Wednesday, 15 May 2024
วราวุธ_ศิลปอาชา

‘ก้าวไกล' สวน 'วราวุธ' ใช้เวที COP27 ฟอกเขียวเอื้อทุนใหญ่ ไม่จริงใจแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลก

(18 พ.ย. 65) นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นภายหลัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกลางที่ประชุมระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP27 ว่า ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสำคัญ ส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG  Economy) สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมถึงการกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 55% ของพื้นที่ประเทศเพื่อเพิ่มแหล่งเก็บก๊าซเรือนกระจกในปี 2037 โดยมีการจัดทำแนวทาง กลไกการบริหารการจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงปารีส

"สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีวราวุธ ประกาศต่อเวที COP27 เป็นวาทกรรมฟังแล้วชวนเคลิ้ม แต่สวยแต่เปลือกทั้งสิ้น เพราะข้างในไม่เคยมีประชาชนอยู่ในสมการ เป็นเพียงการฟอกเขียวที่มีผลประโยชน์ของนายทุนซ่อนอยู่เป็นเนื้อในทั้งสิ้น และท้ายที่สุดจะไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดต่อสภาพภูมิอากาศโลกหรือมลพิษทางอากาศของไทยเลย"

ทั้งนี้ นิติพล ชี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตทางภูมิอากาศในหลายมิติ รวมถึงมลพิษทางอากาศจากการเผาพื้นที่เกษตรในภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน โดยมีฝุ่นพิษลอยข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นผลมาจากการปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่ทางการเกษตรต่าง ๆของไทยทำธุรกิจได้อย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยไม่มีการผลักดันทางกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือคนไทยทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ต้องป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด จากการสูดฝุ่นพิษ P.M.2.5 จากการเผาไหม้

'วราวุธ' ยกผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชู!! 'วิธีคิด-ปรับตัว' สร้างแรงขับเคลื่อนแก่ภาคการเกษตร

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 66 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้เกียรติบรรยายให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 4 ซึ่งจัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิเกษตราธิการ และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ในประเด็น ‘ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับด้านภาคเกษตรไทย’ เน้นย้ำ การปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้อย่างยั่งยืน

นายวราวุธ ได้กล่าวถึง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 19 ของโลก ซึ่งมาจากภาคการเกษตรกว่า 56.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) โดยทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC ซึ่งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทั้งด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการ Thai Rice NAMA ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF เสนอต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว 

ในด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก มีการส่งเสริมการปลูกป่าและแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ด้านการค้า/การลงทุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM registry และต้องยื่นขอสถานะ CBAM declarant ก่อนนำสินค้าเข้าไปยัง EU รวมถึงในด้านกฎหมาย ที่จะเร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (18 ส.ค.66) เป็นต้นไป เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ได้ฝากถึง ผู้บริหารระดับสูงในภาคการเกษตร ทุกท่าน ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ รวมถึงเครือข่าย ความร่วมมือต่าง ๆ ที่ทุกคนมี ให้ช่วยกระตุ้นภาคการเกษตร ให้ร่วมปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ สร้างแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

‘ยูนิเซฟ’ จับมือ ‘พม.’ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘สงสัยไว้ก่อน’ เตือน ‘เด็ก-เยาวชน’ รู้ทันภัยการล่วงละเมิดทางเพศผ่านออนไลน์

(8 พ.ย.66) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘#สงสัยไว้ก่อน’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก ‘คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน’ ก่อนจะโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในประเทศไทยจำนวนมากกำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

จะดีกว่าไหม? หากเราตั้งข้อสงสัยในบทสนทนาแปลก ๆ บนโลกออนไลน์ และคงจะดีกว่าถ้าเราสามารถประเมินความเสี่ยงและฉุกคิดทันก่อนที่จะสายเกินไป เพียงแค่เรา #สงสัยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดีที่หวังแสวงประโยชน์ และ #สงสัยให้แจ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอให้เชื่อมั่นว่า หากเราเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ อย่าเก็บไว้คนเดียว ทุกปัญหามีทางออก มีความช่วยเหลือรอเราอยู่เสมอ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงานหยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12 - 17 ปี กว่า 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ

นายวราวุธ กล่าวว่า “แคมเปญนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระทรวง พม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันเรายังมีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงานการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้อย่างทันท่วงที” นายวราวุธ กล่าว

‘วราวุธ’ เร่งประสาน 'กต.-สตช.' ช่วยคนไทยในเล่าก์ก่าย เผย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนยืนยันตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบ

(14 พ.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการช่วยเหลือคนไทย 162 คนในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา นายวราวุธ กล่าวว่า ในขณะที่ทางกระทรวง พม. ได้ประสานงานทั้งกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยืนยันจำนวนตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และทางกระทรวง พม. เองได้มอบค่าเดินทาง และค่าเยียวยาให้กับผู้ไร้ที่พึ่งพิง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูในมิติอื่นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ และประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศและ สตช. จะมีการประชุมร่วมกับกระทรวง พม. ในการหาแนวทางการช่วยเหลือคนไทยทั้งหมดที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

‘วราวุธ’ สั่ง พม. เข้าดูแลเคสทัวร์กามเด็ก 15 ที่พัทยา  ชี้!! เร่งดำเนินคดีผู้กระทำผิด - เยียวยาผู้เสียหาย

(7 ธ.ค. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสื่อเยอรมันตีข่าวทัวร์กามเด็ก 15 ที่พัทยา ในส่วนของ พม.จะดำเนินการอย่างไรในมุมป้องกันและช่วยปราบปราม ว่า เบื้องต้นเวลามีการดำเนินคดีในลักษณะการค้าประเวณีเด็ก หลักคือ ต้องพึ่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมดำเนินคดี 

ในส่วนของ พม. ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เราจะเข้าไปดูว่าผู้เสียหายได้รับผลกระทบอย่างไร ต้องการการเยียวยาอย่างไร หรือมีปัญหาทางบ้านอย่างไรจึงได้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น รวมถึงการฝึกฝนอาชีพ หรือการนำกลับเข้าสู่ระบบในการเสริมศักยภาพของแต่ละกรณี เป็นสิ่งที่ พม.ดูแล และหากเกิดช่องโหว่ในจุดใด ทาง พม.เองพร้อมที่จะเยียวยาผู้ที่เสียหาย ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย หรือครอบครัวในทุก ๆ มิติ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกนั้น ตนคิดว่าสิ่งที่จะแก้ไขข่าวคราวเช่นนี้ได้คือ ให้มีการดำเนินคดีและมีข่าวออกมาเพื่อเผยแพร่ให้ทราบ เพราะเมื่อมีการกล่าวหาเราก็ต้องทำให้เห็นว่าการดำเนินการของแต่ละฝ่ายในส่วนของรัฐบาลไทยได้ดำเนินการอะไรบ้าง เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ พม.ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง ไปจนระดับปฏิบัติงานในท้องถิ่น เราดำเนินการเต็มที่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวต่างชาติจะให้ความสำคัญการท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องแบบนี้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เชื่อว่าในทุกประเทศย่อมจะมีจุดที่เป็นการบริการในเชิงนี้ แต่อะไรที่ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนแน่นอน แต่บางครั้งคนชอบนำจุดที่เป็นประเด็นขึ้นมาขยาย คิดว่าประเทศไทยของเรายังมีข้อดีอีกมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่เป็นจุดเชิดหน้าชูตาของประเทศ ส่วนจุดที่ยังเป็นจุดด้อยนั้น เราจะต้องแก้ไขปัญหา คิดว่าทุกหน่วยงานกำลังเร่งแก้ปัญหากันอย่างเต็มที่

'วราวุธ' ชี้!! 'ไทย' ก้าวสู่ภาวะเสี่ยงจากปัญหาโครงสร้างประชากร  'เด็กเกิดใหม่น้อย-วัยแรงงานลด-สูงวัยเพิ่ม' ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว

(12 ม.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 'ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย' ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารโลก วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นายวราวุธ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่ค่อยตระหนักรู้ ว่าปัญหาโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยนั้นหนักหนาเพียงใด ซึ่งต้องขอขอบคุณปลัด พม. เพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือ คลื่นลูกใหญ่ที่มีความหนักหนาไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ

นายวราวุธ กล่าวว่า อีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะจะเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยทั้ง 65 ล้านคนในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม จุดยืนของประเทศไทย ศักยภาพทางการค้าของประเทศไทย จะอยู่ที่ตรงไหน 

เหล่านี้คือ ปัญหาที่อีกไม่นานเกินรอพวกเราคนไทยจะได้รับรู้ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงพม. และผู้เชี่ยวชาญ ต้องมากระตุกต่อมให้คนไทยได้รับรู้ก่อนว่ามันคือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ไม่แพ้อีกหลายๆ ปัญหา 

นายวราวุธ กล่าวว่า สถาบันอนาคตไทยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นมีความท้าทายต่อการพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก ประชากรน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น แล้วใครจะมาเป็นคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าสำนักงบประมาณ ตนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเงินเข้าไม่มี เพราะจากคนเสียภาษีในประเทศไทย 65 ล้านคน เสียภาษีอยู่ 4.5 ล้านคน แล้วจะเอาเงินจากไหน ดราม่าก็บังเกิด แต่นี่คือเรื่องจริง และเป็นสิ่งที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเป็นตัวกระทบและกำหนดนโยบายทางด้านสังคม สวัสดิการ และเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

นายวราวุธ กล่าวว่า "วันนี้เรามีอัตราเด็กแรกเกิดที่น้อยลง อีกไม่นานปัญหาเรื่องแรงงานก็จะเข้ามา ในขณะที่ผู้สูงอายุหรือ ผู้มากประสบการณ์ ก็จะมีมากขึ้น คนใช้สวัสดิการมากขึ้นแต่คนเอาเงินเข้ากองทุนน้อย แล้วเราจะเอาคนกลุ่มไหนมาจ่ายเงินให้กับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพราะแหล่งรายได้เดียวของประเทศ คือภาษี ในเมื่อคนทำงานน้อยลงแล้วเราจะเอาใครมาจ่าย วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. 

"ดังนั้นงบประมาณปี 2568 ต้องเป็นกรอบงานของกระทรวง พม. เราจะต้องเปลี่ยนบริบท การทำงานของกระทรวงไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่มีหน้าที่สร้างศักยภาพให้กับคนกลุ่มเปราะบาง คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์ คนพิการ"

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า "คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์นั้นก็มีแบ่งช่วงได้ 3 ช่วง ต้น กลาง ปลาย แต่ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ 60-75 ปี ยังมีทั้งกำลังกายและกำลังสมอง เหลือเพียงอย่างเดียวคือกำลังใจที่จะเข้ามาทำงาน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราในการสร้างความตระหนักให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐ เพราะ พม. เพียงกระทรวงเดียวทำงานไม่ได้ต้องร่วมมือ กับกระทรวงแรงงาน มหาดไทย หน่วยงานราชการต่างๆ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนขอบคุณปลัดพม.ที่ได้เซ็นต์ MOU กับกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประกอบด้วย 5 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ ตนจึงอยากให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2567 และในปีงบประมาณ 2568 ตนฝันไว้ว่า พม. กับ อว. เซ็นต์ MOU กับ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แล้วทำให้ผู้พิการปีละกว่าแสนคนได้มีงานทำขึ้นมา นี่คือการทำให้คนกลุ่มเปราะบางเป็นคนไม่เปราะบางอีกต่อไป 

”คนกลุ่มเปราะบาง คนพิการ หรือผู้สูงอายุ ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่เราต้องหาโอกาสให้เขา และนำคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะบอกว่าอายุมากแล้ว เกษียณแล้ว แล้วยังต้องจับมาทำงานอีกหรือ ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คงใช่ เพราะไม่มีใครทำงานแล้ว แต่ถ้าเทียบกับบางประเทศในยุโรปหลายคนคงทราบว่าเขาเจอปัญหานี้แล้ว รัฐสวัสดิการในบางประเทศที่ดูแลดีมาก คนเจ็นวาย ที่เป็นคนจ่ายเงินภาษีอย่างมหาศาล 30-40% บอกว่าฉนไม่ทำแล้ว ขอรีไทร์ดีกว่าเพื่อไปใช้รัฐสวัสดิการ หากทุกคนรีไทร์ไปหมดแล้วใครจะทำงาน นำเงินมาเข้ากระเป๋าภาครัฐ” นายวราวุธ กล่าว

“ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นต่อม ความตระหนักรับรู้ ให้สังคมได้เข้าใจว่าปัญหาที่เรากำลังจะพบเจอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ใช่เพียงปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อย ไม่ใช่เพียงแต่จะทำให้เด็กเกิดใหม่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาล แค่นั้นไม่พอ การที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความอยากที่จะมีครอบครัว มีความอยากมีลูกมีผู้สืบสกุลต่อไป แต่ต้องพูดถึงสังคมที่มีความอบอุ่น สังคมที่มีความ มีการศึกษาที่ดี เติบโตขึ้นมาแล้วจะเป็นบุคลากร เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่สำคัญ เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ครบ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าเจนไหน อยากมีลูกกันทั้งนั้น อยากมีผู้สืบสกุลต่อไป คงไม่มีใครอยากให้ครอบครัวเราจบที่รุ่นเรา เรื่องประชากรอย่าให้จบที่รุ่นเรา อย่าง ศิลปอาชา ของผมตอนนี้มี 3 คนแล้ว ดังนั้นปลอดภัย ศิลปอาชา ยังมีต่อ สำหรับครอบครัวอื่นเราต้องมาสร้างความเข้าใจและให้กำลังใจกัน ปัญหาประชากรจะแก้เมื่อเกิดขึ้นแล้วคงไม่ทัน ต้องแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิด ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือเรากำลังจะมาป้องกันไม่ให้ปัญหาโครงสร้างประชากรกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพของประเทศไทยบนเวทีโลก“ นายวราวุธ กล่าว

‘วราวุธ’ เศร้า!! เด็ก ม.2 ก่อเหตุสลดแทงเพื่อนดับ ยัน!! ขอฟังชัด ผู้ก่อเหตุเป็น ’เด็กพิเศษ’ หรือไม่

(29 ม.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กนักเรียน ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านพัฒนาการ 26 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง ทำให้มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย ว่า เบื้องต้นได้ทราบว่ามีเหตุเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง เป็นเด็กชั้น ม.2 แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเด็กพิเศษ หรือไม่ ข้อมูลเบื้องต้นทราบเพียงว่า เด็ก ม.2 ต่างห้องเรียนกัน แทงกัน ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเด็กที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะส่งสหวิชาชีพเข้าประสานงานกับทางโรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานในพื้นที่ต่อไป

“ผมขอฝากพี่น้องประชาชนที่บริโภคข่าว ในขณะนี้อย่าเพิ่งเร่งตัดสินว่าเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กพิเศษ ขอให้ฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพราะขณะนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร แต่อย่างไรก็ตามผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ครั้งนี้” นายวราวุธ กล่าว

'ชทพ.' หนุน 100% ยื่นญัตติด่วนถวายอารักขาขบวนเสด็จฯ  ชี้!! ถ้าอยากเรียกร้องรักษาสิทธิ ก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น 

(12 ก.พ.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมเสนอญัติด่วนเกี่ยวกับเรื่องการถวายอารักขาขบวนเสด็จ ว่า…

ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าว่าแต่ในประเทศไทยเลย เพราะในทุก ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ขบวนของประธานาธิบดีจะมีการอารักขา มีการปิดถนนอย่างแน่นหนามาก หากมีผู้ใดแทรกแซงเข้ามา ซึ่งตนเองเคยเห็นกับตา บวกกับในสารคดีก็จะเห็นว่าบุคคลผู้นั้น หรือยานพาหนะนั้น จะถูกปาดจนตกถนน หรือโดนล็อกตัวออกไป ดังนั้นประเทศไทยก็เช่นกัน การถวายอารักขาให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรานั้น ตนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

“พรรคชาติไทยพัฒนาทำงานไม่ได้หลับหูหลับตา เราเห็น เราสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการทำงานถวายพระบรมวงศานุวงศ์ ในสถาบันนั้น ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนเพียงใด ดังนั้นบางครั้ง การที่เราจะเรียกร้องให้มีการรักษาสิทธิของบุคคลต่าง ๆ นั้น แต่ละคนก็ต้องเข้าใจในการที่จะไม่ละเมิดสิทธิคนอื่นเช่นกัน ดังนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาเราสนับสนุนญัตตินี้ร้อยเปอร์เซ็นต์” นายวราวุธ ระบุ

'วราวุธ' เผย 'พม.' ส่งเสริมคนไทย 'ก้ม-กราบ-กอด' 14 ก.พ.นี้  แสดงความรักต่อผู้ใหญ่ แบบไม่ต้องสนใจสายตาต่างชาติ

(13 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการจัดงานวันวาเลนไทน์ในวันพรุ่งนี้ ว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานเขตบางซื่อ จะร่วมกันจัดกิจกรรมให้คู่รักจดทะเบียบสมรส และจะมีของที่ระลึกมอบให้กับผู้มาร่วม ที่ลานกิจกรรมชั้น 1 ศูนย์การค้าเกทเวย์ บางซื่อ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสตรีและเด็ก โดยเฉพาะในเด็ก เพราะการที่แต่ละคนจะมีครอบครัวนั้น ต้องมาจากความรักและการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้หลักในการครองเรือนกัน ในวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่ชายหญิงแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศสภาพใด การมีหลักคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ พม. จะแนะนำในวันแห่งความรัก ตนขอฝากว่า ไม่ว่าจะรักใครก็แล้วแต่ต้องรักตัวเองก่อน ดูแลตัวเองให้มาก และเอื้อเฟื้อความรักเหล่านั้นให้กับคนรอบข้าง 

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เรายังมีกิจกรรมที่จัดโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ชื่อว่า 'รักที่สื่อสารได้ในทุกวัน ด้วยการก้ม กราบ และกอด' เพราะเมื่อเวลาพูดถึงความรักเราไม่ได้พูดถึงแค่คนสองคน แต่เรายังพูดถึงการมีความรักต่อบุพการีหรือผู้ใหญ่รอบข้าง 

"การก้ม การแสดงตามวิถีไทย เวลาเด็กเดินผ่านผู้ใหญ่ ก็ต้องก้มโค้งตัวลง ซึ่งเป็นประเพณีที่ดีงามของคนไทย ท่ามกลางกระแสที่เปลี่ยนไป ต่างชาติจะเป็นอย่างไร ต้องเรียนว่าผมไม่สนใจ แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่นั้น เป็นสิ่งที่เราควรดำรงคงไว้คือการก้ม" นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การกราบ เป็นอีกเรื่องที่แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่อย่างดีที่สุด หากวันนี้ ยังมีญาติผู้ใหญ่กล่าวได้ก็อยากให้กราบท่าน เป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อผู้มีพระคุณ ประเด็นสุดท้ายคือการกอด หากหลายคนยังมีคุณพ่อ คุณแม่ มีผู้ใหญ่ให้กอดได้ ขอให้กอดท่านไว้กล่าวว่าเป็นการแสดงความอบอุ่น รวมทั้งเป็นการดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นนโยบายรักที่สื่อสารได้ทุกวัน

'วราวุธ' ประกาศนำ 'ข้าราชการ พม.' แต่งกายสีม่วง พรุ่งนี้ 'แสดงพลัง-ถวายกำลังใจ' แด่ 'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

(14 ก.พ. 67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า…

"ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตนพร้อมเพื่อน ๆ ข้าราชการทุกคนของกระทรวง พม. เราจะพร้อมใจกันเข้าร่วมในพิธีถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการแต่งกายโทนสีม่วงทั้งกระทรวง เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่กรมสมเด็จพระเทพฯที่พวกเรารัก และเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย"

นายวราวุธ กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ให้ทุกคนได้เห็นพี่น้องประชาชนคนไทยหลายสิบล้านคน เรายึดมั่น เราเชื่อมั่น และศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ดังนั้นเราจะไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้ใคร หรือคนกลุ่มใด และไม่ว่าใครก็แล้วแต่ มาดูหมิ่น หรือคิดในสิ่งที่ไม่ดีต่อสถาบันอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top