Wednesday, 1 May 2024
นักปีนเขา

ไขปริศนา!! เพราะเหตุใดจึงไม่มีการจัดการกับร่างนักปีนเขา ซึ่งเสียชีวิตบนเขาเอเวอเรสต์

ข้อมูลอ้างอิงตัวเลขจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผู้เสียชีวิตขณะพยายามปีนขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์มากถึง ๓๐๕ ราย ร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มากกว่า ๒๐๐ ร่าง ยังคงอยู่บนเอเวอเรสต์ บางร่างก็ไม่เคยถูกพบมาก่อน บางร่างก็ต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ ‘เครื่องหมาย’ ที่น่าสะพรึงกลัวตลอดเส้นทางสู่ยอดเขา และบางร่างจะถูกพบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อสภาพอากาศบนยอดเขาเอเวอเรสต์เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มีนักปีนเขาที่หวังจะประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สูงถึง ๑๐,๑๘๔ ราย แต่มีแค่บางคนที่สามารถพิชิตสำเร็จได้หลายครั้ง จึงมีผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเพียง ๕,๗๓๙ คน แม้ว่าจำนวนนักปีนเขาที่เสียชีวิตบนภูเขาจะมีเป็นจำนวนมาก แต่คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเพียง 3% สำหรับยอดเขาเอเวอเรสต์ นั่นหมายความว่า นักปีนเขาประมาณหนึ่งคนในสามสิบสามคนจะจบลงด้วยความตาย

ทำไมพวกเขาถึงทิ้งร่างของนักปีนเขาที่เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ไว้มากมาย? ทำไมไม่จัดการกับร่างเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามประเพณี? บ้างก็อ้างว่า ร่างอยู่ที่นั่นเป็นเหมือนเครื่องหมายอ้างอิงแสดงเส้นทางให้นักปีนเขาคนอื่น ๆ 

แต่แน่นอน นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น เพราะความจริงแล้วจุดอ้างอิงนั้นจะมีประโยชน์อย่างไร ในเมื่อจุดนั้น ๆ มีเพียงหิน และน้ำแข็งปกคลุม เมื่อร่างผู้เสียชีวิตถูกทิ้งไว้จึงดูไม่แปลกจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ อีกทั้งร่างพวกนั้นอยู่ในเขตที่เรียกว่า ‘แดนมรณะ’ นั่นคือระดับความสูงที่มนุษย์จะเสียชีวิตหากปราศจากออกซิเจนในทุกวินาทีที่อยู่บนนั้น

โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถรับมือกับระดับความสูงมาก ๆ ได้นาน เพราะความสูงประมาณ ๙,๐๐๐ เมตร เท่ากับระดับความสูงการบินของเที่ยวบินโดยสารระยะสั้น แม้จะมีออกซิเจนเสริม 

ทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องทำกลายเป็นความพยายามอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะต้องทำเรื่องที่คิดว่าง่ายที่สุด (ในสถานการณ์ปกติ) ระหว่างการปีนเพื่อไต่ความสูงในระดับสูงมาก ๆ ขนาดนั้น เช่น การดื่ม การกิน การย่อยอาหาร การนอนหลับ และรักษาบาดแผล ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการใช้ออกซิเจนของบรรดานักปีนเขาเหล่านั้นทั้งสิ้น 

แต่หากนักปีนเขาเข้าสู่เขตมรณะแล้ว ก็จะมีคำเตือนที่ว่า ควรจะใช้เวลาอยู่ในบริเวณนั้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีการจัดการกับร่างของบรรดานักปีนเขาที่เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์

แต่หากร่างผู้เสียชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ และครอบครัวของนักปีนเขาที่เสียชีวิตเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ทีมงานก็จะพยายามเก็บกู้ร่างของพวกเขาออกมา ซึ่งต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ ของนักปีนเขาที่ขึ้นไปเก็บกู้ จึงมีค่าใช้จ่ายมหาศาลทั้งแรงงานของนักปีนเขาชาวเชอร์ปาในท้องถิ่นและค่าชั่วโมงบินของเฮลิคอปเตอร์

หรือไม่เช่นนั้นร่างของผู้เสียชีวิตก็อาจจะถูกผลักลงจากหน้าผาหรือรอยแยกเพื่อให้พ้นสายตา ซึ่งถือว่าเป็นการฝังร่างตามแบบนักปีนเขาที่สง่างาม สมความภาคภูมิของเหล่าบรรดานักปีนเขา 

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วร่างนักปีนเขาที่เสียชีวิตจะถูกทิ้งไว้ที่จุดเดิมตรงที่พวกเขาเสียชีวิต เพราะไม่มีใครที่จะยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อกู้ร่างของนักปีนเขาที่เสียชีวิตเหล่านั้น และนั่นถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจ แต่ใครที่เลือกเป็นนักปีนเขาแล้ว และยินดีที่จะปีนเพื่อขึ้นไปบนนั้นย่อมรับรู้เรื่องนี้ดี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top