Saturday, 25 May 2024
มัธยมวัดธาตุทอง

รร.มัธยมวัดธาตุทองให้นร.ไว้ผมยาวได้ตามเหมาะสม พร้อมตอบกลับจี๊ด หลังเจอชาวเน็ตถามเหมาะสมใคร?

ชื่นชม! รร.มัธยมวัดธาตุทองให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ตามใจ ตามความเหมาะสม เจอถาม “ความเหมาะสมของใคร” ทางรร.ตอบกลับจี๊ด ได้ใจไปเต็ม ๆ

สำหรับประเด็นทรงผมนักเรียนถือเป็นที่ถกเถียงของสังคมมาอย่างยาวนาน บางโรงเรียนอนุญาตให้ไว้ผมยาวได้ ในขณะที่บางโรงเรียนยังคงบังคับเรื่องทรงผม หากไว้ผมยาวเกินกำหนด คุณครูอาจลงโทษด้วยการตัดผมโดยที่นักเรียนไม่ยินยอม ดังที่เป็นดราม่าอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้ โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองได้เป็นที่ชื่นชมของสังคม หลังออกกฎทรงผมนักเรียนที่แสดงถึงความเข้าใจนักเรียนเป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เพจโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้เผยกฎระเบียบเรื่องทรงผมของนักเรียน โดยระบุว่า นักเรียนหญิงสามารถไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ถ้ายาวควรยาวตามความเหมาะสม รวบให้เรียบร้อยและติดโบว์โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง

‘มัธยมวัดธาตุทอง’ ประกาศ ไว้ทรงผมนักเรียนตามเพศวิถี ขอแค่ดูเหมาะสม เรียบร้อย ‘ไม่ย้อมสีผม-ไว้หนวดเครา’

โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองออกระเบียบทรงผมนักเรียน หลัง รมต.ตรีนุชปลดล็อกก่อนหน้านี้ นักเรียนชาย หญิง และเพศวิถี ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ แต่ให้เหมาะสมและเรียบร้อย ห้ามย้อมสีผม และห้ามไว้หนวดไว้เครา ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์การเมืองชมเปาะ ใจกว้างรับความหลากหลายของนักเรียน

วันนี้ (21 ก.พ.66) รายงานข่าวแจ้งว่า งานกิจการนักเรียน งานโสตทัศนศึกษา กลุ่มบริหารทั่วไป โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ได้ออกระเบียบทรงผมนักเรียน โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง พ.ศ. 2566 ระบุว่า

ข้อ 1 นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม โดยสามารถไว้ทรงผมตามเพศวิถี ดังนี้

(1) นักเรียนชาย และเพศวิถีชาย จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านหน้า และกลางศีรษะ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

(2) นักเรียนหญิง และเพศวิถีหญิง จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบผม ติดโบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองให้เรียบร้อย

ข้อ 2 นักเรียนต้องห้ามปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้

(1) ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม
(2) ไว้หนวดหรือไว้เครา
(3) การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย

ประกาศดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเน็ต รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์การเมือง เช่น เฟซบุ๊ก ‘Jessada Denduangboripant’ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอมเมนต์ว่า “สุดยอดครับ ขอชื่นชมโรงเรียน ที่เปิดใจกว้างรับความหลากหลายของนักเรียนนะครับ เชื่อสิ ผลการเรียนที่ดีหรือไม่ดี มันไม่เกี่ยวกับทรงผมนักเรียนหรอก มันเกี่ยวกับความตั้งใจเรียนของเด็ก และความตั้งใจสอนของครูครับ”

ขณะที่เฟซบุ๊ก Kath Khangpiboon ของ อ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอมเมนต์ว่า “ยินดีกับนักเรียนทุกคนค่ะ การได้มาเรียนที่นี่ก็เป็นความสำเร็จแล้วค่ะ”

‘มัธยมวัดธาตุทอง’ สุ่มสอบปากเปล่าเด็กด้วย ‘คีย์เวิร์ด’ พบคำ ‘112-ขบวนเสด็จ’ และหลากคำคุ้นจากกลุ่มการเมือง

(8 มี.ค. 67) หลังจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นครู สอนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า…

‘การศึกษา’ คือ อาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก

- เนลสัน แมนเดลา -
“ห้องเรียนต้องสนุกเป็นพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการ”
“ครู ต้องเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียน กล้าคิด พูด ทำ”
“อภิปราย โต้แย้ง ด้วยเหตุผล หลักฐาน และข้อเท็จจริง”
“ช่วยกันทำให้ ‘สังคมศึกษา’ ไม่เป็นวิชาที่น่าเบื่ออีกต่อไป”
“ขอให้พี่ ม.6 โชคดี”

พร้อมกับแนบภาพ ‘ข้อสอบปลายภาค’ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 วิชาสาระร่วมสมัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีคำชี้แจงเบื้องต้น เช่น…

1. ข้อสอบฉบับนี้เป็นข้อสอบพูดปากเปล่า ในรูปแบบคีย์เวิร์ด มีจำนวนทั้งสิ้น 50 
2. นักเรียนจะเป็นผู้สุ่มเลือกข้อสอบเอง (โดยการจับฉลาก) นักเรียนมีเวลาอธิบายคีย์เวิร์ดที่จับฉลากได้ 3 นาที และหลังจากพูดจบ จะมีคำถามจากครูผู้สอน 2 คำถาม และมีเวลาในการตอบอีก 2 นาที
3. คีย์เวิร์ด จะมีความเกี่ยวข้องกับข่าวสาร ข้อมูล เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นในประเทศไทย ในสังคมโลก ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2565-2566 และเป็นเรื่องรางที่ครอบคลุมเกี่ยวกับทุกสาระการเรียนรู้ในวิชาสังคมศึกษา
4. ครูผู้สอนจะแจ้งข้อสอบในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2567 เวลา 09.00 น.และ สอบวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ.2567 เวลา 9.00 - 15.00 น. นักเรียนจะเลือกมาสอบวันไหนเวลาไหนก็ได้ตามลำดับคิว และ นักเรียนมีโอกาส 2 รอบในการตอบคำถาม
5. กรุณาแต่งกายและปฏิบัติตนตามระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผมโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง (ชุดนักเรียน)

ทั้งนี้ จะพบคีย์เวิร์ด ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากมาย เพียงแต่คำเหล่านั้น ก็ถูกโลกโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่า คำต่างๆ ที่ทางโรงเรียนนำมาใช้นั้น ทำไมช่างเหมือนกับเป็นการรวมคีย์เวิร์ดของ ‘คณะก้าวหน้า’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ มาไว้ในที่เดียว

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามถึงอาจารย์ผู้สอน วิชาสาระร่วมสมัย ว่ามีความรู้ ‘จริง’ แค่ไหนกับสถานการณ์ที่จะถูกอธิบายจากเด็กผ่านคีย์เวิร์ดต่างๆ แล้วการสอบจะมีการเอนเอียงหรือชี้นำด้วยหรือไม่ อย่างไร เช่นเดียวกันหากคำตอบถ้าไม่ตรงใจผู้สอน จะผ่านหรือไม่ผ่านหรือไม่ โดยคีย์เวิร์ดที่ว่า ประกอบไปด้วย...

- ลี้ภัยทางการเมือง
- เสรีทรงผม
- เสรีเครื่องแบบนักเรียน
- ทลายทุนผูกขาด
- Al คือ ภัยคุกคาม
- นิติสงคราม
- การบังคับบุคคลสูญหาย
- Stop Teen Mom
- ไม่นับถือศาสนา
- ค่าแรงขั้นต่ำ
- คนเท่ากัน หรือ คนไม่เท่ากัน
- ประชาธิปไตยแบบไทยไทย
- อำนาจนิยมในโรงเรียน
- Digital Wallet
- สังคมไร้เงินสด
- สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
- Content Creator
- วิกฤติภูมีอากาศ
- Digital Footprint
- เสียงของประชาชน
- การเมืองเป็นเรื่องของใคร
- Digital Wallet
- สถานศึกษาปลอดภัย
- ขบวนเสด็จ
- การสมรสเท่าเทียม
- กัญชาเสรี
- นักเรียน หรือ นักเลง
- สุราเสรี
- อิสราเอล vs ปาเลสไตน์
- มิจฉาชีพยุคดิจิทัล
- ภาวะสมองไหล
- ยูเครน vs รัสเซีย
- Fast Fashion
- ความกดดันของคน Gen Z
- พุทธพาณิชย์
- เกมสร้างพฤติกรรมรุนแรง ?
- Soft Power
- เมืองโบราณศรีเทพ
- PM 2.5 ฝุ่นพิษ ข้ามพรมแดน
- Social Bullying
- Mental Health
- กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำไมการศึกษาต้องเป็นหนี้
- พลเมืองโลก
- โลกหลายใบ
- มีลูกเมื่อพร้อม
- สิทธิมนุษยชนผู้ต้องขัง
- คุกมีไว้ขังคนจน
- ประเทศโลกที่สาม
- Role Model

เช็กลิสต์!! แรงหนุนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง วิชาสาระร่วมสมัย-ครู ต้องไม่ถูกคุกคาม

(15 มี.ค. 67) จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย รหัสวิชา ส33250 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังสื่อมวลชนหยิบข้อความที่โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ โดยกล่าวหาว่า เป็นภัยคุกคาม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และให้ยกเลิกข้อสอบดังกล่าว รวมไปถึงการข่มขู่คุกคามครูผู้สอนรายวิชาดังกล่าวจากบุคคลต่างๆ

ทั้งนี้ ต่อจากกรณีดังกล่าวเครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงานเห็นว่า ประเด็นหัวข้อในการสอบรายวิชานั้น เป็นประเด็นร่วมสมัยที่มีการถกเถียงและเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม และรายวิชาสาระร่วมสมัยอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ ที่มีหัวใจอยู่ที่การเรียนรู้โลกกว้าง การตั้งคำถามต่อปรากฎการณ์ที่อยู่ในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องปกติวิสัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้สืบสอบ อภิปราย พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า การวิพากษ์วิจารณ์และรู้เท่าทันโลก การสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน

นอกจากนั้น รายวิชาดังกล่าวยังมีรูปแบบการวัดประเมินผลที่หลากหลายและครูผู้สอนมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ การข่มขู่คุกคาม และการสั่งยกเลิกข้อสอบดังกล่าวจากประเด็นหัวข้อที่ถูกกล่าวหาว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้น จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมาย ตลอดจนเป็นหลักประกันว่า ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งโดยราชการหรือบุคคลอื่น ในการลิดรอนหรือจำกัดสิทธิของผู้สอนและผู้เรียนในอันที่จะเสนอ ถกเถียง และแสดงออกซึ่งข้อเท็จจริงและความเห็นของตนในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้และความเป็นไปของสังคมอันเป็นพื้นฐานสำคัญข้อหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจได้ หากเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้รับการคุ้มครอง

ในการนี้ เครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงาน จึงขอแสดงจุดยืนต่อกรณีข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

1. ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ อันหมายรวมถึงความเป็นอิสระของผู้สอนในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมการสอน การจัดกระบวนการเรียนรู้และการวัดประเมินผล การเลือกประเด็นหรือกำหนดเนื้อหาของเรื่องที่จะสอน การกำหนดวิธีการสอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงและความคิดเห็นในชั้นเรียน การปิดกั้นและตัดสินว่าข้อสอบดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมเพียงเพราะหัวข้อเรื่องที่ใช้นั้นไม่เป็นธรรม ความมั่นคงของชาติไม่ควรถูกตีความให้กว้างจนปิดกั้นการเรียนรู้และการพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางสังคมของเยาวชนและประชาชน ซึ่งแท้จริงแล้วคือรากฐานสำคัญของประเทศชาติ การจัดการเรียนการสอนที่ใช้ประเด็นทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย และเท่าทันโลก ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ในฐานะพลเมืองและพลโลก

2. ต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ และใส่ความเพื่อสร้างความเข้าใจผิดในสังคมต่อตัวบุคคล และกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจะต้องให้อำนาจสถานศึกษาดำเนินการโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม

3. ยืนหยัดเคียงข้าง และเป็นกำลังใจให้ครู อาจารย์ และนักการศึกษาในฐานะผู้กระทำการ (Agency) ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งในการจัดการเรียนรู้ การสร้างสรรค์หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การวัดประเมินผล และนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสำคัญ มีชุดคุณค่าประชาธิปไตยที่เป็นสากล ตลอดจนมีความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนและการตั้งคำถามต่อสังคม

"ศาสตร์จะงอกงามหากมีการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี"
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

>> เครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงาน

1. ครูขอสอน
2. สังคมศึกษาทะลุกะลา
3. Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
4. สหภาพคนทำงาน Workers' Union
5. ก่อการครู
6. อะไรอะไรก็ครู
7. นักเรียนเลว
8. มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) Makhampom
9. ก่อการสิทธิเด็ก
10. Math misconcepts
11. PLC Reform
12. BlackBox
13. คลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
14. ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
15. วันนั้นเมื่อฉันสอน

>> ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์
https://forms.gle/UVwYj4dsUWJhsLzF7


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top