Saturday, 29 June 2024
วัฒนธรรม

'อัษฎางค์' แนะ!! การคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของประเทศต้นทาง ในประเทศของคุณ จะทำให้ประเทศของคุณ 'สวยงาม' และ 'เจริญรุ่งเรือง'

(26 ม.ค. 66) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกัมพูชาเริ่มมีการเคลมแรงจากประเทศไทยในระยะหลัง ว่า...

การคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของประเทศต้นทาง ในประเทศของคุณ จะทำให้ประเทศของคุณ 'สวยงาม' และ 'เจริญรุ่งเรือง'

ทำไมผมพาดหัวเรื่องแบบนี้ ?

ประเทศไทย เป็นชื่อเรียกประเทศไทยมานานเกือบ 78 ปี เท่านั้น โดยก่อนวันที่ 7 กันยายน 2488 เรามีชื่อประเทศว่า “ประเทศสยาม”

สยามคือชื่อประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ อาศัยปะปนกัน ทั้งจีน แขกอินเดีย แขกอาหรับ แขกมาลายู มอญ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สยามมีคนไทยเป็นคนส่วนใหญ่และเป็นใหญ่ในประเทศ

ซึ่งความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมนั้นหลอมรวมเป็นไทยในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น...

ตั้งแต่คนไทยเราเกิดมาและจำความได้ เราก็เห็นว่ามีวัดจีน การไหว้เจ้าแบบจีน อาหารจีน เครื่องแต่งกายแบบจีนในเมืองไทย แม้กระทั่งการใช้คำในภาษาจีนในชีวิตประจำ เช่น เรายังคงเรียก อาเฮีย อาเจ้ อากง อาม่า รวมถึงเรายังเรียกคนไทยแท้ ๆ ว่า อาเฮีย อาเจ้ ด้วยซ้ำ แต่เราไม่เคยประกาศว่านั้นคือ ศิลปวัฒนธรรมไทย เรายอมรับชัดเจนว่านั้นคือ ศิลปวัฒนธรรมจีน

เรากินพิซซ่า สปาเกตตี แฮมเบอร์เกอร์ ตั้งแต่เราจำความได้ แต่เราไม่เคยบอกว่านั้นคือ อาหารไทย เรายอมรับว่ามันคือ อาหารฝรั่ง

เรากินโรตี ซูชิ ตั้งแต่เราเกิดและจำความได้ แต่เราก็ไม่เคยบอกว่ามันคืออาหารไทย เรายอมรับว่ามันคืออาหารอินเดีย อาหารญี่ปุ่น

เวลาเราเรียนภาษาไทย โรงเรียนและตำราเรียนของไทยเราก็สอนเราว่า ภาษาไทยคำนั้น ๆ มีที่มาจากที่ใด เช่น มาจากบาลี สันสกฤต ขอม เขมรโบราณ เรายอมรับชัดเจน

แต่บางอย่าง มันถูกพัฒนาต่อยอดวิวัฒนาการ จนกลายเป็นไทย ซึ่งเป็นธรรมชาติของการพัฒนา

เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ทั่วโลกยอมรับว่ามันคือ อาหารไทย ที่โด่งดังและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งที่ก๋วยเตี๋ยวคืออาหารของจีน แต่คนทั้งโลกเข้าใจว่า ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย คืออารยธรรมจีนที่ถูกถ่ายทอดและต่อยอดกลายเป็นไทย โดยที่จีนไม่ต้องไปเคลมว่ามันคืออาหารจีนเพราะต้นกำเนิดมาจากจีน

แม้แต่ สปาเกตตี ราวิโอลี่ ยอกกี้ ซึ่งเมื่อก่อนคนทั้งโลกเคยเข้าใจว่าเป็นอาหารประจำชาติของอิตาลี ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยชาวอิตาลี แต่ความจริงมันคืออารยธรรมจีนที่ถูกถ่ายทอดและต่อยอดจนกลายเป็นอาหารอิตาลี

ศิลปวัฒนธรรมหรืออารยธรรมบางอย่าง ยังคงสภาพเป็นของชาติต้นทาง แต่ของบางอย่างถูกดัดแปลงต่อยอดพัฒนาจนกลายเป็นของอีกชาติ นั้นเป็นธรรมชาติของโลก

ไม่เคยมีคนจีนที่ชอบกินสปาเกตตีมาก แล้วประกาศว่ามันคือ ก๋วยเตี๋ยวของจีน ทั้งที่วัฒนธรรมกินเส้นถูกนำไปจากจีนสู่อิตาลีโดยมาร์โคโปโลแล้วต่อยอดวิวัฒนาการเป็นอาหารอิตาลีที่ทั่วโลกเคยยกย่องว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดและนิยมที่สุดในโลก

หรืออย่างเช่น กระดาษและดินปืน ซึ่งถือกำเนิดในประเทศจีน และถูกฝรั่งนำไปต่อยอดวิวัฒนาการ

จีนก็ไม่เคยเคลมว่า อารยธรรมเหล่านั้นเป็นของจีน เพราะจีนก่อกำเนิดและยิ่งใหญ่มาก่อน หรือเคลมสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของจีน แล้วก็เปลี่ยนชื่อเรียกสิ่งของเหล่านั้นไปเป็นชื่อจีน แล้วก็ประกาศว่ามันเป็นของจีน

แต่กัมพูชาชกมวยไทยและนิยมชมมวยไทย แล้วเอามวยไทยกลับไป โดยยังคงกติกาของมวยไทยไว้จนครบหมดสิ้น แต่เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาเขมรแล้วบอกว่ามันคือศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของตน เพราะจุดกำหนดมาจากบรรพบุรุษของตน มันคืออะไร

แบบนี้ จีน อียิปต์ อาหรับ เปอร์เซีย โรมันอิตาลี กรีก อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่อเมริกา คงเคลมศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมและอารยธรรมจากทั่วโลกได้มากมาย ว่าเป็นของตน แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกสิ่งของเหล่านั้นเป็นภาษาของตน โดยอ้างว่ามันมีที่มาจากจุดกำเนิดจากบรรพบุรุษของตน

คุณเคยคิดกันบ้างมั้ย ว่าญี่ปุ่นกับเกาหลี ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองและร่ำรวยกว่าจีนมากมายหลายเท่า มีรากเหง้าอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมของมาจากไหน จีนเคยออกมาเคลมหรือไม่ว่าทั้งหมดนั้นคือของจีน ทั้งที่อารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นกับเกาหลีมาจากจีนเกือบ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์

ครม.ไฟเขียว ชู ‘ผ้าขาวม้า’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก ยกให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

(1 มี.ค. 66) ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบการเสนอผ้าขาวม้า : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย ให้เป็นรายการตัวแทนต่อยูเนสโก ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งจะมีการยื่นเสนอต่อยูเนสโกภายในห้วงเดือนมีนาคม 2566

ผ้าขาวม้าที่ไทยจะนำเสนอยูเนสโกนั้น จัดเป็น ‘ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย’ ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ใช้โดยทั่วไป และใช้ได้สารพัดประโยชน์ในสังคมเกษตรกรรม ในชนบททางภาคเหนือและภาคอีสาน และก็ได้แพร่หลายไปยังภาคกลางและภาคใต้ ตามการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดชุมชนทอผ้าขาวม้าเป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่และขอบเขตอาณาบริเวณ คือ ทั่วประเทศ

แต่จังหวัดที่มีความโดดเด่นของการผลิต และการใช้ประโยชน์ของผ้าขาวม้า แยกตามภาค คือ

ภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์
ภาคอีสาน : นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี
ภาคกลาง : กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สุโขทัย
ภาคใต้ : สงขลา พัทลุง

สำหรับคุณสมบัติของผ้าขาวม้า ที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของ UNESCO ได้แก่

1.) เป็นผ้าที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่อดีต ทั้งในการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล เช่น ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ผ้าปูโต๊ะ ใช้ในพิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น
2.) เป็นภูมิปัญญาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติเนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยั่งยืน โดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่และใช้หมุนเวียนซึ่งจะเปลี่ยนหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยไปตามสภาพ
3.) เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมเนื่องจากเป็นผ้าทอพื้นฐานที่ใช้เทคนิคการทอที่ธรรมดาไม่ซับซ้อนจึงสามารถทอใช้กันเองได้ในครัวเรือนและชุมชน

มาตรการสงวนรักษาผ้าขาวม้า ในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ มี 4 แนวทางคือ

1.) โรงเรียนในท้องถิ่นหลายแห่งในไทยได้มีการสอนทอผ้าเป็นรายวิชาหนึ่งในหมวดของงานหัตถ์ศิลป์ท้องถิ่น

รมต.วัฒนธรรมร่วมงาน ITALIA GENIALE พลังสร้างสรรค์แบบอิตาเลียนเปล่งประกายวันนี้ ที่ ไอคอนสยาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีไซน์สุดออริจินัล ความงดงาม และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบอุตสาหกรรมอิตาเลียนซึ่งมีชื่อเสียงก้องโลกเดินทางมาสร้างความประทับใจให้ผู้คนที่เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ เจริญนคร ฮอลล์ ICONSIAM ชั้น M ระหว่างวันที่ 7 - 16 มีนาคม 2566 นี้

ITALIA GENIALE (อิตาเลีย เจนิอาเล่) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Brilliantly Italy" หมายถึง “อิตาลีที่เปล่งประกายสุกใส” เป็นกิจกรรมหลักของงาน Italian Design Day ครั้งที่ 7 มหกรรมงานดีไซน์ ที่จัด ขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 9 มีนาคมนี้ นิทรรศการน่าตื่นตาตื่นใจชุดนี้เดิมทีสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจัดแสดงในอิตาเลียนพาวิเลี่ยนที่งาน Expo Dubai 2020 โดยได้รับการ สนับสนุน จากกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี กระทรวงอุตสาหกรรมและโครงการ "Made in Italy" คณะกรรมาธิการการค้าอิตาลี (ICE) และสมาคมการ ออกแบบ อุตสาหกรรม (ADI) ทั้งนี้ โดยกรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นจุดหมายแห่งแรกของการทัวร์เอเชีย

พิธิเปิดนิทรรศการ ITALIA GENIALE จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ โดยได้รับเกียรติจาก พณฯเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย  มร.เปาโล ดีโอนีซี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กรบริษัทสยามพิวรรธน์ นางมยุรี  ชัยพรหมประสิทธิ์ ตัวแทนไอคอนสยาม ร่วมเป็นประธานในพิธี 

ในโอกาสเดียวกัน ได้มีการมอบรางวัลให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ชนะการประกวดออกแบบโลโก้สำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 155 ปีแห่งความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและอิตาลี ในปีนี้

‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ยื่นหนังสือถึง ‘ภูมิใจไทย’ ชงตั้ง ‘สภาศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรมแห่งชาติ’

(9 มี.ค. 66) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ได้รับหนังสือจากนายคฑาวุธ ทองไทย (อ.ไข่ มาลีฮวนน่า) ประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสภาศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันการตั้ง ‘สภาศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรมแห่งชาติ’ เป็นนโยบายพรรค

นายคฑาวุธ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ได้ก่อเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ระบาดทั่วทั้งประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก สร้างผลกระทบในหลายด้าน อาทิ การดำรงชีวิตการประกอบอาชีพด้านเศรษฐกิจ ทางสมาพันธ์ฯ ได้มีการจัดการประชุมระดมความคิดเห็นในการเสนอแนวทาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวของอาชีพที่เกี่ยวข้องทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม และเกิดความร่วมมือเป็นพลังในการพลิกฟื้นประเทศร่วมกัน

‘พปชร.’ รับเรื่อง ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ชงตั้งสภาศิลปะ-วัฒนธรรม หนุน กม.ดูแลสวัสดิการศิลปิน ชู ซอฟต์พาวเวอร์ เสริม ศก.

(10 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร กทม. ประกอบด้วย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรมสรเดช, นายนิธิ บุญยรัตกลิน, นายกานต์ กิตติอำพน, น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง, น.ส.บุณณดา สุปิยพันธุ์ และ น.ส.ชญาภา ปรีภาพาก รับหนังสือจาก กลุ่มสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย นำโดย  นายคฑาวุธ ทองไทย หรือ ‘อ.ไข่ มาลีฮวนน่า’ และสมาชิกเข้ายื่นหนังสือ เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ผลักดันการจัดตั้งสภาศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นนโยบายของพรรค เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการให้กับกลุ่มศิลปิน และยังเป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของพรรคในการส่งเสริมอาชีพศิลปิน และนักสร้างสรรค์ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทักษะทางศิลปะ การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งระบบ เป็นการสร้างเม็ดเงินอีกสาขาอาชีพหนึ่งของไทย

นายคฑาวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ทางสมาพันธ์ฯ มีเป้าหมายให้ภาคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับ อุตสาหกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพราะจะมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอม สร้างเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และสามารถนำคุณค่าทางศิลปะ และวัฒนธรรมมาเป็นพลังในการพัฒนานโยบายและพลังแนวรุกในการขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และการแก้ไขปัญหาทางสังคม

‘รัฐบาล’ ชวนร่วมงาน ‘ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์’ หนุน ยกระดับพิพิธภัณฑ์ - ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ

(29 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน 2566 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดงาน ‘ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์’ ที่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี พร้อมจัดกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีรูปแบบงานและกิจกรรม 8 ส่วนหลัก ได้แก่

1.) พิธีทางศาสนา ประกอบด้วย วันที่ 20 เมษายน 2566 พิธีบวงสรวงเทพยดา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ และ วันที่ 21 เมษายน 2566 พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ และพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง

2.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ ประกอบด้วย พิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ประดิษฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night Museum), การสาธิตอาหารไทยโบราณ ในรูปแบบตลาดย้อนยุค, การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand (CPOT) ของดี 50 เขต กทม. และจุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน

3.) สวนสันติชัยปราการ ประกอบด้วย การแสดงมัลติมีเดีย ‘ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์’ จัดแสดงอุโมงค์ไฟเรืองแสง ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2566 นิทรรศการสวนแสงจัดแสดงพระราชประวัติ 10 รัชกาล จัดฉายหนังกลางแปลง และการแสดงวงดุริยางค์จากเครือข่ายเยาวชนไทย

4.) หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ประกอบด้วย การประกวดภาพถ่ายกิจกรรมงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ สาธิต และจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และกิจกรรมชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

'ฮ่องกง' จัดงานเฉลิมฉลองคืนสู่มาตุภูมิจีนครบ 26 ปี ประชาชนร่วมชม 'ศิลปะ-วัฒนธรรม' สุดประทับใจ

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกวันสำคัญของชาวจีน-ฮ่องกง เพราะเป็นวันครบรอบ 26 ปีที่ฮ่องกงส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่มาตุภูมิของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน ซึ่งบรรยากาศตามถนนสายต่าง ๆ ในฮ่องกงยังคงเงียบสงบ และไม่ได้มีการวางแผนชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแต่อย่างใด

โดยในวันดังกล่าวได้มีพิธียกธงขึ้นเสาที่จัดขึ้น ณโกลเด้น โบฮิเนีย สแควร์ (Golden Bauhinia Square) ซึ่งมีนายจอห์น ลี ผู้นำฮ่องกงและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนเข้าร่วม

สำหรับการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 26 ปี การกลับคืนสู่มาตุภูมิของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน คณะผู้จัดงานได้เชื้อเชิญมณฑลส่านซี ซานตง และเหลียวหนิงของแผ่นดินใหญ่ของจีน พร้อมด้วยบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายแห่งในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า มาร่วมจัดนิทรรศการและการแสดงที่สวนสาธารณะวิคตอเรียพาร์กของฮ่องกง

งานดังกล่าวนำเสนอผลงานศิลปะโดดเด่นและกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลายรายการที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โซนนิทรรศการของมณฑลส่านซีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสวัฒนธรรมยุคราชวงศ์ถังโบราณของจีน

(บันทึกภาพวันที่ 30 มิ.ย. 2023)

รมว.พิพัฒน์ มอบนโยบาย สสปท ทำงานเชิงรุก เน้นสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันให้สังคมไทย

วันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สสปท.  ณ ห้องประชุมกองความปลอดภัยแรงงาน ชั้น 4 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน  

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  สสปท.เป็นองค์การมหาชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมความรู้ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับแรงงานทุกระดับ  โดยใช้งานวิชาการ จากการทำงานวิจัย การจัดทำมาตรฐาน และการพัฒนานวัตกรรม ในการทำงานเชิงรุก และนำไปสู่การสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย”ในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา สสปท.ได้เผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยและการจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยอบรมให้กับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัย จำนวนกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ จากสถานประกอบการ 6,000  แห่ง  จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย จำนวน 28 เรื่อง และงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพื่อต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติจำนวน  5 เรื่อง ซึ่งมีผู้สนใจดาวน์โหลดจากเวปไวต์ สสปท.มากถึง 5 แสนกว่าครั้ง             

“ภารกิจของ สสปท.เรียกได้ว่า มีบทบาทที่สำคัญกับสังคมไทยมาก ในการที่จะสร้างความตระหนักรู้ ปลุกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในการทำงานให้เกิดขึ้นในภาคแรงงานและสังคมโดยรวม  เพราะหากที่ไหนมีความปลอดภัย ที่นั่นย่อมลดการสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ และชีวิต” นายพิพัฒน์กล่าว

จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สสปท. โดยขอให้ สสปท.ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการ คุ้มครองสิทธิแรงงาน ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน นำไปสู่การลดสถิติการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานได้ในระยะยาว  และขอให้ สสปท. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมบูรณาการในการทำงานด้านความปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน ชุมชน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน ในการก่อให้เกิดความปลอดภัยเชิงป้องกันกับทุกภาคส่วนในสังคม

‘ฝรั่ง’ เฉลย!! ทำไมต่างประเทศถึงไม่มีการ ‘เรียกพี่ เรียกน้อง’ เพราะ ‘วัยวุฒิ-อยู่บนโลกมานาน’ ไม่สำคัญเท่า ‘การกระทำ’

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ผู้ใช้งานติ๊กต็อก ชื่อ ‘jpex.official’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอตอบกลับคอมเมนต์ที่เข้ามาถามว่า “ทำไมเพื่อนพ่อ หรือคนที่โตกว่าเรา ถึงเรียกเราว่าเป็นเพื่อนของเขาครับ? ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าที่ต่างประเทศเขาเรียกกันแบบไหนครับ”

เจ้าของช่องจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์ดังกล่าว โดยระบุว่า…

ทําไมฝรั่งถึงไม่มีคําว่า ‘พี่น้อง’?

วัฒนธรรม ‘พี่น้อง’ หรือว่าการเรียกผู้อื่นตามวัยวุฒินั้น จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นได้ในวัฒนธรรมของประเทศแถบเอเชียมากกว่าที่อื่นๆ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีคําว่า “มาก่อนเรียก พี่ มาทีหลังเรียก น้อง” เพราะทุกคนเท่ากันหมด

วัฒนธรรมของฝรั่ง เขาจะตั้งคําถามว่า “ทําไมเราจะต้องเคารพใครบางคน เพียงเพราะว่าเขาอยู่บนโลกนี้มานานมากกว่าเรา?”

ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นวัฒนธรรมที่แฟร์ดีเหมือนกัน เพราะมันคือการวัดคนจากการกระทํา ไม่ได้วัดจากวัยวุฒิ

เพราะฉะนั้น เวลาผมไปอยู่ที่อเมริกา พ่อของเพื่อนผม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนผม เด็กที่แคมป์ในอเมริกา ต่อให้เขาจะอายุแค่ 7-8 ขวบ ผมก็ถือว่าเขาเป็นเพื่อนผม หรือแม้แต่คุณลุงคนนึงที่ผมสนิทด้วยที่อเมริกา เขาก็คือเพื่อนผม

ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านี้มันก็ชวนให้ผมตั้งคําถามว่า “ถ้าหากสังคมไทยของเรานั้น เลิกคิดถึงแต่เรื่องของวัยวุฒิ และหันมาให้ความสําคัญผู้อื่นโดยวัดจากการกระทํา หรือตัวตนจริง ๆ ของคนคนนั้น สังคมไทยของเรา จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน?”

‘สื่ออาวุโส’ ชี้!! ‘คนไทย’ นี่แหละ Soft Power ที่คนญี่ปุ่นตระหนัก พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ ‘ปรับตัว-ประยุกต์’ สร้างโอกาสต่อยอดเก่ง

(26 ก.พ.67) เถกิง สมทรัพย์ สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…
 

สวัสดีบัดดี้… เวลาบัดดี้ไปญี่ปุ่น เคยเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Soft Power’ ของไทยในบ้านเมืองเขาไหม…

พี่มีข้อคิดสนุกๆ มาแลกเปลี่ยนกับบัดดี้และเพื่อนๆ ในเพจ ดังนี้…

1.) เราไปเที่ยวญี่ปุ่นเพราะต้องการเสพความสุขจาก Soft Power ของญี่ปุ่น ทั้งอาหาร สินค้า ทิวทัศน์ ฤดูกาล วัฒนธรรม ผู้คน ความทันสมัยของบ้านเมือง และวิธีการบริหารต่างๆ ของญี่ปุ่น

2.) Soft Power ของญี่ปุ่นบดขยี้จิตใจของคนไทยให้อ่อนไหว หลงรัก เสพติด และยินยอมตกเป็นทาสอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

3.) ไม่เพียงแต่คนไทยจะโบยบินไปเสพ Soft Power ถึงประเทศญี่ปุ่นแบบไปแล้วไปอีก เขาบอกว่ามีอะไรใหม่ๆ ก็ไปกันแล้วไปกันเล่า

4.) แม้แต่ในบ้านเมืองของไทย Soft Power ของญี่ปุ่นก็ยกทัพมาให้เราเสพถึงบ้าน…

5.) ในกรุงเทพ ในต่างจังหวัด ในอำเภอ ในตำบล ในหมู่บ้าน เราจะเห็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเต็มไปหมด ทั้งร้านอาหาร เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้… และคนไทยที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นกันมาแล้ว จะมีอยู่แทบจะทุกอำเภอในประเทศไทย

6.) ในทางกลับกัน Soft Power ของไทยในประเทศญี่ปุ่น… แทบจะหาไม่เจอ

7.) ร้านอาหารไทยแทบจะไม่มี ร้านนวดไทยไม่มี มีแต่สาวไทยไปบริการนวดในญี่ปุ่น ซึ่งมีแค่ในเมืองใหญ่ๆ

8.) ดาราไทย เพลงไทย หรือเพลงฝรั่งที่คนไทยร้อง… ไม่มีในญี่ปุ่น

9.) แม้คนญี่ปุ่นจะบินมาอยู่มาเที่ยวเมืองไทยมากมายหลายล้านคน แต่เขาไม่เคยขนเอา Soft Power ไทยกลับไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น อย่างที่คนไทยขนมาให้คนไทยด้วยกันเสพสุข

10.) แต่ แต่… ในอีกมุมหนึ่ง

11.) Soft Power ของไทย ที่คนญี่ปุ่นต้องการที่สุด คือ ‘คนไทย’

12.) เพราะคนไทยมี ‘อำนาจซื้อ’ มหาศาล… จับจ่ายใช้สอยกันอย่างมีความสุขในญี่ปุ่น

13.) ในเวลาเดียวกัน… คนไทยจำนวนมากได้ไอเดียทำมาหากิน ทำมาค้าขาย มาจากการไปเที่ยวญี่ปุ่น

14.) Soft Power ญี่ปุ่นที่มากระจายทั่วทุกถนนในเมืองไทย… ส่วนใหญ่ก็เพราะคนไทยมีความสนใจ ได้เรียนรู้ ใฝ่รู้ เสาะหา มาใช้ทำมาค้าขาย จนได้รับความสำเร็จ

15.) การไปญี่ปุ่นของคนไทยทุกคนคือ ‘ทัศนศึกษา’ คือ การเรียนรู้นอกห้องเรียน การซึมซับโลกาภิวัฒน์ในภาคปฏิบัติ

16.) การไปญี่ปุ่น สำหรับพี่แล้ว… เทียบเท่าการไปยุโรปหรืออเมริกา เพราะความเจริญในทุกด้านของญี่ปุ่นเหนือกว่าหลายประเทศในโลกนี้

17.) คนไทยเราได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาในญี่ปุ่น พี่ถือว่า นี่คือการไปเรียนเมืองนอกในแบบกระทัดรัด…

18.) คนไทยส่วนใหญ่ไปญี่ปุ่น กลับมาพร้อมกับโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และหลายคนได้ ‘แรงบันดาลใจมหาศาล’ มาพัฒนาตัวเอง

19.) และความเป็นคนไทยของเราที่มีจิตใจที่ ‘เปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ’ ทำให้เราซึมซับนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 

20.) เช่นเดียวกับ ความหลงใหลในเกาหลี, จีน, ยุโรป, อเมริกา ที่เรานำมาคลุกเคล้าในเบ้าหลอมขนาดใหญ่ที่มี ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’

21.) เหลือเพียงว่า เราจะก้าวข้ามไปถึงการนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ปรับใช้จนเป็นสินค้า Soft Power ที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองหรือไม่ 

22.) ดังเช่นการเข้ามาของ 7-11 ในยุคแรกๆ ส่งผลให้คนไทยนำรูปลักษณ์การค้าขายแบบนั้นไปประยุกต์ใช้จนเกิด ‘มินิมาร์ทของคนไทย’ ไปทั่วบ้านทั่วเมือง และสิ้นสุดยุคร้านค้าแบบ ‘โชว์ห่วย’... แม้เจ้าของร้านค่าส่วนใหญ่ในสมัยนั้นจะยังไม่เคยไปญี่ปุ่นเลย แต่เห็นระบบการบริหารจัดการของญี่ปุ่นผ่านร้านค้าอย่าง 7-11 

23.) ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่คนไทยได้รับโอกาสเดินทางไป… ญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น… และมีปรากฏการณ์เช่นนี้… พี่คิดว่าน่าพอใจมาก

คนไทยนี่แหละ คือ ‘Soft Power’ ที่แท้จริง…

เราจะส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ดูดซับความรู้ต่างๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองและสังคม ในเชิงบวกมากขึ้นไปอีกอย่างไร??


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top