Friday, 3 May 2024
หมอวาโย

แลกหมัด!! ศึกอภิปรายซักฟอกรัฐบาล 19 กรกฎาคม 2565

>> นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง หรือหมอเก่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน เสี่ยงมีปัญหาทางการทูต การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ และที่อ้างว่า การปลดล็อกกัญชานั้นเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ที่ผ่านมา อนุทินได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าทุกคนจะปลูกกัญชาได้จนร่ำรวย สามารถนำกัญชาไปผสมอาหารหรือเสพได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกัญชาทางการแพทย์เลย 

>> อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
ข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์นั้น อยู่ในจุดที่ควบคุมได้ จึงไม่จำเป็นต้องรีรอ และทุกอย่างมันเป็นไปตามกระบวนการ สมควรแก่เหตุแล้ว ทุกคนเห็นด้วยที่จะให้กฎหมายออกมาโดยเร็ว แต่การเอาคลิปมาโจมตี ที่พูดเรื่องอนุญาตให้ใช้ในบ้านนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลก็เขียนเหมือนกัน ทั้งนี้ เรื่องคลิป ต้องการให้ดูกันทั้งคลิป อย่าเพิ่งตัดสินจากเนื้อหาเพียงบางส่วน

'หมอวาโย' ชี้!! งบ 'กรมการข้าว' โตผิดปกติ ซัด!! ใช้งบ 1.5 หมื่นล้านก่อนเลือกตั้ง มีนัยแปลก ๆ

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ผู้สงวนความเห็น ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอปรับลดงบประมาณลง 15,260 ล้านบาท ในส่วนโครงการของกรมการข้าว โดยระบุว่า เป็นกรมที่ได้รับงบประมาณโตขึ้นมากถึง 850 % ภายใน 1 ปี ซึ่งจากเดิมได้รับงบ 2,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 17,000 ล้านบาท และเมื่อไปดูว่าเพิ่มตรงไหนก็พบว่ามีโครงการหนึ่งที่ใช้งบประมาณสูงถึง 15,260 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ว่าจะให้ชาวนาร่วมกันบริหารจัดการเงิน 15,000 ล้านบาท ส่วน 260 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องการจัดการขั้นตอนต่างๆ และนอกจากนี้่ก็มีการตั้ง KPI ไว้ว่าเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับชาวนาที่ร้อยละ 5

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ได้รับคำชี้แจงจากอธิบดีกรมการข้าวว่า จะให้เงิน 3 ล้านบาท ให้กับศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 แห่ง ซึ่งเมื่อคูณตัวเลขก็จะได้ 15,000 ล้านบาทพอดี แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบก็พบว่ามีศูนย์การข้าวชุมชนอยู่จริง ๆ 2,400 แห่ง ต่อมาก็ได้คำตอบจากเอกสารชี้แจงว่าจะตั้งเพิ่มอีก 2,600 แห่ง โดยให้ให้เสร็จในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งก็คืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น คำถามคือจะตั้งทันหรือไม่ นอกจากนี้ ความคลุมเครือนี้ก็ยังมีกรณีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ซึ่งกำกับดูแลกรมการข้าวไม่เคยเห็นโครงการนี้ จึงทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบโดยเรียกอธิบดีมาชี้แจง แต่ทว่าอธิบดีก็ไม่เคยมาด้วยตัวเอง มีแต่การชี้แจงด้วยเอกสารเท่านั้น ซึ่งก็ได้รับการชี้แจงว่า โครงการนี้จะมาแทนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่แจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้กับเกษตรกรไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ก็มีคำถามว่า กรมการข้าวก็เคยมีโครงการลักษณะนี้ ตอนนั้นตั้งงบประมาณ 7,275 ล้านบาท ยังดำเนินการได้แค่ 5,762 ล้านบาท และปีนี้บุคลากรเท่าเดิม แต่จะแจกเงิน 5,000 ศูนย์ คือทำงานเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จะสามารถทำทันได้อย่างไร

'วาโย' อัด สธ. จัดงบให้ รพ.ไม่เป็นธรรม 'บุรีรัมย์' ได้มากกว่าเพื่อน 156 เท่า

'วาโย' อภิปรายการจัดสรรงบประมาณพัฒนาระบบสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข ชี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำกระจุกตัว พบโรงพยาบาลกลุ่ม 'เฉลิมพระเกียรติ ได้มากกว่าเพื่อน 1.5 เท่า ในลิสต์พบบุรีรัมย์ตามคาด ได้มากกว่าเพื่อน 156 เท่า ถึง 598.5 ล้านบาท

วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระ 2 มาตรา 25 กระทรวงสาธารณสุข ได้อภิปรายขอตัดลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขลง 7.5%

โดยวาโยระบุว่างบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 1.2 แสนล้านบาท แม้จะดูเหมือนเยอะ แต่ก็เป็นงบประมาณบุคลากรไปแล้วราว 1 แสนล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาทที่เหลือ เป็นงบประมาณที่ใช้ในโครงการพัฒนาระบบสุขภาพประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นงบผูกพัน

ซึ่งในส่วนของงบประมาณโครงการพัฒนาระบบสุขภาพราว 2 หมื่นล้านบาทนี้ ส่วนที่เยอะที่สุดคืองบประมาณค่าดำเนินการ แต่รองลงมาคือค่าก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนถึง 32%, การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 15% และที่เหลือ 14% เป็นงบประมาณอุดหนุนในส่วนต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

วาโยอภิปรายต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกต คือค่าก่อสร้างโรงพยาบาลที่อยู่ในกลุ่ม 'เฉลิมพระเกียรติ' ได้งบประมาณมากกว่าโรงพยาบาลที่ไม่มีชื่อต่อท้ายมากกว่ากันถึง 1.5 เท่า

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการพัฒนาระบบสุขภาพโดยแบ่งเป็น 3 ประเภทโครงการ คือ โครงการพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิและเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ, โครงการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพสู่ความเป็นมืออาชีพ และโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

‘หมอวาโย’ ชงมาตรการรองรับ นทท.จีน แนะ เร่งฉีดเข็มกระตุ้น – เปลี่ยนวัคซีน - สุ่มตรวจเชื้อ

‘วาโย’ เสนอมาตรการรับนักท่องเที่ยวจีน แนะรัฐระดมฉีดเข็มกระตุ้น อัปเดตเป็นวัคซีน bivalent สต๊อกยาให้พร้อม เปลี่ยนจาก molnupiravir เป็น Paxlovid และสุ่มตรวจเชื้อนักท่องเที่ยว-น้ำเสียเครื่องบิน ชี้ ยังไร้แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือยืนยันโควิดระบาดแรงในจีนหรือไม่ แต่เข้าใจความกังวลของประชาชน ไทยควรเตรียมการรองรับ

วันที่ (6 ม.ค. 66) วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอมาตรการป้องกันเพื่อรองรับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดที่มีเชื้อรุนแรงกว่าปัจจุบัน โดยระบุว่าจากการสืบค้นและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายคน พบว่าข้อมูลที่มีการพูดถึงกันว่ามีการติดเชื้อโควิดอยู่ในประเทศจีนสูงมากและยังเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง เป็นข้อมูลที่ยังไม่มีการยืนยันออกมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือใด ๆ แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประเทศจีนไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรจะมีมาตรการป้องกันเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งมาตรการด้านวัคซีน การลดอัตราการเสียชีวิต และมาตรการเกี่ยวกับการเข้าเมือง

วาโยกล่าวว่า สำหรับมาตรการวัคซีน รัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็มกระตุ้นที่ 3 - 4 ให้แก่ประชากรเพิ่มโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนเข้มกระตุ้นไม่ถึง 50% หากรู้ว่าจะมีการรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา ก็ควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่ก่อนปีใหม่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดตอนนี้อาจยังทันอยู่ เนื่องจากวัคซีนบูสเตอร์ใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้นในการกระตุ้นภูมิต้านทาน ต่างจากวัคซีนเข็มหลักสองเข็มแรกที่ใช้เวลา 2 - 4 เดือน โดยควรฉีดให้ได้อย่างน้อย 80% ของประชากรทั่วไป และไม่น้อยกว่า 90% ของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าคนทั่วไป

วาโยกล่าวต่อว่า ส่วนประเภทของวัคซีนนั้น อย่างแย่ที่สุดต้องเป็นวัคซีน mRNA แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรต้องเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่ผสมสายพันธุ์โอไมครอนลงไปด้วย หรือที่เรียกว่าวัคซีนแบบ Bivalent ซึ่งยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยแม้แต่เข็มเดียว แต่หากไม่สามารถจัดหาได้ อย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถเอาวัคซีน Monovalent มาฉีดกระตุ้นก่อนได้ แต่หลังจากนี้ไม่ควรสั่งซื้อวัคซีนแบบ Monovalent มาใช้อีกแล้ว ควรปรับมาใช้วัคซีน Bivalent แทน

วาโย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับโควิดในปัจจุบัน ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่คือการเสียชีวิต ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยอยู่ที่ 0.1 - 0.2% หรือประมาณ 15 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งยังเป็นอัตราที่น้อยมาก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ออกมาแล้วว่าลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างดีที่สุด คือยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ประเทศไทยใช้เป็นยาหลักอยู่ตอนนี้ หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าลดอัตราการตายได้น้อยกว่า ดังนั้น รัฐบาลควรต้องสั่งซื้อ Paxlovid มาใช้เป็นยาหลักหลังจากนี้ และควรจะทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างานสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นกว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

‘หมอเก่ง วาโย’ ชี้ ‘อนุทิน’ ไม่ยอมเซ็นงบป้องกันโรคกองทุน สปสช. เป็นการตีความกฎหมายผิดพลาด ทำประชาชนเข้าถึงยาป้องกัน HIV ลำบากกว่าเดิม ถาม บ้านอยู่อวกาศหรือยังไง ถึงชอบสร้างสุญญากาศ จี้กล้าหาญเซ็นอนุมัติงบโดยเร็ว

วันที่ 8 มกราคม 2566 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีหน่วยให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ของภาคประชาสังคมจำนวนมาก ไม่สามารถให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV เนื่องจากงบประมาณในส่วนของการป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 รายการ ได้แก่ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP), ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ (PP-HIV), ค่าบริการผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณรวม 5,146.05 ล้านบาท ไม่ถูกอนุมัติ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอ้างว่าการนำงบที่เกี่ยวกับโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and Promotion: P&P) จากกองทุนบัตรทอง ไปใช้ดูแลทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้กองทุน สปสช. ต้องออกหลักเกณฑ์การให้บริการใหม่แก่หน่วยบริการสุขภาพ ให้หน่วยให้บริการร่วม จัดสรรสิทธิ์ในการป้องกันเชื้อ HIV ให้เฉพาะคนที่มีบัตรทองเท่านั้น คนที่ต้องการรับยาเพร็พหรือยาเป๊ป (PrEP, PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกัน HIV หรือแม้แต่การแจกถุงยางอนามัยฟรี ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ์ โดยคนที่มีสิทธิบัตรทองและข้าราชการไปรับได้ที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่ไม่มีสิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการ อาจต้องจ่ายค่ายา

นพ.วาโย กล่าวว่า การตีความกฎหมายของอนุทิน ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะโดยหลักการตาม พ.ร.บ.กองทุน สปสช. ถือว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการตามกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิอื่น โดยเฉพาะประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ ให้ใช้เงินจากสิทธิที่ตนเองมีก่อน

“การป้องกันเชื้อ HIV และโครงการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพอื่น ไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ดังนั้นคนไทยที่ต้องการใช้สิทธิตรงนี้จึงอยู่ในหน้าที่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน” นพ.วาโย กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top