Thursday, 2 May 2024
ภัยธรรมชาติ

22 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ท่อนซุงและโคลนถล่ม ‘กะทูน’ อ.พิปูน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ หลังฝนตกหนักพัดพาดินโคลนและท่อนซุง ถล่มหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตหลายร้อยคน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตการณ์ดินโคลนและท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำถล่มบ้านเรือนเสียหายไปกว่า 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรอีก 6,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3-4 วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ 70 ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง 70 เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ

‘แผ่นดินไหว’ มหันตภัยใต้พิภพ ภัยเงียบจากธรรมชาติที่รอวันปะทุ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา คิดว่าทุกท่านคงได้ข่าวการเกิดภัยทางธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้านในโลกของเรา ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือข่าวการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี และประเทศซีเรีย โดยขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหวคือขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงสูง และนับว่าเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว 

ผลที่เกิดจากการเกิดแผ่นในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสี่หมื่นคน และมีผู้คนที่ได้รับผลกระทบไร้ที่อยู่อาศัยและสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอีกเป็นจำนวนมาก 

สำหรับวันนี้ผมจะพามาดูสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว และมาดูว่าส่วนไหนของโลกนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด รวมทั้งประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่? ถ้ามีจะเกิดได้ในส่วนไหน และความรุนแรงจะมากน้อยขนาดไหนกันครับ 

ทั้งนี้ก่อนที่จะพูดเรื่องแผ่นดินไหว เรามาทำความเข้าใจแผ่นดินที่เราอาศัยกันอยู่ก่อนน่ะครับ โดยพื้นเปลือกโลก หรือที่เราเรียกว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่กันนี้ มีลักษณะเป็นแผ่นของแข็งที่มีหลายแผ่นเชื่อมต่อกันอยู่ ทำให้เกิดรอยต่อ หรือรอยแยกระหว่างแผ่นดินที่เชื่อมต่อแผ่นเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา 

โดยแผ่นเปลือกโลกหลักที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก แผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ แผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย แผ่นเปลือกโลกแอฟริกา แผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย และแผ่นเปลือกโลกแอนตาร์กติก 


ภาพแสดงลักษณะของแผ่นโลก
นอกจากมีแผ่นเปลือกโลกหลักแล้ว ยังมีแผ่นรองที่เป็นลักษณะรอยต่อ หรือรอยเลื่อยย่อย ๆ อีกหลายรอยที่อยู่ภายในเปลือกโลกหลัก 

เมื่อถัดจากเปลือกโลกที่เป็นของแข็งลึกลงไปยังเนื้อโลก หรือภายในพื้นโลก ถ้าเราเจาะลงไปจะเจอของเหลวที่มีความหนืดและมีอุณหภูมิสูง ทั้งนี้เนื่องจากภายในเนื้อโลกมีอุณหภูมิที่สูงมากและมีการอัดแน่นกันอยู่ ทำให้มีการสะสมพลังงานที่จะทำให้เกิดการปะทุตัวอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับการที่เราต้มน้ำให้เดือดและปิดฝาไว้ สังเกตว่าจะมีแรงน้ำปะทุขึ้นมานั่นเอง

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบพื้นดินหรือเปลือกโลกที่เราอาศัยอยู่ก็เหมือนกับการที่เราอยู่บนเรือขนาดยักษ์หลายลำ ที่ลอยลำอยู่บนของเหลวที่มีความหนืด และมีความร้อนสูง มีการสะสมพลังงานที่พร้อมจะปลดปล่อยออกมาตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาที่ปลดปล่อย ก็จะปลดปล่อยออกมาในบริเวณที่เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่มีขนาดใหญ่ สามารถสร้างความเสียหายให้กับทุกสิ่งที่อยู่บริเวณศูนย์กลาง และบริเวณรอบ ๆ จุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหว 

โดยบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว มักจะเป็นบริเวณเดียวกับที่มีความเสี่ยงจะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ เนื่องจากเป็นจุดที่จะมีการปล่อยพลังงานภายในเนื้อโลกออกมาเหมือนกัน การเกิดแผ่นดินไหวนั้นถ้าเกิดในบริเวณที่เป็นพื้นดินก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่ถ้าเกิดในบริเวณที่เป็นมหาสมุทรก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดเข้าหาชายฝั่ง เหมือนกับที่เคยเกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2547 

ทั้งนี้บริเวณที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลก อยู่บริเวณกว้างที่เรียกกันว่า วงแหวนไฟ (Ring of fire) ได้แก่บริเวณรอบมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณหมู่เกาะญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ หมู่เกาะแปซิฟิกใต้ และชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ 
 

ภาพแสดงวงแหวนแห่งไฟ บริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว
>> ‘รอยต่อ’ หรือ ‘รอยเลื่อน’ ที่สำคัญและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย

ประเทศไทยมีรอยเลื่อนขนาดเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก โดยบริเวณที่น่าสนใจ เช่น รอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์, รอยเลื่อนแม่ปิง และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์นี้ เป็นรอยเลื่อนที่มีการพูดถึงบ่อยมาก ๆ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพ และเป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนศรีนครินทร์พอดี ทำให้เกิดการวิตกกังวลว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้เขื่อนแตก และเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณที่อยู่ใกล้เขื่อนได้ 

แต่ความวิตกต่าง ๆ ก็เริ่มจางหายไป เพราะเมื่อปี พ.ศ.2526 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้ครั้งใหญ่ โดยมีขนาดความรุนแรงถึง 5.5 ริกเตอร์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เขื่อนศรีนครินทร์เสียหาย และโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะรอยเลื่อนตรงจุดนี้เป็นรอยเลื่อนขนาดย่อย ไม่ใช่รอยเลื่อนหลักที่จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ทำให้โอกาสที่จะปลดปล่อยพลังงานที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ยาก

‘WMO’ เตือนทั่วโลก!! เตรียมรับมือสภาพอากาศผันผวน หลังเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบร้ายแรงทั่วโลก

(5 ก.ค. 66) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศว่า ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ เกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาส 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้ และจะเพิ่มความเป็นไปได้อย่างมากในการทำให้อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และเกิดความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่หลายส่วนของโลก รวมถึงในมหาสมุทร

ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลกเตรียมการ และดำเนินการล่วงหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เพื่อจำกัดผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547  ครบรอบ 19 ปี ‘สึนามิ’ ถล่มไทย หายนะครั้งรุนแรงจากภัยธรรมชาติ

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือ วันนี้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 แสนราย ใน 14 ประเทศในเอเชีย

เหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้น เริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ในเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

เหตุการณ์สึนามิถล่มไทย 6 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

ขณะที่ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากหายนะในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 167,000 ราย หรือใกล้เคียง 200,000 ราย และมีหลายชีวิตมากที่ถูกคลื่นกลืนหายไปในทะเล ไม่มีทางพบร่าง นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของอินโดนีเซีย รวมถึงไทย ศรีลังกา อินเดีย และอีกหลายชาติ รวม 14 ประเทศ

‘ชิลี’ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังยังไม่สามารถควบคุมเหตุไฟป่าได้ ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2010

(4 ก.พ.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ไฟป่าในประเทศชิลี ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทางการชิลีแจ้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศชิลี ทั้งตอนกลางและตอนใต้ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 51 รายแล้ว และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ไฟป่าเริ่มลุกลามเข้าพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแล้ว

วันเดียวกัน ประธานาธิบดี ‘กาเบรียล บอริก’ แห่งชิลี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น ในภูมิภาคตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามและยังควบคุมไม่ได้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็น 40 องศาเซลเซียส ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในชิลีย่ำแย่ลงไปอีก

ข่าวระบุว่า พื้นที่โดยรอบของเมืองริมชายหาดอย่าง ‘วินา เดล มาร์’ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเหตุไฟป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบอริก แจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าแล้ว 46 ราย ก่อนที่จะมีการปรับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 51 ราย ซึ่ง ‘นางคาริลินา โทฮา’ รัฐมนตรีมหาดไทยของชิลี เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น หลังจากมีการพบร่างผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย และคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะที่เมืองวาลปาไรโซ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เปราะบางมากที่สุด โดยนางโทฮายังกล่าวด้วยว่า ชิลี กำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปี 2010 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top