'วาโย' อัด สธ. จัดงบให้ รพ.ไม่เป็นธรรม 'บุรีรัมย์' ได้มากกว่าเพื่อน 156 เท่า

'วาโย' อภิปรายการจัดสรรงบประมาณพัฒนาระบบสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข ชี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำกระจุกตัว พบโรงพยาบาลกลุ่ม 'เฉลิมพระเกียรติ ได้มากกว่าเพื่อน 1.5 เท่า ในลิสต์พบบุรีรัมย์ตามคาด ได้มากกว่าเพื่อน 156 เท่า ถึง 598.5 ล้านบาท

วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระ 2 มาตรา 25 กระทรวงสาธารณสุข ได้อภิปรายขอตัดลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขลง 7.5%

โดยวาโยระบุว่างบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 1.2 แสนล้านบาท แม้จะดูเหมือนเยอะ แต่ก็เป็นงบประมาณบุคลากรไปแล้วราว 1 แสนล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาทที่เหลือ เป็นงบประมาณที่ใช้ในโครงการพัฒนาระบบสุขภาพประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นงบผูกพัน

ซึ่งในส่วนของงบประมาณโครงการพัฒนาระบบสุขภาพราว 2 หมื่นล้านบาทนี้ ส่วนที่เยอะที่สุดคืองบประมาณค่าดำเนินการ แต่รองลงมาคือค่าก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนถึง 32%, การจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 15% และที่เหลือ 14% เป็นงบประมาณอุดหนุนในส่วนต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

วาโยอภิปรายต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกต คือค่าก่อสร้างโรงพยาบาลที่อยู่ในกลุ่ม 'เฉลิมพระเกียรติ' ได้งบประมาณมากกว่าโรงพยาบาลที่ไม่มีชื่อต่อท้ายมากกว่ากันถึง 1.5 เท่า

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการพัฒนาระบบสุขภาพโดยแบ่งเป็น 3 ประเภทโครงการ คือ โครงการพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิและเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ, โครงการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพสู่ความเป็นมืออาชีพ และโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

ซึ่งจากบรรดาโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงสาธารณสุขในทั้ง 3 ประเภท รวม 448 โรงพยาบาล เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียง 4 โรงพยาบาลที่ได้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดครบทั้ง 3 ประเภท นั่นคือ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ที่ได้รับงบประมาณรวม 598.5 ล้านบาท มากกว่าค่ากลาง 156 เท่า, โรงพยาบาลสุรินทร์ ที่ได้รับงบประมาณรวม 97 ล้านบาท มากกว่าค่ากลาง 26 เท่า, โรงพยาบาลชลบุรี ที่ได้รับงบประมาณรวม 92 ล้านบาท มากกว่าค่ากลาง 24 เท่า และ โรงพยาบาลนครพิงค์ ที่ได้รับงบประมาณรวม 38 ล้านบาท มากกว่าค่ากลาง 10 เท่า

ขณะเดียวกัน ในส่วนของงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ก็พบว่ามีโรงพยาบาลถึง 304 โรงพยาบาล ที่ได้รับงบประมาณครุภัณฑ์น้อยกว่าค่ากลาง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นการจัดสรรงบประมาณที่อาจตั้งคำถามได้ ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของบางกลุ่มหรือไม่

“กล่าวโดยสรุปก็คืองบฯ ก่อสร้างในโครงการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติได้งบฯ มากกว่าคนอื่น 1.5 เท่า มี 4 โรงพยาบาลที่ได้รับงบมากกว่าคนอื่น สูงสุดไปถึง 156 เท่า และมีโรงพยาบาลที่ได้รับงบประมาณค่าครุภัณฑ์มากกว่าคนอื่นถึง 25% การจัดสรรงบประมาณแบบนี้มีความกระจุกตัวและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง อาจจะมีการเอื้อพวกพ้องหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ไม่สัมพันธ์กับปริมาณและผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน” วาโยกล่าว