Saturday, 11 May 2024
ศาลอาญา

'อานนท์-เพนกวิน' ลุ้นศาลอื่นต่อ หลังศาลอาญาให้ประกัน เงื่อนไข 'ติดอีเอ็ม - ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่มยัน 6 โมงเช้า'

ศาลอาญาให้ประกัน ‘อานนท์-เพนกวิน’ ทุกคดี เงื่อนไขติดอีเอ็ม ห้ามชุมนุมกระทบสถาบัน ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่มยัน 6 โมงเช้า ลุ้นต่อคำสั่งประกันตัวของศาลอื่น

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ก.พ.) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 2 แกนนำกลุ่มราษฎร นายอานนท์ นำภา ทั้งหมดรวม 9 คดี และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ทั้งหมดรวม 8 คดี โดยมีเงื่อนไข ให้จำเลยทั้ง 2 คน ติดกำไลอีเอ็ม ห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 - 06.00 น. ห้ามทำกิจกรรมกระทบสถาบัน ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวาย ห้ามเดินทางออกประเทศ

เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่ 8 หลัง ‘ธาริต’ กลับคำรับสารภาพ คดีมาตรา 157 แจ้งข้อหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งฆ่า ปชช.

(24 มี.ค. 66) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง” กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

จำเลยทั้ง 4 คน ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง แต่นายธาริต มอบหมายให้ทนายความ ยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริตเพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์ จำเลยที่ 1 – 4 ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล

ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566

จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1

ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อ มีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา จึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200

ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง

จำคุก 13 ผู้ชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลัง ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ป่วนศาล-ดูหมิ่นผู้พิพากษา

ศาลจำคุก 13 ผู้ชุมนุม ‘ม็อบรีเด็ม’ มวลชนกลุ่มหัวรุนแรงแนวร่วมเยาวชนปลดแอก ชุมนุมก่อความวุ่นวายหน้าศาลอาญา-ดูหมิ่นผู้พิพากษากดดันปล่อยเพนกวินยกฟ้อง 2 คน รอลงอาญาหมดทุกคน

(28 มี.ค.66) ที่ห้องพิจารณา 916 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบREDEM หมายเลขดำอ.1423/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายร่อซีกิน นิยมเดชา, นายชาติชาย แกดำ (จำเลยที่15) กับพวกรวม 15 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดยอัยการระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2564 เวลากลางวัน ได้มีการร่วมชุมนุมกลุ่มREDEM จากการเชิญชวนของผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มเยาวชนปลดแอก -(Free YOUTH) ให้มาชุมนุมที่ศาลอาญา ประมาณ 300-500 คนโดยนำรถยนต์ติดตั้งขยายเสียง โจมตี เรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนายพริษฐ์ หรือเพกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 7 คน ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ โดยพวกจำเลยได้กล่าวโจมตี การทำงาน ดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ย้ายแท่นแบริเออร์บริเวณเกาะกลางถนนเพื่อเปิดจุดกลับรถหน้าศาลอาญา แล้วชุมนุมจนเต็มพื้นที่ถนน ใช้ไข่ไก่ มะเขือเทศ ของเหลวสีแดง สาดใส่ป้ายป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม และป้ายศาลอาญา เสียหาย เปรอะเปื้อน

นอกจากนี้จำเลยที่ 1-2 กับพวกรวม 50 คน ได้เดินข้ามถนน ไปบริเวณปากซอย รัชดาภิเษก 32 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) ใช้หนังสติ๊ก ลูกแก้ว อุปกรณ์โลหะ ประทัดยักษ์ ขว้างเข้าใส่ รวมทั้งผู้ชุมนุม ใช้ท่อนไม้ หิน ขวดโซดา ขวดแก้วใสน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเศษผ้า ขว้างปาใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับติดตามมา 4 คันได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 983,200 บาท และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอีก 4 คันได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย

คดีนี้พวกจำเลยปฏิเสธ และได้ประกันตัว ศาลอาญาพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1,2 พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควร จึงให้ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1,2 ในส่วนของจำเลย 3-15 พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลย 3-15 กับพวกเป็นความผิดตามฟ้อง ยกเว้นความผิดฐานไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และฐานไม่ขออนุญาตจัดการชุมนุม เพราะ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลย 3-15 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม ส่วนที่จำเลยที่ 3-15 นำสืบอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ นั้น แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ก็ตาม แต่ต้องไม่กระทบสิทธิหรือเป็นการละเมิดต่อบุคคล เมื่อข้อเท็จจริง ฟังได้ว่า ในระหว่างการชุมนุมของจำเลยที่ 3-15 กับพวก มีการใช้กำลังประทุษร้าย และเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด่าทอ ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ศาลอาญาฯ สั่งจำคุก 2 ทะลุแก๊ส ‘คเชนทร์-ขจรศักดิ์’ กว่า 10 ปี ‘ปาระเบิดปิงปอง-วางเพลิงป้อมจราจร’ #ม็อบ30กันยา64

(18 ส.ค. 66) เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 66 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทางศาลได้มีการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘คเชนทร์’ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี และ ‘ขจรศักดิ์’ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ในข้อหาหลัก คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ฯ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 และถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในช่วงหลังเที่ยงคืน ล่วงเข้าสู่วันที่ 1 ต.ค. 2564

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า…

“... ในเวลาประมาณ 02.00 น. ได้มีกลุ่มของผู้ชุมนุมรวมตัวกันและใช้วัตถุเพลิงขว้างปาบริเวณหน้า สน.พญาไท ซึ่งเจ้าหน้าที่ สน.พญาไท ได้แสดงกำลัง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ได้แยกย้ายกันบริเวณแยกพญาไท และใช้ระเบิดขวดปาไปที่ป้อมจราจรพญาไท แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถควบคุมเพลิงและดับไว้ทัน ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อป้อมจราจรบริเวณแยกพญาไทแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม เช้าวันที่ 8 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมวัยรุ่นทั้ง 2 คน ที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 พร้อมทั้งเข้าตรวจค้นที่พัก โดยไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในห้องพักของคเชนทร์ ส่วนในห้องพักของขจรศักดิ์ ตำรวจพบระเบิดควัน (CS Smoke) 1 ลูก

นอกจากนี้ บันทึกการจับกุมยังระบุว่า คเชนทร์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 02.00 น. ขณะตนกําลังชุมนุมกับพวกอยู่ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ได้มีผู้ชักชวนไปหน้า สน.พญาไท จากนั้นได้รวมกลุ่มจักรยานยนต์ประมาณ 20 คัน มีเยาวชนไม่ทราบชื่อ นามสกุลจริง ซ้อนท้าย เมื่อไปถึง หน้า สน.พญาไท ตนได้เร่งคันเร่งรถ และบีบแตรเพื่อให้เกิดเสียงดัง และเยาวชนที่ซ้อนท้ายได้ลงจากรถไปดูเหตุการณ์ จากนั้นได้ใช้เส้นทางเดิมกลับไปที่สามเหลี่ยมดินแดง

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองตามหมายจับ ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตราย, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (22.00 – 04.00 น.) และได้แจ้งข้อหาขจรศักดิ์เพิ่มเติมว่า มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ชั้นสอบสวนทั้งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังการสอบปากคำทั้งสองถูกขังอยู่ที่ สน.พญาไท โดยพนักงานสอบสวนจะนำตัวฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น (9 ต.ค. 2564) และไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยถูกคุมขังนาน 84 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ซึ่งในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้อง คเชนทร์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และ ขจรศักดิ์ ในฐานะจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา ในฐานความผิด ดังนี้

จำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ฯ, ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ, ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ฯ, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป โดยผู้กระทำมีอาวุธฯ, ร่วมกันพกอาวุธไปในเมืองฯ, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในกรณีของจำเลยที่ 2 เขายังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพิ่มจากจำเลยที่ 1 อีก 2 ข้อหา ได้แก่ มีวัตถุระเบิดที่ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ในครอบครองฯ และมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ เนื่องจากในขณะที่จับกุม ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอวัตถุระเบิดและแก๊สน้ำตาที่จำเลยที่ 2

‘ศาลฯ’ สั่ง ‘อานนท์’ จำคุก 4 ปี คดีหมิ่นสถาบัน เจ้าตัวเผย กำลังใจยังดีและการต่อสู้จะคงดำเนินต่อไป

(26 ก.ย. 66) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดูหมิ่นสถาบัน หมายเลขดำอ. 2495/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ นำภา อายุ 39 ปี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น สถาบันเบื้องสูง ร่วมกันมั่วสุมชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ กรณีเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยบางช่วงบางตอนของการปราศรัย จำเลยได้กล่าว แสดงความอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นสถาบันฯ

นายอานนท์กล่าวว่า ทั้งขบวนคนรุ่นใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนประเทศไป จนไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้แล้ว ในแง่ของความคิดคน ตนมองว่าตอนนี้คนทั้งประเทศเชื่อในสิทธิเสรีภาพ เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอารยะเห็นได้จากทุกรูปแบบทั้งในสื่อโซเชียล บนท้องถนน ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้ว คนรุ่นใหม่ก็โตมาโดยเชื่อในสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม ตนคิดว่าการชุมนุมในปี 63 ทำให้สังคมเปลี่ยนไปเยอะมากเป็นการต่อสู้ที่คุ้มค่า

เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงนักเคลื่อนไหวในตอนนี้ นายอานนท์ กล่าวว่า อยากให้กำลังใจ วันนี้เรายังไม่ทราบคำพิพากษา ถ้าออกมาในทางร้ายก็คงติดคุกซึ่งเราก็ต้องสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามหากตนต้องถูกขังภายหลังก็ต้องเบิกตัวตนออกมาศาลเพื่อทำหน้าที่ทนายความและจำเลย เพราะตนเป็นทนายความให้กับคดีการเมือง กรณีชุมนุมที่ ห้าแยกลาดพร้าว ปี 63 จะทำหน้าที่จากในคุกและนอกคุก ฝากให้กำลังใจขอบคุณคนที่สนับสนุน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

นายอานนท์กล่าวว่า ตอนนี้กำลังใจยังดี คำพิพากษาวันนี้เป็นเรื่องเมื่อ 14 ต.ค.ซึ่งตนไปปราศรัยปรามไม่ให้ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนุม การที่วันนี้อาจจะสูญเสียเสรีภาพตามคำพิพากษา อาจจะหลายปี แต่ก็คุ้ม ที่เหตุการณ์ดังกล่าวที่เราเดินจากราชดำเนินไปล้อมทำเนียบไม่เกิดการสูญเสีย เป็นการเสียเสรีภาพโดยส่วนตัวต่อส่วนรวมที่คุ้มค่าอย่างมากด้วยความเต็มใจ

เมื่อถามว่าหากวันนี้ นายอานนท์ต้องเข้าคุก จะมีกลุ่มนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายอานนท์กล่าวว่า แน่นอน เพราะการเคลื่อนไหวยังมีเรื่อย ๆ มีการผ่อนไปตามสถานการณ์แต่เราจะไม่หยุด การต่อสู้มีเป้าหมายชัดเจนว่าเราต่อสู้เพื่ออะไร

ล่าสุด ศาลอาญา สั่งจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อานนท์ นำภา หมิ่นสถาบัน ปรับ 2 หมื่น ผิด พ.ร.ก. บริหารราชการฉุกเฉิน ฯ 2548 ม็อบ 14 ต.ค. 63

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 'เบนจา-สมยศ-ณัฐชนน' ผิดข้อหาดูหมิ่นศาล หลัง 'ชุมนุม-มั่วสุม' หนุนแม่เพนกวิน

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก'เบนจา-สมยศ-ณัฐชนน'ผิดข้อหาดูหมิ่นศาล จากการชุมนุมให้กำลังใจ ‘แม่เพนกวิน‘ หน้าศาลอาญา โดยสองรายแรกรวมโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 30,100 บาท แต่ศาลให้รอการลงโทษ 2 ปี ขณะที่'สมยศ'คุก 1 ปี 8 เดือน 40 วัน ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. 66 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ณัฐชนน ไพโรจน์, เบนจา อะปัญ, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, ชุมนุมมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายและไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215-216, ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการชุมนุมเมื่อ 30 เม.ย. 2564 เพื่อให้กำลังใจมารดาของ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ที่ศาลอาญา ซึ่งขณะนั้นพริษฐ์อดอาหารประท้วงในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต

พิพากษาจำคุกณัฐชนนและเบนจา ฐานดูหมิ่นศาล คนละ 2 ปี ปรับ 30,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปรับคนละ 100 บาท จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อกาารพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 30,100 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี รายงานตัว 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคมตามที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร

ส่วนสมยศเพิ่มโทษจากคดีก่อนหน้าหนึ่งในสาม ลงโทษจำคุกเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล 2 ปี 8 เดือน ลดโทษเนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน 40 วัน โดยไม่รอลงอาญา

จากนั้น ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวสมยศระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมาเวลา 16.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันสมยศ โดยเห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นพิจารณา ไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 3 ชั่วคราว ในระหว่างอุทธรณ์”

ศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันในชั้นอุทธรณ์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ สมยศจึงได้รับการปล่อยชั่วคราวเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป

ศาล รธน. ลงมติเอกฉันท์ ‘พรบ.คอมฯ’ ไม่ขัด รธน. ส่งผล ‘ไอซ์ รักชนก’ ต้องต่อสู้คดี 112 ในศาลอาญา

(29 พ.ย.66) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาในคดีที่ศาลอาญา ส่งคำโต้แย้งของ น.ส.รักชนก ศรีนอก จำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบปรากฏว่า น.ส.รักชนก แสดงเหตุผลประกอบคำโต้แย้งเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง 

สำหรับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เป็นคดีที่ น.ส.รักชนก ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาล ประเด็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 และกรณีรีทวีตภาพถ่ายในการชุมนุม 16 ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบัน

โดยความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศาลสั่งจำคุก ‘นัฏฐพล’ 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นเบื้องสูง ผ่านโพสต์ ‘สมศักดิ์ เจียมฯ’

(11 ม.ค. 67) ทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดี ‘นัฏฐพล’ ประชาชนวัย 27 ปี เหตุคอมเมนต์ใต้โพสต์ ‘Somsak Jeamteerasakul’

ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันตัว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘นัฏฐพล’ (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 27 ปี ในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์แสดงความเห็นใต้โพสต์ในเฟซบุ๊กของ ‘Somsak Jeamteerasakul’ เกี่ยวกับข่าวลืออาการป่วยของรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

คดีนี้ นัฏฐพลเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่กองกํากับการ 3 กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยมี พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สว.กก.3 บก.ปอท. เป็นผู้กล่าวหา โดยนัฏฐพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้

สำหรับคำฟ้อง พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน ได้มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ‘Somsak Jeamteerasakul’ โพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่าวชิราลงกรณ์ป่วยอยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” ซึ่งตั้งค่าเปิดเป็นสาธารณะ ต่อมาวันเดียวกันภายหลังจากนั้นได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไปใต้โพสต์ดังกล่าว พร้อมแนบภาพการ์ตูน

อัยการ ระบุว่า ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความที่จําเลยได้โพสต์ดังกล่าว เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ถูกสาปแช่งให้ตายอย่างทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต อันเป็นการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ทําให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม และเป็นข้อมูลที่บิดเบือนต่อสถาบันฯ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ภายหลังศาลรับฟ้อง และทนายยื่นประกัน เวลา 16.50 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนัฏฐพลระหว่างพิจารณาคดี ด้วยวงเงินประกัน 90,000 บาท ซึ่งใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องซ้ำอีก พร้อมทั้งนัดประชุมคดีเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่่ผ่านมา

‘ศาลอาญา’ ไม่ให้ประกันตัว ‘ตะวัน-แฟรงค์’ คดีป่วนขบวนเสด็จฯ พร้อมเผย ทั้งคู่มีแพทย์ดูแลอาการเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิดแล้ว

(25 ก.พ.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ระบุว่า…

13.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ‘ตะวัน-แฟรงค์’ อีกครั้ง

ศาลเห็นว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องหาทั้งสอง ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์โดยใกล้ชิดแล้ว กรณีกรณียังไม่เหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาผู้ต้องหาทั้งสอง ยกคำร้อง

ก่อนหน้านี้ ศาลระบุ วันที่ 25 ก.พ. 67 เป็นวันครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองครั้งที่สอง เพื่อให้การสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเป็นไปด้วยความรอบคอบ สมควรฟังความเห็นของพนักงานสอบสวนประกอบด้วย และให้ผู้ร้องนำเอกสารใบรับรองแพทย์มาแสดงเพิ่มเติม (ถ้ามี)

ทั้งสองถูกคุมขัง ในคดี #ม116 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของพระเทพฯ และอดน้ำ-อาหารเข้าวันที่ 12 แล้ว ข้อมูลจากการเข้าเยี่ยม อาการของตะวัน แย่มาก แทบไม่มีเสียงพูด ขณะที่อาการของแฟรงค์ก็แย่มากเช่นกัน

โดยจากวันนี้ ทั้งตะวันและแฟรงค์จะถูกฝากขังผัดที่ 2 ถึงวันที่ 8 มี.ค. 67

ศาลไม่ให้ประกันตัว ‘ไบรท์ ชินวัตร’ จากคดี ‘มาตรา112-มั่วสุม’ กรณีปราศรัยในการชุมนุม 25 พ.ย. 63 ที่หน้าธ.ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

(3 มี.ค.67) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ไบรท์ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 และมาตรา 216 กรณีปราศรัยในการชุมนุม ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกรวม 6 ปี ลดเหลือ 3 ปี ไม่รอลงอาญา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี, ข้อหา “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” และ “เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแต่ไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 216 ลงโทษจำคุก 2 ปี

ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 10,000 บาท, ข้อหา “กีดขวางทางสาธารณะ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ลงโทษปรับ 2,000 บาท และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท

รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 12,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 6,100 บาท ไม่รอลงอาญา

ต่อมาทนายความแจ้งว่าได้ยื่นขอประกันตัวนายชินวัตรระหว่างอุทธรณ์แล้ว โดยนายประกันของนายชินวัตรวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ตามที่เจ้าหน้าที่ศาลประเมินมูลค่าให้ ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา กระทั่งวันที่ 3 มี.ค. มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ขณะนี้ ไบรท์ ชินวัตร ถูกคุมขังมาแล้ว 4 วัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top