Saturday, 4 May 2024
สกลธีภัททิยกุล

ไฟเขียว กทม. เก็บซากรถจอดไปขายได้ทันที ชี้!! ไม่ต้องรอเจ้าของ แก้ปัญหากีดขวางจราจร

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมากรณีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายจากนโยบายการกำจัดรถเก่าที่จอดในที่สาธารณะ และกรุงเทพมหานคร มีนโยบายยกออกทันที ก่อนมีข้อสงสัยว่าจำเป็นต้องจอดรอเก็บไว้เพื่อรอเจ้าของเผื่อมาไถ่คืนหรือไม่ ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงแล้ว ยืนยันไม่ต้องเก็บ ขายทิ้งได้เลย เอาเงินมาเก็บแทนได้

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ว่า “ข่าวดีสำหรับคนกรุงเทพฯ ข่าวร้ายของคนมักง่าย วันนี้มายกซากรถเขตวังทองหลาง จำนวน 5 คันรวด บริเวณซอยลาดพร้าว 47, 63, 87 แยก 7, 101 แยก 19 และ 114 ครับ…ข่าวดีคือประเด็นข้อกฎหมายที่สำนักเทศกิจถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจำเป็นต้องเก็บซากรถไว้ 1 ปี เพื่อรอเจ้าของเผื่อจะมาไถ่รถคืนก่อนการขายทอดตลาดหรือไม่?? สรุปคือไม่ต้องละครับ สำนักงานเขตสามารถขายเอาเป็นเงินมาเก็บไว้แทนได้เลย แบบนี้จะง่ายกับทางกรุงเทพมหานครไม่ต้องมีภาระในการหาสถานที่เก็บรักษาและหาคนดูแลครับ และยังจะได้ร่างระเบียบค่าขนย้ายและเก็บรักษาก่อนขายทอดตลาดโดยหักจากที่ขายทอดตลาดได้อีกด้วย…”

‘สกลธี’ เปิดนโยบายหาเสียง 6 ด้าน ชูสโลแกน ‘กรุงเทพดีกว่านี้ได้’

นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ แถลงข่าวเปิดตัวนโยบายในการหาเสียงภายใต้สโลแกน “กรุงเทพดีกว่านี้ได้” โดยหลังจากวันนี้จะทยอยเปิดนโยบายในแต่ละเรื่อง โดยลงลึกไปในรายละเอียดสัปดาห์ละเรื่อง

“ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ซึ่งผู้ว่าฯ แต่ละคนได้ทำมาแล้วจะไม่ดี แต่มองว่าในอนาคตจะมีการบริหารจัดการให้ดีกว่าเดิม…ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตั้งใจเต็มที่ ถ้าคนกรุงเทพฯ อยากเห็นคนทำงานที่มีพลังในการทำงาน และมีสไตล์การทำงานที่ไม่ได้นั่งอยู่ในห้อง แต่ลงไปลุยกับปัญหาก็ฝากผมไว้คนหนึ่ง” นายสกลธี กล่าว

สำหรับนโยบายในการทำงานประกอบด้วย 6 ด้าน คือ

1.) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น ได้แก่ จัดรถโดยสารไฟฟ้ามาวิ่งบริการเพื่อขนคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า, นำระบบ AI เข้ามาช่วยในการจัดการจราจรให้สัมพันธ์กับปริมาณรถเพื่อแก้ปัญหารถติด, นำเรือโดยสารไฟฟ้ามาให้บริการขนคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่เพิ่มเติม, สร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น บางนา-สุวรรณภูมิ วัชรพล-ทองหล่อ, การบังคับใช้กฎหมาย เช่น จัดระเบียบซากรถที่จอดทิ้งกีดขวางทางจราจร

2.) การพัฒนางานด้านสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การยกระดับศูนย์สาธารณสุข 69 แห่งให้เป็นสมาร์ตคลินิก โดยนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้งาน สามารถขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ และจัดส่งยาให้ถึงบ้านได้ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนศูนย์สาธารณสุขให้เพียงพอกับจำนวนประชาชน, ยกระดับโรงพยาบาล 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง จากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลบางขุนเทียนที่เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุเพียงแห่งเดียว, นำระบบโฮมมอนิเตอริ่งมาช่วยในการดูแลผู้สูงวัย เพื่อลดภาระให้กับลูกหลาน

'สกลธี' กลับ พปชร. ขอบคุณ 'บิ๊กป้อม' ไฟเขียวทำงาน รับ!! สนามเมืองกรุงไม่หมู แต่มีกลยุทธ์ทำกระแสขยับ

(24 ม.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะหัวหน้าทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกหลังกลับเข้าพรรคพปชร.อีกครั้ง ว่า ตื่นเต้น วันนี้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ต้องขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ที่ให้โอกาสตนในการดูแลนโยบาย ตัวผู้สมัคร ส.ส.และรายละเอียดต่างๆ ของทีม กทม. ทั้งนี้ตนตอบรับเข้ามาดูแลในภาพรวม ส่วนจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือบริหารพรรคด้านไหน แล้วแต่หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคจะเห็นสมควร

เมื่อถามถึงนโยบายที่จะเอาชนะใจประชาชน นายสกลธี กล่าวว่า ได้พูดตรงๆ กับหัวหน้าพรรค พปชร.ว่าการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะหลายพรรคมีตัวผู้สมัครดี ๆ และส่งผู้สมัครกันเยอะ โอกาสมีกันทุกพรรค อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ตนลาออกจาก พปชร.ไปก่อนหน้านี้ เพราะต้องการลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ แต่การกลับมาครั้งนี้หัวหน้าพรรคได้ให้โอกาสและอิสระตนเต็มที่ในการหาเสียง ซึ่งความอิสระที่หัวหน้าพรรคมอบให้ทำให้ตนดึงคนที่ช่วยตอนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.มาได้ ส่วนสนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้คงเป็นการสู้กันด้วยนโยบายและกระแส แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวผู้สมัครก็สำคัญ เพราะเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่สนาม กทม.คาดเดายากเสมอ ในเรื่องกระแสและนโยบายจึงมีส่วนสำคัญอย่างสูง 

เมื่อถามว่าในสนามกทม.มีแต่พรรคที่คุ้นเคย เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายสกลธี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ฐานเสียงขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครส.ส. ฉะนั้นจะใช้ประสบการณ์ที่มีทั้งหมด ทั้งการเป็นอดีตส.ส.กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ต่อยอดนโยบายตอนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. นโยบายสำคัญของแกนนำพรรค มาระดมสมองให้ตอบโจทย์พี่น้อง กทม.

‘สกลธี’ บุกตลาดสัมมากร นำทีมช่วย ‘นาถยา’ หาเสียง ชูนโยบาย ลดราคาก๊าซ-น้ำมัน ลั่น!! ทำทันทีหากได้เป็นรัฐบาล

(15 เม.ย. 66) ที่ตลาดสัมมากร นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พร้อมนางนาถยา แดงบุหงา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 19 (มีนบุรี-สะพานสูง) หมายเลข 10 ลงพื้นที่ตลาดสัมมากร เขตสะพานสูง พบประชาชนและแนะนำนโยบายพรรค ก่อนขึ้นรถแห่หาเสียง

นายสกลธี กล่าวว่า ประชาชน ตอบรับการลงพื้นที่วันนี้ดีมาก เพราะนางนาถยา เป็น ส.ส.เจ้าของพื้นที่มา 2 สมัย มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี ส่วนตนได้พบกับผู้สนับสนุนตั้งแต่สมัยที่ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีโอกาสได้พูดคุยกัน และนำเสนอนโยบายของพรรค เรื่องลดราคาก๊าซ เหลือถังละ 250 บาท โดยทำทันทีหากได้เป็นรัฐบาล เพื่อช่วยลดต้นทุนให้หับพ่อค้า แม่ค้า

‘สกลธี’ หาเสียงสะพานหัน ชู ‘กองทุนประชารัฐ 3 แสนล้าน’  ช่วยดูแล-สร้างแหล่งท่องเที่ยวย่านเศรษฐกิจใหม่ทั่วกรุงฯ

(20 เม.ย.66) นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหาร และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่ย่านสะพานหัน พร้อมกับ นายสฤษดิ์ ไพรทอง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 (ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์) หมายเลข 11 เพื่อพบปะประชาชน

นายสกลธี กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ได้สั่งให้พรรคคิดนโยบายด้านปากท้อง ลดค่าครองชีพ ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งการลดราคาน้ำมันเบนซิน 18 บาท ลดดีเซล 6 บาท หรือการลดราคาแก๊สเหลือถังละ 250 บาท ซึ่งสามารถทำทันทีที่เป็นรัฐบาล และล่าสุดพรรคได้ออกนโยบายลดค่าไฟฟ้า โดยจะปรับโครงสร้างราคาที่มีการคิดเงินซ้ำซ้อนอยู่เยอะ ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าลงเกือบ 50% เหลือเพียงหน่วยละ 2.50 บาทเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้ทุกคนมีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

นายสกลธี กล่าวว่า วันนี้ตนและ นายสฤษดิ์ ไพรทอง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เขต 1 หมายเลข 11 ได้มาลงพื้นที่ย่านสะพานหัน ซึ่งหลังโควิดมานี้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจเชื่อมต่อเขตพระนครและสัมพันธวงศ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐทั้งในด้านงบประมาณและการดูแลอื่นๆ แต่จะหวังพึ่งงบประมาณของ กทม.อย่างเดียวก็คงไม่พอ

‘สกลธี’ ย้ำ!! พปชร. ไม่จับมือพรรคแก้ ม.112 เตือน!! ต่างชาติหยุดแทรกแซงเลือกตั้ง

‘สกลธี’ ลงพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ช่วยหาเสียง ‘ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์’ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เบอร์ 6 ย้ำจุดยืนก้าวข้ามความขัดแย้ง วอน กกต.ลดความผิดพลาด อย่าให้เป็นเงื่อนไข เตือนต่างชาติหยุดแทรกแซงการเลือกตั้ง

(9 พ.ค. 66) นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคฯ ลงพื้นที่ลานออกกำลังกาย คลองบางกอกใหญ่ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ร่วมกับ ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 32 เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงศิริราช), เขตบางกอกใหญ่, เขตภาษีเจริญ (ยกเว้นแขวงบางหว้า แขวงบางด้วน และแขวงคลองขวาง), เขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงบางเชือกหนัง), เขตธนบุรี (เฉพาะแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจี และแขวงบางยี่เรือ) หมายเลข 6 เพื่อพบปะประชาชน

นายสกลธีกล่าวว่า ในย่านนี้จะเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพราะมีความน่าสนใจที่เป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรื่องราวในชุมชนมากมายที่สามารถนำมาสร้าง Story ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้ แต่ยังขาดการสนับสนุนจากรัฐและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะนำกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้านมาช่วยพัฒนาจุดนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่นี้ต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่ามีทหารและผู้อยู่เบื้องหลังการเลือกตั้ง และใช้อำนาจกดดันไม่ให้พรรคฝ่ายค้านหาเสียงนั้น นายสกลธีกล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างวาทกรรมแบบนี้ เพราะประเทศกำลังเดินหน้าตามแนวทางประชาธิปไตย ทุกคนลงเลือกตั้งด้วยกติกาเดียวกัน ตนก็เห็นข่าวฝ่ายค้านหาเสียงอยู่ตลอด หรือเวลาตนลงพื้นที่ก็เจอพรรคฝ่ายค้านเดินอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่มีใครได้เปรียบ อยู่ที่ใครจะตั้งใจหาเสียงหรือตั้งใจจะสร้างประเด็นการเมืองมากกว่า และขอเรียกร้องไปยัง กกต.ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างระมัดระวัง อย่าให้เกิดความผิดพลาดเหมือนการเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะอาจถูกยกมาเป็นเงื่อนไขต่อไป

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ เสนอมติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิในการชุมนุมนั้น นายสกลธีกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอย่างชัดเจน มารยาททางการทูตเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องมี และกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของรัฐฯ และการกำหนดสิทธิขอบเขตการชุมนุมก็มีอยู่ในทุกประเทศ ดังนั้น ประเทศอื่นๆ ต้องระวังไม่ให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างประเทศ

“พรรคพลังประชารัฐย้ำมาตลอด ว่าเรามีจุดยืนที่จะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่จะแก้ไข ม.112 เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนรวยขึ้นหรือจนลง ควรมองไปที่นโยบายที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น ดังนั้น ถ้ามีเงื่อนไขว่าถ้าจะร่วมตั้งรัฐบาลกับเขาแล้วต้องเอาอันนี้ด้วย แล้วทำให้ประเทศลุกเป็นไฟ เราไม่เอาแน่นอน รวมถึงเรื่องนโยบายที่เอาไปใช้แล้วประเทศล่มจมทางเศรษฐกิจ เราก็ไม่เอาเหมือนกัน” นายสกลธี กล่าว

ด้าน ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรมีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้ง และสามารถนำพาประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้ โดยไม่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แม้ลุงป้อมจะโดนบูลลี่ล้อเลียนอย่างไรก็ไม่เคยตอบโต้ เพราะท่านเห็นคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนลูกหลาน สิ่งที่ลุงป้อมคิดมีเพียงจะทำให้ลูกหลานทำให้ประเทศชาติเท่านั้น จึงอยากขอฝากทุกคนในเขตเลือกตั้งที่ 32 บัตรสีม่วงกาเบอร์ 6 บัตรสีเขียวทั่วประเทศกาเบอร์ 37 ด้วย

'สกลธี' เสียดาย!! กทม.โอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นคืนให้คมนาคม พร้อมวิเคราะห์ 4 ข้อ 'ถูก-ผิด' ที่อยากให้ กทม.ลองนำไปพิจารณาใหม่

(1 มี.ค.67) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นข่าวที่ผู้บริหาร กทม.จะโอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นทางประกอบด้วย สายสีเทา ระยะที่ 1 (วัชรพล - ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา - สุวรรณภูมิ) และสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) คืนกลับให้กระทรวงคมนาคมแล้วบอกตรงๆ ว่าเสียดายครับ

ทั้ง 3 เส้นทางเป็นโครงการที่อยู่ในภารกิจของ กทม. และได้ทำการศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทางผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวกับทางสื่อสารมวลชน ประกอบกับให้เหตุผลว่าการโอนภารกิจกลับคืนกระทรวงคมนาคมจะได้ประสานคิดค่าตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นภายใต้กระทรวงคมนาคมง่ายกว่าไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ประโยชน์จะได้เกิดกับประชาชนสูงสุด

อันนี้ผมว่ามีทั้งส่วนถูกและไม่ถูกครับ

1. เรื่องการลงทุนมีส่วนถูกคือถ้าให้ กทม. ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็คงเกิดยากและกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่ต้องดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่โครงการใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทางที่มีผู้อยู่อาศัยและศักยภาพในการใช้บริการจำนวนมากย่อมดึงดูดเอกชนให้มาร่วมทุนได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์โดยรอบสถานีในรูปของการเช่า การโฆษณาหรือการเชื่อมต่อสถานีกับอาคารต่างๆ กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย 

2. หรือถ้าหาเอกชนร่วมทุนไม่ได้จริงๆ (ซึ่งกรณีนี้ผมว่ามีโอกาส แต่ยากมาก เพราะทั้ง 3 เส้นทางมีศักยภาพในการดึงดูดเอกชนมาลงทุน) ด้วยสายสัมพันธ์ของท่านผู้ว่าฯ กับรัฐบาลน่าจะแบ่งงบประมาณ มาลงทุนในโครงการเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

3. เรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอันนี้ถูกครับว่าไม่ควรเก็บ แต่การโอนทั้ง 3 เส้นทางไปให้กระทรวงคมนาคม สมมติว่าก่อสร้างเสร็จทั้ง 3 เส้นทาง ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเชื่อมกับสายสีเขียว (ของ กทม.) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ อยู่ดี ความซ้ำซ้อนก็ยังคงมีอยู่ ทางที่ถูกควรจะนั่งเจรจากันระหว่าง กทม. กับรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนและใช้ตั๋วร่วมใบเดียวให้เกิดให้ได้ซักที เหมือน Octopus card ของฮ่องกง ที่ใช้ได้เกือบทุกการคมนาคมขนส่งและร้านสะดวกซื้อ

4. ถึงที่สุดถ้าเลือกโอนไปให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมรับขึ้นมา ก็ใช่ว่าโครงการจะเกิดได้เร็ว เนื่องจากในส่วนของทางกระทรวงคมนาคมก็มีโครงการอีกมากมายของตัวเองที่ต้องผลักดันทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟในกรุงเทพฯ อีกหลายเส้นทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่เกิด ยิ่งโครงการเรือธงของกระทรวงอยากจะทำเรื่อง Land Bridge ซึ่งใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท ความเร่งด่วนของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายในกรุงเทพฯ น่าจะไม่อยู่ในสายตาของทางกระทรวงแน่นอนครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะหวังเห็นทีมผู้บริหาร  กทม. ชุดนี้ใช้ความพยายามสูงสุดทุกทางในการที่จะให้โครงการเกิดเสียก่อน ถ้าเดินแล้วมันไม่ได้หรือติดจริงๆ จะยกโอนให้กระทรวงคมนาคมผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ติดใจครับ

เอาไว้วันหลังมีโอกาสจะมาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่อยากให้เกิดในกรุงเทพฯ ของเราเพื่อให้เมืองของเราอยู่สบายและมีความสุขเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ป.ล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดมากและเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะสายรองหรือ Feeder ที่จะพาคนเข้าขนส่งขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในระยะเดินถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ครับ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top