Tuesday, 7 May 2024
สุพรรณหงส์

วงการหนังไทยระอุ ร่วม #แบนสุพรรณหงส์  หลังประกาศกติกาใหม่ ส่อกีดกันหนังฟอร์มเล็ก

กำลังเป็นประเด็นร้อนเลยทีเดียว สำหรับดรามาเกี่ยวกับกติกาการคัดเลือกภาพยนตร์เข้าร่วมชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ที่คนทำหนังหลายคนโวยว่าไม่ยุติธรรม

โดยสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติออกกติกาใหม่ว่า หนังที่จะเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

▪️ ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ ฉายผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่ได้

▪️ ต้องฉายในโรงครบทั้ง 5 ภูมิภาค อย่างน้อยใน 5 จังหวัดใหญ่ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช

▪️ ต้องมียอดผู้ชมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

ทั้งนี้ คนในวงการส่วนใหญ่มองว่าเกณฑ์การคัดเลือกนั้นเอื้อผลประโยชน์ให้กับค่ายใหญ่ ซึ่งมีภาพยนตร์ถึง 11เรื่องด้วยกันที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "เวลา" (Anatomy of Time) ที่เพิ่งคว้ารางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม "คมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่19" และรางวัลจากต่างประเทศมาแล้ว

ศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้กำกับศิลป์เรื่องดังกล่าวได้โพสต์ว่าภูมิใจมากที่ได้รางวัล คมชัดลึกอวอร์ด หลังจากที่ได้รางวัลจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ถูกตัดสิทธิเอาชื่อออก ไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าชิงรางวัลของเวทีใหญ่ "...หงส์มีหลักเกณฑ์ ใหม่ที่เพิ่งตั้งในปีนี้ว่า ว่าภาพยตร์ที่จะเข้าคัดเลือกต้องมีการเข้าฉายในโรงภาพยตร์ให้ครบ 5 ภูมิภาค ของประเทศไทย แต่ภาพยนตร์เรื่อง Anatomyoftime ไม่ได้ไปฉายให้ครบทุกภาคของประเทศก็เลยไม่ผ่านเกณฑ์การตัดสิน"

ด้านคุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมเผยว่า ปีนี้ถามทางสมาคมสมาพันธ์ไปแล้วและได้คำตอบว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนกติกาได้ และจะพิจารณาใหม่ในปีหน้า ลั่น "ปีนี้ขอไม่ไปสุพรรณหงส์นะครับ"

ต่อมา หรินทร์ แพทรงไทย นักตัดต่อเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ก็ได้โพสต์ #แบนสุพรรณหงส์ "เนื่องจากเกณฑ์การคัดเลือกหนังที่เข้ารอบไม่เป็นธรรม ผมจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทีมงานภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง งดการมีส่วนร่วมกับงานสุพรรณหงส์ที่จัดโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกเราไม่ยอมรับเกณฑ์การคัดเลือกหนังที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับหนังค่ายใหญ่ สมาพันธ์ควรมีหน้าที่ส่งเสริมและยกระดับหนังไทยให้มีพื้นที่ฉายอย่างทั่วถึง ไม่ใช่การเอาเกณฑ์การฉายมาตัดสิทธิ์หนังในการคัดเลือกรางวัลจนเหมือนเป็นการฆ่าอุตสาหกรรมหนังไทยด้วยกันเอง ปีที่แล้วเรียกร้องให้ทีมงานได้พูดตอนรับรางวัล นอกจากจะไม่ได้แล้วปีนี้ตัดสิทธิ์หนังที่ฉายไม่ครบทุกภาคเฉยเลย #ไม่ให้ค่างานที่ไม่เห็นคุณค่าคนทำงาน"

‘อภิสิทธิ์’ ชี้เกณฑ์ใหม่สุพรรณหงส์ทำค่ายเล็กไม่ได้เกิด ดันนโยบาย ‘ก้าวไกล’ ทลายทุนผูกขาด หนุนอุตฯสร้างสรรค์

‘อภิสิทธิ์’ ชี้กติกาใหม่สุพรรณหงส์ กีดกันคนตัวเล็กไม่ให้แจ้งเกิด-ลดความหลากหลายภาพยนตร์ไทย เสนอนโยบาย ‘ก้าวไกล’ ทลายทุนผูกขาด-ตั้งกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุดหนุนคนสร้างหนังทางเลือก-แก้กฎหมายเซนเซอร์

(30 มี.ค. 66) อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ออกกติกาใหม่ว่าภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ต้องมีคุณสมบัติคือ (1) ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ครบทั้ง 5 ภูมิภาค อย่างน้อย 5 จังหวัดใหญ่ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช ฉายผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่ได้ และ (2) ต้องมียอดผู้ชมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า กติกาดังกล่าวเป็นการจำกัดคนที่เข้ามาแสดงความสามารถในวงการภาพยนตร์ไทย ทำให้ผู้สร้างหนังรายเล็กที่หลายคนทำภาพยนตร์เฉพาะทาง ขาดทรัพยากรและอำนาจต่อรอง แทบไม่มีโอกาสแจ้งเกิดผ่านเวทีประกาศรางวัลด้านภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

จึงเห็นว่าคนในวงการภาพยนตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับกติกานี้ ควรรวมตัวกันพูดคุยหาทางออกร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์เเห่งชาติ ขณะเดียวกันสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์เเห่งชาติเอง ก็ควรมีบทบาทเป็นตัวแทนของคนในวงการภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนของนายทุนไม่กี่เจ้า โดยเฉพาะบางเจ้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและเจ้าของโรงฉาย ซึ่งถือเป็นการกินรวบทั้งกระดาน อย่าปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของวงการภาพยนตร์ไทย

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กังวลว่าจะเป็นปัญหาระยะยาวจากเรื่องนี้ คือประเทศไทยจะไม่มีคนตัวเล็กที่ทำภาพยนตร์ดี ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ ออกมา โดยเฉพาะภาพยนตร์เฉพาะทาง ที่ตนเชื่อว่ามีตลาดอยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ ‘เจ้ย’ ซึ่งเคยได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทองคํา จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์

“หนังของเจ้ย ตลาดในเมืองไทยไม่ใช่ตลาดใหญ่มาก ไม่ได้เป็นที่รู้จักวงกว้าง แต่ในตลาดต่างประเทศกลับมีนายทุนอยากส่งเสริม แม้มีแง่มุมที่ดีว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝีมือผู้กำกับชาวไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ว่าทำไมหนังแบบนี้ประเทศไทยไม่ส่งเสริม ไม่ได้รางวัล แต่กลับไปได้รางวัลจากประเทศอื่น ทั้งที่คนไทยเป็นผู้ผลิต เป็นเจ้าของเนื้อหา แต่ประเทศไทยและวงการภาพยนตร์ไทยไม่สามารถได้ประโยชน์จากงานของคนไทยอย่างเต็มร้อย” อภิสิทธิ์กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top