Sunday, 5 May 2024
ภัยออนไลน์

ตร. เตือน ระวังหลอกให้ ‘รัก โลภ หลง’ ภัยออนไลน์ 3 รูปแบบ ย้ำ! ใครก็ตกเป็นเหยื่อได้

วันที่ 20 ต.ค. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้มี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

การสร้างความสัมพันธ์ หลอกลวงเหยื่อในลักษณะฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นให้เกิดความรัก มีทั้ง หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) , หลอกรักชวนลงทุน(Hybrid Scam) ,การข่มขู่กรรโชกทางเพศ(Sex Tortion) ซึ่งมักใช้วิธีการนำภาพผู้อื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อมูลเท็จ ทำทีเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ หลอกล่อด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ไปจนถึงความรัก จนเหยื่อยอมมอบทรัพย์สินให้ หรือยอมถ่ายคลิปลับของตนส่งไปให้คนร้าย และท้ายที่สุดคนร้ายก็จะตัดขาดการติดต่อจากผู้เสียหาย หรือนำคลิปลับมาข่มขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหาย

ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่ายังมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากยังคงตกเป็นเหยื่ออยู่ ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอมาย้ำเตือนพี่น้องประชาชนให้รู้เท่าทัน ถึงการฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบหลัก ดังนี้

1.) “หลอกให้เกิดความรัก” ใช้ภาพของบุคคลที่หน้าตาดี หล่อ สวย สร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นส่งข้อความถึงเป้าหมาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว หลอกให้เกิดความรัก ขอทรัพย์สินเป็นของขวัญ หรืออ้างว่าตนเองหรือบุคคลในครอบครัวต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีเงินเพียงพอ จนเหยื่อหลงเชื่อ มอบทรัพย์สินให้เป็นจำนวนมาก

2.) “หลอกให้เกิดความโลภ” ใช้ภาพของบุคคลที่น่าเชื่อถือ สร้างโปรไฟล์ปลอมให้ดูเหมือนเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงเป้าหมาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภ อ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง โดยใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ลงทุนปลอม หลอกให้เหยื่อสมัครลงทุนที่ไม่มีอยู่จริง หรือได้รับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะคนรู้จักเท่านั้น ไม่เปิดเผยต่อคนภายนอก หรืออ้างว่ามีทรัพย์สินของตนจำนวนมาก ติดอยู่ที่ศุลกากร จำเป็นต้องจ่ายภาษี จึงขอให้ผู้เสียหายชำระเงินภาษีให้ โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีอยู่จริง จนทำให้เหยื่อหลงเชื่อ มอบทรัพย์สินให้คนร้าย

‘รัฐบาล’ เดินหน้าปราบมิจฉาชีพฉ้อโกงออนไลน์ สั่ง ‘ดีอีเอส’ ประสานทุกฝ่ายดำเนินคดีผู้กระทำผิด

รัฐบาลเอาจริงปราบฉ้อโกงออนไลน์ มอบดีอีเอสประสานดีเอสไอ สตช. แบงก์ชาติ เร่งแก้ไข พร้อมติดตามการดำเนินคดีผู้กระทำผิด รวบรวมผลรายงานนายกรัฐมนตรีใน 30 วัน พร้อมหนุนป้องกันเยาวชนจากภัยออนไลน์

(29 ต.ค. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์ และการขายตรง การพนันออนไลน์ รวมทั้งการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยคนร้ายมักปรับรูปแบบและวิธีฉ้อโกงและหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อโดยมิรู้เท่าทัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาที่ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อน 

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด และหากเป็นกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการทำผิดนั้นจะต้องลงโทษเด็ดขาด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มีการหารือถึงปัญหาดังกล่าวและได้มีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และให้เร่งติดตามการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย 

และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมผลการดำเนินการและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันโดยภายหลัง ครม. มีมติมอบหมายเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สตช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเร่งด่วน

กู้ออนไลน์ ต้องรู้ทันมิจฉาชีพ! | TIME TO KNOW EP.16

ทนายบอน ณัฐนันท์ กัลยาศิริ เผยว่ามีประชาชนมาปรึกษาว่าโดยหลอกกู้ออนไลน์กว่า 300 ราย จึงอยากเตือนประชาชนว่าอย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวอะไรในเว็บไซต์ง่ายๆ ต้องพิจารณาให้ดี ต้องรู้ทันมิจฉาชีพ เพราะการกู้เงินออนไลน์ ไม่เพียงแต่เสียเงินเท่านั้น ยังเสียสุขภาพจิต มีความเครียด และกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ มาติดตามรายละเอียดเพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพได้ในคลิปนี้…

วันนี้ได้รับเกียรติจาก 'คุณณัฐนันท์ กัลยาศิริ' (ทนายบอน)
ทนายความหัวหน้าสำนักงาน สำนักงานกฎหมายประชาธรรม

ดำเนินรายการโดย อ๊อดโต้ วสันต์ 
Content Manager THE STATES TIMES

รับชม TIME TO KNOW ตอนอื่นๆ ได้ที่ :  https://youtube.com/playlist?list=PL60bae1syuyLeCUW3J3YQWxrNs4ZAeXBp 

🎥 ช่องทางรับชม
Facebook: THE STATES TIMES PODCAST
YouTube: THE STATES TIMES PODCAST
TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

ผบ.ตร. เร่งรัดป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะภัยออนไลน์ ที่เกิดขึ้น และสร้างความตระหนักรู้เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชน

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เร่งรัดป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะภัยออนไลน์ ที่เกิดขึ้น  และสร้างความตระหนักรู้เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนนั้น 


วันนี้ (14 มี.ค.66) เวลา 10.00 น. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง  ผู้ช่วย ผบ.ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าว   เกี่ยวกับสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา   และภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ในรอบสัปดาห์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ  โดยมีรายละเอียด ดังนี้  


ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา(1 มี.ค.2565-11 มี.ค.2566) พบว่ามีการรับแจ้งความคดีออนไลน์ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 73,252 เคส/955,427,866 บาท 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม  29,945 เคส/3,323,194,517 บาท 3) คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน   24,821 เคส/1,034,104,918 บาท 4) คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ (call center) 20,013 เคส/3,505,338,808 บาท 5) คดีหลอกให้ลงทุน(ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน)16,460 เคส/7,661,884,637 บาท  6) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า(เป็นขบวนการ)8,036 เคส/57,293,969 บาท 7) คดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 7,285 เคส/  254,219,605 บาท 8) คดีหลอกให้โอนเงิน(ไม่เป็นขบวนการ) 5,286 เคส/  369,123,851 บาท 9) คดีหลอกให้รักแล้วลงทุน 3,201 เคส/  1,556,536,563 บาท และ 10)หมิ่นประมาท ดูหมิ่น 3,171 เคส/  11,641,372 บาท รวมทั้งปีมีผู้แจ้งความ 218,210 เคส มูลค่าความเสียหายรวม 31,579,305,746 บาท  


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-11 มี.ค.2566)  พบว่ามีการรับแจ้งความคดีออนไลน์  5 อันดับแรก   ได้แก่ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 2,184 เคส/19,075,526.61 บาท     2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม 758 เคส/87,227,644.38 บาท    3) คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ(call center)739 เคส/87,227,644.38  บาท  4) คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 576 เคส/  23,697,409.86 บาท  และ 5) คดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 312 เคส/8,273,770.68  บาท รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ  5,787  เคส/มูลค่าความเสียหายรวม 377,284,886  บาท  

 
จากสถิติรับแจ้งความออนไลน์ทั้งรอบปีและรอบสัปดาห์ข้างต้นพบว่า สถิติอันดับ 1-4  ยังคงอยู่ในลำดับต้นๆเหมือนเดิม จึงขอเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งค์มิจฉาชีพดังกล่าว  
ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ คือ คดีแก๊งค์ call center แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและได้โทรศัพท์หาผู้เสียหายให้ตรวจสอบสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน Website กระทรวงการคลัง จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนใน line ช่วงนี้คนร้ายส่ง link กระทรวงการคลังปลอมให้ผู้เสียหายกดเข้าไป ต่อมาคนร้ายได้ให้ผู้เสียหายกดที่โลโก้ของกระทรวงการคลังมุมขวามือ  ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังจริง  จึงยินยอมกด link  เข้า Website ปลอม และกรอกข้อมูลชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์  ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวในระบบ  และใส่รหัสยืนยันตัวตน  เลข 6 หลัก  ต่อมาผู้เสียหายกรอกเลข OTP 6 หลักให้คนร้ายเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถูกควบคุมโทรศัพท์และถูกดูดเงินออกไป จึงขอประชาสัมพันธ์ว่าจงมีสติไม่หลงเชื่อ ไม่กรอกหรือให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางออนไลน์และทางโทรศัพท์    

ไม่ควรกระทำการใดๆใน  Website   หรือ  Application ที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่กด link แปลกปลอม และไม่ดาวน์โหลด Application ที่ไม่ผ่านการยืนยันโดยแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ   

‘ดีอีเอส’ เตือน ปชช. ระวังตกเป็นเหยื่อ ‘แก๊งบัญชีม้า’ หลอกให้เปิดบัญชี อ้างได้เงินตอบแทนจากหน่วยงานรัฐฯ

(22 มี.ค. 66) นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการหลอกลวงประชาชนให้ค่าตอบแทน 400-500 บาท อ้างว่าจะนำเป็นหลักฐานไปใช้ในการทำสวัสดิการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐฯ อาทิ การร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การรับเงินสนับสนุนต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนหลงเชื่อและอยากได้เงินค่าจ้าง โดยบางรายมาทราบทีหลังพบว่า มีการเปิดบัญชีธนาคารและมีเงินหมุนเวียนหลายแสนบาท ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีฐานความผิดเปิดบัญชีม้าแล้ว

ขณะนี้ มีประชาชนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ แจ้งความต่อตำรวจตามโรงพักในท้องที่ และตรวจสอบตามธนาคารต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและดำเนินการปิดบัญชี เพราะหากมีการนำเอกสารไปเปิดบัญชีโดยไม่มีส่วนรู้เห็น เพื่อป้องกันความผิดฐานเปิดบัญชีม้า

ตำรวจไซเบอร์ เปิดรายชื่อ 29 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่มิจฉาชีพอ้างหลอกลวงประชาชน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค.65 - เดือน มี.ค.66 รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน บช.สอท. ได้รับการร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่า ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน สร้างเพจเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ปลอม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ออกอุบายต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน หรือโอนเงินไปตรวจสอบ หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานเหล่านั้นซึ่งมิจฉาชีพได้สร้างปลอมขึ้นมา จากนั้นได้หลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึง และให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เสียหายใช้งาน หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก จำนวนหลายครั้ง เป็นเหตุให้เงินของผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพโอนออกไปจนหมดบัญชี แต่ในปัจจุบันพบว่าเหล่ามิจฉาชีพดังกล่าวยังคงโทรศัพท์ หรือส่งข้อความไปหลอกลวงประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่ใช้ในการแอบอ้างไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง ทั้งนี้ตรวจสอบพบแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานต่างๆ กว่า 29 หน่วยงาน มีรายละเอียด และกลอุบายที่ใช้ในการหลอกลวง ดังต่อไปนี้

 
1.กระทรวงการคลัง หลอกลวงให้ยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือหลอกให้กรอกรหัสของแอปพลิเคชันเป๋าตัง  
2.กรมสรรพากร หลอกลวงแจ้งว่าได้รับสิทธิโครงการของรัฐเฟสใหม่ หรือเตือนให้ชำระภาษี หรือแจ้งว่าเสียภาษีไม่สำเร็จ  
3.กรมสอบสวนคดีพิเศษ หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานเพื่อป้องกันการฉ้อโกง  
4.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้เอกสารราชการปลอม หลอกลวงให้ปรับปรุงข้อมูลนิติบุคคล หรืออ้างว่าได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจจากผลกระทบโควิด-19  
5.กรมที่ดิน ปลอมแปลงหนังสือราชการ อ้างว่าเป็นการสำรวจข้อมูลผู้เสียภาษีที่ดิน หลอกลวงอัปเดตฐานข้อมูลตามที่อยู่อาศัย หรือให้ยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรืออาคารชุดต่างๆ 
6.กรมการขนส่ง สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ถูกกฎหมาย 
7.กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครพนักงานออนไลน์ รับสมัครคนไปทำงานต่างประเทศ 
8.กรมการปกครอง เปิดรับลงทะเบียนทำบัตรประชาชน สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 
9.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกลวงว่าได้รับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ในอัตราต่างๆ ตามขนาดมิเตอร์ ตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน  
10.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หลอกให้สมัครบริการเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพื่อลงทุนเช่าพลังงานไฟฟ้า 
11.การประปานครหลวง หลอกลวงได้สิทธิเปลี่ยนมิเตอร์น้ำฟรี หรือได้โอนเงินชำระค่าน้ำประปาเกินจริง หรือให้ลงทะเบียนเข้าฐานข้อมูลใหม่ และจัดการราคาค่าน้ำใหม่ หากไม่ลงทะเบียนจะถูกตัดน้ำ 
12.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ได้ทั้งหมด 
13.สำนักงานประกันสังคม หลอกลวงผู้ประกันตนให้อัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน หรือให้ตรวจสอบสิทธิเยียวยาโควิด-19 หรือได้สิทธิตรวจสุขภาพฟรี 
14.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าให้อัปเดตข้อมูลบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน หรือแจ้งว่าได้รับเงินเยียวยาจากการป้องกันโรคระบาดของรัฐ 
15.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์จะถูกระงับ เพราะทำธุรกรรมผิดกฎหมายพนันออนไลน์ 
16.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อเงินด่วน ปล่อยกู้ออนไลน์ หรือให้ชำระหนี้บัตรเครดิต 
17.บริษัท คิง เพาเวอร์ (King power) หลอกว่าได้รับส่วนลด และของสัมมนาคุณฟรี เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งบริษัท  
18.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดรับสมัครพนักงานตรวจสอบคำสั่งซื้อเที่ยวบิน  
19.บริษัท ปตท. จำกัด เปิดรับสิทธิพิเศษ ค่าน้ำมันรถยนต์ฟรีสำหรับคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว 
20.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีพัสดุผิดกฎหมาย หรือมีพัสดุตกค้าง ตีกลับ 
21.บริษัท Grab หลอกว่าได้รับบัตรกำนัล Grab Gifts มูลค่าต่างๆ  
22.บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หลอกว่าได้รับบัตร หรือคูปองเติมน้ำมัน 
23.บริษัท แอดไวซ์ (Advice) มอบส่วนลดและสิทธิพิเศษในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 
24.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลอกลวงให้เปิดพอตหุ้นให้ลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท 
25.สภากาชาดไทย หลอกลวงแจกรางวัลโบนัส 
26.สายการบิน Thai Lion Air แจ้งว่าได้รับบัตรโดยสารเครื่องบินฟรี เนื่องจากใช้บริการอย่างต่อเนื่อง 
27.สถานีตำรวจต่างๆ แจ้งว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมาย มีหมายจับ 
28.ตำรวจไซเบอร์ เพจเฟซบุ๊กปลอม อ้างสามารถช่วยเหลือเร่งรัดคดี 
28.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน ให้โอนเงินมาตรวจสอบ 
29.โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 หลอกลวงให้ทะเบียนรับสิทธิส่วนลดต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ มีวันหยุดยาว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-17 เม.ย.2566 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่คนไทยมีความสุข  ได้เดินทางไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่  แต่พวกมิจฉาชีพกลับอาศัยโอกาสนี้ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากพี่น้องประชาชนคนไทย


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์ ภัยที่เกิดขึ้นใหม่และภัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 เม.ย.2566)  รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 5,269 เคส/312,510,656.69 บาท

 สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,224 เคส/ ความเสียหายลดลง 307,208,129.81 บาท โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ  2,600 เคส/34,066,584.28 บาท 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 719 เคส/61,185,905.30 บาท 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 539 เคส/22,793,579.46 บาท 4) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์   286  เคส/72,795,550.02บาท และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 276 เคส/47,917,957.49 บาท

‘สรรเพชญ’ กระทุ้ง ‘กสทช.’ ควรทำงาน ‘จริงจัง-เต็มความสามารถ’ หลัง ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก-ซิมม้าสะพัด’ ปชช.เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และรายงานการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำหรับปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ข้อสังเกตรายงานการเงินของ กสทช. ที่เสนอมานี้ผมมีความเป็นห่วงต่อการดำเนินงานของ กสทช. เนื่องจากตามเอกสารที่ปรากฏตาม ข้อ 49 ของผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า กสทช. มีเรื่องข้อพิพาทและคดีความที่สำคัญที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ยื่นฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 4,700 ล้านบาท และที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 126,000 ล้านบาท ซึ่งข้อพิพาทเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. จะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์ทั้งสองกรณีนี้ เป็นจำนวนเงินที่มากและมีผลต่างกันที่มากพอสมควร จึงขอให้สำนักงาน กสทช. ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และหวังว่าท่านจะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของพี่น้องประชาชน”

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณา พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งก็ได้มีการอภิปรายแสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของมิจฉาชีพออนไลน์หรือแก๊ง Call Center ที่กำลังระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในขณะนี้ ในฐานะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ในการออกหมายเลขโทรศัพท์ นายสรรเพชญฯ จึงได้ตั้งคำถามไปยัง กสทช. ในประเด็นต่าง ๆ 2 เรื่อง ได้แก่...

1. จากปัญหาการระบาดของแก๊ง Call Center ที่เกิดขึ้นท่านมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบ ความเสียหายของพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง เพราะปัญหานี้มีการใช้ซิมม้า ที่ล่าสุดได้มีการจับกุมโดยตำรวจไซเบอร์กว่า 1 แสน 8 พันซิม เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดย กสทช. เองก็มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมหรือจำกัดเลขหมาย ได้มีการกำหนดให้มีการพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของซิมหรือไม่? รวมถึงปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตชายแดน หรือ Operator กสทช. มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

2. เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักงาน กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่ทำรายได้ให้รัฐมหาศาล เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท ซึ่งการมีรายได้มหาศาลขนาดนี้ ประชาชนก็ตั้งความหวังไว้กับการทำงานของที่จะสามารถทำงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยในประเด็นนี้ สส.สรรเพชญได้สอบถามถึงการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคสมัยให้รอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างไร? และจะมีแนวทางในการขยายโครงข่ายของสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศได้อย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ หวังว่า กสทช. ในฐานะผู้มีอำนาจควบคุมและดูแลในเรื่องนี้จะทำได้แก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากมาย เพื่อให้เกิดกระโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

‘ตร.ไซเบอร์’ เผย 3 ภัยออนไลน์ที่คนร้ายนิยมใช้หลอกเหยื่อ เตือน!! ข้าราชการวัยเกษียณ-ปชช. ระวังกลลวงมิจฉาชีพ

(24 ก.ย. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ตามที่ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่า ‘เกษียณอายุราชการ’ นั้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ที่ผ่านมานั้น พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้าง หรือแอบอ้างในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

1.) หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แอบอ้างบุคคล หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงทน หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว

2.) หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญ ให้ทำการอัพเดตข้อมูล จากนั้น หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางปลอม ‘Digital Pension’ ผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้น ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินสแกนใบหน้า และให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ กระทั่งมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

3.) หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษี ไปให้กับมิจฉาชีพ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 17 ก.ย.66 การหลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวน 26,827 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.18% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,313 ล้านบาท การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวน 8,158 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.49% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 862 ล้านบาท และการหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 12 มีจำนวน 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

โฆษก บช.สอท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังคงพบว่า มีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอบอ้างโครงการของรัฐฯ การหลอกลวงให้อัปเดตข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคล หรือหลอกลวงสร้างสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อาศัยความความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวดัง ต่อไปนี้

1.) ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน

2.) มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ

3.) หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน” และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ”

4.) ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst

5.) ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือช่องทางที่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้นๆ

6.) ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง

7.) การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันมิจฉาชีพสร้างแอปพลิเคชันปลอมนั้นขึ้นมา

8.) ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์

9.) หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top