Saturday, 4 May 2024
รถไฟทางคู่

โครงการรถไฟทางคู่ ‘ขอนแก่น-หนองคาย’ เส้นทางสำคัญ เชื่อม ‘ไทย-ลาว-จีน’ กระจายสินค้าสู่ภูมิภาค

เมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 65) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ โครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยง ‘ไทย-ลาว-จีน’ ในการกระจายสินค้าออกสู่ภูมิภาค ไว้อย่างน่าสนใจว่า…

โครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย
จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ของการเชื่อมโยง ไทย-ลาว-จีน กระจายสินค้าสู่ภูมิภาค

จากที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 มานาน ขอกลับมาพูดถึงโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งถูกวางแผนไว้เป็นโครงการลำดับที่ 1 ที่เตรียมจะอนุมัติก่อสร้าง ภายในปีหน้า (2566) เพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ในการเชื่อมโยงโครงการรถไฟระหว่างประเทศ ไทย-ลาว-จีน ในการขนส่งสินค้า และเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟลาว-จีน ที่เป็นรางขนาด 1.435 เมตร (European Standard Gauge) เข้าสู่รางรถไฟไทย 1 เมตร (Meter Gauge) 

โดยมีจุดเปลี่ยนถ่าย (Transhipment Yard) ที่ สถานีนาทา รายละเอียดเดิมตามโพสต์นี้
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1061909740914171&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX

>> รายละเอียดการโครงการ
ตามรูปแบบการพัฒนารถไฟทางคู่ คือจะมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 1 ทาง คู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางได้ปริมาณมากขึ้น และไม่ต้องรอหลีกรถไฟที่สถานี

มีระยะทางรวมทั้งหมด 167 กิโลเมตร แบ่งเป็น
- ทางระดับดิน 153 กิโลเมตร
- ทางยกระดับ 14 กิโลเมตร

โดยการออกแบบ มีมาตรการการออกแบบเพื่อรองรับความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบเท่ามาตรฐานของรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งในเส้นทางปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรังรัศมีวงเลี้ยว ให้เหมาะสม กับการออกแบบความเร็ว ใน 3 จุดคือ
- เทศบาลศิลา 
- โนนพยอม
- โนนสะอาด

พร้อมกับมีการยกระดับสถานีรถไฟเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟช่วงผ่านเมือง 2 จุดคือ
- สถานีน้ำพอง
- สถานีอุดรธานี

ในโครงการมีสถานีทั้งหมด 14 สถานี แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สถานียกระดับ, สถานีชั้น 1, สถานีชั้น 2, สถานีชั้น 3  และที่หยุดรถ ได้แก่
- สถานีสำราญ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถห้วยไห สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีห้วยพยอม (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถบ้านวังชัย สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีน้ำพอง (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถห้วยเสียว สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีเขาสวนกวาง (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีโนนสะอาด (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยเกิ้ง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีกุมภวาปี (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยสามพาด (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองตะไก้ (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถคำกลิ้ง สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองขอนกว้าง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีอุดรธานี (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีนาพู่ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีนาทา (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีหนองคาย (ชั้น 1) สถานีเดิมรักษาไว้

โดยการรักษาสถานีเดิมไว้เพื่อการอนุรักษ์ และลดการลงทุนไม่ให้มากเกินไป แต่เพิ่มระบบสาธารณูปโภค และการให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม (Universal Design) ในการอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสาร เช่น สะพานลอยข้ามชานชาลา และลิฟต์โดยสารเพื่อข้ามชานชาลา พร้อมกับการยกระดับความสูงชานชาลา เป็นรูปแบบชานสูง 1.10 เมตร ตามมาตรฐานใหม่ของการรถไฟ

นอกจากการทำสถานีสำหรับผู้โดยสารแล้ว ก็ยังมีการทำสถานีสำหรับสินค้า หรือลานกองเก็บตู้สินค้า (Containers Yard : CY) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการก่อสร้างใน 3 จุดคือ
- สถานีโนนสะอาด
- สถานีหนองตะไก้
- สถานีนาทา (จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า Transhipment Yard) 

ในโครงการจะมีการทำโรงรถจักร เพื่อใช้ในการให้บริการและซ่อมบำรุงของรถจักร และตู้โดยสาร ก่อนและหลังให้บริการ โดยมีการก่อสร้างที่ สถานีนาทา

นอกจากการก่อสร้างงานโยธา ของทางคู่และอื่นๆ ในการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเป็นตัวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟทางคู่ ก็เป็นส่วนสำคัญ โดยการพัฒนารถไฟทางคู่ในปัจจุบัน มีการยกระดับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ เป็นมาตรฐาน ETCS Level 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางของยุโรป เพื่อให้รองรับรถไฟหลากหลายมาให้บริการ

การรถไฟฯ อัปเดตโครงการรถไฟทางคู่ นับถอยหลังจ่อเปิดวิ่งอีก 5 เส้นทาง ภายในปี 66- 67

การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมนับถอยหลังสู่การเปิดใช้รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนจำนวน 5 เส้นทาง

นับจากปี 2559 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จ จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่

1.) ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา - ชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปี 2562
2.) ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้ว เมื่อปี 2563 ซึ่งรถไฟทางคู่ทั้ง 2 สาย สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ผู้โดยสาร และเอกชนที่ใช้ในการขนส่งสินค้า

ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดระยะเวลาในการเดินทาง และลดอุบัติเหตุที่เกิดจากจุดตัดระดับดินทั้งหมด

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: รถไฟทางคู่สายตะวันออก

‘รถไฟทางคู่สายตะวันออก’ เส้นทางศรีราชา-ระยอง มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ ระยะทางกว่า 340 กิโลเมตร เสริมศักยภาพโครงข่ายทางราง รองรับการขนส่งผลไม้และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก EEC 

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: รถไฟทางคู่ ‘จิระ - อุบลราชธานี’

เชื่อมอีสานใต้ด้วย รถไฟทางคู่ ‘จิระ - อุบลราชธานี’ พัฒนาการเดินทาง เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ลดค่าใช้จ่ายประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต พี่น้องอีสานใต้

‘โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน’ ทยอยเปิดเพิ่ม ‘เหนือ-อีสาน-ใต้’ ปีนี้ หวังรัฐบาลหน้าสานต่อ เพิ่มเส้นทางครอบคลุม 50 จังหวัด ตามแผนในปี 72

(14 ส.ค.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ที่ได้เริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทยอยเปิดให้บริการในเดือนกันยายน เป็นต้นไป และเมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งยังจะเป็นการยกระดับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้รวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร 
2. เส้นทางสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร 
3. เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (ช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2566-2567 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า โดยรถไฟทางคู่ สายเหนือมีความคืบหน้า ประมาณ 80% เส้นทางสายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (สระบุรี-นครราชสีมา) ได้เปิดใช้งานสถานีใหม่ 7 แห่งแล้ว และมีแผนจะเปิดเดินรถทางคู่ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร ประมาณกันยายน 2566 ในขณะที่เส้นทางสายใต้ ช่วงเขาเต่า-ประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้เปิดใช้ทางคู่แล้วเช่นกัน โดยมีแผนเตรียมจะทยอยเปิดให้บริการช่วงบางสะพานน้อย (ประจวบฯ)-ชุมพร ภายในปลายปี 2566 นี้ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งขณะนี้มีแผนก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 สัญญา

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ซึ่งหากเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะครอบคลุมระยะทาง 700 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มความจุของเส้นทาง รองรับขบวนรถได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ เพิ่มความเร็วในการเดินรถ และลดเวลาในการเดินทางลงเฉลี่ยอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจากปัจจุบัน มากไปกว่านั้น รัฐบาลได้มีแผนการดำเนินการรถไฟทางคู่ระยะสองไว้แล้ว 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ซึ่งหากได้รับการขับเคลื่อนต่อจะขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ครอบคลุมกว่า 50 จังหวัด มีเส้นทางรวมกันมากกว่า 3,000 กิโลเมตร ภายในปี 2572 ทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว สามารถทำความเร็วในการขนส่งสินค้าได้จากเดิม 29 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และทำความเร็วในการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเดิม 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างมาก ดังเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ท่าเรือ สนามบิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด ภาค และระหว่างประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

‘บิ๊กตู่’ ควงคณะรัฐมนตรีคู่ใจ ลงพื้นที่ จ.สระบุรี เยี่ยมชมโครงการรถไฟทางคู่ ‘มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ’

(17 ส.ค. 66) ที่จังหวัดสระบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงข่ายคมนาคมระบบราง งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จช่วงมาบกะเบา-หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ

และตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับการเดินทางและศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน และมีความปลอดภัย

โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย

โดยจุดแรก นายกรัฐมนตรีและคณะ ตรวจติดตามความก้าวหน้างานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ช่วงมาบกะเบา-หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งสัญญาที่ 3 เป็นงานอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 อุโมงค์ ได้แก่

อุโมงค์ที่ 1 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จ.สระบุรี มีความยาว 5.85 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นการออกแบบที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยภายในอุโมงค์มีช่องอพยพผู้โดยสารทุก ๆ ระยะ 500 เมตร ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 98.130

อุโมงค์ที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็กใหม่ จ.สระบุรี มีความยาว 650 เมตร กว้าง 11.00 เมตร สูง 7.30 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ โดยช่องอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์อื่น ๆ ทำให้มองเห็นปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ

อุโมงค์ที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.4 กิโลเมตร กว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยอุโมงค์ทั้ง 3 แห่ง มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ซึ่งในอนาคตได้มีการวางแผนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เนื่องจากโดยรอบเป็นภูเขาและป่าร่มรื่น

นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จากนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ขึ้นขบวนรถไฟไปยังอุโมงค์ผาเสด็จ ระยะทาง 300 เมตร เพื่อเยี่ยมชมอุโมงค์ผาเสด็จ ก่อนขึ้นขบวนรถไฟกลับไปยังบริเวณพื้นที่โครงการฯ โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีความก้าวหน้าเกิดผลสำเร็จเป็นไปแผนที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลได้วางแผนไว้

พร้อมย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้สำหรับประชาชนและประเทศชาติ ในการพัฒนาไปสู่อนาคต ส่วนบางโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ก็ขอให้ดำเนินการต่อให้เกิดผลสำเร็จตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป

หากโครงการฯ แล้วเสร็จจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว โดยขบวนรถโดยสาร จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 100-120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. และขบวนรถสินค้า จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนกับผู้โดยสารรถไฟ ด้วยการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถในทางคู่ใหม่บางส่วนได้ภายในปี 2567 นี้

'ชาวเน็ต' แหกหน้าหนุ่ม หลังโพสต์มั่วเรื่องรถไฟไทย ทั้งขนาดรางไม่เชื่อมจีน-มาเลย์ และ 'ทางคู่' ที่มิใช่ 'รางคู่'

(3 พ.ค. 67) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Chen Tai Shan' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..."ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ….ประเทศไทยไม่ยอมทำรางรถไฟขนาดมาตรฐานที่สามารถเชื่อมกับโครงข่ายทั้งจีนและมาเลเซีย แต่ไปเอารางคู่แทน (ใช้เงินเยอะกว่าโครงข่ายแบบรถไฟความเร็วสูงด้วยนะ FYI)"

ก็ทำให้มีผู้สันทัดกรณีเข้ามาตอบคำถามเชิงความรู้แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าว อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wanwit Niampan ที่ได้โพสต์ข้อความตอบกลับไปว่า...

คุณไม่มีความเข้าใจเรื่อง Railway 101 เลย ขนาดทางรถไฟในโลกนี้มีมากกว่า 10 ขนาด แต่ขนาดที่มีจำนวน 'ต่อ กม. มากที่สุด' คือ 1.435 เพราะใช้เป็นเครือข่ายหลักในยุโรป และต่อมาประเทศที่มีการวางระบบโดยยุโรป และมีขนาดประเทศกว้างก็ถูกนำมาใช้ เช่น จีน, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ ซึ่งทางกว้างขนาด 1.435 มีชื่อว่า European Standard Gauge แปลว่า 'ขนาดความกว้างมาตรฐานยุโรป' แต่ไม่ได้หมายความว่ามันคือ มาตรฐานโลก

กรณีรถไฟความเร็วสูง ทำไมไม่ใช้ 1.435?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้รถไฟความเร็วสูงเชิงพาณิชย์ประเทศแรก ซึ่งญี่ปุ่นใช้ทางกว้าง 1.067 (ขนาดที่มีระยะทางเป็นอันดับ 3 ของโลก) และไม่สามารถทำความเร็วได้ ประกอบกับมีทางโค้งและทางภูเขาเยอะ จึงต้องตัดทางใหม่เพื่อ Shinkansen โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จึงมีทางรถไฟทั้ง 1.067 และ 1.435

จากนั้นประเทศที่ผุดรถไฟความเร็วสูงมาใหม่ จึงยึดที่ 1.435 (รวมถึงยุโรปที่ใช้ 1.435 ไปเลย เพราะจะได้อัปเกรดทางเดิมได้โดยไม่ต้องสร้างเพิ่ม แต่รถจะวิ่งสูงสุดแค่ 210-230 บนทางเดิม)

สำหรับต้นทุน รถไฟความเร็วสูง 'สูงกว่ารถไฟทางคู่' ครับ มันคนละเทคโนโลยีกัน

ข้อต่อมา ทำไมต้องทำทางคู่

อันนี้แหละคือ โครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุดในการเข้าถึง 'พื้นที่เล็ก' แบบ INtercity รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่ option ที่เสริมมาหลังจากที่โครงข่ายปกติมี capacity ที่สูง (เช่น โตเกียว-โอซาก้า ในยุคนั้นที่มี traffic สูงมาก และทางเดิมไม่พอกับปริมาณความต้องการ ประกอบกับมีการติดต่อกันระหว่างสองเมืองที่มีแบบตลอดแบบ Business ซึ่งกรณีนี้รถไฟความเร็วสูงมันได้ทำหน้าที่ 'เสมือนทางด่วน' ของรถยนต์ และทางรถไฟธรรมดามันคือ ทางหลวงระหว่างเมือง

ถ้าให้คุณเข้าใจง่ายที่สุด...
- รถไฟธรรมดา = ถนนหลวง
- รถไฟความเร็วสูง = ทางด่วน

ถนนหลวงที่มีแค่ 1 เลน มันจะขับคล่องไม่ได้ มันก็ต้องขยายเลน เพราะไม่ใช่ทุกเมืองที่ต้องใช้ทางด่วน ไม่ใช่ทุกปลายทางที่ต้องขึ้นทางด่วน

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตจำนวนมาก ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวของ 'Chen Tai Shan' ต่างก็คอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่า "คนโพสต์ยังแยกไม่ออกระหว่างขนาดความกว้างของราง กับ การทำทางคู่ ไม่ใช่รางคู่ รถไฟมันใช้รางคู่อยู่แล้ว" / "เมื่อคนไม่มีความรู้ไปพูดมั่ว ๆ เรื่องรถไฟ" / "ก่อนมีความเห็นควรมีความรู้ก่อน"

ส่วนเจ้าตัว เมื่อถูกชาวเน็ตท้วงติง ก็ออกมาโพสต์ตอบว่า... "เข้าใจครับและขอบคุณสำหรับความรู้ที่ให้ทุกท่านทราบในที่นี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้บริหารผมไม่ขอพูดอะไรต่อครับ"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top