Thursday, 2 May 2024
ปลูกป่า

“นายกฯ” มอบนโยบายปลูกป่า ใช้เป็นคาร์บอนเครดิต ประสาน ทส. จัดหาพื้นที่ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสนใจการปลูกป่า โดยเฉพาะการปลูกป่าชายเลน เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้ภาวะเรือนกระจก เพื่อใช้เป็นคาร์บอนเครดิตซึ่งเอกชนให้ความสนใจและได้ประสานมาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในการจัดหาพื้นที่ป่าเพื่อดำเนินการปลูกป่า

'กทม.-ซีพีเอฟ' เปิดโครงการ 'กล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.)' มุ่งสร้างพื้นที่สีเขียว - กำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ

(11 ต.ค. 65) เวลา 07.30 น. ณ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมเปิดตัวโครงการ 'กล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.)' เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ สนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงเทพฯ  

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับมอบกล้าไม้จากซีพีเอฟ เพื่อนำไปกระจายต่อให้คนกรุงเทพฯ ร่วมกันปลูกต้นไม้ รวมทั้งปลูกในพื้นที่ว่างของกทม. รวมทั้งร่วมกับผู้บริหาร ซีพีเอฟ แจกกล้าไม้ให้ประชาชนและผู้สนใจ จำนวน 1,000 ต้น 

ประกอบด้วยไม้ยืนต้น 4 ชนิด ได้แก่ พะยูง กฤษณา ยางนา มะขาม และไม้ฟอกอากาศ อาทิ ออมชมพู เงินไหลมา ซึ่งกล้าไม้เหล่านี้ ซีพีเอฟจ้างงานชุมชนรอบเขาพระยาเดินธงเพาะกล้าและดูแลจนกล้าไม้แข็งแรง เป็นการกระจายอาชีพและสร้างรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณในความร่วมมือของซีพีเอฟ ที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีของ กทม. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากเพียงพอต่อการนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร และสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กทม. มีความมุ่งมั่นส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของประชาชน และสิ่งแวดล้อมของเมือง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟ ครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายในการสร้างความตระหนัก สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เริ่มลงมือทำด้วยการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของตนเอง ทั้งไม้ยืนต้นและไม้กระถาง ซึ่งจะช่วยกรองฝุ่นและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ปตท. ผนึกภาครัฐ-ภาคีเครือข่าย เร่งปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ มุ่งบรรลุเป้า Net Zero Emissions ปี 2050

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.66) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ระหว่าง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. จำนวน 3 ฉบับ โดยมี นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. รวมทั้งผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. อีก 7 บริษัท ร่วมลงนาม ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. พร้อมบริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที 
โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้ลงนาม MOU จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้ กับ กรมป่าไม้ โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้ กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และโครงการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของภาคีภาครัฐและเอกชนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่น การสนับสนุนงานวิจัยและแบ่งปันข้อมูลเชิงวิชาการ การปลูกป่าใหม่และฟื้นฟูบำรุงป่าเก่า ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชุมชน และป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแหล่งกักเก็บคาร์บอน จำนวน 2 ล้านไร่ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2065 ตามที่ประเทศได้กำหนดไว้

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top