Tuesday, 14 May 2024
ประยุทธจันทร์โอชา

‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบการเมือง ขอโฟกัสประชุม ‘อาเซียน-เอเปก’ วอน!! ทุกฝ่ายช่วยทำให้การประชุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย

นายกฯ พยักหน้ารับ หลังเอเปกจะชัดเจนอนาคตทางการเมือง ขณะนี้ยังไม่มีความเห็น ขอให้ความสำคัญประชุมอาเซียน-เอเปก ขอร้องกลุ่มต่างให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ช่วงนี้จะมีการประชุมสำคัญ คือการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน และการประชุมเอเปคที่ไทย ซึ่งจะมีผู้นำทยอยเดินทางเข้ามาก่อนการประชุมเอเปคในวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยในช่วงนี้ ขอแรงด้วยในการนำเสนอข่าวต่างๆ อย่าให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ถือว่าการประชุมทั้งสองการประชุมมีความสำคัญ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าวันนี้ในทุกภูมิภาค ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างที่สุดในขณะนี้ ทำอย่างไรจะทำให้การประชุม เป็นไปอย่างเรียบร้อยปลอดภัย มีความคืบหน้า หลายประเทศต้องการมาลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักสำคัญ ขอให้ทุกคนคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากทำให้การประชุมมีปัญหา ขอร้องไปยังกลุ่มต่างๆ ขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระมัดระวัง 

‘บิ๊กป้อม’ ไม่ยื้อ หาก ‘บิ๊กตู่’ ย้ายซบพรรคอื่น ส่วนถ้าส.ส. อยากย้ายตาม บอก “ใครอยากจะไปไหนก็ไป”

‘ประวิตร’ ไม่ยื้อหาก ‘ประยุทธ์’ จะไปอยู่พรรคอื่น ไม่สน ส.ส.พปชร.จะตามไป ลั่นอยากไปก็ไป ปัด 3ป.แตกแยก ชี้หาก ‘ธรรมนัส’ จะหวนซบพปชร. เป็นเรื่องที่พรรคต้องตัดสินร่วมกัน ยันจับมือเพื่อไทย รอคุยหลังเลือกตั้ง ปัดดีล ‘คุณหญิงอ้อ’

วันนี้ (7 พ.ย. 65) เวลา 12.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีความชัดเจนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพรรคพลังประชารัฐว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องการตัดสินใจของท่าน เมื่อถามว่ามีข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าเป็นเรื่องของพลเอกประยุทธ์ ต้องไปถามเจ้าตัว 

เมื่อถามย้ำว่ายังไม่ได้คุยกันอีกใช่หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย รวมถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ได้พูดคุยเช่นกัน เพราะยังไม่ได้เรียกประชุม ต้องไปนัดสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรคประชุมก่อน 

เมื่อถามว่า ความเป็นพี่น้องระหว่างกัน เหตุใดจึงไม่คุยกันให้ชัดเจนถึงแนวทางที่ดี พลเอกประวิตร กล่าวว่า ก็มาเป็นผมสิ พร้อมกับยิ้ม

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ส.ส.ก็ต้องการความชัดเจน นานเกินไปหรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นไร การเมืองก็ว่ากันไป

เมื่อถามว่า ตัวพลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์ จะไม่แยกทางเดินกันใช่หรือไม่ พลเอกประวิตร ตอบว่า ผมไม่รู้ ก็อยู่ด้วยกันทุกวัน ไม่เป็นไรแต่ไม่พูดเรื่องนี้ 

เมื่อถามย้ำว่า 3 ป. จะไม่แยกจากกันใช่หรือไม่ พลเอกประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่แยกหรอก จะไปแยกได้อย่างไร สนิทกันมาตั้ง 40-50 ปี

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนจะมีการแยกพรรคการเมือง พลเอกประวิตรกล่าวว่า จะแยกก็แยกไป ไม่เป็นไร 

เมื่อถามว่า เป็นไปได้ว่าจะแยกกันเดิน รวมกันตี ใช่หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ผมไม่รู้ 

เมื่อถามต่อว่า สมาชิกพรรคพลังประชารัฐออกมาพูดเองว่า พลเอกประยุทธ์ ขายต่อไม่ได้แล้ว คะแนนนิยมไม่ดีแล้ว พลเอกประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของลูกพรรคเป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่ใช่นโยบายพรรค 

เมื่อถามว่า ก่อนจะเสนอแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี พรรคจำเป็นต้องประเมินคะแนนนิยมก่อนหรือไม่ พลเอกประวิตร ย้ำว่า เป็นเรื่องของสมาชิกพรรคไม่ใช่เรื่องของผม 

เมื่อถามว่าการออกมาแสดงความเห็นแบบนี้จำเป็นปราบลูกพรรคหรือไม่ เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก พลเอกประวิตรกล่าวว่า จะต้องไปปรามทำไม เป็นความเห็นของใครของมันและไม่จำเป็นต้องเตือนให้ระวัง เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัว แต่ละคนก็มีความคิดเห็นของตัวเอง จะให้ไปนั่งตามทุกคนก็ไม่ได้ แต่เวลาไปประชุมพรรคทุกคนก็ต้องลงคะแนนก็เท่านั้น ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย 

‘เพื่อไทย’ อัดรัฐใช้เอเปก 2022 โปรโมต 'ประยุทธ์' แซะ!! ขอเอเปกเปิดประตูศก.ได้จริง ก่อนไทยตกเวทีโลก

‘จักรพล’ อัดรัฐใช้เอเปก 2022 โปรโมต ‘ประยุทธ์’ เดิมพันอนาคตทางการเมือง จี้ใช้เอเปกเปิดประตูศก.ก่อนไทยตกเวทีโลก 

วันนี้ (8 พ.ย. 65) นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก 2022 APEC 2022 ถือเป็นเรื่องดี เพราะประเทศไทยมีความคาดหวังว่าจะใช้โอกาสนี้ โชว์ศักยภาพของประเทศไทยในทุก ๆ ด้าน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ควรใช้โอกาสนี้สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยและประเทศไทย

เพียงแต่ว่าประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมมองการประชุมนี้อย่างไร มีหลายประเทศยืนยันว่าจะมาร่วมประชุม แต่ที่มานั้นเป็นผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือส่งผู้นำระดับรอง ๆ มาแทน กรณีที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มาด้วยเหตุผลใดกันแน่ รวมทั้งวาระการประชุมที่จะมีการหารือกันในระหว่างประชุมมีอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง 

ทั้งนี้ คาดว่าในที่ประชุมจะมีการหารือปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศ และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน สามารถที่จะต่อยอดและการพัฒนาได้หรือไม่

‘แอร์ คำรณ’ ชวนอ่าน!! ‘มาเหนือเมฆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตีแผ่เรื่องจริงน่ารู้ของ ‘บิ๊กตู่’ ที่ไม่บิดเบือน

นายคำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและอดีตกรรมการผู้จัดการนิตยสารอิมเมจ โพสต์เฟซบุ๊กถึงพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกของอิมเมจ มีเดียว่า 

“มาเหนือเมฆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” คือพ๊อคเก็ตบุ๊ค เล่มแรกของอิมเมจ มีเดีย และการกลับมาทำงานด้านสิ่งพิมพ์ ถือว่าอินเทรนด์ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ อีกไม่นานนี้นะครับ

หัวใจของหนังสือเล่มนี้ แน่นอนเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในหลายๆด้าน รวมทั้งการพัฒนาประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้พลเอกประยุทธ์

ความจริงประวัติศาสตร์การเมือง ที่ไขทุกปมบิดเบือน สุดยอดหนังสือขายดี ที่ไม่ใช่แฟนคลับลุงตู่ ก็อ่านได้

(24 มี.ค. 66) ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 เฟซบุ๊ก Kamron Pramoj ได้อัปเดตถึงหนังสือ 'มาเหนือเมฆ' ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีการวางขายเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยโพสต์ข้อความระบุว่า...

ขอทำหน้าที่นิดหนึ่งนะครับ

'มาเหนือเมฆ' เรื่องราวบนเส้นทางการเมืองและผลงานของ 'ลุงตู่' พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารเสือราชินีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

สำหรับ 'มาเหนือเมฆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' คือพ็อกเก็ตบุ๊ก เล่มแรกของอิมเมจ มีเดีย และการกลับมาทำงานด้านสิ่งพิมพ์ ถือว่าอินเทรนด์ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ อีกไม่นานนี้นะครับ

หัวใจของหนังสือเล่มนี้ แน่นอนเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการพัฒนาประเทศที่เกิดขึ้นภายใต้พลเอกประยุทธ์

และมีบทความที่นักคิด นักวิเคราะห์ นักเขียนรับเชิญหลายท่านมาช่วยกันเติมแต่ง ได้แก่ คุณรุ่งเรือง ปรีชากุล อดีตบรรณาธิการบริหารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, คุณทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการนิตยสารสีสัน, รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณนิติพงษ์ ห่อนาค ศิลปินและนักแต่งเพลง และ คุณ พ.สิทธิสถิตย์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์/นิตยสาร

‘ทิพานัน’ ชี้!! ผลงาน ‘บิ๊กตู่’ 9 ปี มีเพียบ ยกผลงานเจรจาการค้าเด่น หนุนเปิดประเทศ-เปิดโอกาส ชู ‘ศักยภาพผู้นำที่ดี’ พาไทยแกร่งรอบด้าน

‘ทิพานัน’ ติงนักวิชาการ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยกผลงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยุค ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผลงานเพียบ เปิดประเทศ เปิดโอกาส และเปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาคสุดปัง ชู ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ทำทีมไทยแกร่ง 6 ด้าน

(23 ต.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘อ้น ทิพานัน ศิริชนะ’ ถึงกรณีที่นักวิชาการแสดงความเห็นเปรียบเทียบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า…

ลุงตู่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ทั้งเปิดประเทศ เปิดโอกาส เปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาค

ที่สำคัญเพราะ ‘ภาวะผู้นำที่ดี’  จึงมีดังนี้

#รัฐบาลลุงตู่ มีผู้แทนการค้าไทยที่แข็งแกร่ง

#รัฐบาลลุงตู่ มีทูตทางการค้าที่เข้าใจลูกค้า

#รัฐบาลลุงตู่ มีนโยบายจากBOIที่ชวนมาลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ มีกฎหมายอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาตลอด 9 ปี

#รัฐบาลลุงตู่ พัฒนาทุกมิติไม่ใช่แค่หิ้วกระเป๋าไปขายของ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากฐาน’ สำหรับการไปขายของในอนาคต

บทความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จาก รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ว่า…

“เพราะถ้ามีการเปรียบเทียบทั้งสองคน ในแง่การไปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ กับต่างชาติติดลบ”

“และการเดินสายต่างประเทศคงเป็นความพยายามหลังจากที่ขาดหายไปนานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย”

การนำเสนอตรงนี้อาจไม่ครบถ้วน ตรงตามหลักวิชาการ และคนอาจเชื่อตามข้อมูลนั้นไปแบบไม่ครบถ้วน จึงขอนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนอีกด้าน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่า ลุงตู่วางรากฐานการลงทุนที่จับต้องได้ ไม่ขายฝัน และ #มีคนทำงานแต่ละด้านที่เป็นมืออาชีพ จนสำเร็จลุล่วง และเดินหน้าพบปะกับต่างชาติทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ซาอุฯ จีน เป็นต้น

การเดินทางพบผู้นำและประชุมระดับโลกและอาเซียน ของลุงตู่ เพื่อการค้าและการลงทุน และมิติอื่นๆ มีอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างดังนี้

- 12-15 ธ.ค. 65 ประชุมสุดยอดอาเซียน–สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

- 25-27 พ.ค. 65 ประชุมInternational Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ที่โตเกียว ญี่ปุ่น

- 12-13 พ.ค. 65 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ วอชิงตันดี.ซี สหรัฐอเมริกา

- 25 ม.ค. 65 เยือนซาอุดีอาระเบีย เป็น ‘ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย’ ให้กลับมาอยู่ใน ‘ระดับปกติ’ อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเป็นก้าวแรกของ ‘โอกาสอันมากมายมหาศาล’ 9 ด้าน คือ

1.) การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.) พลังงาน (เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของ 2 ประเทศ) ร่วมลงทุน-วิจัยพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

3.) แรงงานไทย สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใน ‘วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030’ (Saudi Vision 2030)

4.) อาหาร ผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง GCC

5.) สุขภาพ-การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ของไทย

6.) ความมั่นคง ไทยจะได้รับประโยชน์จากซาอุดีฯ ประเทศมหาอำนาจในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย

7.) การศึกษาและศาสนา ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิม

8.) การค้าและการลงทุน ลู่ทางธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้าในซาอุดีฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการดึงดูดซาอุดีฯ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของไทยด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

9.) กีฬา เช่น มวยไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

- 1 พ.ย. 64 เข้าร่วมประชุม ‘UN Climate Change Conference’ (COP 26) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ อังกฤษ และประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2065 #จนเป็นที่มานโยบายด้านนี้ในไทย ที่ขับเคลื่อนจริง และนักลงทุนสนใจมาลงทุน

- 24 ก.ย. 64 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 24-27 พ.ย. 62 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ที่ปูซาน เกาหลีใต้

- 21-27 ก.ย. 62 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 28-29 มิ.ย. 62 ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ที่โอซากา ญี่ปุ่น

- 25 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศส

- 20 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนางเทรีซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ที่อังกฤษ

- 2-4 ต.ค. 60 หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐอเมริกา

- 14-16 ต.ค. 59 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 11 ที่อูลานบาตอร์ มองโกเลีย

- 16-18 มิ.ย. 59 เยือนอินเดีย เพื่อความร่วมมือด้านการค้า-ความมั่นคง

- 17-21 พ.ค. 59 เยือนรัสเซีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 11 ปี

- 9-11 พ.ย. 57 เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง จีน

- 16-17 ต.ค. 57 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 10 ที่มิลาน อิตาลี

รัฐบาลลุงตู่ต้อนรับผู้นำที่มาเยือนไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นศักยภาพบ้านเมืองไทยที่เจริญ และน่าลงทุนจริงๆ

- 14 ก.พ. 66 นายกฯ มาเลเซีย

- 10 ก.ค. 65 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา และไทยและสหรัฐฯ ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

- 4-5 ก.ค. 65 มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศของจีน

- ส่งเสริมการลงทุนใน EEC

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง

- รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนของไทย

- ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

- ลงนาม MOU ด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- 13 มิ.ย. 65 รมว.กลาโหมของอเมริกา

- 1-2 พ.ค. 65 นายกฯ ญี่ปุ่น

- 20-23 พ.ย. 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

- 8 ส.ค. 60 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา

- 27 ม.ค. 60 ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ

ความสำเร็จที่โดดเด่น และปังที่สุด คือ

- 18-19 พ.ย. 65 ลุงตู่ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค ‘APEC2022’ ต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และได้รับคำชมเชยจาก ผอ.เลขาธิการเอเปค ยกย่องไทย จัดประชุม APEC2022 ได้ยอดเยี่ยม ระดับ world class และผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” สำเร็จในเวทีโลก

- 15 พ.ย. 63 ไทยร่วมก่อตั้งและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #RCEP กับ 14 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของ GDP โลก) เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

- 16 ธ.ค. 62 ‘ประเทศแรกในเอเชีย’ ไทยประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

- ปี 61-66 ไทยคงสถานะอันดับสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน สำหรับดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index)

- ปี 58-61 ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับ EU
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ รัฐบาลลุงตู่ วางรากฐานความเชื่อมั่น เปิดประเทศและไปแนะนำประเทศ ให้คนทั่วโลกรู้จักและมาลงทุนในไทย

ดังนั้น อาจมีใครหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและวิจารณ์บนพื้นฐานไม่รู้… จะได้รู้เพิ่มเติมค่ะ

ข้อมูลจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ (1) ปีที่ 1-4 และ (2) ปีที่ 1-3 
#ลองหาอ่านดูเผื่อใครสนใจค่ะ

23 ตุลาคม 2566
Cr. เพจ อ้น ทิพานัน ศิริชนะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top