Sunday, 5 May 2024
รถยนต์

เอกชนหวังยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีถึงเป้า 1.6 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทช่วง 10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.64) มีทั้งสิ้น 1.365 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 22.89% ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก 788,826 คัน เท่ากับ 57.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.77% โดยทั้งปี ส.อ.ท. ยังคงเป้าหมาย ยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปี 64 จำนวน 1.6 ล้านคัน ยอดการส่งออกทั้งปี 850,000 คัน และยอดจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน 

“ตอนนี้ยังไม่ปรับเป้า และยังคงติดตามสถานการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งปัจจัยเรื่องกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน การเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยว และการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป ช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้ จะช่วยดันยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

“บิ๊กตู่” หนุนการรีไซเคิลรถยนต์เก่าหวังลดปัญหาฝุ่น PM 2.5  

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับทราบการดำเนินการสนับสนุนการรีไซเคิลซากรถทั่วประเทศ ตามมาตรการรองรับขยะจากซากรถยนต์เก่าที่หมดอายุการใช้งานในประเทศ อีกทั้งช่วยลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดันการทำงานตามนโยบายเพื่อร่วมพัฒนาประเทศ

สำหรับสถิติประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 5,033,307 คัน ซึ่งหากไม่ได้รีไซเคิลให้ถูกต้องเหมาะสม ในอีก 20 ปีข้างหน้า รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน รถยนต์เก่าเหล่านี้หากนำมาใช้งาน และขาดการบำรุงรักษาตามมาตรฐานจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับ การรีไซเคิลที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ จะสามารถนำทรัพยากรจากการแยกซากรถมาหมุนเวียนให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็น ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ซึ่งในรถยนต์หนึ่งคันมีสัดส่วนเหล็กมากถึง 69% 

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการสาธิตสำหรับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับซากยานพาหนะที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทย (ELV Project) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) 

'Mazda' โชว์!! 9 เดือนแรกยอดขายโต 8% โกย 30,000 คัน พร้อมอวดโฉม 'บริการใหม่' มัดใจลูกค้าให้อยู่กันไปยาวๆ

(8 ต.ค. 65) ท่ามกลางความผันผวนและปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย แต่วันนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีทิศทางที่สดใสมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสะสมของตลาดรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 18% 

ด้านมาสด้า ก็เป็นอีกค่ายที่กลับมาได้อย่างงดงาม โดยมียอดขายเติบโต 8% พร้อมยอดจำหน่ายรวมช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ 27,995 คัน และในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ก็ได้ประกาศเตรียมส่งรถยนต์รุ่นพิเศษบุกตลาด พร้อมทั้งเตรียมมัดใจลูกค้าด้วยบริการหลังการขายใหม่ Mazda Ultimate Service อุ่นใจกว่า...ทุกการดูแลรถคุณ เพิ่มความมั่นใจด้านการบริการหลังการขาย พร้อมดูแลลูกค้าแบบพรีเมี่ยม สร้างคุณค่าแบรนด์และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าในระยะยาว และตอบรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2565 เป็นต้นมา ตลาดรถยนต์ต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านที่ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่ทั้งนี้แล้ว ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จากภาครัฐ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่จากหลากหลายค่ายรถ รวมถึงแคมเปญและงานจัดแสดงรถยนต์ต่างๆ จึงทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มกลับฟื้นตัวดีขึ้น และเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงท้ายของไตรมาสที่สาม ที่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยได้ปรับตัวไปในทิศทางบวก อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การส่งออกที่เติบโต และปัจจัยทางด้านการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้เริ่มเห็นทิศทางการเติบโตของยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยตามมา

แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางปัจจัยบวกและปัจจัยลบหลายๆ ด้านเหล่านี้ ยอดขายสะสมรถยนต์มาสด้าในช่วง 9 เดือน แรกของปี ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2565 ก็ยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างเหนียวแน่นสูงถึง 8% โดยมียอดขายสะสมรวมทั้งสิ้น 27,995 คัน แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งมาสด้า 2 จำนวน 15,340 คัน (เพิ่มขึ้น 13%) และ มาสด้า 3 จำนวน 1,287 คัน (ลดลง 20%) ในขณะที่ มาสด้า CX-30 ทำยอดขายได้สูงสุดของรถประเภทอเนกประสงค์เอสยูวี ด้วยจำนวน 5,180 คัน (ลดลง 3%) ตามมาด้วย มาสด้า CX-3 จำนวน 3,725 คัน (เพิ่มขึ้น 19%) มาสด้า CX-8 จำนวน 745 คัน (เพิ่มขึ้น 16%) และ มาสด้า CX-5 จำนวน 610 คัน (เพิ่มขึ้น 12%) ส่วนรถปิกอัพ มาสด้า บีที-50 มียอดขายสะสม 1,103 คัน (เพิ่มขึ้น 15%) และรถสปอร์ตเปิดประทุน มาสด้า MX-5 อีกจำนวน 5 คัน (เพิ่มขึ้น 67%) ตามลำดับ

เฉพาะเดือนกันยายนที่ผ่านมา มาสด้ามียอดขายรวมทั้งหมด 2,752 คัน แบ่งออกเป็นรถปิกอัพมาสด้า บีที-50 จำนวน 269 คัน (เพิ่มขึ้น 87%) รถอเนกประสงค์เอสยูวี จำนวน 1,220 คัน (เพิ่มขึ้น 33%) ได้แก่ มาสด้า CX-30 จำนวน 653 คัน มาสด้า CX-3 จำนวน 391 คัน มาสด้า CX-8 จำนวน 115 คัน มาสด้า CX-5 จำนวน 51 คัน และมียอดขายรถยนต์นั่ง จำนวน 1,263 คัน (ลดลง 24%) ได้แก่ มาสด้า2 จำนวน 1,144 คัน และมาสด้า3 จำนวน 119 คัน ตามลำดับ

นายใหญ่ ‘โตโยต้า’ ขอโทษลูกค้าชาวไทย กรณีปรับแต่งผลการทดสอบ Yaris ATIV

‘โตโยต้า’ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในไทย ประธานบอร์ดบริษัท-ผู้บริหารระดับสูง ขอให้ลูกค้าชาวไทยเชื่อมั่นในแบรนด์

(8 พ.ค. 66) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวชี้แจง กรณีความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ โดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมการแถลงข่าว ที่สำนักงานใหญ่ของโตโยต้า ประเทศไทย

นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวภายในงานแถลงข่าวว่า วันนี้ ตนได้เดินทางไปยัง โตโยต้า เกตเวย์ ศูนย์การผลิตและการวิจัยรถยนต์ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และเดินทางไปพบผู้แทนจำหน่าย (ดีลเลอร์)

สำรวจเงื่อนไขการเป็นเจ้าของรถยนต์ใน ‘ประเทศสิงคโปร์’ ภายใต้ ‘ใบอนุญาต’ ที่ทำให้รถราคาเบาๆ มีมูลค่ามหาศาล

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Panitxp’ ได้โพสต์คลิปเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเหตุผลที่ราคารถยนต์ในประเทศนี้สูงลิ่ว ด้วยว่า…

“การที่คุณจะเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ประเทศสิงคโปร์ได้ คุณจะต้องซื้อใบอนุญาต ซึ่งใบอนุญาตนั้น มีราคาแพงมาก เพราะฉะนั้น คนที่จะมีรถยนต์ได้ ต้องมีเงินเยอะมากๆ”

“สำหรับใบอนุญาตดังกล่าวนี้ เรียกว่า ‘Certificate of Entitlement’ หรือ ‘COE’ โดยในแต่ละปีรัฐบาลจะมีโควตาว่า ในปีนั้นจะสามารถมีรถใหม่เพิ่มได้กี่คัน ซึ่งใช้วิธีคำนวณจากรถที่ออกจากระบบในปีที่แล้ว และการเติบโตที่เฉลี่ยขึ้นประมาณ 3% ทุกปี หลังจากนั้น จะให้คนที่ต้องการซื้อรถยนต์ เข้ามาส่งราคา เพื่อทำการประมูลซื้อ หลังจากเสร็จสิ้นรอบการประมูลแล้ว จะมีการคำนวณราคาของ COE ให้ โดยทุกคนที่ได้โควตา จะจ่ายเท่ากับราคาของคนสุดท้ายที่อยู่ในโควตา”

“จากนั้นเมื่อได้ใบ Certificate นี้แล้ว คุณจะสามารถครอบครองรถได้ 10 ปี และอาจขอขยายเพิ่มได้ 5 หรือ 10 ปี หลังจากนั้น รถจะถูกบังคับขายและส่งไปยังต่างประเทศ ฉะนั้น แค่การซื้อรถ Toyota เล็กๆ สักหนึ่งคันที่นี่ อาจจะเริ่มต้นที่ 3 ล้านบาทกันเลยทีเดียว”

“ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนรถยนต์ และลดปัญหาการจราจรในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหนาแน่นบนท้องถนนที่สุดในโลก”

‘ไทยซัมมิท’ ทุ่ม 5 พันล้าน พัฒนาฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รองรับ EV จีน หวังกวาดรายได้ทั้งใน-นอกประเทศ 9 หมื่นล้าน

กลุ่มไทยซัมมิทเดินหน้าลงทุนอีก 5,000 ล้าน พัฒนาฐานผลิตทั้งในและต่างประเทศ ระบุหลังโควิดยอดขายสูงกำไรลดลง เผย ได้งานค่ายบิ๊กทรีในอเมริกา ส่วนในไทยเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รับค่ายรถจีนอีกอย่างน้อย 5 แบรนด์ ลั่น ปีนี้โกยรายได้ไม่น้อยกว่า 9 หมื่นล้าน

(24 พ.ค. 66) นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ว่า กลุ่มไทยซัมมิทเตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย โดยหลัก ๆ เน้นการลงทุนตามอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นการลงทุนสำหรับธุรกิจในประเทศไทย ที่จะเน้นการลงทุนแม่พิมพ์สำหรับรองรับโมเดลใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งอเมริกาใต้, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย รวมไปถึงฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย

“เรียกว่าการลงทุนของไทยซัมมิทในปีนี้ หลัก ๆ จะเป็นการลงทุนสำหรับฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งลูกค้าหลักในกลุ่ม Big 3 เริ่มขยับมาลงทุนในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนในไทยเองเราก็กำลังเตรียมงานเพื่อรองรับลูกค้าในส่วนนี้ล่วงหน้า อย่างน้อย 3-4 ปี ล่วงหน้า ซึ่งต้องรอให้บรรดาค่ายรถยนต์ออกมาประกาศความชัดเจน แต่วันนี้ไทยซัมมิทเตรียมงานในส่วนนี้และยุ่งกับตรงนี้อยู่” นางสาวชนาพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวชนาพรรณยังเปิดเผยถึงโอกาสของกลุ่มไทยซัมมิท หลังจากมีรถ EV เข้ามาบุกตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง และเร็ว ๆ นี้จะมีค่ายรถแบรนด์จีนอีก 4-5 แบรนด์ พร้อมที่จะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทย ซึ่งไทยซัมมิทได้มีโอกาสซัพพลายชิ้นส่วน ทั้งแบรนด์ที่ไฟนอลแล้วและแบรนด์ที่กำลังเตรียมเข้ามาทำตลาด ไทยซัมมิทอยู่ระหว่างการนำเสนอราคา

นอกจากนี้ อาจจะมีการลงทุนเพื่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ หลังจากก่อนหน้านี้การบริหารจัดการภายในประเทศได้มีการปรับเปลี่ยน และโรงงานบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“ตอนนี้บางรายให้เราเข้าไปเสนอราคาและนำเข้าไปที่จีน พวกที่ยังไม่จบคือยังอยู่ระหว่างทำราคากันอยู่ ส่วนกลุ่มที่จบแล้วกำลังดูว่าแต่ละโมเดลเราได้อะไรมากน้อยแค่ไหน ก็คละ ๆ กันไป ผลประกอบการตอนนี้ยอดขายสูงจริง แต่กำไรกลับลดลง” สำหรับในแง่ของเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้รวมไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนนโยบายหลัก ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจนั้น คือเน้นเติบโตไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม โดยในส่วนของความสามารถในการทำกำไรหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้ภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยน แม้ว่าจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของกำไรนั้นกลับลดลง ต้นทุนในการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องพยายามในการควบคุมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ได้ประสิทธิภาพ

“ปีนี้เราเองก็ยังไปไม่ถึงตัวเลขที่ตั้งใจไว้ คือแสนล้าน เพราะปัจจัยทุกอย่างเปลี่ยน แต่ถ้าธุรกิจของคนไทยสามารถก้าวขึ้นไปในระดับนั้นได้จริงจะถือเป็นความภูมิใจและไทยซัมมิทเองอยากจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้” นางสาวชนาพรรณ กล่าว
.
รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ อนาคตเชื่อว่าน่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอาจจะมีการแย่งงานกัน เพราะอย่างน้อยจะมี 5 โรงงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ถ้าจะประเมินคราว ๆ 1 โรงงานใช้พนักงาน 1,000 คน และกลุ่มผู้ผลิตรายเดิมก็ต้องมีการปรับปรุงขยายไลน์ผลิตเพิ่มเติม

ตรงนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เนื่องจากทุกคนต่างต้องการพนักงานที่มีความพร้อมในการทำงานได้ทันที และยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียง หรือมีความใกล้ชิดจะถูกดึงตัวไป ไทยซัมมิท มองว่าตรงนี้อาจจะกลายเป็นปัญหากระทบกันทั้งซัพพลายเชน ถ้าไม่เร่งหาทางออก

CEO เครดิตบูโร’ เตือน!! หนี้เสียรถยนต์พุ่งสูงต่อเนื่อง หลัง ‘คนเจน​ Y’ ผ่อนไม่ไหว หวั่นทำเศรษฐกิจไทยพัง

เมื่อไม่นานนี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ‘Surapol Opasatien’ กรณีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาหนี้เสียกลุ่มประเภทรถยนต์ ที่มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบระดับพังเศรษฐกิจไทยได้ โดยระบุว่า…

ข้อมูล​สถิติที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นสัญญานเตือนภัยในหลายปีมานี้​ เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น​
เรื่องหนี้ชาวบ้าน​ มีผู้ใหญ่กล่าวว่า​ มันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ​พังแต่มันทำให้เศรษฐกิจ​หงอย​ ซึม​ แต่ถ้ามันไปทำให้ระบบสถาบันการเงินเสียหาย​ อันนั้นแหละ​ จะเป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจ​จะพัง

กลับมาดูตัวเลขกันครับ​ หนี้รถยนต์​ในระบบเครดิต​บูโร​ยอดรวม 2.6 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่​ 1 มีสัญญาใหม่ที่ได้รับอนุมัติประมาณ​ 3.5 แสนบัญชี​ 53% เป็นคนเจน​ Y​ ขนาดของวงเงินที่ได้รับอนุมัติช่วง​ 5 แสนถึงสองล้าน คิดเป็น​ 67%

มาดูเส้นกราฟในภาพตรงกลางครับ​ สีแดงคือ หนี้เสียค้างเกิน​ 90 วัน ตอนนี้มาอยู่แถว 7% ของยอดหนี้​ 2.6 ล้านล้านบาทแระ​ เส้นสีเหลืองที่พุ่งขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่​ 4 ปี​ 2564​ มาจนถึงปัจจุบันไตรมาสที่​ 1 ปี​ 2566​ คือหนี้ที่ค้าง​ 1, 2, หรือ​ 3 งวด แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย​ ไปๆ มาๆ​ เรียกกันตามภาษาสินเชื่อคือ ‘เลี้ยงงวด’ กันอยู่​ ตรงนี้แหละ ที่มีความเป็นห่วงกันว่า​ 1.9 แสนล้านที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึงจะไหลไปเป็นหนี้เสียเท่าใด​ ค่างวดที่ต้องส่งต่อเดือนเทียบกับรายได้แต่ละเดือนยังไหวมั้ย​

ภาพด้านล่างคือการเอาข้อมูล​จำนวนบัญชีและจำนวนเงินที่เป็นหนี้มีปัญหามาแยกดูในแต่ละช่วงเวลาและยังแยกตามอาการว่า​ คนเจนไหนเป็นเจ้าของบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ค้าง​ 1, 2, 3 และเกิน​ 3 งวดตามสีนะครับ​ เหลือง​ ส้ม​ แดง​ เราจะพบว่าแท่งกราฟมันยกตัวขึ้นเพราะกลุ่มสีเหลืองมันยกตัวขึ้น​ สีเหลือง คือค้างชำระ​ 31-60 วันครับ​ และมันยกตรงกลุ่มเจน​ Y​ ค่อนข้างชัด

มันจึงไม่แปลกที่จะมีข่าวออกมาว่า​ สินเชื่อรถยนต์​ปล่อยกู้ยาก​ คนได้รับสินเชื่อยาก​ ปฎิเส​ธสินเชื่อเยอะ​ จนกระทบกับคนที่ขายรถยนต์​ เพราะบ้านเรามันกู้เงินมาซื้อกันมากกว่าซื้อสด​

ในอนาคตเราคงจะได้เห็น​ หนี้เสียจากรถยนต์​ที่รักโลก​ รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแน่ๆ​ จองๆ กันเยอะ​ ยังไงก็ช่วยวางแผนผ่อนจ่ายให้ดีด้วยนะครับ​ อย่าคิดแค่เอาส่วนที่ประหยัดค่าน้ำมันมาจ่ายค่างวดนะครับ... คิดเยอะ ๆ นะครับ

ข้อมูล​จากการบรรยายให้กับสมาชิกเครดิตบูโร​ให้ทราบ​ ให้ระวังการพิจารณา​ ให้เป็นข้อมู​ลในการบริหารและจัดการความเสี่ยง​

 

‘อุตสาหกรรม NEV’ จีนพุ่ง!! ยอดผลิตแตะ 20 ล้านคัน!! เร่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ-ขยายฐานเจาะทั่วโลก

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กว่างโจว รายงานว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีนได้ปักหมุดหมายความสำเร็จครั้งสำคัญ หลังจากมีการส่งยานยนต์พลังงานใหม่ออกจากสายการผลิตเป็นคันที่ 20 ล้าน ณ นครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา

‘ฟู่ปิ่งเฟิง’ รองประธานและเลขานุการสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน เผยว่า ยานยนต์พลังงานใหม่คันที่ 20 ล้าน ผลิตโดยบริษัท จีเอซี ไอออน นิว เอนเนอร์จี ออโตโมบิล จำกัด (GAC Aion New Energy Automobile) บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั่วโลก และคุณภาพสูง รวมถึงเป็นส่วนสำคัญของระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของจีน

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน เป็นผู้ประกาศการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนครบ 20 ล้านคัน ณ พิธีเฉลิมฉลองสถิติใหม่ในนครกว่างโจว ด้านจีเอซี ไอออน (GAC Aion) เป็นบริษัทยานยนต์พลังงานใหม่ในเครือบริษัท กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป จำกัด (GAC Group) ในนครกว่างโจว

‘จีน’ เผย ภาคการผลิตยานยนต์ครึ่งปีแรกโตต่อเนื่อง เพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม ดันรายได้-กำไรพุ่ง!!

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน รายงานว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 (มกราคม-มิถุนายน) อุตสาหกรรมการผลิตรถยานยนต์ของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการผลิต รายได้ และผลกำไร

รายงานระบุว่า มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมของภาคการผลิตยานยนต์ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดของประเทศอยู่ 8.9 จุด

รายได้จากการดำเนินงานรวมของกลุ่มบริษัทในภาคส่วนนี้แตะที่ 4.49 ล้านล้านหยวน (ราว 21.86 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบปีต่อปี

ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณกำไรรวมของกลุ่มบริษัทในภาคส่วนนี้อยู่ที่ 2.17 แสนล้านหยวน (ราว 1.05 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ยานยนต์ไทยใต้เงายุค EV ทางสองแพร่ง ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่สิทธิด้านภาษี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 10 ก.ย.66 ในประเด็นอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ทิศทางใดเพื่อผลักไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของเอเชียได้อย่างแท้จริง ดังนี้...

อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ซึ่งครองความเป็นเจ้าถนนมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก นับจาก Benz ได้จดสิทธิบัตร Motorwagen ครั้งแรกเมื่อปี 1880 และพาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไทย

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเจอกับ Technological Disruption ครั้งใหญ่ที่สุด ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแบบถอนรากถอนโคน เมื่อ Tesla ของ Elon Musk ได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EV) ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 จนผ่านมาถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ EV ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดผลิต/จำหน่ายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดและน่าจะเติบโตต่อไปอีกมาก เพราะความสนใจของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญใน Hardware และความเป็นเลิศทางยนตรกรรม มาเป็น Software และประสบการณ์ทางดิจิทัลผ่านยานพาหนะมากขึ้น

แน่นอนว่า ประเทศไทยซึ่งประสบความสําเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสัดส่วนใน GDP กว่า 10% พิจารณาได้จากการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน และถึงขั้นได้รับสมญานามว่าเป็น Detroit of Asia เมื่อปี 2017 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน ถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากเป็นอันดับ 13 ของโลก

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญ หากยังยึดโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนที่ได้กลายเป็นผู้นำในรถยนต์ EV และในการผลิตแบตเตอรี

ทิศทางการส่งออกรถยนต์ (สันดาป) ไปตลาดสำคัญๆ ของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตลาดที่เคยเป็นฐานหลักของไทยเริ่มหันเหไปมองหารถยนต์ EV มากขึ้น

ครั้นจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาด EV ก็น่าห่วงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งยังไม่สามารถเทียบได้กับจีนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่มีสินแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า

ดังนั้น จากนาทีนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เคยมุ่งเน้นแต่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ก่อนที่เราจะไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือให้พัฒนา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top