Monday, 29 April 2024
ภาพยนตร์ไทย

‘บุพเพสันนิวาส 2’ หนังไทยน้ำดี ที่มัดใจ 'ไทย-เทศ' แบบอยู่หมัด

‘ออเจ้า’ เป็นคำพูดยอดฮิตติดปากคนไทยอยู่หลายเดือนหรือเผลอ ๆ อาจจะเป็นปีด้วยซ้ำ เนื่องจากในปี 2561 ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ไทยที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ ‘รอมแพง’ เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ออกฉาย แสดงนำโดย โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า ราณี แคมเปน ที่พอออนแอร์ไปได้ไม่กี่ตอนก็ดึงดูดคอละครรวมไปถึงคนทุกเพศทุกวัยให้ติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง 

ทั้งนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับทีมเขียนบท ผู้กำกับ รวมไปถึงนักแสดงและทีมงานทุกคน ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพออกมาให้คนไทยได้รับชม พร้อมยังทำให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์ และหันมาสนใจสวมใส่ชุดไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยรวมไปถึงใช้คำเรียกคู่สนทนาว่า ‘ออเจ้า’ ด้วย

แม้ละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ฉายจบ แต่กระแสไม่จบง่ายๆ หลายคนเรียกร้องให้ทำภาค 2 หรือถึงขั้นทำในรูปแบบภาพยนตร์เลยก็มี และคำเรียกร้องก็เป็นจริงดังที่หวัง เพราะในปี 2565 นี้ ภาพยนตร์เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ ที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่าย GDH และบริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด กำกับการแสดงโดย ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ก็ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ โดยมีนักแสดงนำคือ โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ รับบทเป็น ขุนสมบัติบดี, เบลล่า ราณี แคมเปน รับบทเป็นแม่หญิงเกสร และ ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต รับบทเป็นเมธัส

ส่วนเนื้อเรื่องก็สอดแทรกประวัติศาสตร์ไทยเช่นเดิม แต่เปลี่ยนช่วงเวลามาในยุคต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังใส่ความแฟนตาซี มุกตลก มุกหยอดหวาน ๆ น่ารัก ๆ เข้าไว้ให้คนดูได้อมยิ้มขณะดูด้วย

ถือว่ากระแสการรับชม ‘บุพเพสันนิวาส 2’ ดีมาก ๆ เลยทีเดียว เพราะเข้าฉายวันแรกก็กวาดรายได้ทั่วประเทศไปกว่า 51 ล้านบาท ผ่านไป 3 วัน รายได้ทะยานไปถึง 134 ล้านบาท และเมื่อผ่านไป 14 วันรายได้ก็พุ่งสูงถึง 304 ล้านบาทเลยทีเดียว

งานนี้ทั้งนักแสดงและทีมงานก็ปลาบปลื้มกันไปถ้วนหน้า โดยพระเอกของเรื่องอย่าง ‘โป๊ป - ธนวรรธน์’ ที่ก็ได้ออกมาขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนดีเช่นนี้ ดีใจมากที่ยอดเปิดตัววันแรกเกิน 50 ล้านบาทและประทับใจมาก ๆ ที่ได้เห็นครอบครัว ลูก หลาน พาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา ออกมาดูหนังในโรงภาพยนตร์ด้วยกัน มันเป็นความสุขของครอบครัวที่ห่างหายกันไปนานมาก

ทางด้านนางเอกของเรื่องอย่าง ‘เบลล่า - ราณี’ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน โดยขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนผลงาน รู้สึกดีใจมากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ทุกคนยิ้ม หัวเราะ และมีความสุขได้ ยินดีจริง ๆ ที่ได้มอบความสุขให้กับทุกครอบครัว

วงการหนังไทยระอุ ร่วม #แบนสุพรรณหงส์  หลังประกาศกติกาใหม่ ส่อกีดกันหนังฟอร์มเล็ก

กำลังเป็นประเด็นร้อนเลยทีเดียว สำหรับดรามาเกี่ยวกับกติกาการคัดเลือกภาพยนตร์เข้าร่วมชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ที่คนทำหนังหลายคนโวยว่าไม่ยุติธรรม

โดยสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติออกกติกาใหม่ว่า หนังที่จะเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

▪️ ต้องฉายในโรงภาพยนตร์ ฉายผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวไม่ได้

▪️ ต้องฉายในโรงครบทั้ง 5 ภูมิภาค อย่างน้อยใน 5 จังหวัดใหญ่ คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช

▪️ ต้องมียอดผู้ชมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

ทั้งนี้ คนในวงการส่วนใหญ่มองว่าเกณฑ์การคัดเลือกนั้นเอื้อผลประโยชน์ให้กับค่ายใหญ่ ซึ่งมีภาพยนตร์ถึง 11เรื่องด้วยกันที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "เวลา" (Anatomy of Time) ที่เพิ่งคว้ารางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม "คมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่19" และรางวัลจากต่างประเทศมาแล้ว

ศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้กำกับศิลป์เรื่องดังกล่าวได้โพสต์ว่าภูมิใจมากที่ได้รางวัล คมชัดลึกอวอร์ด หลังจากที่ได้รางวัลจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ถูกตัดสิทธิเอาชื่อออก ไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าชิงรางวัลของเวทีใหญ่ "...หงส์มีหลักเกณฑ์ ใหม่ที่เพิ่งตั้งในปีนี้ว่า ว่าภาพยตร์ที่จะเข้าคัดเลือกต้องมีการเข้าฉายในโรงภาพยตร์ให้ครบ 5 ภูมิภาค ของประเทศไทย แต่ภาพยนตร์เรื่อง Anatomyoftime ไม่ได้ไปฉายให้ครบทุกภาคของประเทศก็เลยไม่ผ่านเกณฑ์การตัดสิน"

ด้านคุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมเผยว่า ปีนี้ถามทางสมาคมสมาพันธ์ไปแล้วและได้คำตอบว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนกติกาได้ และจะพิจารณาใหม่ในปีหน้า ลั่น "ปีนี้ขอไม่ไปสุพรรณหงส์นะครับ"

ต่อมา หรินทร์ แพทรงไทย นักตัดต่อเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ก็ได้โพสต์ #แบนสุพรรณหงส์ "เนื่องจากเกณฑ์การคัดเลือกหนังที่เข้ารอบไม่เป็นธรรม ผมจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทีมงานภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง งดการมีส่วนร่วมกับงานสุพรรณหงส์ที่จัดโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกเราไม่ยอมรับเกณฑ์การคัดเลือกหนังที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับหนังค่ายใหญ่ สมาพันธ์ควรมีหน้าที่ส่งเสริมและยกระดับหนังไทยให้มีพื้นที่ฉายอย่างทั่วถึง ไม่ใช่การเอาเกณฑ์การฉายมาตัดสิทธิ์หนังในการคัดเลือกรางวัลจนเหมือนเป็นการฆ่าอุตสาหกรรมหนังไทยด้วยกันเอง ปีที่แล้วเรียกร้องให้ทีมงานได้พูดตอนรับรางวัล นอกจากจะไม่ได้แล้วปีนี้ตัดสิทธิ์หนังที่ฉายไม่ครบทุกภาคเฉยเลย #ไม่ให้ค่างานที่ไม่เห็นคุณค่าคนทำงาน"

4 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ‘ภาพยนตร์แห่งชาติ’ ร่วมตระหนักถึงคุณค่าของภาพยนตร์ไทย

วันภาพยนตร์แห่งชาติตรงกับวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้พระราชทานขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของภาพยนตร์ไทย

วันที่ 4 เมษายน ของทุกปี เป็นวันภาพยนตร์แห่งชาติ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชทาน เพื่อให้ชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาพยนตร์ไทย เพราะภาพยนตร์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมบ้านเราได้ดีที่สุด

‘ผู้ประกอบการไทย’ ร่วมงาน ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง’ มุ่งพา ‘ภาพยนตร์ไทย-ละครไทย’ บุกตลาดจีนในอนาคต

(30 เม.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำหรับผู้ชมชาวจีนจำนวนมากแล้ว ภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายที่ดูในโรงอาจเป็นเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” เมื่อปี 2017 ที่ถึงแม้จะเป็นหนังทุนต่ำ แต่กลับกวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์หรือบ็อกซ์ออฟฟิศจีนได้ถล่มทลายถึง 271 ล้านหยวน (ราว 1.33 พันล้านบาท) ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในจีน

และเมื่อไม่นานนี้แสงสปอตไลต์ได้สาดส่องไปยังภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย.

ลี ทองคำ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย จากบริษัท ทองคำ ฟิล์มส์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมงานเผยว่าหลังจากได้ร่วมงานกับผู้กำกับชาวจีนรวมถึงบริษัทภาพยนตร์และวิดีทัศน์ของจีนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย และมาร่วมงานนี้เพื่อมองหาโอกาสการร่วมมือ เขากล่าวว่าผู้กำกับ นักแสดง เงินทุน และทรัพยากรอื่นๆ ที่มีคุณภาพของจีนช่วยยกระดับการผลิตผลงานร่วมกัน และเผยว่าภาพยนตร์ที่ตนผลิตร่วมกับบริษัทจีน ซึ่งเปิดตัวในไทยเมื่อปีที่แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการโปรโมตให้เข้าถึงผู้ชมชาวจีนในฤดูร้อนนี้

“ทีมกองถ่ายจีนนิยมมาถ่ายหนังที่ไทยมาก มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาหรือเริ่มถ่ายทำในไทยแล้ว” คำกล่าวของจางเลี่ยง จากบริษัทอาร์ท้อป มีเดีย (Artop Media) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 และได้นำภาพยนตร์ไทยส่งออกสู่สายตาผู้ชมชาวจีนแล้วมากกว่า 100 เรื่อง รวมถึงมีส่วนร่วมผลิตผลงานภาพยนตร์จำนวนหนึ่งในประเทศไทยด้วย

จางเลี่ยงกล่าวว่า เทศกาลภาพยนตร์เช่นนี้ สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัทภาพยนตร์ และผู้ประกอบวิชาชีพในวงการภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ พร้อมเผยว่าหลายปีมานี้ภาพยนตร์ไทยขายลิขสิทธิ์ได้ดีมากในจีน แต่ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงของจีนมีไม่กี่เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อใหม่มากกว่า

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น อ้ายฉีอี้ (iQiyi) เทนเซ็นต์ (Tencent) และ บิลิบิลิ (Bilibili) ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางหลักของชาวจีนในการชมภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังรุกเข้าสู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของจีนจำนวนมากเผยโฉมสู่ตลาดผู้ชมชาวไทย

ขณะที่บริษัทจีนอย่างไป่หมิง กรุ๊ป (Baiming Group) ซึ่งทำธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ก็หวังที่จะสร้างความร่วมมือกับบริษัทผลิตภาพยนตร์และฐานการถ่ายทำภาพยนตร์ของไทยผ่านเทศกาลนี้ เพื่อโปรโมตภาพยนตร์และละครใหม่ๆ

‘ต้องเต’ ผู้กำกับ ‘สัปเหร่อ’ ขอบคุณทุกเสียงสนับสนุน หลังภาพยนตร์กวาดรายได้ทั่วไทยทะลุ 300 ลบ.แล้ว

(18 ต.ค.66) แม้จะเข้าฉายสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้ว ทว่าความนิยมในภาพยนตร์ไทยเรื่อง สัปเหร่อ หนังเรื่องใหม่ของจักรวาลไทบ้าน ฝีมือกำกับของ ต้องเต ธิติ ศรีนวล พุ่งทะยานต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขรายได้ของเช้าวันนี้ จากการฉายทั่วประเทศไทยมากกว่า 300 ล้านบาทแล้ว

‘ต้องเต ธิติ’ เปิดเผยทางเฟซบุ๊กของเขาว่า “ขอบคุณหลายๆ เด้อครับ ผมขอบคุณอีหลี 💚🙏🏻

หนังมันเดินทางมาไกลเกินฝันหมู่เฮาแฮง มันเกิดขึ้นได้เพราะมีแฟนคลับทุกคนที่คอยสนับสนุน คอยมาเป็นกำลังใจให้หมู่เฮา ขอบคุณทุกท่านจากใจจริงครับ”

'ต้องเต' หวังรัฐบาลไทยหนุนภาพยนตร์ไทยเต็มกำลัง หลังยก 'สัปเหร่อ' ขึ้นแท่น Soft Power ของไทย

จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หลังชม ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตรประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่า ..."'สัปเหร่อ' คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ

รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย"

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 นายธิติ ศรีนวล หรือ ต้องเต ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ กล่าวในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ว่า "ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่ของผม อยากให้มาสนับสนุนจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนัง #สัปเหร่อ จริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่า 'สัปเหร่อ' เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ (SoftPower)

"อย่างตัวผมเองยังไม่รู้ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร ตอนผมทำ ผมยังแบบ 'เอ๊า!! หนังผมเป็น ซอฟต์เพาเวอร์' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มี 'ซอฟต์เพาเวอร์' จริง ๆ แน่นอน

"ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่อยากจะเอา ซอฟต์เพาเวอร์ เผยแพร่ต่อต่างประเทศ อยากให้พาไปจริง ๆ"

ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ หรือ X ว่า "รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจะเคลมผลงานใด ๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ

"ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง
"
"หวังอย่างยิ่งว่าในเร็ว ๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ

"การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไรแล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุนจึงจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ #SoftPower #รัฐบาลเศรษฐา”

"อันนี้เป็นนโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ 'ภาพยนตร์' ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่น ๆ อีกครับ”

ขณะที่ทางด้านเฟซบุ๊กเพจ 'ตุ๊ดส์review' ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่า ภาพยนตร์ #สัปเหร่อ กับคำว่า #SoftPower ของรัฐบาลไทย

1) จริง ๆ รัฐไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราจะสร้าง Soft Power กันยังไง เราแค่รอมันดังแล้วไปถ่ายรูปคู่ ไม่ได้ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และผลักดันโดยรัฐบาลตั้งแต่ก้าวแรกของการทำงาน

2) การดูกันเอง ชื่นชมกันเอง สนุกสนานกันเองในประเทศ แต่ไม่ได้ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก หรือพาหนังไปสร้างอำนาจละมุน ตามคำว่า Soft Power เพื่อพาวัฒนธรรมประชาชนไปสั่นสะเทือนวงการและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เท่ากับว่า "มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีการลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรม"

3) การรอฉกฉวยโอกาสของรัฐ ที่มีต่อสิ่งที่ดังด้วยตัวมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประยุทธ์ กำลังถูกสานต่อโดยยุคสมัยของเศรษฐา โดยที่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางการสร้างความสำเร็จ นอกจากรูปถ่าย PR เท่านั้น ที่ออกมาสร้างการรับชมกันเองในชาติ โดยที่ต่างชาติไม่ได้มาร่วมอึ้ง หรือซาบซึ้งใด ๆ กับเรา

4) ถ้าบอกว่าสนับสนุนเพื่อให้ Soft Power ไทยไปไกลในตลาดโลก รัฐต้องลงทุน และมีหน่วยงานที่เอาผลผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปเจาะตลาดโลก ตั้งแต่ Day One โดยร่วมวางแผนการสร้าง Soft Power ให้ก้าวแรกมีเนื้อหาสาระ นักแสดง กลยุทธ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการส่งออกแบบครบวงจร แต่เราไม่เห็นกระบวนการเหล่านั้นในการวางแผนการทำงาน

5) แค่ถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น Soft Power มันมีประโยชน์น้อยมาก แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการหนังเสียอีก หนังไหนดัง รัฐถึงจะวิ่งปรี่เข้าไปเชิดชู ส่วนหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน ไม่มีกระแส กลับไม่เคยได้รับการแยแสจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่หนังดี ๆ หลายเรื่อง ๆ ขาดการพูดถึง และให้คุณค่าจากสังคม แล้วทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้โอกาสกับหนังไทยหลาย ๆ เรื่องได้แจ้งเกิดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอผู้กำกับมาทวงถาม

Soft Power แบบปลอม ๆ ก็ไม่ได้ไปไหนได้ไกลกว่าการเชยชมกันเอง เมื่อไหร่โลกทั้งใบจะเห็นศักยภาพของคนไทยและวงการบันเทิงไทย เราต้องทวงถามให้รัฐบาลทำงานเรื่องนี้กันอีกนานแค่ไหน

ไม่งั้น Soft Power ไทย ก็มีไว้เพียงเพื่อการโฆษณา

'สว.วีระศักดิ์' ชี้ นโยบาย Soft Power ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว เพราะมีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ที่โรงแรม S31 กรุงเทพฯ SPACEBAR ได้จัดงานเสวนา SOFT POWER ฝันไกลไปได้แค่ไหน? เปิดเวทีระดมความคิดเห็นบุคลากรหลากหลายวงการ มาร่วมสะท้อนมุมมอง กับแนวคิดนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะผลักดัน SOFT POWER ไทย ให้มีศักยภาพส่งต่อไปถึงความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สายตาชาวโลก

โดยในเวทีดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า...

ความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถูกหยิบยกเป็นนโยบายระดับชาติ จากทั้งทางพรรคเพื่อไทยเอง และทุกพรรคที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอ้างอิงจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง Roadmap ก็ประเมินว่า อาจจะใช้เวลาถึง 3 ปี ถึงจะเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ตามแผน

“นโยบายนี้อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว รวมถึงนโยบายนี้มีมิติ 3 ด้านสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทับซ้อนกันอยู่ อย่างประเทศที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จอย่าง เกาหลีใต้ สำเร็จได้จากนโยบายการเมืองที่แข็งแรงและต่อเนื่อง” วีระศักดิ์ กล่าว

ภาพยนตร์ไทยฟีเว่อร์ ‘สัปเหร่อ-ธี่หยด’ โกยรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท

ปีนี้ถือเป็นปีทองของภาพยนตร์ไทยจริง ๆ ดูได้จากกระแสคนไทยพร้อมใจซื้อตั๋ว ตบเท้าเข้าโรงภาพยนตร์กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงครึ่งปีหลังปี 66 ที่ ‘สัปเหร่อ’ และ ‘ธี่หยด’ เข้าฉาย ก็ปลุกกระแสชมภาพยนตร์ไทยในโรงฯ ให้กลับมามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น แถมทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวถึงยังเดินหน้าทุบสถิติในรอบ 10 ปีอีกด้วย

หากจะนิยามว่า…ปีนี้ ‘ภาพยนตร์ไทย’ กลายเป็น Product ที่สร้างรายได้ให้กับโรงภาพยนตร์เป็นกอบเป็นกำ ก็คงไม่ผิดนัก!! เพราะด้วยเสน่ห์และรสชาติที่ถูกใจคนดู ทำให้ทั้ง ‘สัปเหร่อ’ และ ‘ธี่หยด’ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงและเรียกคนเข้ามาดูในโรงภาพยนตร์ได้ไม่ยาก

เริ่มจาก ‘สัปเหร่อ’ กำกับโดย ‘ต้องเต ธิติ ศรีนวล’ เป็นผลงานภาคแยกของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ ซึ่งจะถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสาน ให้มองเห็นคุณค่าของการมีชีวิต ทำทุกอย่างให้เต็มที่ และดูแลคนที่เรารักให้ดีที่สุด 

โดยเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในหมู่บ้านโนนคูณในจักรวาลไทบ้าน เล่าถึงชีวิตของ ‘เจิด’ (นฤพล ใยอิ้ม) หนุ่มวัย 25 ปีที่เรียนจบกฎหมาย หวังไปสอบเป็นทนายหรือปลัดอำเภอ แต่พ่อ (อัจฉริยะ ศรีทา) ที่ทำอาชีพสัปเหร่อมีอาการป่วย เขาจึงต้องมาช่วยทำงานแทน ทั้งที่กลัวผีมาก 

และอีกด้านหนึ่ง เล่าชีวิตของ ‘เซียง’ (ชาติชาย ชินศรี) ชายหนุ่มที่ยังทำใจไม่ได้ เพราะแฟนเก่า ‘ใบข้าว’ (สุธิดา บัวติก) ได้เสียชีวิตไป จึงพยายามหาวิธีด้วยการศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อที่จะได้พบเธอในโลกหลังความตาย แต่กลับไปพบพ่อของเจิดที่รอการทำพิธีถอดจิตไปโลกความฝัน ซึ่งพ่อเจิดเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถทำพิธีถอดจิต เลยนำมาสู่ข้อแลกเปลี่ยน เซียงต้องมาช่วยเจิดทำอาชีพสัปเหร่อ โดยสุดท้ายแล้วนั้น…ทุกอย่างมีเวลาของมัน เพราะมันคือธรรมชาติของความจริง ทุกคนเรียนรู้ เข้าใจการยื้อ และการเสียคนที่รักไป

หลังจากสัปเหร่อเข้าฉาย ก็กลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์อย่างมาก และส่งผลออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการสร้างรายได้แบบถล่มทลาย เพราะหลังจากเข้าฉายเพียงแค่ 25 วัน ก็ทำเงินแตะ 700 ล้านบาทแล้ว อีกทั้ง ยังขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดในรอบ 8 ปีด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีแผนโกอินเตอร์เข้าฉาย 9 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, เมียนมา, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเชีย และกัมพูชา บอกเลยว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ 

อีกหนึ่งภาพยนตร์กระแสแรงก็คือ ‘ธี่หยด’ ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ ที่ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อ ‘ธี่หยด’ แว่วเสียงครวญคลั่ง ของ กฤตานนท์ หรือ คุณกิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ผู้เป็นบุตรชายเจ้าของเรื่องราว เล่าถึงความลึกลับชวนขนลุกของเสียง ’ธี่หยด‘ ที่ถูกเขียนเล่าบนกระทู้พันทิปจนกลายเป็นนิยายดัง ก่อนที่คุณกิตจะนำมาเล่าอีกครั้งในรายการ The Ghost Radio ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ‘คุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา’

‘ธี่หยด’ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน พ.ศ. 2515 โดย ‘หยาด’ (เจลีลชา คัปปุน) และครอบครัวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านห่างไกลแถบ จ.กาญจนบุรี ช่วงหน้าหนาว ‘แย้ม’ (รัตนวดี วงศ์ทอง) ซึ่งเป็นน้องสาวของหยาด เกิดอาการป่วย ประจวบเหมาะกับมีเรื่องราวประหลาด ที่เด็กสาวในหมู่บ้านเริ่มทยอยกันเสียชีวิตปริศนา และหลังจากที่แย้มเผชิญหน้ากับหญิงชุดดำปริศนาที่อาศัยโดดเดี่ยวอยู่กลางป่า ชีวิตแย้มก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ซึ่งความประหลาดยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ช่วงเวลายามค่ำคืน คนในครอบครัวเริ่มได้ยินเสียงพูดแปลก ๆ จากแย้มแว่วว่า "ธี่หยด...ธี่หยด..." ขณะเดียวกันกับที่พี่ชายคนโต ‘ยักษ์’ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) กลับบ้านเกิดหลังจากปลดประจำการทหาร จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แย้มหายจากอาการประหลาด และทำให้ครอบครัวมีชีวิตรอดไปจากเสียงเพรียกสยองยามค่ำคืน

เพียงเข้าฉายแค่ 1 วัน ธี่หยดก็สร้างรายได้ทั่วประเทศ 39 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินร้อยล้านไวที่สุดแห่งปี ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน และโกยรายได้ 500 ล้าน ภายใน 20 วัน 

งานนี้โกยทั้งเงิน ทั้งคำชม และสร้างเสียงหลอนให้คนเอาไปเล่าขานจนสยองทั่วทั้งประเทศกันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ 2 เรื่องที่หยิบยกมาแล้ว ก็ยังมี ‘4 Kings 2’ ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เรื่องราวระหว่างสถาบันอาชีวะ นักเรียนตีกัน และคำว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งก็ทำรายได้แตะ 200 ล้านภายใน 2 สัปดาห์

ก็หวังว่ากระแส ‘ชมภาพยนตร์ในโรงฯ’ จะยังคงอยู่ และช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะแรงกำลังสำคัญของวงการนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ บทดี ผู้กำกับเก่ง แล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ต้องมีแรงหนุนจากผู้ชมด้วย 

และจะดียิ่งขึ้นหาก ‘รัฐบาล’ เข้ามาหนุนหลัง ปั้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์หลักของประเทศ ถึงตอนนั้น เราอาจจะได้เห็นภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลระดับโลกก็ได้!!

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top