Thursday, 16 May 2024
สตาร์ตอัป

ปิดฉาก SVB!! สหรัฐฯ สั่งปิดธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจสตาร์ตอัป เหตุการณ์แบงก์มะกันล้มครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤตปี 2008

นับเป็นการล้มของแบงก์สหรัฐฯ ที่ขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤต 2008 เลยก็ว่าได้ สำหรับ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจสตาร์ตอัพในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งหากย้อนไปในปี 2008 ปัญหาที่หมักหมมในสหรัฐฯ เริ่มส่งกลิ่นไม่ดีเป็นเวลาหลายปีก่อนที่ฟองสบู่จะแตกตัวในปี 2008 

โดยก่อนหน้านั้นเกิดกระแสการจำนองโดยที่ผู้กู้นำหลักทรัพย์ด้อยคุณภาพมาค้ำประกัน เพราะดอกเบี้ยในตลาดช่วงนั้นต่ำมาก ประกอบกับธนาคารมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ผ่อนปรนกว่าแต่ก่อน ซึ่งเปิดทางให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ทั้งที่ยังไม่มีความสามารถในการจ่าย 

ผลกระทบที่ธนาคารและสถาบันทางการเงินสหรัฐฯ ได้รับในเวลานั้นก็คือ การขาดทุนอย่างย่อยยับ และ 'เลห์แมน บราเธอร์ส' ก็ได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป เพราะมีภาระหนี้สินถึง 6.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่แฮงก์ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่อัดฉีดเงินเข้าไปช่วยโอบอุ้มธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเกิดความตื่นตระหนก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลงกว่า 350 จุดจากข่าวดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไปทั้งตลาดเงินทั่วโลก

กลับมาที่เหตุการณ์ล่าสุด กระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศปิดกิจการของ Silicon Valley Bank (SVB) ในวันนี้ (11 มี.ค.66) พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC: Federal Deposit Insurance Corporation) เป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB

ทั้งนี้ FDIC ได้จัดตั้ง Deposit Insurance National Bank of Santa Clara (DINB) และได้โอนเงินฝากทั้งหมดจาก SVB ที่ได้รับการค้ำประกันเข้าสู่ DINB เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน

FDIC เปิดเผยว่า เจ้าของเงินฝากจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนเองได้ภายในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. ซึ่งสาขาต่างๆ ของ SVB จะเปิดทำการ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของ FDIC

อย่างไรก็ดี กฎระเบียบของ FDIC ให้การคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อผู้ฝาก 1 ราย ต่อ 1 ธนาคาร

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2565 ระบุว่า SVB มีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝาก 1.754 แสนล้านดอลลาร์

‘ปาริน นาคเสน’ ชี้ ธุรกิจสตาร์ตอัปไทยรอวันเจ๊ง เหตุหาเงินทุนหนุนยาก หลัง Investor เริ่มไม่เชื่อมั่น

ปาริน นาคเสน CEO & Founder OneDee.ai โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "สิ้นสุดยุค Startup เมื่อ Startup หมดมนต์ขลัง"... ถามว่าทุกวันนี้ หลายคนยังเชื่อในคำว่า Startup อยู่ไหมนะ? ด้วยกระแสที่ผู้ก่อตั้ง Startup ระดับโลกเป็นข่าวเรื่องหลอกลวงอย่าง Theranos และอีกหลายๆ เจ้าในระดับโลก แต่ในไทย กลับไม่เป็นข่าว กลายเป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา กันเฉพาะคนวงใน กันบางกลุ่มแค่นั้น .. 

ถามว่า Startup เป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ .. โดยหลักการแล้วมันไม่ใช่เรื่องหลอกลวง มันมีแนวคิดที่ดี วิธีการที่ดี แต่ตัวคนต่างหาก ที่เอากระแสมาใช้ประโยชน์จนมันฉิบหายเป็นโดมิโนกันอยู่ทุกวันนี้ .. เอาเป็นว่า สรุปความฉิบหาย กันเป็นเรื่องๆ ละกัน

จุดเริ่มต้นจากนักเรียนนอก มาเผยแพร่ Startup ในไทยจากเด็กจบนอกไปทำงานบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ ออกมาทำ Startup ในอเมริกา เจ๊งภายใน 3 เดือน ซมซานกลับมาเมืองไทย เป็นผู้บุกเบิก Startup ในไทย ทุกคนชื่นชมเป็นกูรู กูรู้ ประหนึ่ง เคยทำ Startup สำเร็จมาก่อน ... สร้าง Community และมีสื่อที่เป็น Connection ในมือ แม้แต่ผมก็อดชื่นชม ติดตามไปด้วย จริงๆ ก็น่าชื่นชมนะครับ เพราะก็ช่วยให้หลายๆ คนลืมตาอ้าปากได้ รวมถึงผมด้วย แต่แค่กระดุมเม็ดแรกก็ไม่น่ารอดแล้ว สุดท้ายก็เป็นการ Leverage จาก Connection กันเอง สื่อพวกเดียวกัน ก็ยกหางกันเอง

คำว่าการลงทุน Startup ต้องดูที่ Founder!!! ซึ่งมันก็จริง แต่สำหรับเมืองไทยคือ มรึงลูกใคร.. บ้านรวยไหม มีชื่อเสียงหรือป่าว อยู่ค่ายไหน มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect (ไปหาอ่านกันเอาเอง ) เอาสั้นๆ ก็คือเกิดความลำเอียงในใจนั้นแหละ ประเภทเขาหน้าตาดี ชาติตระกูลดี คนรู้จักเยอะ น่าจะเก่ง แล้วก็จบลงด้วยคำพูดหล่อๆ ว่า เราลงทุนเพราะ Founder ครับ เอาจริงๆ คือเพราะก็แค่ พวกเดียวกัน ช่วยกันต่อยอดก็แค่นั้นแหละ สาสสส.. 

ถามว่าทุกวันนี้ ชั้นแนวหน้าที่บอกว่าเป็น Idol startup อยู่ไหนกันหมดล่ะ แมร่งก็โดดออกกันไปหมดแล้ว เอาชื่อเสียงต่อยอด ไปเป็นผู้บริหาร Corporate ยักษ์ใหญ่บ้างล่ะ แม้แต่ระดับ Idol startup ไทย แตกบริษัทแล้ว แตกบริษัทอีก ยอดขายยังแพ้ SME ที่ทุกวันนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วอย่างเช่น MEB ... แต่กับ Startup Idol ได้รับเงินลงทุนหลายร้อยล้าน ไปอยู่ไหนกันหมดล่ะ?

สื่อ Startup ในไทยก็ขยัน "making stupid people famous" กันจัง เพียงเพราะก็สนิทชิดเชื้อกันเอง สรุปในไทยอาจจะใช้ Connection กันพร่ำเพรื่อเกินไป จนมองข้าม Skill จริงๆ กันไป โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัวกันเท่าไหร่ เพราะ Halo effect ยิ่งเป็นคนฉลาด ยิ่งสามารถหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองจนปฏิเสธไม่ได้นั่นแหละ

เรื่องต่อมา แนวคิดการทำธุรกิจในไทย ที่คิดว่า มีเงินทำได้ทุกอย่าง และต้องการควบคุมความเป็นเจ้าของสูง ผมได้ยินคำ ๆ นึงจนอยากจะอ๊วก คือ แอพแค่นี้ พี่ไปจ้างโปรแกรมเมอร์ แค่ สามสี่แสน ก็ได้แล้ว ไม่เห็นต้องลงทุนกับน้องเลย หรือบริษัทพี่มี Dev เป็นร้อย ทำเองก็ได้... ผมก็ได้นึกในใจว่า แล้วที่ผ่านมา .. พวกมรึงทำเหี้ยไรกันอยู่อะ?.. แล้วสุดท้ายผ่านไปเป็นปี กูก็ไม่เห็น Corporate ที่ว่า ทำเสร็จนะ มี Dev เป็นร้อยไอ้สัส..

หรือคำพูดแบบว่า เนี่ย พี่เคยลงทุนกับ Startup แล้ว คนนั้นคนนี้ แนะนำมา ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร มันก็วนกลับมาเรื่องเดิม ใคร? แนะนำพี่อะ กลุ่มไหน สุดท้ายก็กลุ่มข้างบนนั่นแหละ ก๊วนเดียวกัน พวกเดียวกัน หลอกแดกเงิน Investor ล๊อตแรกกันจนอิ่ม... ได้กันเป็น สิบล้านร้อยล้าน ทำห่าไรไม่ได้สักอย่าง.. ผลมันก็มาตกกับรุ่นหลังๆ ก็จะเจอคำว่า เมื่อก่อนพี่เคยลงทีเดียว เป็นสิบๆ ล้าน เด่วนี้พี่ไม่เชื่อละ อะ ลงล้านเดียวพอนะ ไปทำมาให้ Success นะน้อง เดฟแอพยังไม่เสร็จดี ค่า Marketing ไม่ต้องพูดถึง ไม่พอแดกหรอก..

ธุรกิจแบบ Startup สุดท้ายมันก็กึ่งๆ เป็น Money game ที่อาศัยปัจจัยทั้งด้านนวัตกรรม และการทุ่มตลาด การที่ระดมทุนไม่ได้มากพอ มันก็เหมือนเบี้ยหัวแตก การได้เงินไม่มากพอ ในการแข่งขันที่สูง ก็ยากละที่จะเดินในวิถี Startup ยิ่งช่วงหลังๆ Corporate ต่างๆ ก็เอาเงินไปจ้าง Dev เป็นร้อยมาวิ่งเล่นในออฟฟิศ กูจะจ้างคนละเจ็ดแปดหมื่นอะ ทำไมอะ กูรวย

CVC คือความฉิบหายของ Startup ไทย.. เอาพนักงานประจำที่ไม่เคยทำธุรกิจห่าอะไร มาตัดสินอนาคตธุรกิจ Startup มันจะได้อะไรไหมอะ? ความจริงใจของ CVC ไทยที่ลงทุนแค่จะเอาหน้า หรือแค่ต้องการซื้อตัว Dev ไปเป็นลูกจ้าง ส่วน Product ก็เอาไปเผาทิ้ง ถามว่า ทุกวันนี้มี CVC ไหนในไทยยัง Active อยู่เหรอ บาง CVC ถึงขนาดเอาเงินมาจ้าง Dev เอง แล้วบอก Dev จะเอาแบบ Startup เจ้านั้นเจ้านี้ แล้วก็บอก กูเป็น Incubator 

รวมถึงนักลงทุนที่ตั้งตัวเป็น Investor ออกข่าว ออกสื่อ แต่ผ่านไป 3 ปี ไม่เคยลงทุนห่าอะไร ตอบหล่อๆ ว่า พอดียังไม่เจอ Startup ที่ใช่ .. เอาจริงๆ มรึงว่าง... แค่จะเอาป้าย Investor มาแปะหน้า แล้วก็เดินหล่อๆ ในงาน ให้ Startup ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไปยกมือไหว้ปะหลกๆ ทุกวันนี้หายไปไหนหมดอะ บางคนยังออกสื่อ เป็นไลฟ์โค้ชสบายๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลงเหี้ยไรเลย งงไหมล่ะ

หลายคนบอกว่า Startup สมัยนี้ เน้นความยั่งยืน ต้องมีรายได้จริง ลูกค้าจริง ค่อยๆ โต... ... มรึง SME ไอ้สัส... 
ตอนต่อไป Startup หนีตาย ไปทำคริปโต เร็วกว่า แรงกว่า เชี่ยกว่า ทะลุนรก..

‘วิชัย ทองแตง’ อุทิศตนช่วย ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ เดินหน้าปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน 2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัย โดยมีทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมงานคับคั่ง

พร้อมกันนี้ ภายในงาน ยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจและตำรวจ” โดยศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หลายรุ่น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุณวิชัย ทองแตง ทนายความ และนักลงทุน และ คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ คุณนายวิชัย ทองแตง ได้ให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในกับดักบางอย่าง คนไทยมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง 2.4 แสนบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมี 4.5 แสนบาทต่อปี ซึ่งตนเองสนใจตัวเลขนี้แล้วก็ติดตามตัวเลขนี้มาตั้งแต่จบมหาลัยธรรมศาสตร์ ทุกวันนี้ยังสะเทือนใจอยู่ว่า เส้นแบ่งแห่งความยากจนอยู่ที่ 2,802 บาท หรือปีละ 30,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง คนไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กับดักความเหลื่อมล้ำนี้ แน่นอนว่า สิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ตนเองยอมรับไม่ได้ จึงได้ออกเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยไม่ว่ากัน

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจ ก็คือ ตอนที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนเข้ามาจดเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ที่เรียกทั่วไปว่า บัตรคนจนนั้น มีผู้ยื่นลงทะเบียนถึง 22,293,473 ล้านราย นับเป็นสัดส่วนถึง 30% ของประเทศนี้

ขณะที่ จีดีพีภาคเกษตรไทยไตรมาสที่หนึ่งปี 66 มีสัดส่วนประมาณ 6.2% ของจีดีพีประเทศไทย ในขณะที่เนื้อที่ทางการเกษตรมีถึง 149.25 ล้านไร่ หรือ 46% ของทั้งประเทศ ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยังแผ่ขยายอยู่ในสังคมไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยปั้นธุรกิจของคนไทยให้เติบโตและอยู่รอดต่อไป

คุณวิชัย ระบุว่า ตนเองผ่านอุปสรรคผ่านการทําธุรกิจมามากมาย โดยยึดมั่นในหลักการ 2 อย่าง Execution การลงมือปฏิบัติทำให้บรรลุผล และ implementation กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่เอาความคิดมาวางแผนขึ้นโครงการให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้คือหัวใจสำคัญที่จะให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดงานครั้งแรกที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นควันติดเป็นอันดับ 1 ของโลกมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปประชุมหาทางแก้ไขมาตลอด แต่ปัจจุบันฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ ตนเองได้เข้าไปทำโครงการที่เรียกว่า “หยุดเผา เรารับซื้อ” ซึ่งเป็นการลงทุนสร้างโรงงานรับซื้อสิ่งที่ชาวบ้านเผา ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ใบไม้ และตอซังข้าวโพด นำมาขายเข้าโรงงาน เพื่อที่จะนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ดส่งขายต่างประเทศต่อไป 

ซึ่งชีวมวลอัดเม็ด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างสูง มีออเดอร์มาแล้ว 10 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกไปได้ไม่ถึงปีละ1 แสนตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในวิกฤตฝุ่น PM2.5 ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และเกษตรกรไทย เพียงแต่ยังไม่มีใครมาพลิกใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนำไปสร้างโอกาสต่อเท่านั้น

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังระบุถึงภารกิจในปัจจุบันซึ่งก็คือ การเป็นนักปั้น หมายถึงปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัปไทยเกิดขึ้นมานับหมื่นราย แต่มีศักยภาพเหลือรอดแค่ 1% ทั้ง ๆ ที่มีกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) มาลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัปไทยจำนวนเยอะมาก แต่กลับไปไม่ถึงไหน 

“จากการที่ได้เข้ามาช่วยปั้นธุรกิจมาหลายปี พบว่า อุปสรรคสำคัญที่สตาร์ตอัปไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ คือ เมื่อไหร่ที่บริษัทจะเพิ่มทุนหรือขยายธุรกิจ จะต้องมาขอความเห็นชอบ (consent) จากผู้ร่วมลงทุนก่อน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สําหรับคนปฏิบัติงาน เพราะไม่มีสิทธิ์ตัดสินได้เอง ก่อนหน้านี้เคยลงไปช่วยปั้นสตาร์ตอัป 2 ราย แต่ไม่สำเร็จ เพราะติดปัญหาต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงทุน ซึ่งถือหุ้นอยู่เพียง 5% เท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปต้องพิจารณาให้ดี”

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเงื่อนไข การปั้นธุรกิจนั้น ได้วางไว้เป็นพื้นฐาน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เราจะเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม และ3. เราจะแบ่งปันความรู้ และโอกาส แก่ผู้ที่ด้อยกว่า ซึ่งเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ตนเองจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท บิทคับ จํากัด เมื่อปี 2565 ขณะนั้นมีคนในเครือข่าย 1,500 คน ตนได้บอกกับ คุณท็อป (จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา) ไปว่าหากคนในเครือข่ายปฏิญาณยอมรับในเงื่อนไข 3 ข้อนี้ได้ ตนเองจะช่วย ซึ่งทางกลุ่มบิทคับยอมรับในเงื่อนไขนี้ จึงเกิดการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่จะปั้นนั้น จะโฟกัสที่ 3 ส่วน คือ สตาร์ตอัป, SME และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยธุรกิจที่จะเข้าไปสนับสนุนหรือไปปั้นต่อนั้น จะต้องมี 2G ก่อน G แรกคือ Growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ Gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่ม VC พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ ปัจจุบันมีทีมงานช่วยวิเคราะห์จำนวน 90 คน ทำเรื่องวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัป ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะ 

คุณวิชัย ย้ำว่า นอกเหนือจากเงินทุน และแผนธุรกิจที่จะทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นคือ “เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และทุกครั้งที่ไปบรรยายจะเน้นให้ทุกคนคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก ๆ คือ Collaboration การทํางานร่วมกันเป็นพันธมิตรกัน, Connection การเชื่อมต่อทางธุรกิจ และ Mergers & Acquisition (M&A) การควบรวมกิจการ เพราะการทำธุรกิจไม่ต้องไปแย่งชิงกัน แต่ต้องจับมือกันแบ่งปัน ใครเก่งด้านใดก็ทำเรื่องนั้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมทำให้หลายบริษัทสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันแล้วเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการเชื่อมต่อธุรกิจต่อธุรกิจนั้น ไม่จําเป็นต้องเป็นธุรกิจเดียวกัน บางครั้งการที่นักธุรกิจสองฟากฝั่งคนละธุรกิจมานั่งคุยแลกเปลี่ยนกันก็อาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่เกิดความคิดใหม่ ๆ ส่วนเรื่อง M&A หากต้องการเติบโตไปกว่าเดิมจะต้องทำเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง กลุ่มโรงพยาบาลของผม กลุ่มพญาไทและเปาโว ซึ่งตอนนั้นมี 8 โรงพยาบาล ได้ร่วมกับอาจารย์ประเสริฐ ประสาททองโอสถ ซึ่งขณะนั้นมี 22โรงพยาบาล ทำการควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ทำให้มีจำนวนโรงพยาบาล 30 โรงพยาบาล และหลังจากนั้น เกิดกระแสเงินสดใหม่เข้ามาในธุรกิจเยอะมาก ทําให้เราสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จนถึงวันนี้เรามี 53 โรงพยาบาล รวมถึงโรงงานผลิตยา 2 โรงงาน และร้านขายยาอีก 1,100 แห่ง ทำให้กลุ่มของเราสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่หากพิจารณาด้าน Hospitality หรือความมีไมตรีจิตในการบริการ เราเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทบจะทุกครั้งที่มีการประกวด ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งและศักยภาพของคนไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้”

คุณวิชัย ยังให้มุมมองต่อธุรกิจในอนาคตด้วยว่า ปัจจุบันบริบทของโลกได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานด้น ESG คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ล่าสุดในการประชุม COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีข้อตกลง เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อยและเท่าเทียมกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัวในเรื่อง ESG แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ในวันข้างหน้าเราจะถูกชาวคนทั้งโลกแบน และอยากให้ทุกธุรกิจยึดมั่นว่าสโลแกน มุ่ง Net Zero, GO Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำความร่วมมือ แล้วทุกธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายและช่วยรักษาโลกไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top