‘แผ่นดินไหว’ มหันตภัยใต้พิภพ ภัยเงียบจากธรรมชาติที่รอวันปะทุ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา คิดว่าทุกท่านคงได้ข่าวการเกิดภัยทางธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้านในโลกของเรา ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือข่าวการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี และประเทศซีเรีย โดยขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหวคือขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงสูง และนับว่าเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว 

ผลที่เกิดจากการเกิดแผ่นในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสี่หมื่นคน และมีผู้คนที่ได้รับผลกระทบไร้ที่อยู่อาศัยและสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอีกเป็นจำนวนมาก 

สำหรับวันนี้ผมจะพามาดูสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว และมาดูว่าส่วนไหนของโลกนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด รวมทั้งประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่? ถ้ามีจะเกิดได้ในส่วนไหน และความรุนแรงจะมากน้อยขนาดไหนกันครับ 

ทั้งนี้ก่อนที่จะพูดเรื่องแผ่นดินไหว เรามาทำความเข้าใจแผ่นดินที่เราอาศัยกันอยู่ก่อนน่ะครับ โดยพื้นเปลือกโลก หรือที่เราเรียกว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่กันนี้ มีลักษณะเป็นแผ่นของแข็งที่มีหลายแผ่นเชื่อมต่อกันอยู่ ทำให้เกิดรอยต่อ หรือรอยแยกระหว่างแผ่นดินที่เชื่อมต่อแผ่นเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา 

โดยแผ่นเปลือกโลกหลักที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก แผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ แผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย แผ่นเปลือกโลกแอฟริกา แผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย และแผ่นเปลือกโลกแอนตาร์กติก 


ภาพแสดงลักษณะของแผ่นโลก
นอกจากมีแผ่นเปลือกโลกหลักแล้ว ยังมีแผ่นรองที่เป็นลักษณะรอยต่อ หรือรอยเลื่อยย่อย ๆ อีกหลายรอยที่อยู่ภายในเปลือกโลกหลัก 

เมื่อถัดจากเปลือกโลกที่เป็นของแข็งลึกลงไปยังเนื้อโลก หรือภายในพื้นโลก ถ้าเราเจาะลงไปจะเจอของเหลวที่มีความหนืดและมีอุณหภูมิสูง ทั้งนี้เนื่องจากภายในเนื้อโลกมีอุณหภูมิที่สูงมากและมีการอัดแน่นกันอยู่ ทำให้มีการสะสมพลังงานที่จะทำให้เกิดการปะทุตัวอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับการที่เราต้มน้ำให้เดือดและปิดฝาไว้ สังเกตว่าจะมีแรงน้ำปะทุขึ้นมานั่นเอง

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบพื้นดินหรือเปลือกโลกที่เราอาศัยอยู่ก็เหมือนกับการที่เราอยู่บนเรือขนาดยักษ์หลายลำ ที่ลอยลำอยู่บนของเหลวที่มีความหนืด และมีความร้อนสูง มีการสะสมพลังงานที่พร้อมจะปลดปล่อยออกมาตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาที่ปลดปล่อย ก็จะปลดปล่อยออกมาในบริเวณที่เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ส่งผลทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่มีขนาดใหญ่ สามารถสร้างความเสียหายให้กับทุกสิ่งที่อยู่บริเวณศูนย์กลาง และบริเวณรอบ ๆ จุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหว 

โดยบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว มักจะเป็นบริเวณเดียวกับที่มีความเสี่ยงจะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ เนื่องจากเป็นจุดที่จะมีการปล่อยพลังงานภายในเนื้อโลกออกมาเหมือนกัน การเกิดแผ่นดินไหวนั้นถ้าเกิดในบริเวณที่เป็นพื้นดินก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่ถ้าเกิดในบริเวณที่เป็นมหาสมุทรก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดเข้าหาชายฝั่ง เหมือนกับที่เคยเกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2547 

ทั้งนี้บริเวณที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลก อยู่บริเวณกว้างที่เรียกกันว่า วงแหวนไฟ (Ring of fire) ได้แก่บริเวณรอบมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณหมู่เกาะญี่ปุ่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ หมู่เกาะแปซิฟิกใต้ และชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ 
 

ภาพแสดงวงแหวนแห่งไฟ บริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว
>> ‘รอยต่อ’ หรือ ‘รอยเลื่อน’ ที่สำคัญและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย

ประเทศไทยมีรอยเลื่อนขนาดเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก โดยบริเวณที่น่าสนใจ เช่น รอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์, รอยเลื่อนแม่ปิง และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์นี้ เป็นรอยเลื่อนที่มีการพูดถึงบ่อยมาก ๆ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพ และเป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนศรีนครินทร์พอดี ทำให้เกิดการวิตกกังวลว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้เขื่อนแตก และเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณที่อยู่ใกล้เขื่อนได้ 

แต่ความวิตกต่าง ๆ ก็เริ่มจางหายไป เพราะเมื่อปี พ.ศ.2526 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้ครั้งใหญ่ โดยมีขนาดความรุนแรงถึง 5.5 ริกเตอร์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เขื่อนศรีนครินทร์เสียหาย และโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะรอยเลื่อนตรงจุดนี้เป็นรอยเลื่อนขนาดย่อย ไม่ใช่รอยเลื่อนหลักที่จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ทำให้โอกาสที่จะปลดปล่อยพลังงานที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ยาก

และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงเรา ได้แก่ พม่า จีน และลาว ประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงสูงมากกว่าประเทศไทยเป็นอย่างมาก 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแผ่นดินไหวถือว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้และเป็นภัยทางธรรมชาติที่พร้อมจะปะทุขึ้นมา ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินมนุษย์เราได้อยู่ตลอดเวลา และนับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะสม มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงสูงน้อย
 


ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา
อาจารย์ นวัตกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย และเกษตรกรแนวคิดใหม่ ที่พร้อมจะรังสรรค์เรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลัง In trend ให้มีคำตอบ


👍 ติดตามผลงาน ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ผศ.ดร.สุทัศน์%20จันบัวลา