Monday, 10 June 2024
วราวุธ_ศิลปอาชา

🔎ส่อง 6 ผลงาน ‘รมว.ท็อป’ แห่ง พม.

รมว.ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ตลอดการเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวง พม. ภายใต้รัฐบาล ‘เศรษฐา 1’ ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนไทย ได้แก่

✨โครงการ 'ปฏิบัติการคนไทยไม่ไร้ที่พึ่ง' ช่วยเหลือคนไร้บ้าน พัฒนาครัวเรือนเปราะบางในภาวะวิกฤต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยดำเนินงานเชิงรุกผ่านศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ตลอด 24 ชม.

✨เบี้ยเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า ดูแลตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี จำนวน 2,288,337 ราย รับเงินอุดหนุน 600 บาท และขยายจาก 6 เดือน ถึง 3 ปี มาเป็น 3 เดือนจนถึง 3 ปี

✨ปรับเบี้ยผู้สูงอายุโดยจ่ายแบบขั้นบันไดถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาททุกคน เบี้ยคนพิการ 1,000 บาท (เดิม 800 บาท) ตอบแทน ผู้ช่วยฯ ชม.ละ 50 เป็น 100 บาท

✨สร้างบ้านมั่นคงเฟสใหม่ ได้แก่ 1.ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา 2.น้อมเกล้า 3.ทรัพย์สินเก่าใต้ แนวคิด 'บ้านมั่นคงชุมชนเข้มแข็งใต้ร่มพระบารมี' บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

✨แถลงผ่าน Asia Pacific Population Conference (APPC) ครั้งที่ 7 เรื่องประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรับมือสู่สังคมสูงวัยและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

✨สนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ด้วยการบริการล่ามภาษามือทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดข่าวสารจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘รมว.ท็อป’ ชี้!! ไทยขาดแคลน ‘ล่ามภาษามือ’ จำนวนมาก เร่งเปิดหลักสูตรอบรม-ผลักดันมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว

(1 เม.ย.67) ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ครั้งที่ 4/2567 ประจำเดือนเมษายน ว่า ปัจจุบันพบว่า ‘ล่ามภาษามือ’ ขาดแคลนมาก ไม่เพียงพอกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย จากเดิมที่มีการจดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552 - 2560 จำนวน 659 คน 

แต่ปัจจุบันพบว่า ล่ามภาษามือที่จดแจ้งมีจำนวน 178 คน โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และยังพบว่าทั่วประเทศ มีล่ามภาษามือ อยู่ 41 จังหวัด และไม่มีล่ามภาษามือ 36 จังหวัด และยังพบว่าปัจจุบันล่ามภาษามือมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มากที่สุด 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพ 69 คน นนทบุรี 28 คน นครปฐม 16 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดย การจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และการให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือแท็ปเล็ต ได้แก่ 1. TTRS Video บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอ และ 2. TTRS Live Chat บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความ รวมถึงบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารเป็นคนกลางในการสื่อสารภาษามือระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้รับปลายทาง (คนหูดี) 

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ( 25 กันยายน 66) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ออกประกาศ กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน เพื่อขอรับการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน ได้แก่ 

1. กรณีผู้รับการจดแจ้งรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชน ต้องสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาก่อน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบภาคทฤษฎี 30 ภาคปฏิบัติ 70 ผู้สอบต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 

2.กรณีการต่ออายุการจดแจ้งของผู้ที่เคยเข้ารับประเมินความรู้และทักษะ โดยผ่านการสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อน และให้มีรายงานผลการปฎิบัติงานที่ผ่านมา หรือเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมตามหลักสูตร หลักเกณฑ์ และวิธีที่คณะอนุกรรมการกำหนด

นายวราวุธ กล่าวว่า และก่อนหน้านั้น (9 สิงหาคม 66) กรม พก. ได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือเรื่อง กำหนดให้การบริการล่ามภาษามือในบริการอื่นใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติกรณีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีความจำเป็นต้องใช้ล่ามภาษามือหูหนวก และล่ามภาษามือหูดี ในการแปลควบคู่กัน ให้จ่ายค่าตอบแทนต่อคน โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว 

นายวราวุธ กล่าวว่า คนพิการทางการได้ยิน หรือ ผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอรับบริการล่ามภาษามือ เพื่อการติดต่องานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน, การขอทำใบขับขี่หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ตามกฎหมาย, การจัดทำนิติกรรม สัญญา และการขออนุมัติหรือขออนุญาตเรื่องต่าง ๆ, การขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย การให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การยื่นคำฟ้องหรือคำให้การในชั้นศาลในฐานะเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยานบุคคล, การฝึกงาน ฝึกสอน สอบวัดผล เฉพาะกรณีที่ไม่ใช่การจัดบริการในสถาบันการศึกษา

นายวราวุธ กล่าวว่า หากถามว่าต้องมีจำนวนล่ามภาษามือกี่คนจึงจะเพียงพอต่อการให้บริการ นั้น ต้องมีการพิจารณาเสนอขอกรอบอัตราล่ามภาษามือประจำศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นอาจกำหนดและผลักดันให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน โดยอย่างน้อยหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนควรจะมีล่ามภาษามือไว้สำหรับให้บริการคนพิการ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งสิ้น 423,973 คน ซึ่งฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 พบว่า กทม. มี 22,884 คน ภาคกลางและตะวันออก มี 84,350 คน ภาคอีสาน มี 162,456 คน ภาคใต้ มี 55,020 คน 

อย่างไรก็ตามทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชน ไว้ว่าคนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับคำถามที่ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะผลักดันอย่างไรเพื่อแก้ไขวิกฤตขาดแคลนล่ามภาษามือ นั้น 

1. ระยะเร่งด่วน ประสานงานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือ 

2. ระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้รับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่างภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการ โดยอาจแบ่งระยะเวลาการเรียนและการปฎิบัติงานจริงเป็นช่วงเวลา และประสานกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลน รวมทั้งการมีค่าตอบแทนพิเศษ ให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ 

3. ระยะยาว ให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

4. การพัฒนาร่างภาษามือโดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทดแทน

‘วราวุธ’ ส่ง ทีม พม. รุดช่วย ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ที่คลองเตย เตือน!! ช่วงนี้อากาศร้อน ระวัง ‘ฮีทสโตรก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’

(27 เม.ย. 67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนพัฒนาใหม่ (ชุมชนคั่วพริก) เขตคลองเตย เมื่อค่ำวันที่ 26 เม.ย.67ที่ผ่านมา ว่า 

ตนต้องขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องในชุมชนพัฒนาใหม่ที่เกิดเหตุไฟไหม้กับความสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้น ตนได้ให้กองคุ้มครองฯศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมกิจการผู้สูงอายุ อพม.เขตคลองเตย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพม. ให้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ และดูว่าพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งทุกหน่วยงาน ทีมงาน อพม.ในคลองเตย และผู้บริหารของกระทรวง พม. จะได้ลงพื้นที่เข้าทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนที่พี่น้องประชาชนคงสังเกตได้ว่ามันร้อนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงขอให้กลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ ระมัดระวังเรื่องสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะฮีทสโตรก หมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ และขอให้อยู่ในที่ร่ม ดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เพราะอุณหภูมิที่สูงมากในขนาดนี้บางครั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็น พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ อาจจะร้อนจนเกินไปทำให้ระบบไฟฟ้าร้อนมากจนเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้อย่างที่เราได้เห็นหลายๆข่าว ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ชุมชนพัฒนาใหม่นั้น ก็ต้องรอดูสาเหตุอีกครั้งว่าเกิดจากเหตุใด ต้องขอฝากความห่วงใยให้กับพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว ให้มีความปลอดภัยหากมีสิ่งใดที่กระทรวงพม. จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้เราจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ และขอให้แจ้งมาที่ สายด่วน 1300 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSECตลอด 24 ชั่วโมง

‘วราวุธ’ เผยในเวทีอภิปรายระดับโลก รมต.ลาตินอเมริกา ชื่นชม ประเทศไทย ที่กล้าออกกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นประเทศแรก ในกลุ่มประเทศอาเซียน

(1 พ.ค. 67) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้แทนไทย  ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเช้าได้ร่วมการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับผลการประชุม ข้อค้นพบสำคัญ และข้อเสนอแนะจากการประชุมว่าด้วยประชากรและการพัฒนาระดับภูมิภาค โดยร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีจากประเทศคองโก มอลโดวา โบลิเวีย และซีเรีย

นายวราวุธ กล่าวว่า ในเวทีการอภิปรายระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนภูมิภาคต่างๆ ตนเองจะขึ้นเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไม่เฉพาะเป็นตัวแทนของประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวแทนของกว่า 70 ประเทศที่มีประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก โดยตนเองได้พูดถึงปัญหาว่ามีอัตราการเกิดของเด็กใหม่น้อย มีการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น ในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรามีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กแรกเกิด  การดูแลสุภาพสตรีช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละประเทศมีการนำเสนอแนวคิดต่างๆ มากมาย และที่สำคัญได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ 

ซึ่งมีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาคนหนึ่งถามว่าจริงหรือไม่ที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ตนเองได้บอกว่าปลายปีนี้ เราได้จะเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวแสดงความชื่นชมและทึ่งในความสามารถและความกล้าหาญของประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

‘วราวุธ’ เผย ต่างชาติชื่นชม ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ ยกย่องเป็นประเทศตัวอย่างที่ ‘ทันสมัย-ก้าวหน้า’

(7 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ตนและคณะผู้แทนไทยเพิ่งกลับจากการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) ที่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยการเดินทางไปครั้งนี้ ได้มีการเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ในนามของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนานาอารยประเทศ 

การที่เราได้มีโอกาสนำเสนอต่อห้องประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยของเราได้ดำเนินการด้านใดไปแล้วบ้าง และมีแผนจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในส่วนของห้องประชุมใหญ่และการประชุมย่อยนั้น ได้รับการตอบรับและทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติประชากรนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่การเพิ่มประชากร แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ภาพใหญ่ และการแก้ปัญหาสังคม และหลาย ๆ เรื่องรวมกันนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน เป็นภารกิจของทุกกระทรวงจะต้องดำเนินการ

นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ มีรัฐมนตรีจากลาตินอเมริกาได้สอบถามถึงประเทศไทยของเรานั้นจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งตนได้ยืนยันกับรัฐมนตรีคนดังกล่าวไปว่า ภายในไม่เกินปลายปีนี้ ประเทศไทยของเราจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้งานแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีคนดังกล่าวถึงกับทึ่งและแสดงความชื่นชมว่าเป็นความก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าในมิติสังคมของประเทศไทย เราทำงานและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดเลย

‘วราวุธ’ ย้ำ!! จุดยืน 'ชทพ.' ถึงร่าง 'พ.ร.บ. นิรโทษกรรม' ต้องไม่มีเรื่อง 'ม.112-อาญาร้ายแรง-คอร์รัปชัน'

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง การศึกษาแนวทาง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้ส่งนายนิกร จำนงค์ เป็นตัวแทน และตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม ซึ่งตามนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะต้องไม่มี 3 เรื่อง คือ...

1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 
2. ไม่เกี่ยวข้องกับอาญาที่ร้ายแรง
และ 3. ไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

ส่วนกรณี ที่มีความเห็นจากหลายพรรคการเมืองต้องการให้บรรจุ คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วยนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปและเป็นเรื่องปกติ ที่หลายฝ่ายจะมีความคิดและข้อเสนอที่หลากหลาย แต่ยังไม่มีการลงมติหรือบทสรุปใด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top