Thursday, 9 May 2024
สมเด็จพระสังฆราช

คนที่เกิดมา มีแต่คนคอยช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีบุญมากกว่า

คนที่เกิดมา มีแต่คนคอยช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ
แต่คนที่เกิดมา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีบุญมากกว่า

โอวาทธรรม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

'สมเด็จพระสังฆราช' ประทานพระคติธรรมแก่พุทธศาสนิกชน เนื่องในวัน 'วิสาขบูชา' ปี ๒๕๖๕

เนื่องในวันวิสาขบูชา ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า

ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง จึงควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลกิจ กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ทั้งด้วยอามิสบูชา ทั้งด้วยปฏิบัติบูชา เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการอบรมศึกษาพระธรรม ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสาวก ซึ่งแปลว่าผู้สดับตรับฟังคำสั่งสอนของศาสดา

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อเวลารุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ 1 ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนก(บิดา) มีนามว่า นายนับ ประสัตถพงศ์ (แซ่ตั๊ง) พระชนนี (มารดา) มีนามว่า ตาล ประสัตถพงศ์ สกุลเดิม วรกี เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน 

เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสตถิ์ สุมิตฺตเถร) เป็นพระอาจารย์คอยอบรมพระธรรมวินัย

ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมวันอาสาฬหบูชา 2565

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันพุธ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ความว่า...

ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ซึ่งเป็นสรณะนำทางชีวิตของพุทธบริษัท ให้มุ่งหน้าดำเนินไปสู่หนทางดับเพลิงกิเลสกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง  

ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอกวิถีทางดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ปัจจุบัน อันเต็มไปด้วยภยันตรายอันน่าหวาดหวั่นที่หลายคนคิดว่าคงไม่อาจเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลับบังเกิดมีขึ้นอีกทั่วไปในโลก เช่น ภัยสงคราม ทุพภิกขภัย และภัยอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้คนในวงกว้าง ท่านทั้งหลายพึงหันมาพิจารณาทบทวนอริยมรรค โดยใช้หนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ “สัมมาสังกัปปะ” ซึ่งหมายถึง “ความคิดที่ถูกต้อง” กล่าวคือ ความคิดที่จะลดละความอยากได้อยากมีจนเกินประมาณ ความคิดที่จะไม่พยาบาทจองเวรกัน และความคิดที่จะไม่เบียดเบียนกัน ขอจงช่วยกันระดมความคิดเห็นในทางสันติ ฉลาดในการปรึกษาหารือกันด้วยสัมมาวาจา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในทุกระดับ ให้คลี่คลายไปได้ด้วยความอดทนอดกลั้น รู้จักละวางทิฐิมานะ ให้อภัย และมุ่งแผ่เมตตาต่อกันด้วยใจจริง

'สมเด็จพระสังฆราช' มีพระดำรัสถวายพระพรแด่ในหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

(28 ก.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่พระดำรัสเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ความว่า

“อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิตร่วมกับปวงชนชาวไทย สำแดงมุทิตาปราโมทย์ และถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ราชอาณาจักรไทยจักสถาพรดำรงมั่น ก็เพราะนานาสถาบัน ซึ่งประกอบกันขึ้นจากปัจเจกบุคคล สามารถดำเนินสรรพกิจ สอดประสานร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น บนพื้นฐานของความสามัคคี โดยมีจิตสำนึกร่วมกัน ในอันที่จะละอายชั่ว และเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมสังคม พร้อมทั้งเป็นผู้นิยมยินดีในธรรม บำเพ็ญกรณียกิจอย่างเฉลียวฉลาดรอบคอบ ประกอบด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันอย่างจริงใจ อันจะยังผลให้บังเกิดสันติสุขในแต่ละภาคส่วน จนขยายวงไปสู่ประชาชาติไทยในภาพรวมได้ในที่สุด ปรารภเหตุฉะนี้ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ 
จึงทรงรักษาพระราชธรรมทุกหมวดหมู่ ให้เป็นคุณเครื่องอยู่ประจำพระราชหฤทัย เป็นวิถีทางดำเนินไปแห่งพระราชปฏิบัติ พร้อมกันนั้น ก็ทรงพระราชอุตสาหะจัดแจงให้ราษฎร สมัครสโมสรอยู่ในธรรม มีสติปัญญา และมีเมตตากรุณาต่อกัน ด้วยการดำเนินพระบรมราโชบายด้านการศึกษา การอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา และการจรรโลงศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนค่านิยมอันดีงามของชาติไทย ให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมา

สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงตั้งพระบรมราชปณิธาน และทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริทั้งนั้น ของสมเด็จพระบรมราชบุพการี เพื่อให้บ้านเมืองไทยประสบความเกษมโสตถิ์ อำนวยผลให้ทรงสำเร็จประโยชน์ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาราษฎรใต้ร่มพระบารมี ซึ่งจัดเป็นหน้าที่ ตามพระราชสถานะธรรมิกราชา สมด้วยโพธิสัตวภาษิต อันมีมาใน “มหาโพธิชาดก” ว่าด้วยปฏิปทาของผู้นำ ความว่า

สาธุ ธมฺมรุจี ราชา สาธุ ปญฺญาณวา นโร

สาธุ มิตฺตานมทฺทุพฺโภ ปาปสฺสากรณํ สุขํ.

แปลความว่า “พระราชาทรงชอบใจในธรรมจึงจะดีงาม นรชนมีความรู้รอบจึงจะดีงาม ความไม่ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นความดี การไม่กระทำบาป เป็นสุข” ด้วยประการฉะนี้

สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานผ้าไตร-กัปปิยภัณฑ์แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ ในเหตุคนร้ายกราดยิงศูนย์ฯ เด็ก หนองบัวลำภู

(7 ต.ค. 65) สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ระบุว่า ตามที่ เกิดเหตุคนร้ายประทุษร้ายประชาชน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 6 ตุลาคม 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และได้รับผลกระทบจากภยันตรายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ความทราบตามข่าวสารที่ปรากฏแล้ว นั้น

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปลงธรรมสังเวช อีกทั้งทรงพระปรารภห่วงใยผู้ประสบเหตุและผู้สูญเสีย จึงโปรดประทานผ้าไตร และมีพระบัญชาโปรดให้ไวยาวัจกรจัดกัปปิยภัณฑ์รายละเท่าจำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ประทานแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยการบำเพ็ญกุศลศพทุกราย ส่วนสำหรับผู้บาดเจ็บนั้น จัดกัปปิยภัณฑ์รายละเท่าจำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ประทานแก่ผู้บาดเจ็บทุกราย เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ โปรดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้เชิญสิ่งของและกัปปิยภัณฑ์ประทาน ไปมอบแก่เจ้าภาพศพและผู้บาดเจ็บทุกรายตามพระประสงค์

‘สมเด็จพระสังฆราช’ ทรงนำคณะสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ อุทิศกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

(26 ธ.ค. 65) เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โพสต์ภาพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงนำคณะสงฆ์สวดมนต์ทำวัตรเย็น แล้วสวดพระพุทธมนต์อุทิศกุศลแก่ผู้เสียชีวิต และเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ อำนวยสวัสดิมงคลแด่ราชนาวีไทยและราชอาณาจักรไทย เป็นกรณีพิเศษ ตามที่เกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยแห่งราชนาวีไทย อับปาง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และยังสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2565

‘สมเด็จพระสังฆราช’ โปรดประทานผ้าไตร ทั่วประเทศ ร่วมบุญบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพร ‘พระองค์ภา’

ปลื้มปีติ ‘สมเด็จพระสังฆราช’ โปรดประทานผ้าไตร ทั่วประเทศ เพื่อร่วมบุญ มท.โครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพร ‘พระองค์ภา’ ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร

วันนี้ (4 ม.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับมหาเถรสมาคมและทุกจังหวัดทั่วประเทศ จัดโครงการบรรพชาอุปสมบท 99 รูป ถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและมีพลานามัยแข็งแรงในเร็ววัน โดยกำหนดจัดบรรพชาอุปสมบททั้ง 76 จังหวัด ณ วัดที่จังหวัดกำหนด ภายในเดือนม.ค. โดยเชิญชวนบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนในจังหวัดจำนวน 99 คน สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 15 วัน โดยข้าราชการและบุคลากรภาครัฐสามารถร่วมบรรพชาอุปสมบทได้โดยไม่ถือเป็นวันลาเสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65

สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรม วันเด็กแห่งชาติ “เด็กและเยาวชนคืออนาคตของสังคมไทย”

(13 ม.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โพสต์ข้อความระบุว่า...

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ความว่า

“เด็กและเยาวชนคืออนาคตของสังคมไทย ซึ่งจะเติบโตมาแทนที่ผู้ใหญ่ผู้กำลังร่วงโรยสู่วัยชราในไม่ช้า ถ้าเด็กและเยาวชนเป็นผู้มีสติปัญญาไม่เฉียบแหลม มีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจอ่อนแอ ย่อมไม่อาจทำหน้าที่รับภาระของชาติบ้านเมืองในอนาคตได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ การกระทำตนให้ห่างพ้นจากภยันตรายที่อาจบั่นทอนสุขภาวะจึงเป็นหน้าที่สำคัญของเด็ก ๆ ทุกคน รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อเด็กก็ต้องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนด้วย

แด่...พุทธศาสนิกชน สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานพระคติธรรม  เนื่องในวันมาฆบูชา 6 มี.ค.2566

(5 มี.ค. 66) เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โพสต์ข้อความระบุว่า เนื่องในวันมาฆบูชา 6 มีนาคม 2566 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า…

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่ารำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน 3 อย่างไรก็ดี หากปีใดเป็นปีอธิกมาส วันมาฆบูชาจะตรงกับดิถีเพ็ญเดือน 4 ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้

สารัตถะประการหนึ่งในโอวาทปาติโมกข์นั้นคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง อันเป็นหัวใจพระศาสนาประการต้นที่พุทธบริษัททั่วหน้า พึงยึดถือเป็นหลักประพฤติให้ได้ ก่อนจะก้าวไปสู่การบำเพ็ญความความดีและการชำระใจให้บริสุทธิ์ บาปทั้งปวงตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ประมวลอยู่ในอกุศลกรรมบถ 10 ประการ จำแนกเป็น กายกรรม 3 กล่าวคือการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม วจีกรรม 4 กล่าวคือ คำโกหก คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ และ มโนกรรม กล่าวคือ การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา การคิดปองร้ายผู้อื่น และความเห็นผิด ครั้นเมื่อได้กระทำกรรมใดกรรมหนึ่งในอกุศลกรรมบถ 10 จึงถูกจัดว่าเป็นบาป

พุทธศาสนิกชนจึงมีหน้าที่ลด ละ และเลิกการกระทำบาปทั้งปวงแม้เล็กน้อย ซึ่งล้วนให้ผลเป็นความทุกข์ทำให้จิตใจเสื่อมคุณภาพ ยังอุปนิสัยให้กลายเป็นคนถนัดทำชั่ว จนท่วมท้นไปด้วยบาป ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า

อุทพินฺทุนิปาเตน                 อุทกุมฺโภปิ  ปูรติ

อาปูรติ  พาโล  ปาปสฺส        โถกํ  โถกํปิ  อาจินํ.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top