Thursday, 2 May 2024
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์

'มูลนิธิราชประชานุเคราะห์' หน่วยหนุนเคลื่อนที่ไว ส่งสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพทั่วถึงทุกราษฎร

ปัญหาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำภาคกลางที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐออกมาเร่งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ 

โดยมีหลายหน่วยงานทึ่ออกตัวไว ช่วยเร็ว ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ 'ปิดทองหลังพระ' ออกลุยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้มีโอกาสลงพื้นที่เก็บภาพบรรยากาศการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวแบบใกล้ชิด ส่วนภารกิจที่พี่ๆ ต้องเร่งทำนั้นจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ตามไปให้กำลังใจกันดูได้เลย

เริ่มตั้งแต่บรรจุสิ่งของพระราชทานบริเวณ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทางมูลนิธิฯ จะลงพื้นที่ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยโดยตรงตามบ้านผู้ประสบภัย 

ส่วนต่างจังหวัดทางมูลนิธิฯจะส่งสิ่งของพระราชทานมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งตั้งแต่ภัยพิบัติพายุโนรูที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ได้แจกถุงยังชีพพระราชทานไปแล้วกว่า 30,000 ชุด โดยถุงยังชีพพระราชทาน มีน้ำหนักมากถึง 20 กิโลกรัม ภายในมีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพสำหรับราษฎรที่เดือดร้อน เช่น ข้าวสาร, อาหารแห้ง, เครื่องกระป๋อง, น้ำดื่ม ยารักษาโรค และของใช้ในชีวิตประจำวัน 

ปทุมธานี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มอบเงินและสิ่งของพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี

ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชูปถัมภก แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ ทรงมีพระราชหฤทัยห่วยใยในความเดือดร้อนของประชาชน ได้มีพระราโชบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์จังหวัด  ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอัคคีภัย ให้มีขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตภัยไปได้ด้วยดี   ในวันนี้ (18 พ.ค. 66) จังหวัดปทุมธานี โดยนายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดปทุมธานี จึงได้นำเงินและสิ่งของพระราชทาน ไปมอบให้แก่ครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 2 ครอบครัว ได้แก่  นางสาวสมพิศ วงษ์สนอง เจ้าของบ้านเลขที่ 30/24 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง ซึ่งบ้านเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566  เวลา 10.00 น. ได้รับความเสียหายบางส่วน  และนางสาวสวิตตา แจ่มใส  เจ้าของบ้านเลขที่ 24/315 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง  เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ได้รับความเสียหายทั้งหลัง  โดยผู้ประสบภัยทั้ง 2 ครอบครัวต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้   

โอกาสนี้ นายนิติชัย วิริยานนท์ นายอำเภอคลองหลวงนางสาวสุพีพร โมรา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัด กลุ่มแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมพิธี ในเวลา  10.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสี่  ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง  จังหวัดปทุมธานี

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

'ในหลวง ร.๑๐' ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ดูแลเด็กยากลำบาก สถานภาพด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘พระลาน’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมระบุว่า… “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตราสัญลักษณ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานตามที่ขอพระมหากรุณา ดังนี้

๑. ทรงพระราชทานรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข ๕๘-๖๖ ประกอบด้วย

๑) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๘ จังหวัดนนทบุรี
๒) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๙ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๓) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๐ จังหวัดเชียงใหม่
๔) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๑ จังหวัดเชียงใหม่
๕) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๒ จังหวัดเชียงราย
๖) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด
๗) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๘) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๕ จังหวัดพัทลุง
๙) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๖ จังหวัดนราธิวาส

๒. ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง 

‘โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์’ ทั้ง ๙ แห่ง ที่คัดเลือกมานี้เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนและอยู่ในมูลนิธิฯ จะทำให้ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียม มีประสิทธิภาพทั้งวิชาการและทักษะอาชีพ เช่น เกษตรกรรม ทำอาหาร ฯลฯ มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย พัฒนาโรงเรียนให้ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อันคงไว้ซึ่งความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะครู บุคลากร และนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนและชุมชนดีขึ้น”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top