Saturday, 18 May 2024
ภัยออนไลน์

ภัยออนไลน์รุกหนัก นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมร่วมหาทางปกป้องเด็กและเยาวชน แฉเว็บพนันออนไลน์ขยายตัวกว่า 100 %

จากช่วงโควิดเป็นความอำมหิตเงียบ ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.เสนอนายกฯคุยแบงค์ชาติให้ธนาคารพาณิชย์คุมกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ตัดแขนขาเว็บพนัน สื่อการ์ตูนเสนอสร้างการรู้เท่าทัน พร้อมให้ข้อมูลกับสังคม

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย   เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "รวมพลังการ์ตูนไทย ต้านภัยออนไลน์ " เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม  2566 ณ ห้องการะเกด โรงแรมแมนดาริน สามย่าน  กรุงเทพ มีนักวาดการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำนักต่างๆเข้าร่วม โดยมี นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้ประกาศ ข่าวเด็ด 7 สี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD เป็นผู้ดำเนินรายการ ​นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน​ กล่าวว่า การพนันออนไลน์ยังขยายตัวไม่หยุด จำนวนเว็บพนันขยายตัวมากกว่า 100% นับจากช่วงโควิด ขณะที่จำนวนผู้เข้าพนันที่ตกเป็นเหยื่อ เล่นพนันจนเกิดปัญหามีมากกว่าล้านคน 10%เป็นเด็กและเยาวชน สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือพนันออนไลน์และพนันออนไซต์ มีอิทธิฤทธิ์ที่ต่างกัน พนันออนไลน์ร้อยทั้งร้อยเป็นพนันอย่างเข้มที่เข้าถึงง่าย รู้ผลแพ้ชนะเร็ว เมื่อเสียแล้วแก้มือได้ทันที จึงยิ่งเล่นยิ่งหัวร้อน เล่นแล้วหยุดยาก ต่างกับพนันออนไซต์ที่ยังพอจะมีช่วงให้เว้นวรรค หรือมีความถี่ต่ำกว่า การพนันออนไลน์จึงอาจมีฤทธิ์ในการทำลายล้างมากกว่ากันหลายสิบเท่า ถ้าเทียบเป็นยักษ์อาจกล่าวได้ว่ายักษ์พนันออนไลน์ใหญ่กว่ายักษ์พนันออนไซต์หลายสิบเท่า

​เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวต่อว่าเว็บพนันออนไลน์ถือเป็นความอำมหิตเงียบ เพราะได้ทำลายชีวิตเหยื่อไปจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียเงินทอง  แต่เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อเล่นพนันจนเสียหนัก ผู้เล่นส่วนมากจะพยายามทำทุกอย่างให้ได้เงินมาเล่นอีก และเริ่มกระทำผิดต่อคนใกล้ตัว โกหก หยิบยืมเงิน ลักขโมย จนถึงขั้นมีการกระทำรุนแรงกับคนในบ้าน  ขณะเดียวกันก็รู้สึกเครียด รู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ความรู้สึกจะดิ่งลงเรื่อย ๆ  และอาจนำมาสู่การเสียสุขภาพจิตได้สองอาการ หนึ่ง คือ การเสพติดพนันจนไม่อาจจะเลิกได้ สอง คือ เกิดภาวะซึมเศร้า  ทั้งสองอาการล้วนต้องการความช่วยเหลือในการบำบัดรักษา ฉะนั้น ผู้ที่คิดจะให้พนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยไม่คิดถึงการควบคุมให้รอบคอบและเป็นจริง อาจกลายเป็นการปล่อยยักษ์ใหญ่ที่เราคุมไม่ได้ให้ออกมาจากตะเกียง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนเป็นล้านคน    

​นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)ในฐานะสื่ออาวุโส กล่าวว่าภัยออนไลน์กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าคนไทยเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มากสุดคือการหลอกลวงซื้อขายสินค้า ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานและหลอกให้กู้เงิน ส่วนการพนันออนไลน์ยังคงรุนแรง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การพนัน ข้อมูลส่วนตัวที่ทุกคนไปสมัครเป็นสมาชิกจะถูกเว็บพนันนำไปใช้หาประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากจะเสียเงินค่าสมัครแล้วหลายครั้งจะไม่ได้รับเงินจริงและสุดท้ายอาจถูกยึดทรัพย์ตามความผิดฐานฟอกเงินเนื่องจากประวัติการเงินจะถูกระบุว่าไปเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน การพนันออนไลน์รุนแรงมากไม่เฉพาะในกทม.แต่ได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ช่วงหลังมีการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นที่รู้ กันว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของพนันออนไลน์คือเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ เพราะรูปแบบการพนันนอกจากสล็อตและบิงโกแล้ว ในแต่ละเว็บพนันจะมีรูปแบบของเกมต่างๆไว้หลอกล่อไม่ต่ำกว่า 300 เกม

ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส.เสนอว่าการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทั้งการปิดเว็บพนัน การยึดอายัดทรัพย์สินของเจ้าของเว็บและเครือข่ายชักชวนให้เล่นพนัน รวมทั้งการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเว็บพนันอย่างเด็ดขาด ที่น่าสนใจคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าปัจจุบันธุรกิจสีเทารวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้ เครือข่ายยาเสพติดและพนันออนไลน์ขยายได้อย่างรวดเร็ว ปปง. จึงเป็นองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลโดยเฉพาะการยึดทรัพย์ที่จะทำลายต้นตอของปัญหาหลายอย่าง จึงอยากจะเรียกร้องให้นายกฯได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆแก้ปัญหาเว็บพนันพนันออนไลน์ใช้ระบบการฝากถอนเงินสดและเครดิตในการเล่นพนันผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยใช้ อี-วอลเล็ต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็เหมือนตัดแขนตัดขาเว็บพนันออนไลน์นั่นเอง    

​ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  กล่าวว่าเคยทำงานวิจัยด้านพนันออนไลน์  พบว่าการพนันออนไลน์มีกลวิธีบิดเบือนโดยใช้นักโฆษณาชวนเชื่อเช่น การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการเล่นเกมอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนแนวป้องกันคือการส่งเสริมให้บุคคลฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมตนเองสามารถลดความเสี่ยงของการเล่นการพนันมากเกินไปได้ นอกจากนี้ การสร้างทรัพยากรที่เข้าถึงได้ เช่น บริการให้คำปรึกษา สายด่วน และกลุ่ม สนับสนุน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ดิ้นรนกับการเสพติดจากเกมการพนันที่ซ่อนอยู่ การสนับสนุนให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเกมออนไลน์และโฆษณารวมทั้ง การสนับสนุนบริษัทเกมให้นำแนวทางการโฆษณาที่มีความรับผิดชอบมาใช้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนในการควบคุมรวมทั้งการจำกัดอายุควรเพื่อปกป้องบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าถึงเกมที่อันตรายเหล่านี้ และสุดท้ายคือการสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของเกมการพนัน และประสิทธิภาพของกลยุทธ์การป้องกันพนันออนไลน์ต่างๆให้ดีขึ้น

ด้านนักวาดการ์ตูน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะสร้างการรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและผู้สูงอายุด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ เพราะสังคมปัจจุบันทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันหมดแล้ว การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มากมีข้อมูลหลายอย่างที่สามารถนำไปสื่อสารต่อได้ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์และพนันออนไลน์  

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวาดการ์ตูนถือเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะและสสส.อีกกลุ่มหนึ่ง หวังว่าข้อมูลที่ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกันวันนี้ จะนำไปสู่ความเข้าใจและสื่อสารสาธารณะในรูปแบบต่างๆผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนได้เห็นพิษภัยของพนันออนไลน์เพื่อปกป้องสังคมร่วมกัน

บิ๊กโจ๊ก ฟิตจัด นัดผู้ช่วยฑูตตำรวจ 50 ประเทศ จิบกาแฟ แลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติ ชี้ภัยออนไลน์ ยังเป็นมหัตภัยคุกคามคนไทย ขณะที่คนร้ายย้ายประเทศหลังก่อเหตุ เร็วกว่านินจา 

หลังกลับจากการประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศ ที่ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม เสนอให้ใช้หมายสีเงิน (Silver Notice) เพื่อประสานและแจ้งเตือนประเทศสมาชิกในการช่วยติดตามยึดอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เพื่อให้แนวทางนี้ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในประเทศไทย พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เชิญเจ้าหน้าที่นายตำรวจประสานงานประจำสถานเอกอัครราชทูตในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 100 คน จาก 54 ประเทศ เข้ามาร่วมจิบกาแฟ หารือแนวทางการจัดการปัญหา และกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือในการประสานงานกันอย่างอย่างใกล้ชิด อันจะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง และแนวทางการปฎิบัติที่ดีที่สุดระหว่างกัน เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ณ ชั้น 32 ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม เวลา 08.30 น. – 10.30 น. 

พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า แต่ละปี จะมีนายตำรวจประสานงานสถานฑูต สลับสับเปลี่ยนเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องเชิญทุกคนมาทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และ ข้อมูลของคนร้ายข้ามแดน ซึ่งเป็นที่ต้องการของแต่ละประเทศ จะได้ช่วยกันติดตามและจับกุม มาดำเนินคดี ไม่ปล่อยให้คนร้ายลอยนวลไปก่อเหตุได้อีก

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยอมรับว่าปัจจุบันไทยตกเป็นเป้าหมายของการก่ออาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะมหันตภัยจากออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คลิปอนาจาร ไปจนถึงการค้ามนุษย์ ซึ่งหลังจากที่มีการก่อเหตุแล้ว ภาพของเหยื่อมักถูกส่งเข้าไปใน โซเชียล แม้ว่าเหยื่อจะโตเป็นผู้ใหญ่ภาพก็ยังปรากฏชัดโดยลบออกได้ไม่หมด กลายเป็นการกระทำซ้ำกับเหยื่อ ขณะที่เหยื่อจากการถูกหลอกลวงอีกไม่น้อย โดยเฉพาะเหยื่อออนไลน์ ไม่เพียงจะหมดเนื้อ หมดตัว หลายครอบครัวตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองและคนในครอบครัว ไมก็ทิ้งบุตรหลาน ไว้กับญาติมิตร นี่จึงเป็นมหันตภัยคุกคาม ที่ต้องเร่งแก้ไข ด้วยการใช้พลังความร่วมมือของตำรวจสากล ร่วมกันขจัดปัญหาให้หมดไป

ตร. เตือน 6 ภัยออนไลน์ส่งท้ายปี ที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกหลวงประชาชน

วันนี้ (27 ธันวาคม 2566) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งช่วงเวลาของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องประชาชนออกไปท่องเที่ยว ซื้อของขวัญ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวันหยุดร่วมกับครอบครัว นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเอาโอกาสนี้มาเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังตนเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะอย่าลืมว่า แม้จะเป็นวันหยุด แต่มิจฉาชีพไม่เคยหยุด ซึ่งรูปแบบของภัยออนไลน์ที่พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีดังนี้

1. “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” โดยมิจฉาชีพจะหลอกลวงด้วยการโฆษณาขายสินค้าราคาถูก หรือส่วนลดพิเศษเฉพาะในช่วงเทศกาล เพื่อจูงใจให้เหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อสินค้า

2. “การหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล” โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นร้านค้าต่าง ๆ แล้วโฆษณาว่าจะมีโปรโมชันพิเศษในช่วงเทศกาล หรือแจกของรางวัลต่าง ๆ แต่จะต้องลงทะเบียนก่อน หากเหยื่อหลงเชื่อ กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ก็จะถูกมิจฉาชีพนำไปใช้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อไป

3. “การหลอกรับบริจาค” โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนอาจต้องการทำบุญเพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลกับชีวิต มิจฉาชีพอาจมีการประกาศเชิญชวนให้ร่วมทำบุญ โดยอ้างบุคคลหรือกิจกรรมต่างๆ จึงควรตรวจสอบข้อมูลในกิจกรรมที่จะร่วมทำบุญว่า เป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะร่วมบริจาคเงินร่วมทำบุญออนไลน์ต่าง ๆ

4. “การสร้างข่าวปลอม” เพื่อสร้างยอดติดตาม หรือสร้างความตื่นตระหนก ซึ่งมิจฉาชีพอาจเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงหรือบิดเบือน เกี่ยวกับ อุบัติเหตุ การเดินทาง หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในช่วงเทศกาล มาเผยแพร่เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือสร้างความเสียหายให้สังคม

5. “การหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม” ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล เช่น แอปพลิเคชันแต่งรูปปลอม แอปพลิเคชันจองที่พักปลอม เป็นต้น โดยหากเหยื่อหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ก็อาจถูกมิจฉาชีพควบคุมเครื่องระยะไกล หรืออาจถูกเข้าถึงข้อมูลภายในโทรศัพท์มือถือได้

6. “การหลอกขายทัวร์และที่พักราคาถูก” ซึ่งในช่วงเทศกาล กลุ่มมิจฉาชีพมักจะหลอกลวงด้วยการแอบอ้างเป็น โรงแรม ที่พัก หรือบริษัททัวร์ จากนั้นจะลงโฆษณาในช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะที่พบได้บ่อยคือทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มักจะมีการสร้างเพจปลอมเพื่อหลอกลวงพี่น้องประชาชน

โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังและอย่าเชื่อในสิ่งที่ราคาถูกหรือดีเกินจริง เพราะสิ่งที่เห็นหรือได้ยินในสื่อสังคมออนไลน์ อาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพในการหลอกลวงแสวงหาประโยชน์จากพี่น้องประชาชน โดยขอให้ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top