Monday, 13 May 2024
ประชุม

เชียงใหม่-ประชุมเชิงปฏิบัติการระบบความปลอดภัย MOE Safety Center กลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 15

วันอังคารที่ (26 กรกฎาคม 2565) เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมคุ้มภูคำ เชียงใหม่ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระบบความปลอดภัย MOE Safety Center กลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 15 นายสมพงศ์ พรมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 กล่าวรายงาน โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะวิทยากร คณะกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 15 และผู้เข้าร่วมประชุม

นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดความปลอดภัยให้เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาแนวทางทำอย่างไรให้สถานศึกษาเป็นมากกว่าสถานที่ให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นสถานที่ที่อยู่แล้วมีความสุข มีความปลอดภัยด้วย จึงได้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อให้เข้าถึงนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปได้ ให้สามารถแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วมากขึ้น ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน MOE Safety Center

นอกเหนือจากระบบมาตรฐานความปลอดภัยที่พัฒนาขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้รับความร่วมมือจาก 8 กระทรวง และอีก 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหมกระทรวงมหาดไทย สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “SAFE สถานศึกษาปลอดภัย” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้ร่วมมือเพื่อสร้าง “สถานศึกษาปลอดภัย” ให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา

นายสมพงศ์ พรมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 /ประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการที่ 15 กล่าวว่า ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญเรื่อง “ความปลอดภัย” จึงกำหนดให้เป็นวาระแรก ใน 7 วาระเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีนโยบายมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็น “สพฐ. วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ” ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ด้านการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และ ด้านการบริหารจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบ และกลไกในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา จากภัยพิบัติและภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี มีข้อมูลสารสนเทศความปลอดภัยที่เป็นระบบ สามารถแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างยั่งยืน

ด้วยการบริหารจัดการตามมาตรการ  3ป ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น โดยจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center) แพลตฟอร์มดิจิทัล ในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย ครอบคลุมภัยทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ภัยที่เกิดจากการใช้ ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ และภัยที่เกิดจากผลกระทบทางสุขภาวะทางกายและจิตใจ

คณะกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 15 ให้ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติตามบริบทของพื้นที่ โดยต้องการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในกลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 15 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน จำนวน 16 แห่ง เป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนการใช้งานระบบมาตรฐาน ความปลอดภัย MOE Safety Center อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ จึงได้จัดโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการระบบความปลอดภัย MOE Safety Center กลุ่มพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 15 

'บิ๊กป้อม' นั่งหัวโต๊ะ 'กำกับ-ติดตาม' ราชการภูมิภาค เน้น 'ช่วยเหลือ-แก้ทุกปัญหาเร่งด่วน' ให้ปชช.ทั่วประเทศ

พล.อ.ประวิตร ประชุม ติดตามแผนงาน 'กำกับฯภูมิภาค' เน้นช่วยเหลือเร่งด่วน ปชช.ทั่วประเทศ  พอใจผลงานปี 65 ได้ตามเป้า อนุมัติงบฯ กรณีฉุกเฉินปี 66 แก้ปัญหาต่อเนื่อง 18 เขตพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาล ย้ำห้ามซ้ำซ้อนงานปกติ

(6 ต.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5จังหวัด 

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ของ รอง นรม. ประจำปี 65 โดย รอง นรม. ได้ลงพื้นที่เพื่อมอบนโยบายและตรวจเยี่ยม พร้อมประชุม/หารือ เพื่อรับฟังปัญหา รวมถึงแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานต่าง ๆ จำนวน 23 ครั้ง และรับทราบความก้าวหน้า ของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว จำนวน 1,513 โครงการ วงเงิน 1,800 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน อย่างน่าพอใจ ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

การประชุมคณะกรรมการระดับสูง (HLC) ไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 37

เมื่อวานนี้ (12 ม.ค. 66) พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พลอากาศเอก ตัน สรี ดาโต๊ะ สรี ฮัญจี อัฟเฟนดี บิน บวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการระดับสูง (HLC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 37 ณ โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ 

การประชุมคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) ไทย-มาเลเซีย เป็นการดำเนินการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือชายแดน เมื่อ 18 พฤษภาคม 2543 มีกำหนดจัดขึ้นปีละ1 ครั้ง โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย เป็นประธานร่วม

การประชุมดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกลไกระหว่างกองบัญชาการกองทัพไทยกับกองบัญชาการทหารสูงสุดมาเลเชีย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองบัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความมั่นคง และสงบเรียบร้อย เป็นพื้นที่แห่งมิตรภาพ สันติภาพ ความสงบสุข และความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อความร่วมมืออันดีในการปฏิบัติงานร่วมกันของคณะกรรมการฯ ฝ่ายไทย และฝ่ายมาเลเชีย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตามพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และเป็นการสนับสนุนให้มีความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

การประชุม HLC ไทย-มาเลเซีย ในครั้งนี้จะได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานตามงานมอบที่ HLC มอบให้คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และคณะกรรมการฝึกร่วม/ผสม (JCEC) ดำเนินการ รวมทั้งจะมอบหมายงานเพิ่มเติมให้ RBC และ JCEC ดำเนินการต่อไป อาทิ การแลกเปลี่ยนข่าวสาร เพื่อรักษาความมั่นคงและลดอาชญากรรมตามแนวชายแดนไทย-มาเลเชีย การสกัดกั้นการผ่านแดนโดยผิดกฎหมาย การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดนเพื่อให้การผ่านเข้า-ออกของบุคคลและสินค้าตามแนวชายแดนมีความปลอดภัย และการป้องกันอาชญากรรมตามแนวชายแดน เป็นต้น

“อลงกรณ์”เผยบอร์ดเกลือมีมติกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลเป็นครั้งแรก เร่งพัฒนานาเกลือด้วยแนวทางBCGโมเดลเน้น”เพิ่มมูลค่า-คุ้มค่า-ยั่งยืน”

วันนี้ (15 มี.ค. 2566) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2566 แบบ Hybrid Meeting ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting 
นายอลงกรณ์ ได้กล่าวหลังการประชุมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเกลือผันผวนมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวนาเกลือ คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ


1. การกำหนดราคาขั้นต่ำเกลือทะเลใน 3 ชนิดเกลือ ดังนี้ (1) ราคาเกลือขาว 1,800 บาท (2) เกลือกลาง 1,500 (3) เกลือดำ 1,300 บาท และขอให้ออกเป็นประกาศของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยเป็นราคาขั้นต่ำที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการซื้อขายเกลือทะเล


2. คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการการจัดการและป้องกันแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 เพื่อรองรับสภาพปัญหาการผลิตเกลือทะเลไทย


3.คณะกรรมการ ฯ ยังได้รับทราบแนวทางการพัฒนาเกลือทะเลไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทาง มาตรการ และกลไกการดําเนินงานรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564 – 2570 เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการพัฒนาห่วงโซ่การเพิ่มมูลค่าเกลือทะเลไทย (BCG Value Chain เกลือทะเลไทย) คำนึงถึงการสร้างมูลค่า การหมุนเวียนใช่ทรัพยากรและความสมดุลและยั่งยืน โดยกำหนดกิจกรรมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ตอนน้ำ จนถึงปลายน้ำได้แก่

ต้นน้ำ (เกษตรกร) โดยพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตเกลือทะเลให้เป็น smart farmer กระบวนการผลิตเกลือทะเลได้รับมาตรฐาน GAP รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการผลิตดอกเกลือและดีเกลือ ใช้พลาสติกปูพื้นนาเกลือเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำประมงน้ำกร่อย เชื่อมโยง กลางน้ำ (องค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ) พัฒนาในส่วนของผู้ประกอบการและองค์กรเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นองค์กรเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทยตามรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน ได้แก่

(1) ด้านการเพิ่มมูลค่า ภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) ของเกลือทะเล โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

(2) ด้านความคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่เกิดของเหลือใช้จากกิจกรรมการทำนาเกลือ

(3) ด้านความสมดุลความยั่งยืน ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลพิษ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวของกับเกลือทะเล

นพค.54 ประชุมทำประชาคม เพื่อเตรียมจัดทำแผนงาน โครงการ ในการเสนอความต้องการงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568

ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ กองบัญชาการกองทัพไทย (หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา) นำโดย พันเอกกิรชิต  คุณาวงค์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลแนงมุด และผู้นำชุมชน จัดการประชุมทำประชาคม เพื่อเตรียมจัดทำแผนงาน โครงการ ในการเสนอความต้องการงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ในพื้นที่ ตำบลแนงมุด อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พันเอกศักดิ์ชาย บุญสอน รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้เกียรติเข้าร่วมประชาคม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปเสนอความต้องการงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ต่อไป

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ห่วงใยประชาชน ติดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เผยสถิติ 2 วัน ควบคุมเข้มข้น เทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมาย กำชับทุกหน่วยเร่งอำนวยความสะดวกการจราจร ลดการสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วันนี้ ที่ตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(มค) ได้ให้ความสำคัญในการอำนวย  ความสะดวกการจราจร การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและสังคม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศูนย์ฯ ประชุม  ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 เพื่อติดตามข้อมูลและสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ข้อมูลและสถิติอุบัติเหตุใหญ่ การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก การตั้งจุดตรวจ แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ ตลอดจนสภาพการจราจรและปริมาณรถในพื้นที่ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทน บช.น., ภ.1 - 9 และ บช.ก. เข้าร่วมประชุม 

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า สถิติสะสมในห้วง 2 วัน ควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 12 เม.ย.66 มีการเกิดอุบัติเหตุ  618 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 75 ครั้ง (+13.81%) โดยลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 107 ครั้ง  (-14.76%) สถิติผู้เสียชีวิต 63 ราย ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 13 ราย (-17.11%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี  26 ราย (-29.21%) สถิติผู้บาดเจ็บ 618 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 84 ราย (+15.73%) โดยลดลง กว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 112 คน (- 15.34%) จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ 25 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุด ในพื้นที่ กทม. 7 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่  27 ราย โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 38.51 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 57.71 โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด ร้อยละ 41.59 สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.75 ซี่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วง 19.00 - 20.00 น. โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 143,436 ราย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 31,913 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 28,093 ราย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย เมาแล้วขับ 5,858 ราย ตามลำดับ

พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตามแนวทางข้อสั่งการของ ผบ.ตร. โดยเคร่งครัด และขอชมเชยการปฏิบัติงานของทุกหน่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วง 2 วันของช่วง 7 วัน ควบคุมเข้มข้น แม้ว่าสถิติ   การเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บ จะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่สถิติเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ.2563 - 2565) ดังนั้น จังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถิติที่สูง ให้ปรับแผนการปฏิบัติเพิ่มเติมให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม เพื่อให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจรและการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน SOP ที่ ตร. กำหนด ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ กล้อง CCTV ป้ายข้อความ การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครจราจร มีการจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และให้เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด

การประชุมแก้ไขปัญหายาเสพติด ระหว่าง คณะผู้แทนทางการไทย และ สปป.ลาว

วันที่ 20 เมษายน 2566  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มอบหมาย พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร./ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.ตร. ) พร้อมคณะผู้แทนทางการไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมนึก น้อยคง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. พล.ต.ต.พรพิทักษ์  รู้ยืนยง รอง ผบช.ปส. พล.ต.ต.ธีรเดช  ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. และนายคณิศร ภาพีรนนท์ ทูต ปปส.ประจำ สปป.ลาว

ได้ร่วมหารือว่าด้วยเรื่องกลไกความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีคณะทางการลาว ประกอบด้วย พล.จัตวา แก่นจัน  พรมมะจัก รองหัวหน้ากรมตำรวจใหญ่ หัวหน้าคณะ พ.อ.อินปง จันทวงสา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด พ.อ.แพง ไชยะวง รองหัวหน้ากรมตำรวจสกัดกั้นและต้านยาเสพติด พ.ท.พุดสวาด สูนทะลา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด และ พ.ท.ดาลิน สุดาจัน หัวหน้าแผนกบริหาร สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อตรวจตราและควบคุมยาเสพติด

‘การทางพิเศษฯ’ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1  ชวน ปชช. ร่วมถกแผน ‘หาพื้นที่เหมาะสม’ เพื่อลดผลกระทบรอบด้าน

เมื่อวานนี้ (1 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า…

ประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1 ร่วมวางแผน หาเส้นทาง และพื้นที่เหมาะสม ลดผลกระทบ 8-10 สิงหาคม 66 ในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี, สมุย และนครศรีธรรมราช

วันนี้เอาข่าวการวางแผนก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุยกับชายฝั่งสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเจ้าภาพงานนี้คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการในครั้งแรก เพื่อจะทำความเข้าใจกับโครงการ และหาเส้นทางที่เหมาะสมกับการก่อสร้างสะพาน

โดยเปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรก ในช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 รายละเอียดตามนี้
- วันที่ 8 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วันที่ 9 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วันที่ 10 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ตามลิ้งค์นี้
https://docs.google.com/.../1FAIpQLSeihOrVZ26RMk.../viewform

ซึ่งเบื้องต้นในโครงการได้เลือกจุดเริ่มต้น (ฝั่งสุราษฎร์ธานี) และจุดสิ้นสุด (ฝั่งเกาะสมุย) ไว้อย่างละ 3 จุด ได้แก่

- จุดเริ่มต้นโครงการ (ฝั่งสุราษฎร์ธานี)
1. หาดนางกา
2. อ่าวประทับ
3. หาดแขวงเภา

- จุดสิ้นสุดโครงการ (ฝั่งเกาะสมุย)
1. อ่าวพังกา
2. ท่าเรือเกาะแตน
3. ท้ายอ่าวหินลาด

ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม

จุดที่สำคัญที่สุด คือการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในรายละเอียดโครงการ ซึ่งสามารถติดตามได้จาก
- Line Openchat
https://line.me/.../Tn4RyFFsK6xyAY7vOw38-XPDgXDzEYy...
- Facebook เพจ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย
- เว็บไซต์โครงการ
https://samuibridge.com/

สมาคมชาวจังหวัดชุมพรจัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566

วันนี้17 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. สมาคมชาวจังหวัดชุมพรจัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566  ณ บริษัทบูรพาคอนกรีต แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย พลเอกไพโรจน์ นาคฉัตรีย์  นากสมาคม นายวิชิต ดิลกวิลาศ อุปนายกคนที่ 1 รศ.ดร.บุญยิน จินาจิ้น อุปนายกคนที่ 2 นายชาคริต กฤติยาโชติปกรณ์ อุปนายกคนที่ 3 ดร.สมยศ แสงสุวรรณ อุปนายกคนที่ 4 พลตรีนพสิทธิ์ คงชินศาสตร์ธิติ กรรมการ นายโกสินธ์ จินาอ่อน กรรมการ นายบุญธรรม พรหมภินันท์ จ่าสิบโทปิยะพงษ์ มณีศรี กรรมการ นายบัญชา ตฤษณาภราดร กรรมการ นายชาณุรัช วงศ์จันทร์มณี กรรมการ นายชอบ รสมาลา กรรมการและนายทะเบียน และนายลือชัย มณีศรี กรรมการและเลขาธิการ พร้อมสมาชิกอีก 12 คน ในการประชุมครั้งนี้มีนายอาทิตย์ สินธพานนท์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ที่ประชุมดำเนินการไปตามระเบียบวาระ 

โดยนายลือชัย มณีศรี กรรมการและเลขาธิการ ได้สรุปผลงานในรอบปี 2566 รวม 27 เรื่อง มีเรื่องที่ควรทราบคือ เมื่อ 21 มิถุนายน 2566 มอบเงินช่วยเหลือนางประนอม ประสารวุฒิ จำนวน 14,000 บาท เนื่องจากถูกไฟไหม้บ้านเลขที่ 18/5 หมู่ที่ 10 ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 อุปนายก 3 คน เข้าร่วมเสวนา เรื่อง ร่วมคิด ติดอาวุธ นำผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนตอนใต้ วันที่ 1 กันยายน 2566 มอบเงิน จำนวน 60,500 บาท ให้โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพื่อเป็นทุนเปิดศูนย์หัวใจ และมอบเงิน 50,000 บาท ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อมอบต่อให้ประธานสหวิทยาเขตชุมพร 1 และ 2 นำไปมอบให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ วันที่ 24 ธันวาคม 2566 จัดงาน วันสังสรรค์ชาวชุมพร ณ สมาคมชาวปักษ์ใต้ ได้เงิน 54,146 บาท 

นายลือชัย มณีศรี กล่าวว่า ปีนี้สมาคมจะมีอายุครบ 50 ปี ในวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ขอให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาว่า จะจัดงานเฉลิมฉลองกันหรือไม่ รูปแบบใด และเมื่อไหร่ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า จะวางแผนโครงสร้างสมาคมเสียใหม่ ส่วนการจัดงานนั้นจัดแน่ภายในปีนี้ ค่อยพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง
หลังเสร็จสิ้นการประชุม พลเอกไพโรจน์ นาคฉัตรีย์ นายกสมาคมชาวจังหวัดชุมพร อวยพรและมอบช่อดอกไม้ให้แก่ รศ.ดร.บุญยิน จินาจิ้น อุปนายกคนที่ 2 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 60 ปี

เชียงใหม่-การประชุมกลไกความร่วมมือชายแดนไทย-ลาว เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน”

วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ พลโท ณัฐพงษ์  เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย  พร้อมด้วย พ.อ. ดาวไก  เลิดลิวัน รองหัวหน้ากรมทหารชายแดน กรมใหญ่เสนาธิการ กองทัพประชาชนลาว ร่วมเป็นประธานเปิด การประชุมกลไกความร่วมมือชายแดนไทย-ลาว เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน” ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่

ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระทรวงกลาโหม โดย กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับกรมทหารชายแดน กรมใหญ่เสนาธิการ  กองทัพประชาชนลาว ในการจัดการประชุมกลไกความร่วมมือชายแดนไทย-ลาว เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่
 
คณะที่ประชุมฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ส่วน คณะที่ประชุมฝ่ายลาว ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กระทรวงป้องกันประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จากแขวงบ่อแก้ว แขวงไชยะบุรี และ สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย  นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจาก ประเทศกัมพูชาและประเทศ เมียนมา เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมอีกด้วย

​ปัญหาหมอกควัน เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากเนื่องจาก มีผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน และนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนได้ตระหนักและร่วมมือกันในแก้ไขปัญหานี้ อย่างจริงจังอยู่แล้ว  แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหมอกควัน ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น ยังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน กลายเป็นปัญหาหมอกควันข้ามแดน  ซึ่งเป็นปัญหาในระดับภูมิภาคที่ทุกประเทศ ต้องร่วมมือกัน

​สำหรับภูมิภาคASEAN มีความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ภายใต้กรอบความร่วมมือข้อตกลง ASEAN ว่าด้วยเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN AGREEMENT ON TRANBOUNDARY HAZE POLLUTION) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ลาว และเมียนมา ได้เห็นชอบร่วมกันในบันทึกความตกลงสามฝ่ายเรื่องยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY STRATEGY) โดยมีเป้าหมายให้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนลดลง และหมดไปโดยเร็ว 

นอกจากนี้ ยังมีกลไกทวิภาคี ได้แก่ กลไกความร่วมมือคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว คณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา และ กลไกความร่วมมือคณะกรรมการระดับสูงไทย-เมียนมา ซึ่งบันทึกความร่วมมือของคณะกรรมการทุกคณะที่กล่าวมานั้น ได้กำหนดให้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
 
​ผลการประชุมกลไกความร่วมมือชายแดนไทย-ลาวเพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ในวันนี้ ทั้งสองฝ่าย ได้กำหนดแนวทางดังนี้

​๑. ฝ่ายไทยยินดีสนับสนุนจัดการฝึกอบรมด้านการควบคุมไฟป่า ให้แก่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายลาว จำนวนไม่เกิน ๓๐ คน ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ราชอาณาจักรไทย ในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ โดยฝ่ายลาวจะพิจารณาและแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ ผ่านช่องทางการทูต

​๒. ฝ่ายไทยยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ เพื่อการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ณ แขวงบ่อแก้ว และแขวงไซยะบุรี โดยฝ่ายลาวจะพิจารณาและแจ้งให้ ฝ่ายไทยทราบผ่านช่องทางการทูต

​๓. ทั้งสองฝ่ายมีความยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างกัน

​๔. ทั้งสองฝ่ายจะรายงานตามลำดับชั้นในฝ่ายตน เพื่อพิจารณาให้กลไกคณะกรรมการชายแดนไทย - ลาว , ลาว - ไทย ประสานงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดความเรียบร้อย  และมีประสิทธิภาพ

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้จัดการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณากิจกรรมความร่วมมือ  ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม ในโอกาสต่อไป

นภาพร/เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top