Monday, 6 May 2024
ระนอง

ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน มาตรการรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ประเทศเมียนมาร์ ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก นำคณะผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ประกอบไปด้วย พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ เสนาธิการกองทัพบก ,พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 ค่ายรัตนรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตามสายงาน ผลการปฏิบัติงานความรับผิดชอบตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านฝั่งเมียนมาร์ และประชุมสรุปแผนการเตรียมการปฏิบัติในการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ เพื่อให้ทุกส่วนได้เตรียมความพร้อม รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เมียมาร์ ตามหลักมนุษยธรรมโดยใช้พื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นพื้นที่แรกรับ คัดแยก และดูแลจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลักดันกลับประเทศตามช่องทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ กรณีมีผู้ได้รับผลกระทบอพยพจากสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาร์เข้ามายังฝั่งไทย ว่ากองทัพภาคที่ 4 ด้วยความรับผิดชอบของกองกำลังเทพสตรี ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งทุกพื้นที่ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา โดยได้มีการจัดเตรียมพื้นที่แรกรับและพื้นที่พักรอชั่วคราวไว้ในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ของจังหวัดระนอง และชุมพร พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ระนอง - จับกุมขบวนการนำพาคนต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม. ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความ เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติ ที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุเมธ เมฆขจร ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ไพรัช พุกเจริญ รอง ผบก.ตม.6 และ พ.ต.อ.สมชาย จิตสงบ ผกก.ตม.จว.ระนอง ร่วมกันแถลงข่าว ดังนี้

คดีจับกุมขบวนการนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนปราบปราม ตม.จว.ระนอง ได้รับแจ้งเบาะแสจากชาวบ้านว่าบริเวณท่าเรือบ้านทับหลี ม.4 ต.มะมุ อ.กระบุรี จว.ระนอง มีการลักลอบนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง โดยมีเรือรถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) นำคนต่างด้าวเข้ามาส่งตามช่องทางธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว แล้วจะมีรถยนต์เข้ามารับคนต่างด้าวไปส่งยังจุดหมายปลายทางต่อไป

ชุดสืบสวนปราบปราม ตม.จว.ระนอง สนธิกำลังกับชุดสืบสวน กก.สส.ภ.จว.ระนอง, สภ.ปากจั่น, ชปข.ร้อย ตชด.ที่ 415 และ จนท.ทหาร ชุด ร้อย ร.2521 (จุดตรวจศิลาสลัก จปร.) วางแผนออกสืบสวนหาข่าว ลาดตระเวน และเฝ้าซุ่มตรวจบริเวณช่องทางธรรมชาติตามที่แหล่งข่าวแจ้งว่ามีคนต่างด้าวใช้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง จนท.ชุดเฝ้าตรวจพบเห็นเรือยนต์หางยาวขับขี่มาจากฝั่งประเทศเมียนมา เข้ามาจอดเทียบท่าภายในซอยประปา ม.4 ต.มะมุ อ.กระบุรี จว.ระนอง ต่อมามีรถยนต์กระบะ ทะเบียนระนอง ขับขี่เข้ามาจอดที่ลานจอดรถบริเวณท่าเทียบเรือ แล้วพบเห็นนายอู (Oo) สัญชาติเมียนมา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ได้รับอนุญาตให้อยู่ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และได้ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเรื่อยมา ครั้งหลังสุดได้รับอนุญาตให้อยู่ถึง 30 กันยายน 2564 (ทราบชื่อในภายหลัง) ซึ่งนั่งข้างผู้ขับขี่รถยนต์ได้ลงมาจากรถแล้วเรียกให้คนต่างด้าวที่อยู่ในเรือยนต์หางยาวมาขึ้นนั่งกระบะหลัง 4 คน และนั่งในห้องโดยสารด้านหลังคนขับ 3 คน (รวมทั้งสิ้น 7 คน) แล้วขับขี่รถยนต์มุ่งหน้ามาทางถนนเพชรเกษม จนท.ชุดเฝ้าตรวจจึงแจ้งให้ จนท.ชุดลาดตระเวนเก้าสกัดจับกุม และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้บริเวณถนนเพชรเกษม ม.4 ต.มะมุ อ.กระบุรี จว.ระนอง และจากการตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวชื่อนายเดชา เตาะ อายุ 45 ปี ที่อยู่ ต.หงาว อ.เมือง จว.ระนอง และพบคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 7 คน อยู่ภายในรถตามที่ชุดเฝ้าตรวจแจ้งทราบชื่อดังนี้

  1. นางเมนู (Mrs.Moe) อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.มอละแมง เมียนมา ปลายทางไปทำงานก่อสร้างกับแม่ จว.ภูเก็ต จ่ายค่านายหน้า 15,000 บาท

  2. นางเค (Mrs.Khiin) อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ทวาย เมียนมา ปลายทางไปทำงานโรงงานขนมจีนกับลุง ที่ จว.ภูเก็ต จ่ายเงินค่านายหน้าเมื่อไปถึง

  3. นางเน (Mrs.Hnin) อายุ 32 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ทะวาย เมียนมา ปลายทางไปทำงานคาแคร์กับแฟน ที่ จว.ภูเก็ต จ่ายเงินค่านายหน้าเมื่อไปถึง

  4. นางสุ (Mrs.Su) อายุ 23 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ย่างกุ้ง เมียนมา ปลายทางไปทำงานกรีดยางพารากับพ่อ ที่ จว.สุราษฎร์ธานี จ่ายเงินค่านายหน้าเมื่อไปถึง

  5. นางซิน (Mrs.Zin) อายุ 27 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ทะวาย เมียนมา ปลายทางทำงานร้านหมูกะทะกับแฟน จว.ภูเก็ต จ่ายค่านายหน้า 13,000 บาท

  6. นายซู (Mr.Soe) อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ย่างกุ้ง เมียนมา ปลายทางไปทำงานกับภรรยา ที่ จว.สมุทรสาคร จ่ายค่านายหน้า 14,000 บาท 

7. นายอ่าว (Mr.Moe) อายุ 19 ปี สัญชาติเมียนมา เดินทางมาจาก จว.ทะวาย เมียนมา ปลายทางไปทำงานก่อสร้างกับพี่สาว ที่ จว.สุราษฎร์ธานี จ่ายเงินค่านายหน้า เมื่อไปถึง

 จากการตรวจสอบพบว่าคนต่างด้าวทั้ง 7 ราย ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย จึงติดต่อประสานกับญาติซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทย และได้ชักชวนเดินทางมาทำงานด้วยกัน  โดยติดต่อกับนายตะแง  (Tharnge) นายหน้าชาวเมียนมา ที่อยู่ หมู่บ้านเอซันตา จว.เกาะสอง ประเทศเมียนมา (ตรงข้าม ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จว.ระนอง) ให้ช่วยเหลือนำพาหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย และนายตะแง จึงได้นำพาคนต่างด้าวทั้ง 7 ราย หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ บริเวณซอยประปา ม.4 ต.มะมุ อ.กระบุรี พร้อมว่าจ้างให้นาย (Ou) และนายเดชา มารับตัวและนำพาไปส่งยังจุดหมายปลายทาง และระหว่างเดินทางก็ถูก จนท.ชุดจับกุม เข้าสกัดจับกุมตัวไว้ได้บริเวณ ถนนเพชรเกษม (ขาขึ้น) ม.4 ต.มะมุ อ.กระบุรี จว.ระนอง พร้อมแจ้งข้อกล่าวหานายจอนายอู (Ou) และนายเดชา “ร่วมกันนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” และแจ้งข้อกล่าวหา นางเมนูพิว (Mrs.Moe Hnin) อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา กับพวกรวม 7 คน “เป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” นำตัวส่ง พงส.สภ.ปากจั่น อ.กระบุรี จว.ระนอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ถูกจับไม่สามารถพูดอ่านภาษาไทยได้ จึงอ่านบันทึกให้ฟังผ่านล่ามแปลชื่อนายอู (Ou) อายุ 41 ปี สัญชาติเมียนมา สตม.ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178  หรือที่ www.immigration.go.th

“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ "จ.ระนองและจ.กระบี่” กำชับหน่วยมั่นคง เข้มสกัดแรงงานทะลักเข้าเมือง พร้อมเร่งขับเคลื่อนจัดที่ดินทำกินและดึงภาคประชาชนร่วมแก้ปัญหา  

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ตรวจติดตามความคืบหน้างานสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.กระบี่ โดยรับฟังการบรรยายสรุปจากหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ณ ศาลากลาง จ.ระนอง ถึงการปฏิบัติงานในภาพรวม ด้านความมั่นคง สถานการณ์ด้านแรงงาน ยาเสพติดและมาตรการควบคุมป้องกันโรค 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวชื่นชมกับแนวคิด “ระนองโมเดล” ในความเข้มแข็งของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่อาศัยการมีส่วนร่วมและความใส่ใจร่วมกันของกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนภายใต้การนำของผู้นำท้องถิ่นระดับหมู่บ้าน ซึ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว  พร้อมย้ำว่า  จ.ระนอง เป็นเส้นทางผ่านยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองทั้งทางบกและทางทะเล  จึงต้องคุมเข้มเฝ้าระวังและเข้มงวดกวดขัน เน้นงานเชิงรุกกับการลักลอบเข้าเมือง การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมทั้งการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง  

โดยให้บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรนและช่องทางธรรมชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  พร้อมทั้งย้ำการปฏิบัติต่อผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล ขอให้เป็นไปตามหลักสากลบนพื้นฐานของกฎหมายและพันธกิจระหว่างประเทศ คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ผลกระทบต่อเด็ก สตรีและคนป่วยเป็นอันดับแรก 

ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนและแรงงาน โดยขอให้สร้างการรับรู้และกระจายวัคซีนลงไปอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงและผู้ใช้แรงงาน  พร้อมย้ำว่า การลักลอบเข้าเมืองและแรงงานผิดกฎหมายยังถือเป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ขอให้สร้างความรู้ความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการ ให้การสนับสนุนมาตรการควบคุมโรคที่กำหนดไปพร้อมๆกัน 

 

ใจถึงพึ่งได้ ‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘ชุมพร-ระนอง’ แก้ปัญหาน้ำท้วม-แล้ง ชาวบ้านแห่ต้อนรับ เชียร์นั่งนายกฯ คนที่ 30

(13 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมช.คลัง และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการพื้นที่ภาคใต้ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า (จ.สุราษฎร์ธานี) โดยในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง 

โดยเมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางถึงโครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฯ บ้านวังช้าง ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผวจ. ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ จ.ชุมพร ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขา เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำมากเกินความจุลำคลอง ทำให้เกิดน้ำหลากในหลายอำเภอ 

สำหรับภัยแล้ง ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง ความต้องการใช้น้ำมากขึ้นโดยเฉพาะฤดูแล้งและยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ อย่างเพียงพอ จึงได้มีโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำ ของชุมชนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจการวางแผนการใช้น้ำ ที่มีอยู่ รวมทั้งการพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายแก่ จังหวัด, สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากทุกปัญหา และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ทอดทิ้งใครอย่างเด็ดขาด รวมถึงจะพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้ครอบคลุมทุกมิติ 

จากนั้นได้พบปะพี่น้องประชาชน ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง จากหลายอำเภอ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการต่าง ๆ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมาก แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้ใกล้ชิด และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและความห่วงใยประชาชน อย่างแท้จริง พร้อมชื่นชมว่า ท่านใจดี ใจถึงพึ่งได้จริง มีลักษณะผู้นำที่จะสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง สู่การพัฒนาประเทศได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะที่จะเป็นนายกคนที่ 30 มากที่สุด

‘บิ๊กตู่’ บุกระนอง ติดตามปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค กำชับทุกฝ่าย เร่งแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน ปชช.โดยเร็ว

(16 มี.ค. 66) ที่อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาที่อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เพื่อตรวจติดตามสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และพบปะประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหาขาดแคลนนาอุปโภค บริโภค โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน, นายนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายอำเภอสุขสำราญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี รับฟังสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง จากนายอำเภอสุขสำราญ โดยสภาพปัญหาคือแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 25 ปี ทำให้ท่อส่งน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม และชำรุดเสียหาย ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำหลักในพื้นที่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายคลองกำพวน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายบ้านโตนกลอย

และเนื่องจากทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการถ่ายโอนภารกิจแล้ว โครงการชลประทานระนองจึงไม่สามารถขอรับสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซมได้ ส่งผลให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงที่เกิดการชำรุดเสียหายของท่อส่งน้ำ

ทั้งนี้ เทศบาลตำบลกำพวนได้ซ่อมแซมและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยโครงการชลประทานระนองได้ประสานไปยังส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 14 เพื่อพิจารณาโครงการเบื้องต้น เป็นโครงการฝายคลองโตนกลอยพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา วงเงินงบประมาณ 40.60 ล้านบาท คาดว่าจะจัดเข้าแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีปัญหากัดเซาะชายหาดบ้านทะเลนอก ระยะทาง 7 กิโลเมตร รวมถึงระบบไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการทำงานร่วมกันในการเร่งช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เป็นผลสำเร็จภายในปีนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางมาจังหวัดระนองในวันนี้ ว่า เพื่อมารับฟังปัญหาและหาแนวทางพัฒนาปรับปรุงให้การดำเนินงานสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนไปตามแผน รวมทั้งตั้งใจมาขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของจังหวัดระนอง ทั้งด้านเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยขอย้ำให้ทุกคนนำศักยภาพที่จังหวัดระนองมีอยู่ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการเป็นจังหวัดที่ติดกับทะเล ที่จะเชื่อมไปฝั่งอันดามันและต่างประเทศ รวมถึงการเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาขับเคลื่อนพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมถึงการร่วมมือกันในประเทศและต่างประเทศ ในการลดโลกร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยเฉพาะร่วมกันรักษาป่า และปลูกป่า สร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อดูดซับคาร์บอน และสามารถใช้ในการเป็นคาร์บอนเครดิต ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต

ผบ.ตร.ตรวจเยี่ยมและปิดโครงการชุมชนยั่งยืนบ้านเกาะสินไห จ.ระนอง ชื่นชมความสำเร็จ แก้ปัญหายาเสพติดความเดือดร้อนชาวบ้าน มอบรางวัล “ทำดี มีรางวัล” ให้ตำรวจที่ทุ่มเททำโครงการ พร้อมตรวจเยี่ยมภูธรจังหวัดและ ตม. ระนอง สั่งคุมเข้มงานมั่นคง ยาเสพติด ยกระดับงานบริ

 วันที่ 24 เม.ย.66 เวลา 10.00 น. ที่บ้านเกาะสินไห อ.เมือง จ.ระนอง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เดินทางมาตรวจเยี่ยม และเป็นประธานปิดการอบรมชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ  โดยมี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 , นายศักระ กปิลกาญจน์ ผวจ.ระนอง , นายประเสริฐ บิลมาศ  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดระนอง , พล.ต.ต.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา ผบก.ภ.จว.ระนอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาเข้าร่วม

หมู่บ้านเกาะสินไห อยู่ในความรับผิดชอบ สภ.ปากน้ำ มีประชากร 290 ครัวเรือน จำนวน 1,138 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อาชีพประมงพื้นบ้าน อยู่ห่างจากฝั่ง ประมาณ 18 กม. (เดินทางโดยเรือหางยาว ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที) เวลาเกิดเหตุร้าย หรือคนวิกลจริตจากยาเสพติดก่อเหตุร้าย บางครั้งตำรวจไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ทันเพราะเป็นเวลากลางคืน บางเวลาน้ำทะเลลงก็ไม่สามารถเดินทางขึ้นไปบนเกาะได้ จนชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด

พล.ต.ต.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา ผบก.ภ.จว.ระนอง ลงพื้นที่เห็นปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด ที่ทำให้คนในชุมชนเดือดร้อนมานาน อีกทั้งชุมชนห่างประเทศเพื่อนบ้านเพียง 1 กม. ทำให้ยาเสพติดแพร่ระบาดง่าย เมื่อทำการตรวจปัสสาวะพบชาวบ้านติดยาเสพติด 87 ราย

          
ผบก.ภ.จว.ระนอง จึงนำนโยบาย ผบ.ตร. โครงการชุมชนยั่งยืนฯ มาแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนเกาะสินไห ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ วันที่ 15 ธ.ค.65 จนถึง 19 เม.ย.66 มีการแต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการติดตามโครงการแบบบูรณาการ ร่วมกับชุมชน ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ผู้นำศาสนา ทหาร ค้นหาผู้เสพ ผู้ใช้ยาเสพติด นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู  มีกิจกรรมบำบัดแบบผสมผสาน ทั้งศาสนาบำบัด อาชีพบำบัด และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์บำบัด ปรับปรุงภูมิทัศน์ ป้องกันอาชญากรรมและยาเสพติด โดยมีภาคประชาชน ภาคเอกชน เช่น บริษัท ปตท.ร่วมดำเนินการ  พร้อมกับทำเครือข่ายป้องกันยาเสพติด สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยตนเอง


พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ได้ตรวจเยี่ยม และปิดโครงการชุมชนยั่งยืนเกาะสินไห พร้อมกับชื่มชมความเร็วของโครงการ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ นำโครงการมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหายาเสพติด ปัจจุบันชุมชนอุ่นใจมากขึ้น เพราะไม่มีผู้เสพยา และบุคคลที่เคยเสพยาจนติด ก็เข้ารับการบำบัดจนหายแล้ว ชุมชนอยู่กันอย่างสงบ เศรษฐกิจภาพรวมก็ดีขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

ผบ.ตร.ได้มอบใบประกาศเกียรติบัตรกับผู้เข้าร่วมโครงการ มอบโล่แก่ผู้สนับสนุนโครงการ พร้อมกล่าวปิด และลงนาม MOU ส่งต่อความยั่งยืนให้ชุมชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นต่อไป 

สำหรับโครงการชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกมิติ ที่ดำเนินการทั่วประเทศ คืนคนดีสู่สังคม จนเกิดความยั่งยืนเป็นสังคมสีขาวปลอดยาเสพติด

จากนั้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สำราญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สุรพงษ์ ผบช.ภ.8 พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยม รับฟังบรรยายสรุปของตำรวจ ภูธรจังหวัดระนอง และ ตม.จว.ระนอง

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

‘เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ’ ยื่นหนังสือร้องยุติโครงการแลนด์บริดจ์ ชี้!! กังวล ‘ของเสีย-อากาศพิษ’ กระทบการเกษตร-ชีวิต ปชช.

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค. 66) ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอพะโต๊ะ ผ่านนายเชิงชาย ไพรพฤกษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอพะโต๊ะ เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานยุติการจัดเวทีเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง หรือการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเข้ามาชี้แจงข้อสงสัย และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามข้อเรียกร้องนี้ จะปฏิเสธความร่วมมือและจะร่วมกันคัดค้านการจัดเวทีหรือการทำกิจกรรมอื่นใดของทุกหน่วยงานหลังจากนี้ไปอย่างถึงที่สุด โดยมีการถือแผ่นป้ายระบุข้อความ ‘พะโต๊ะเมืองเกษตร ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม’

นางเฉลิมอุษา สีเขียว เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า พวกเราทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดทราบว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 14 พ.ย.นี้อีกครั้ง กลายเป็นความสับสนและไม่เข้าใจต่อกระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลอะไรตามมากับพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลประกาศไปแล้วว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้ได้ พร้อมกับจะมีการเดินสายเพื่อหาผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุนให้ทันภายในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจบริหารประเทศ จึงยิ่งสร้างความไม่มั่นใจว่า การจัดเวทีทั้งหลายเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปเพื่ออะไร หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการ ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

นายสมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ แต่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้จะนำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา ซึ่งตอนนี้นักการเมืองกำลังผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายอำเภอในจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีมูลค่าสูง ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ปลูกทุเรียนโดยส่วนใหญ่อยู่ที่พะโต๊ะและหลังสวน ในอนาคตจะมีการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ของเสีย น้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ จากนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

📌 เปิดไทม์ไลน์ภารกิจนายกฯ ครม.สัญจร ระนอง 22-23 ม.ค. 67

นายกฯ เศราฐา ทวีสิน หอบคณะลงพื้นที่ จ.ระนอง ตรวจราชการ-ประชุม ครม.นอกสถานที่ พร้อมติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร และประมง รวมถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร-ระนอง)

‘สุริยะ’ หนุนโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้น จ.ท่องเที่ยวใต้ ชู!! แผนคล้อง ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อม ‘อ่าวไทย - อันดามัน’

(22 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง พร้อมตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนให้การต้อนรับ ในวันที่ 22 มกราคม 2567

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับการตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมประชุมมอบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนน ให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชน ‘ถนน’ ต้องช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่ง และมีโครงข่ายที่ส่งเสริมต่อภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน แหล่งอุตสาหกรรม และสามารถบูรณาการกับระบบขนส่งได้ ในทุกมิติ ลดระยะเวลาต้นทาง - ปลายทาง เนื่องจากกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ตรังและสตูล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งเสริมต่อการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมขนส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามันได้รับประโยชน์สูงสุดในการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัยเชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด 

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาพื้นที่ จังหวัดระนองให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย...

1. มิติการพัฒนาทางถนน มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง

2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร - ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร - ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 

3. มิติการพัฒนาทางน้ำ มีโครงการที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระนอง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จังหวัดระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางไปสมทบกับนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ณ พื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน (บริเวณชายหาดอุทยาน) ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่โครงการถนนเชื่อมโยงแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง - สตูล โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้…

1. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน (Land Bridge ชุมพร - ระนอง) เป็นโครงการเชื่อมต่อการขนส่งทางทะเลระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย โดยอาศัยความได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโครงข่ายการคมนาคมทางบก ทั้งทางถนน และทางราง ที่เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่เขตจังหวัดระนอง ที่จะทำให้พี่น้องชาวระนองมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภาคใต้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดย สนข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันโครงการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐจะเป็น ผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 และเกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดระนอง และชุมพร จำนวนกว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ทำให้พี่น้องในพื้นที่ทั้งสองจังหวัดรวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

2. โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง - สตูล กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดย สนข. ได้รับงบประมาณปี 2566 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทาง Andaman Riviera ช่วงระนอง - สตูล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาด้านคมนาคมทางบกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน และสนับสนุนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นด้านการท่องเที่ยว ระยะทางโครงการไม่น้อยกว่า 600 กิโลเมตร ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ขอบคุณทุกส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงที่ให้การต้อนรับ และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวันนี้ โดยตนจะเร่งรัดจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top