Sunday, 5 May 2024
ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ สั่งปิดโรงเรียนดัง หวั่นมีการแพร่เชื้อโควิด-19 หลัง Timeline ลูกของผู้ป่วยติดเชื้อนั่งรถตู้ไปเรียนหนังสือ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 ที่ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายยิ่งยง นันทวณิชชากร ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้ลงนามในประกาศ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย เรื่องแจ้งปิดสถานศึกษากรณีพิเศษ หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จังหวัดศรีสะเกษ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์พบผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่รายที่ จ.ศรีสะเกษ เพศหญิง อายุ 49 ปี อาชีพค้าขาย ที่ตลาดบางแควันเดอร์ กรุงเทพมหานคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และมีความเกี่ยวข้องเป็นผู้ปกครอง น.ร.ของ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย ทาง ร.ร. ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงได้ประกาศปิดสถานศึกษา ด้วยเหตุพิเศษ อาศัยอำนาจตามความในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 วรรค 1 (4) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (2558) ว่าด้วยการเปิดและปิดสถานศึกษา

ผอ.ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวว่า ตนจึงได้สั่งปิด ร.ร.ด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 17- 23 มีนาคม 2564 และปิด ร.ร.ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2564 เนื่องจาก ร.ร.เป็นสนามสอบโควตา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปิด ร.ร.ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 เนื่องจากเป็นสนามสอบ O-Net ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  รวมปิด ร.ร. พร้อมวันหยุดตั้งแต่วันที่ 17-29 มี.ค.64 ทั้งนี้ ร.ร. จะเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ ในวันที่ 30 มีนาคม 2564

ในช่วงปิด ร.ร.นี้ ทาง ร.ร.มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Google Classroom , Line , Facebook , 200m หรืออื่น ๆ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ขอให้งดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ น.ร. ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงทุกคนต้องแจ้งข้อมูลการเดินทางตามความจริง โดยไม่ปิดบังข้อมูลต่อ ผอ.ร.ร. หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกัน ตนได้สั่งการให้นักการภารโรงทุกคนร่วมกันใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดบริเวณอาคาร สถานที่และเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นของใช้ส่วนรวม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

 

ด้าน นายธรรมรักษ์ จิตรดิษฐ์สกุล ผอ.ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เนื่องจากลูกของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 นั่งรถตู้ไปเรียนที่ ร.ร.มารีวิทยาและ ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย โดยรถตู้ดังกล่าวมารับเด็กที่บ้านนิคมหมู่ 11 ด้วย และเด็ก น.ร.ที่อยู่บ้านนิคมเป็นเพื่อนบ้านของ น.ร. ที่ ร.ร.นิคม 1 มีการคลุกคลี รับประทานอาหารด้วยกัน เล่นด้วยกันกับเด็ก น.ร. ที่ ร.ร.นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า 1 จำนวน 4 คน ส่วนผู้ปกครองของ น.ร.ได้ไปร่วมงานกับกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโรค covid-19 ที่ อ.วังหินจำนวนหลายรายด้วยกัน จึงมีความจำเป็นต้องปิดเรียนเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ตามมาตรการป้องกันโรค covid-19 ของ จ.ศรีสะเกษ ตนจึงได้สั่งปิดเรียนเป็นเวลา 5 วันตั้งแต่วันที่ 17- 21 มีนาคม 2564 ด้วยเหตุพิเศษ ทั้งนี้ทาง ร.ร. จะดำเนินการเปิดสอนชดเชย ให้ครบ 200 วันในโอกาสต่อไป


ภาพ / ข่าว : ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันน้ำโลก 22 มี.ค. 64 ขอให้ประชาชนทุกพื้นที่ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เลี่ยงปัญหาภัยแล้ง เพื่ออนาคตมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กุดเมืองฮาม ต.กุดเมืองฮาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายวราวุธ   ศิลปะอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ คณะผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาตรวจราชการโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5  ได้รับงบประมาณตามแผนปี พ.ศ. 2560 ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม โดยการขุดลอกพื้นที่ความยาวรวม 3,921.38  เมตร เพื่อเป็นแก้มลิงไว้กักเก็บน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ในการบรรเทาความเดือดร้อนด้านการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้งบประมาณ 23,900,000 บาท สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือมีปริมาณความจุเก็บกักน้ำเพิ่มจำนวน 6,648,792 ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 800 ไร่  ครัวเรือนได้ประโยชน์ 200 ครัวเรือน โดยมีนายวิชัย    ตั้งคำเจริญ รอง ผวจ.ศรีสะเกษ และนายสุพร  ธีรโรจน์ชาลี  นายอำเภอยางชุมน้อย  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชนชาวบ้านกุดเมืองฮาม มาให้การต้อนรับ

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นี้เป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ และเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีลักษณะโครงการดังนี้ ติดตั้งถังไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 100,000ลิตร จำนวน 3 ถัง แผงเซลล์แสงอาทิตย์พร้อมโครงสร้าง ขนาดแผงละ 330 วัตต์ จำนวน 96  แผงชุดเครื่องสูบน้ำ สามารถสูบน้ำได้ 60 ลบ.ม/ชม ระบบกระจายน้ำด้วยท่อ HDPE ความยาว 2,430  เมตร งบประมาณ 16,998,100  บาท  ผลงานก่อสร้างปัจจุบันร้อยละ 55.09 เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์จากการทำเกษตร จำนวน 1,225 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 418  ครัวเรือน และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พริก และหอมแดง เป็นต้น

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันน้ำโลก ตนเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีเพราะมีน้ำต้นทุนที่เรียกว่าน้ำฝนเพียงพอ แต่วันนี้เราคงต้องมาตระหนักในเรื่องของน้ำ จะต้องใช้น้ำทุกหยดอย่างมีคุณค่า และรักษาคุณภาพของลำน้ำที่เรามีอยู่นั้นให้มีคุณภาพสะอาดมีความใส  ซึ่งในวันนี้ทางรัฐบาลกำลังร่วมกันรณรงค์ทำอย่างไรที่จะให้น้ำเข้าถึงพี่น้องประชาชนมากที่สุด ในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนก็จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ในการเก็บน้ำฝนลงดิน ในการทำน้ำใต้ดิน ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับคนไทยของเรา ขอฝากพี่น้องประชาชนชาวไทยในเรื่องนี้

นายวราวุธ ศิลปะอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นโครงการที่มีประโยชน์ และพี่น้องได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมุ่งมั่นในการบริหารจัดการน้ำ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนของเราพัฒนาเจริญอย่างยั่งยืน โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ เป็นโครงการที่กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำกุดเมืองฮาม ซึ่งแต่เดิมมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จึงได้พัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งสามารถลดผลกระทบจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมแต่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก จึงต่อยอดดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ 

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64  ซึ่งเป็นวันน้ำโลก ตนขอฝากถึงประชาชนชาวไทยทั่วประเทศว่า  น้ำทุกหยดนับวันจะมีค่ามากขึ้นและหายากมากขึ้น ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความหมายต่อชีวิตมนุษย์มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การทำอุตสาหกรรม และแม้แต่การรักษาระบบนิเวศน์ ดังนั้น เมื่อเราใช้น้ำแล้ว การอนุรักษ์น้ำ การเพิ่มเติมน้ำเข้าไปในใต้ดิน หรือแม้แต่โครงการธนาคารน้ำใต้ดินเข้าไปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญพอ ๆ กัน  ตนจึงขอฝากพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ว่า ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำอย่างมีคุ้มค่า และให้ช่วยกันปลูกป่า เพื่อว่าในอนาคตเราจะได้มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์  จะได้ไม่ต้องเจอปัญหาภัยแล้งอย่างที่เราเคยเจอมาอย่างในอดีตที่ผ่านมา


ข่าว/ภาพ : บุญทัน ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

เจ้าคณะจังหวัดสั่งตรวจสอบพระสอนเสพกาม มอบเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลเข้าไปดูแล เผยคำสอนของหลวงตา ‘กรันยา’ ผิดเพี้ยน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า หลวงตากรันยา ถาวรธัมโม อายุ 59 ปี ประธานที่พักสงฆ์ วัดป่าเนื้อนาบุญ บ้านกอกหวาน ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ได้แสดงธรรมในคลิปเสียงที่หลวงตาได้เทศนาเกี่ยวกับการเสพเมถุนว่า คุณจะมาจากไหนก็ตาม แต่เมื่อคุณมาทำตามกามเมื่อไหร่จะเกิดอะไร เกิดมรรคผลขึ้นทันที อนุโมทนาสาธุการ มีการฝึกปฏิบัติแบบสะเทินน้ำสะเทินบกดับวิญญาณ และอยากให้ผู้นำทุกระดับของประเทศเข้ามาฝึกปฏิบัติ  เมื่อสำเร็จแล้วจะเป็นอริยะบุคคล เมื่อผู้นำเป็นอริยะบุคคลแล้ว จะทำให้ประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุขบ้านเมืองไม่เกิดความแตกแยกอีกต่อไป ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64  ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ที่พักสงฆ์วัดป่าเนื้อนาบุญ  บ้านกอกหวาน ต.โพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พบว่า มีบรรดาลูกศิษย์ที่ศรัทธาพากันเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกศิษย์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และจากทั่วประเทศ  ต่างพากันสวมเสื้อสีรุ้งสีสันสดใสนั่งรับฟังการแสดงธรรมะจากหลวงตากรันยา ถาวรธัมโม ซึ่งบรรยากาศการแสดงธรรมเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทำให้ลูกศิษย์ตั้งใจรับฟังการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก ขณะที่ลูกศิษย์ส่วนหนึ่งพากันลงไปดำน้ำในถังพลาสติคขนาดใหญ่ โดยดำน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อต้องการให้บรรลุธรรมตามคำสอนของหลวงตากรันยา ที่ได้ให้แนวทางการปฏิบัติเอาไว้

ทางด้าน พระวินัยเมธี  เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธ.) กล่าวว่า จากการที่ได้รับทราบแนวทางการสอนของหลวงตากรันยา  ถาวรธัมโม แล้ว พบว่า ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงสอนเอาไว้ จึงได้สั่งตั้งเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลเข้าไปพูดคุยแล้ว  โดยทางฝ่ายสงฆ์ก็จะต้องเข้าไปดูว่า จะต้องวินิจฉัยด้านพระธรรมวินัยอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เป็นกรอบในการทำงานต่อไปตามสั่งการ  ในด้านสังคมหลวงตากรันยาก็มีญาติพี่น้องอยู่ตรงนั้น ก็ให้เข้าไปพูดคุยเพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการว่าผิดมากน้อยแค่ไหนและผิดกรอบทางวินัยสงฆ์หรือไม่  ในส่วนของตัวบุคคลนั้นท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากหลักการ แต่ว่าในหลักการแล้วก็จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนตามกระบวนการ จะได้ไม่เป็นข้อเสียหายทางด้านนี้อีกต่อไป จะไม่ใช้ความรู้สึกใด ๆ เข้าไปในการดำเนินการจะต้องทำตามหลักการให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์  จากนั้น จะได้พิมพ์หนังสือแจ้งให้หลวงตากรันยาทราบ เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงจะเป็นการทำตามหลักการให้สมบูรณ์

ข่าว/ภาพ   บุญทัน  ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

ชาวบ้านครวญเข้าไปหาของป่าไม่พอกิน วอนลุงตู่ ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า

ชาวบ้านชายแดนไทยเขมร วอนลุงตู่ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า สะอื้นครวญทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าได้แทบไม่พอกินอยู่แล้ว หากขยายพื้นที่อนุรักษ์ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่าเลี้ยงครอบครัวได้  ควรให้อยู่กันแบบเดิมต่อไป

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนหลังจากที่มีข่าวว่า ขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอขอให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยได้ดำเนินการผนวกพื้นที่ป่าไม้ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าตามมติ ครม.ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

ซึ่งในบริเวณ ต.ไพรพัฒนา มีสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมายเช่น จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำ จุดชมวิวผาพญากูปรี อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ เป็นต้น และมีหมู่บ้านต่าง ๆ อีกประมาณ 8 หมู่บ้าน โดยพบว่าชาวบ้านได้มีการปลูกสวนยาง ทำไร่ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ จำนวนมาก และมีการสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นมาก มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนหลายพันคนด้วยกัน เมื่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องผนวกเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านต่างพากันตื่นตกใจเนื่องจากว่า จะทำให้ชาวบ้านที่เคยเข้าไปหาของป่าและทำมาหากินกับป่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกรงว่า บ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่อาจจะต้องถูกรื้อถอนออกไป และไม่ทราบว่าจะต้องพากันไปอาศัยทำมาหากินที่ใด

นางจิ๋ม พรหมงาม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 227 หมู่ 8 บ้านแซรไปร ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงมาเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า วันนี้ตนออกจากบ้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงในป่าตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เขต ต.ไพรพัฒนา ปรากฏว่า จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายได้ไข่มดแดงและแม่เป้งมดแดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะนำเอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ซึ่งหากว่า มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ขณะนี้ชาวบ้านอย่างพวกตนได้รับความลำบากในการทำมาหากินมากอยู่แล้ว  หากมีการขยายเขตอนุรักษ์ก็ยิ่งจะทำให้ทำมาหากินลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า หากเข้าไปหาของป่าเก็บเห็ดเก็บของป่าต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปดำเนินคดี จะทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

ตนจึงขอกราบวิงวอนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. ขอได้โปรดอย่าให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าหรือว่า ขยายพื้นที่ป่า ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขอความเมตตาจากลุงตู่ นายก รมต.ขวัญใจชาวบ้านผู้ยากไร้ได้โปรดให้ความช่วยเหลือพวกตนด้วย

ด้าน นางสำราญ ผิวนวล  อายุ  59 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้  ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอาชีพเก็บของป่าเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า ตนกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแซรไปร ที่คาดว่าจะถูกผนวกเข้าไปเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2527 ขณะนั้นตนมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น จนกระทั่งขณะนี้ตนมีอายุ 59 ปีแล้ว มีญาติพี่น้องและลูกหลานจำนวนมาก พวกตนมีอาชีพเข้าไปหาเก็บผักหวาน ผักกระโดน ผักอีฮีน เก็บเห็ด แมงจีนูน เป็นต้น ตามแต่จะหาเก็บได้นำเอาของป่ามาขายเป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวพอประทังชีวิตให้รอดพ้นไปได้ ตนและครอบครัวญาติพี่น้องทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหรือเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

เนื่องจากว่า จะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะว่า เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปเก็บหาของป่า ที่เป็นการดำรงชีพตามปกติได้ จะทำให้พวกตนในพื้นที่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ตนขอกราบวิงวอนลุงตู่ นายก รมต. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนผู้ยากไร้ ขอได้โปรดกรุณาช่วยเหลือพวกตนด้วย พวกตนไม่ต้องการให้เขตพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เพราะว่าหากพวกตนเข้าไปหาของป่าจะต้องถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก

ภาพ/ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

นักท่องเที่ยว แห่เลือกซื้อผ้าทอโบราณ 200 ปีศรีพิงพวย ย้อมด้วยดินภูเขาไฟ เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมสุรินทร์ - ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่หมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ  น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าคุณภาพ แหล่งกำเนิดผ้าทอศรีลาวา ดินภูเขาไฟ เป็นผ้าทออัตลักษณ์ของศรีสะเกษ เพื่อเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แพรพรรณที่งดงาม มีการเก็บรักษาผ้าโบราณกว่า 200 ปี การทอผ้าไม่ได้ใช้กระสวย แต่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง ต่างกับการใช้กระสวย ความพิเศษของมันคือบรรจุเส้นไหมใส่หลอดได้เยอะกว่ากระสวยและชมการย้อมผ้าดินภูเขาไฟด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาในครั้งนี้เป็นนักธุรกิจและข้าราชการบำนาญ ต่างพากันเลือกซื้อผ้าทอไปไว้ใช้และฝากเป็นที่ระลึกแก่ญาติพี่น้องและผู้ที่รักเคารพนับถือคนละหลายชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าโบราณเป็นอย่างดียิ่ง โดยมี นายพนมกร สังข์แก้ว และเพื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ได้มาที่นี่อีกครั้งเพื่อต่อยอดวาระจังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขับเคลื่อนผ้าทอมือ "ธานี ผ้าศรี...แส่ว" ที่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้นำร่องไว้ กลุ่มทอผ้าบ้านพิงพวย ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ  เป็นสถานที่ธรรมชาติที่ร่มเย็น มีเสน่ห์ ที่ทุกคนสามารถมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าโบราณที่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง นักท่องเที่ยวได้ชมพิพิธภัณฑ์ผ้า 200 ปีที่หายากที่จัดไว้ในห้องแอร์ ได้พบกับหนุ่มเยาวชนกลุ่มทอผ้าที่มีอนาคตในมิติของผ้าทออัตลักษณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรม DIY ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้   กลุ่มนี้เป็นกลุ่มศิลปินสมัยใหม่ที่ผลิตผ้าแบบมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีสโลแกนว่าหากจะอยากได้ผ้าทอสวยต้องรอหน่อยอย่าเร่ง  เพราะมีงานจากกรุงเทพสั่งทอตลอดมา 6 ปีแล้ว เป็นลูกค้ากลุ่ม High end ที่ต้องการให้ผลิตผ้าทอให้ดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร  ตนได้เสนอให้เพิ่มหมู่บ้านทอผ้านี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของ อพท.ด้วยจะได้เชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางสายไหม  ใครมาที่หมู่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ก็เชื่อมต่อมาดูผ้าโบราณที่ศรีพิงพวย ศรีสะเกษ  

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์  กล่าวว่า ตนได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำนักท่องเที่ยวกลุ่มรักผ้าไหมจากกรุงเทพฯมาเที่ยวสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยในวันนี้ได้นำมาเยี่ยมชมหมู่บ้านผ้าทอโบราณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบผ้าไหมและได้อุดหนุนผ้าทอโบราณของศรีรัตนะจำนวนมาก ซึ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาด ปีงบประมาณ 2564 โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งได้รับการประสานจากชมรมรักไหมสุรินทร์ (Facebook Group : รักไหมสุรินทร์)กำหนดเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ภาพรวม : กระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล แผนงาน : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสคุณค่า วันธรรมดา

ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ตนจึงได้นำเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบน เป็นกลุ่มศักยภาพ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากกรุงเทพ เดินทางสำรวจศักยภาพ และท่องเที่ยวช้อป ชุมชนทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเชื่อมโยงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจเฉพาะงานทอผ้าไหมพรีเมี่ยม และงานอาร์ต งานคราฟท์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเขียวสุรินทร์ ถนนวิถีวัฒนธรรมมารีหนองแคน ชุมชนทอผ้าไหมบ้านแขม อ.อุทุมพรพิสัย ชุมชนพิงพวย อ.ศรีรัตนะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว สิมวัดไพรบึง อ.ไพรบึง ศิลปญวน พระพุทธเจดีย์ใหญ่ไพรบึง ศิลปะลาว เหมือนปลี พระโบราณ ศิลปญวน วัดบ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ  เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ อ.กันทรลักษ์ รับตะวัน 3 แผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กราบไหว้ขอพรสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา จุดชมวิวผาพญากูปรี อ.ภูสิงห์ ตนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเที่ยวอีสานวันธรรมดาที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และคิดถึงท่องเที่ยวเมืองรองต้องสุรินทร์ศรีสะเกษ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

ศรีสะเกษ!! สั่งปิดสำนักสงฆ์สอนญาติโยมลามกเสพเมถุน ปฏิบัติธรรมสุดเพี้ยนมุดน้ำกลั้นหายใจสู่ทางบรรลุ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่พักสงฆ์ป่าเนื้อนาบุญ ตโพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.ส้นติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายเทเวศน์ มีศรี นายอำเภอปรางค์คู่ พ.ต.อ.พิทักษ์ จันทร์อบ ผกก.สภ.ปรางค์กู่ นางณภัค  เทียนชัย ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ น่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าทำการจับกุมตัว พระกรันยา ถาวรธมโม สังกัดวัดถ้ำสระพงษ์ ต.ปรือใหญ่ อ. ขุขันธ์  จ.ศรีสะเกษ

หลังคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด  โดย พระวินัยเมธี) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด) ออกแถลงการณ์การสอขอธิกรณ์ เรื่องการระงับอธิกรณ์ พระกวันยา ถาวรธมโม ที่พักสงฆ์เนื้อนาบุญ สอนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ซึ่งค่าสอนที่ได้สั่งสอนอบรมสั่งสอน แก่ศิษยานุศิษย์นั้นเป็นศาสอนหรืออุบายธรรมที่ผิดเพี้ยนไป จากพระธรรมคำสอนที่ทรงตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว  ซึ่งพระกรันยา ถาวรธมโม ได้อบรมให้ศิษยานุศิษย์ด้วยการกล่าววาจาเทศนาให้น้อมไปในทางเสพกามคุณและการสอนศิษยานุศิษย์ ให้เชื่อว่าการปฏิบัติธรรมสมาธิด้วยการกลั้นลมหายใจดำน้ำในตุ่ม จะช่วยให้บรรลุมรรคผลได้ และคารใช้วาจาแนะนำบอกล่าวอุบายแก่ศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรม ให้เป็นคู่รักกันได้ถ้าตนเองไม่มีคู่รัก

นอกจากนี้ยังสอนให้เชื่อว่าเมื่อบรรลุมรรคผลแล้วมีการร่วมกันจัดงานกิจกรรมการบันเทิ้งรื่นเริง ฟ้อนรำ ขับบรรเลงเพลงดนตรีภายในบริเวณอารามที่ถือว่าเป็นวัค จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ว่าพระกรันยา แนะนำสั่งสอนอบรมให้ศิษยานุศิษย์ได้เชื่อถือและปฏิบัติธรรมผิดเพี้ยนไปตามวาจาที่ตนได้สอนไว้และยังได้บันที่กลงไปในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

ข่าว/ภาพ   บุญทัน  ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ - ผู้ว่าฯศรีสะเกษ สั่งคุมเข้มมาตรการโควิดในงานประเพณีบุญบั้งไฟ 12 เม.ย.-11 พ.ค.นี้ ย้ำเว้นระยะห่าง-ปลอดเหล้า-ปลอดการพนันเด็ดขาด ฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับ 4 หมื่น คุก 2 ปี

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้ลงนามในประกาศคำสั่งจังหวัดศรีสะเกษ ที่ 1559/2564 ลงวันที่ 8 เม.ย. 64 เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2564 เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟ โดยจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 12 เม.ย. ถึงวันที่ 11 พ.ค. 64 นี้

โดยเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า การจัดงานประเพณีดังกล่าว ห้ามมิให้มี การเล่นการพนัน ทุกประเกท รวมถึงให้งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในบริเวณจัดกิจกรรม งดกิจกรรมโยนโคลน และกิจกรรมอื่น ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ระมัดระวังการรวมกลุ่มดื่มสุรา การรวมกลุ่มเซิ้งขอสรา หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ในบริเวณงาน หรือสถานที่จัดงาน   โดยเน้นย้ำดำเนินการตามมาตรการ การป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ในการเว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนเข้าพื้นที่ และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะหรือหมอชนะ นอกจากนี้ผู้จัดงานหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องเสนอมาตรการในการป้องกันโรคฯและยื่นต่อนายอำเภอท้องที่ล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน

ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องประกอบด้วย แผนผังการจัดงาน จำนวนผู้ข้าร่วมงาน โดยให้พิจารณาผู้ข้าร่วมงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่แออัด การจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย การจัดมาตรการ ควบคุมโรค ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดศรีสะเกษกำหนด  ส่วนกรณีมีผลกระทบต่อพื้นที่ หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านและได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานพร้อมความเห็นให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดศรีสะเกษ พิจารณา โดยให้นายอำเภอ หรือผู้แทน พร้อมผู้ขออนุญาตจัดงาน เข้าร่วมชี้แจงในการประชุมพิจารณา ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดศรีสะเกษ 

ทั้งนี้ได้กำชับให้ผู้จัดงาน เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้เข้าร่วมงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำใด ๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนด ต้องได้รับโทษ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และฐานความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย


ข่าว/ภาพ  บุญทัน  ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ - ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 38 รายแล้ว ผู้ว่าฯมั่นใจจะฝ่าสถานการณ์นี้ไปได้อย่างราบรื่น ขอให้ทุกคนเป็นทีมเดียวกันคือเป็นทีมศรีสะเกษ ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.64 ที่ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  นายวัฒนา   พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ศรีสะเกษ ครั้งที่ 10 /2564 ซึ่ง นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ และคณะได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยผู้ติดเชื้อโควิด 19 ระลอก 3 จ.ศรีสะเกษ มีผู้ป่วยระหว่างวันที่ 1 - 16 เม.ย.64 จำนวน 30 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ในวันที่ 17 เม.ย. 64 จำนวน 8 รายรวมเป็นมีผู้ป่วยสะสม จำนวน 38 ราย โดยรายที่ 31 เพศชาย อายุ 45 ปี อ.เมืองศรีสะเกษ พนักงานขับรถ รับผู้ติดเชื้อรายที่ 18 รายที่ 32 เพศหญิง อายุ 29 ปี อ.เมืองศรีสะเกษ บุตร ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 22 รายที่ 33 เพศชาย อายุ 24 ปี อ.เมืองศรีสะเกษ บุตร ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 29 (ไปงานแต่งงาน) รายที่ 34 เพศชาย อายุ 21 ปี อ.เมืองศรีสะเกษ บุตร ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 30 (ไปงานแต่งงาน) รายที่ 35 เพศชาย อายุ 21 ปี อ.เมือง อาชีพ ชกมวย ที่กรุงเทพฯ รายที่ 36 เพศชาย อายุ 24 ปี เดินทางไปกรุงเทพฯ สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายที่ 30  รายที่ 37 เพศชาย อายุ 19 ปี อ.กันทรลักษ์ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และรายที่ 38 เพศหญิง อายุ 29 ปี อ.อุทุมพรพิสัย เดินทางไปกรุงเทพฯ ซึ่งเขตพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีแดงคือ อ.เมืองศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์และ อ.วังหิน

โดยมี นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายนพ พงษ์ผลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ หน.ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุม

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ตนเคยกล่าวเอาไว้ว่าทุกคนต้องเป็นผู้เล่นด้วยกันทั้งหมดเหมือนกับฟุตบอล ทุกคนมีบทบาทอย่างยิ่งคนในสนามฟุตบอล ก็เหมือนกับพี่น้องประชาชน ถ้าพี่น้องประชาชนเล่นฟุตบอลในสนามไม่วิ่งไม่กระตือรือร้นไม่ช่วยกัน โอกาสที่จะทำประตูและมีชัยชนะก็จะเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นพี่น้องประชาชนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประพฤติปฏิบัติต่อกันในการดูแลคนที่เข้ามาในพื้นที่ คนในครอบครัวจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ใช่คนธรรมดาอาจจะมีการเจ็บการป่วยการติดเชื้อม าเราไม่ได้คิดว่าต้องการทำให้หวาดระแวง แต่ว่าอยากให้ตระหนักว่าถ้าสมมุติว่าทุกคนมีสมมุติฐานในการที่จะต้องการให้ปลอดภัยร่วมกันต่างคนต่างกลัวกันไว้ก่อน ในครอบครัวทานข้าวอาจจะแยกกันทานข้าว พูดคุยกันให้น้อยลง ใส่หน้ากากให้มากขึ้นและงดลดการที่จะไปร่วมกับกิจกรรมกับคนอื่นและปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข คิดว่าต้นทางตรงนี้จะสามารถสกัดยับยั้งได้ดี

ผวจ.ศรีสะเกษ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเตรียมการแนวหลังก็เป็นสิ่งที่คิดว่าเรามีความพร้อมเรามีแผนหนึ่งแผนสองสถานที่หนึ่งสถานที่สองเตรียมไว้แล้ว แต่ก็ไม่อยากให้ถึงขนาดนั้นไม่ต้องการให้คนศรีสะเกษเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะฉะนั้นเราจะต้องเป็นทีมเดียวกันไม่ใช่มีเฉพาะทีมหมอทีมพยาบาล ทีมตำรวจทีมปกครอง ประชาชนก็จะต้องเป็นทีมหนึ่งเดียวกันคือเป็นทีมศรีสะเกษที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันเมื่อต้นทางไม่เกิดขึ้นมาโอกาสที่จะเพิ่มขยายก็ลดน้อยลง

แต่สิ่งหนึ่งก็คือเราอย่าไปว่ากันใครติดแล้วติดมา ติดมาจากไหนบอกไปไหนมาบ้าง บอกที่หมอพยาบาลจะเข้าสอบสวนเส้นทางและไทม์ไลน์ต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด และเราก็จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะฉะนั้นเราจะต้องเป็นทีมเดียวกันช่วยกันตนคิดว่าเราจะฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น


ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ – นายอำเภอ ศรีรัตนะ สั่งงดจัดงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ ประจำปี 64 ไม่มีกำหนด เลี่ยงโควิด-19

เมื่อวันที่ 19  เมษายน 2564  นายภัทรนันท์ บุญมานัด นายอำเภอศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อำเภอศรีรัตนะ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 143,350 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 130,343 ไร่ มีครัวเรือนทั้งหมด 9,141 ครัวเรือน ครัวเรือนทำการเกษตร 7,406 ครัวเรือน ซึ่งอำเภอศรีรัตนะ เป็นหนึ่งในกลุ่มอำเภอที่มีศักยภาพการผลิต ข้าว พืชสวน พืชไร่ โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน เป็นพืชที่สำคัญ และปลูกในดินภูเขาไฟ มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,300 ไร่/ปี ปริมาณผลผลิตกว่า 3,600 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า กว่า 16 ล้านบาท

ซึ่งในทุก ๆ ปีทางอำเภอได้มีการจัดกิจกรรมงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางตลาด เพื่อเปิดโอกาสในการพบกันโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและกลุ่มผู้ซื้อสินค้าเกษตร และยังเป็นการสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งการติดเชื้อในประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการบังคับใช้มาตรการและปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่ควบคุม

เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง และเพื่อให้การควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น อ.ศรีรัตนะ จึงขอแจ้งเลื่อนการจัดงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ ประจำปี 2564 ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


ข่าว/ภาพ  บุญทัน ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ - เฮ “บิ๊กตู่” อนุมัติงบ 704 ล้าน ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ “ห้วยตามาย” พัฒนาแหล่งน้ำ-ส่งเสริมการท่องเที่ยว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานศรีสะเกษ เตรียมขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สร้างเมื่อปี 2512 และแล้วเสร็จเมื่อปี 2514 มีระยะเวลาใช้การมาแล้วกว่า 50 ปี ปัจจุบันเกิดปัญหามีสภาพตื้นเขิน โดยเฉพาะฤดูแล้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้มีพี่น้องประชาชนร้องขอกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะที่เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการและเยี่ยมชมสวนทุเรียนภูเขาไฟ ซำตารมย์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

และสั่งการให้กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอก เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดิน ที่จะต้องใช้น้ำใต้ดินเพื่อสูบช่วยสวนทุกเรียนตรงนี้ด้วย  ทางชลประทานก็เลยวางแผนที่จะขุดลอก อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าว โดยแบ่งระยะการขุดลอกมาทั้งหมด 5 ระยะ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 704 ล้านบาท โดยจะมีการเพิ่มระดับสันสปิลเวย์ เพื่อเพิ่มระดับน้ำเก็บกักขึ้นอีก 25 ล้าน ลบม. จากเดิมเก็บกักได้ 37 ล้าน ลบม. รวมเป็น 62 ล้าน ลบม. หรือเพิ่มขึ้นอีก 80 เปอร์เซ็น

นอกจากจะช่วยเหลือด้านการเกษตรในพื้นที่ทั้งหมด 25,000 ไร่ แล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือด้านอุปโภค บริโภค ของผู้ใช้น้ำโดยรอบ และยังจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีแผนที่จะเอาดินที่ขุดได้เอามาถมบริเวณที่ริมถนนสายสำคัญ คือ ถนนทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ทั้งสองฝั่ง และถนนสาย 221 (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) เพื่อปรับเป็นจุดท่องเที่ยว จุดจอดรถ จุดตลาดค้าขาย ตลาดโอท็อป และจะเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม จะมีการปรับสันคันดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำเป็นทางลาดยาง สำหรับเป็นพื้นที่ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ผลประโยชน์ที่จะตามมาก็คือเรื่องของการประมง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาอย่างดี และมีชาวประมงที่จับสัตว์น้ำ จับมาแล้วก็เอามาขายบริเวณนี้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2572 


ภาพ/ข่าว  บุญทัน  ธุศรีวรรณ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top