น้อง พร้อมเป็นส.ส. ผมทำทุกอย่างเพื่อพี่น้องได้ยกเว้นความผิดหวัง สุดท้าย ผมพูดจากใจอยากทำงานให้กับพี่น้องให้ชาวบางพลัด บางกอกน้อย การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งโปรดเลือกผมเป็นส.ส.เขต และอีกใบหนึ่งโปรดกาให้กับพรรคประชาธิปัตย์” ว่าที่ผู้สมัครเขตบางกอกน้อย บางพลัด พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

‘จุรินทร์-อภิสิทธิ์’ เตรียมปราศรัยโค้งสุดท้าย ลานคนเมือง 12 พ.ค.นี้ ชวนคนไทย เลือก ‘ปชป.’ เป็น รบ. พาประเทศเดินหน้าอย่างยั่งยืน

(10 พ.ค. 66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลพื้นที่ กทม.เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค.นี้ เวลา 17.00 น.พรรคประชาธิปัตย์ จัดปราศรัยใหญ่ ที่ลานคนเมือง นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคฯ, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบายกรุงเทพฯ, น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานวัตกรรมการเมือง และตน พร้อมผู้สมัคร ส.ส.กทม.ทั้ง 33 เขต และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกคับคั่ง

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การปราศรัยครั้งนี้จะเป็นการปราศรัยครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้ โดยจะเน้นเชิญชวนให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศช่วยสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ทั้ง ส.ส.แบบเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์การทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ พร้อมทั้งการทำงานรับใช้ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ จะชี้ให้เห็นถึงนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ และเป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริงทันทีที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ที่จะชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทยว่า จะเดินไปทางไหน โดยพรรคประชาธิปัตย์จะชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเมืองเข้าสู่จุดเข้มข้นจนอาจถึงทางตัน แต่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะช่วยสร้างทางรอดให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการยึดมั่นในการทำงานบนความซื่อสัตย์สุจริต เชื่อมั่นว่า การปราศรัยใหญ่ครั้งนี้จะมีส่วนทำให้ประชาชนพร้อมจะตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ให้กลับมาทำงานรับใช้ประชาชนอย่างท่วมท้นแน่นอน” นายองอาจ กล่าว

ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สะเทือนค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์-เดชอิศม์’ ใครจะได้เป็นผู้กุมบังเหียนประชาธิปัตย์

เริ่มชัดขึ้นแล้วสำหรับศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ มาถึงวันนี้ น่าจะเหลือเพียงสองคนชิงดำกัน ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จ้องจะเข้ามานานแล้ว วนเวียนพูดอยู่ตามเวทีเสวนาต่างๆ กับ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้

เดิมมีชื่อปรากฏผู้ที่จะลงชิงอยู่ 3-4 คน ตามที่เคยบอกกล่าวไปบ้างแล้ว นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่กล่าวอ้างว่า มี ส.ส.มากถึง 17 คน ให้การสนับสนุน มีแรงเชียร์จากชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มเดียวกับที่เชียร์นายกฯ ชาย ถ้าคนใดคนหนึ่งถอยอีกคนจะสู้แทน แต่มาดาเดียร์น่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะเพิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 5 ปี ตามข้อบังคับพรรค แต่ข้อบังคับพรรคมีการเปิดช่องให้ยกเว้นการบังคับใช้ได้ด้วยมติ 3/4 ของที่ประชุมใหญ่ แต่ยังถือว่า ‘อ่อนพรรษาทางการเมือง’ ด้วยอายุเพียง 37 ปี และเป็น ส.ส.1 สมัย และไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาดามเดียร์จึงน่าจะไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มากุมบังเหียนพรรค

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครสนับสนุนบ้าง แต่ภาพลักษณ์ดี เป็นคนรุ่นใหม่ มีคุณสมบัติครบ และ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค บารมียังน้อย แต่ทำงานใกล้ชิดนายชวน หลีกภัย ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ดร.อิสระ จะโดดเด่นขึ้นมาได้ ต้องได้รับการสนับสนุน หรือแรงเชียร์จากผู้อาวุโสในพรรคเท่านั้น ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏชัด ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ตัวชูโรง ถึงที่สุดแล้ว น่าจะถอยตามคำขอของผู้อาวุโส

โดยทั้งหมดเรียกว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการให้เข้ามากอบกู้วิกฤตพรรค ก่อนหน้านี้อาจจะมีชื่อ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ด้วยประวัติส่วนตัวบางอย่างยังคลุมเครือ จึงล่าถอยไปก่อน กลัวจะถูกขุดคุ้ยไม่ต่างจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอดีต ส.ส.และผู้อาวุโสของพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ต่างเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะมากอบกู้ฟื้นฟูพรรคในเวลานี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แจ้งต่อผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่าถ้าจะกลับมานำพาพรรคต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในพรรคที่เห็นพ้องกัน และขอให้เชื่อมั่นในทิศทางที่จะนำพาพรรค โดยจะขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

ท่าทีการขอเป็นฝ่ายค้านของนายอภิสิทธิ์ น่าจะตรงกับกระแสส่วนใหญ่ที่อยากเป็นประชาธิปัตย์ถอยมาตั้งหลัก ขบคิดทบทวน ถอดบทเรียนเรื่องราวในอดีต แต่แตกต่างจากท่าทีของกลุ่มหนุนนายเดชอิศม์ ที่ต้องการนำพาพรรคไปสู่การร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติ รับใช้พี่น้องประชาชน

เอากันให้ชัดๆ สรุปว่า เวลานี้เหลือชิงดำกันระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ เท่านั้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มปรากฏภาพความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นเมื่อ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นต้น รวมถึงนายเชาว์ มีขวด และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ไปปรากฏตัวในงานเลี้ยงวันเกิดคุณติ๊งต่าง

‘คุณติ๊งต่าง’ คือใคร? คือ นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ติ๊งต่าง’ เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม​ชาวไทยหัวใจรักสงบ แม่ยกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

ในงานเลี้ยงของแม่ยกประชาธิปัตย์ที่มีผู้อาวุโส ผู้มากบารมีทางการเมืองไปร่วม คงไม่คุยกันเรื่องการทำนา ราคาทุเรียน หรือรับเหมาก่อสร้างเป็นแน่แท้ จริงไหมโฆษกขวด เชื่อมั่นว่าจะต้องคุยกันถึงเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจะเชียร์ใคร ถ้าไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่ในวงด้วย และคนในวงนี้ทั้งหมดเชียร์นายอภิสิทธิ์ทั้งนั้น

ไม่ต้องพูดถึงนายชวน-บัญญัติ-คุณหญิงกัลยา เชาว์ มีขวด เข้าสู่แวดวงการเมือง เพราะคำชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เกียรติ์ สิทธีอมร ได้ดิบได้ดี เพราะนายอภิสิทธิ์สนับสนุนมิใช่หรือ

9 กรกฎาคมก็จะรู้ว่า ใครจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ แต่ก่อนถึงวันนั้นให้ติดตามการขับเคลื่อนของมวลสมาชิก เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย และให้จับตา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ว่าจะขยับไปหนุนช่วยฝั่งไหน

วิเคราะห์ทิศทาง ศึกชิง ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’  จับตาเดือด ‘อภิสิทธิ์-นายกฯชาย’ ใครจะได้นั่งตำแหน่งนี้

แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้

แน่นอนว่า ถึงแม้นจะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ในกำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมีโหวตเตอร์หลากหลายกลุ่ม

โหวตเตอร์กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี้คือกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นแม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

อาทิตย์หน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าใครจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่เบื้องหลังเห็นชื่ออยู่ 4 คน แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาพูดว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่นักข่าว นักวิเคราะห์เห็นร่องรอยของการเคลื่อนไหว และความพยายาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ วทันยา บุนนาค หรือตั๊ก จิตภัสร์ กฤษดากร เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แต่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคต้องการให้เห็นความเป็นเอกภาพ มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่เพื่อให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ก็อาจจะมีคนลงชิง 2-3 คน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากประเมินการหยั่งเสียงแล้ว น่าจะมีคนทยอยถอนตัว หรืออาจจะเกิดจากการล็อบบี้ของผู้อาวุโสที่มากบารมี 

แต่ถ้าให้สวยงาม อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายกฯชายเป็นเลขาธิการ ส่วนแทน-ชัยชนะ ในฐานะนำทีมนครศรีธรรมราชเข้ามาถึง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แทนนายกฯชาย ประเด็นคือนายกฯชายก็อยากเป็นหัวหน้าพรรคและจากการประเมินเสียงน่าจะสู้จริง ผู้ใหญ่ในพรรคคงต้องล็อบบี้กันหนัก ให้นายกฯชายไม่ลง รอหัวหน้าพรรคคนใหม่เสนอชิงเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญทีมบริหารพรรคชุดใหม่ต้องให้เห็นภาพว่า เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ทีมใหม่ ดร.อิสระ / ดร.เอ้ / ตั๊น / วทันยา / แทน /ร่มธรรม เป็นต้น ต้องเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค กำหนดแนวทาง ทิศทางของพรรค ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเก่าๆก็ต้องไม่ทิ้ง ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำก็ต้องขุดขึ้นมาใช้งาน แล้วแต่ผู้บริหารชุดใหม่จะวางบทบาทอะไรให้ทำ ถ้าเป็นที่ปรึกษาก็ต้องปรึกษาจริง ไม่ใช่ตั้งไว้ลอยๆ แล้วไม่เคยปรึกษาเลย 

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัจจัยแพ้ชนะ ส.ส.ปัจจุบันมีสัดส่วนน้ำหนักมากถึง 70%
-ทีมนายกฯชาย ส.ส.น่าจะมีแค่ 14-16 คือ 
-ประจวบคีรีขันธ์ 2
-นครศรีธรรมราช 5
-สงขลา 3
-ตรัง 2
-พัทลุง 2 (ไม่ชัวร์ว่าฝ่ายไหน)
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่ายังจะมีใครอีก

ทีมชวน-อภิสิทธิ์
-ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์ (3)
-นครศรีธรรมราช 1
-สงขลา 3
-ปัตตานี 1
-อิสาน 2 (อุบลราชธานี-สกลนคร)
-แม่ฮ่องสอน 1
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่าจะมีเพิ่มตรงไหนอีก

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ #นายหัวไทร จะเห็นว่า ทีมนายกฯชาย น่าจะมีอยู่ 14 เสียง ทีมของชวน-อภิสิทธิ์ น่าจะมีอยู่ 11 เสียง ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสียงเปรียบ

โหวตเตอร์ อีกกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะอยู่สายไหน ทั้งสายตัวแทนจังหวัด / ประธานสาขา / ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค/ อดีต ส.ส./อดีตรัฐมนตรี 90% อยู่สายชวน
แต่ต้องจับตาดูว่า นิพนธ์ บุญญามณี ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้สูงในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการสาขา จะช่วยทีมไหน จะเอาเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด หรือจะเอานายหัวเก่า นายหัวไทรเชื่อว่าช่วยอภิสิทธิ์

การปรากฏตัวของชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชาร์ มีขวด และผู้อาวุโสอีกหลายท่านในงานวันเกิดของแฟนคลับประชาธิปัตย์ผู้เหนียวแน่น ไม่ใช่เป็นการปรากฏตัวขึ้นธรรมดาแบบไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดธรรมดาเป็นแน่แท้ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คือการหารือถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

อาทิตย์หน้าบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์จะคึกคักขึ้นกับบรรยากาศของการเดินสายหาเสียงกับโหวตเตอร์ทั้งหลาย ขออย่าให้ได้ยินเสียงอีกนะครับว่า ใช้เงินหว่านซื้อเสียงให้เข้าหูอีก เพราะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยสุจริต
นายหัวไทร

‘นิพนธ์’ หนุนแนวทาง ‘อภิสิทธิ์’ เน้น ต้องทำให้พรรคมีเอกภาพ คิดถึงอนาคตเป็นหลัก

วันที่ 25 มิ.ย. 66 – นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคฯชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน แต่ส่วนตนคิดว่า หลังได้อ่านคำสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นว่า แนวทางที่ท่านเสนอมา จะทำให้พรรคฯ เดินไปข้างหน้าได้
การสร้างเอกภาพภายในพรรคฯเป็นสิ่งจำเป็น ตนจึงเห็นด้วยกับแนวทางของ นายอภิสิทธิ์ เพราะเรามีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ก่อนจะพูดถึงเรื่องตัวบุคคลในประชาธิปัตย์ ใครก็ได้มีคนที่เหมาะสมอยู่แล้ว

“ดังนั้นวันนี้เราต้องคุยกันและต้องเห็นพ้องต้องกันก่อนว่า ถ้าจะแก้ปัญหาได้จะทำอย่างไร พรรคฯเรามีบทเรียนมาหลายครั้งหลายรอบแล้ว ถ้ามันไม่มีเอกภาพจะเดินไปข้างหน้าลำบาก ฉะนั้นการทำให้พรรคฯมีเอกภาพเป็นสิ่งจำเป็น

ผมยังเห็นด้วยว่า ถ้าคุยกันได้ก็ต้องคุยกัน เราไม่ใช่คนอื่นคนไกล ทุกคนเป็นคนในพรรคฯ ด้วยกัน มีอะไรก็ต้องคุยกัน และในทางการเมืองมันไม่มีใครได้อะไรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ทุกอย่างก็ต้องคุยกันแบบพี่แบบน้อง คุยกันฉันพี่ฉันน้อง ซึ่งเป็นเรื่องของคนภายในพรรค” นายนิพนธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณี สื่อมวลชนหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่า กลุ่ม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคฯ ยังกุมความได้เปรียบเรื่องเสียงโหวตตามข้อบังคับพรรคฯ อยู่ ที่ 70 ต่อ 30 เปอร์เซ็นต์ นายนิพนธ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ฝั่งของใคร ทุกคนเป็นประชาธิปัตย์ และตนเชื่อมั่นในประชาธิปัตย์ คิดว่าทุกคนคิดถึงอนาคตของพรรคฯเป็นหลัก
ตัวบุคคลเรามาแล้วก็ไป แต่พรรคต้องอยู่ ตัวบุคคลเราเปลี่ยนมาเยอะหลายยุคแล้ว ย้อนไปตั้งแต่สมัยตนเคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคฯ นายพิชัย ไป นายชวน หลีกภัย มาเป็นหัวหน้าพรรคปชป. พอ นายชวน ไป นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ นายบัญญัติ ไปนายอภิสิทธิ์ ก็มา พอ นายอภิสิทธิ์ ไป นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ก็มาเป็นหัวหน้าพรรคฯ

“ตัวบุคคลไปได้ แต่พรรคจะต้องอยู่ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวบุคคลมาก่อนพรรค อันนี้มันเป็นคนละหลักการแล้ว แต่สำหรับผมที่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยยุวประชาธิปัตย์ คิดว่าตัวบุคคลเปลี่ยนได้แต่พรรคจะต้องอยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้องกันมีอะไรก็คุยกันฉันพี่ฉันน้อง คุยกันฉันท์มิตร”นายนิพนธ์ กล่าว

'48 สาขา-ตัวแทน ปชป.อีสาน' หนุน 'อภิสิทธิ์' นั่งหัวหน้าพรรค มั่น!! คุณสมบัติพร้อม สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั้งประเทศได้

48 สาขา และตัวแทนอีสาน ออกแถลงการณ์หนุน 'อภิสิทธิ์' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมสร้างเอกภาพจากบุคลากรทุกรุ่น หวังเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.66) ที่จังหวัดขอนแก่น ภายหลังการประชุมหารือร่วมกันของสาขาและตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้ง 48 แห่งได้แสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นหัวหน้าฯ 

ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้า และคณะกรรมการบริหาร พรรคชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค. 2566 แทนชุดเดิม ซึ่งได้หมดวาระลงนั้น

พวกเราในฐานะสาขาและตัวแทนพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดและประมวลความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกในระดับต่างๆ ซึ่งมี ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทอย่างสําคัญ ต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนจะสามารถยึดเหนี่ยวได้ ดังนั้นการเลือกกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะตําแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ต้องทําหน้าที่นำพาองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งประเทศ จึงมีความสําคัญ และจําเป็นที่จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และ มีหลักคิดที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ และประชาชนได้ 

พวกเราจึงมีมติร่วมกันเพื่อนําเสนอต่อพรรคและเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศดังนี้...

1. พวกเราขอสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรีให้ทําหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนําพาองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมืองแหง่นี้ ให้เกิดศรัทธา และความเชื่อมั่นที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวเพื่อรักษาระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป

2. พวกเราเห็นว่าบุคลากรทุกองค์ประกอบของพรรค ต่างมีคุณค่าตามสถานภาพและความรับผิดชอบจึงอยากเห็นความสามัคคีและความเป็นเอกภาพเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร แห่งนี้ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้

3. พวกเราขอสนับสนุนท้ังอุดมการณ์ และประสบการณ์ของบุคลากรรุ่นเก่า และผสม ผสานกับบุคลากรรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาสืบทอดเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ เพื่อความยั่งยืนของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อแสดงจุดยืนของ สาขาพรรค ตัวแทนพรรค และพี่น้องประชาชน ท้ังที่เป็น และไม่ไ่ด้เป็นสมาชิกพรรคจากพื้นที่ภาคตตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และขอเชิญชวนพี่น้องชาวประชาธิปัตย์ทุกท่านทั่วประเทศร่วมสืบทอดเจตนารมณ์ร่วมกัน

ด้วยจิตคารวะ
สาขา และ ตัวแทนจังหวัดภาคอีสาน ทั้ง 48 แห่ง ที่ประสานงานเบื้องต้น (ตามรายชื่อที่ปรากฏในแถลงการณ์) 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top