Monday, 20 May 2024
วิชัย_ทองแตง

‘วิชัย ทองแตง’ มุ่ง ‘แก้ฝุ่นพิษเชียงใหม่ - ปั้นสตาร์ตอัพ’ ประกาศชัดขอสลัดภาพ ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ 

ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังประกาศถ่ายโอนทรัพย์สินและธุรกิจ ให้ทายาทตั้งแต่ 6 ปีก่อน ทำให้บทบาทในการบริหารธุรกิจลดน้อยลง

แต่มาวันนี้ อดีตเจ้าของฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ ได้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อเขาประกาศถึง ‘บทบาท’ และ ‘passion’ ใหม่ ที่จะหันมาปั้นคนรุ่นใหม่ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว

คุณวิชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ได้สลัดภาพพ่อมดตลาดหุ้นออกไปแล้ว โดย new chapter ของเขานั้น อยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัพของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว”

ขณะที่ แนวทางการเลือกสตาร์ตอัพที่จะนำมาปั้นนั้น คุณวิชัย จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ทำหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัพเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัพ คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

และสูตรสำคัญของการเลือกสตาร์ตอัพ ของคุณวิชัย นั่นคือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย

ส่วนประเภทธุรกิจที่ คุณวิชัย ได้เข้าไปปั้นให้นั้น แต่หลัก ๆ นั้น มุ่งไปที่ธุรกิจที่เป็น ‘เมกะเทรนด์’ ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยเปิดเผยบางธุรกิจที่ได้ปลุกปั้นไว้ บางธุรกิจออกดอกออกผลแล้ว ยกตัวอย่าง ‘ธุรกิจคาร์บอนเครดิต’ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้เป็นอย่างดี

“จังหวัดเชียงใหม่มีป่า มีลำน้ำ มีแม่น้ำ มีน้ำตก มีความชุ่มชื้นที่พอเหมาะพอควร ผมอยากให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดแรกที่ทำเป็นสตอรี่เพื่อขายคาร์บอนเครดิตได้ บริษัทที่ผมช่วยปลุกปั้นขึ้นมา มี know how มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการครีเอตแนวทางในการเคลมคาร์บอนเครดิต และที่สำคัญมีตลาดที่จะไปขาย เท่ากับมีซัพพลายเชนครบทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ธุรกิจแบบนี้แหละที่ต้องสนับสนุน เพราะได้ทั้งแง่ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 อย่างมาก” คุณวิชัย กล่าวถึงหนึ่งในธุรกิจที่ได้เข้าไปช่วยปลุกปั้น

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1.เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2.กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัพรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงน่าสนใจ เพราะสอดรับกับกระแสอีวีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญโซลูชันนี้ประกวดระดับโลกได้ที่ 29 มาแล้ว 

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของธุรกิจ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยปลุกปั้น และหากว่าบริษัทสตาร์ทอัพนั้น ๆ มีศักยภาพมากพอ ก็จะผลักดันเข้าตลาดหุ้นต่อไป ส่วนจะมีบริษัทหรือธุรกิจใดบ้างนั้น อีกไม่นานเกินรอคงได้รู้กัน

สำหรับ คุณวิชัย ทองแตง นั้น นับว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่างของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่สร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนที่ชาญฉลาด

-ติดทำเนียบมหาเศรษฐีไทย อันดับที่ 17 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes
-เป็นทนายความที่ฐานะร่ำรวยที่สุดในโลก (The Richest Lawyer)
-อดีตทนายความค่าตัวแพงที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ในคดี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
-ปัจจุบัน ประธานบริษัท Bitkub World Tech

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ฝุ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน

กว่า 10 ปีที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปี

ล่าสุดได้มีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่สั่งสมมานานอีกครั้ง ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยมี ‘วิชัย ทองแตง’ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งหวังให้เชียงใหม่และภาคเหนือปลอดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

วิชัย ทองแตง บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันช่วยเหลือชาวเชียงใหม่ เพราะทนไม่ได้ที่ต้องเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศด้วย 

แน่นอนว่า ทุกองค์กรที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ล้วนตระหนักดีว่า เรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีนั้น จะแก้ไขได้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะรอคอยอีกไม่ได้ เพราะลมหายใจของเชียงใหม่รวยริน และแผ่วเบามากแล้ว 

“แม้ว่าชาวเชียงใหม่จะได้รับข่าวดี หลังศาลได้ตัดสินให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ชนะคดี กรณีได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่การบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่ปัญหาหมอกควันนั้นรออีกไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หวังให้ลมหายใจดแห่งขุนเขาจะพัดกลับมา ให้คนเชียงใหม่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ตามวิถีของชาวเชียงใหม่ และวิถีล้านนา ซึ่งเป็นวิถีที่งดงามให้กลับมาเป็นเช่นเดิม”

‘วิชัย ทองแตง’ เยือน ‘สกลนคร’ พบปะเกษตรกร ร่วมแชร์ไอเดียนวัตกรรมการเกษตร เสริมแกร่ง ‘สกลนครโมเดล’

นักปั้นนมือทอง!! ‘วิชัย ทองแตง’ เยือนถิ่นสกลนคร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแชร์ไอเดีย หวังผลักดันนัวตกรรมการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมหนุนโครงการสกลนครโมเดลให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป ได้เดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาเกษตรนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

สำหรับเดินทางเยี่ยมเยียนเกษตรกรในครั้งนี้ คุณวิชัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรในยุค ‘Digital Transformation’ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาสินค้า โอกาสในการขยายตลาด และโอกาสในการเรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญหากโอกาสมาถึงแล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรภายใต้โครงการ ‘สกลนครโมเดล’ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของการเกษตรเชิงนวัตกรรมในพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม จาก น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 6 ถึงความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งแต่พืชผักสวนครัว สมุนไพร กล้วยหอมทอง เห็ดป่า ผ้าทอ และผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของสกลนคร และสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงทักษะของเกษตรกรสกลนคร คุณวิชัย เชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนและการนำด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด จะช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

'วิชัย ทองแตง' เปิดมุมมองรักษ์โลก 'ธรรมดาๆ' ที่ 'ไม่ธรรมดา' พกพา 'ถุง' จาก 'กระดาษ' เหลือใช้ พับติดตัวไว้ใช้อเนกประสงค์

(6 ธ.ค. 66) ช่อง ‘godfatherofstartup’ ในติ๊กต็อกได้เผยแพร่มุมมองของ ‘วิชัย ทองแตง' เกี่ยวกับเรื่องการใช้ ‘กระดาษ’ เหลือใช้ นำมาพับเป็นถุงและพกติดตัวไปด้วยทุกที่ โดยมีใจความว่า..

“ความธรรมดาของคุณวิชัย คือการเก็บกระดาษที่ไม่ใช้แล้ว เราทำธุรกิจเยอะ กระดาษที่เหลือใช้เยอะมาก จึงนำมาพับเป็นถุงทั่วไป ถ้าหากเป็นกระดาษที่ใช้ไปแล้วหน้าเดียว ก็จะนำมาจดบันทึกต่อ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ กระดาษพวกนี้ก็เดินทางไปด้วย ไซซ์เล็กคือค้างคืนเดียว ไซซ์ใหญ่ก็ค้างสองคืนขึ้นไป

ปกตินักเล่นหุ้นจะได้รับเอกสาร (ซองกระดาษสีน้ำดาล) บ่อย ผมก็ได้รับ และที่บ้านผมก็เอามาทำถุงกระดาษนะ

ลูกชายคนเล็กของผม เปิดร้านกาแฟ และเขาก็ใส่ใจเรื่องออแกนิกมาก ถุงที่ใช้ของก็คือ…ถุงจากตลาดหลักทรัพย์ครับ”

‘วิชัย ทองแตง’ อุทิศตนช่วย ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ เดินหน้าปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน 2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัย โดยมีทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมงานคับคั่ง

พร้อมกันนี้ ภายในงาน ยังได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจและตำรวจ” โดยศิษย์เก่าธรรมศาสตร์หลายรุ่น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุณวิชัย ทองแตง ทนายความ และนักลงทุน และ คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา

ทั้งนี้ คุณนายวิชัย ทองแตง ได้ให้มุมมองทางด้านเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในกับดักบางอย่าง คนไทยมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง 2.4 แสนบาทต่อปี ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมี 4.5 แสนบาทต่อปี ซึ่งตนเองสนใจตัวเลขนี้แล้วก็ติดตามตัวเลขนี้มาตั้งแต่จบมหาลัยธรรมศาสตร์ ทุกวันนี้ยังสะเทือนใจอยู่ว่า เส้นแบ่งแห่งความยากจนอยู่ที่ 2,802 บาท หรือปีละ 30,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง คนไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กับดักความเหลื่อมล้ำนี้ แน่นอนว่า สิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นเรื่องที่ตนเองยอมรับไม่ได้ จึงได้ออกเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศ เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยไม่ว่ากัน

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจ ก็คือ ตอนที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนเข้ามาจดเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิ์เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ที่เรียกทั่วไปว่า บัตรคนจนนั้น มีผู้ยื่นลงทะเบียนถึง 22,293,473 ล้านราย นับเป็นสัดส่วนถึง 30% ของประเทศนี้

ขณะที่ จีดีพีภาคเกษตรไทยไตรมาสที่หนึ่งปี 66 มีสัดส่วนประมาณ 6.2% ของจีดีพีประเทศไทย ในขณะที่เนื้อที่ทางการเกษตรมีถึง 149.25 ล้านไร่ หรือ 46% ของทั้งประเทศ ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่ และด้วยความเหลื่อมล้ำที่ยังแผ่ขยายอยู่ในสังคมไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยปั้นธุรกิจของคนไทยให้เติบโตและอยู่รอดต่อไป

คุณวิชัย ระบุว่า ตนเองผ่านอุปสรรคผ่านการทําธุรกิจมามากมาย โดยยึดมั่นในหลักการ 2 อย่าง Execution การลงมือปฏิบัติทำให้บรรลุผล และ implementation กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่เอาความคิดมาวางแผนขึ้นโครงการให้สามารถปฏิบัติให้เกิดผลได้ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้คือหัวใจสำคัญที่จะให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดงานครั้งแรกที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีฝุ่นควันติดเป็นอันดับ 1 ของโลกมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปประชุมหาทางแก้ไขมาตลอด แต่ปัจจุบันฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ ตนเองได้เข้าไปทำโครงการที่เรียกว่า “หยุดเผา เรารับซื้อ” ซึ่งเป็นการลงทุนสร้างโรงงานรับซื้อสิ่งที่ชาวบ้านเผา ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ใบไม้ และตอซังข้าวโพด นำมาขายเข้าโรงงาน เพื่อที่จะนำไปผลิตชีวมวลอัดเม็ดส่งขายต่างประเทศต่อไป 

ซึ่งชีวมวลอัดเม็ด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างสูง มีออเดอร์มาแล้ว 10 ล้านตันต่อปี แต่ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกไปได้ไม่ถึงปีละ1 แสนตัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในวิกฤตฝุ่น PM2.5 ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และเกษตรกรไทย เพียงแต่ยังไม่มีใครมาพลิกใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนำไปสร้างโอกาสต่อเท่านั้น

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังระบุถึงภารกิจในปัจจุบันซึ่งก็คือ การเป็นนักปั้น หมายถึงปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัปไทยเกิดขึ้นมานับหมื่นราย แต่มีศักยภาพเหลือรอดแค่ 1% ทั้ง ๆ ที่มีกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) มาลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัปไทยจำนวนเยอะมาก แต่กลับไปไม่ถึงไหน 

“จากการที่ได้เข้ามาช่วยปั้นธุรกิจมาหลายปี พบว่า อุปสรรคสำคัญที่สตาร์ตอัปไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ คือ เมื่อไหร่ที่บริษัทจะเพิ่มทุนหรือขยายธุรกิจ จะต้องมาขอความเห็นชอบ (consent) จากผู้ร่วมลงทุนก่อน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สําหรับคนปฏิบัติงาน เพราะไม่มีสิทธิ์ตัดสินได้เอง ก่อนหน้านี้เคยลงไปช่วยปั้นสตาร์ตอัป 2 ราย แต่ไม่สำเร็จ เพราะติดปัญหาต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ลงทุน ซึ่งถือหุ้นอยู่เพียง 5% เท่านั้น แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัปต้องพิจารณาให้ดี”

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเงื่อนไข การปั้นธุรกิจนั้น ได้วางไว้เป็นพื้นฐาน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เราจะเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม และ3. เราจะแบ่งปันความรู้ และโอกาส แก่ผู้ที่ด้อยกว่า ซึ่งเงื่อนไขนี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ตนเองจะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท บิทคับ จํากัด เมื่อปี 2565 ขณะนั้นมีคนในเครือข่าย 1,500 คน ตนได้บอกกับ คุณท็อป (จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา) ไปว่าหากคนในเครือข่ายปฏิญาณยอมรับในเงื่อนไข 3 ข้อนี้ได้ ตนเองจะช่วย ซึ่งทางกลุ่มบิทคับยอมรับในเงื่อนไขนี้ จึงเกิดการทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่จะปั้นนั้น จะโฟกัสที่ 3 ส่วน คือ สตาร์ตอัป, SME และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยธุรกิจที่จะเข้าไปสนับสนุนหรือไปปั้นต่อนั้น จะต้องมี 2G ก่อน G แรกคือ Growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ Gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดีถ้ามี 2G แล้ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่ม VC พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ ปัจจุบันมีทีมงานช่วยวิเคราะห์จำนวน 90 คน ทำเรื่องวิเคราะห์ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัป ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะ 

คุณวิชัย ย้ำว่า นอกเหนือจากเงินทุน และแผนธุรกิจที่จะทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นคือ “เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่” เพื่อนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และทุกครั้งที่ไปบรรยายจะเน้นให้ทุกคนคำนึงถึง 3 เรื่องหลัก ๆ คือ Collaboration การทํางานร่วมกันเป็นพันธมิตรกัน, Connection การเชื่อมต่อทางธุรกิจ และ Mergers & Acquisition (M&A) การควบรวมกิจการ เพราะการทำธุรกิจไม่ต้องไปแย่งชิงกัน แต่ต้องจับมือกันแบ่งปัน ใครเก่งด้านใดก็ทำเรื่องนั้น ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะนำพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมทำให้หลายบริษัทสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันแล้วเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการเชื่อมต่อธุรกิจต่อธุรกิจนั้น ไม่จําเป็นต้องเป็นธุรกิจเดียวกัน บางครั้งการที่นักธุรกิจสองฟากฝั่งคนละธุรกิจมานั่งคุยแลกเปลี่ยนกันก็อาจจะเกิดนวัตกรรมใหม่เกิดความคิดใหม่ ๆ ส่วนเรื่อง M&A หากต้องการเติบโตไปกว่าเดิมจะต้องทำเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง กลุ่มโรงพยาบาลของผม กลุ่มพญาไทและเปาโว ซึ่งตอนนั้นมี 8 โรงพยาบาล ได้ร่วมกับอาจารย์ประเสริฐ ประสาททองโอสถ ซึ่งขณะนั้นมี 22โรงพยาบาล ทำการควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 ทำให้มีจำนวนโรงพยาบาล 30 โรงพยาบาล และหลังจากนั้น เกิดกระแสเงินสดใหม่เข้ามาในธุรกิจเยอะมาก ทําให้เราสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จนถึงวันนี้เรามี 53 โรงพยาบาล รวมถึงโรงงานผลิตยา 2 โรงงาน และร้านขายยาอีก 1,100 แห่ง ทำให้กลุ่มของเราสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่หากพิจารณาด้าน Hospitality หรือความมีไมตรีจิตในการบริการ เราเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทบจะทุกครั้งที่มีการประกวด ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งและศักยภาพของคนไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้”

คุณวิชัย ยังให้มุมมองต่อธุรกิจในอนาคตด้วยว่า ปัจจุบันบริบทของโลกได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานด้น ESG คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ล่าสุดในการประชุม COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีข้อตกลง เรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อยและเท่าเทียมกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจจะต้องตื่นตัวในเรื่อง ESG แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ในวันข้างหน้าเราจะถูกชาวคนทั้งโลกแบน และอยากให้ทุกธุรกิจยึดมั่นว่าสโลแกน มุ่ง Net Zero, GO Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำความร่วมมือ แล้วทุกธุรกิจจะบรรลุเป้าหมายและช่วยรักษาโลกไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top