Monday, 29 April 2024
ที่ดิน

'สุทิน' ถามสด ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่แลก 40 ลบ. คุ้มหรือ? ชี้!! นโยบายนี้เอื้อนายทุน - ซ้ำเติมประชาชนในชาติ

(3 พ.ย. 65) สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน ตั้ง #กระทู้สดด้วยวาจา กรณีมติคณะรัฐมนตรีแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการได้มาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ 

กระทู้สดด้วยวาจานี้ถามต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ตอบกระทู้ 

สาระสำคัญคือ ชี้ชวนจูงใจให้ต่างชาตินำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่าคนละ 40 ล้านบาท เพื่อแลกกับการถือครองที่ดินได้คนละ 1 ไร่ โดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และวิตกกังวลสำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่ว

การส่งเสริมให้คนต่างชาติถือครองที่ดิน คือการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินในขณะที่คนไทยกำลังอ่อนแอ เพราะคนไทยกว่าร้อยละ 80 ยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมากไปกระจุกอยู่กับนายทุนคนละหลายแสนไร่ และยังจะซ้ำเติมด้วยต่างชาติเข้ามาถือครองอีก เรื่องนี้ชาวบ้านวิตกกันถึงขั้นว่าเป็นการ ‘ขายชาติ’ 

แม้รัฐบาลในอดีตเคยทำ แต่ทำบนข้อจำกัดและความจำเป็น คือเมื่อปี 2542 และปี 2545 รัฐบาลไปกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟกำหนด แต่ก็ออกกฎกระทรวงหรือมีมาตรการที่ระมัดระวัง รอบคอบและรัดกุม จนในที่สุดแล้วมีต่างชาติมาซื้อที่ดินเพียงแค่ประมาณ 7-8 ราย ก็ถือว่าเราไม่ได้เกิดการสูญเสียที่ดิน

แต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างว่าเพื่อความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ อันมาจากวิกฤต เสมือนรัฐบาลยอมรับว่า วันนี้รัฐบาลได้จนมุมทางเศรษฐกิจ และจำเป็นแล้วที่ต้องใช้มาตรการนี้ หมายความว่าการเงินการคลังเรากำลังลำบาก ต้องรอแต่เงินต่างชาติอย่างเดียวแล้วหรือ? 

และที่รัฐบาลอ้างว่ามีมาตรการนั้น มาตรการดังกล่าวก็หละหลวมมาก คือที่อ้างว่าเปิดการลงทุนเพื่อให้ได้ผู้เชี่ยวชาญ ได้เงินลงทุน ได้เทคโนโลยี แต่ดูไปดูมา รัฐบาลนี้แค่อยากได้เงินเขาเท่านั้น เพราะแต่ละกลุ่มที่รัฐบาลเลือกมาคือ เศรษฐี ผู้เกษียณอายุ ซึ่งนี่ตรงกันข้ามกันกับที่บอกว่าอยากได้ผู้เชี่ยวชาญ ได้เทคโนโลยีได้การลงทุนสร้างงาน และมากกว่านั้น 

สุทินย้ำว่า เงินลงทุนแค่ 40 ล้านบาทคือ โอนเงินข้ามประเทศมาก็ได้ที่ดินเลย คนไม่ต้องมา โรงงานไม่ต้องมา เทคโนโลยีไม่ต้องมา นี่คือไม่ได้เกิดงานที่แท้จริง ไม่ได้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เอาเงินมา 40 ล้าน ครบ 3 ปีได้ดอกก็ถอนออกไป ตรงนี้อันตราย 

จึงเกิดข้อสงสัยถัดมาว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลเจตนาช่วยเหลือกลุ่มทุนที่วันที่ถือที่ดินไว้เต็มมือหรือไม่? บางรายมีที่ดินหลายแสนไร่ บางรายมีคอนโดมิเนียมนับหมื่นห้อง ซึ่งวันนี้ขายไม่ออก ตรงนี้เป็นแรงจูงใจหรือแรงผลักดันจากกลุ่มทุนหรือไม่ว่าให้ต่างชาติมาช่วยซื้อที่ดินซื้อบ้าน ดังนั้นจึงมีข้อสงสัยว่า รัฐบาลมีเจตนาหรือไม่เจตนาที่จะเอื้อกฎหมายนี้ให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มนายทุนใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คนได้ประโยชน์คือทุนใหญ่ คนเสียประโยชน์คือชาวบ้าน 

วันนี้ พรรคเพื่อไทย จึงตั้งกระทู้ เพื่อถามนายกรัฐมนตรีว่า

1.) คณะรัฐมนตรีมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลอะไรที่หนักหนาสาหัส ถึงขนาดต้องมีมติคณะรัฐมนตรีแบบนี้ออกมา

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: จัดรูปที่ดิน เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เมืองนครศรีธรรมราช

จัดรูปที่ดิน เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เมืองนครศรีธรรมราช เปิดที่ดินตาบอดใจกลางเมืองด้วยความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ วางรูปที่ดินใหม่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ติดถนนทุกราย ก่อสร้างถนนตามผังเมืองใหม่ ไม่ต้องเสียเงินเวนคืน

เปิดตัว ‘ดนัย’ คนรับซื้อที่ดิน 14 ไร่ ที่ปราณบุรี ของ ‘พิธา’ เจ้าตัวเผย ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ยัน!! เป็นการซื้อขายตามปกติ

เปิดตัว ‘ดนัย ศุภการ’ คนรับซื้อที่ดินมรดก 14 ไร่ 6.5 ล้าน อ.ปราณบุรี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ โพรไฟล์ธุรกิจ กรรมการถือหุ้น บริษัทอสังหาฯ ใน อ.หัวหิน 6 แห่ง ก่อนหน้าแจงทำธุรกรรมปกติ ไม่รู้จัก หัวหน้าก้าวไกลมาก่อน เคยเสนอมากกว่า 10 ล้าน ต่อรองหลายครั้ง

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 66 กรณีที่ดินตามโฉนดหมายเลข 13543 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 14 ไร่ 0 งาน 62.7 ตารางวา ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งยื่นแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่ง ส.ส.ปี 2562 ระบุเป็นทรัพย์ที่ ‘ได้รับมรดก’ มูลค่าปัจจุบัน (ขณะนั้น) 18 ล้านบาท นำข้อมูลมารายงานแล้วว่า ที่ดินแปลงนี้ปัจจุบันเปลี่ยนมือไปแล้วโดยทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ในราคา 6,500,000 บาท (หลังจากหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 มี.ค. 66 ประมาณ 7 วัน) ในขณะที่ราคาที่ดินที่เจ้าหน้าที่ประเมินราคาที่ดินแปลงนี้อยู่ที่ 8,777,185 บาท เท่ากับนายพิธาจดทะเบียนขายในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน 2,277,185 บาท โดยนายพิธาอ้างว่าที่ดินบางส่วนมีสภาพเป็นบ่อน้ำ

ขณะที่ผู้ซื้อชี้แจงว่า เป็นการซื้อขายตามปกติ เนื้อที่ดินตามจริงอาจน้อยกว่าจำนวนที่ระบุในโฉนด เนื่องจากพื้นที่ติดคลอง และมีบ่อ ส่วนราคาประเมินที่เขาแจ้งไว้สมัยก่อนอาจจะสูง แต่ซื้อขายจริงอาจจะไม่ถึง และไม่รู้มาก่อนว่าเป็นที่ดินของนายพิธา

โดยข้อมูลเบื้องต้นก่อนหน้านี้ ที่ออกมาว่า ‘ผู้ซื้อ’ ที่ดินแปลงนี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีชื่อเป็นกรรมการถือหุ้นธุรกิจอสังหริมทรัพย์อย่างน้อย 5 บริษัท ล่าสุดได้มีการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นายดนัย ศุภการ ผู้ซื้อที่ดินมีชื่อเป็นกรรมการและ/หรือถือหุ้น 6 บริษัท รายละเอียดดังนี้

1.) บริษัท สมาร์ทเฮ้าส์ วิลเลจ หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 15 มกราคม 2550 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบกิจการ การให้เช่า การขาย การซื้อ อสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และนายดนัย ศุภการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 9 มีนาคม 2566 นายดนัย ศุภการ ถือหุ้นใหญ่ 50,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด 45,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้น 3 ราย รวมทั้งหมด 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

2.) บริษัท สมาร์ทเฮ้าส์ วัลเล่ย์ หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบการเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และ นายดนัย ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายน 2566 นายดนัย ศุภการ 8,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 84,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย รวมทั้งสิ้น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

3.) บริษัท เอส เอช วี หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ ขาย ดำเนินงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายประวัติ ศิริพรสกุล และ นายดนัย ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2565 นายดนัย ศุภการ ถือหุ้นใหญ่ 100,000 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด 90,000 หุ้น และ น.ส.เรณู ปั่นเทพ 10,000 หุ้น รวมทั้งหมด 200,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

4.) บริษัท หัวหิน เรสซิเด้นท์ เรียลเอสเตท จำกัด จดทะเบียนวันที่ 28 ตุลาคม 2548 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งเลขที่ 359 หมู่ 7 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายดนัย ศุภการ และ นายประวัติ ศิริพรสกุล เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 นายดนัย ศุภการ 35,500 หุ้น บริษัท ดรากอนริชลี่ จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 58,050 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 3 ราย รวมหุ้นทั้งหมด 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

5.) บริษัท ดีน่า โฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 22 มีนาคม 2566 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ ขาย เช่า ให้เช่าที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พัฒนา จัดสรร และแบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อย เป็นตัวแทนซื้อ ขายในกิจการอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด ที่ตั้งเลขที่ 299/1 หมู่ 1 ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

6.) บริษัท ไทยคันทรีโฮม หัวหิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 25 มีนาคม 2559 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย ที่ตั้งเลขที่ 100 หมู่ 1 ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางจันทรา บีแชม นายแกรแฮม จอห์น บีแชม นายประวัติ ศิริพรสกุล นายเอกรัตน์ ศุภการ เป็นกรรมการ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 นายดนัย ถือ 1,000 หุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 6 คน จำนวนหุ้นทั้งหมด 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท (ไม่มีชื่อนายดนัยเป็นกรรมการ)

ทั้งหมดเป็นโพรไฟล์ธุรกิจของผู้รับซื้อที่ดิน 14 ไร่ 6,500,000 บาทจากนายพิธา

ศาลพิพากษาให้ 'กรมที่ดิน' ชดใช้ 'ธนาธร' 4.9 ล้านบาท ปมสั่งเพิกถอน 'น.ส.3ก.' ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ

‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาให้ ‘กรมที่ดิน’ ชดใช้ค่าเสียหาย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ 4.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ปมออกคำสั่งเพิกถอน ‘น.ส.3 ก.’ จ.ราชบุรี เนื้อที่ 81 ไร่เศษ ชี้แม้ที่ดินทั้ง 2 แปลง จะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็น ‘บุคคลภายนอก’ ที่ซื้อที่ดินมาโดยสุจริต-เสียค่าตอบแทน

(27 ก.ย. 66) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2218/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1839/2566 ซึ่งเป็นคดีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องกระทรวงมหาดไทย (มท.) กับพวกรวม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง กรณีอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ของนายธนาธร

โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4,912,311.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 และที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

เนื่องจากศาลฯเห็นว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่ดินประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 แล้วเห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข 85

และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี”ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองอธิบดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มอบหมาย จึงมีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ได้

ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 ออกให้แก่นาย อ. และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 ออกให้แก่นาย ช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2521 ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ต่อมา นาย อ. และนาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 หลังจากนั้น บริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่นาย ส. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย เมื่อนายอำเภอจอมบึงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามกฎหมายหรือไม่

ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เมื่อนายอำเภอจอมบึง ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึง

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมที่ดิน) จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ส่วนในการพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ณ วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และไม่ปรากฏว่ามีราคาซื้อขายที่ดินกันตามปกติในท้องตลาดในวันดังกล่าว

จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายโดยเทียบเคียงจากบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รอบบัญชี ปี พ.ศ.2559–พ.ศ.2562 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี สาขาจอมบึง ประกาศกำหนด เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาที่ดินที่มีความเป็นกลางและใช้บังคับอยู่จนถึงวันที่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)

เมื่อหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 มีเนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 160 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,800,000 บาท และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 159 มีเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา มีราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ราคาตารางวาละ 190 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,900,730 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 5,700,730 บาท

อย่างไรก็ดี ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,785,782.98 บาท ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทำละเมิด คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันที่ฟ้องคดี (10 ตุลาคม 2565) คิดเป็นดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 126,528.23 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,912,311.21 บาท

ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือน เดือนละ 13,666.67 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และค่าเสียหายจากการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน โดยค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน 86,555.57 บาท นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน และไม่เคยมีรายได้จากที่ดินแปลงพิพาท อีกทั้งผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานการให้เช่าที่ดิน กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี

สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน และเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา ตามลำดับ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) ทั้งสองแปลงของผู้ฟ้องคดี

เนื่องจากตำแหน่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2512 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามมิให้ดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวรและเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3.ก.) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 กรมที่ดิน โดยคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในพื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 59 ฉบับ เนื้อที่รวม 2,111-1-69 ไร่ ที่ได้ออกเมื่อปี 2521 ตามโครงการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศมิได้แจ้งการครอบครองที่ดิน

เนื่องจากที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (หมายเลข 85)” ซึ่งต่อมาได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี เมื่อปี 2527 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ห้ามดำเนินการในเขตป่าไม้ถาวร และเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) ข้อ 3 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า น.ส.3 ก.ดังกล่าว ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรเพิกถอน น.ส.3 ก. ทั้ง 59 ฉบับ

‘นายกฯ’ สั่ง ‘กรมสรรพากร’ ศึกษากฎหมาย แก้ภาษี ‘มรดก-ที่ดิน’ หวังเพิ่มรายได้-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้!! ต้องปรับให้สอดคล้องปัจจุบัน

(9 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณา การปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่า กฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดกในปัจจุบันนั้น ถูกมองว่า เป็นกฎหมายที่มีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง

“ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ได้จริงทั้งในมุมการจัดเก็บรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเผยว่า หลักในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีการรับมรดกนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) ฐานในการจัดเก็บ ซึ่งปัจจุบัน จัดเก็บมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องมาดูว่า รัฐบาลต้องการปรับเพิ่ม หรือ ลดลงหรือไม่อย่างไร
2.) รายการทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายการเสียภาษี
3.) ข้อยกเว้นในการเสียภาษีดังกล่าว โดยภรรยาหรือสามีตามกฎหมายเมื่อได้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี

ทั้งนี้ กรณียกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายนั้น ก็ถือเป็นช่องที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่าง บิดาซึ่งเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ภรรยา 100 ล้านบาท และ ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท มรดกดังกล่าว จะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจาก ได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีภรรยานั้น ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจาก กฎหมายให้ยกเว้นเฉพาะคู่สามีภรรยา

สำหรับภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยผู้ที่ได้รับมรดกเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีและมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ได้รับ

“ภาษีการรับมรดกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน สำหรับการยกเว้นภาษีการรับมรดกนั้น อาทิ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันกับนานาประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาษีมรดกนั้น เคยถูกนำมาใช้เมื่อปี 2476 แต่ได้ยกเลิกไป เนื่องจาก จัดเก็บได้น้อย ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยยอดการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมรดกที่ถูกส่งต่อมาให้ผู้รับมรดก เนื่องจาก วัฒนธรรมของประเทศไทย คือ การสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งประเด็นการสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานนั้น ถือเป็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยเช่นกัน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากิน และในระหว่างที่ได้ทรัพย์สินมา ทางผู้มีทรัพย์สินก็ได้ชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว

รัฐบาลเร่งจัดสรรที่ดินทำกินแก่ ปชช. 50 ล้านไร่ ชงใช้ ‘โฉนดดิจิทัล’ แทนโฉนดที่ดินแบบกระดาษ

(1 พ.ย. 66) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 3/2566 ว่า คณะกรรมการโดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ เพื่อให้นโยบายในการดำเนินงานโดยยึดหลักว่า ‘ประชาชนต้องมีที่ดินและที่ทำกิน อย่างพอเพียง’ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ได้กล่าวต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ ที่เป็นภารกิจที่ต้องบูรณาการหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยให้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดอยู่ เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องประชาชนได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้

“การเร่งรัดให้ประชาชนมีสิทธิ์มีที่ดินทำกิน มิใช่เพียงการให้อาชีพ ให้โอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่รัฐบาลยังมุ่งหวังให้สามารถใช้เอกสารสิทธิ์หรือหนังสืออนุญาตที่รัฐออกให้เหล่านี้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ได้จริง เพื่อต่อยอดเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ด้วย” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ศึกษาแนวทางในการทำ ‘โฉนดดิจิทัล’ เชื่อมต่อกับระบบแผนที่ One-Map เพื่อให้ใช้ฐานข้อมูลที่ดินออนไลน์กลาง แทนการแนบแผนที่แนบท้ายในรูปแบบกระดาษของหน่วยงานต่าง ๆ โดยประสานการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออส 2 (THEOS-2) ที่จะทำให้การทำงานของภาครัฐมีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น ตามหลักคิดของนโยบายรัฐบาลดิจิทัล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top