Friday, 3 May 2024
นาซา

นาซา ส่งยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ทดสอบแผนปฏิบัติการปกป้องโลก

รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - นาซาส่งยานอวกาศ "เดอะ ดาร์ท" โปรเจกต์มูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ที่เกาะหลังจรวด Falcon 9 ของบริษัทสำรวจอวกาศ สเปซเอ็กซ์ ของ "อีลอน มัสค์" ถูกปล่อยออกไปจากฐานกองกำลังอวกาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg Space Force Base) ในรัฐแคลิฟอร์เนียเวลา 22.21 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ (23 พ.ย.) มีเป้าหมายเพื่อในการส่งยานอวกาศดาร์ทพุ่งเข้าชนไปที่ดาวเคราะห์น้อยคู่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเส้นทางวิถีโคจรไม่ให้เป็นปรากฏการณ์อาร์มาเก็ดดอนดาวแอสเตอรอยด์พุ่งเข้าชนโลก

รอยเตอร์รายงาน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ยานอวกาศเดอะ ดาร์ท (The DART) ที่มาจากชื่อปฏิบัติการทดสอบเปลี่ยนวิถีโคจรดาวเคราะห์น้อยคู่ (Double Asteroid Redirection Test) ถูกปล่อยออกจากฐานกองกำลังอวกาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg Space Force Base) ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเวลา 22.21 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ (23 พ.ย) สามารถดำเนินการได้ตามเวลากำหนด โดยภาพการปล่อยถูกเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ขององค์การนาซาสหรัฐฯ

เดอะ ดาร์ท น้ำหนักราว 1,344 ปอนด์ ถูกปล่อยออกไปจากฐานมุ่งสู่อวกาศสำหรับการเดินทางระยะเวลา 10 เดือนไปสู่ห้วงอวกาศที่ไกลโพ้นที่มีระยะ 6.8 ล้านไมล์ห่างจากโลก

และเมื่อไปถึงจุดหมายยานอวกาศ เดอะ ดาร์ท จะทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนวิถีการโคจรของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวแอสเตอรอยด์ในภาษาอังกฤษด้วยการใช้ความเร็วสูงพุ่งชนไปที่ดาวเคราะห์น้อย โดยทางนาซาตั้งความหวังว่าแรงการพุ่งชนจะทำให้ดาวแอสเตอรอยด์เปลี่ยนแปลงวิถีการโคจรที่จะไม่เป็นอันตรายต่อโลก

'นาซา' ระแวง!! หวั่นจีนอาจอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดวงจันทร์ หากชนะสหรัฐฯ ในสมรภูมิแข่งขันด้านอวกาศ

จีนอาจพยายามเข้าควบคุมตำแหน่งที่ตั้งต่าง ๆ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรมากที่สุดบนดวงจันทร์ หากว่าปักกิ่งมีชัยชนะในการแข่งขันเหนืออเมริกา สำหรับดวงดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลกดวงนี้ จากความเห็นของ บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา)

"มันเป็นความจริง เราอยู่ในศึกแข่งขันด้านอวกาศ" เนลสัน ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวสหรัฐฯ ‘โพลิติโค’ เมื่อวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) พร้อมเตือนว่า "และมันเป็นความจริงที่เราต้องระแวดระวังมากขึ้นว่าจีนจะไม่เข้าควบคุมสถานที่หนึ่งๆ บนดวงจันทร์ ภายใต้หน้ากากของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมันไม่ใช่เรื่องเกินเลยในขอบเขตความเป็นไปได้ ที่พวกเขาจะบอกว่าพื้นที่นี้ห้ามเข้า เราอยู่ที่นี่ นี่คือดินแดนของเรา"

ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า "ปัญหาคือ ณ ตอนนี้มันมีหลายพื้นที่ทางขั้วใต้ของดวงจันทร์เท่านั้นที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราคิด สำหรับกักเก็บน้ำและอื่น ๆ เป็นต้น"

เนลสัน พาดพิงพฤติกรรมของจีนในผืนโลก ในการให้เหตุผลเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยระบุว่า "ถ้าคุณคลางแคลงใจ คุณลองดูสิ่งที่พวกเขาทำกับหมู่เกาะสแปตลีย์สิ" เขากล่าวอ้างถึงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศอื่น ๆ โต้แย้งกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน แต่กองทัพจีนได้เข้าไปจัดตั้งฐานทัพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในปี 2019 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถลงจอดแบบนุ่มนวลในด้านห่างไกลของดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งในภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4 และหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็กที่ชื่อ อวี้ทู่ 2 ทั้งนี้ ต่อมามันได้ส่งตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลก และทางปักกิ่งคาดหมายว่าพวกเขาจะสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ก่อนปี 2023 และจากนั้นจะจัดตั้งสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์เป็นลำดับต่อไป

ช่วงไม่ปีที่ผ่านมา องค์กรอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยังประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศและยานโรเวอร์ไปดาวอังคารด้วยเช่นกัน รวมถึงปล่อยสถานีอวกาศแห่งชาติขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก

เนลสันยอมรับว่า "ภายในทศวรรษที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารและมีความก้าวหน้ามากมายในด้านโครงการอวกาศ" 

‘นาซา’ ค้นพบดาวเคราะห์ ‘TOI 700 e’ เชื่อ!! มนุษย์อาจไปอาศัยอยู่ได้

นาซารายงานพบดาวเคราะห์ที่อาจเหมาะต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตเพิ่มอีกดวง ชื่อว่า TOI 700 e อยู่ห่างจากโลกราว 100 ปีแสง

เรื่องของการตามหา ‘โลกสำรอง’ ที่มนุษย์จะสามารถอพยพไปอาศัยอยู่ได้หากโลกใบนี้ของเราเกิดวิกฤตหนักจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกแล้วในอนาคตอันไกล ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่หน่วยงานอวกาศทั่วโลกให้ความสนใจ

ล่าสุดภารกิจดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (TESS) ขององค์การนาซา รายงานพบดาวเคราะห์ที่คาดว่ามนุษย์น่าจะไปอาศัยอยู่ได้เพิ่มอีก 1 ดวง มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และอยู่ห่างไปราว 100 ปีแสง (9.46 ล้านล้านกิโลเมตร)

ดาวเคราะห์ที่พบนี้มีชื่อว่า TOI 700 e หรือ ดาว e เป็นดาวเคราะห์หิน (Rocky Planet) มีขนาดประมาณ 95% ของโลก อยู่ในระบบดาวแคระ TOI 700 ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2020 ก็มีการพบดาวเคราะห์ TOI 700 d ที่คาดว่าสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตได้เช่นกัน

ทั้งดาว TOI 700 e ที่เพิ่งค้นพบ และ TOI 700 d ที่พบก่อนหน้า ล้วนแล้วแต่เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวแคระ (Dwarf Star) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่ง โดยมีระยะไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ทำให้น้ำบนดาวคงสถานะของเหลวไว้ได้ไม่ระเหยไปจากความร้อนของดาวแคระ บ่งชี้ว่า ดาวเคราะห์เหล่านี้อาจสามารถใช้อยู่อาศัยได้

เอมิลี กิลเบิร์ต จากนาซา หัวหน้าทีมวิจัยที่ค้นพบ TOI 700 e กล่าวว่า “นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ระบบที่มีดาวเคราะห์ขนาดเล็กหลายดวงโคจรอยู่ในระยะเหมาะสมที่เรารู้จัก”

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ระบุดาวเคราะห์ในระบบดาวแคระ TOI 700 ได้แล้ว 4 ดวง คือดาวเคราะห์ b, c, d และล่าสุดคือ e ที่เพิ่งค้นพบ

ดาวเคราะห์ TOI 700 b มีระยะอยู่ให้กับดาวแคระที่สุด มีขนาด 90% ของโลก การโคจรรอบดาวแคระ 1 รอบ หรือ 1 ปีบนดาวนั้นใช้เวลาแค่ 240 ชั่วโมงหรือ 10 วันบนโลกเท่านั้น ถัดออกมาเป็นดาวเคราะห์ TOI 700 c เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่าโลก 2.5 เท่า ใช้เวลาโคจรรอบดาวแคระน้อยเช่นกัน คือ 16 วัน

ส่วนดาวเคราะห์ d และ e ที่มีการประเมินว่าสิ่งมีชีวิตน่าจะอาศัยอยู่ได้นั้น ใช้เวลาโคจรรอบดาวแคราะ 37 วันและ 28 วัน ตามลำดับ โดยดาวเคราะห์ e นั้นอยู่ใกล้กับดาวแคระมากกว่าดาวเคราะห์ d

‘นาซา’ เปิดภาพ ‘ต้นคริสต์มาส’ แห่งเอกภพ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง

(21 ธ.ค.66) นาซา เปิดเผยภาพใหม่ของ NGC 2264 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คลัสเตอร์ต้นคริสต์มาส’ ที่แสดงรูปร่างต้นไม้ในจักรวาล พร้อมแสงดาวฤกษ์ เพื่อต้อนรับเทศกาลปลายปี

NGC 2264 เป็นคลัสเตอร์ดาวอายุน้อย มีอายุระหว่าง 1-5 ล้านปีในทางช้างเผือก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ดาวฤกษ์ใน NGC 2264 มีทั้งเล็กและใหญ่กว่าดวงอาทิตย์

ภาพส่วนประกอบใหม่นี้ เพิ่มความคล้ายคลึงกับต้นคริสต์มาส ด้วยการเลือกสีและการหมุนแสงสีน้ำเงินและสีขาว เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยที่ปล่อยรังสีเอกซ์ ที่ตรวจพบโดยหอดูดาวจันทราเอ็กซเรย์ ของนาซา

NARIT เคยเปิดเผยไว้ว่า NGC 2264 เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นกระจุกดาวอายุน้อยและมีความ สว่างมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster

จุดเด่นของ NGC 2264 คือ บริเวณกลางภาพมีดาวฤกษ์เกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เรียกว่า ‘กระจุกดาวเปิด’ มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงตัวกันเป็นรูปร่างคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า ‘กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)’ ด้านบนมีกลุ่มแก๊สรูปร่างคล้ายกรวย มีชื่อว่า ‘เนบิวลากรวย (Cone Nebula)’ มีดาวสว่างเด่นบนเนบิวลากรวยเป็นยอดของต้นคริสต์มาส

ส่วนของเนบิวลากรวย และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปกรวยคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังจึงมองเห็นเป็นสีคล้ำกว่า

‘สตาร์ตอัปฝรั่งเศส-อเมริกัน’ ผุด ‘ไบโอพ็อด’ โดมเพื่อการเกษตร เตรียมปลูกพืชบนอวกาศ รับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต

(8 ม.ค. 67) รายงานข่าวจาก บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ สตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบโดมเพื่อการเกษตรที่มีชื่อเรียกว่า ‘ไบโอพ็อด’ (BioPod) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตในท้องถิ่น และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

บาร์บารา เบลวีซี ผู้ก่อตั้งบริษัท ยกตัวอย่างว่า ในแง่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การทดลองปลูกต้นวานิลลาภายในโดมไบโอพ็อด จะเป็นการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งวานิลลาจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

“นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรนํ้าอย่างมีประโยชน์มากขึ้นเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะด้วยวิธีการใหม่นี้ 99% ของนํ้า จะถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังเป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศไปเพิ่มระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโดม” เบลวีซีอธิบาย

การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ยังช่วยให้สามารถใช้พื้นที่สำหรับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้พื้นที่แนวตั้งมากกว่าแนวขยายรูปทรงภายนอกของโดมไบโอพ็อด มีลักษณะกลมรี ตัวฐานใช้วัสดุที่สามารถถอดประกอบได้ง่าย พื้นชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ระบบภายใน ส่วนหลังคาด้านบนใช้เป็นวัสดุโพลิเมอร์เป่าลมให้พองออกได้คล้ายกับโดม

ด้านในประกอบไปด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงแสง และนํ้า นอกจากนี้ยังมีระบบหมุนเวียนรีไซเคิลทั้งนํ้าและอากาศกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

ด้วยแนวคิดให้เป็นโมดูลผลิตอาหารแบบยั่งยืน ภายในโดมซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 55 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงบนอวกาศ โดยตั้งสมมุติฐาน ถ้ามนุษย์ตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ อุณหภูมิที่นั่นเมื่อแสงอาทิตย์ส่องอาจจะร้อนได้ถึง 127 องศาเซลเซียส หรือลดลงต่ำสุดได้ถึง -173 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน

‘ไบโอพ็อด’ โดมปลูกพืชบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า (NASA) จะมีการนำโดมเพื่อการเกษตรไบโอพ็อดนี้ ออกไปทดลองปลูกพืชในอวกาศด้วย โดยมีกำหนดใช้งานบนดวงจันทร์ภายในปี 2027เป้าหมายเพื่อพัฒนาเรือนปลูกพืชสำหรับใช้งานในอวกาศ รองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นดวงจันทร์ที่นาซ่ากำลังมีโครงการนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้บริหารของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ได้เข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดโดยสหประชาชาติที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อแนะนำโครงการและระดมทุนสำหรับ

โครงการนี้ โดยคาดว่าเมื่อบริษัทผลิตโดมไบโอพ็อดออกจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 350,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านบาท

ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่า หลายภูมิภาคทั่วโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผสมพันธุ์ดัดแปรพันธุกรรมอาจนำไปสู่การปรับปรุงพืชให้สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดีขึ้น แต่พืชบางชนิดเช่น มันฝรั่ง ก็มีความเสี่ยงที่ผลผลิตจะลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้น การนำไบโอพ็อดไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นวิธีหนึ่งในการรับรองว่าพืชผลบางชนิดจะปลอดภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ไบโอพ็อดยังสามารถปกป้องและอนุรักษ์พืชที่อยู่นอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออีกเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร นอกเหนือไปจากธนาคารเมล็ดพันธุ์และสวนพฤกษศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไบโอพ็อด เป็นเพียงขั้นตอนแรกของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเลือกอยู่ไม่ว่าจะเป็นบนโลก ในอวกาศ หรือบนดวงจันทร์ แนวคิดของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ซึ่งเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น ต้องการให้ไบโอพ็อด สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน และการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า มนุษย์จะมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าพวกเขาเลือกจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่บนดาวเคราะห์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top