Wednesday, 19 June 2024
ภาษาไทย

ข่าวดี!! เมื่อรัฐ Hessen พร้อมให้การสนับสนุนและบรรจุภาษาไทยเข้าสู่หลักสูตร

ไม่นานมานี้ ทางเพจ ‘พ่อบ้านเยอรมัน’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

เป็นผลดีอย่างมากสำหรับผู้ปกครองที่อยู่ในรัฐ Hessen โดยจากที่พ่อบ้านได้พูดคุยโดยตรงกับทาง กลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐ Hessen โดยคุณครูเบญ พบว่า…

“ภาษาไทยจะกลายเป็นอีกหนึ่งภาษาที่เด็กๆ จะได้เรียนและบรรจุในหลักสูตรของรัฐ ในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นกำเนิด (Herkunftssprache)”

โดยโครงการนี้ได้ถูกผลักดันจนได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน น้องๆ ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และน้องๆ นักเรียนในหลักสูตรภาษาไทยนี้ จะถูกนำไปบันทึกในสมุดพก และตัดเกรดตามหลักสูตรปกติเลยทีเดียว

สำหรับนักเรียนที่มีสิทธิสมัครนั้น จะเป็นนักเรียนที่อยู่ในระดับ Klasse 1-10 ในรัฐ Hessen ซึ่งทางเพจพ่อบ้านเยอรมันมองว่า หลักสูตรนี้จะช่วยให้…

>> น้องๆ ได้พัฒนาความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม

>> น้องๆ จะสามารถเข้าใจในภาษา, วัฒนธรรม, แนวความคิดของระหว่างสองประเทศมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าจะสามารถใช้ภาษาพูดคุยกับครอบครัวของพ่อหรือแม่ที่เมืองไทยได้อีกด้วย

>> เป็นการเพิ่มโอกาสในอนาคตของน้องๆ เพราะประเทศไทยกับเยอรมนีนั้น มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้า, ด้านการทำธุรกิจ หรือมีหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานระหว่างสองประเทศเป็นจำนวนมาก 

>> และแน่นอนว่าภาษาไทยนั้นได้ถูกบรรจุในหลักสูตรปกติ ดังนั้นน้องๆ ก็มีโอกาสที่จะได้รับคะแนนที่ดีและมีเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้นด้วยน้า

‘นักร้องไต้หวัน’ ปล่อยเพลงฮิตติดหูภาษาจีน แต่ฟังเป็นไทยได้ว่า “ไม่มี ไม่ใช่ ไม่ต้องกลัว”

(2 พ.ย. 65) เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘ลุยจีน’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ วิดีโอซิงเกิลเพลงใหม่ของ โชว์ หลัว (Show Lo) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เสี่ยวจู’ นักร้อง-นักแสดงชื่อดัง ชาวไต้หวัน ที่สร้างสรรค์เพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาจีน แต่สามารถฟังและร้องออกมาพ้องเสียงกับภาษาไทยอย่างแยบยลไว้ว่า…

🇹🇭 ภาษาไทย Go Inter ละครับ หยั่งชอบเลย 5555555 
ไม่ต้องกลัวๆๆๆๆๆๆๆ
อัพแอนด์ดาวน์ อัพ อัพ แอนด์ดาวน์....
ช่วยด้วยหยุดร้องตามไม่ได้ โคตร Earworm🤣🤣🤣

เข้าไปฟังเพลงเต็มและเต้นตามอย่างเมามันส์ได้เลยครับ 5555 https://www.youtube.com/watch?v=g-l7aY0_vUQ 
Creative มากๆ👍

ตัวเนื้อเพลงเล่นกับภาษาไทยหลายคำที่ออกเสียงคล้ายภาษาจีน แล้วคนจีนชอบเอามาล้อว่าเวลาไปไทยให้ฝึกพูดคำไทยง่ายๆ เหล่านี้ไว้

ไม่มี (ม่าย หมี่) 买米 - ซื้อข้าว
ไม่ใช่ (ม่าย ไช่) 买菜 - ซื้อผัก
ไม่ต้องกลัว (ม่าย ตง กัว) 买冬瓜 - ซื้อฟัก
ไม่ต้องกลัวผี (ม่าย ตง กัว ผี) 买冬瓜皮 - ซื้อเปลือกฟัก
สวัสดีค่ะ (ซวา หว่อ ตี ข่า) 刷我的卡 - รูดการ์ดของฉัน

ผมล่ะอยากเห็นทีมที่มาสอนเต้นเลยครับ อารมณ์จริตอะไรคือได้มากกก 55555😆 So Thai ห่าว ไท่ กั๋วววว

โดย เพลงนี้มีชื่อว่า ‘買冬瓜’ แปลว่า ‘ซื้อฟักเขียว’ ซึ่งออกเสียงว่า ม่ายตงกัว พ้องกับภาษาไทยว่า “ไม่ต้องกลัว”

อีกทั้งในมิวสิกวิดีโอเพลงยังได้ทำโลเคชั่นล้อไปกับตลาดนัดของประเทศไทย โดยมีคำว่า ‘Thailand’ ประกอบอยู่ด้วย พร้อมมีซับไตเติลภาษาไทยประกอบไว้ด้วย 

'วิน วศิน' แซะ!! 'บิ๊กตู่' หลังขึ้นแสดงงานเลี้ยง APEC 2022 เจอชาวเน็ตแคปฯ ทัน แม้เจ้าตัวจะรีบลบจากไอจี

ชาวเน็ตวิจารณ์ไอจีสตอรีของ ‘วิน วศิน พรพงศา’ แชมป์รายการ The Golden Song หลังขึ้นแสดงงานเลี้ยงเอเปก โพสต์เหน็บนายกฯ พูดต้อนรับแขกต่างชาติทั้งหมดเป็นภาษาไทย โต้กลับ หลายชาติก็มีล่ามแปล

วันนี้ (19 พ.ย.65) ในโลกโซเชียลฯ มีการวิจารณ์กรณีที่นายวศิน พรพงศา หรือวิน แชมป์รายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ยกกำลัง 3 ที่ขึ้นแสดงในงานเลี้ยงมื้อค่ำสุดหรูกาลาดินเนอร์ของการประชุมเอเปก 2022 หรือ APEC 2022 ปรากฏว่าเจ้าตัวโพสต์ไอจีสตอรี @winwin_neverlose ระบุข้อความว่า “Mission accomplished ได้ฟังนายกฯ พูดต้อนรับแขกต่างชาติทั้งหมดเป็นภาษาไทยแบบสดๆ!!!!!!” ซึ่งเป็นการกล่าวพาดพิงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในทวิตเตอร์ได้มีการแชร์ภาพแคปฯ หน้าจอจากไอจีสตอรีนายวศิน พร้อมวิจารณ์ว่า “คราวหน้าเวลาคัดคนเข้าร่วมงาน น่าจะเช็กประวัติให้ดีๆ ก่อนนะคะ” ซึ่งปรากฏว่ามีชาวเน็ตเข้ามาวิจารณ์มากมาย เช่น

“คงเป็นครั้งนี้และครั้งเดียวในชีวิตละค่ะที่จะได้โอกาสดีๆ แบบนี้อีก”

“คนมีความสามารถมากกว่านี้ก็มี คัดคนไม่ดูปูมเล้ย”

“เป็นคนไทย อยู่ในไทย ไม่พูดไทยซิแปลก ไม่เห็นต้องกระแดะพูดอังกฤษเลยในเมื่อก็มีล่าม ทีเกาหลีญี่ปุ่นเขาก็ไม่เห็นพูดภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติเลย ว่าแต่ไม่รู้จักนะนักร้องกิตติมศักดิ์คนนี้”

“ทำไมต้องไม่พูดภาษาไทยอะ? พูดไทยน่ะถูกแล้ว หลายๆ ชาติก็ไม่พูดอังกฤษนะ จัดที่ไทยก็พูดไทย ไม่เห็นจะแปลก”

“ไม่รู้เหรอเขามีล่ามแปลหลายคนหลายภาษา เนี่ยล่ะเขาถึงบอก เติมเน็ตแล้วหาความรู้บ้างไม่ใช่แซะอย่างเดียว”

“ปธน.สีจิ้นผิงพูดกับนายกฯ แคนาดายังพูดจีนใส่เลย ล่ามก็แปลทันที”

"โอ้โห ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรงเลยนะ เขาให้เกียรติเชิญไปแสดงในงาน แต่มาแซะแบบโง่ๆ ดีจริงที่ไม่เคยชอบคนนี้เลย"

"การประชุมระดับชาติ ผู้นำประเทศต่างๆ ก็จะพูดด้วยภาษาประเทศตนเองทั้งนั้น โดยมีล่ามแปล ทำตัวไม่สมกับที่ได้รับเกียรติเลย"

‘นักศึกษา ม.มิชิแกน’ แปลกลอน ‘สุนทรภู่’ เป็นภาษาอังกฤษ เลือกบท ‘แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์’ อวดเสน่ห์ทางภาษาให้โลกเห็น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 66 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันสุนทรภู่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ‘Ken Mathis Lohatepanont’ หรือ ‘นายเมธิส โลหเตปานนท์’ นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ทวีตข้อความระบุว่า เสียดายที่กลอนไทยยังไม่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ ทั้งที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ โดยในวันสุนทรภู่ปีนี้ ตนได้แปลบทกลอนของสุนทรภู่บางบทเป็นภาษาอังกฤษความว่า

“เป็นที่น่าเสียดายว่ากลอนของไทยยังไม่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากนัก ทั้งที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ สำหรับ #วันสุนทรภู่ ปีนี้ ผมได้แปลกลอนของสุนทรภู่บางบทเป็นภาษาอังกฤษ โดยคงฉันทลักษณ์ของกลอนแปดไว้ครับ”

ทั้งนี้ ข้อเขียนที่นายเมธิสกล่าวถึง ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.thaienquirer.com มีเนื้อหาระบุถึงการรำลึกวันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ กวีทีมีความชำนาญด้านกลอน เรียกได้ว่าเป็น วิลเลียม เชคส์เปียร์ ของประเทศไทย โดยสุนทรภู่ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงไว้หลายชิ้นด้วยกัน ซึ่งผลงานเหล่านั้นยังคงถูกนำมาอ้างอิงในวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่บ่อยครั้ง

จากนั้น นายเมธิส เล่าถึงประวัติสุนทรภู่ แล้วอธิบายฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ หรือ ‘กลอนแปด’ แล้วจึงแปลบทกวีจากเรื่องอภัยมณี โดยระบุว่า ตนพยายามซื่อสัตย์ต่อเนื้อหาของต้นฉบับภาษาไทยในการแปลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในบางจุด เพื่อคงไว้ซึ่งโครงสร้างคำสัมผัส คำสัมผัสในการทับศัพท์ภาษาไทยจะเป็นตัวหนา เพื่อให้ได้รู้ว่าคนไทยออกเสียงคำเหล่านี้อย่างไร ดังนั้น คำเหล่านี้จึงไม่สะท้อนถึงรากของคำ เนื่องจากบางคนชอบใช้คำทับศัพท์ภาษาไทย ดังนี้

Phra Aphai Mani — Sudsakorn

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

“Laew sorn wa ya wai jai manood
Mun san sood luek lam nuer kamnod
Tueng tao wan pan kiew tee liew lod
Gor mai kod muen nueng nai num jai khon
Manood nee tee ruk yu song satharn
Bida marnda rak muk pen pon
Tee pueng nueng peung dai tae kai ton
Kerd pen khon kid hen jueng jeraja
Maen krai ruk ruk mung chung chung torb
Hai rorb korb kid arn na larn na
Ru sing dai mai su ru vicha
Ru raksa tua rord pen yord dee

Do not trust others, he said :
be afraid of the human mind.
Even the most twisted of vines
seems benign compared to the soul.
Two people do have pure intent:
Your parents, who love with hearts whole.
But destiny’s yours to control
It’s your role to think on your own.
Beware of even the friendly
Cautiously think through all you’ve known.
Knowledge is not enough, alone:
The capstone is learning to survive.”

อย่าปล่อยภาษาชาติตน ถูก 'ทำลาย-ทดแทน' ด้วยภาษาชาติอื่น เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ทำลายรากเหง้าของความเป็นชาติ

ถือเป็นอีกเรื่องชวนคิด หลังจากก่อนหน้านี้ นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pat Hemasuk' ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาแห่งชาติ ดังนี้...

ในอดีตนั้นการทำลายรากเหง้า วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติ ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดนั้นคือการทำลายภาษานั้นทิ้งครับ เพราะภาษานั้นเป็นสิ่งที่ใช้สืบทอดรากเหง้าของชาตินั้นจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ศาสนา เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ จะโดนทำลายไปทั้งหมดภายในสองชั่วรุ่นคน เพราะเมื่อไรที่ไม่เหลือคนที่สามารถอ่านจารึกของบรรพชนได้ ทุกอย่างที่ผ่านมาในอดีตของชนชาตินั้นก็สูญสิ้นไปหมด

วัฒนธรรมของอียิปต์โบราณนั้นสูญหายไปนับพันปีหลังจากที่โรมันเข้าไปยึดครองและยกเลิกไปเสียทุกอย่างแม้กระทั่งภาษาอียิปต์ ทำให้อักษรเฮียโรกลีฟิคไม่มีใครอ่านได้นับพันปี จนกระทั่งมีการเทียบอักษรกับภาษาอื่นบนโรเซตต้าสโตนถึงจะปลุกให้คนรุ่นหลังสามารถอ่านและรู้ถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอียิปต์โบราณได้อีกครั้ง เทพเจ้าของอียิปต์และฟาโรห์พระองค์ต่าง ๆ ก็ฟื้นจากการถูกลืมกลับมามีชีวิตเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

ทิเบตก็เช่นกัน เวลานี้เป็นรุ่นคนที่สองแล้วที่จีนบังคับให้ใช้ภาษาจีนแทนภาษาของตัวเอง และเวลานี้คนรุ่นใหม่ก็อ่านจารึกของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป และเวลาอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้คนที่ยังสามารถอ่านจารึกเก่า ๆ ได้ตายไปหมด คนทิเบตก็จะกลายเป็นคนจีนกลุ่มน้อยไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต่างกับชนกลุ่มน้อยของจีนกลุ่มต่าง ๆ ทางทิศตะวันตก เช่นกลุ่มชาวอุยกรู์ที่เวลานี้อ่านภาษาดั่งเดิมของตัวเองไม่ได้แล้ว

ชาวบาสก์ ชนกลุ่มน้อยที่ชายแดน สเปน-ฝรั่งเศส เองก็โดนทำลายรากเหง้าของตัวเองจากสเปนในสมัยนายพลฟรังโก โดยสิ่งแรกนั้นคือยกเลิกการใช้และสอนภาษาของตัวเองแล้วให้ใช้ภาษาสเปนแทน ซึ่งเวลานี้ก็เกือบจะไม่มีใครอ่านและเขียนภาษาบาสก์ได้แล้ว เพราะการทำลายภาษานั้นรุนแรงมากระดับเผาทำลายหนังสือจนหมดสิ้น จนเวลานี้ชาวบาสก์เกือบจะหมดรากเหง้าของตัวเองในการสืบต่อไปให้ลูกหลาน

จงภูมิใจที่เรายังมีภาษาไทยเถอะครับ และรักษาสิ่งนี้สืบทอดให้ลูกหลานของเรา ผมนั้นเคยคุยกับเพื่อนชาติที่ไม่มีอักษรภาษาของตัวเอง เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ที่ต้องใช้ชุดอักษรโรมันในการเขียนที่พัฒนาขึ้นในยุคอาณานิคม เมื่อพวกเขาเห็นผมเขียนอักษรไทย พวกเขาต่างก็บอกผมคล้าย ๆ กันว่าพวกเขาอิจฉาคนไทยที่มีอักษรของตัวเอง และเขียนแล้วดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในสายตาของพวกเขา

เราอาจจะไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย เพราะเรานั้นเคยชินกับอักษรไทยและภาษาไทยทุกวัน แต่เชื่อเถอะครับว่ากวีและนักเขียนในประเทศอื่นที่ไม่มีอักษรของตัวเองนั้นโหยหาอยู่ในใจลึก ๆ เมื่อเห็นอักษรไทยหรืออักษรของชาติอื่น ๆ ที่มีเป็นของตัวเอง เพราะสิ่งนี้เป็นหลักประกันตัวตนของเราคนไทยที่สืบทอดลงไปสู่รุ่นลูกหลานว่าเราจะไม่มีทางลืมโคตรเหง้าของเราไม่ว่าจะอีกนานเท่าไรก็ตาม

**พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง...เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้า...กูต่อช้างด้วยขุนสามชน...ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง...เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า**

สิ่งนี้จะอยู่ต่อไป ลูกหลานภายหน้ายังคงรู้ประโยคในประวัติศาสตร์เหล่านี้ต่อไป ถ้าตราบใดที่เรายังมีภาษาไทยสืบต่อให้ลูกหลานอยู่ครับ

‘ม.ฮาร์วาร์ด’ บรรจุ ‘ภาษาไทย’ ลงหลักสูตรการเรียนการสอนปี 66-67 เชื่อ!! ก้าวสำคัญแห่ง 'ภาษาสยาม' ผงาดข้ามสู่ความเป็นอินเตอร์

เมื่อไม่นานมานี้ ช่องยูทูบ ‘สะท้อนไทย’ ได้นำเสนอมุมมองของผู้คนในหลายประเทศ ว่ามีความคิดเห็นยังไงกับประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ

หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของภาษาไทย ที่ดังไกลทั่วโลกจนถึงขั้นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง ‘ฮาร์วาร์ด’ (Harvard University) ต้องทำการบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา

สำหรับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ค.ศ. 2179

เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีก (Ivy League) โดยในปี ค.ศ. 2009-2010 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารยูเอสนิวส์ รวมถึงได้รับการจัดอันดับโดย ไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชันซัปพลีเมนต์ (Times Higher Education) หนังสือพิมพ์ชื่อดังจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 7 ของโลก ในปี ค.ศ. 2019-2020 ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีแห่งหนึ่งของโลก ที่ผู้คนทั่วโลกให้การยอมรับ

ทั้งนี้หากอ้างอิงจาก เพจอาเซียน ได้มีการโพสต์ถึงภาษาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้มีการบรรจุเข้าไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แก่ ภาษาบาฮาซา (Bahasa) ของประเทศอินโดนีเซีย, ภาษาตากาล็อก (Tagalog) หรือภาษาฟิลิปีโน (Filipino) ประเทศฟิลิปปินส์ และ ภาษาไทย (Thai) ของประเทศไทย

ด้าน เว็บไซต์เดอะสตาร์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับภาษาตากาล็อก, ภาษาบาฮาซา และภาษาไทยที่ถูกนำมาสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไว้ด้วยว่า ภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะทำการจ้างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน เพื่อสอนภาษาเหล่านี้โดยเฉพาะ สำหรับปีการศึกษา 2566-2567

แน่นอนว่า ภายหลังที่ทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้บรรจุหลักสูตรภาควิชาภาษาไทย เข้าไปเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ทำให้ในโลกออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- “ฉันเรียนภาษาไทยมา 2-3 ปีแล้ว แต่ฉันกลัวเกินกว่าจะพูดกับคนพื้นเมืองเสมอ เพราะฉันมักจะไม่มั่นใจในความเข้าใจของตัวเอง”
- “ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร คำศัพท์แสลงใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกปีที่มาจากคนหนุ่มสาว ง่ายยากอยู่ที่นิสัย และเรียนรู้ได้อย่างเต็มใจ ถ้ามีความสุขภาษา เขาจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว”
- “ภาษาไทยไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย”
- “ภาษาไทยเป็นภาษาที่ทั่วโลกให้การยอมรับ”
- “คนรุ่นใหม่ทั่วโลกอยากเรียนภาษาไทยกันมากขึ้น”

- “ภาษาเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนของเจ้าของภาษา 86 ล้านคน และอันดับที่ 20 ของโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้พูดระดับ 1 และ 2 ภาษาเวียดนามเป็นภาษาประชากรรายใหญ่อันดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องปกติที่จะได้รับการสอนภาษาเวียดนามในฮาร์วาร์ด แต่น่าตลกที่ข้อมูลนี้ แสดงเฉพาะภาษาไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเท่านั้น”
- “ถ้าไม่มีภาษาเวียดนาม นั่นคือข่าวปลอม ได้โปรด จงเข้าไปเช็กที่เว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด”
- “ภาษาอินโดนีเซียเอามาจากภาษามาเลเซีย” และได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งความเห็นนี้ว่า “ภาษามาเลเซียไม่มีอยู่จริง”

***ทั้งนี้ ก็มีดรามาเล็กๆ ถึงความเห็นที่พูดถึงเกี่ยวกับภาษาเขมร ซึ่งอ้างว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในหัวข้อประเด็นนี้ด้วย อาทิ...
- “แล้วภาษาเขมรล่ะ อยู่ที่ไหน?” จากคำถามนี้ ก็ได้มีความคิดเห็นส่วนใหญ่มาตอบกลับใต้คอมเมนต์นี้ว่า…
- “พวกเขาไม่สอนหรอก ภาษาตลกแบบนั้น มันตลกเกินไป”

หลังจากนั้นก็ได้มีชาวกัมพูชาเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า…
- “ตัวอักษรไทย มาจากภาษาเขมร ยินดีต้อนรับ คนรับใช้ชาวไทยของเรา”
- “ทำไมเขาถึงไม่สอนภาษาเขมร พวกเขายิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล”
- “ภาษาต้นฉบับแรกอยู่ที่ไหน? ภาษาเขมรอยู่ที่ไหน?”
- “ต้องมีแค่ภาษาเขมรอย่างเดียวสิ เพราะเขมรคือประเทศมหาอำนาจ”

ไม่ว่าประเด็นข้อถกเถียงจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือ ภาษาไทยกับก้าวสำคัญในการเป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง 'ฮาร์วาร์ด' อาจเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของ Soft Power ไทยผ่านภาษาไทยนับต่อจากนี้ ก็เป็นได้...

'ครูต่างชาติผู้รักเมืองไทย' โพสต์ขอโทษ หลังเขียนคำอ่านภาษาไทยผิด ด้านชาวเน็ตให้กำลังใจ คนไทยจริงๆ ยังมีเขียนผิดเช่นกัน

เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Teacher Elvis / Professeur Elvis / Tutor’ ซึ่งเป็นเพจของคุณครูชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ที่สอนภาษาอังกฤษ โดยมีผู้ติดตามกว่า 2 แสนคน ได้โพสต์คลิปวิดีโอขอโทษที่บางครั้งตนเขียนคำอ่านภาษาไทยผิดไปบ้าง ซึ่งไม่ได้มีความตั้งใจจริง ๆ โดยระบุว่า…

ขอขอบคุณนักเรียน คนไทย และทั่วโลก ที่ดูคลิปวิดีโอของตน ซึ่งตนไม่ใช่คนไทย ดังนั้นทุกวิดีโอ ทุกโพสต์ ที่นักเรียนจะเห็นในเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก หรือในยูทูบนั้น ตนเป็นคนคิดเองทําเอง และเป็นคนเขียนภาษาไทยด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ได้ทํางานกับใคร ไม่มีใครช่วย ฉะนั้นบางครั้งนักเรียนอาจจะเห็นว่ามีสระอาหรือสระอำมันหายไป ซึ่งต้องขอโทษก่อน เพราะว่าในโทรศัพท์ของตนนั้น ไม่มีภาษาไทย มันเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตนก็พยายามเขียนคําอ่านให้กับนักเรียน เพื่อที่จะได้อ่านภาษาอังกฤษออก โดยบางคำอาจจะมีผิดบ้างนิดหน่อย ตนต้องขอโทษ

พร้อมบอกอีกว่า เมื่อก่อนมันหนักกว่านี้ ช่วงนี้ก็ดีขึ้น เพราะมีการอัปเดตตัวเอง และรักเมืองไทย รักเด็ก ๆ รักการสอน ซึ่งตนเป็นคนที่ทุ่มเท ไม่ขี้เกียจ และชอบทํางาน 

นอกจากนี้ ได้เล่าเพิ่มเติมว่า มีเพื่อนของตนที่เข้ามาเมืองไทย ยังพูดภาษาไทยเท่าตนไม่ได้ อ่านภาษาไทยไม่ออกเลย ซึ่งก็มีนักเรียนมาถามว่า ตนเรียนภาษาไทยจากที่ไหน.. ซึ่งตนไม่ได้เข้าไปเรียนพิเศษ ไม่ได้เข้าไปที่โรงเรียน แต่เรียนด้วยตัวเอง กับเรียนจากเฟซบุ๊ก และยูทูบ โดยไม่ใช้แค่ภาษาไทยที่พูดได้ แต่พูดได้ 5 ภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เวียดนาม และไทย ซึ่งเขียนได้ด้วย เป็นต้น

ดังนั้นถ้าในโพสต์เห็นว่าตนเขียนคําอ่านอาจจะผิดไปบ้าง ต้องขอโทษล่วงหน้า โดยเมื่อก่อนก็เคยพูดเรื่องนี้เช่นกัน เพราะว่าบางครั้งอาจจะรีบ แล้วก็มันสะกดเองขึ้นมา หรือบางครั้งอาจจะไม่รู้ ซึ่งตนไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นอย่ามาจับผิดและดูถูกตนเลย เพราะว่าตนไม่ใช่คนไทย เหมือนที่บอกว่าเขียนภาษาไทยแบบนี้มันยากมากจริง ๆ 

ซึ่งตนอยากให้นักเรียนมาให้กําลังใจและช่วยกัน เพราะตนนั้นรักเมืองไทยและรักคนไทยมาก ๆ เลย คนไทยใจดีน่ารักมาก มีเสน่ห์ และรอยยิ้มสวย พร้อมขอบคุณที่ให้โอกาสได้อยู่เมืองไทย

ทั้งนี้ หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตจำนวนมากต่างเข้ามาให้กำลังใจคุณครูชาวต่างชาติท่านนี้ ดังนี้…

- ขอให้กำลังใจค่ะคุณครู อย่าท้อทำดีแล้วค่ะ ชาวไทยขอบคุณ ๆ ครูที่เผยแผ่ภาษาไทยได้ดีเยี่ยม ขอบคุณ ๆ ครูอีกครั้งที่รักประเทศไทยค่ะ สู้ ๆ ค่ะ
- รู้สึกขอบคุณค่ะที่ให้ความรู้แก่คนไทย ผิดบ้างถูกบ้างเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ คนไทยจริง ๆ ยังเขียนผิดเลยค่ะ
- คุณครูเก่งมากค่ะ ที่เขียนภาษาไทย พูดภาษาไทยได้ ด้วยตนเอง ยอมรับค่ะว่าเก่งมากค่ะ
- ขอบคุณที่แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้ทุกคนนะคะ ผิดบ้างไม่เป็นไรแก้ไขได้ค่ะ ไม่ใช่คนไทยทำได้ขนาดนี้ถือว่าดีมาก ๆ ค่ะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top