Tuesday, 14 May 2024
วัยทำงาน

รู้จัก 'Quiet Quitting' การทำงานสไตล์คน 'Gen Z' ขอแค่ทำตามหน้าที่ ไม่วิ่งตามวัฒนธรรมบูชางาน

นับว่าเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมาทั้งใน TikTok และ Twitter เลย เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยพฤติกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า 'Quiet Quitting' หรือ 'QQ' เป็นการใช้ชีวิตเสมือน 'ลาออกแบบเงียบๆ' แต่ 'ไม่ได้ลาออกจริงๆ' โดยใช้วิธีกำหนดขอบเขตการทำงานของตัวเองอย่างชัดเจนเพื่อ 'ลดความเครียด' หรือหาทางหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงานไปแบบดื้อๆ

QQ มักมาจากการที่เริ่มรู้สึกว่าความพอใจหรือภูมิใจในงานที่ตัวเองทำอยู่ลดลง ทำให้ไม่ได้รู้สึกกระตือรือร้นกับการทำงานเพื่อการเติบโตอีกต่อไป

ทว่า แม้จะไม่ได้ความสุขกับการทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะลาออก จึงเลือกโฟกัสกับงานในส่วนแค่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบเท่านั้น เพราะไม่ได้รู้สึกว่าต้องการความเติบโตอย่างโดดเด่น แต่อยากมีความบาลานซ์ในชีวิตมากกว่า

ความน่าสนใจคือพฤติกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ 'Gen Z' ที่มองหา 'งานที่แฟร์' และ 'Work Life Balance' มากกว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นในองค์กรที่ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจเหมือนคนในเจเนอเรชันก่อนๆ

‘ธุรกิจกายภาพบำบัด’ บูม!! วัยทำงานแห่ใช้บริการ พบ 'กรุงเทพฯ' ยืนหนึ่ง ผู้ประกอบกระจุกตัว

(4 ก.ค. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25-54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึงอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน

จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ ร้อยละ 41.7) ทุน 31.4 ล้านบาท (ลดลง 126.60 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.1) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือ ร้อยละ 117.7) ทุน 101.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69.95 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 222.8) และ ปี 2566 เดือนมกราคม-พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 267.73 ล้านบาท ขาดทุน 18.79 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 246.94 ล้านบาท (ลดลง 20.69 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 7.7) ขาดทุน 15.29 ล้านบาท (ลดลง 3.50 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 18.6) และ ปี 2564 รายได้รวม 417.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 170.41 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 69.0) กำไร 37.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 143.5) ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 – 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.0 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท (ร้อยละ 0.89) รองลงมา คือ อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท (ร้อยละ 0.32) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท (ร้อยละ 0.31) และอื่น ๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท (ร้อยละ 0.48)

ปัจจุบัน ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.007 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.14 มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 174 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.43 สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91 ราย (ร้อยละ 52.00) ทุนจดทะเบียนรวม 1,284.31 ล้านบาท (ร้อยละ 77.11) รองลงมา คือ ภาคกลาง 33 ราย (ร้อยละ 18.86) ภาคเหนือ 15 ราย (ร้อยละ 8.57) ภาคใต้ 13 ราย (ร้อยละ 7.43) ภาคตะวันออก 11 ราย (ร้อยละ 6.29) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย (ร้อยละ 4.57) และภาคตะวันตก 4 ราย (ร้อยละ 2.28)

และด้วยกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดยังคงมีที่ว่างสำหรับนักลงทุนชาวไทย/ต่างชาติในการเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้รับ คือ ผลประกอบการที่เป็นบวกและมีผลกำไรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

ผลวิจัยชี้!! วัยรุ่นไทย 'Gen Z - Millennial' ยอมลาออก หากบริษัทไม่ยืดหยุ่นให้ 'Work - Life - Balance'

ไม่นานมานี้ ผลสำรวจจาก Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ที่จัดทำขึ้นโดย Deloitte ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ได้ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล มากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก  

ในผลสำรวจฉบับนี้ Gen Z จะหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปี และ Millennial จะหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี โดยประเทศไทยนั้น Deloitte ได้ทำการสำรวจ Gen Z จำนวน 200 คน และ Millennial 100 คน ในประเทศไทย 

ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชันดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องของสถานที่ทำงานและเวลาในการทำงาน ดังนี้...

>> ร้อยละ 86 ของ Gen Z และ ร้อยละ 65 ขอ Millennial ในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ 

>> และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชัน มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่...

1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

‘ญี่ปุ่น’ เปิดผลสำรวจพบ ‘วัยทำงาน’ 45% นอนน้อยกว่า 6 ชม.ต่อคืน ชี้!! เสี่ยงเป็น ‘ซึมเศร้า’ เร่งหาวิธีร่นเวลาทำงาน-เซฟสภาพจิตใจ

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, โตเกียว รายงานว่า ผลสำรวจจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้ พบประชาชนที่ทำงานในญี่ปุ่นทั้งหมดร้อยละ 45.5 นอนหลับโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน

สมุดปกขาวที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนนี้ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสำรวจร้อยละ 10 เผยว่านอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน ร้อยละ 35.5 นอนหลับคืนละ 5-6 ชั่งโมง และร้อยละ 35.2 นอนหลับคืนละ 6-7 ชั่วโมง

ผลสำรวจพนักงาน 10,000 คน พบราวร้อยละ 70 ของผู้นอนหลับตามปริมาณเวลาอันเหมาะสม ไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 40 ในหมู่ผู้นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 3-5 ชั่วโมง

ผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น พบร้อยละ 27.4 ของคนทำงานที่นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 4 ชั่วโมง และร้อยละ 38.5 ของคนทำงานที่นอนหลับน้อยกว่าปริมาณเวลาอันเหมาะสม 5 ชั่วโมง มีแนวโน้มป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลขั้นรุนแรง

กระทรวงฯ เสริมว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขชั่วโมงการทำงานอันยาวนานอย่างยิ่ง และช่วยให้คนงานมีเวลานอนหลับพักผ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อพวกเขาสามารถรักษาสภาพจิตใจให้แข็งแรงดีได้

‘นักธุรกิจอินเดีย’ แนะคนรุ่นใหม่ควรทำงาน ‘สัปดาห์ละ 70 ชม.’ เพื่อผลักดันให้ประเทศเติบโตและประสบความสำเร็จมากขึ้น

(7 พ.ย.66) นายนารายนะ เมอร์ธีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทอินโฟซิสต์ (Infosys) จากอินเดียและเป็นพ่อตาของนายริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้จุดกระแสถกเถียงบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากระบุว่า คนหนุ่มสาวควรทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย

แม้ผู้คนจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียแสดงความไม่พอใจต่อความคิดเห็นของนายเมอร์ธีย์ แต่กลุ่มผู้นำอุตสาหกรรมที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเห็นด้วยว่า การทำงานหนักอาจเป็นเรื่องจำเป็นหากอินเดียต้องการแข่งขันในเวทีโลก

“หากคุณต้องการเป็นหมายเลข 1 หากคุณต้องการดีที่สุด เช่นนั้นคนหนุ่มสาวก็ต้องทุ่มเททำงานหนักและอุทิศเวลาให้กับงาน” นายอายุชมาน กปูร ผู้ก่อตั้งเซโน (Xeno) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์จากอินเดีย ระบุ

อินเดียกำลังพยายามแข่งขันกับสหรัฐและจีน หากเราต้องการบรรลุความยิ่งใหญ่ ใช่ นั่นคือเวลาและสิ่งที่เราต้องเสียสละ” นายกปูร กล่าว

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ปัจจุบันชาวอินเดียทำงานเฉลี่ย 47.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ 36.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อังกฤษ ซึ่งอยู่ที่ 35.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเยอรมนี ซึ่งอยู่ที่ 34.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขณะเดียวกันชาวอินเดียยังทำงานมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีน ซึ่งอยู่ที่ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 42.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 36.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นายเมอร์ธีย์ ได้วิจารณ์คนรุ่นใหม่ในอินเดียที่รับพฤติกรรมไม่ค่อยน่าพึงปรารถนามาจากตะวันตก โดยเอ่ยว่า คนรุ่นใหม่อินเดียไม่ทำงานหนักมากพอ

“อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลิตภาพการทำงานต่ำสุดในโลก คนหนุ่มสาวของเราต้องพูดว่า นี่คือประเทศของฉัน ฉันต้องการทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” นายเมอร์ธีย์กล่าว

‘ญี่ปุ่น’ พบ ‘วัยทำงาน’ เกือบ 60% ไม่อยากร่วมฉลองปีใหม่ที่ทำงาน เหตุ ‘ไม่เห็นความจำเป็น-เหนื่อยใช้พลังงานเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคน’

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจทางออนไลน์จาก ชูฟู จ็อบ โซเก็น (Shufu Job Soken) สถาบันวิจัยเอกชนในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น พบว่าเกือบร้อยละ 60 ของผู้ใหญ่วัยทำงานในญี่ปุ่นไม่สนใจจะเข้าร่วมงานเลี้ยงปีใหม่กับเพื่อนร่วมงาน

การสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนสอบถามผู้หญิงและผู้ชายวัยทำงาน อายุ 20-50 ปีขึ้นไป จำนวน 559 คน เกี่ยวกับความเต็มใจจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำและกินดื่มกับเพื่อนร่วมงานเนื่องในวันปีใหม่ตามธรรมเนียม

ร้อยละ 57.4 เผยว่า ‘ไม่เต็มใจจะเข้าร่วมเลย’, ‘ไม่เต็มใจจะเข้าร่วม’ หรือ ‘ค่อนข้างไม่เต็มใจจะเข้าร่วม’ โดยคนอายุ 30 ปีขึ้นไป ครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ร้อยละ 63 ตามด้วยคนอายุ 20 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 55.9) คนอายุ 40 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 55.8) และคนอายุ 50 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 52.1)

สำหรับเหตุผลหลักของการไม่อยากเข้าร่วมงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้แก่ ‘ไม่เห็นความจำเป็น’ (ร้อยละ 48.4) ‘เหนื่อยกับการใช้พลังงานเพื่อมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเข้มข้น’ (ร้อยละ 46.8) ‘อยากให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว’ (ร้อยละ 46.5) และ ‘กังวลเกี่ยวกับการใช้เงิน’ (ร้อยละ 43)

อนึ่ง การสำรวจนี้ยังสอบถามถึงความจำเป็นของการมี ‘วัฒนธรรมงานเลี้ยงปีใหม่’ ในที่ทำงาน ซึ่งร้อยละ 62.1 มองว่า “ไม่มีความจำเป็น”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top