Friday, 3 May 2024
สร้างงานสร้างอาชีพ

‘สตรีสามจังหวัดชายแดนใต้’ ร่วมโครงการ 'WE Achieve' พัฒนาศักยภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัด ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

(14 มี.ค. 66) สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตทั่วโลก รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ การปิดประเทศและการเลิกจ้างงานในช่วงโควิด ทำให้หลายครอบครัวที่เคยพึ่งพารายได้จากสมาชิกที่ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซียต้องขาดรายได้ และขาดความมั่นคงทางการเงิน

กลุ่มเยาวชนและสตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่จำกัดงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้างและงานด้านเทคนิคไว้เฉพาะผู้ชาย นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะและรายได้ของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

รายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า (McKinsey, 2020) เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่า และมีภาระที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องดูแลลูกและทำงานบ้าน

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) จึงร่วมมือกับบริษัท Avery Dennison ในโครงการ WE Achieve ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเข้ามาสนับสนุนห้องสำหรับปั๊มนมแม่และดูแลเด็กเล็ก อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับเด็ก รวมไปถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยง กรณีที่ลูกไม่มีผู้ดูแลระหว่างมาเรียน

โครงการ WE Achieve เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (USAID Achieve) สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ เสริมพลัง และสร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกัน

โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ THE LOOKER สถาบันอาชีวะและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดปัตตานี จัดอบรมวิชาชีพให้เยาวชน เช่น สาขาการทำอาหาร สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ และสาขาทาสีและปูกระเบื้อง รวมถึงให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต การเงิน และการทำธุรกิจขนาดเล็ก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 500 คน โดยมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิง

“การเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นสิ่งหนึ่งที่ Avery Dennison ให้ความสำคัญมาก เพราะนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้หญิงจะได้พัฒนาชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงโอกาสในทักษะวิชาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน”

“ในโครงการของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) นั้น เราทราบว่าเยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาและวิชาชีพ เราจึงเข้ามาสนับสนุนในด้านนี้เพื่อมอบโอกาสให้พวกเธอได้ต่อยอดในอนาคต” นายภูวดล วงศ์แสงทรัพย์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

จากการพูดคุยกับ 4 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ‘ฮัซนี อาแว’ และ ‘อักรัน สาแม’ คู่สามี-ภรรยา หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฮัซนี แม่บ้านวัย 20 ปี ได้ยินคำบอกเล่าจากญาติที่เคยเข้าร่วมโครงการว่าสอนจริง ได้งานจริง

ฮัซนีที่เพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความหวังว่าเธอจะมีทักษะและมีงานทำ เธอเข้าร่วมโครงการได้ไม่นานก็ชวนอักรันไปลงสมัครเรียนด้วยกัน เขาเองก็อยากพัฒนาทักษะเพื่อมาช่วยพ่อ และสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว ซึ่งอยู่รวมกันถึง 9 คน

คู่สามีภรรยาเล่าว่า บางครั้งเหนื่อยและแทบถอดใจอยากเลิกเรียน ด้วยระยะการเดินทางจากบ้านไปตัวเมืองปัตตานีนั้นกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งไปและกลับ แต่เมื่อนึกถึงโอกาสและรายได้ที่จะได้รับหากจบการศึกษาในโครงการ ทั้งฮัซนีและอักรันก็พยายามเข้าเรียนให้ครบทุกครั้ง

นอกจากหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทั้งสองได้ฝึก ฮัซนีและอักรันยังได้เรียนทักษะชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น การออมเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่รวมอยู่ในหลักสูตรของโครงการความฝันของฮัซนีและอักรันคือการมีร้านรับตัดเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง

ฮัซนีและสามีตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Anakees’ ตามชื่อร้านเดิมของพ่ออักรัน ทั้งคู่เชื่อว่า หากมีร้านออนไลน์จะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถสร้างอาชีพกระจายรายได้ไปยังช่างตัดเย็บมีฝีมือคนอื่น ๆ ในชุมชนได้อีก

‘คอดีเยาะห์ ฮะซา’ คุณแม่วัย 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ในสาขาอาหารและการบริการ คอดีเยาะห์เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ส่วนสามีรับงานกรีดยางที่รัฐกลันตันในมาเลเซีย ลำพังงานกรีดยางไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

“สามีไปเจอโครงการในเฟซบุ๊กเลยถามเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราเข้าไปดูในเพจก็เห็นมีผู้หญิงเรียนช่างไฟ รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยลองเข้าไปดู อยากหาประสบการณ์มาต่อยอดให้ตัวเอง ทำอะไรที่บ้าน แค่สามีหาเงินคนเดียว ลูกของเราโตขึ้นคงไม่พอ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้” คอดีเยาะห์ เล่า

จากที่เคยเลี้ยงลูกเอง เธอต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวและจ้างคนมาช่วยดูแล การสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางจากบ้านไปเรียนในตัวเมืองปัตตานีและค่าเลี้ยงดูลูกบางส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้มาก แม้ช่วงที่เรียนจะค่อนข้างหนักสำหรับแม่ที่มีลูกเล็ก แต่คอดิเยาะห์ตั้งใจเรียนจนจบ

ปัจจุบันเธอนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาทดลองทำซาโมซาส่งขายในชุมชน แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เธอภูมิใจในตัวเองที่เลี้ยงลูกได้แม้สามีไม่อยู่ และยังเริ่มต้นหารายได้เสริมให้ครอบครัว ลูกของเธอเองก็ชอบซาโมซาและมักขอให้เธอทำให้กินบ่อยครั้ง

‘นูรีฮัน หะ’ เป็นอีกคนที่เข้าเรียนในสาขาอาหารและการบริการ เธอเป็นลูกคนที่สองของพี่น้องทั้งหมด 5 คน สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นูรีฮันซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียต้องเดินทางกลับไทย

“พ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่หาดใหญ่ แม่อยู่บ้าน พี่ชายผ่อนรถ และมีลูกที่ดูแล 2 คน อยากให้พ่อหยุดทำงานมาอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว ครอบครัวยังต้องเช่าบ้าน ต้องผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่” นูรีฮันบอกเล่า

นูรีฮันใช้เวลาสมัครเข้าร่วมโครงการถึงสองหนกว่าจะได้รับคัดเลือก เธอเล่าว่าตื่นเต้นมาก เพราะชื่อของเธออยู่ในลำดับสุดท้ายของคนที่ได้รับคัดเลือก ไม่เพียงแต่รายการอาหารใหม่ ๆ ที่นูรีฮันฝึกหัด โครงการ WE Achieve ยังสอนทักษะการทำธุรกิจ ทั้งการคำนวณต้นทุน กำไร การจัดการเงิน ซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจของผู้เรียนต่อไป

“เขาจะสอนให้เราคิดว่าทำขนมแต่ละครั้งมีต้นทุน กำไร ค่าแรงของเราเท่าไหร่ ขายของแต่ละครั้งมีกำไรเท่าไหร่ ซึ่งมีประโยชน์มาก เราจะได้จัดการระบบของเราได้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราจะขายไปอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเงินต้นทุน กำไร ค่าแรงอยู่ไหน” นูรีฮันบอกเล่า

หลังเรียนจบ นูรีฮันขายบราวนี่ออนไลน์ ทำคัพเค้กให้งานแต่งงาน รวมถึงรับออเดอร์ขนมจากเพื่อนและคนรู้จัก นูรีฮันค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น หลังแผนธุรกิจของเธอได้รับเลือกให้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ WE Achieve ให้นำไปต่อยอดธุรกิจ

“โครงการนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราอยากไปต่อ เราสามารถเรียนไปทำไปได้ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบมาทำเอง ไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่ก่อนไม่กล้าคิดจะเปิดร้านส่วนตัวเพราะเงินไม่อำนวย แต่พอมาโครงการนี้ก็เริ่มมีความหวังว่าจะเปิดร้านได้” นูรีฮันปิดท้ายด้วยแววตาสดใสและมีความหวัง

กรมพัฒนาสังคมฯ’ จัดเวทีนวัตกรรมสร้างสรรค์รวมพลังเพื่อสังคม ส่งเสริมประชาชนให้มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

(7 มิ.ย. 66) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดเวทีนวัตกรรมสร้างสรรค์รวมพลังเพื่อสังคม ในโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ที่ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

โดยมี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี และคณะ รวมกับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ดำเนินโครงการ รวมถึงค้นหาแนวทางการพัฒนาการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางสังคม

นางจตุพร ได้กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการบูรณาการทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคสื่อมวลชน เพื่อใช้แลกเปลี่ยนนวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้น ยกระดับผลิตภัณฑ์นำไปสู่อาชีพสร้างรายได้ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นการทำงานบูรณาการในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถพึ่งพาตนเองได้และดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

นางจตุพร ยังได้กล่าวอีกว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะแค่ทุกภาคส่วนอย่างเดียว ยังมีภาควิชาการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.เอราวัณ ทับพลี และคณะ ได้จับคู่นำนวัตกรรมต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติทำให้เกิดผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเห็นผลได้ชัด และสามารถวัดผลได้

และยังมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ที่อยู่ในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทั้งสิ้น 196 องค์กร โดยมีแนวทางในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน 3 แนวทาง เพื่อพัฒนาการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายผู้ประสบปัญหาทางสังคม ดังนี้

1.) แนวทางพัฒนานวัตกรรมกระบวนการเพื่อชี้เป้าความสามารถ ศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย โดยประยุกต์แนวคิดการสร้างคุณค่าในตนเอง

2.) แนวทางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การจัดหางาน การพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมาย

3.) แนวทางพัฒนานวัตกรรมกระบวนการเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ประยุกต์ใช้กลยุทธ์การจับคู่ machine รายการเชื่อมโยงภาคี เครือข่ายกับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย

จึงขอเชิญชวนท่านที่มีความสนใจ อยากเข้าร่วมเครือข่ายการพัฒนาสังคม กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยากชวนทุกท่านมาร่วมกันทำความดีเพื่อสังคมเพื่อให้คนในสังคมทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียม สามารถมีชีวิตที่พัฒนาดีขึ้นและมีความสุขอย่างยั่งยืน
 

‘รมว.พิพัฒน์’ ลุยขยายตลาดแรงงานประเทศใหม่ๆ หนุนทำงานต่างแดนถูกกฎหมาย 100,000 อัตรา

(20 ก.ย. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกรมการจัดหางานในการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 

เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางานพร้อมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในตลาดแรงงานเดิมที่มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ในตำแหน่งงานใหม่ อาทิ ประเทศสวีเดน, ประเทศฟินแลนด์, ประเทศอิสราเอล, ประเทศญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี, ไต้หวัน และการขยายตลาดแรงงานในประเทศใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มความต้องการจ้างแรงงานไทย 

นอกจากนี้ ยังเจรจาเพื่อให้เกิดการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านแรงงานมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อแรงงานไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานกึ่งฝีมือและทักษะฝีมือ อาทิ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในตำแหน่งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยและคนชรา / ประเทศกาตาร์ ในแรงงานภาคก่อสร้าง ภาคบริการเกี่ยวกับท่าอากาศยานและรถไฟ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพ และภาคการขนส่ง / ประเทศจอร์แดน ในแรงงานภาคเกษตร / ประเทศนิวซีแลนด์ ในแรงงานทักษะฝีมือภาคบริการ ภาคเกษตร และแรงงานที่มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญ เฉพาะสาขาที่ขาดแคลน เช่น สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ทันตแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ / ประเทศโปรตุเกส ในแรงงานเกษตรกรรมและงานร้านอาหาร และประเทศออสเตรเลีย พร้อมรับพ่อครัวคนไทยที่มีประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมการจัดหางานสนับสนุนให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เพื่อให้แรงงานไทยมีรายได้และโอกาสทำงานเพิ่มขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์สั่งสมประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ โดยจากนี้กระทรวงแรงงานจะต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายทั้งนายจ้างในต่างประเทศ ประเทศปลายทาง ภาคเอกชนในประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ สัญญาจ้างงานของประเทศไทย และประเทศปลายทาง ตลอดจนวิธีการและขั้นตอนการนำแรงงานไทยเข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและเพิ่มโอกาสในการจ้างแรงงานไทย

ซึ่งหากส่งแรงงานไทยทำงานต่างประเทศได้ 100,000 คน ตามนโยบายท่านรัฐมนตรี นอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยทั้งหมดให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ 100,000 ครอบครัวของแรงงานมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตามไปด้วย

สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top